ใจ อึ๊งภากรณ์
ในปี 1932 ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ทุนนิยม พวกเอียงซ้ายในสหรัฐมองว่ามีประกายไฟของแสงสว่างเกิดขึ้น เมื่อ ฝรังคลิน ดี โรสเวลท์ จากพรรคเดโมแครท ชนะการเลือกตั้งและขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี
ในยุคนั้นและในยุคปัจจุบันมีคนจำนวนมากสับสนเกี่ยวกับธาตุแท้ของนโยบาย New Deal หรือ “ข้อตกลงใหม่” ของรัฐบาล โรสเวลท์
ในปลายปี 1932 สถานการณ์ในสหรัฐแย่จนหลายฝ่ายพร้อมจะพิจารณามาตรการใหม่ๆ ไม่ว่าจะแปลกประหลาดแค่ไหน ประธานาธิบดี โรสเวลท์ จึงออกกฏหมาย โดยใช้อำนาจพิเศษในการใช้รัฐควบคุมระบบทุนนิยม มีการหนุนเงินออมในธนาคารเอกชน ควบคุมราคาสินค้า เพิ่มการผลิตโดยใช้รัฐวิสาหกิจ เริ่มโครงการสร้างงานให้คนตกงาน และมาตรการบางอย่างเพื่อสนับสนุนสหภาพแรงงาน เพื่อให้สหภาพต่อรองกับนายจ้างให้ขึ้นค่าจ้างสะดวกมากขึ้น ซึ่งทำให้กำลังซื้อในสังคมเพิ่มขึ้น โดยมีความหวังว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเทียบกับนโยบายของรัฐบาลก่อนๆ ที่ได้แต่ปราบคนจน มันดูเหมือนว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่
แต่ โรสเวลท์ ไม่ใช่นักสังคมนิยม และพรรคของเขาเป็นพรรคนายทุนที่สนับสนุนพวกเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในภาคใต้ที่กีดกันสิทธิของคนผิวดำ ที่สำคัญคือ โรสเวลท์ เชื่อในความสำคัญของ “วินัยทางการคลัง” ตามสูตรของพวกเสรีนิยมกลไกตลาด คือเขาพยายามจำกัดค่าใช้จ่ายและงบประมาณของรัฐให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในระยะแรกดูเหมือนนโยบายของ โรสเวลท์ ใช้ได้ผล มีการเพิ่มระดับการผลิตอย่างรวดเร็ว และจำนวนคนตกงานลดลงจาก 13.7 ล้านในปี 1933 เป็น 12 ล้าน ในปี 1935 แต่ระดับการตกงานก็ยังสูงผิดปกติ ต่อมาในปี 1937 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยที่การผลิตลดลงอย่างรวดเร็วเป็นประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อน 1937 ที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นบ้าง และมีมาตรการบางอย่างที่ช่วยสหภาพแรงงาน กระแสการต่อสู้และความมั่นใจของแรงงานในการเผชิญหน้ากับนายจ้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 1934 นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายจากพรรคสังคมนิยมสาย ตรอทสกี และพรรคคอมมิวนิสต์สาย สตาลิน มีบทบาทสำคัญในการนำการต่อสู้ของแรงงานที่ได้ชัยชนะ เช่นในระบบขนส่งของเมือง มินิแอปอลิส ในท่าเรือเมือง แซนแฟรนซิสโก และในโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ที่ โทเลโด
กระแสการต่อสู้ของคนงานนี้นำไปสู่การจัดตั้งสภาแรงงานใหม่ CIO (Congress of Industrial Unions “สภาแรงงานอุตสาหกรรม”) และการต่อสู้เพื่อขยายสมาชิกสหภาพแรงงาน บวกกับการพัฒนาสภาพการจ้างงานทั่วสหรัฐ มีการใช้ยุทธวิธีการยึดโรงงาน เช่นในปี 1936 ในโรงงานยางรถยนต์ ไฟร์สโตน และ กุดเยียร์ และในบริษัทประกอบรถยนต์ยักษ์ใหญ่ GM มีการยึดโรงงานที่เมืองฟลิ้นท์ รัฐมิชิแกน จนคนงาน 150,000 คนร่วมยึดโรงงาน GM ต่อมาหนึ่งเดือนหลังจากนั้น คนงานเกือบ 200,000 คนในสถานประกอบการ 247 แห่ง ยึดโรงงาน และในปี 1937 คนงานห้าแสนคนใช้วิธีการนี้ด้วย สรุปแล้วคนงานเกือบสองล้านคนออกมาต่อสู้ และมีการขยายจำนวนสมาชิกสหภาพจาก 2 ล้านเป็น 7 ล้านคน
การลุกฮือต่อสู้ของคนงานสหรัฐ มีผลต่อวัฒนธรรมในสังคม เพราะคนจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญกับการร่วมมือกันต่อสู้และความสมานฉันท์ แทนการแข่งขันกันระหว่างปัจเจก แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรค์สำคัญในการเปลี่ยนสังคมไปอย่างถอนรากถอนโคน คือความคิดทางการเมืองของผู้นำแรงงาน และพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินของสหรัฐ
ผู้นำแรงงานใน CIO ทุกคนทั้งที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และที่ไม่เป็น มองว่าต้องไว้ใจพรรค เดโมแครท และ โรสเวลท์ เพราะ มองว่าเขา “เป็นเพื่อนคนงาน” แต่ถึงแม้ว่า โรสเวลท์ ยินดีที่จะให้สหภาพแรงงานหาเสียงให้ตนในวันเลือกตั้ง เขาไม่ได้มองว่าเขาต้องตอบแทนบุญคุณแรงงานเลย และพร้อมจะปราบสหภาพถ้าจำเป็น
ก่อนหน้านี้พรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วง “ยุคที่สาม” ของสตาลิน ได้แต่วิจารณ์ โรสเวลท์ ว่าหลอกลวงคนงาน แต่พอมีคำสั่งจากรัสเซียให้เปลี่ยนนโยบายมาสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้น ตามกระแสในยุโรปช่วง 1936 พรรคคอมมิวนิสต์สหรัฐกลายเป็นกองเชียร์ของพรรค เดโมแครท ผลคือการต่อสู้ทางชนชั้นในสหรัฐเบาลงในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ และในช่วงที่โลกกำลังขยับเข้าสู่สงครามโลกรอบสอง และการที่พรรคคอมมิวนิสต์เชียร์พรรคนายทุนแบบพรรค เดโมแครท ทำให้แรงงานในสหรัฐหลงตั้งความหวังกับพรรคนี้เป็นเวลานานจนถึงทุกวันนี้
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และในยุคสงครามเย็น พรรคคอมมิวนิสต์ในสหรัฐถูกปราบปรามอย่างหนัก ทั้งโดยการใช้ตำรวจกับนายจ้าง และโดยการปลุกผีคอมมิวนิสต์ซึ่งสร้างกระแสต้านสังคมนิยมในสังคมทั่วไป