ใจ อึ๊งภากรณ์
การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นส่วนหนึ่งของความฝันที่จะก้าวสู่โลกใหม่แห่งความทันสมัยและความเท่าเทียมของมนุษย์
ในเรื่องความฝันไปสู่การปฏิวัติพลิกแผ่นดิน กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) เขียนไว้ในหนังสือ “แลไปข้างหน้า” ว่าหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ “อำนาจที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณกาลว่าเป็นอำนาจที่จะอยู่คู่ฟ้าไม่อาจเปลี่ยนและทำลายได้นั้น ในที่สุดก็ล้มครืนลงต่อหน้าต่อตาเขาทั้งหลาย และการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ได้กระทำโดยมือของมนุษย์ธรรมดานั้นเอง” สรุปแล้ว “ไม่มีสิ่งใดที่ศักดิ์สิทธิ์เกินไปจนมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงมันได้” (ศรีบูรพา “และไปข้างหน้า” ๒๕๒๖; 266-267) นี่คือคำสำคัญที่นักเคลื่อนไหวคนหนุ่มสาวในสังคมไทยปัจจุบันควรนำมาใช้ในการต่อสู้ โดยในประการแรกไม่ลืมว่าในไทยเคยมีการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน และสองเราควรนึกถึงตัวอย่างของ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ใครๆ แตะไม่ได้” เพื่อกล้าเสนอว่าในเมื่อสิ่งเหล่านี้สร้างโดยมนุษย์แต่แรก มันก็ถูกมนุษย์ธรรมดาล้มหรือเปลี่ยนไปได้ ในที่นี้ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ไม่ใช่แค่เรื่องกษัตริย์ แต่รวมถึง ระบบกลไกตลาดเสรี อำนาจของทหารในสังคม และระบบชนชั้น
ในหนังสือ “แลไปข้างหน้า” กุหลาบ ชวนให้เราถามต่อไปว่าความคิดเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มันเกิดมาจากไหนและรับใช้ใคร เช่นในกรณีที่เด็กยากจนป่วย คนอย่างคุณลมัยมองว่า “เมื่อมันถึงที ก็ต้องปล่อยให้มันตายไป …มันไม่มีทำเนียมที่บ่าวจะใช้แพทย์ร่วมกับนาย” ….กุหลาบ สรุปหลังจากนั้นว่า “ไม่มีใครที่ซักถามคุณลมัยว่าประเพณีอันดีงามของเขาก่อรูปมาได้อย่างไร และมีใครบ้างที่ต้องการเชิญมันไว้ให้ค้ำฟ้า” (ศรีบูรพา “และไปข้างหน้า” ๒๕๒๖; 107-108) ในยุคปัจจุบันหลังจากที่เรามีระบบรักษาพยาบาลบัตรทอง นักสังคมนิยมที่เสนอว่าเราควรเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อพัฒนามันให้เป็นระบบรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูงขึ้น จะถูกประณามโดยหมอปฏิกิริยาบางคน และพวกชนชั้นกลาง ว่าเป็นพวกที่ไม่รู้จักโลกจริงหรือเป็นพวกที่ต้องการทำลายระบบสาธารณะสุข และเราทราบดีว่าพวกทหารเผด็จการและนักวิชาการที่รับใช้มัน ต้องการหมุนนาฬิกากลับ โดยเปิดช่องให้มีการ “ร่วมจ่าย” เพื่อ “ความคล่องตัว” ของระบบทุนนิยมตลาดเสรี ซึ่งถ้าเราตามแนวคิดของ กุหลาบ เราต้องตั้งคำถามว่าข้อเสนอแบบนี้ก่อรูปขึ้นมาเพื่อรับใช้ใคร และทำไมมีบางกลุ่มเช่นพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการทำลายบัตรทองมาตั้งแต่แรก
ปัญหาอันหนึ่งที่คนก้าวหน้าในไทยมักจะเกรงกลัวคือปัญหาการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในไทย สำหรับบางคน ความเกรงกลัวที่จะวิจารณ์สถาบันนี้กลายเป็นเรื่องคล้ายๆ ความเกรงกลัวในเชิงการกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยุคสมัยก่อนวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเราหยุดนิ่งสักพัก และหันมาใช้สติปัญญาในการวิเคราะห์ เราจะพบว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่มาสามครั้งในรอบแค่ 150 ปีที่ผ่านมา เช่นจากลักษณะศักดินา มาเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วมาเป็นกษัตริย์ใต้ระบบรัฐธรรมนูญ และยิ่งกว่านั้นถ้าย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์สมัยจอมพลป. ซึ่งไม่นานมานี้เอง จะพบว่าในจุดเริ่มต้นของระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ สถาบันนี้ไม่ได้รับความชื่นชมจากประชาชนและชนชั้นปกครองใหม่แต่อย่างใด ดังนั้นสมควรแล้วหรือที่เราจะต้องกลัวการเสนอรูปแบบการปกครองอื่นในไทย เช่นรูปแบบสาธารณรัฐ? การเสนอว่าความสามารถไม่ได้ถ่ายทอดทางสายเลือดแบบอัตโนมัติหยาบๆ นอกจากจะตรงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และความเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพในโลกสมัยใหม่แล้ว ยังเป็นการนำทางไปสู่สังคมที่มีประชาธิปไตยและการใช้สติปัญญามากขึ้นด้วย
แต่แน่นอน ตราบใดที่ทหารยังมีอำนาจที่จะใช้กฏหมายเถื่อน 112 เพื่อปกป้องสถานภาพของตนเอง ความกลัวมีเหตุผล อย่างไรก็ตามเราต้องกลับไปสู่คำเขียนของ กุหลาบ อีกครั้งว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ศักดิ์สิทธิ์เกินไปจนมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงมันได้” ซึ่งรวมถึงอำนาจทหารที่มวลชนสามารถล้มได้ถ้ามีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ
สุดท้าย ในเรื่องสถาบันกษัตริย์ กุหลาบ ก็มีคำแนะนำอีกจากหนังสือ “แลไปข้างหน้า”…. นิทัศน์พูดว่า: “สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าก็เหมือนกัน แต่เดิมท่านเป็นขุนนางชั้นหลวง … และแต่เดิมทีเดียวท่านชื่อด้วง … ดูซิเธอ … พระเจ้าแผ่นดินหรือขุนนางท่านก็มาจากคนธรรมดาเหมือนอย่างเราๆ ทั้งนั้น” (ศรีบูรพา “แลไปข้างหน้า” ๒๕๒๖; 163) ในเมื่อกษัตริย์สืบเชื้อสายจากคนธรรมดา ถึงเวลาหรือยังที่เราควรจะร่วมกันนำกษัตริย์และราชวงศ์กลับสู่สภาพเดิมของคนธรรมดา?