ประเทศไทยไม่มี “รัฐพันลึก”

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้มีการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยลอนดอนหัวข้อ “ประเทศไทยในวิกฤตรัฐพันลึก” โดย อูจีนี เมริเออ เสนอบทบาทและการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นในฐานะกลไกของรัฐพันลึก

[ดู http://bit.ly/25RMW44 และบทความอ.นิธิ http://bit.ly/1UMTQ1X   ท่านอาจต้องกดเข้าไปดูที่บล็อกของเลี้ยวซ้ายเพื่ออ่าน]

ทฤษฏี “รัฐพันลึก” หรือ Deep State ใช้มุมมองบกพร่องแต่แรก เพราะมองว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “รัฐปกติ” ที่โปร่งใสและรับใช้พลเมือง ในขณะที่รัฐพันลึกเป็นกรณีพิเศษที่พบในบางประเทศ คือมีส่วนหนึ่งของรัฐที่ฝังลึกอยู่และไม่ได้ถูกตรวจสอบโดยกลไกประชาธิปไตย

ในโลกแห่งความจริง รัฐทุกรัฐในระบบทุนนิยมเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนายทุน เป็นเครื่องมือเพื่อกดขี่ชนชั้นอื่นๆ โดยเฉพาะชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกรรายย่อย มันไม่รับใช้พลเมืองส่วนใหญ่แต่อย่างใด รัฐทุกรัฐในระบบทุนนิยมเข้าข้างนายทุนเสมอ เพราะปกป้องสิ่งที่เขาเรียกว่า “สิทธิในการบริหารและการเป็นเจ้าของ”ทรัพย์สินมหาศาลกับปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตของพลเมืองทุกคน พูดง่ายๆ คือ รัฐทุนนิยมปกป้องเผด็จการทางเศรษฐกิจของชนชั้นนายทุน นายทุนไม่เคยต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นนายทุน เขาไม่เคยมาจากคะแนนเสียงของลูกจ้างหรือประชาชนธรรมดา ตำรวจและทหาร ซึ่งเป็นกองกำลังของรัฐนี้ ถูกใช้ในการปราบปรามการนัดหยุดงานหรือการเคลื่อนไหวของประชาชนธรรมดา แต่ไม่เคยมีการใช้กองกำลังนี้เพื่อปราบปรามนายทุนที่เลิกจ้างคนงาน ปิดกิจกรรม ขนการลงทุนไปที่อื่น หรือตัดรายได้ของคนทำงาน

ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก นอกจากอำนาจเผด็จการทางเศรษฐกิจของนายทุนแล้ว มีหลายส่วนของรัฐที่ไม่ถูกตรวจสอบหรือเลือกมาจากเสียงประชาชน เช่นหน่วยราชการลับ ผู้พิพากษา ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้ว่าธนาคารชาติ หรือผู้บังคับบัญชาทหาร และหลายครั้งในอดีตมีการสร้างอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่มาจากการเลือกตั้งโดยคนเหล่านี้ เช่นในกรณีรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษ

ดังนั้นรัฐบาลกับรัฐไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และการคุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจนตั้งรัฐบาลได้ ไม่ได้แปลว่าคุมอำนาจรัฐ นี่คือเรื่องปกติของรัฐในระบบทุนนิยม

บางครั้งการพูดถึง “รัฐพันลึก” อาจมีประโยชน์ในการอธิบายบางส่วนของรัฐที่ตกค้างมาจากยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ หรือยุคฟาสซิสต์ เช่นหน่วยราชการลับที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยเมื่อประเทศนั้นมีประชาธิปไตย เช่นในตุรกี หรือบางประเทศในลาตินอเมริกา แต่มันไม่ตรงกับสภาพสังคมการเมืองของไทยเลย

การนิยามว่าไทยมี “รัฐพันลึก” โดย อูจีนี เมริเออ ต้องอาศัยการบิดเบือนพูดเกินความจริงเรื่องอำนาจกษัตริย์ ต้องมองข้ามการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในกองทัพ และในหมู่ชนชั้นนำ ต้องมองข้ามความอ่อนแอและการไม่มีความอิสระเลยของตุลาการ และที่สำคัญคือต้องไม่เอ่ยถึงบทบาทมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเลย

นอกจากนี้ อูจีนี เมริเออ จะสร้างภาพเท็จว่า “รัฐพันลึก” ต้านทักษิณมาแต่แรกซึ่งไม่ใช่ ในยุคแรกๆ ของรัฐบาลทักษิณ ชนชั้นนำไทยเกือบทุกส่วนชื่นชมรัฐบาลทักษิณที่สัญญาว่าจะทำให้เศรษฐกิจและสังคมทันสมัยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและปัญหาความขัดแย้งพฤษภาปี๓๕ ตอนนั้นนายกทักษิณ ในฐานะส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองนายทุน มีอิทธิพลในกองทัพ และมีอิทธิพลเหนือตุลาการและข้าราชการระดับสูง

พวกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นปกครองไทยเริ่มหันมาต้านทักษิณในภายหลัง เมื่อค้นพบว่าแข่งกับทักษิณไม่ได้ในเวทีประชาธิปไตยที่สร้างอำนาจทางการเมือง เพราะพวกอนุรักษ์นิยมไม่ยอมเสนอนโยบายที่จะทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นด้วยเหตุที่พวกนี้คลั่งกลไกตลาดเสรี ดังนั้นเขาครองใจประชาชนธรรมดาไม่ได้

ในหมู่พวกที่มารวมตัวกันต้านทักษิณในภายหลัง มีคนจำนวนมากที่เคยเป็นแนวร่วมกับทักษิณก่อนหน้านั้น และมีคนที่เคยร่วมปราบประชาธิปไตยในอดีต สมัยสงครามเย็น ที่เข้ามาอยู่กับทักษิณอีกด้วย มันเป็นภาพพลวัตของการทำแนวร่วมชั่วคราว ที่เปลี่ยนข้างกันตามโอกาสตลอดเวลา ในหมู่ชนชั้นปกครอง มันไม่ใช่ภาพของกลุ่มก้อนบุคคลในรัฐพันลึกที่คงที่และฝังตัวอยู่กลางรัฐไทยมาตลอดแต่อย่างใด

สมาชิกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นปกครอง หรือที่ เมริเออ เรียกว่ารัฐพันลึก ไม่ได้เป็นห่วงว่าอภิสิทธิ์ของเขาจะหายไปอย่างที่เขาอ้าง เพราะทักษิณไม่ได้ต่อต้านอภิสิทธิ์ของคนใหญ่คนโตแต่อย่างใด เขาไม่ใช่นักสังคมนิยม ผู้ที่กลัวว่าอภิสิทธิ์ของตนจะถูกลดลง ในขณะที่คนชนบทและคนทำงานในเมืองจะสำคัญมากขึ้นคือชนชั้นกลางต่างหาก แต่นักวิชาการคนนี้ไม่พูดถึงพวกสลิ่มคนชั้นกลางเลย

สิ่งที่พวกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นกปครองไม่พอใจ คือการเริ่มรวบอำนาจทางการเมืองในมือทักษิณและไทยรักไทยผ่านการเลือกตั้ง

เมริเออ เสนอว่ารัฐพันลึกกำลังย้ายอำนาจของนายภูมิพลไปสู่ตุลาการในช่วงที่ใกล้หมดรัชกาล แต่นายภูมิพลไม่เคยมีอำนาจ เพียงแต่เป็นเครื่องมือเพื่อการสร้างความชอบธรรมให้กับชนชั้นปกครองโดยเฉพาะทหาร ซึ่งทหารเป็นผู้สร้างนายภูมิพลขึ้นมาจนมีภาพลวงตาว่าเหมือนพระเจ้า ทักษิณก็ใช้นายภูมิพลเช่นกัน และในยุครัฐบาลทักษิณมีการส่งเสริมความบ้าคลั่งของการสวมเสื้อเหลืองทุกสัปดาห์

การเสนอว่าพิธีสาบานตนต่อกษัตริย์ของตุลาการไทย “พิสูจน์” ว่าตุลาการต้องทำตามคำสั่งกษัตริย์เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะถ้าเป็นจริงอังกฤษคงปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนทุกวันนี้ กำตริย์ในระบบสมัยใหม่มีบทบาทแค่ในเชิงพิธีเท่านั้น

จริงๆ แล้วทฤษฏีรัฐพันลึกของ เมริเออ เป็นแค่อีกวิธีหนึ่งที่จะเสนอว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจในใจกลางรัฐ และความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งระหว่างทักษิณและกษัตริย์ ซึ่งไม่ต่างจากพวกที่พูดเกินเหตุว่านายภูมิพลสั่งการทุกอย่าง หรือแม้แต่ “ทฤษฏีเครือข่ายกษัตริย์” ของ Duncan MacCargo ที่มองข้ามพลวัตของการทำแนวร่วมชั่วคราวของชนชั้นปกครองไทย [ดู http://bit.ly/1VTFyio หน้า 84]

พวกนี้ใช้กรอบคิดร่วมกันกรอบหนึ่งคือ กรอบคิด “สตาลิน-เหมา” เรื่องขั้นตอนการปฏิวัติทุนนิยมไทย แต่บางคนอาจใช้โดยไม่รู้ตัวก็ได้ การวิเคราะห์ของนักวิชาการที่อาศัยกรอบแนวสตาลิน-เหมา ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เสนอว่าไทยเป็น “กึ่งศักดินา” ตามสูตรสำเร็จที่พรรคเหล่านี้ทั่วโลกใช้กัน ดังนั้นเขามักจะมองว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทุนสมัยใหม่(ทักษิณ) กับระบบ “กึ่งศักดินา” ของกษัตริย์ภูมิพล โดยที่กษัตริย์เป็นผู้นำทางการเมืองที่สำคัญ

มุมมองแบบนี้จะต้องอาศัยข้อสรุปว่าการปฏิวัตินายทุนหรือที่บางคนเรียกว่า “กระฎุมพี” ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จหรือยังไม่สมบูรณ์ในประเทศไทย   มันเป็นมุมมองบกพร่องที่เสนอการปฏิวัตินายทุนและขั้นตอนของประวัติศาสตร์ในลักษณะกลไก เป็นการสวมประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 18 ในยุโรปทับสถานการณ์บ้านเมืองในไทยปัจจุบัน เพราะแท้จริงแล้ว การปฏิวัติกระฎุมพีของไทย ที่ทำลายระบบศักดินาและสร้างรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นภายใต้การนำของกษัตริย์รัชกาลที่๕

การที่ม็อบชนชั้นกลางที่ต้านทักษิณชูธงเหลืองหรือรูปกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ หรือม็อบสุเทพ ไม่ได้แปลว่ากษัตริย์จัดตั้งพวกนี้แต่อย่างใด การที่ทหารเผด็จการเชิดชูกษัตริย์ก็เช่นกัน ถ้าเราหลงเชื่อปรากฏการณ์เปลือกภายนอกผิวเผินแบบนี้ เราจะคิดตื้นเขินเกินไป

ในลักษณะเดียวกัน การที่พุทธอิสระใช้ความรุนแรงในการทำลายประชาธิปไตยขณะที่ห่มผ้าเหลือง ก็ไม่ได้แปลว่าพระพุทธเจ้าบงการการกระทำแย่ๆ ของพุทธอิสระแต่อย่างใด

จริงๆ แล้วรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ก็เชิดชูกษัตริย์เช่นกัน และพร้อมจะใช้กฏหมาย 112 ด้วย ข้อแตกต่างระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองและทหาร กับฝ่ายทักษิณ ไม่ใช่เรื่องกษัตริย์นิยมแต่อย่างใด ข้อแตกต่างแท้คือฝ่ายทักษิณสามารถใช้นโยบายเศรษฐกิจและการเมืองในการเพิ่มความชอบธรรมให้ตนเองประกอบกับการเชิดชูกษัตริย์ ในขณะที่พวกทหารและเสื้อเหลืองมีสิ่งเดียวที่เขาหวังใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมคือเรื่องความคิดกษัตริย์นิยม

ตุลาการไทย และส่วนอื่นๆ ของระบบราชการไทย มีความอ่อนแอมากและไม่เคยเป็นตัวของตัวเองเลย เพราะมัวแต่ก้มหัวรับฟังคำสั่งจากทหาร หรือคนใหญ่คนโตที่เป็นนักการเมืองตลอด นี่คือสาเหตุที่ไทยไม่มีมาตรฐานความยุติธรรม และระบบข้าราชการเต็มไปด้วยการคอร์รับชั่นและการแทรกแซงโดยผู้มีอิทธิพล กองกระดาษและเอกสารที่พลเมืองต้องกรอกเพื่อทำอะไรในระบบราชการ เป็นอาการของข้าราชการที่ไม่เคยกล้าตัดสินใจเองในเกือบทุกเรื่อง คือต้องส่งขึ้นไปให้คนใหญ่คนโตเห็นชอบเสมอ

กองทัพไทยไม่เคยสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวและไม่มีจุดยืนคงที่ด้วย เพราะกองทัพคือแหล่งกอบโกยสำคัญของพวกนายพล การแบ่งพรรคแบ่งพวกแบบนี้ทำให้กองทัพมีอำนาจจำกัดทั้งๆ ที่สามารถล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ซีกต่างๆ ของกองทัพมีแนวการเมืองต่างกันด้วย ในอดีตมีนายพลที่เกลียดเจ้า หรือเป็นฝ่ายซ้าย ในปัจจุบันมีนายพลที่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย และมีทหารที่เข้าข้างทักษณ เพียงแต่ว่ากลุ่มประยุทธ์ที่ครองอำนาจอยู่ตอนนี้เป็นกลุ่มขวาจัดเท่านั้นเอง ดังนั้นกองทัพไม่ใช่อะไรที่จะสร้างรัฐพันลึดอะไรได้

สิ่งที่มีอิทธิพลต่ออำนาจกองทัพมากที่สุดคือพลังมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างมวลชนกับอำนาจรัฐ มีแพ้และมีชนะ มีช่วงเผด็จการและมีช่วงประชาธิปไตย สาเหตุหนึ่งที่เผด็จการครองเมืองตอนนี้ได้ก็เพราะหลายส่วนที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการทางสังคม ไปโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหาร แต่ทุกวันนี้เผด็จการทหารยังต้องพยายามสร้างภาพลวงตาว่าจะจัดการเลือกตั้งและปฏิรูปการเมือง เพราะกลัวกระแสประชาธิปไตยในสังคมไทย

เมริเออ ยอมรับว่ากระแสประชาธิปไตยปัจจุบันทำให้พวกอนุรักษ์นิยมเลือกไปเพิ่มอำนาจตุลาการ เพราะดูดีกว่าการใช้อำนาจโดยตรงของทหารหรือกษัตริย์ แต่เขาไม่เอ่ยถึงบทบาทสำคัญของมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเลย สำหรับนักวิชาการคนนี้ ช่วงที่เป็นประชาธิปไตยของไทยเป็นการ “ทดลอง” ของชนชั้นนำเท่านั้น คือทุกอย่างกำหนดจากเบื้องบน

แนว “รัฐพันลึก” อาจเป็นแนวคิดที่ใหม่และน่าตื่นเต้นสำหรับนักวิชาการหอคอยงาช้าง แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรในการอธิบายวิกฤตการเมืองไทยเลย

อ่านเพิ่ม

http://bit.ly/1VTFyio ,  http://bit.ly/1OtUXBm , http://bit.ly/1UoSKed