ใจ อึ๊งภากรณ์
ท่ามกลางความมืดหมองในยุคเผด็จการปัจจุบัน และท่ามกลางการวางแผนของพวกทหารและฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่จะแช่แข็งความเจริญทางการเมืองในประเทศไทย เราต้องกล้าและมั่นใจในความฝันว่าเราจะสามารถร่วมกันสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ แต่เราไม่ควรฝันแบบโง่ๆ ไม่ควรหวังว่าจะมีผู้ใหญ่ที่ไหนมาทำให้ หรือฝันว่ามันจะเกิดเอง โดยที่เราไม่ลงแรงเคลื่อนไหว
อันโตนิโอ กรั่มชี่ นักมาร์คซิสต์อิตาลี่ เสนอว่าเราต้องมองเป้าหมายการต่อสู้ระยะยาวด้วยความฝันในแง่ดี แต่มองอุปสรรค์ระยะสั้นด้วยปัญญาในแง่ร้าย คือเราไม่จำเป็นต้องหลอกลวงตัวเราเองและคนอื่น ว่าการต่อสู้ระยะสั้นจะง่าย แต่ถ้าเราไม่มีความฝันเลย ไม่มีความหวังเหลืออยู่เลย เราก็จะเป็นทาสตลอดกาล
ในเรื่องความฝันไปสู่การปฏิวัติพลิกแผ่นดิน กุหลาบ สายประดิษฐ์ (นามปากา “ศรีบูรพา”) ฝ่ายซ้ายไทยในอดีต เขียนไว้ในหนังสือ “แลไปข้างหน้า” ว่าหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ “อำนาจที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณกาลว่าเป็นอำนาจที่จะอยู่คู่ฟ้าไม่อาจเปลี่ยนและทำลายได้นั้น ในที่สุดก็ล้มครืนลงต่อหน้าต่อตาเขาทั้งหลาย และการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ได้กระทำโดยมือของมนุษย์ธรรมดานั้นเอง” สรุปแล้ว “ไม่มีสิ่งใดที่ศักดิ์สิทธิ์เกินไปจนมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงมันได้ ” นี่คือคำสำคัญที่นักเคลื่อนไหวคนหนุ่มสาวในสังคมไทยปัจจุบันควรจดจำและนำมาใช้ในการต่อสู้ โดยในประการแรกไม่ลืมว่าในไทยเคยมีการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน หรือการล้มเผด็จการทหารมาหลายครั้ง และสอง เราควรนึกถึงตัวอย่างของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ใครๆ บอกเราว่าแตะไม่ได้ในปัจจุบัน เพื่อกล้าเสนอและคิดว่าในเมื่อสิ่งเหล่านี้สร้างโดยมนุษย์แต่แรก มันก็ถูกมนุษย์ธรรมดาล้มหรือเปลี่ยนไปได้
ในเนื้อเรื่องของหนังสือ “แลไปข้างหน้า” กุหลาบ ชวนให้เราถามต่อไปว่าความคิดเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มันเกิดมาจากไหนและรับใช้ใคร เช่นในกรณีที่เด็กยากจนป่วย และคนอย่าง “คุณลมัย” มองว่า “เมื่อมันถึงที ก็ต้องปล่อยให้มันตายไป …มันไม่มีทำเนียมที่บ่าวจะใช้แพทย์ร่วมกับนาย” ….กุหลาบ สรุปหลังจากนั้นว่า “ไม่มีใครที่ซักถามคุณลมัยว่าประเพณีอันดีงามของเขาก่อรูปมาได้อย่างไร และมีใครบ้างที่ต้องการเชิญมันไว้ให้ค้ำฟ้า” ในยุคปัจจุบันหลังจากที่เรามีระบบรักษาพยาบาลถ้วนหน้า “30 บาท” ผู้ที่เสนอว่าเราควรเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อพัฒนามันให้เป็นระบบรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูงขึ้น จะถูกประณามโดยพวกปฏิกิริยาที่คลั่งกลไกตลาดเสรี กับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ว่ามันจะทำลายแรงบันดาลใจให้คนขยันทำงาน ทุกวันนี้พวกเผด็จการที่ปล้นสิทธิเสรีภาพของเราไป กำลังพยายามที่จะหมุนนาฬิกากลับและเริ่มเก็บค่ารักษาพยาบาลในระบบ “ร่วมจ่าย” ในขณะที่มันเองกอบโกยความร่ำรวยอย่างไม่รู้จักพอ
ปัญหาอันหนึ่งที่คนก้าวหน้าในไทยมักจะเกรงกลัวคือปัญหาการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ และการวิจารณ์ลัทธิชาตินิยม อันนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะมีการใช้กฏหมาย 112 อย่างป่าเถื่อนเหี้ยมโหด แต่เราไม่ควรปล่อยให้เผด็จการครอบงำความคิดในหัวสมองของเรา จนเรากลัว “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” จอมปลอมแบบไร้วิทยาศาสตร์ ถ้าเราหยุดนิ่งสักพัก และหันมาใช้สติปัญญาในการวิเคราะห์ เราจะพบว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่มาสามครั้งในรอบแค่ 150 ปีที่ผ่านมา เช่นจากลักษณะศักดินา มาเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วมาเป็นกษัตริย์ใต้ระบบรัฐธรรมนูญ และยิ่งกว่านั้นถ้าย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์สมัยจอมพลป. หรือช่วงหลัง ๖ ตุลา ๒๕๑๖ ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ไม่นานมานี้เอง จะพบว่าในยุคเหล่านั้น สถาบันนี้ไม่ได้รับความชื่นชมจากประชาชนแต่อย่างใด
ในเรื่องลัทธิชาตินิยม เราควรใช้เวลานึกคิดว่า “ชาติ” ที่เขาบังคับให้เราเคารพ เป็นชาติภายใต้การครอบครองของใคร และธงชาติไทยมีสัญลักษณ์ของพลเมืองดำรงอยู่หรือไม่
สมควรแล้วหรือที่เราจะต้องห้ามตัวเองไม่ให้ฝันว่ารูปแบบการปกครองในไทยจะต่างออกไปจากปัจจุบัน? โดยเฉพาะรูปแบบสาธารณรัฐ และการไม่คลั่งชาติ การเสนอว่าผู้นำการเมืองทุกระดับควรมาจากการเลือกตั้ง การเสนอว่าความสามารถไม่ได้ถ่ายทอดทางสายเลือดแบบอัตโนมัติหยาบๆ และการเสนอว่าผลประโยชน์คนธรรมดาตรงข้ามกับผลประโยชน์ชนชั้นปกครองในชาติเดียวกัน นอกจากจะตรงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และความเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพในโลกสมัยใหม่แล้ว ยังเป็นการนำทางไปสู่สังคมที่มีประชาธิปไตยและการใช้สติปัญญามากขึ้นอีกด้วย
ในเรื่องสถาบันกษัตริย์ กุหลาบ ก็มีคำแนะนำจากหนังสือ “แลไปข้างหน้า” เช่นกัน: “สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าก็เหมือนกัน แต่เดิมท่านเป็นขุนนางชั้นหลวง … และแต่เดิมทีเดียวท่านชื่อด้วง … ดูซิเธอ … พระเจ้าแผ่นดินหรือขุนนางท่านก็มาจากคนธรรมดาเหมือนอย่างเราๆ ทั้งนั้น”
แต่อย่าลืมด้วยว่าสถานะของสถาบันกษัตริย์ไทย และความศักดิ์สิทธิ์ของชาติ เป็นสถานะหลอกลวง ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยทหาร เพื่อให้รับใช้เผด็จการ ดังนั้นเราจะต้องคิดกันว่าจะกำจัดอิทธิพลของทหารออกจากสังคมได้อย่างไร
อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2g8nWkX
One thought on “ความฝันสำหรับอนาคต”
Comments are closed.