ใจ อึ๊งภากรณ์
เวลากล่าวถึงแนวสังคมนิยมหรือมาร์คซิสต์ในไทย หลายคนอาจคิดถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ที่ไม่สังกัดสายสตาลิน-เหมา หรือ พคท. ก็มี ตัวอย่างที่ดีคือ สุภา ศิริมานนท์
บุคคลคนหนึ่งที่มีอิทธิพลกับ สุภา ศิริมานนท์ คือ เจ. เอฟ. ฮัตเจสสัน นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายจากอังกฤษที่อาจารย์ปรีดีเชิญมาสอน ลัทธิมาร์คซ์กับลัทธิเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในการพูดถึงแนวมาร์คซิสต์ ฮัตเจสสัน วิจารณ์แนวเผด็จการของสตาลิน
แนวคิดสังคมนิยมมาร์คซิสต์ก่อตัวขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ทางชนชั้นในยุโรป คาร์ล มาร์คซ์ และเฟรเดอริค เองเกิลส์ เริ่มต้นโดยมีจุดยืนเป็นนักประชาธิปไตยสุดขั้ว แต่ประสบการณ์การต่อสู้สอนเขาว่าประชาธิปไตยแท้ในระบบทุนนิยมมีไม่ได้เนื่องจาก “อำนาจเงียบในการขูดรีดของระบบทุน” นักมาร์คซิสต์ทั้งหลายที่เดินตามแนวและวิธีคิดแบบมาร์คซิสต์ จึงสรุปกันว่าจำเป็นที่จะต้องปฏิวัติล้มระบบเผด็จการทางชนชั้นของทุนนิยม แต่นั้นไม่ได้หมายความว่ามีการแปรเปลี่ยนความคิดไปเป็นเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง ความต้องการเสรีภาพเต็มตัวในทุกแง่ของชีวิตมนุษย์เป็นหัวใจของแนวมาร์คซิสต์เสมอ ไม่ว่าจะเรื่องของความสัมพันธ์กับการทำงานและการผลิต ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์โดยทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ หรือเรื่องความสร้างสรรค์ของมนุษย์ในด้านศีลปะวัฒนธรรม แม้แต่ในเรื่องการสร้างพรรคปฏิวัติ แนวมาร์คซิสต์แบบ เลนิน หรือ ตรอทสกี มองเสมอว่าต้องเต็มไปด้วยเสรีภาพในการถกเถียงภายในกรอบการจัดตั้ง
ในเรื่องเพศ เองเกิลส์ เขียนไว้ใน “กำเนิดครอบครัวฯ” ว่า “แนวโน้มเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศจะเป็นไปในทิศทางใดถ้าเรามีสังคมใหม่ที่เราร่วมกำหนด? สิ่งใดที่จะถูกยกเลิกหลังจากที่ได้มีการล้มล้างระบบทุนนิยมไป? อะไรใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามา? คำถามเหล่านี้จะถูกตอบโดยคนอีกรุ่นหนึ่งที่เติบโตขึ้นจากวิถีการผลิตแบบใหม่ ชายรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จักการซื้อขายหญิงด้วยเงินตราหรือตำแหน่งยศศักดิ์ และอำนาจทางสังคม หญิงรุ่นใหม่ที่รู้จักการมอบกายให้กับชายโดยมีเงื่อนไขเดียวเท่านั้นคือ “ความรัก” ยิ่งกว่านั้นเธอจะไม่รู้จักความกลัวว่า ถ้าไม่ยอมกระทำตามความต้องการของชายที่ตนรักจะมีผลร้ายที่ต้องเผชิญทางด้านเศรษฐกิจ และเมื่อคนเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นเต็มโลกใบใหม่ เขาจะไม่สนใจว่าคนยุคอดีตจะมองพฤติกรรมของเขาเช่นไร พวกเขาจะกำหนดประเพณีการปฏิบัติ ค่านิยมต่าง ๆ ของสังคมใหม่ขึ้นมาให้กลายเป็นวัฒนธรรมที่รับใช้มนุษย์อย่างแท้จริง”
ในการเลือกแนวทางสังคมนิยมมาร์คซิสต์สำหรับยุคนี้ ถ้าเราศึกษาภาพรวมของสังคมนิยมในลักษณะที่ สุภา ศิริมานนท์ เคยศึกษา เราจะพบว่าเราไม่ต้องจำกัดทางเลือกของเราระหว่างเผด็จการเงียบของนายทุนในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม หรือเผด็จการสตาลิน-เหมาในระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เราสามารถรื้อฟื้นความเข้าใจในแนวเสรีของลัทธิมาร์คซ์ดั้งเดิมได้
คนก้าวหน้าในไทยคงรู้จักคำขวัญ “รู้เขารู้เรา” ดี แต่ในการรบกับระบบทุนนิยมด้วยระบบคิดแบบลัทธิมาร์คซ์ ปรากฏว่าฝ่ายซ้ายภายใต้ พคท. ไม่เข้าใจระบบทุนนิยม และไม่รู้จักลัทธิมาร์คซ์ ประสบการณ์ส่วนใหญ่ของคนรุ่นเดือนตุลาที่ผ่านการต่อสู้ในเมืองระหว่าง ๑๔ ตุลา ๑๖ ถึง ๖ ตุลา ๑๙ แล้วเข้าป่าร่วมกับ พคท. คือการที่พรรคไม่ได้เน้นหนักการศึกษาลัทธิมาร์คซ์อย่างจริงจัง
นักมาร์คซิสต์ให้ความสำคัญกับการศึกษาและการวิเคราะห์ปรับปรุงทฤษฏีเสมอ ลัทธิ “ปฏิบัติการนิยม” ซึ่งเป็นข้ออ้างของนักกิจกรรมทั้งหลายในยุค เอ็นจีโอ เพื่อหลีกเลี่ยงการศึกษาและการอ่านหนังสือ เป็นลัทธิของคนตาบอด สุพจน์ ด่านตระกูล เคยบอกผู้เขียนว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ “เสียดาย” การที่นายผีไปเข้าพรรค เพราะหลังจากเข้า พคท. ไปแล้ว ปัญญาชนหรือศีลปินจะเสียความคิดแบอิสระ และบ่อยครั้ง “คนไม่รู้กลายเป็นผู้คุมคนรู้” ในส่วนนี้ สุภา ศิริมานนท์ กับสุภัทร สุคนธาภิรมย์ มองเหมือนกันว่า พคท. ไม่เข้าใจลัทธิมาร์คซ์อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ประวุฒิ ศรีมันตะ ซึ่งเคยเป็นสมาชิก พคท. ที่ชื่นชมแนวของพรรค บอกผมว่า พคท. ไว้ใจปัญญาชนหลายคน แต่เขายอมรับว่าพรรค ยังขาดผู้ปฏิบัติงานที่รอบรู้และ มักทำงานกับปัญญาชนอย่าง สุภา ศิริมานนท์ หรือสมัคร บุราวาส ไม่ค่อยได้
การทำงานของคนอย่างอย่าง สุภา ศิริมานนท์ มีลักษณะน่ายกย่องตรงที่พยายามค้นคว้างานประเภทต้นฉบับจากต่างประเทศ และมีการอ้างอิงงานเหล่านี้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาลัทธิมาร์คซ์ สุภา เป็นปัญญาชนไทยคนแรกที่ศึกษา “ว่าด้วยทุน” ของมาร์คซ์อย่างจริงจัง และเป็นคนที่นำหนังสือแนวมาร์คซ์ไปแนะนำให้คนอื่นอ่านด้วย
หนังสือ “แคปิตะลิสม์” (ทุนนิยม) ของ สุภา ศิริมานนท์ เริ่มต้นในการวิเคราะห์หัวใจของระบบทุนนิยมโดยเสนอว่า “ทางแห่งความสมานฉันท์ไม่มีอยู่ในระบบแคปิตะลิสม์ ชนชั้นทั้งสอง (กรรมาชีพ-นายทุน) มีสภาพเสมือนอยู่ฝ่ายละขั้วโลก ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริงก็อยู่ร่วมกันในสถานะปัจจุบันนี้เอง” แต่ พคท. คงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้เพราะเรียกร้องให้กรรมกร ชาวนา และนักศึกษา สามัคคีกับนายทุนน้อยและนายทุนใหญ่เพื่อกู้ชาติ
ในการวิเคราะห์ระบบทุนนิยมของ สุภา ศิริมานนท์ มีข้อสังเกตอันหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น สุภา ฟันธงว่าการคอร์รัปชั่น การปฏิบัติแบบคดโกง และการใช้อภิสิทธิ์ ล้วนแต่เป็นธรรมชาติของระบบทุนนิยมที่แสวงหากำไรสูงสุด ไม่ใช่ว่าการคอร์รัปชั่นเป็นของแปลกปลอมที่ทำให้ทุนนิยมเพี้ยนไป ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าวตรงกับโลกจริงเมื่อพิจารณากรณีการโกงบัญชีในบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ในไทยพวกที่ต้อนรับรัฐประหารทหาร ก็หลงคิดว่าทหาร ซึ่งมีประวัติโกงกินมานานในระบบทุนนิยม จะเข้ามากำจัดการคอรรับชั่นได้
ในเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยม สุภา มีคำอธิบายที่ดีกว่าการโทษการคอร์รับชั่น เพราะ สุภา เชื่อเหมือน คาร์ล มาร์คซ์ ว่าวิกฤตมาจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรในระบบที่มาจากการลงทุนในเครื่องจักรมากขึ้นทุกที ในขณะที่การลงทุนจ้างงานขยายตัวช้ากว่าหรือไม่ขยายเลย สุภา เตือนให้เราระวังการรีบสรุปว่าความพินาศของระบบเงินตราหรือราคาหุ้นเป็นอาการที่แท้จริงของวิกฤต เพราะในการเข้าใจธาตุแท้ของวิกฤตเราต้องไปดูฐานะของอุตสาหกรรมมากกว่า อันนี้เป็นบทสรุปสำคัญสำหรับยุคนี้ในเมื่อใครๆ ชอบพูดถึง “วิกฤตระบบการเงิน” แทนที่จะพูดถึงวิกฤตทุนนิยมโลก นอกจากนี้ในการพิจารณาบทบาทของนายทุนเอกชนและกลไกตลาดในการ “แก้” ปัญหาวิกฤต สุภาเสนอว่ามาตราการต่างๆ ของนายทุน เช่นการเลิกจ้างหรือประหยัดค่าใช้จ่ายยิ่งทำให้วิกฤตร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งก็ตรงกับข้อวิจารณ์ที่หลายคนมีต่อนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลต่างๆ
ในขณะที่เราสามารถเรียนรู้จาก สุภา เราไม่ควรมองข้ามปัญหาบางอย่างในการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยมของเขา เพราะมีข้อบกพร่องอยู่เนื่องจาก สุภา ไม่สามารถเข้าใจธาตุแท้ของระบบเศรษฐกิจการเมืองในรัสเซียตั้งแต่สมัยสตาลินเป็นต้นมา สุภา หลงเชื่อว่าระบบโซเวียตเป็นระบบสังคมนิยมที่มีการวางแผนที่ไม่นำไปสู่วิกฤต ถ้า สุภา มีชีวิตอยู่หลังช่วงวิกฤตของระบบโซเวียตปี 1989 ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของระบบนี้ทั่วโลก เขาคงต้องมานั่งทบทวนแนวคิดในส่วนนี้
สุภา ค้านพวกนักวิชาการที่อ้างอยู่เรื่อยว่าแนวมาร์คซิสต์ใช้ไม่ได้ในโลกสมัยนี้ โดยการอธิบายว่าแนวมาร์คซิสต์มองสองด้านตลอด และมองในลักษณะที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ ดังนั้นระบบการวิเคราะห์แบบมาร์คซิสต์สามารถปรับตัวให้ทันสมัยตลอดเวลา
ในการพิจารณาข้อดีของปัญญาชนที่ไม่สังกัด พคท. อย่าง สุภา ศิริมานนท์ ทั้งในด้านความคิดที่ไม่เป็นกลไก หรือการศึกษาลัทธิมาร์คซ์อย่างจริงจัง เราต้องมองด้านกลับถึงจุดอ่อนด้วย เพราะเขาไม่สามารถเคลื่อนไหวอย่างมีพลังร่วมกับมวลชน และมีอุปสรรคในการถ่ายทอดแนวความคิดอย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่มีองค์กรจัดตั้งหรือพรรค ส่วน พคท. ได้เปรียบมหาศาลในการเสนอแนวเนื่องจากมีการจัดตั้ง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ได้เสนอแนวมาร์คซิสต์
อย่างไรก็ตามเราไม่ควรมองว่า สุภา ศิริมานนท์ ไม่มีส่วนในภาคปฏิบัติของการต่อสู้เลยเพราะ ประวุฒิ ศรีมันตะ เคยอธิบายกับผมว่า “คุณสุภาทำให้คอมมิวนิสต์หลายคนอย่างผมไม่ทุกข์ยากเกินไป” เพราะมีการช่วยหางานให้ทำในบริษัทประกันภัยอาคเนย์
อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2g8nWkX