ใจ อึ๊งภากรณ์
หลายคนชอบบ่นว่า คาร์ล มาร์คซ์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน “บิดาของลัทธิสังคมนิยม” มักจะไม่กำหนดอย่างชัดเจนว่าระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์จะมีหน้าตาแบบไหน ในด้านหนึ่งก็เพราะเขาและชาวมาร์คซิสต์ที่ตามหลังเขา จะมองว่าสังคมนิยมต้องมาจากการกระทำของคนทำงานธรรมดา ต้องร่วมกันกำหนดว่ามนุษย์จะอยู่กันอย่างไร โดยคนรากหญ้าเอง จากล่างสู่บน ไม่ใช่ว่าจะมีผู้ใหญ่ที่ไหนออกแบบมาล่วงหน้า
แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนที่เคยอ่านงานเขียนของ คาร์ล มาร์ซ์ เช่นหนังสือ “ว่าด้วยทุน” จะพบว่าเขาเขียนถึงระบบสังคมนิยมในหลายจุด ดังนั้นจะขอเสนอตัวอย่างคำเขียนของ มาร์คซ์ ในเรื่องนี้มาให้ท่านอ่านโดยตรง….
“ความขัดแย้งทวีคูณจนระเบิดออกมา ผู้ที่เคยยึดทรัพย์ประชาชน จะถูกยึดทรัพย์เอง <การปฏิเสธสิ่งที่ปฏิเสธนั้นเอง> จะเกิดจากการร่วมมือกันและการเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินและปัจจัยการผลิตทั้งหมดโดยชนชั้นกรรมาชีพ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ทุนนิยมในอดีตเคยใช้เวลานาน และมีความรุนแรงโหดร้าย เพราะเป็นการปล้นคนส่วนใหญ่โดยคนส่วนน้อย แต่การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนิยม จะเป็นการปล้นคืนจากโจรที่เป็นคนส่วนน้อย โดยคนส่วนใหญ่”
สังคมนิยมเป็นระบบที่เน้นการร่วมมือสมานฉันท์กัน จะต้องมาจากการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมโดยคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่กลุ่มคนเล็กๆ ที่ทำแทนมวลชน และการปฏิวัติดังกล่าวโดยคนส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องใช้ความโหดร้ายป่าเถื่อนเหมือนที่พวกนายทุนหรือพวกศักดินาก่อนหน้านั้นเคยใช้ในการปล้น วิถีชีวิต และอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองจากคนธรรมดา ในประโยคนี้มาร์คซ์ใช้แนวคิด “วิภาษวิธี” ที่เสนอว่าทุกสังคมมีความขัดแย้ง ซึ่งเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง และในที่สุดสภาพเดิมที่เคยเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งก่อนหน้านั้น จะถูกปฏิเสธอีกรอบโดยความขัดแย้งรอบใหม่
“การยกเลิกทุนนิยมจะทำให้ลดชั่วโมงการทำงานให้ใกล้เคียงที่สุดกับปริมาณแรงงานจำเป็นในการเลี้ยงชีพ และส่วนเกินที่เราผลิตจะนำมาใช้โดยคนในสังคมร่วมกัน เพื่อลงทุนต่อและพัฒนาสังคม ดังนั้นจะมีการเพิ่มเวลาสำหรับกิจกรรมทางสังคมและการพัฒนาปัญญาของกรรมาชีพอย่างเสรี”
“เสรีภาพที่จะเลี้ยงชีพตามความต้องการในสิ่งจำเป็น ย่อมเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีระบบการผลิตแบบรวมหมู่ที่มนุษย์ทุกคนมีอำนาจร่วมกันที่จะกำหนดกิจกรรมต่างๆ และกำหนดความสัมพันธ์กับโลกธรรมชาติด้วยเหตุผล แทนที่มนุษย์จะตกเป็นทาสของระบบการผลิต ระบบการผลิตแบบใหม่ที่จะเกิด ย่อมสอดคล้องที่สุดกับธรรมชาติมนุษย์ และย่อมประหยัดพลังการทำงานให้มากที่สุด แต่นั้นยังอยู่ในขอบเขตความจำเป็น เสรีภาพของมนุษย์ที่แท้จริง จะเริ่มตรงจุดที่แรงงานจำเป็นสำหรับการเลี้ยงชีพจบลง มันเป็นจุดที่เกินเลยจุดแห่งการผลิตวัตถุ เรากำลังพูดถึงเสรีภาพแท้ในกิจกรรมของมนุษย์หลังจากที่เราได้สิ่งจำเป็นสำหรับการเลี้ยงชีพ อนาคตแห่งเสรีภาพแท้จริงคือการพัฒนาพลังและความสามารถของมนุษย์ เพื่อตัวเราเอง”
มาร์คซ์ วาดภาพว่าในระบบสังคมนิยมจะมีการวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน และการวางแผนดังกล่าวจะสะท้อนการมีประชาธิปไตยในเรื่องเศรษฐกิจ และจะทำให้เราอนุรักษ์สภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติได้อีกด้วย ยิ่งกว่านั้นสังคมนิยมไม่ใช่แค่เรื่องความพอเพียง แต่เป็นวิธีที่มนุษย์จะมีเวลาเสรีสำหรับการพัฒนาตนเองในรูปแบบต่างๆ ตามใจชอบ พูดง่ายๆ สังคมนิยมในทัศนะของ คาร์ล มาร์คซ์ คือเสรีภาพและประชาธิปไตยที่แท้จริง และสอดคล้องกับความเป็นมนุษย์มากกว่าระบบทุนนิยม
มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ ไม่ใช่ว่าบางคนมีงานทำที่น่าสนใจ และคนอื่นต้องทำงานซ้ำซาก การทำงานของพลเมืองควรจะเป็นเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจ และสนับสนุนความสร้างสรรค์ที่หลากหลายของเราทุกคน พลเมืองทั้งสังคมจะได้มีศักดิ์ศรีและได้รับความเคารพรักซึ่งกันและกัน
ตรงนี้ มาร์คซ์ อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ ระบบเศรษฐกิจ และความรู้สึกจิตวิญญาณของมนุษย์ ที่รักเสรีภาพและต้องการพัฒนาตนเองทางปัญญาโดยไม่มีขอบเขตจำกัด
พอถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านน่าจะเข้าใจดีว่าระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ที่นักมาร์คซิสต์แสวงหา ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับเผด็จการ สตาลิน-เหมา ที่ใช้ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ซึ่งเคยดำรงอยู่ในรัสเซียและจีนสมัยที่ผู้นำประเทศเหล่านั้นโกหกว่าปกครองโดยระบบ “สังคมนิยม”
และที่สำคัญที่สุดคือ เป้าหมายแห่งเสรีภาพสำหรับมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ ยิ่งใหญ่และงดงามกว่าสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนภายใต้เผด็จการอนุรักษ์นิยมปัจจุบันของไทย เผด็จการที่ครอบเราอยู่ตอนนี้มองว่าเราต้องก้มหัวคลานต่อผู้ใหญ่ในสังคม ทำตามคำสั่งของพวกกาฝาก และพึงพอใจกับชีวิตถ้ามีแค่อาหารการกินพอเพียง นั้นคือสภาพที่ไร้ความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน