ใจ อึ๊งภากรณ์
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และในยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกามีประเทศบริวารในลาตินอเมริกา คาริเบี้ยน และเอเชีย รวมถึงไทย ประเทศเหล่านี้ปกครองโดยเผด็จการคอร์รับชั่น บ่อยครั้งกลุ่มชั้นนำประกอบไปด้วยนายทหาร เจ้าที่ดินรายใหญ่ และนักเลงทางการเมือง พวกนี้ไม่มีฐานเสียงสนับสนุนจากประชาชนเลย และพร้อมจะปราบปรามฝ่ายตรงข้ามเสมอ ความเปราะบางและความอ่อนแอของชนชั้นนำประเทศเหล่านี้ หมายความว่าเขาต้องพึ่งพาอำนาจของสหรัฐและซีไอเอ แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันทำให้การกบฏเกิดขึ้นง่าย และอาจสำเร็จถ้าสหรัฐไม่แทรกแซง
ในปี 1959 เกาะคิวบาในทะเล คาริเบี้ยน ปกครองโดยเผด็จการ บาทิสตา ในสมัยนั้นคิวบาเป็นศูนย์กลางของพวกมาเฟียในทวีปอเมริกา และขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งบริการทางเพศ รัฐบาลโกงกินของ บาทิสตา ไม่มีความสามารถในการพัฒนาประเทศเลย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้รัฐบาลหมดความชอบธรรมในสายตาคนส่วนใหญ่ และแม้แต่ในสายตาสหรัฐเอง
ก่อนหน้านี้ในปี 1956 กองกำลังทหารปลดแอกชาติของ คัสโตร กับ เช กุวารา ขึ้นบกที่เกาะคิวบา แต่โดนปราบจนเหลือแค่ 20 คนที่ซ่อนตัวในป่าเขา ต่อมาในปี 1958 มีการเพิ่มจำนวนนักสู้เป็น 200 และในวันปีใหม่ปี 1959 สามารถยกทัพมายึดเมือง ฮาวานา ได้ สาเหตุที่กองกำลังเล็กๆ นี้ได้รับชัยชนะก็เพราะเกือบจะไม่มีใครเหลืออยู่ในคิวบาที่สนับสนุนรัฐบาล
สภาพเศรษฐกิจของคิวบาหลังจากการยึดอำนาจของ คัสโตร กับ เช กุวารา อยู่ในสภาพย่ำแย่ และรัฐบาลไม่สามารถเอาใจทุกฝ่ายในสังคมได้ ทั้งๆ ที่ตอนแรกเกือบทุกชนชั้นสนับสนุนรัฐบาลใหม่ หนึ่งปีกว่าหลังการยึดอำนาจ บริษัทน้ำมันสหรัฐไม่ยอมกลั่นน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียให้คิวบา คัสโตร จึงยึดบริษัทน้ำมันมาเป็นของรัฐ สหรัฐโต้ตอบด้วยการเลิกสัญญาซื้อน้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของคิวบาที่สหรัฐเคยซื้อแบบผูกขาด รัฐบาล คัสโตร เลยยึดโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้า และบริษัทโทรศัพท์มาเป็นของรัฐและหันมาผูกมิตรและพึ่งพารัสเซียแทน
การปฏิวัติคิวบาเป็นการปฏิวัติชาตินิยมล้วนๆ คัสโตร ต้องการกำจัดอิทธิพลของสหรัฐออกจากคิวบา และต้องการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้พึ่งพาน้ำตาลอย่างเดียว ในช่วงแรก คัสโตร ไม่ได้เอ่ยถึง “สังคมนิยม” แต่อย่างใด แต่เนื่องจากกลุ่มของเขาขาดมวลชน และมีการนำบริษัทเอกชนมาเป็นของรัฐ เขาเลยไปยึดพรรคคอมมิวนิสต์และมวลชนของพรรค และเริ่มประกาศว่า “ทำการปฏิวัติสังคมนิยม” ท่าทีนี้มีประโยชน์ในการผูกมิตรกับรัสเซียด้วย อย่างไรก็ตามเผด็จการคิวบา ไม่เคยเป็นสังคมนิยมมาร์คซิสต์ เพราะไม่มีเสรีภาพและประชาธิปไตยสำหรับชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกรเลย กรรมาชีพไม่ได้มีส่วนในการยึดอำนาจแต่อย่างใด คิวบาใช้ระบบเศรษฐกิจ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ไม่ต่างจากรัสเซียหรือจีน ซึ่งในการพยายามครองใจประชาชนต้องมีการจัดระบบการศึกษาและสาธารณสุขให้พลเมืองทุกคน ระบบสาธารณสุขคิวบาพัฒนาไปไกลจนดีกว่าของสหรัฐอีก และมีการส่งแพทย์ไปช่วยประเทศยากจนในหลายแห่งของโลก แต่ในเรื่องอื่นๆ เช่นเสรีภาพในการนัดหยุดงาน เสรีภาพทางวัฒนธรรม และเสรีภาพทางเพศโดยเฉพาะสำหรับคนรักเพศเดียวกัน คิวบาเป็นเผด็จการแนวสตาลินของพรรคคอมมิวนิสต์ที่กดขี่ประชาชน
ความหวังของ คัสโตร ที่จะสร้างความอิสระทางการเมืองและเศรษฐกิจให้คิวบา ไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะหลังจากที่หันหลังให้สหรัฐ คิวบาต้องไปพึ่งพารัสเซียแทน
ในเมษายน 1961 ประธานาธิบดี เคนนาดี สั่งให้องค์กร ซีไอเอ จัดการบุกคิวบา ที่ “อ่าวหมู” พร้อมส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดไปทำลายสนามบินต่างๆ แต่ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะประชาชนคิวบาออกมาต่อสู้ปกป้องรัฐบาล หลังจากนั้น สองพี่น้อง เคนนาดี้ ก็ยังพยายามทำลาย คัสโตร ต่อ แต่ไม่เคยสำเร็จ
ต่อมาในปี 1962 รัสเซียพยายามนำจรวดติดหัวนิวเคลียร์มาประจำบนเกาะ เพื่อเลงไปที่เมืองต่างๆ ของสหรัฐ เพราะสหรัฐก็มีจรวดนิวเคลียร์ในยุโรปที่เลงไปที่เมืองของรัสเซีย แต่ประธานาธิบดี เคนนาดี ไม่ยอมและพร้อมจะกดปุ่มเริ่มสงครามโลกครั้งที่สาม ในที่สุด ครุสชอฟ ยอมจำนน แต่มติของเขาเกือบไม่ผ่านการประชุมคณะกรรมการการเมืองของรัสเซีย ทั้งๆ ที่ผู้นำคิวบาผิดหวังกับการยอมจำนนของรัสเซีย เพราะเขาหวังว่าการมีจรวดนิวเคลียร์จะนำไปสู่การมีอำนาจต่อรองกับสหรัฐ และการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเขาพึ่งพารัสเซีย
ในระยะแรกๆ หลัง “วิกฤตจรวดคิวบา” คนอย่าง เช กุวารา พยายามเสนอแนวทาง “สมานฉันท์ปฏิวัติสากล” ใน คองโก และ โบลิเวีย เพื่อให้คิวบาไม่ต้องพึ่งพาใครอีก แต่ เช กุวารา พยายามใช้รูปแบบการปฏิวัติของคิวบาในที่อื่นที่ขาดสถานการณ์พิเศษของคิวบา ในคิวบารัฐบาลเดิมหมดความชอบธรรมในสายตาทุกฝ่าย และ คัสโตร กับกุวารา ไม่ต้องอาศัยพลังมวลชน แต่ที่ คองโก และโบลิเวีย มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ในที่สุดการต่อสู้ของ เช กุวารา จบลงด้วยความพ่ายแพ้และความตายในโบลิเวีย
หลังจากที่ระบบโซเวียตสิ้นสุดลงหลังสงครามเย็น คิวบาไม่สามารถพึ่งพารัสเซียได้อีก และต้องหันมาใช้ระบบทุนนิยมตลาดเสรีภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์
การเสียชีวิตของ ฟิเดล คัสโตร วันนี้อาจเปิดทางให้ชาวคิวบาหันมาทบทวนศึกษาแนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวเผด็จการสตาลิน