ยาเสพติดไม่ควรผิดกฏหมาย

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม หาทางยกเลิก ‘เมทแอมเฟตามีน’ จากบัญชียาเสพติดที่ผิดกฏหมาย เป็นนโยบายที่ดี ถ้าเราดูแค่ในระดับผิวเผิน แต่แน่นอน เราไม่ควรไว้ใจรัฐบาลเผด็จการว่าจะทำในสิ่งที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ผมจะขออธิบายรายละเอียดด้วยเหตุผล

ในประการแรก ยาเสพติดทุกชนิดไม่ควรเป็นเรื่องผิดกฏหมาย แต่นโยบายของรัฐบาลต่างๆ ในอดีตเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นนโยบายที่ออกแบบเพื่อสร้างภาพและดึงคะแนนนิยม ซึ่งมีผลในด้านลบทั้งสิ้น เพราะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และเพิ่มความตายและความเสี่ยง ไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างใด ถ้าจะแก้ปัญหาการใช้ยาเสพติด ต้องมีการแก้ต้นเหตุของการใช้ยาแต่แรก เช่นปัญหาการทำงานล่วงเวลาหลายชั่วโมง หรือความห่างเหินแปลกแยกของพลเมืองในสังคมทุนนิยม ที่ทำให้คนมองตนเองเหมือนไร้ค่า ทำให้คนสิ้นหวัง และทำให้หลายคนขาดความอบอุ่น

นอกจากนี้ต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาเป็นวิทยาศาสตร์ และแก้ปัญหาด้วยมนุษยธรรม ไม่ใช่ปลุกระดมให้ประชาชนกลัว “ยาบ้า” เหมือนกลัวผี

รัฐบาล ไทยรักไทย และพวกทหาร รวมถึงเปรม เคยมีนโยบายการใช้ความรุนแรงสุดขั้วกับปัญหายาเสพติดในไทย ที่เห็นชัดที่สุดคือการที่ “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของรัฐบาล ไทยรักไทย ทำให้เกิดการฆ่าวิสามัญ 3000 กว่าศพ ซึ่งส่วนใหญ่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยเอง โดยเฉพาะทหารกับตำรวจ มันขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เพราะไม่มีการพิสูจน์ความผิดในศาลเลย นอกจากนี้แล้ว นโยบายรุนแรงของรัฐบาล ไม่มีผลอะไรเลยต่อผู้ค้ายารายใหญ่ที่เป็นนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล หรือนายทหารกับตำรวจตำแหน่งสูงๆ เพราะคนที่ถูกฆ่าตายหรือโดนจับเป็นผู้น้อยทั้งสิ้น

ในประการที่สอง ปัญหาที่สำคัญของนโยบายรัฐบาลต่างๆ ในอดีต คือมีการใช้สองมาตรฐานกับยาหรือสารเคมีที่สร้างความมึนเมาและอาจเสพแล้วติดได้ เพราะมีการแยกว่า สุรา บุหรี่ หรือกาแฟ เป็น “ยาถูกกฏหมาย” ที่เป็นแหล่งสำคัญของการเก็บภาษีโดยรัฐ ในขณะที่ยาแอมเฟตามีน กัญชา และเฮโรอีน เป็นยา “ผิดกฏหมาย” ซึ่งการจำแนกยาออกเป็นสองชนิดดังกล่าว ไม่ได้กระทำบนพื้นฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพิษภัยของมัน การเสพสุราและบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำลายสุขภาพของพลเมืองไทย ดูได้จากสถิติกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสาเหตุการตายก่อนวัยชราดังนี้

  • โรคเอดส์ ชาย17%     หญิง 10%
  • อุบัติเหตุบนท้องถนน ชาย 9%      หญิง  3%
  • โรคปอด หัวใจ เส้นโลหิต ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวกับสุราและบุหรี่ ชาย 17%   หญิง 12%
  • ยาเสพติดผิดกฏหมาย ชาย  2%   หญิง ต่ำกว่า 1%

ในประการที่สาม ถ้าจะลดภัยของยาเสพติดจะต้องใช้นโยบาย “ลดความเสี่ยง” (Harm Reduction) สำหรับทุกคนที่ใช้ยา ซึ่งตรงกันข้ามกับบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวทั่วสังคม บรรยากาศความกลัวทำให้คนที่ติดยาไม่สามารถไปขอความช่วยเหลือได้ เพราะกลัวถูกฆ่าหรือถูกจับ การที่ยาผิดกฏหมายทำให้ยาราคาแพงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้เสพอาจต้องขายยามากขึ้นเพื่อหารายได้ หรือต้องไปก่ออาชญากรรม

การทำให้ยาเสพติดไม่ผิดกฏหมายเฉยๆ โดยไม่มีนโยบายลดความเสี่ยงประกอบ และไม่แก้ต้นเหตุแห่งการใช้ยา จะไม่มีผลอะไร

ในหลายประเทศการลดภัยจากยาเสพติดอาศัยการใช้มาตรการการแจกเข็มฉีดยาสะอาดฟรี และการแจกจ่ายยาที่บริสุทธิ์ในจำนวนจำกัดโดยรัฐ เพื่อปกป้องและดูแลผู้ติดยา เหมือนการดูแลคนป่วย

นอกจากนี้เมื่อยาเสพติดไม่ผิดกฏหมาย ทุกคนในสังคมจะสามารถพูดคุยและศึกษาเรียนรู้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของยาชนิดต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อยากทดลองใช้ยาบ้าง มันนำไปสู่จิตสำนึกที่ช่วยให้เขาป้องกันตัวเองด้วยหลักวิทยาศาสตร์ได้ และเขาจะสามารถแยกแยะระหว่างยาหรือวิธีการใช้ยาที่อันตราย กับการใช้ยาที่ไม่ค่อยเสี่ยง แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยการเพิ่มสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในทุกระดับ รวมถึงในโรงเรียนอีกด้วย วันรุ่นต้องถูกชักชวนให้คิดเองเป็น ไม่ใช่หมอบคลานและรับฟังแต่คำสั่งจากผู้ใหญ่

ผมเดาว่าการที่ ไพบูลย์ คุ้มฉายา หาทางยกเลิก เมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติดที่ผิดกฏหมาย ก็คงเป็นเพราะรู้อยู่ในใจว่าการใช้ความรุนแรงในการปราบยามันไม่สำเร็จ แล้วไม่ต้องการให้รัฐบาลทหารถูกวิจารณ์ว่าล้มเหลว นอกจากนี้อาจอยากลดจำนวนนักโทษในคุกเพื่อประหยัดงบรัฐ แต่จะจริงแค่ไหนผมไม่รู้

แต่ในเรื่องการใช้นโยบายลดความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติดทุกชนิด และการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการลดชั่วโมงการทำงานและการเพิ่มรายได้ อย่างที่ผมเขียนไว้ข้างบน เราไม่ควรไปหวังอะไรทั้งสิ้นจากเผด็จการทหารชุดนี้ เพราะมันไม่สนใจที่จะเพิ่มการใช้งบประมาณรัฐเพื่อบริการพลเมืองส่วนใหญ่ ตรงกันข้ามเผด็จการมีการพยายามแช่แข็งอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และมีการพยายามทำลายระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง และเพื่อที่จะได้เพิ่มงบประมาณให้กับทหารและงบประมาณที่ใช้ในพิธีกรรมสำหรับอภิสิทธ์ชน รัฐบาลเผด็จการนี้ไม่สนใจจะลดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างรัฐสวัสดิการแต่อย่างใด

นอกจากนี้นายทหารส่วนใหญ่ไม่เคยพยายามแก้ปัญหาใดๆ ด้วยมนุษยธรรม หรือด้วยการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแก้ปัญหายาเสพติด

ดังนั้นทั้งๆ ที่การทำให้เมทแอมเฟตามีนไม่ผิดกฏหมายเป็นมาตรการที่ดี แต่ในยุคเผด็จการชุดนี้ มาตรการอื่นๆ ที่ต้องใช้ควบคู่กับนโยบายนี้จะไม่เกิดขึ้น

ดูรายละเอียดเพิ่ม https://youtu.be/VyPbBxrAu7c