ใจ อึ๊งภากรณ์
นักวิชาการในปัจจุบันที่กล่าวถึง โรซา ลัคแซมเบอร์ค มักจะบิดเบือนประวัติและผลงานของสตรีนักปฏิวัติคนนี้ โดยพยายามสร้างภาพว่าเขาเป็นคนที่ปฏิเสธการต่อสู้แบบสุดขั้วตามแนวมาร์คซิสต์ ในปัจจุบันมีความพยายามจะแยกเขาออกจากนักต่อสู้มาร์คซิสต์อย่าง เลนิน หรือ ตรอทสกี้ โดยคนที่ชอบพูดว่าสังคมนิยมมันหมดยุคไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม โรซา ลัคแซมเบอร์ค เป็นนักปฏิวัติที่กล้าท้าทายกระแสหลักตลอดเวลา ตอนเป็นสาววัย 27 ปี เขากล้าเขียนบทความท้าทายพวก “ผู้ใหญ่” ในพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมัน เช่น คาร์ล เคาท์สกี และเอดวาร์ด เบิรน์สไตน์ เพราะมองว่าพวกนั้นเป็นพวกนักปฏิรูปที่ยอมจำนนต่อทุนนิยม
แนวคิดของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมันในยุคนั้นมีความขัดแย้งในตัว คือทั้งๆ ที่เสนอว่า “ต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม” ในรูปธรรมกิจกรรมประจำวันของพรรคจะเป็นรูปแบบการค่อยๆ กดดันให้มีการปฏิรูปทุนนิยมผ่านรัฐสภา ไม่ใช่ล้มระบบ ในที่สุดคนอย่าง เอดวาร์ด เบิรน์สไตน์ ก็เสนอว่าทฤษฏีของมาร์คซ์ และเองเกิลส์ “ผิดพลาด” ตรงที่มองว่าต้องปฏิวัติทุนนิยม เพราะ เบิรน์สไตน์ มองว่าตอนนั้นในเยอรมันสามารถค่อยๆ เปลี่ยนแปลงระบบผ่านการเลือกตั้งในรัฐสภาได้
โรซา ลัคแซมเบอร์ค เขียนไว้ในบทความ “ปฏิรูป หรือ ปฏิวัติ?” เพื่อเถียงกับพวกสังคมนิยมอนุรักษ์นิยมที่ชอบกล่าวหานักปฏิวัติมาร์คซิสต์ว่ารอแต่วันปฏิวัติในขณะที่ไม่สนใจการต่อสู้ประจำวัน….
“สังคมนิยมมาร์คซิสต์ต่อต้านการปฏิรูปที่ค่อยเป็นค่อยไปจริงหรือ? เราสามารถนำการปฏิวัติสังคม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสังคมปัจจุบันโดยสิ้นเชิงและเป็นเป้าหมายสุดท้ายของเรา มาเปรียบเทียบและหาข้อแตกต่างกับการปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไปได้หรือไม่? เราทำไม่ได้โดยเด็ดขาด!! การต่อสู้ประจำวันเพื่อการปฏิรูป เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ประจำวันของชนชั้นกรรมาชีพภายในกรอบของสังคมปัจจุบัน หรือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นโอกาสเดียวของชาวสังคมนิยมที่จะลงมือร่วมสู้ในสงครามชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพ เพื่อบรรลุจุดเป้าหมายสุดท้าย คือการยึดอำนาจทางการเมืองและการทำลายระบบการจ้างงาน สำหรับชาวสังคมนิยม การปฏิรูปทางสังคมและการปฏิวัติมีสายใยผูกพันเชื่อมโยงที่ไม่สามารถตัดขาดได้ วิธีการต่อสู้คือ ผลักดันการปฏิรูปเล็กๆน้อยๆ แต่เป้าหมายคือการปฏิวัติ”
แต่ในขณะเดียวกัน โรซา ลัคแซมเบอร์ค วิจารณ์พวกสังคมนิยมอนุรักษ์นิยมที่มองว่าการปฏิรูปค่อยเป็นค่อยไปเป็นทางเลือกใหม่ ที่ทำให้การปฏิวัติไม่จำเป็นแล้ว เขาอธิบายว่าถ้าไม่มีพลังที่จะผลักดันการปฏิวัติ การปฏิรูปจะไม่เกิดเลย…
“ชะตากรรมของประชาธิปไตย ผูกพันกับชะตากรรมของชนชั้นกรรมาชีพ แต่การพัฒนาประชาธิปไตยทำให้การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพหรือการยึดอำนาจทางการเมืองโดยกรรมกรไม่จำเป็น หรือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้จริงหรือ?…การปฏิรูปกฎหมายและการปฏิวัติไม่ใช่วิธีการที่แตกต่างกันในกระบวนการทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป้าหมายเดียวกันแต่อย่างใด มันไม่เหมือนการเลือกไส้กรอกร้อนหรือไส้กรอกเย็นในร้านค้า การปฏิรูปทางกฎหมายและการปฏิวัติเป็นปัจจัยที่แตกต่างกันในการพัฒนาสังคมชนชั้นจริง แต่ทั้งสองจะมีผลกระทบซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นควบคู่กันไป และในขณะเดียวกันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน เหมือนขั้วโลกเหนือกับขั้วโลกใต้ หรือชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ การปฏิรูปกฎหมายทุกชนิดเป็นผลจากการปฏิวัติ ในประวัติของชนชั้น การปฏิวัติเป็นการสร้างสรรค์ทางการเมือง การปฏิรูปจึงไม่มีพลังของมันเองที่สามารถแยกออกจากการปฏิวัติได้”
นอกจากนี้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ย้ำเสมอว่าประชาธิปไตยภายใต้ทุนนิยมเป็นสิ่งที่เราควรต่อสู้เพื่อได้มาหรือปกป้องไว้ ทั้งๆที่มันไม่ใช่สังคมนิยม…
“ถ้ามองจากมุมมองของนายทุน บางครั้งเขาจะไม่ให้ความสำคัญกับระบบประชาธิปไตย หรือเขาอาจรำคาญกับระบบนี้ด้วยซ้ำ แต่สำหรับชนชั้นกรรมาชีพ ระบบประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง สำคัญเพราะรูปแบบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระบบนี้ เช่นการบริหารตนเองและสิทธิในการลงคะแนนเสียง ชนชั้นกรรมาชีพสามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการแปรรูปทุนนิยมได้ ฉะนั้นระบบประชาธิปไตยมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชนชั้นกรรมาชีพ เนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตยในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นทางเดียวที่จะทำให้ชนชั้นกรรมาชีพเกิดจิตสำนึกในผลประโยชน์ของชนชั้นตนเอง และภาระทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นตนเอง ถ้าจะสรุปสั้นๆ ประชาธิปไตยไม่ได้มีความสำคัญเพราะจะทำให้การยึดอำนาจโดยชนชั้นกรรมาชีพไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่เพราะมันทำให้การปฏิวัติยึดอำนาจดังกล่าวมีความจำเป็นและความเป็นไปได้ต่างหาก”
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้นในปี 1914 พวกนักสังคมนิยมที่เคยพูดในนามธรรมว่าต้านสงคราม กลับหันไปรับแนวชาตินิยมของชนชั้นนายทุนท่ามกลางกระแสปลุกสงคราม มีแต่ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ สหายใกล้ชิดของเขาชื่อ คาร์ล ลีบนิค ที่กล้าค้านสงครามจนต้องติดคุก
หลังสงครามสิ้นสุดลงท่ามกลางการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 กระแสปฏิวัติในประเทศต่างๆ ของยุโรปพุ่งสูง มีการเดินขบวนของทหารเรือติดอาวุธร่วมกับคนงานท่าเรือที่เมือง เคียล์ หลังจากนั้นมีการตั้งกรรมการทหาร ในเมือง บเรเมน, แฮนโนเวอร์, โคโลน, ไลป์ซิก, ดเรสเดน และเมืองอื่นๆ อีกมากมาย ทหารชั้นล่างกับคนงานยึดเมือง มิวนิค และมีการประกาศตั้งสาธารณรัฐโซเวียดของแคว้น บาวาเรีย ซึ่งอยู่ได้หลายเดือน ส่วนในเมืองหลวง เบอร์ลิน ทหารชั้นล่างติดอาวุธร่วมกับกรรมาชีพถือธงแดงในการเดินขบวน และนักสังคมนิยมอย่าง คาร์ล ลีบนิค ปรากฏตัวที่ระเบียงพระราชวังเพื่อประกาศว่ามีการก่อตั้ง “สาธารณรัฐสังคมนิยม” และเริ่มกระบวนการ “ปฏิวัติโลก” ซึ่งทำให้พระเจ้าไคเซอร์ต้องหนีออกนอกประเทศทันที
Retuschiertes Original Aufnahmedatum: 1919 Aufnahmeort: Berlin Material/Technik: Fotografie Systematik: Geschichte / Deutschland / 20. Jh. / Weimarer Republik / Januar-Februar 1919 / Spartakus / Liebknecht
พวกสังคมนิยมเยอรมันส่วนใหญ่สองจิตสองใจเรื่องการปฏิวัติ คือแกว่งไปแกว่งมาระหว่างการปฏิวัติกับการปฏิรูประบบเดิม มีแค่ “กลุ่มสันนิบาตสบาร์ตาคัส” ของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค เท่านั้นที่ชัดเจนว่าต้องปฏิวัติสังคมนิยม อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้พึ่งแยกตัวออกจากพวกพรรคสังคมนิยมปฏิรูปก่อนหน้านี้ไม่นาน จึงไม่ได้มีการจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบ ในที่สุดไม่เข้มแข็งพอที่จะนำการปฏิวัติได้
ในปลายเดือนธันวาคม 1918 รัฐมนตรีมหาดไทย นอสก์ จากพรรคสังคมนิยม ตัดสินใจสร้างกองกำลังทหารรับจ้าง “ไฟรคอพส์” ที่ประกอบไปด้วยพวกอนุรักษ์นิยมคลั่งชาติ เพื่อตระเวนไปทั่วเยอรมันและปราบปรามทำลายขบวนการแรงงานและนักสังคมนิยมปฏิวัติ บางหน่วยของกองกำลังนี้เริ่มใช้ธงสวัสติกะ ซึ่งกลายเป็นสัญญลักษณ์นาซีภายใต้ฮิตเลอร์
นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมันชื่อ เอเบอร์ด จากพรรคสังคมนิยมปฏิรูป วิ่งไปจับมือทันทีกับพวกนายพลเก่า เพื่อ “สร้างความสงบเรียบร้อย” และการสร้างความสงบเรียบร้อยสำหรับระบบทุนนิยมแปลว่าต้องจัดการกับนักปฏิวัติ อย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ซึ่งมีฐานสนับสนุนในมวลชนทหารระดับล่างและกรรมาชีพของเมือง เบอร์ลิน
ฝ่ายนายพลและรัฐบาลสร้างเรื่องให้มีการลุกฮือ เพื่อปราบปรามขบวนการปฏิวัติ จน โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ถูกฆ่าทิ้ง มีการโยนศพลงคลองในวันที่ 15 มกราคม 1919 หลังจากนั้นพวกคนชั้นกลางก็เฉลิมฉลองด้วยความดีใจและความป่าเถื่อนตามเคย
สำหรับนักเคลื่อนไหวในไทยในยุคปัจจุบัน มันมีบทเรียนสำคัญจากชีวิต โรซา ลัคแซมเบอร์ค คือ (1) การปฏิรูปที่ทำให้สังคมเดินหน้า ต้องอาศัยพลังการต่อสู้ระดับการปฏิวัติเสมอ ไม่ใช่การประนีประนอมหรือการปรองดอง ความก้าวหน้าหลังการลุกฮือล้มเผด็จการทหารในยุค 14 ตุลา หรือพฤษภา 35 เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความจริงอันนี้ (2) ต้องจัดตั้งองค์กรสังคมนิยมปฏิวัติให้เข้มแข็งแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าไม่มีองค์กรณ์แบบนั้นการลุกฮือจะโดนลากเพื่อไปรับใช้อำนาจเดิม (3) นักปฏิวัติทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องกล้าท้าทาย “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายที่เริ่มแปรตัวเป็นคนอนุรักษ์นิยม (4) ถ้าไม่มีการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมสังคมจะวนเวียนอยู่ในความป่าเถื่อนตลอดไป แต่ในขณะเดียวกันนักปฏิวัติต้องสนใจการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน และการต่อสู้เพื่อปราธิปไตยเสมอ