ใจ อึ๊งภากรณ์
ประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยไม่ใช่แค่เรื่องของข้อมูลที่นักประวัติศาสตร์ทั้งหลาย เก็บมาเพื่อถ่ายทอดให้เรารับรู้เท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ ที่หวังเสนอแนวคิดในเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตนเองในสมัยนี้ ไม่มีตำราเรียนในโรงเรียนเล่มไหนที่ไม่ลำเอียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเพื่อสนับสนุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และบทความนี้ก็เช่นเดียวกัน ข้อเสนอในบทนี้พยายามอ้างประวัติศาสตร์เพื่อแสดงให้เราเห็นว่าสังคมไทยในปัจจุบันเปลี่ยนและพัฒนาให้ดีขึ้น โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถมีส่วนร่วมโดยตรงได้ ไม่ใช่ว่าต้องหยุดนิ่งกับที่ตลอดไป ดังนั้นบทนี้จะพยายามแย้งแนวกระแสหลักทางความคิดของชนชั้นปกครองไทยเรื่องการปฏิวัติ ๒๔๗๕
การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติล้มรัฐทุนนิยมภายใต้เผด็จการกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่รัฐทุนนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมีรูปแบบประชาธิปไตยรัฐสภาหรือเผด็จการก็ได้ เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและมีประโยชน์กับฝ่ายประชาชนชั้นล่างเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย มวลชนธรรมดาในยุคนั้นเข้าใจสิ่งนี้ดี จึงมีส่วนร่วมในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ แต่ในยุคปัจจุบันชนชั้นปกครองไทยต้องการที่จะลดความสำคัญของเหตุการณ์นี้ เพื่อให้ประชาชนลืมว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยทุนนิยมในเกือบทุกประเทศมีต้นกำเนิดจากการปฏิวัติ
การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ได้เกิดจากการนำเอา “ความคิดตะวันตก” มาใช้ในสังคมไทย แต่มาจากการที่ระบบการผลิตแบบทุนนิยมในไทยพัฒนาถึงระดับที่สามัญชน ซึ่งเข้ามามีบทบาทในระบบราชการ ไม่พอใจที่จะถูกปกครองต่อไปโดยเจ้าในรูปแบบเดิม แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากมวลประชาไทยมากขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงทั่วโลก และในที่สุดระบบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นทางผ่านชั่วคราวระหว่างระบบศักดินากับระบบรัฐสภาทุนนิยมก็หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย
มีนักประวัติศาสตร์ไทยจำนวนไม่น้อยที่ศึกษาการปฏิวัติ ๒๔๗๕ อย่างละเอียด เช่น นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หรือ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ฯลฯ บทความชิ้นนี้จะไม่บังอาจยกตัวขึ้นเพื่อแข่งกับชิ้นงานดังกล่าว แต่จะอาศัยข้อมูลที่ผู้อื่นค้นหามาเพื่อใช้วิเคราะห์เหตุการณ์นี้จากมุมมองมาร์คซิสต์ และในการวิเคราะห์ครั้งนี้จะพิจารณาสี่นิยายที่ชนชั้นปกครองเสนอให้เราเชื่อเกี่ยวกับ ๒๔๗๕
การปฏิวัติครั้งนี้ถึงแม้ว่าจะมีรูปแบบผิวเผินที่ดูคล้ายกับการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 หรือการปฏิวัติอังกฤษปี 1640 ที่มีการล้มการปกครองที่ใช้อำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์ เพื่อสถาปนาการปกครองรูปแบบรัฐสภาทุนนิยมของนายทุน แต่แท้จริงแล้วการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ใช่การ “ปฏิวัติทางสังคม” ที่ล้มระบบศักดินาเพื่อไปสู่ระบบทุนนิยมแต่อย่างใด เพราะระบบศักดินาไทยถูกล้มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติ “ทางการเมือง” จากรัฐทุนนิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่รัฐทุนนิยมที่มีการปกครองแบบคณะภายใต้รัฐธรรมนูญต่างหาก [ดู http://bit.ly/2pmhLNT ]
การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม”? ความจริงแล้วถ้าเราพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองไปสู่ระบบรัฐธรรมนูญ แทนที่จะยังไม่ถึงยุคสุกงอมสำหรับเมืองไทย ต้องถือว่าไทยล้าหลังประเทศอื่นพอสมควรเพราะแม้แต่ประเทศจีนก็ปฏิวัติยกเลิกระบบจักรพรรดิไปแล้วในปี 1911 21 ปีก่อนการปฏิวัติในไทย และไม่ใช่ว่าในไทยไม่ได้มีกระแสที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญมานาน เพราะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๗ ก็ได้มีการขอรัฐธรรมนูญ
ในประเด็นความไม่พร้อมของประชาชน คณะราษฎร์เองในคำประกาศฉบับที่หนึ่ง มีความเห็นว่า “รัฐบาลของกษัตริย์ ….กล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้เจ้าได้กิน ว่าราษฎรมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังตน”
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้เสนอข้อมูลที่สนับสนุนแนวคิดที่มองว่ากระแสและจิตสำนึกในส่วนสำคัญๆ ของเหล่าประชาชนไทยในยุคนั้นเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะก่อนหน้านั้นมีการตีพิมพ์บทความและเสนอฎีกาความเห็นจากประชาชนคนสามัญมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในสมัยนั้น และความไร้ประสิทธิภาพและความเห็นแก่ตัวของรัฐบาลกษัตริย์ในการแก้วิกฤตดังกล่าว
พวกที่มองว่า ๒๔๗๕ เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” มักอ้างว่าการปฏิวัติครั้งนี้นำไปสู่เผด็จการแทนที่จะมีประชาธิปไตย แต่นั้นเป็นคำโกหกของพวกที่เชียร์เผด็จการ แท้จริงแล้วเผด็จการทหารเกิดขึ้นในไทยเพราะพวกทหารหลายกลุ่มต้องการทำลายประชาธิปไตยต่างหาก และการไม่ยกเลิกเผด็จการกษัตริย์ของรัชกาลที่๗ จะไม่ช่วยแก้ปัญหานี้แต่อย่างใด เพราะเผด็จการของ ร.๗ ก็เลวพอๆ กับเผด็จการทหาร และรัชกาลที่๗ ไม่เคยมีแผนจะสละอำนาจเพื่อสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์
ปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎร์เอา “ความคิดตะวันตก” ที่ไม่เหมาะกับสังคมไทยมาใช้? กระแสการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในคนที่ไปเรียนต่างประเทศอย่างปรีดี พนมยงค์ เพราะความจริงผู้นำส่วนใหญ่ของคณะราษฎร์ไม่ได้จบจากนอกแต่อย่างใด และปรีดีเองได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อข้าพเจ้ากลับเมืองไทยปี ๒๔๗๐ ชนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยไปต่างประเทศมีความตื่นตัวที่จะเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”
นักวิชาการหลายคนเช่น Girling ได้เสนอว่าที่จริงแล้วในต้นศตวรรษที่ 20 อิทธิพลของกษัตริย์ไทยในชนบทเกือบจะไม่มีเลย และ Bowie รายงานว่านักมนุษยวิทยาคนหนึ่งเคยพบว่าในปี ๒๔๙๗ 61% ของคนไทยที่อยู่ในชนบทห่างไกลไม่เข้าใจความหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามพอเข้ายุครัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ก็มีการฟื้นฟูค่านิยมและประเพณีในพระเจ้าแผ่นดินใหม่เพื่อหวังสร้างความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์
การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการกระทำของกลุ่มชั้นนำโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม? มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เสนอว่าในหมู่ประชาชนมีกระแสความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสูง และมีหลักฐานว่าประชาชนชั้นล่างมีส่วนร่วมในการปฏิวัติพอสมควร แม้แต่ชนชั้นกรรมาชีพก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพมาก่อนหน้าการปฏิวัติ ตัวอย่างที่ดีคือ“คณะกรรมกร”ของ ถวัติ ฤทธิเดช ที่สนับสนุนคนงานรถรางและที่มีหนังสือพิมพ์ชื่อ “กรรมกร” คณะกรรมกรถูกก่อตั้งขึ้นในปี ๒๔๖๓ และมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับฝ่ายเจ้าในปี ๒๔๗๕ และในปราบกบฏบวรเดชปี ๒๔๗๖ เหรียญของคณะราษฎร์ที่มอบให้ผู้นำกรรมกรยังตั้งไว้ให้เราชมที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
รัชกาลที่ ๗ เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตยไทย? กระแสที่เสนอว่ารัชกาลที่ ๗ เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตย เป็นกระแสที่ได้รับการสนับสนุนในแวดวงชนชั้นปกครองไทยในยุคหลังเหตุการณ์รุนแรง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีการสร้างรูปปั้นรัชกาลที่ ๗ ไว้หน้าตึกใหม่ของรัฐสภาไทยในสมัยนั้น ชนชั้นปกครองต้องการที่จะลบล้างประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมวลชนชาวไทยให้หมดไปจากจิตสำนึกของเรา การล้างจิตสำนึกของประชาชนมีหลายรูปแบบ อีกตัวอย่างคือการไม่ให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่เป็นหมุดโลหะซึ่งเคยตั้งไว้บนถนนใกล้ๆ พระรูปทรงม้า และอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงชัยชนะของคณะราษฎร์ในการปราบกบฏบวรเดชที่หลักสี่ [ดู http://bit.ly/2quNSZx ]
การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เราควรเฉลิมฉลองและรักษาไว้ในความทรงจำของพลเมืองไทย
เชิญอ่านบทความเต็มเรื่องนี้ได้ที่นี่ http://bit.ly/2pz4oul