สงครามอนุสาวรีย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักประวัติศาสตร์หลายคน ทั้งคนไทยและชาวตะวันตก ได้เคยอธิบายความสำคัญของอนุสาวรีย์และประวัติศาสตร์ในสงครามช่วงชิงอำนาจทางการเมืองปัจจุบัน มันเป็นสิ่งที่ อันโตนิโอ กรัมชี่ นักมาร์คซิสต์ชาวอิตาลี่ เคยเรียกว่า “สงครามจุดยืน” หรือในภาษาง่ายๆ มันคือสงครามทางความคิด เพื่อผูกขาดแนวคิดของฝ่ายตนนั้นเอง

ในเรื่องหมุดคณะราษฎร การดำรงอยู่ของอนุสาวรีย์อันนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสงครามจุดยืนระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายเผด็จการ แต่มันมีความซับซ้อนและคำถามที่น่าสนใจอีกด้วย

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราจะพบจากข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์ไทยหลายคน ว่าเคยมียุคเผด็จการทหารที่ต่อต้านเจ้า ยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นยุคที่เรามีทหารที่ต้านทั้งประชาธิปไตยและต้านระบบกษัตริย์ ผลอันเป็นรูปธรรมในแง่ของอนุสาวรีย์คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งสร้างขึ้นในยุคเผด็จการอันนี้ จริงๆ แล้วมันเป็นอนุสาวรีย์ต้านกษัตริย์มากกว่าอะไร มันเป็นสิ่งที่สร้างกลางถนน “ราชดำเนิน” คล้ายๆ การยกนิ้วกลางให้กษัตริย์ ถ้าไม่เชื่อก็ข้ามถนนไปดูว่าบนอนุสาวรีย์นี้มีภาพอะไรบ้าง มันเต็มไปด้วยภาพของสังคมไทย “สมัยใหม่” แต่ไม่มีภาพหรือสัญลักษณ์ของกษัตริย์เลย

ในยุคนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างอนุสาวรีย์ชาตินิยมอันยิ่งใหญ่ที่อยุธยา ซึ่งรวมถึงศาลากลางเก่า และการบูรณะเจดีย์ที่พังไป จริงอยู่ที่ศาลากลางเก่า มีรูปกษัตริย์สมัยอยุธยา แต่การใช้รูปปั้นกษัตริย์สมัยก่อนเพื่อสร้างกระแสชาตินิยม เป็นสิ่งที่เผด็จการทหารพม่าทำ เผด็จการในอดีตรัฐเล็กๆ ของโซเวียตก็ทำ แต่พวกนี้ไม่ได้ต้องการนำระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือแม้แต่ตัวกษัตริย์กลับมาแต่อย่างใด

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความหมายของอนุสาวรีย์มันเปลี่ยนได้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเดิมมีความหมายตามที่จอมพลป.ต้องการ แต่ตั้งแต่เผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประชาชนไทยเปลี่ยนความหมายของมันเพื่อให้เป็นเรื่อง “ประชาธิปไตยล้วนๆ” อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ และเนื่องจากเผด็จการทหารทุกรุ่น รวมถึงเผด็จการของประยุทธ์ อ้างว่ามันเป็น “ประชาธิปไตย” ไม่มีทหารรุ่นไหนกล้าทุบมันทิ้ง กระแสประชาธิปไตยในประชาชนของสังคมไทยกลายเป็นกระแสที่มีพลังยิ่ง

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต่างจากหมุดคณะราษฎร เพราะหมุดคณะราษฎร ในความคิดของนักเคลื่อนไหวปัจจุบัน ตอนนี้ผูกไว้กับการลดอำนาจหรือยกเลิกกษัตริย์

ถ้า จอมพล ป. พิบูลสงคราม เกลียดกษัตริย์ ทำไมไม่ยกเลิกไปเลย? คำตอบคือจอมพล ป. พิบูลสงครามและพรรคพวก ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ต้องคอยแย่งชิงอำนาจกับฝ่ายอื่นเสมอ ต้องประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม หนึ่งในนั้นคือพวกคลั่งเจ้า แต่ไม่ใช่ตัวกษัตริย์เอง เพราะกษัตริย์รัชกาลที่๗แพ้สงครามการแย่งชิงอำนาจ และรัชกาลที่๘และ๙ ไร้อำนาจโดยสิ้นเชิงเพราะสาเหตุที่อ่อนวัยและไม่ได้เตรียมตัวเพื่อขึ้นมาเป็นกษัตริย์เลย ฝ่ายคลั่งเจ้าหลังจากความพ่ายแพ้ในกบฏบวรเดช เริ่มค่อยๆ เข้าใจว่าไม่สามารถหมุนนาฬิกากลับไปสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ ดังนั้นสิ่งที่ฝ่ายคลั่งเจ้าต้องการคือการยกความสำคัญของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นมา ในที่สุดเขาก็ได้ดังใจภายใต้เผด็จการรุ่นต่อไปของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่อย่าไปหลงเข้าใจผิดนะว่าจอมพล สฤษดิ์ “คืนอำนาจให้กษัตริย์” สฤษดิ์ยกระดับกษัตริย์เพื่อเพิ่มความชอบธรรมให้กับอำนาจของตนเองเท่านั้น

อย่าลืมด้วยว่า “อำนาจ” เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมเสมอ คือเป็นอำนาจที่จะกำหนดวิธีการบริหารประเทศ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และนโยบายระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในมือของทหาร ข้าราชการชั้นสูง และนักการเมืองที่ตามมา มันไม่เคยอยู่ในมือกษัตริย์มาตั้งแต่ ๒๔๗๕

หลังจากจอมพล สฤษดิ์ ทหาร ข้าราชการชั้นสูง และนักการเมืองล้วนแต่ใช้กษัตริย์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความอนุรักษ์นิยม และหุ่นที่ให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่พวกนี้ทำตลอด นั้นคือสาเหตุที่มีการสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๗ หน้ารัฐสภา ซึ่งเกิดขึ้นหลังสมัยความป่าเถื่อนของ ๖ ตุลา การนำกษัตริย์ผู้ที่ขัดขวางระบบรัฐสภาและรัฐธรรมนูญมาตั้งไว้หน้ารัฐสภา เหมือนกับเอารูปปั้นกษัตริย์อังกฤษไปไว้หน้ารัฐสภาของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้มีการพยายามทำให้ประชาชนลืมหรือเข้าใจผิดเรื่องการปฏิวัติ ๒๔๗๕ การที่ประชาชนจำนวนมากไม่รู้จักหมุดคณะราษฏร หรืออนุสาวรีย์หลักสี่ เป็นผลพวงของความพยายามนี้ ยิ่งกว่านั้นหมุดคณะราษฎรเคยหายไปจากที่ตั้งในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีคำสั่งให้ย้ายหมุดดังกล่าว แต่กลับมาตั้งในที่เดิมหลังจากที่สฤษดิ์เสียชีวิตไป

ฝ่ายประชาธิปไตยมีการโต้ตอบฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ ๑๔ตุลา และ๖ตุลา อันหลังตั้งไว้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ซึ่งมีอนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งคณะราษฎร อีกด้วย

ปัจจุบันหลังจากที่หมุดคณะราษฎร หายไปอีกครั้งและมีหมุดอุบาทว์ “หน้าใส” เข้ามาแทนที่ หลายคนตั้งคำถามว่าใครอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ โดยที่พวกคลั้งนิยายเรื่องเจ้าเสนอว่าว ชิราลงกรณ์ เป็นผู้สั่ง แต่พวกนี้ลืมไปว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา พวกคลั่งเจ้าได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อทำลายประชาธิปไตยของเรา และเชิญเผด็จการทหารเข้ามา และพวกนี้มักใช้กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ถึงขั้นที่เอ่ยถึงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกด้วย แต่พวกนี้ไม่ได้ต้องการให้กษัตริย์มีอำนาจจริง มันและพรรคพวกของมันต้องการมีอำนาจเอง และที่สำคัญคือกษัตริย์ภูมิพลในสมัยนั้นไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะรู้เรื่องหรือกำกับอะไร และกษัตริย์วชิราลงกรณ์ไม่เคยสนใจสภาพบ้านเมืองเลย ผมคาดเดาว่าก่อนหน้านี้แกอาจไม่รู้จักหมุดคณะราษฏร์ด้วยซ้ำ

ตอนนี้มีข่าวว่าคนจาก “กลุ่ม สมาน ศรีงาม” มอบตัวกับตำรวจและสารภาพว่าถอนหมุดคณะราษฎร เรายังต้องรอดูว่ามันจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามมันสอดคล้องกับแนวการเมืองของพวกนี้ ดู [ http://bit.ly/2oVf9Uu ]

ก่อนที่ประยุทธ์จะทำรัฐประหาร พวกสลิ่มคลั่งเจ้าได้ก่ออาชญากรรมทางการเมืองเพื่อปูทางไปสู่เผด็จการ ในเรื่องนี้มันทำเอง ตัดสินใจเอง แต่ฝ่ายทหารก็ไม่ทำอะไรเพราะมันเป็นโอกาสที่จะทำรัฐประหาร ในเรื่องการหายไปของหมุดคณะราษฏร มันคงจะคล้ายกัน ผมมองว่าคสช.และประยุทธ์ไม่ได้สั่งถอนหมุดแต่ขี้เกียจสอบสวนหาความจริงเพราะแอบเห็นด้วย วชิราลงกรณ์ก็ไม่ได้สั่ง แต่พวกที่ทำคือพวกคลั่งเจ้าสุดขั้ว มันมีการขู่ก่อนหน้านี้ และพวกนี้เห็นว่าในช่วงปัจจุบันฝ่ายเราชอบประกอบพิธีประชาธิปไตยตรงนั้นท่ามกลางกระแสไม่เอาเจ้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นมันเป็น “สงครามอนุสาวรีย์” อีกรูปแบบหนึ่ง

สักวันหนึ่ง เมื่อประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เราจะดึงอนุสาวรีย์ของพวกเจ้าลงมาให้หมด เหมือนกับที่คนทั่วโลกเคยทำ

กลุ่มประเสริฐ ทรัพย์สุนทร และ กลุ่ม สมาน ศรีงาม รับใช้ทหารมาตลอด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตามที่มีข่าวว่า “กลุ่ม สมาน ศรีงาม” มอบตัวกับตำรวจและสารภาพว่าถอนหมุดคณะราษฎร เรายังต้องรอดูว่ามันจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามมันสอดคล้องกับแนวการเมืองของพวกนี้ ลองมาดูกันว่าแนวการเมืองของเขามาจากไหน…

อาจารย์ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่เมื่อพรรคตัดสินใจจับอาวุธสู้กับเผด็จการ สฤษดิ์ ในช่วงที่ จิตร ภูมิศักดิ์ โดนยิงตาย ซึ่งเป็นการปรับยุทธวิธีการต่อสู้จากเดิมที่พรรคเคยทำแนวร่วมกับเผด็จการทหาร ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ไม่เห็นด้วย และแตกกับพรรค ต่อมา อ.ประเสริฐ ก็ทำงานร่วมกับเผด็จการทหาร และคัดค้าน พคท. ได้งบประมาณจากทหารด้วย ในการทำงานร่วมกับทหารนั้น อ. ประเสริฐ ได้ทำกลุ่มศึกษาและให้การศึกษากับทหารหลายคน เช่น ชวลิต ยงใจยุทธ

ในทางวาจา กลุ่ม “อาจารย์เสริฐ” จะพูดถึงความจำเป็นที่จะต้อง “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ในสังคมไทย จากความเป็น “ศักดินา” ซึ่งก็ยังเป็นแนวของ พคท.อยู่  เพียงแต่จะต่างกับ พคท. ตรงที่เสนอว่าควรปฏิวัติโดยทำแนวร่วมกับทหาร ซึ่งเป็นแนวเดิมของ พคท. แต่ในเวลานั้น พคท.หันไปเสนอให้จับอาวุธสู้กับศักดินากับทหาร เพื่อ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” โดยทำแนวร่วมกับ “นายทุนรักชาติ”

ในความเป็นจริงประเทศไทยเปลี่ยนจากศักดินาเป็นทุนนิยมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ดังนั้นข้อเสนอของทั้งสองกลุ่มให้ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมกับการทำแนวร่วมกับชนชั้นปกครอง ตามแนว สตาลิน-เหมา ทั่วไป ทั้งสองกลุ่มเพียงแต่อยากหาทางลัดสู่อำนาจ ผ่านการจับมือกับทหาร นายทุน หรือคนชั้นสูงอื่นๆ ที่มีอำนาจ แทนที่จะปลุกระดมให้ประชาชนลุกขึ้นสู้เพื่อโค่นทุนนิยมและชนชั้นปกครองทั้งหมด แต่ในด้านหนึ่ง พคท. ยังมีความก้าวหน้ากว่ากลุ่ม อ.เสริฐ เพราะอย่างน้อยก็พยายามจัดตั้งประชาชนให้ล้มเผด็จการทหารด้วยการจับอาวุธ

หลังจากที่ พคท. ล่มสลายเพราะการต่อสู้ไม่สำเร็จ ในช่วงรัฐบาลเปรม กลุ่ม อ.เสริฐ มีบทบาทต่อไป โดยสร้างความสับสนในหมู่นักเคลื่อนไหวสังคมนิยม นักศึกษา กรรมกร และนักสหภาพแรงงาน คือพูดเหมือนนักปฏิวัติฝ่ายซ้าย แต่ในรูปธรรมเสนอให้จับมือกับนายจ้าง คนชั้นสูง และจงรักภักดีต่อกษัตริย์ บางครั้งกลุ่ม อ.เสริฐ จะต่อต้านการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน

สมาน ศรีงาม เป็นลูกศิษย์ที่ดีของ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เขาเป็นคนที่ชอบเคลื่อนไหวแบบชาตินิยมสุดขั้ว เช่นการ “ทวงคืน” เขาพระวิหารเป็นต้น

สรุปแล้วแนวทางของกลุ่ม อ.เสริฐ วิวัฒนาการไปเป็นการปกป้องทหารและชนชั้นสูง โดยแฝงตัวเข้าไปในขบวนการต่างๆ ของนักต่อสู้ เพื่อพูดอะไรแรงๆ แต่พาคนไปสู่การสยบยอม

เมื่อเดือนกันยายนปี ๒๕๕๒ กรุงเทพฯธุรกิจออนไลน์เสนอว่า

“วันนี้ สานุศิษย์อาจารย์เสริฐได้นำเอาความรู้ที่ร่ำเรียนกันมายาวนาน มาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองกันอย่างคึกคัก วันนี้ สานุศิษย์อาจารย์เสริฐกระจายตัวอยู่ทั้งในกลุ่มเสื้อแดง และเสื้อเหลือง….ธงนำความคิดของ อ. เสริฐ คือการปฏิวัติประชาธิปไตย ที่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่กับฝ่ายความคิดก้าวหน้า…..อ.ชูพงศ์ (สานุศิษย์อาจารย์เสริฐ) จึงประกาศคำขวัญกลางสนามหลวงว่าให้ล้มอำมาตย์ (เผด็จการ) เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์”

การนัดหยุดงานกับการสร้างเสรีภาพ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ท่ามกลางความมืดมนของเผด็จการที่วางแผนคุมสังคมเราในระยะยาว เราต้องตั้งคำถามว่าพลังไหนในสังคมจะปลดแอกประชาชนและสร้างเสรีภาพ?

การสร้างพลังของขบวนการสหภาพแรงงานในไทย มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างเสรีภาพ สังคมเราจะได้ไม่ต้องวนเวียนอยู่กับเผด็จการ การทำรัฐประหาร  และสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างต่อเนื่องเหมือนไม่มีจุดจบ นี่คือบทเรียนจากประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก เกาหลีใต้ ลาตินอเมริกา และอียิปต์

13124929_1181060888592867_9078848768920258106_n

แน่นอนเราไม่สามารถจะไปหวังว่า สลิ่มชนชั้นกลาง ผู้ที่เคยเป็นความหวังของใครๆ ในอดีต จะสนใจสร้างเสรีภาพ พวกเขาพิสูจน์ตนเองเป็นรูปธรรมว่าเป็นศัตรูของเสรีภาพ

อย่างไรก็ตามขบวนการแรงงานไทยตอนนี้อ่อนแอเกินไป ไร้ประสิทธิภาพในการนำตนเองเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งถูกฝ่ายปฏิกิริยาแทรกแซง และเกือบจะไม่มีการจัดตั้งทางการเมือง บางส่วนของขบวนการมองรัฐบาลทหารว่าเป็น “ผู้อุปถัมภ์” อีกด้วย ที่สำคัญคือควบคู่กับการสร้างพลังของกรรมาชีพ เราไม่สามารถละเว้นการสร้างพรรคสังคมนิยมด้วย ดังนั้นภารกิจสำคัญของเราควรจะเป็นการสร้างพรรคสังคมนิยมของคนหนุ่มสาวมีไฟที่ลงไปทำงานกับขบวนการสหภาพแรงงาน

ทำไมกรรมาชีพมีบทบาทชี้ขาดในการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพ และสังคมนิยม?

ชนชั้นกรรมาชีพตามนิยมของนักมาร์คซิสต์ คือ ทุกคนที่ไร้ปัจจัยการผลิต ดังนั้นลูกจ้างทุกคนที่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษถือว่าเป็นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงาน พนักงานปกคอขาว คนขับรถเมล์ พนักงานในภาคบริการ พยาบาล หรือครูบาอาจารย์

3350df5709f4453fafae41703dc8a35e

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นเพราะชนชั้นกรรมาชีพมีอำนาจซ่อนเร้นอยู่สูง เนื่องจากกรรมาชีพเป็นชนชั้นใหม่ที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมาในใจกลางของระบบ เศรษฐกิจทุนนิยมต้องอาศัยการทำงานของชนชั้นกรรมาชีพทั้งสิ้น นายทุนนายจ้างและเครื่องจักรต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานแทนชนชั้นกรรมาชีพได้ เมื่อกรรมาชีพนัดหยุดงานทั่วประเทศ ทหารและตำรวจปราบยากกว่าการชุมนุมบนท้องถนน

ชนชั้นกรรมาชีพมีความสัมพันธ์พิเศษในระบบการผลิตทุนนิยมด้วย เพราะทุนนิยมผลักดันให้ชนชั้นกรรมาชีพเข้ามาทำงานร่วมกันในสถานที่ทำงานใหญ่ โดยที่งานของแต่ละคนต้องอาศัยพึ่งพางานของเพื่อนร่วมงานตลอด ซึ่งการทำงานแบบนี้ช่วยส่งเสริมความคิดในเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่เหมือนพวกนายทุนน้อย นอกจากนี้ชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมสมัยใหม่ทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย

จะขอยกคำเขียนของนักสังคมนิยมสองคนในอดีต เพื่อขยายความเรื่องการนัดหยุดงาน และการต่อสู้ทางการเมือง

rluxemburgcpwz

บทความ “การนัดหยุดงานทั่วไป” ของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักมาร์คซิสต์สตรีชาวเยอรมัน-โปแลนด์ เป็นบทความที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง การลุกฮือโดยอัตโนมัติและเสรี กับการจัดตั้งทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างการต่อสู้ในเรื่องปากท้อง กับการต่อสู้ทางการเมือง

โรซา ลัคแซมเบอร์ค เขียนไว้ว่า…..“ในการนัดหยุดงานทั่วไปเราไม่สามารถแยกเศรษฐศาสตร์ออกจากการเมืองได้เลย การนัดหยุดงานทั่วไปแบบ “การเมือง” ไม่ใช่จุดสูงสุดของการต่อสู้ของสหภาพแรงงานและไม่ใช่เรื่องที่สามารถแยกออกจากการนัดหยุดงานประเภท “ปากท้อง” ได้ ถึงแม้ว่ากระบวนการของกระแสการนัดหยุดงานทั่วไปเกิดจากการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องปากท้อง และในขณะที่มันพัฒนาไปมันผ่านหลายๆ ขั้นตอนของการประท้วงทางการเมืองก็จริง แต่มันไม่ใช่การพัฒนาในทิศทางเดียวเท่านั้น หลังจากการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ทางการเมืองทุกครั้ง กระแสลำธารแห่งการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องปากท้องก็ย่อมเกิดขึ้น พูดง่ายๆ เรื่องปากท้อง (หรือเศรษฐกิจ) กับเรื่องการเมืองจะหนุนกันไปหนุนกันมาตลอดเวลา”

“ในเรื่องของจิตสำนึกและการนำในการต่อสู้นัดหยุดงานทั่วไป ถ้าเราเข้าใจว่าการนัดหยุดงานทั่วไปคือผลิตผลของการต่อสู้ในระยะยาวภายใต้กระแสการปฏิวัติ เราจะเข้าใจดีว่าไม่มีใครสามารถจัดตั้งมันขึ้นมาได้ และไม่มีใครที่สามารถวางแผนให้มันเกิดได้ พรรคการเมืองของฝ่ายสังคมนิยมสามารถปลุกระดมให้เกิดการประท้วงได้ แต่ไม่สามารถก่อให้เกิดกระแสการนัดหยุดงานทั่วไปและกระแสการปฏิวัติได้ ถึงแม้ว่าทิศทางการต่อสู้ในช่วงกระแสการปฏิวัติเป็นเรื่องที่กำหนดไม่ได้ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าพรรคสังคมนิยมไม่มีภาระกิจอันใดทั้งสิ้น เพราะท่ามกลางการต่อสู้อันหลากหลายและสับสน ท่ามกลางการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยของการนัดหยุดงานทั่วไป นักสังคมนิยมจะถูกเรียกร้องให้ขึ้นมามีบทบาทนำในทางการเมือง ในสถานการณ์แบบนี้หน้าที่หลักของนักสังคมนิยมคือการนำเอาพลังมหาศาลอันหลากหลายของกรรมาชีพที่ระเบิดออกมา มารวมตัวรวมพลังเพื่อยกระดับการต่อสู้ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

1917-russian-revolution

บทความของ เลนิน “ว่าด้วยการนัดหยุดงาน” อธิบายถึงความสำคัญของการนัดหยุดงานในการแสดงพลังของกรรมาชีพ และเสนอว่าการนัดหยุดงานเป็น “โรงเรียนการทำสงครามทางชนชั้น” ที่เปิดหูเปิดตากรรมาชีพ แต่เลนินเน้นว่าโรงเรียนการทำสงครามแตกต่างจากสงครามจริง การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานสำคัญ แต่การปลดแอกมนุษย์ต้องอาศัยการจัดตั้งพรรคการเมืองและการปฏิวัติด้วย

เลนิน เขียนว่า “การนัดหยุดงานทุกครั้งเป็นเครื่องเตือนใจนายทุนว่ากรรมาชีพต่างหากที่เป็นเจ้านายแท้ของระบบ การนัดหยุดงานสอนให้กรรมาชีพเข้าใจว่า พลังอำนาจของนายจ้างและพลังอำนาจของกรรมาชีพเองเป็นไปในรูปแบบไหน มันสอนให้กรรมาชีพนึกถึงชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นและชนชั้นกรรมาชีพทั้งชนชั้น ไม่ใช่แค่นายจ้างของตนเองหรือเพื่อนร่วมงานของตนเองเท่านั้น เมื่อเจ้าของโรงงานที่สะสมทรัพย์เป็นล้านๆ จากงานของกรรมาชีพหลายรุ่นหลายสมัย ไม่ยอมขึ้นค่าแรงแม้แต่นิดเดียวหรือพยายามลดค่าแรง และเมื่อเขาปลดคนงานที่กล้ายืนขึ้นต่อสู้ออกจากโรงงาน จนครอบครัวกรรมาชีพหลายพันคนต้องยากลำบาก มันกลายเป็นที่ประจักษ์ว่าชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นคือศัตรูของกรรมาชีพทั้งชนชั้น หลายครั้งเจ้าของโรงงานจะพยายามหลอกลวงคนงาน โดยสร้างภาพว่าเขาเป็นผู้อุปถัมภ์จิตใจเมตตา แต่พอเกิดการนัดหยุดงานขึ้นภาพลวงตาหรือหน้ากากของผู้อุปถัมภ์ใจดีจะถูกกระชากหลุดไปทันที และกรรมาชีพจะเห็นว่าผู้อุปถัมภ์คือหมาป่าปลอมตัวเป็นแพะ

การนัดหยุดงานเปิดตาของกรรมาชีพให้เห็นธาตุแท้ของรัฐบาลและกฏหมายด้วย ไม่ใช่แค่ธาตุแท้ของนายจ้าง ในลักษณะเดียวกับที่นายทุนพยายามแสดงตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ใจดีของกรรมาชีพ เจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ และทาสรับใช้ของเขา พยายามหลอกกรรมาชีพว่ารัฐบาลเป็นกลางและมีความเป็นธรรมไม่เข้าข้างนายจ้างหรือลูกจ้าง แต่พอเกิดการนัดหยุดงานขึ้น ศาล เจ้าหน้ารัฐ ตำรวจ และแม้แต่ทหาร ก็มาที่โรงงาน ในสภาพเช่นนี้กรรมาชีพทุกคนเริ่มเห็นว่ารัฐบาลคือศัตรูร้ายของตน เพราะรัฐบาลปกป้องนายทุนและมัดมือมัดเท้ากรรมาชีพ กรรมาชีพเริ่มเข้าใจว่ากฏหมายต่างๆ ออกเพื่อผลประโยชน์คนรวยฝ่ายเดียว และเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของพวกนี้

นี่คือสาเหตุที่นักสังคมนิยมเรียกการนัดหยุดงานว่า “โรงเรียนการทำสงคราม” ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนให้กรรมาชีพทำสงครามกับศัตรู เพื่อปลดแอกประชาชนผู้ทำงานทั้งปวงจากการกดขี่ขูดรีดของเจ้าหน้าที่รัฐและพลังทุน อย่างไรก็ตาม “โรงเรียนการทำสงคราม” ไม่ใช่สงครามจริง การนัดหยุดงานเป็นเพียงแง่หนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพ จากการนัดหยุดงานของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกรรมาชีพต้องพัฒนาการต่อสู้ไปสู่การต่อสู้ของกรรมาชีพทั้งชนชั้นเพื่อการปลดแอกตนเอง เมื่อกรรมาชีพที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นพัฒนาตนเองเป็นนักสังคมนิยม เขาจะสร้างพรรคสังคมนิยมกรรมาชีพที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประชาชนจากการกดขี่ของรัฐบาลและจากแอกของทุน”

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2kX0Hdo

ทำไมเผด็จการประยุทธ์น้ำลายฟูมปากเรื่องการเผยแพร่รูปและข่าวเรื่องกษัตริย์?

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังจากที่รัฐบาลเผด็จการทหารประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่ เนื้อหา ข้อมูล ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล ซึ่งคำประกาศดังกล่าวไม่อาศัยหลักกฏหมายที่มีความชอบธรรมแต่อย่างใด คำถามสำคัญคือ คำประกาศดังกล่าวบ่งบอกอะไรเกี่ยวกับอำนาจทางการเมืองในไทย?

ผมไม่ทราบว่า “คุณโอ” โกรธเคืองเรื่องการเผยแพร่รูปภาพและข่าวดังกล่าวหรือไม่ อย่างที่บางท่านสงสัย แต่มันก็มีคำถามตามมาคือ ถ้าไม่อยากให้เผยแพร่ ทำไมไปโง่เดินห้างในต่างประเทศกับเมียเพื่อโชว์ลายสักและร่างกายให้กับสาธารณชน? ตรงนี้ผมไม่สามารถตอบได้ เพราะเดาใจคนเพี้ยนแบบนี้ไม่เป็น

แต่มันมีสาเหตุอันสำคัญยิ่งที่รัฐบาลเผด็จการต้องการจะคุมการเผยแพร่ของภาพและข่าวดังกล่าว เพราะมันเพิ่มความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของเผด็จการในระยะยาว

อดีตกษัตริย์ภูมิพล ราชินี และลูกชายที่ปัจจุบันขึ้นมาเป็นกษัตริย์ มีภาพเสมือนว่ามีอำนาจ แต่แท้จริงไม่มีอำนาจ และไม่เคยมีอำนาจ มีแต่บทบาทหน้าที่ในละครใหญ่เพื่อการหลอกปกครองประชาชนโดยทหารและชนชั้นนำไทย

เวลาทหารจะก่อรัฐประหารหรือทำอะไรที่มีผลกระทบต่อสังคม มีการคลานเข้าไปหากษัตริย์ เพื่อสร้างภาพว่าไป “รับคำสั่ง” แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการ “แจ้งให้ทราบ” ว่าทหารตัดสินใจทำอะไรก่อนหน้านั้น มันเป็นละครครั้งใหญ่ที่ผู้คลานมีอำนาจเหนือผู้ถูกกราบไหว้ องค์มนตรีมีไว้เพื่อเป็นกลุ่มประสานงานระหว่างส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครอง เช่นทหารชั้นผู้ใหญ่ นายทุนใหญ่ นักการเมืองอาวุโส หรือข้าราชการชั้นสูง และจะต้องสรุปความเห็นส่วนใหญ่ของพวกนี้ทั้งหมดเพื่อแนะแนวสั่งการให้กษัตริย์

การสร้างภาพว่ากษัตริยเป็นใหญ่ มีประโยชน์ต่อเผด็จการที่คอยบังคับให้เราจงรักภักดีต่อกษัตริย์และราชวงศ์ เพราะการจงรักภักดีดังกล่าวเป็นการจงรักภักดีต่อทหารและส่วนอื่นๆ ของชนชั้นปกครอง

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์จะไม่พบช่วงไหนที่กษัตริย์ภูมิพลเคยมีอำนาจสั่งการอะไรได้ อาจแสดงความเห็นบ้าง แต่บ่อยครั้งก็ไม่มีใครฟัง เช่นกรณีที่นายภูมิพลชมเผด็จการสุจินดาในปี ๒๕๓๕ หรือกรณีรัฐบาล หลัง ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ที่มีนายกรัฐมนตรีคนโปรดของนายภูมิพล แต่อยู่ได้แค่ปีเดียว เพราะทหารและอำมาตย์อื่นมองว่ารัฐบาลนี้สุดขั้วเกินไปและกำลังสร้างปัญหา หรือแม้แต่กรณีการใช้เศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่มีใครใช้อย่างจริงจัง แม้แต่ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ตอนที่นายกทักษิณมีอำนาจและอิทธิพล นายภูมิพลก็ชมสงครามยาเสพติดที่ฆ่าคนบริสุทธิ์กว่าสามพันคน  และมีการร่วมธุรกิจระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์กับบริษัท Shin Corp ของนายกทักษิณอีกด้วย

ในกรณีกษัตริย์ใหม่ “คุณโอ” ไม่เคยสนใจการเมืองและสังคมไทยเลย เพราะหมกมุ่นแต่ในการเสพสุขส่วนตัว การเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญก็เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะมีผลกระทบกับธุระและผลประโยชน์ส่วนตัวของกษัตริย์ที่จะใช้วิธีชีวิตตามใจชอบเท่านั้น การปลดเจ้าหน้าที่รอบข้างในวังก็เช่นกัน มันไม่ต่างจากอำนาจของโจรมาเฟียท้องถิ่นตัวเล็กๆ เพราะมันไม่เกี่ยวอะไรกับอำนาจทางการเมืองที่จะกำหนดนโยบายทางสังคมการเมืองในระดับชาติ หรือนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแต่อย่างใด

การใช้สถาบันกษัตริย์โดยทหารเผด็จการ เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความชอบธรรมในการแทรกแซงการเมือง จำต้องแลกกับการให้เสรีภาพกับกษัตริย์ ในเรื่องวิถีชีวิตส่วนตัว ต้องแลกกับการเอาเงินสาธารณะไปให้กษัตริย์ใช้อย่างฟุ่มเฟือย และต้องแลกกับการยกยอกษัตริย์ให้หัวพองโตด้วยการคลานและกราบไหว้ ในขณะที่อำนาจทางการเมืองและสังคมจริงอยู่ในมือทหารและพรรคพวกในหมู่ชนชั้นปกครอง

แต่ละครการสร้างความชอบธรรมให้เผด็จการนี้ขึ้นอยู่กับการสร้างภาพความน่าเชื่อถือของตัวบุคคลที่เป็นกษัตริย์ด้วย และในกรณี “คุณโอ” ความน่าเชื่อถือนี้ถูกทำลายตลอดเวลาจากพฤติกรรมของตัวเขาเอง เช่นการเดินห้างกับเมียเพื่อโชว์ลายสัก หรือพฤติกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้นการเผยแพร่ภาพความจริงและข่าวเกี่ยวกับ “ผู้ที่ยืนอยู่เหนือหัวเราทั้งชาติ” จึงเป็นภัยต่อความมั่นคงของเผด็จการ แต่ไม่ใช่ภัยต่อความมั่นคงของประชาชนแม้แต่นิดเดียว และการพยายามคุมโซเชียล์มีเดีย เป็นงาน “กลิ้งหินขึ้นภูเขา” ซึ่งไม่มีวันสำเร็จ

แต่ขออนุญาตเตือนเพื่อฝูงผู้รักประชาธิปไตยหน่อย การหมกมุ่นกับพฤติกรรมในวังมากเกินไป เสี่ยงกับการเบี่ยงเบนการวางแผนการต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการและสร้างประชาธิปไตย เพราะพุ่งเป้าไปที่ตัวปลอม และอาจทำให้เราลืมความสำคัญของการสร้างขบวนการมวลชนอีกด้วย

ลัทธิทหารคือลัทธิอันธพาล

ใจ อึ๊งภากรณ์

เราไม่ควรแปลกใจแต่อย่างใดที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นกับทหารเกณฑ์เป็นประจำ เพราะทหารของทุกประเทศในทุกยุคคือโจรอันธพาลของรัฐ และใครที่เข้าใจธาตุแท้ของรัฐในสังคมชนชั้นปัจจุบันทั่วโลกย่อมเข้าใจว่ารัฐไม่ใช่รัฐของประชาชน รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง เพื่อควบคุมอำนาจที่เขามีเหนือเราที่เป็นคนส่วนใหญ่ ไม่ว่ารัฐนั้นจะถูกบังคับให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ [อ่านเพิ่มเรื่องรัฐได้ที่นี่ http://bit.ly/2oPnBIm  ]

ในประเทศไทยพวกนายพลคิดจะปล้นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเมื่อไร ก็นำอาวุธออกมาข่มขู่ประชาชนแล้วตั้งตัวเป็นหัวหน้ารัฐบาล ภายใต้เผด็จการปัจจุบันแก๊งอันธพาลก็กระจายไปทั่วทุกส่วนของสังคมจนตำรวจเกือบจะไร้บทบาท พวกมันใช้อาวุธเพื่อแต่งตัวเองเป็นประธานโน้นประธานนี่ คุมเศรษฐกิจและสังคม บุกค้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ลากคนบริสุทธิ์เข้าคุกทหารเพื่อเปลี่ยนทัศนะคติ หรือขังลืมเพราะกล้ามีความเห็นต่าง คิดจะวิสามัญใครก็ทำได้โดยไม่เคยถูกลงโทษ คิดจะยิงประชาชนผู้รักประชาธิปไตยตายกลางถนนก็ทำได้ ทหารอันธพาลไม่ชอบใครก็เลื่อนตำแหน่งได้ตามอำเภอใจ คิดอยากจะออกกฏหมายอะไรก็ใช้มาตรา44สั่งการ ไม่ต้องปรึกษาหารือถกเถียงตามกระบวนการประชาธิปไตยแต่อย่างใด ประยุทธ์อ้างกฏหมายได้ เพราะกฏหมายในปัจจุบันคือความคิดประยุทธ์เท่านั้น

ลัทธิทหารคือลัทธิอันธพาล อันธพาลคิดจะใช้ความรุนแรงเพื่อได้อะไรก็ทำได้ ทำต่อพลเมืองธรรมดาก็ได้ ทำต่อลูกน้องในกองทัพก็ทำได้

ทั้งหมดนี้ทำได้เพราะมีอาวุธอยู่ในมือ ไม่ต่างจากโจรผู้ร้ายแต่อย่างใด

ภายในกองทัพธรรมดาของรัฐปัจจุบันไม่เคยมีประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพ ไม่ต่างจากแก๊งโจร ใครเป็นใหญ่ในกองทัพสั่งลูกน้องได้โดยห้ามตั้งคำถามหรือเถียง วินัยทหารคือวินัยอันธพาล มันไม่ใช่วินัยที่มาจากจิตสำนึกของพลเมืองเองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานเหตุผลแต่อย่างใด

จริงอยู่บางครั้งในประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติประชาชน เช่นในรัสเซียปี 1917 หรือสเปน 1936 มีกองกำลังปฏิวัติเกิดขึ้นที่นายพลเป็นแค่ “ผู้ประสานงาน” บางครั้งมีการเลือกนายพลได้อีกด้วย และคำสั่งของผู้ประสานงานต้องได้รับการยอมรับโดยทหารธรรมดาผ่านการถกเถียง แต่นั้นเป็นกรณีพิเศษของกองทัพปฏิวัติ มันไม่ใช่กองทัพของรัฐ

ทั่วโลกในยามสงครามทหารจะถูกสั่งให้ไปฆ่าประชาชนของอีกประเทศที่เป็นทหารและพลเรือนโดยไม่ต้องมีการอธิบายเหตุผลด้วยข้อมูลและรายละเอียดแต่อย่างใด ทุกครั้งก็จะมีโฆษกของชนชั้นปกครองในสื่อออกมากล่าวว่าเป็นสงคราม “เพื่อปกป้องชาติ” แต่คำถามสำคัญคือ “ชาติ” ที่พูดถึงเป็นชาติของใคร?

เวลา “ไทย” รบ “พม่า” ชาวบ้านธรรมดาได้อะไร? คำตอบคือไม่เคยได้อะไรเลย สงครามในยุคนั้นทำไปเพื่อแย่งไพร่และทาสกันระหว่างชนชั้นปกครอง เวลาตะวันตกทำสงครามในตะวันออกกลางทำไปเพื่ออะไร? แน่นอนไม่ได้ทำไปเพื่อประชาชนในอิรัก อัฟกานิสถาน หรือซิเรีย เพราะเขาต้องล้มตายเป็นแสน แล้วพอเขาต้องการหนีไปยุโรปก็ไม่ให้เข้า แน่นอนไม่ได้ทำไปเพื่อประชาชนในประเทศตะวันตกเอง เพราะนอกจากเขาต้องจ่ายภาษีเพื่อการทำสงครามแล้ว มันยังเป็นการชักศึกก่อการร้ายเข้าบ้านในขณะที่ประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางไม่เคยเป็นภัยต่อความสงบของสังคมตะวันตก สาเหตุแท้ของการทำสงคราม “เพื่อชาติ” คือทำไปเพื่อกำไรของกลุ่มทุนใหญ่ เพื่อน้ำมัน และเพื่อการอวดความยิ่งใหญ่และแสดงอำนาจของประเทศจักรวรรดินิยมเท่านั้น

สงครามที่กองทัพไทยก่ออยู่ในปาตานีทุกวันนี้ ไม่ใช่สงครามเพื่อประโยชน์ของคนไทยส่วนใหญ่แต่อย่างใด มันสร้างภัยให้ประชาชนธรรมดาต่างหาก มันสร้างความขัดแย้งจอมปลอมระหว่างคนที่มีเชื้อชาติศาสนาต่างกัน มันเป็นสงครามเพื่อยับยั้งไม่ให้ชาวมุสลิมมาเลย์กำหนดอนาคตตนเองเท่านั้น มันเป็นสงครามเพื่อปกป้องรัฐของชนชั้นปกครองไทย ถ้าปล่อยให้มีการคุยกันระหว่างประชาชนในพื้นที่โดยที่ทหาร ตำรวจและรัฐไทยไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง จะมีสันติภาพได้ แต่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ชนชั้นปกครองไทยต้องการแต่อย่างใด

ทุกวันนี้เวลาชายไทยถูกเกณฑ์เป็นทหาร มันไม่ต่างจากการเกณฑ์ไพร่ในอดีต มันไม่ใช่การเกณฑ์ไป “รับใช้ชาติ” ของคนไทยส่วนใหญ่แต่อย่างใด มันเป็นการเกณฑ์ไปรับใช้นายพล และภายใต้เผด็จการปัจจุบันมันเป็นการเกณฑ์ไปรับใช้เผด็จการเปื้อนเลือดของประยุทธ์

คนที่รักประชาชน คนที่มองว่า “ชาติ” คือ “ประชาชน” จะรับใช้ชาติได้ดีที่สุดโดยการคัดค้านการเกณฑ์ทหาร การประท้วงความรุนแรงภายในกองทัพ และการต่อต้านเผด็จการ

“ประชานิยม” ถ้อยคำอคติของชนชั้นกลาง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในยุคนี้ทั่วโลกมีการใช้คำว่า “ประชานิยม” หรือ Populism โดยเฉพาะเวลากล่าวถึงนักการเมืองฝ่ายขวาที่เหยียดเชื้อชาติ สีผิว และศาสนาอิสลาม ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีทรัมพ์ในสหรัฐ พรรคฟาสซิสต์ในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย หรือพรรคอิสรภาพสำหรับสหราชอาณาจักร (UKIP) ในอังกฤษ

สองนักการเมืองฟาสซิสต์จากฝรั่งเศสกับเนเธอร์แลนด์
อดีตหัวหน้าพรรค UKIP

“ประชานิยม” ที่มีการพูดถึงในยุคนี้จะถูกเรียกว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา”

เมื่อไม่นานมานี้มีการใช้คำว่า “ประชานิยม” เพื่อกล่าวถึงพรรคไทยรักไทยและนโยบายของทักษิณ และทั้งๆ ที่รัฐบาลทักษิณไม่ได้ถูกเรียกว่าใช้นโยบาย “ประชานิยมฝ่ายขวา” แต่การใช้คำว่า “ประชานิยม” ในไทยมีส่วนคล้ายกับการใช้คำนี้ในตะวันตกในปัจจุบัน

ส่วนคล้ายที่ผมอยากจะยกมาอธิบายคือ คำว่า “ประชานิยม” นี้ในทั้งสองกรณี เป็นคำที่ปัญญาชนหรือนักวิชาการชนชั้นกลางใช้เพื่อดูถูกคนธรรมดา โดยเฉพาะกรรมาชีพและคนจน มันเป็นคำที่เต็มไปด้วยอคติของพวกที่มองว่าตัวเองฉลาดกว่า มีการศึกษามากกว่า และเข้าใจเศรษฐศาสตร์กับการเมืองมากว่าพลเมืองธรรมดา พวกนี้มองว่าชนชั้นกรรมาชีพกับคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของทุกสังคม เป็นคนโง่

ในกรณีไทย พวกนักวิชาการสลิ่มชนชั้นกลาง จะเล่านิยายว่าทักษิณ “ซื้อเสียง” ด้วยนโยบาย “ประชานิยม” ที่เป็นผลเสียต่อประเทศชาติ สำหรับพวกสลิ่มเหล่านี้การมีนโยบายสาธารณสุขถ้วนหน้าที่ทำให้พลเมืองทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เป็นครั้งแรก เป็นการเปลืองตัง การมีนโยบายสร้างงาน เป็นการใช้งบประมาณรัฐในทางที่ผิดและไร้วินัย การพยายามลดหนี้เกษตรกร เป็นการปล่อยให้ชาวไร้ชาวนาไม่ต้องรับผิดชอบฯลฯ ซึ่งความคิดอคติดังกล่าวสะท้อนความเห็นแก่ตัวทางชนชั้นของชนชั้นกลางและพวกชนชั้นสูง

ทุกวันนี้พรรคพวกของไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดกำลังออกแบบ “ยุทธศาสตร์ล้าหลังแห่งชาติ” เพื่อไม่ให้รัฐบาลในอนาคตใช้นโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นการกีดกันคนธรรมดาออกจากการเมืองประชาธิปไตย พูดง่ายๆ พวกมันต้องการให้เราไม่มีทางเลือกอะไรในแง่ของนโยบายเมื่อมีการเลือกตั้ง

ในเรื่องประชานิยมนี้มันมีสองประเด็นที่น่ารักเกียจคือ ในประการแรกในระบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองควรพยายามเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อพลเมืองส่วนใหญ่ และถ้าพลเมืองเหล่านั้นพึงพอใจและเทคะแนนให้พรรคนั้น มันก็เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย แต่พวกสลิ่มมองว่ารัฐบาลไม่ควรใช้เงินรัฐที่มาจากภาษีประชาชนในการพัฒนาชีวิตของคนส่วนใหญ่ สลิ่มมองว่ารัฐบาลควรเอาใจแค่ทหาร พวกในวัง คนรวย หรือชนชั้นกลางเท่านั้น อย่าลืมว่าไม่มีพวกนักวิชาการชนชั้นกลางคนไหนเลยที่โวยวายเวลารัฐบาลชวนเอาเงินประชาชนไปอุ้มหนี้เสียของธนาคารและบริษัทไฟแนนส์ ที่พวกชนชั้นกลางไปฝากเงินไว้ ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง และไม่มีนักวิชาการสลิ่มออกมาวิจารณ์งบประมาณอันฟุ่มเฟือยไร้ประโยชน์ของทหารหรือพวกในวัง

ในประการที่สอง พลเมืองที่เทคะแนนให้พรรคการเมืองของทักษิณ ไม่ได้เป็นคนโง่ ไม่ได้ “เข้าไม่ถึงข้อมูล” และไม่ได้ถูกทักษิณซื้อแต่อย่างใด ตามที่สลิ่มและเอ็นจีโออ้าง มันเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานเหตุผล และถ้านโยบายต่างๆ ที่เขาสนับสนุนเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ มันย่อมเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของชาติ

ในตะวันตกการพูดถึง “ประชานิยมฝ่ายขวา” ในยุคนี้ก็เป็นถ้อยคำที่เต็มไปด้วยอคติของปัญญาชนและนักวิชาการชนชั้นกลางเช่นกัน แน่นอนมันมีหลายส่วนของนโยบายของพวกฝ่ายขวาที่น่าเกลียดและเป็นพิษภัยต่อสังคม ซึ่งเราต้องประณามและต่อต้าน โดยเฉพาะนโยบายเหยียดเชื้อชาติ สีผิว เพศ และศาสนาอิสลาม มันเป็นแนวคิดที่สร้างความแตกแยกในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ และกดขี่ทำลายศักดิ์ศรีของคนที่ถูกมองว่าเป็นคน “ต่าง” หรือคน “ด้อย”

แต่บ่อยครั้งคำว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา” ถูกใช้เพื่อให้ความหมายว่ากรรมาชีพและคนจน ไปหลงสนับสนุนนโยบายดังกล่าว เพราะพวกนี้โง่ ไร้การศึกษา และมีความคิดคับแคบ เช่นมีการเหมารวมว่าพลเมืองอังกฤษทุกคนที่ลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียู รวมถึงผู้เขียนคนนี้ เป็นพวกเหยียดเชื้อชาติหมด มันมีการเหมารวมว่า ทรัมพ์ ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐเพราะกรรมาชีพและคนจนเหยียดเชื้อชาติและกดขี่สตรี แต่คำอธิบายนี้เต็มไปด้วยเรื่องเท็จ

ในกรณีอังกฤษ การลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียู เป็นการประท้วงชนชั้นปกครองจากทุกพรรคที่อยากอยู่ต่อในอียู มันเป็นการประท้วงนโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายชีวิตคนจำนวนมาก และที่น่าสังเกตคือนักการเมืองกระแสหลักทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายต่อต้านอียู ร่วมกันใช้วาจาเหยียดเชื้อชาติพอๆ กัน ยิ่งกว่านั้นเวลาสำรวจความคิดเหยียดเชื้อชาติ จะพบว่าพวกสลิ่ม ชนชั้นกลางผู้ประกอบการรายย่อย และพวกคนชั้นสูง เป็นตัวดีที่เหยียดเชื้อชาติสีผิว ส่วนกรรมาชีพจะมีความคิดขัดแย้งในตัว คืออาจรับความคิดเหยียดเชื้อชาติจากสื่อ แต่ประสบการณ์สอนให้รู้ว่าต้องสามัคคีกับเพื่อนร่วมงานไม่ว่าจะเชื้อชาติอะไร

ทรัมพ์

ในสหรัฐการที่ทรัมพ์ชนะ เป็นเพราะกรรมาชีพคนจนเกลียดชังคนอย่างคลินตัน ซึ่งเป็นตัวแทนของนายทุนและชนชั้นปกครองที่ทำลายชีวิตเขาหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 คนเหล่านี้จึงไม่ค่อยออกไปใช้เสียงในวันเลือกตั้ง และส่วนหนึ่งอาจลงคะแนนให้ทรัมพ์เพื่อเป็นการประท้วง แต่นั้นไม่ได้แปลว่าคนจนล้าหลังคับแคบ ในความเป็นจริงประธานาธิบดีสหรัฐทุกคนมีนโยบายเลวๆ ที่ดูแลแต่คนรวยและขยันในการก่อสงคราม โอบามา เคยสร้างความหวังกับพลเมืองไม่น้อย แต่ในที่สุดคนส่วนใหญ่ต้องผิดหวัง เพราะโอบามาไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน ไม่ได้เสนอรัฐสวัสดิการ และไม่ได้แก้ปัญหาของคนผิวดำ โดยเฉพาะในเรื่องการที่ตำรวจฆ่าวิสามัญคนผิวดำ

สรุปแล้วปรากฏการณ์ของสิ่งที่พวกปัญญาชนสลิ่มเรียกว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา” มาจากการประท้วงของพลเมืองต่อสภาพสังคมที่พวก “ข้างบน” คอยกดทับชีวิตของเขาและไม่แคร์อะไรเลย พวกสลิ่มก็ไม่เคยสนใจสภาพความเป็นอยู่ของพลเมืองส่วนใหญ่ด้วย สาเหตุส่วนหนึ่งของกระแสฝ่ายขวามาจากการที่ฝ่ายซ้ายยังอ่อนแอเกินไปที่จะดึงคะแนนของพวกที่ไม่พอใจเพื่อไปในทางที่ก้าวหน้า ฝ่ายขวาที่เหยียดเชื้อชาติจึงสามารถฉวยโอกาสสร้างแพะรับบาปได้ แต่พวกสลิ่มก็ตัวดีในการด่าวิจารณ์ฝ่ายซ้ายอย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส ในสหรัฐ หรือ เจเรมี คอร์บิน ในอังกฤษ คือไม่ทำอะไรเลยเพื่อให้เกิดกระแสก้าวหน้า แค่สบายใจในการดูถูกคนจนเท่านั้น

คำว่า “ประชานิยม” ไม่ว่าจะในกรณีทักษิณ หรือกรณีพวกนักการเมืองฝ่ายขวาในตะวันตก เป็นคำที่ใช้เพื่อดูถูกคนส่วนใหญ่ของสังคม และมันปิดบังข้อเท็จจริงทางการเมืองหลายประการ ดังนั้นเราไม่ควรใช้อีกต่อไป