ความสำคัญของทฤษฎีมูลค่าแรงงานในหนังสือ “ว่าด้วยทุน”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตั้งแต่ทฤษฏีมูลค่าแรงงานของ คาร์ล มาร์คซ์ ถูกนำเสนอต่อชาวโลก ฝ่ายขวา รวมถึงนักวิชาการที่สนับสนุนนายทุน ก็ออกมาโจมตีคัดค้าน ทั้งนี้เพราะ ทฤษฏีนี้อธิบายการขูดรีดของระบบทุนนิยม และพิสูจน์ว่าการกอบโกยกำไรของนายทุนไม่มีความชอบธรรม ยิ่งกว่านั้นมันตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องมีเจ้านาย ทำไมต้องมีนายทุน ทำไมต้องมีวิกฤตเศรษฐกิจ ทำไมต้องมีรัฐ ทำไมต้องมีสงคราม?”  และที่น่าสมเพชคือพวกฝ่ายซ้ายบางส่วน ที่ผิดหวังกับลัทธิสตาลิน-เหมาเพราะไม่เข้าใจว่ามันไม่ใช่แนวมาร์คซิสต์ หรือที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลความคิดของชนชั้นปกครอง ก็เริ่มตั้งคำถามกับทฤษฏีนี้ด้วย ตัวอย่างเช่น Slavoj Zizek , Toni Negri, Michael Hardt

นักเศรษฐศาสตร์การเมืองดั้งเดิม เช่น จอห์น ล็อค, เดวิด ริคาร์โด หรือ อดัม สมิท เสนอมานานแล้วว่า “มูลค่า” มาจากการทำงานของมนุษย์ แต่ในกรณี อดัม สมิท และนักเศรษฐศาสตร์การเมืองฝ่ายทุนนิยมปัจจุบัน(พวกเสรีนิยมใหม่) มักมีการเสนอเสริมว่า ที่ดิน เครื่องจักร ทุน และการแลกเปลี่ยนค้าขายภายใต้กลไก “อุปสงค์-อุปทาน” สามารถสร้างมูลค่าได้ แต่ปัญหาสำคัญของมุมมองนี้คือ เขามองทุนนิยมในลักษณะภาพถ่ายนิ่งในเวลาใดเวลาหนึ่ง ในขณะที่ทุนนิยมเป็นระบบที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นพวกนี้จะจงใจมองข้ามแรงงานที่ทำให้ที่ดินเหมาะสมกับการผลิตในอดีต หรือแรงงานที่สร้างเครื่องจักรในอดีต หรือที่มาของ “ทุน” ที่อยู่ในมือนายทุนในปัจจุบัน ซึ่งมาจากการสะสมทุนบุพกาล ผ่านการไล่คนออกจากที่ดินและบังคับให้ทำงานในโรงงานของนายทุน หรือผ่านการใช้ไพร่ ทาส หรือบังคับเก็บส่วย

ส่วนเรื่องที่มีการเสนอว่ามูลค่ามากจากการแลกเปลี่ยนในตลาดผ่านกระบวนการ อุปสงค์-อุปทาน นั้น มาร์คซ์อธิบายว่านักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้สับสนระหว่าง “ราคาในตลาด” กับ “มูลค่า” ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ไม่เหมือนกันทั้งๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกัน

ทฤษฏีมูลค่าแรงงานของมาร์คซ์เสนอว่า “มูลค่า” ของสินค้าชนิดหนึ่ง ถูกกำหนดจาก “ปริมาณแรงงาน” ที่ใช้ผลิตสินค้าเหล่านั้น แต่ปริมาณแรงงานดังกล่าวมีส่วนประกอบที่มาจากเวลา (ชั่วโมงในการสร้างสินค้า) และความเข้มข้นในการทำงานอีกด้วย (ฝีมือ ความกระตือรือร้น ความขยัน) และกำหนดจากปริมาณแรงงานเฉลี่ยของทั้งสังคมในการผลิตสินค้านั้นๆ โดยพิจารณาการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและทันสมัยอีกด้วย เพราะปริมาณแรงงานที่กำหนดมูลค่าย่อมเป็นปริมาณแรงงานที่ใช้ในกระบวนการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

พวกนักเศรษฐศาสตร์การเมืองฝ่ายซ้ายบางคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสำนัก “ริคาร์โด-ใหม่” จะโจมตีทฤษฏีมูลค่าแรงงานของมาร์คซ์ เพราะ “ใช้คำนวณมูลค่าไม่ได้” แต่เขาเข้าใจผิดอย่างแรง เพราะทฤษฏีนี้ไม่ได้มีไว้วัดหรือคำนวณมูลค่าของสินค้าชิ้นหนึ่งแต่อย่างใด มันมีไว้เพื่อเข้าใจกลไกและความสัมพันธ์ต่างๆ ของระบบทุนนิยมต่างหาก

การเข้าใจ “หัวใจ” ของระบบทุนนิยมที่มี “มูลค่าจากแรงงาน” เป็นเรื่องพื้นฐาน ทำให้เราสามารถเข้าใจประเด็นอื่นๆ ที่ตามมาคือ

  1. การขูดรีดและกำไรในระบบชนชั้น
  2. วิกฤตเศรษฐกิจ
  3. รัฐ
  4. จักรวรรดินิยม
  5. การกดขี่ทางเพศหรือสีผิว/เชื้อชาติ
  6. พลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยม
  1. การขูดรีดและกำไรในระบบชนชั้น

ในเมื่อมูลค่ามาจากการทำงานของกรรมาชีพ และไม่ได้มาจากการลงทุนของนายทุนหรือจากเครื่องจักร การที่นายทุนจ่ายค่าจ้างให้กรรมาชีพในปริมาณต่ำกว่ามูลค่าที่ผลิต และการที่นายทุนกอบโกยกำไรจากผลการทำงานของผู้อื่น ถือว่าเป็นการขโมย หรือ “ขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน” ซึ่งย่อมไร้ความชอบธรรม พูดง่ายๆ นายทุนขโมยผลงานส่วนหนึ่งของแรงงาน และขโมยได้เพราะปัจจัยการผลิตถูกยึดมาอยู่ในมือนายทุนตั้งแต่การประกาศว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินหรือการประกาศเก็บส่วย ฯลฯ ดังนั้นคนส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกนอกจากจะเป็นลูกจ้างคนอื่น และระบบนี้เป็นระบบ “ชนชั้น” เพราะคนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งคุมปัจจัยการผลิต ในขณะที่คนส่วนใหญ่ทำงานเป็นลูกจ้าง ระบบชนชั้นนี้สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย มันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติแต่อย่างใด และไม่ใช่เรื่องว่าใครขี้เกียจหรือขยัน ไม่ใช่เรื่องว่าใครเก่งใครโง่ มันมาจากการใช้กำลังและความรุนแรงในอดีต

  1. วิกฤตเศรษฐกิจ

ในระบบทุนนิยม นายทุนถูกบังคับโดยการแข่งขันในกลไกตลาด ให้ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตโดยการซื้อเครื่องจักรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่เครื่องจักรเหล่านี้ไม่ได้ผลิตมูลค่า มูลค่ามาจากการทำงานของลูกจ้างกรรมาชีพ เครื่องจักรเพียงแต่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของการทำงานของกรรมาชีพ ดังนั้นการที่จะกอบโกยกำไรได้ ต้องมาจากการจ้างงาน ส่วนการซื้อเครื่องจักรแพงๆ เป็นการเพิ่มค่าผลิตที่ลดอัตรากำไร แต่มีความจำเป็นเพื่อการแข่งขัน มาร์คซ์เสนอว่าในระบบทุนนิยมมี “แนวโน้มของการลดลงของอัตรากำไร” เพราะสาเหตุดังกล่าว และการลดลงของอัตรากำไรทำให้มีการชะลอการลงทุนหรือการแห่กันไปปั่นหุ้นจนเกิดฟองสบู่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นวิกฤตปี ๒๕๓๙ หรือปี ๒๕๕๒ และประเด็นสำคัญคือนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอธิบายกลไกพื้นฐานที่นำไปสู่วิกฤตไม่ได้เลย มักจะตกอกตกใจเมื่อเกิดวิกฤตเสมอ และตามนิสัยใจคอของผู้ขูดรีดมูลค่าจากคนอื่น ชนชั้นนายทุนมักโยนภาระในการแก้วิกฤตไปสู่คนธรรมดาเสมอ

  1. รัฐ

ในเมื่อระบบทุนนิยมมีการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากประชาชนส่วนใหญ่โดยคนส่วนน้อย ซึ่งเป็นเป็นหัวใจของระบบ สิ่งที่ชนชั้นนายทุนเกรงกลัวมากที่สุดคือการกบฏ ดังนั้นหน้าที่ของ “รัฐ” คือเพื่อเป็นองค์กร “บังคับความชอบธรรมของการขูดรีด”ผ่านศาล กฎหมาย และหน่วยติดอาวุธเช่นทหารหรือตำรวจ และรัฐมีหน้าที่กล่อมเกลาประชาชนผ่านสื่อ ศาสนา และโรงเรียน เพื่อให้ผู้ที่ถูกขูดรีดมองว่าสภาพการถูกปล้นนี้เป็นเรื่องปกติ ชอบธรรมและธรรมชาติ

  1. จักรวรรดินิยม

รัฐใดรัฐหนึ่งไม่เคยอยู่ในโลกอย่างโดดเดี่ยว ทุกรัฐเป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบรัฐของโลก” รัฐมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของนายทุนที่มีฐานกิจกรรมในประเทศนั้น แต่ในขณะเดียวกันในระบบโลกาภิวัตน์กลุ่มทุนต้องการข้ามพรมแดนไปผลิตและค้าขายในรัฐอื่น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับทุนข้ามชาติจึงเป็นความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธี คือทั้งพึ่งพาและขัดแย้งพร้อมกัน ประเด็นสำคัญคือกลุ่มทุนต่างๆ และรัฐของมัน แข่งขันทั้งทางตลาดและทางทหารกับกลุ่มทุนและรัฐอื่น เพื่อขูดรีดแรงงานและกอบโกยมูลค่าจากกรรมาชีพทั่วโลก นี่คือรูปธรรมโลกจริงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และในความขัดแย้งหรือการร่วมมือกันระหว่างรัฐ สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจ มีผลในการสร้างหรือเพิ่มความขัดแย้งและข้อจำกัดว่ารัฐใดจะมีอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจในการข่มเหงรัฐอื่นแค่ไหน

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐ รัสเซีย จีน และอียู ในโลกสมัยใหม่ที่เราเห็นกับตา คำทำนายของ Toni Negri และMichael Hardt ว่าจักรวรรดินิยมขั้วต่างๆ จะหมดไปโดยมีมหาอำนาจเดียว หรือสิ่งเขาที่เรียกว่า Empire เข้ามาแทนที่ ได้ถูกพิสูจน์ว่าไม่ตรงกับความจริงแต่อย่างใด

  1. การกดขี่ทางเพศ สีผิว/เชื้อชาติ

อคติหรือทัศนะของสังคม ในเรื่องเพศ มาจากความต้องการของนายทุนที่จะใช้ระบบครอบครัวเพื่อผลิตคนงานรุ่นใหม่ เพื่อมาใช้ขูดรีด โดยที่ผู้หญิงทำงานฟรีในครอบครัว และค่านิยมที่ส่งเสริมให้ผู้ชายคิดว่าตนเองเหนือกว่าผู้หญิง หรือค่านิยมคลั่งชาติ หรือเกลียดคนสีผิวอื่น มีประโยชน์ต่อนายทุนในการสร้างความแตกแยกในขบวนการแรงงาน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้คนงานสามัคคีกันและสู้กับนายทุนเพื่อเอาคืนมูลค่าส่วนเกินที่ถูกขโมยไป นอกจากนี้การที่ระบบทุนนิยมพร้อมจะทำลายวิถีชีวิตเก่าๆ ของคนพื้นเมืองต่างๆ เป็นเพราะวิถีชีวิตดังกล่าวเป็นอุปสรรค์ต่อการขยายระบบขูดรีดมูลค่าจากแรงงาน

  1. พลังในการเปลี่ยนสังคมไปสู่สังคมนิยม

นักมาร์คซิสต์มองว่าชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นในการปฏิวัติสังคมเพื่อนำไปสู่สังคมนิยม สาเหตุสำคัญที่มองแบบนี้ก็เพราะกรรมาชีพมีบทบาทหลักในการสร้างมูลค่าทั้งปวงของสังคม และแถมยังถูกบังคับให้ทำงานแบบรวมหมู่อีกด้วย ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน และต้องรวมตัวกันเพื่อการต่อสู้ในสหภาพแรงงาน ฯลฯ

แต่นักมาร์คซิสต์ไม่เคยหลงเชื่อว่ากรรมาชีพจะมีจิตสำนึกเพื่อสังคมนิยมโดยอัตโนมัติ นั้นเป็นแนวคิดสตาลิน-เหมาต่างหาก สำหรับมาร์คซิสต์การปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมนิยมต้องอาศัยการต่อสู้กับความคิดคับแคบเก่าๆ ที่ได้มาจากชนชั้นปกครอง นี่คือสาเหตุที่เราเน้นการสร้างพรรค เพื่อเป็นคลังความทรงจำและหน่วยรบหน่วยโฆษณาทางการเมือง

นอกจากนี้ “กรรมาชีพ” ที่เราพูดถึงว่ามีบทบาทในการสร้างมูลค่า ในโลกสมัยนี้ ไม่ใช่แค่คนทำงานในโรงงาน แต่เป็นคนที่คิดค้นเทคโนโลจี เป็นครูบาอาจารย์ที่ฝึกฝนฝีมือให้กับคนงาน เป็นพนักงานขนส่ง การเงิน หรือการค้าขาย และเป็นพนักงานในโรงพยาบาลที่รักษาสุขภาพของคนงานอีกด้วย

แต่นักวิชาการฝ่ายซ้ายอย่าง Slavoj Zizek, Toni Negri, Michael Hardt สับสนเรื่องกรรมาชีพและการผลิตมูลค่า เพราะผิดหวังในความล้าหลังของกรรมาชีพในบางยุค หรือมองว่า “มวลชนหลวมๆ” ที่จำกัดความยาก จะเป็นผู้เปลี่ยนสังคม หรือมองว่ามูลค่าผลิตจาก “เศรษฐกิจทางปัญญา” ได้ นอกจากนี้บางคนอาจสิ้นหวังไปทั้งหมดและที่สำคัญคือ คิดว่าการสร้างพรรคไม่มีประโยชน์ในการปลดแอกมนุษย์เลย แต่ไม่ว่านิสิตนักศึกษารุ่นใหม่จะมองว่าพวกนี้ “ทันสมัย” แค่ไหน แนวคิดของเขาไม่สามารถสร้างความเข้าใจในโลกจริงรอบตัวเราอย่างที่มาร์คซ์และทฤษฏีมูลค่าแรงงานของเขาสร้างได้ เราชาวมาร์คซิสต์สามารถพัฒนาและปรับปรุงมันให้ทันสมัยได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องปฏิเสธทฤษฏีนี้ ไม่ต้องปฏิเสธพลังซ่อนเร้นของกรรมาชีพ หรือปฏิเสธประโยชน์ของการสร้างพรรคแต่อย่างใด

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2iWRQtY

ถึงเวลาที่เราต้องสร้างกระแสปฏิเสธการเหยียดเชื้อชาติและศาสนา

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อวาน วันที่ 18 มีนาคม เป็นวันต้านการเหยียดเชื้อชาติสากล ในยุโรปและสหรัฐเริ่มมีการสร้างขบวนการต้านการเหยียดเชื้อชาติอย่างจริงจัง การเหยียดเชื้อชาติที่พูดถึงนี้รวมถึงการเหยียดศาสนาอิสลาม ซึ่งกลายเป็นวิธีแสดงอคติกับคนที่เชื้อชาติและสีผิวแตกต่างออกไป ขบวนการต้านการเหยียดเชื้อชาติที่กำลังสร้างขึ้นมาในหลายประเทศ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนักการเมืองฝ่ายขวาสุดขั้วกำลังฉวยโอกาสกับความไม่พอใจของพลเมืองจำนวนมากต่อ ระบบทุนนิยม นโยบายการรัดเข็มขัดที่มาจากวิกฤตทุนนิยม และการที่นักการเมืองกระแสหลักจากหลายพรรคไม่สนใจปัญหาของคนธรรมดา

ตัวอย่างของนักการเมืองฝ่ายขวาดังกล่าวในสหรัฐคือ ประธานาธิบดีทรัมพ์ และในยุโรปพรรคฟาสซิสต์กำลังมาแรงในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย และที่อื่น แม้แต่นักการเมืองกระแสหลักที่ไม่ใช่ขวาสุดขั้ว ก็ถูกลากไปหรือฉวยโอกาสใช้วาจาเหยียดเชื้อชาติตามพวกฟาสซิสต์

สาเหตุสำคัญที่พวกนักการเมืองฝ่ายขวาเหล่านี้ฉวยโอกาสใช้วาจาเหยียดเชื้อชาติด้วยความสำเร็จ ก็เพราะมันเป็นวิธีการหาแพะรับบาปเพื่อโทษ “คนอื่น” ในเรื่องความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและสังคม และเป็นวิธีเบียงเบนประเด็นจากผู้ร้ายตัวจริงและสาเหตุจริงของความเดือดร้อนดังกล่าว ผู้ร้ายตัวจริงคือพวกนายทุนและนักการเมืองของฝ่ายทุน ที่คอยผลักภาระจากวิกฤตเศรษฐกิจไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน  เพื่อเพิ่มกำไรให้กลุ่มทุน กดค่าแรง และหวังทำลายขบวนการแรงงานกับสวัสดิการที่มีอยู่ในสังคม นอกจากนี้การนำยาพิษแห่งการโทษ “คนต่าง” ผ่านลัทธิการเหยียดเชื้อชาติ เป็นวิธีหนึ่งที่สร้างความแตกแยกในหมู่พลเมืองผู้ทำงาน เพื่อหวังจะทำลายขบวนการแรงงานและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ก้าวหน้า

นี่คือสาเหตุที่การประท้วงประธานาธิบดีทรัมพ์ที่สหรัฐ และการเดินขบวนต้านการเหยียดเชื้อชาติในหลายเมืองใหญ่ของยุโรปมีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นวิธีคานกระแสยาพิษของพวกฝ่ายขวา และปูทางไปสู่การสร้างขบวนการต้านนโยบายรัดเข็มขัดและการทำลายรัฐสวัสดิการของฝ่ายขวาด้วย

ประท้วงที่กลาซโกสก็อตแลนด์
ประท้วงที่กรีซ
ประท้วงที่ลอนดอน

สำหรับพวกเราในประเทศไทย เราไม่ควรนิ่งนอนใจคิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาของคนในประเทศอื่น เพราะเมื่อเกิดการปราบปรามธรรมกาย ก็มีคนไม่น้อยที่ออกมาโทษคนมุสลิม เวลามีอาชญากรรมเกิดขึ้น รัฐและประชาชนไม่น้อยก็ออกมาโทษคนงานจากประเทศเพื่อบ้าน พลเมืองจำนวนมากในไทยไม่แคร์เรื่องชาวโรฮิงญา เวลาทหารฆ่าคนจากชนเผ่าก็มีการมองว่าพวกนี้ “ไม่ใช่คนไทย” และเป็นพวกค้ายาเสพติดทุกคน และเวลาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปาตานี พลเมืองจำนวนมากก็จะพูดถึง “โจรใต้” แทนที่จะมองว่าทหารไทยระดับนายพลคือโจรตัวจริง

ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ ถูกทหารฆ่าวิสามัญ

อย่าลืมว่ามีพลเมืองชาวมุสลิมจำนวนมาก ที่ต่อต้านและเกลียดชังเผด็จการทหารที่ครองอำนาจอยู่ในสังคมเราทุกวันนี้ การที่มีกระแสเกลียดชังชาวมุสลิมจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้กระแสต้านเผด็จการอ่อนแอ

คาร์ล มาร์คซ์ เคยตั้งข้อสังเกตว่าถ้ากรรมาชีพในประเทศหนึ่งไม่เลิกดูถูกคนจากประเทศอื่น เขาจะไม่มีวันปลดแอกตนเองได้ และเราอาจพูดได้ว่า ตราบใดที่คนไทยจำนวนมากยังเหยียดเชื้อชาติอื่นๆ คนไทยก็ย่อมเป็นทาสของเผด็จการและชนชั้นปกครองต่อไป และไม่มีวันปลดแอกตนเองกับสร้างเสรีภาพในสังคมได้

คนไทยจำนวนมากยังไม่เลิกใช้คำเหยียดหยามกับคนเชื้อชาติอื่น มีการใช้คำว่า “แขก” “ญวน” “ต่างด้าว” “ฝรั่ง” “ไอ้มืด” เป็นสันดาน และมีการดูถูกแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านโดยไร้จิตสำนึกโดยสิ้นเชิง

ประเด็นปัญหาสำหรับคนที่อยากปลดแอกตนเอง อยากเห็นประชาธิปไตยและเสรีภาพคือ มันมีสองขั้วความคิดในทุกสังคมทั่วโลก

ขั้วความคิดแรกเป็นแนวคิดที่มาจากชนชั้นปกครองและชวนให้เราจงรักภักดีต่อเขาภายใต้ลัทธิชาตินิยม ซึ่งในไทยรวมถึงลัทธิราชานิยมด้วย แนวคิดนี้ชวนให้เราหมอบคลานต่อเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ นายพลมือเปื้อนเลือด หรือ “ท่านผู้ใหญ่” และมันชวนให้เรามองว่าเรามีผลประโยชน์ร่วมกับผู้ที่กดขี่ขูดรีดเรา “เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน” นี่คือที่มาของความคิดที่เหยียดเชื้อชาติอื่น มันเป็นแอกเพื่อควบคุมให้คนส่วนใหญ่เป็นไพร่

ขั้วความคิดที่สองเป็นแนวคิดที่เกิดจากจิตสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพและคนชั้นล่างทั่วไป มันไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติ มันอาศัยอยู่ในสังคมได้เพราะมีการต่อสู้ และนักสังคมนิยมและนักสิทธิมนุษยชนมักจะทวนกระแสความคิดกระแสหลัก และเสนอแนวคิดประเภท “สามัคคีชนชั้นล่างข้ามเชื้อชาติ” ความคิดขั้วนี้จะปฏิเสธการรักชาติ แต่จะรักเพื่อนประชาชนแทน จะเสนอให้คนไทยธรรมดาสมานฉันท์กับคนเชื้อชาติอื่น และต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครอง เพื่อให้เราร่วมกันปลดแอกตนเองและสังคม

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเห็นว่าตราบใดที่เรายังรักชาติของชนชั้นปกครอง และตราบใดที่เรามองว่าเราอยู่ข้างเดียวกับคนที่เหยียบหัวเรา เราไม่มีวันต่อสู้เพื่อเสรีภาพได้

มรดกมาร์คซิสต์ของ อันโตนิโอ กรัมชี่

ใจ อึ๊งภากรณ์

กรัมชี่ เป็นนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ชาวอิตาลี่ ที่ต้องใช้เวลาในคุกฟาสซิสต์หลายปี

7_93_20070522104203

กรัมชี่ พิสูจน์ให้เห็นคุณค่าของการผลิตหนังสือพิมพ์สังคมนิยมที่เสนอบทความในลักษณะที่สอดคล้องกับการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐาน L’Ordine Nuovo กรัมชี่ เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ให้ทิศทางกับการต่อสู้ของกรรมาชีพในยุคปฏิวัติหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กรัมชี่อธิบายว่ากรรมกรชอบอ่าน “L’Ordine Nuovo” เพราะ “เวลากรรมกรอ่าน เขาจะค้นพบส่วนดีที่สุดของตัวเขาเอง มีการตั้งคำถามและตอบคำถามที่ตรงกับปัญหาที่เขาพบอยู่ในช่วงนั้น” จะเห็นได้ว่า กรัมชี่ เน้นการนำตนเองของกรรมาชีพจากล่างสู่บน ซึ่งแตกต่างจากนักวิชาการปัจจุบันหลายคนที่พูดถึง กรัมชี่ เหมือนเป็นแนวคิด “วิชาการ” ที่ซับซ้อนจนคนธรรมดาเข้าใจยาก

กรรมาชีพยึดโรงงานในปีสีแดง
กรรมาชีพยึดโรงงานในปีสีแดง

ในงานเขียนสมัย “ปีสีแดง” ที่มีการยึดโรงงานต่างๆ กรัมชี่ จะเน้นปัญหาว่าเราจะทำอย่างไรให้การปฏิวัตินั้นนำผลประโยชน์แท้จริงมาสู่ชนชั้นกรรมาชีพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กรัมชี่ มองว่าคณะกรรมการคนงานในสถานที่ทำงานต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาหลังจากที่คนงานยึดโรงงานจากนายทุน เป็นหน่ออ่อนของรัฐกรรมาชีพในอนาคต แต่ท้ายสุดขบวนการยึดโรงงานใน “ปีสีแดง” ก็ถูกผู้นำสภาแรงงานและพรรคสังคมนิยมปฏิรูปทำลายโดยการประนีประนอมกับระบบทุน ประสบการณ์นี้พิสูจน์ให้ กรัมชี่ เห็นว่าต้องมีการจัดตั้งพรรคปฏิวัติที่แท้จริงในหมู่กรรมาชีพ กรัมชี่ จึงมีส่วนสำคัญในการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ (PCI)

กรัมชี่ เสนอว่าต้องแสวงหาแนวทางใหม่ที่ไม่ใช่แนวทางของลัทธิสหภาพที่สู้แต่ในกรอบขององค์กรสหภาพแรงงาน และไม่ใช่แนวทางของพรรคสังคมนิยมที่มัวแต่ประนีประนอมกับระบบปัจจุบัน

ถึงแม้ว่า กรัมชี่ มองว่าแนวทางของพรรคสังคมนิยมและสภาแรงงานในยุคนั้นผิดพลาด แต่เขาก็ยังเห็นคุณค่าของแนวร่วมในหมู่ฝ่ายซ้ายด้วยกันโดยเฉพาะในสมัยที่เกิดรัฐบาลปฏิกิริยาฟาสซิสต์ของ มุสโสลีนี  ในการเสนอให้สร้างแนวร่วมกับพรรคสังคมนิยม กรัมชี่ ไม่ได้มองว่าพรรคนี้คือ “ซีกขวาของแนวคิดลัทธิกรรมาชีพ” แต่มองว่าพรรคสังคมนิยมและพรรคปฏิรูปทั้งหลายในขบวนการแรงงาน ที่ยอมรับระบบและกรอบของทุนนิยม เป็น “ซีกซ้ายของแนวคิดลัทธิชนชั้นนายทุน” งานเขียนของกรัมชี่เรื่องนี้ค่อนข้างจะสอดคล้องกับมุมมองของ เลนิน เรื่องพรรคแรงงานอังกฤษว่าเป็น “พรรคกรรมาชีพที่ใช้แนวคิดชนชั้นนายทุน”

สำหรับคนที่เสนอตลอดว่ากรรมาชีพไม่สามารถมีบทบาทนำในการต่อสู้ กรัมชี่ มองว่า “ผู้ที่คัดค้านการจัดตั้งพรรคกรรมาชีพในสถานประกอบการและสถานที่การผลิต เป็นผู้ที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับกรรมาชีพ นี่คือตัวอย่างของความคิดนายทุนน้อยที่ต้องการใช้มวลชนกรรมาชีพในการปฏิรูปสังคม แต่ไม่ต้องการการปฏิวัติสังคมโดยกรรมาชีพและเพื่อกรรมาชีพ”  แต่นักวิชาการปัจจุบันจำนวนมากที่เอ่ยถึง กรัมชี่ ไม่เคยทำงานจัดตั้งพรรคของกรรมาชีพแต่อย่างใด

มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน และ ตรอทสกี ไม่มีประสบการโดยตรงจากการทำงานในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตยที่เจริญ ดังนั้นงานของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค (จากเยอรมัน) และของ กรัมชี่ (จากอีตาลี่) จึงมีความสำคัญในการอธิบายว่าทำไมยังต้องมีการปฏิวัติระบบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้อาจมีระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

กรัมชี่ ในงาน “สมุดบันทึกจากคุก” อธิบายว่าในประเทศพัฒนาที่มีระบบประชาธิปไตยมานาน ชนชั้นปกครองจะสร้างสถาบันขึ้นมามากมายในสังคม หรือที่ กรัมชี่ เรียกว่า “ประชาสังคม” สถาบันดังกล่าวมีไว้ครอบงำความคิดของพลเมือง ดังนั้นปัญหาใหญ่ของนักมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อแย่งชิงอิทธิพลทางความคิดหลักในสังคมที่เดิมเป็นของชนชั้นปกครอง เพื่อมาเป็นแนวคิดของชนชั้นกรรมาชีพ กรัมชี่ เรียกการต่อสู้เพื่อแย่งชิงการครองใจในทางความคิด (hegemony) ว่าเป็นสงครามจุดยืน

ในประเด็น “ประชาสังคม” นี้จะเห็นว่า ประชาสังคมของ กรัมชี่ มีความหมายแตกต่างออกไปจากการใช้คำว่า “ประชาสังคม” ในแวดวงนักวิชาการและขบวนการ เอ็นจีโอ ในปัจจุบัน เพราะ กรัมชี่ มองสถาบันของประชาสังคมในแง่ร้ายว่าเป็นเครื่องมือในการปกครองครอบงำของชนชั้นนายทุน แต่กระแสปัจจุบันมองว่าประชาสังคมเป็นเครื่องมือของฝ่ายประชาชนในการลดทอนอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตามแนวคิดแบบนี้จบลงด้วยการไม่ท้าทายอำนาจรัฐแต่อย่างใด

กรัมชี่ มองว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมมีสองรูปแบบที่ต้องใช้ในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตย รูปแบบแรกคือ “สงครามทางจุดยืน” (war of position) ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความผูกขาดทางความคิดของชนชั้นปกครอง และรูปแบบที่สองคือ “สงครามขับเคลื่อน” (war of manoeuvre) ซึ่งเป็นขั้นตอนการยึดอำนาจรัฐผ่านการปฏิวัติสังคมนิยม

สรุปแล้ว กรัมชี่ อธิบายว่าในระบบทุนนิยมประชาธิปไตย ถ้าเราจะล้มอำนาจรัฐและสร้างสังคมนิยม เราต้องต่อสู้เพื่อขยายอิทธิพลทางการเมืองของแนวคิดกรรมาชีพเพื่อครองใจคนส่วนใหญ่และทำลายเกราะป้องกันตัวที่นายทุนสร้างขึ้นภายในสถาบันต่างๆ ของประชาสังคมในขั้นตอนแรก

กรัมชี่ เสนอว่าการต่อสู้ขั้นตอน “สงครามทางจุดยืน” เพื่อช่วงชิงอิทธิพลทางความคิดในสังคม ขบวนการปฏิวัติสังคมนิยมต้องใช้ “ปัญญาชนอินทรีย์” (organic intellectuals) ซึ่งในมุมมอง กรัมชี่ “ปัญญาชนอินทรีย์” คือปัญญาชนที่ใกล้ชิดและเติบโตจากการต่อสู้ประจำวันของกรรมาชีพ ปัญญาชนประเภทนี้ต้องเกิดขึ้นจากการพัฒนากรรมาชีพธรรมดามาเป็น “ปัญญาชนกรรมาชีพ” อย่างไรก็ตามในสงครามทางจุดยืน กรัมชี่ มองว่าเราต้องไม่ลืมปัญญาชนจากชนชั้นอื่นที่มีส่วนในการสร้างการผูกขาดทางความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวกรรมาชีพ กรัมชี่ จึงเสนอว่าภาระอันหนึ่งของปัญญาชนกรรมาชีพคือการชักชวนให้ปัญญาชนจากชนชั้นอื่นเปลี่ยนความคิดมาสนับสนุนกรรมาชีพ หรืออย่างน้อย หาทางในการลดอิทธิพลของปัญญาชนดังกล่าวในสังคม

กรัมชี่ อธิบายว่าถ้าเราจะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนความคิดของกรรมาชีพ เราต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจว่าในสมองของคนคนเดียวกันมักจะมีความคิดขัดแย้งดำรงอยู่เสมอ ความคิดสายหนึ่งมาจากการพยายามครอบงำความคิดในสังคมโดยชนชั้นปกครอง ดังนั้นเราทุกคนจะถูกกล่อมเกลาให้เชื่อแนวคิดของนายทุนที่เรียกว่า “กระแสหลัก” ซึ่งการกล่อมเกลาดังกล่าวกระทำผ่านสถาบันใน “ประชาสังคม” เช่นโรงเรียน ศาสนา สื่อต่างๆ และแม้แต่ครอบครัวเราเอง อย่างไรก็ตาม ในสมองของเราจะมีความคิดที่ขัดแย้งกับแนวแรกดำรงอยู่เสมอ ซึ่งความคิดรูปแบบที่สองมาจากประสบการณ์ประจำวันของเรา

ตัวอย่างของความคิดที่ขัดแย้งที่ดำรงอยู่ควบคู่กันไป เช่น เราอาจถูกสั่งสอนให้รักชาติและเคารพผู้นำของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันเราอาจเห็นผู้นำกระทำตัวในลักษณะที่กอบโกยความร่ำรวยและกดขี่ขูดรีดคนไทยกันเองเป็นต้น ถ้าความขัดแย้งในความคิดดังกล่าวดำรงอยู่แค่ในระดับความคิดเท่านั้น โดยที่คนคนนั้นไม่ทำอะไร ความคิดที่ขัดแย้งกันอาจก่อให้เกิดความสับสนจนเลือกแนวไม่ถูก ตัดสินใจไม่ได้

ถ้าเราเข้าใจลักษณะความขัดแย้งทางความคิดที่ กรัมชี่ พูดถึง เราจะเริ่มเห็นวิธีการในการเปลี่ยนความคิดของมนุษย์เพื่อมาร่วมกับขบวนการปฏิวัติสังคมนิยม กรัมชี่ อธิบายว่าแค่การป้อนความคิดจากพรรคสังคมนิยมคงไม่เพียงพอ เพราะในที่สุด ในยามปกติ ชนชั้นปกครองที่คุมปัจจัยการผลิตทางวัตถุย่อมได้เปรียบในการสื่อและครอบงำความคิดของประชาชนในสังคม นี่คือสิ่งที่ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอมาตลอด แต่ กรัมชี่ ชี้ให้เราเห็นว่าจุดอ่อนของชนชั้นปกครองในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประชาชนมีประสบการณ์ในโลกจริงที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา โดยเฉพาะในยามที่มนุษย์จำต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของตนเอง

กรัมชี่ เสนอว่าเมื่อมนุษย์เริ่มต่อสู้ในทางที่ขัดกับความเชื่อหลักในสังคม เช่นการออกมานัดหยุดงานหรือการประท้วง ทั้งๆ ที่ถูกสอนมาว่าเป็นสิ่งไม่ดี มนุษย์จะมีโอกาสปรับเปลี่ยนจิตสำนึกได้ง่ายขึ้น และถ้าเกิดการปรับเปลี่ยนจิตสำนึกและความเข้าใจในโลกจากมุมมองกระแสหลักมาเป็นมุมมองของกรรมาชีพ จะเกิดเอกภาพของทฤษฏีและการปฏิบัติของชนชั้นกรรมาชีพ

ชาวมาร์คซิสต์เข้าใจว่ากลุ่มคนที่อาจเปิดกว้างในการรับความคิดใหม่ๆ ที่ทวนกระแสหลัก เช่นคนที่มีแนวโน้มที่จะรับความคิดสังคมนิยม น่าจะเป็นกรรมาชีพที่กำลังต่อสู้ ไม่ใช่กรรมาชีพที่นิ่งเฉยรับสถานการณ์ ภาระของพรรคกรรมาชีพคือการนำการเมืองแบบมาร์คซิสต์ไปสู่กรรมาชีพที่ออกมาต่อสู้ในประเด็นปากท้องประจำวัน ในขณะเดียวกันพรรคกรรมาชีพจะต้องสนับสนุนและช่วยผลักดันให้เกิดการต่อสู้ทุกรูปแบบด้วย และต้องพยายามพัฒนาจิตสำนึกจากแค่เรื่องปากท้องไปเป็นการเมืองภาพกว้างในทุกประเด็น

tft-30-p-22-c

อย่างไรก็ตามมีการบิดเบือนแนวคิดของ กรัมชี่ ในสมัยนี้ ซึ่งมักทำโดยนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ห่างเหินจากการต่อสู้จริงของกรรมาชีพ  พวกนี้พยายามตีความข้อเขียนของกรัมชี่ในเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อการครองใจทางความคิด หรือการต่อสู้ใน “สงครามทางจุดยืน” ว่าเป็นการเสนอว่าไม่จำเป็นต้องปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจรัฐอีกแล้ว และพวกนี้มักคุยแลกเปลี่ยนเรื่องแนวคิดของ กรัมชี่ ในเสวนาวิชาการเหมือนกับว่าแนวคิดของ กรัมชี่ ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการต่อสู้ปฏิวัติของกรรมาชีพ เพื่อล้มทุนนิยม และสร้างสังคมนิยม

 

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2l0HoCy

การปฏิวัติรัสเซีย กุมภาพันธ์ 1917

เรียบเรียงจากงานเขียนของ คริส ฮาร์แมน

หนึ่งร้อยปีที่แล้วไม่มีใครสามารถทำนายล่วงหน้าว่าจะเกิดการปฏิวัติในรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ 1917 แม้แต่ เลนิน ก็พูดเสมอว่ารุ่นเขา “คงไม่เห็นการปฏิวัติ”

iwd-women-protesting-cost-of-food-1917

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1917 ซึ่งตามปฏิทินรัสเซียสมัยนั้น ตรงกับวันสตรีสากล 8 มีนาคมปัจจุบัน คนงานสตรีจากโรงงานสิ่งทอทั่วเมือง เพทโทรกราด (เซนต์ปิเตอร์สเบอร์ค) ออกมาเดินขบวนแสดงความไม่พอใจกับราคาสินค้า ความอดอยาก และการขาดแคลนขนมปัง แม้แต่พวกพรรคสังคมนิยมใต้ดินอย่าง “บอลเชวิค” กับ “เมนเชวิค” ตอนนั้น ยังไม่กล้าออกมาเรียกร้องให้คนงานเดินขบวนเลย แต่คนงานหญิงนำทางและชวนคนงานชายในโรงเหล็กให้ออกมาร่วมนัดหยุดงานด้วย

ในวันต่อมาคนงานครึ่งหนึ่งของเมือง เพทโทรกราด ออกมาประท้วง และคำขวัญเปลี่ยนไปเป็นการคัดค้านสงคราม การเรียกร้องขนมปัง และการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของกษัตริย์ซาร์ ในขั้นตอนแรกรัฐบาลพยายามใช้ตำรวจติดอาวุธเพื่อปราบคนงาน แต่ไม่สำเร็จ ต่อจากนั้นมีการสั่งทหารให้เข้ามาปราบ แต่ทหารระดับล่างเปลี่ยนข้างไปอยู่กับฝ่ายปฏิวัติหมด และเมื่อมีการสั่งให้ส่งทหารเข้ามาจากนอกเมือง ก็มีการกบฏและเปลี่ยนข้างเช่นกัน ในวันที่สี่คนงานกับทหารติดอาวุธร่วมเดินขบวนโบกธงแดง และเมื่อกษัตริย์ซาร์พยายามเดินทางกลับเข้าเมือง เพทโทรกราด เพื่อ “จัดการ” กับสถานการณ์ คนงานรถไฟก็ปิดเส้นทาง จนรัฐบาลกษัตริย์และซาร์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะลาออก

putilov

แต่เมื่อกษัตริย์และรัฐบาลลาออก ใครจะมาแทนที่? ตอนนั้นมีองค์กรคู่ขนานสององค์กรที่มีบทบาทคล้ายๆ รัฐบาลคือ (1) รัฐสภา Duma ที่ประกอบไปด้วยส.ส.ฝ่ายค้านที่เลือกมาจากระบบเลือกตั้งที่ให้สิทธิ์พิเศษกับคนมีทรัพย์สิน (2) สภา โซเวียด ที่คนงานเลือกมาเอง และมีผู้แทนของคนงานกับทหาร ระดับล่าง ซึ่งสภานี้เป็นสภาที่ต้องจัดการประสานงานการบริหารเมืองและการแจกจ่ายอาหารในชีวิตประจำวัน

ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐสภา Duma สามารถตั้ง “รัฐบาลชั่วคราว” ของคนชั้นกลางได้ เพราะสภาโซเวียดยินยอม แต่พอถึงเดือนตุลาคม สภาโซเวียดเป็นผู้ก่อตั้งรัฐบาลใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพ

ในเดือนกุมพาพันธ์ พรรคสังคมนิยมสองพรรค คือพรรคบอลเชวิค กับพรรคเมนเชวิค ยังเชื่อว่าการปฏิวัติต้องเป็นเพียงการปฏิวัตินายทุน โดยที่ เมนเชวิค มองว่าชนชั้นกรรมาชีพต้องช่วยนายทุน แต่ บอลเชวิค มองว่ากรรมาชีพต้องนำการปฏิวัติ ดังนั้น บอลเชวิค อย่าง สตาลิน กับ มอลอทอฟ จาก เมนเชวิค และนักสังคมนิยมจำนวนมาก เสนอให้สภาโซเวียดสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของพวกชนชั้นกลาง ในขณะที่กรรมกรพื้นฐานไม่พอใจและไม่ไว้ใจรัฐบาลใหม่เลย ในช่วงนั้น ทั้ง เลนิน และตรอทสกี ซึ่งมีความคิดว่ากรรมาชีพต้องยึดอำนาจรัฐและปฏิวัติสังคมนิยมเอง ยังอยู่นอกประเทศ

การบริหารของรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง ภายใต้นักสังคมนิยมปฏิรูปชื่อ คาเรนสกี้ กลายเป็นที่ไม่พอใจของมวลชน ทั้งในหมู่ทหารที่เป็นลูกหลานเกษตรกร เกษตรกรเอง และคนงานกรรมาชีพ เพราะรัฐบาลนี้ต้องการทำสงครามต่อและไม่ยอมแก้ไขปัญหาปากท้องประจำวันเลยเลย

ในช่วงสงคราม สมาชิกพรรคสังคมนิยม “เมนเชวิค” ส่วนใหญ่สนับสนุนสงคราม ในขณะที่พรรคสังคมนิยม “บอลเชวิค” ของ เลนิน คัดค้านสงคราม เลนิน เสนอมาตลอดว่าเป้าหมายในการเคลื่อนไหวของพรรค ไม่ใช่เพื่อไปสนับสนุนปัญญาชนฝ่ายซ้าย หรือผู้นำสหภาพแรงงานในระบบรัฐสภาทุนนิยม แต่เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายนักปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพที่จะล้มระบบทุนนิยม นี่คือสาเหตุที่พรรคบอลเชวิคได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในหมู่กรรมกรเมือง เพทโทรกราด ซึ่งเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมทันสมัย และในบางแห่งมีโรงงานขนาดใหญ่กว่าในสหรัฐอเมริกาอีก

มีอีกพรรคหนึ่งที่มีความสำคัญในยุคนั้นคือ “พรรคปฏิวัติสังคม” ซึ่งไม่ใช่พรรคมาร์คซิสต์ แต่เติบโตมาจากแนวลุกฮือของนักสู้ชนชั้นกลางกลุ่มเล็กๆ เดิมพรรคนี้มีฐานเสียงในชนบทในหมู่เกษตรกรยากจน แต่เมื่อแกนนำพรรคไปสนับสนุนสงครามและรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง โดยไม่แก้ไขปัญหาในชนบท เริ่มมีสมาชิกพรรคจำนวนมากแยกตัวออกไปตั้ง “พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย”

ในตอนแรกพรรคบอลเชวิคเต็มไปด้วยความสับสนที่แกนนำ อย่าง สตาลิน ไปสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง ในขณะที่คนงานรากหญ้าไม่พอใจ แต่เมื่อ เลนิน เดินทางกลับมาในรัสเซีย และเริ่มโจมตีนโยบายเก่าของแกนนำบอลเชวิค เริ่มเรียกร้องให้โซเวียดล้มรัฐบาล และเริ่มรณรงค์ต่อต้านสงครามอย่างเป็นระบบ พรรคบอลเชวิคขยายฐานเสียงในเมือง เพทโทรกราด อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่พรรคปฏิวัติสังคมมีเสียงข้างมากในสภาโซเวียด พอถึงวันประชุมใหญ่ครั้งที่สองในวันที่ 25 ตุลาคม 1917 ปรากฏว่าพรรคบอลเชวิคได้ 53% ของผู้แทน และพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้ายได้อีก 21% รวมเป็น 74% ของผู้แทนที่ต้องการปฏิวัติสังคมนิยม

1917-russian-revolution

ก่อนที่จะถึงจุดนั้น มีการเดินหน้าถอยหลัง เช่นช่วงเดือนกรกฏาคมมีการลุกฮือของทหารและคนงานที่ถูกรัฐบาลชั่วคราวปราบ และแกนนำบอลเชวิคถูกจำคุกหรือต้องหลบหนี ต่อมานายพล คอร์นิลอฟ พยายามทำรัฐประหารเพื่อก่อตั้งเผด็จการทหารฝ่ายขวา แต่พรรคบอลเชวิคออกมาปกป้องและทำแนวร่วมกับรัฐบาลชั่วคราว เพื่อยับยั้งรัฐประหารจนสำเร็จ ในขณะเดียวกัน การที่บอลเชวิคเป็นอำนาจสำคัญที่สุดในการสู้กับรัฐประหารฝ่ายขวา ทำให้รัฐบาลชั่วคราวหมดสภาพไป พร้อมกันนั้นในชนบท เกษตรกรยากจนไม่รอใคร ตัดสินใจยึดที่ดินมาแจกจ่ายกันเอง นี่คือสภาพสังคมที่สุกงอมกับการปฏิวัติสังคมนิยม

บทเรียนสำคัญสำหรับเราจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ 1917คือ เราต้องสร้างพรรคสังคมนิยมแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะมีการลุกฮือ และท่ามกลางการลุกฮือของมวลชนเมื่อมันเกิดขึ้น พรรคต้องพร้อมที่จะลองผิดลองถูกและเรียนรู้จากมวลชนเสมอ แต่ถ้าไม่มีพรรค ก็เท่ากับไม่มีโอกาสให้คนก้าวหน้าเสนอการนำเพื่อให้การลุกฮือประสบความสำเร็จในที่สุด และคนอื่นที่ล้าหลังกว่าจะมาฉวยโอกาสแทน

อ่านเพิ่ม: http://bit.ly/2i294Cn