ปฏิรูปกองทัพ

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนไทยที่รักประชาธิปไตยทุกคนคงอยากจะเห็นการปฏิรูปกองทัพ เพื่อไม่ให้เข้ามาแทรกแซงการเมืองได้อีก เพราะกองทัพไทยเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการพัฒนาประชาธิปไตย มันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ยุคเผด็จการ จอมพลป. หรือ จอมพลสฤษดิ์ จนถึงทุกกวันนี้

นอกจากนี้กองทัพไทยเป็นแหล่งคอร์รับชั่นสำคัญในสังคมเรา แน่นอนทหารหน้าด้านที่ก่อรัฐประหาร มักอ้างว่าตนล้มระบบประชาธิปไตยเพื่อปราบคอร์รับชั่นหรือปราบโกง แต่นี่คือคำพูดโกหกตอแหลของพวกโจร นายทหารที่ก่อรัฐประหารมักตั้งตัวเป็นใหญ่ และตั้งเพื่อนฝูงในตำแหน่งสำคัญๆ อีกด้วย นั้นคือจุดเริ่มต้นของการขโมยเงินภาษีประชาชนเข้ากระเป๋าตนเอง ไม่ว่าจะด้วยการรับเงินเดือนจากหลายตำแหน่งในระบบราชการ หรือจากการกินค่านายหน้าในการซิ้ออุปกรณ์หรือการทำสัญญากับบริษัทเอกชน

แม้แต่ในยุคที่ทหารไม่ได้ปกครองประเทศ พวกนายพลก็รับรายได้เกินเงินเดือนประจำตำแหน่ง โดยใช้วิธีต่างๆ เช่นการอ้างสิทธิพิเศษในการรับตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ หรือการเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจของทหาร ไม่ว่าจะเป็นธนาคารทหารไทย หรือธุรกิจอื่นๆ

ในประเทศตุรกี หลังจากรัฐประหารที่พึ่งล้มเหลวไปในเดือนกรกฏาคม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มปฏิรูปกองทัพอย่างถอนรากถอนโคน ผู้เขียนไม่ได้ชื่นชมแง่ความเป็นเผด็จการของรัฐบาลเออร์โดกันแต่อย่างใด แต่มันมีบทเรียนที่น่าสนใจจากการพยายามลดอำนาจเผด็จการของทหารในตุรกี

ในประการแรกรัฐบาลจับนายทหารระดับนายพลที่ทำรัฐประหารมาลงโทษ ประเทศอื่นๆ เช่นอาเจนทีนาและเกาหลีใต้ก็เคยลงโทษนายพลเผด็จการเช่นกัน ในไทยเราควรลงโทษทหารระดับนายพลทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร มีตำแหน่งในรัฐบาลเผด็จการ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการฆ่าประชาชน

ในประการที่สอง ที่ตุรกีมีการกดดันหรือปลดนายพลคนอื่นๆ ที่มีมุมมองไม่รักประชาธิปไตยออกจากตำแหน่ง คาดว่ามีการปลดทหารระดับนายพลออกไป 40% ของทั้งหมด และมีการเร่งเลื่อนตำแหน่งนายทหารหนุ่มๆ ที่รักประชาธิปไตยขึ้นมาแทน นี่คือสิ่งที่ควรทำที่ไทยด้วย

ในประการที่สาม ที่ตุรกีมีการยุบโรงเรียนนายร้อยและสถาบันอื่นๆ ที่มีไว้ฝึกฝนสร้างนายพลในอนาคต เพื่อกวาดล้างแนวคิด “ทหารเป็นใหญ่” ออกจากสถาบันการศึกษาของทหาร และมีการตั้งองค์กรใหม่ด้วยบุคลากรใหม่ ในไทยเราควรยุบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) เพื่อเริ่มต้นใหม่

ในประการที่สี่ ที่ตุรกีมีการย้ายบางองค์กรที่เคยอยู่ภายใต้ทหาร มาอยู่ภายใต้กระทรวงมหาไทย เราควรทำแบบนี้ด้วย เช่นองค์กรพัฒนาต่างๆ องค์กรบริหารปัญหาทางการเมืองในสามจังหวัดภาคใต้ หรือองค์กรอื่นๆ ทีทหารควบคุม

ในประการที่ห้า ที่ตุรกี การเลื่อนตำแหน่งนายพลทำโดยพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และการประชุมเพื่อพิจารณาตำแหน่ง ไม่ได้จัดในค่ายทหารแต่จัดที่ทำเนียบรัฐบาล เราควรตามแบบอย่างนี้ในไทย

นอกจากนี้ในไทย ต้องมีการตัดงบประมาณทหารลงอย่างจริงจัง เพราะมันเป็นแหล่งหากินของทหาร และสิ้นเปลืองเงินภาษีที่ควรจะนำมาพัฒนาระบบสาธารณสุข การศึกษา และฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนธรรมดา สิ่งที่จะปกป้องสังคมจากภัยภายนอกที่ดีที่สุดคือการมีประชาธิปไตยและการมีความเท่าเทียมท่ามกลางฐานะความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ไม่ใช่กองทัพ

ธุรกิจต่างๆ ของทหารควรนำมาเป็นธุรกิจพลเรือน ทหารไม่ควรมีตำแหน่งบริหารในรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจอื่นๆ เลย

นี่เป็นแค่ข้อเสนอรูปธรรมขั้นตอนแรกที่ผมเสนอให้เกิดขึ้นในไทยหลังจากที่เรากำจัดเผด็จการได้ แต่เราไม่ควรมองข้ามสองเรื่องสำคัญคือ

(1) เราต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนที่จะกำจัดเผด็จการให้ได้ ในเรื่องนี้เราลืมไม่ได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการผ่านในประชามติ ก็เพราะทักษิณ และ นปช. แช่แข็งขบวนการเสื้อแดงมานาน ขบวนการที่ถูกแช่แข็งย่อมอ่อนตัวลงและไร้ประสิทธิภาพท่ามกลางความหดหู่ขาดความมั่นใจของมวลชน นอกจากนี้เราต้องให้ความสำคัญกับวิธีการจัดตั้งมวลชนด้วย ที่แล้วมานักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่หันไปเน้นการต่อสู้แบบปัจเจก

การทำกิจกรรมของปัจเจก เป็นการเอาตนเองมาแทนมวลชน มันคล้ายกับการฝันว่าสามารถนำพลังมวลชนเป็นแสนมาสถิตในร่างกายตนเอง นางอองซานซูจีทำงานแบบนี้ มันจบลงด้วยการทำลายพลังมวลชนและการประนีประนอมกับเผด็จการทหารพม่า เพราะไม่มีพลังอะไรไปต่อรองในที่สุด

ดังนั้นนักเคลื่อนไหวปัจจุบันในไทยจะต้องทบทวนแนวคิดที่มองว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทำได้โดยปัจเจกไม่กี่คนที่สามารถรักษาความขาวสะอาดของตนเอง เพราะการหันหลังกับภาระในการสร้างมวลชน หรือปฏิเสธกระแสมวลชนที่ดำรงอยู่ มันไม่เคยนำไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้ทางสังคมเลย เพราะเป็นการละเลยอำนาจและพลังจริงในสังคมที่จะล้มเผด็จการ มันเป็นมุมมองประเภท “นักเคลื่อนไหวอภิสิทธิ์ชน”

ถ้าเราจะสร้างพลังในการต่อรองกับเผด็จการ เราต้องมีการ “จัดตั้ง” มวลชน อย่างที่เสื้อแดง หรือนักศึกษาในปี ๒๕๑๖ เคยทำ

(2) สิ่งที่สองที่เราควรพิจารณาคือ ในอนาคตเราต้องการกองทัพหรือไม่ เพราะการยกเลิกกองทัพ และการสร้างกองกำลังของประชาชนระดับรากหญ้าอาจเหมาะสมกว่า โดยเฉพาะกับการเมืองประชาธิปไตยที่มีความเท่าเทียมทางสังคม หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า “สังคมนิยม” ยิ่งกว่านั้นเราคงจะต้องพิจารณาว่าเราต้องมีสถาบันกษัตริย์ต่อไปหรือไม่ เพราะสถาบันนี้ถูกใช้เพื่อทำลายประชาธิปไตยไทยบ่อยครั้ง