วิกฤตทางการเมืองในยุโรป

ใจ อึ๊งภากรณ์

การลงคะแนนเสียง “ออก” ของประชาชนอังกฤษในประชามติเรื่องการเป็นสมาชิกอียู(สหภาพยุโรป) เป็นเพียงหนึ่งบทในวิกฤตเศรษฐกิจ-การเมืองของยุโรป แต่มันเป็นบทที่สำคัญ เพราะอังกฤษเป็นประเทศใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรป และเป็นศูนย์กลางทางไฟแนนส์ การธนาคาร และตลาดหุ้นที่สำคัญที่สุดในยุโรปอีกด้วย นอกจากนี้ในเรื่องกำลังทหาร อังกฤษมีบทบาทสูงสุดในอียู และใช้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา เพื่อหนุนกองทัพของยุโรปและ “นาโต้” ดังนั้นอำนาจทางทหารของยุโรปจะอ่อนแอลงระดับหนึ่ง

แง่หนึ่งของวิกฤตยุโรปมาจากการทำสงครามจักรวรรดินยมโดยสหรัฐ อังกฤษ และประเทศอื่นในยุโรป สงครามในตะวันออกกลางดังกล่าว ทำให้มีผู้ลี้ภัยสงครามจำนวนมาก และคนเหล่านี้พยายามเข้ามาในอียู ซึ่งสร้างปัญหาทางการเมืองให้กับหลายรัฐบาล และเป็นโอกาสทองสำหรับพวกฝ่ายขวาที่เกลียดคนต่างชาติ

การออกจากอียูของอังกฤษสร้างปัญหาให้กับชนชั้นปกครองสหรัฐ เพราะสหรัฐพึ่งพาอังกฤษในแง่ของการเป็นพันธมิตรที่ดี เพื่อเพิ่มอิทธิพลของสหรัฐในยุโรป สหรัฐเองเป็นประเทศที่ผลักดันให้มีการรวมตัวกันของประเทศในยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อเป็นแนวร่วมต้านรัสเซีย

ในปัจจุบันสหรัฐพยายามทำข้อตกลงค้าเสรีกับอียู ซึ่งเป็นการผลักดันแนวกลไกตลาดและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้บริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทอย่างเสรีในภาคสาธารณสุขและการบริการประชาชน สัญญาค้าเสรีอันนี้เป็นภัยต่อคนธรรมดามาก แต่การโหวดออกจากอียูของอังกฤษทำให้การตกลงในสัญญาการค้าอันนี้ต้องเลื่อนออกไป

ผลของการโหวดออกของอังกฤษในครั้งนี้ จะสร้างวิกฤตรัฐธรรมนูญให้กับสหราชอาณาจักร เพราะในประเทศสก็อตแลนด์กับไอร์แลนด์ จะมีกระแสเรียกร้องให้แยกตัวออกจากอิงแลนด์ เรื่องนี้เป็นเรื่องดีสำหรับฝ่ายสังคมนิยม เพราะเราไม่ต้องการปกป้องรัฐอังกฤษ และถ้ารัฐอังกฤษ ในฐานะประเทศจักรวรรดินิยม อ่อนแอลงมากกว่านี้ ก็จะเป็นเรื่องดีสำหรับชนชั้นกรรมาชีพในทุกประเทศอีกด้วย

สำหรับยุโรป ผลของการโหวดออกจะสร้างกำลังใจให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ ที่ไม่พอใจกับอียู และไม่พอใจกับพรรคกระแสหลักมานานท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ มันมีสองกระแสใหม่ทางการเมืองที่เกิดขึ้นคือ กระแสฝ่ายซ้าย และกระแสฝ่ายขวาเหยียดเชื้อชาติ ทั้งสองกระแสนี้มาจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2008  ซึ่งทำให้คนจำนวนมากจนลงและตกงาน มันนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เพราะประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าพรรคการเมืองเก่าไม่สนใจที่จะเป็นตัวแทนของเขา ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อน และแถมซ้ำเติมด้วยนโยบายรัดเข็มขัด ตอนนี้ทั่วยุโรปจึงมีวิกฤตทางการเมืองที่ปะทะกับความชอบธรรมเก่าของพรรคกระแสหลัก

นักมาร์คซิสต์ทราบดีว่า เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ที่นำไปสู่ความไม่พอใจในพรรคการเมืองกระแสหลัก ประชาชนจะไปทางขวาสุดขั้วก็ได้ หรือจะไปทางซ้ายแบบสังคมนิยมก้าวหน้าก็ได้ และมันไม่มีอะไรอัตโนมัติ ถ้าฝ่ายซ้ายไม่เคลื่อนไหวและปลุกระดม คนจำนวนมากจะไปฟังนักการเมืองขวาสุดขั้วแทน ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายประเทศ ในกรีซและสเปน มีการขยายคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายสังคมนิยม ในฝรั่งเศส ออสเตรีย และฮังการี่ มีการขยายตัวของฝ่ายขวาฟาสซิสต์ และทั่วยุโรปทัศนะเหยียดคนต่างชาติกำลังปะทะกับทัศนะฝ่ายซ้ายที่พยายามสมานฉันท์กับคนทุกเชื้อชาติ

วิกฤตในประเทศกรีซ นำไปสู่การเลือกพรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ซึ่งสัญญาว่าจะต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของประชาชน นโยบายนี้สั่งลงมาจากกลุ่มอำนาจในอียู คือธนาคารกลาง กรรมการบริหารอียู และไอเอ็มเอฟ เมื่อรัฐบาลไซรีซาจัดประชามติว่าจะรับหรือไม่รับนโยบายดังกล่าวของอียู ประชาชนจำนวนมากลงคะแนนเสียงไม่รับ แต่รัฐบาลกลับหักหลังประชาชน แล้วไปเจรจารับนโยบายรัดเข็มขัดแทน โดยใช้ข้ออ้างว่าโดนกดดันอย่างหนักจากกลุ่มทุนใหญ่ในอียูและรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามพรรคไซรีซาไม่กล้าพากรีซออกจากสกุลเงินยูโรเพื่อลดอิทธิพลของอียู และไม่กล้าใช้พลังมวลชนเพื่อเปลี่ยนระบบ สถานการณ์จึงอยู่ในสภาพคาราคาซัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นฝ่ายซ้ายในกรีซได้กำลังใจจากการโหวดออกจากอียูของประชาชนอังกฤษ

[อ่านเพิ่ม http://bit.ly/293ZpqO ]

ความไม่พอใจต่อวิกฤตเศรษฐกิจและนโยบายรัดเข็มขัดในสเปน นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของเยาวชนกลางเมือง เพราะอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงมาก ในการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้วพรรคกระแสหลักเสียคะแนนเสียงมากจนไม่มีพรรคไหนสามารถตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่เมื่อปลายมิถุนายน แต่ผลก็ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายซ้ายโพดามอส ที่เพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรก กลับเสียคะแนนเล็กน้อยในการเลือกตั้งล่าสุด สาเหตุสำคัญคือการที่แกนนำพรรคมีพฤติกรรมสองจิตสองใจตลอดเวลาว่าจะผลักดันนโยบายก้าวหน้าหรือไม่ เช่นเรื่องการคัดค้านการรัดเข็มขัด หรือการรณรงค์ให้รัฐต่างๆ ในสเปนมีความอิสระมากขึ้น พรรคนี้เติบโตมาเพราะสะท้อนกระแสต้านนโยบายเสรีนิยม และสะท้อนความไม่พอใจของคนหนุ่มสาว [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/293hWr1]

ในสถานการณ์วิกฤตหนัก ฝ่ายซ้ายในกรีซและสเปนถูกทดสอบอย่างหนัก ซึ่งแปลว่านักสังคมนิยมต้องถกเถียง สนใจทฤษฏี และเรียนรู้จากบทเรียนต่างๆ ตลอดเวลา เพราะแรงกดดันจากฝ่ายทุนต่อนโยบายสังคมนิยมจะรุนแรงมาก

ในฝรั่งเศส การนัดหยุดงานทั่วไปของสหภาพแรงงานเพื่อต้านกฏหมายที่ทำลายมาตรฐานการจ้างงานของรัฐบาลพรรคสังคมนิยมจอมปลอม เพื่อเพิ่มกำไรให้กลุ่มทุนตามนโยบายเสรีนิยม เป็นเครื่องเตือนใจว่าผู้ที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพแท้จริงของประชาชน คือสหภาพแรงงานที่กล้าสู้  มันไม่ใช่รัฐบาลของพรรคฝ่ายซ้ายที่เน้นแต่รัฐสภาและละเลยขบวนการเคลื่อนไหวภายนอก พูดง่่ายๆ นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ต้องเน้นพลังกรรมาชีพและสร้างพรรคสังคมนิยมที่เชื่อมการเมืองก้าวหน้ากับการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรม

ในอังกฤษกระแสสำคัญอันหนึ่งที่เห็นชัดคือการขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแรงงานของคอร์บิน ซึ่งเป็นสส.ซีกซ้ายของพรรค แต่สส.ซีกขวากำลังพยายามล้มคอร์บิน ทั้งๆที่เขาได้รับเสียงสนับสนุนมหาศาลจากมวลชน ดังนั้นถ้าไม่มีการปลุกระดมนักสหภาพแรงงานและมวลชนทั้งในและนอกพรรค คอร์บินอาจถูกล้มได้

ปรากฏการณ์ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เห็นได้ชัดจากผลประชามติอังกฤษด้วย เพราะคนที่ลงคะแนนให้อังกฤษ “ออก” มีแนวโน้มจะยากจนและอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่อุตสาหกรรมเก่าถูกทำลาย มันมีกระแสเหยียดเชื้อชาติที่ถูกปลุกระดมโดยนักการเมืองฝ่ายขวาทั้งสองฝ่าย คือพวกที่สนับสนุนอียูและพวกที่อยากออก แต่สาเหตุหลักที่คนจำนวนมากโหวดออกก็เพราะทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อไปแบบเดิม

ที่น่าสนใจคือมีปรากฏการณ์ “สลิ่มอังกฤษ” ที่ออกมาเรียกร้องให้จัดประชามติใหม่ เพราะไม่พอใจกับผลที่พึ่งออกมา พวกนี้จะมองคนที่โหวดออกด้วยความดูถูกว่า “จน โง่ ขาดการศึกษา และเหยียดเชื้อชาติ”

ประชามติครั้งนี้จัดขึ้นโดยรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม ผลประโยชน์กลุ่มทุนอังกฤษส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการดำรงอยู่ต่อไปในอียู แต่พรรคอนุรักษ์นิยมซีกขวาสุดฝันว่าจะกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของอังกฤษในอดีต ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หลังประชามติพรรคอนุรักษ์นิยมจึงแตกเป็นสองซีกอย่างรุนแรง และนายกรัฐมนตรีคามารอนต้องประกาศลาออก

วิกฤตในยุโรปที่เราเห็นอยู่ เป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2008 มันเป็นวิกฤตระดับโลกที่มาจากการลดลงของอัตรากำไรที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในระบบทุนนิยม [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/129xlhF ] ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจนี้สร้างวิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองต่อ และมันโยงกับสภาพสงครามในตะวันออกกลางด้วย มันพิสูจน์ว่าเศรษฐศาสตร์กับการเมืองแยกกันไม่ได้ เราไม่ควรเข้าใจผิดว่าความปั่นป่วนในยุโรปเป็นเรื่องของความคิดชาตินิยมที่ฝังลึกอยู่ในใจคน หรือเข้าใจผิดว่าอังกฤษเป็นกรณีพิเศษ ถ้าจะเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เราต้องดูภาพรวมของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามแนววิเคราะห์ “วิภาษวิธี” เพราะถ้าเรามองแยกส่วน และเล็งไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เราจะไม่มีวันเข้าใจอะไร