ทำไมเผด็จการ “เพื่อคนรวย” ชุดนี้ ชอบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเมื่อเผด็จการทหารของประยุทธ์ต้องการจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และพูดจาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อปรามคนจน และในขณะที่พรรคพวกของมันกอบโกยความร่ำรวยจากการปล้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทย เราควรกลับมาทบทวนเรื่อง “ภาษีก้าวหน้า” (Progressive Taxation) กับ “ภาษีล้าหลัง” (Regressive Taxation) อีกครั้ง

“ภาษีก้าวหน้า” คือภาษีคือภาษีที่คนรวยจ่ายมากเพราะสามารถจ่ายได้ และคนจนจ่ายน้อยหรือไม่จ่ายเลย เพราะเกือบจะไม่มีรายได้เพียงพออยู่แล้ว มันเป็นภาษีที่เป็นธรรมและช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคม

ส่วน “ภาษีล้าหลัง” คือภาษีประเภท “ทำนาบนหลังประชาชนคนจน” โดยที่คนรวยและผู้มีอำนาจ บังคับเก็บจากคนจน ในขณะที่มีการลดการเก็บภาษีจากคนรวย เป้าหมายก็เพื่อผลประโยชน์ของนายทุน คนชั้นสูง ผู้มีอำนาจเช่นนายพลระดับสูง และแม้แต่ชนชั้นกลาง

โดยทั่วไปแล้ว พวกที่ใช้แนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberal) ที่คลั่งกลไกตลาดแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ซึ่งมักจะเป็นพวกฝ่ายขวาทางการเมือง มักจะนิยมการเก็บภาษีล้าหลัง ตัวอย่างที่เห็นชัดในยุคนี้คือรัฐบาลฝ่ายขวาในสหรัฐและยุโรป ซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สามารถเพิ่มทรัพย์สินให้กับนายทุนและคนรวย ในขณะที่กดค่าแรงและรายได้ของประชาชนผู้ทำงาน นโยบาย “รัดเข็มขัด” ของพวกนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเสรีนิยมใหม่ และเข็มขัดที่ใช้รัดประชาชน มักจะไม่ใช้กับคนรวย การพยายามทำลายความเข็มแข็งของสหภาพแรงงานมีความสำคัญอีกด้วย เพราะพวกเสรีนิยมไม่ต้องการให้คนทำงานมีพลังต่อรอง

นอกจากนี้นโยบายเสรีนิยมใหม่ มักจะไปด้วยกันกับการทำลายสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยด้วย เพราะการบังคับให้ประชาชนมีฐานะทางเศรษฐกิจแย่ลง มักต้องอาศัยอำนาจเผด็จการ ตัวอย่างที่ดีคือวิธีการที่กลุ่มอำนาจในสหภาพยุโรป บังคับใช้นโยบายรัดเข็มขัดกับประเทศกรีซ ทั้งๆ ที่ประชาชนลงคะแนนเสียงคัดค้านมาตลอด หรือการที่เผด็จการทหารไทยทำรัฐประหารสองครั้งในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา การทำรัฐประหาร และการทำลายการเลือกตั้งของพวกทหาร ฝ่ายขวา และสลิ่มชนชั้นกลางไทย กระทำไปเพื่อทำลายนโยบายเศรษฐกิจ “คู่ขนาน” ของรัฐบาลทักษิณ ที่ผสมการใช้รัฐช่วยคนจน และการใช้กลไกตลาด พวกเผด็จการทำลายอำนาจทางการเมืองของทักษิณด้วยวิธีประชาธิปไตยไม่ได้ เขาต้องใช้รัฐประหาร

ทั้งๆ ที่รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลของนายทุนที่ไม่นิยมการเก็บภาษีก้าวหน้า และไม่ได้ใช้นโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่เมื่อเทียบกับรัฐบาลทหารปัจจุบัน หรือรัฐบาลอภิสิทธ์ที่มีทหารหนุนหลัง เราจะเห็นว่าเผด็จการไทยไม่สนใจการพัฒนาสภาพคนจนอย่างที่รัฐบาลทักษิณสนใจ และเราจะเห็นว่าในรอบ 11 ปีที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญต่างๆ ของทหาร มีการเชิดชูกลไกตลาดเสรีสุดขั้ว และการห้ามปรามไม่ให้รัฐใช้นบายช่วยคนจน ที่พวกนั้นเรียกกันว่า “ประชานิยม” ยิ่งกว่านั้นมีการส่งเสริม “ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง” ร่วมไปด้วย “ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง” นี้เป็นข้อเสนอของกษัตริย์ผู้เป็นคนรวยที่สุดในประเทศ ว่าคนจนต้องเจียมตัวในความจน มันเป็นข้อเสนอให้แช่แข็งความเหลื่อมล้ำ และมันถูกบังคับใช้โดยทหารผ่านการมีกฏหมาย 112 ซึ่งทำให้คนไม่กล้าวิจารณ์ นอกจากนี้เผด็จการทหารก็หน้าด้านใช้เงินของประชาชนในการซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็น ในขณะที่ด่าคนจนว่า “ขี้เกียจ”

แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat) จะมีมุมมองต่อภาษีต่างจากพวกคลั่งกลไกตลาด คือมีการมองว่าควรเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวยและกลุ่มทุน เพื่อยกระดับประชาชนขึ้น และพัฒนาสังคมให้ทันสมัย และอีกเป้าหมายหนึ่งคือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ระบบการเก็บภาษีแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นระบบภาษีที่เก็บในลักษณะ ”ก้าวหน้า” และภาษีก้าวหน้าเป็นภาษีที่เก็บโดยตรง (Direct Taxation) เก็บจากคนรวยและบริษัท ในอัตราสูง บางครั้งมีการเก็บจากคนรวยในอัตราสูงเป็นพิเศษ (Super Tax) ตัวอย่างภาษีทางตรงคือภาษีรายได้ ภาษีจากการขายหุ้น ภาษีมรดก ภาษีจากกำไรบริษัท ภาษีทรัพย์สินและภาษีที่ดินเป็นต้น ในอดีตหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ อจารย์ปรีดีเคยเสนอให้ไทยมีภาษีอัตราสูงเป็นพิเศษที่เก็บจากคนรวย แต่พวกอำมาตย์คัดค้านอย่างรุนแรง

ฝ่ายขวาเสรีนิยมจะมองว่ารัฐควรมีบทบาทน้อยในการช่วยคนจน และไม่ควรสร้างภาระให้เอกชนจากการเก็บภาษี สำนักคิดนี้มองว่านักธุรกิจและคนรวยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเขาควรมีแรงจูงใจในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นแค่ข้ออ้างที่ให้ความชอบธรรมกับความโลภของคนรวย เพราะผู้ที่สร้างมูลค่าจริงในโลกนี้คือกรรมาชีพคนทำงานธรรมดา พวกเสรีนิยมมองว่าเขาควรมีโอกาสแสวงหากำไรหรือรายได้สูงสุดโดยไม่มีการจำกัด ถ้าจะเก็บภาษีก็ควรลดภาระให้กับคนรวยและเพิ่มภาระให้คนจนแทน สำนักเสรีนิยมจึงสนับสนุนการเก็บภาษี “ล้าหลัง” ในรูปแบบ “ภาษีทางอ้อม” (Indirect Taxation) ซึ่งเป็นภาษีที่คนจนจ่ายโดยอาจไม่รู้ตัว เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ที่เราจ่ายทุกครั้งที่ซื้อของ หรือภาษีสุรา/บุหรี่ ซึ่งทำให้คนจนรับภาระสูงกว่าคนรวย และที่สำคัญคือเกือบ 70% ของรายได้ภาษีของรัฐไทยมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีทางอ้อมอื่นๆ

ถ้าดูผิวเผินเราอาจคิดว่าภาษีทางอ้อมเป็นภาษีที่คนรวยจ่ายมาก เพราะคนรวยซื้อของมากกว่าคนจน แต่ในความเป็นจริง เมื่อตรวจสอบดูว่าคนจนกับคนรวยจ่ายภาษีทางอ้อมเป็นสัดส่วนเท่าไรของรายได้และทรัพย์สิน จะพบว่าคนจนจ่ายสัดส่วนมากกว่าคนรวย

การเก็บภาษีจากคนจนไม่ใช่สิ่งใหม่ ในยุคก่อนทุนนิยมมีการเก็บส่วยจากไพร่และบังคับให้ทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนเลย และทุกวันนี้รัฐไทยยังเก็บภาษีส่วนใหญ่ในรูปแบบ “ทำนาบนหลังคนจน”

จะเห็นได้ว่าถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย ต้องมีการปฏิรูประบบภาษี เพื่อเน้นภาษีทางตรงในอัตราก้าวหน้า ในขณะเดียวกันควรมีการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีทางอ้อมอื่นๆ นอกจากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าแล้ว การตัดงบประมาณทหารและงบประมาณของพวกในวัง จะมีผลดีในการส่งเสริมประชาธิปไตย และการสร้างรัฐสวัสดิการอีกด้วย

ถ้าเราเข้าใจระบบภาษีในมุมมองของฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย เราจะเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์อยากจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ไม่มีการเพิ่มการเก็บภาษีรายได้จากคนรวย นายทุน นายพล หรือพวกกาฝากในราชวงศ์ นั้นคือสาเหตุที่รัฐประหารสองสามรอบที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อไม่นานมานี้ ล้วนแต่เป็น “รัฐประหารเพื่อคนรวย”