๒๔๗๕ การปฏิวัติที่ยังไม่สำเร็จ? สู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์? เก็บตกจากข้อถกเถียงที่เยอรมัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในวันที่ ๒๔ มิถุนายนที่ผ่านมานี้ มีการจัดเสวนาที่เมืองโคโลน ประเทศเยอรมัน ในหัวข้อ “๒๔๗๕ การปฏิวัติที่ยังไม่สำเร็จ? สู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์?” ….จึงมาเล่าสู่กันฟัง และในตอนท้ายจะกล่าวถึงข้อถกเถียงกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ แอนดรู  แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์

ผมเปิดประเด็นด้วยการเล่าว่า อารัมภบทของรัฐธรรมนูญมีชัย โกหกว่ารัชกาลที่ ๗ “ยกประชาธิปไตยให้ประชาชน” ในความเป็นจริงกษัตริย์คนนี้ต้องถูกโค่นด้วยการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ “รัฐประหาร” อย่างที่พวกอนุรักษ์นิยมอ้าง แต่เป็นการปฏิวัติสังคมที่ได้รับการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากประชาชนไทยจำนวนมาก

ถ้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ “ยังไม่สำเร็จ” มันไม่สำเร็จในแง่ของการสร้างประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ไม่ใช่เพราะไม่สามารถล้มระบบศักดินาหรือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบศักดินาถูกทำลายโดยรัชกาลที่๕ และระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกล้มในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และหลังจากกบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖ ซึ่งถูกปราบโดยคณะราษฎร ฝ่ายเจ้าเลิกฝันถึงการคืนสู่อำนาจ

กษัตริย์รัชกาลที่ ๙ ร่ำรวย และเสพสุขบนหลังประชาชนก็จริง มีคนเชิดชูและหมอบคลานเข้าหาก็จริง แต่กษัตริย์คนนี้ไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง และถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยทหารและชนชั้นนำอื่นๆ เช่นนักการเมืองนายทุน ฯลฯ การเชิดชูกษัตริย์แบบบ้าคลั่งที่เกิดขึ้น กระทำไปเพื่อให้ความชอบธรรมกับการกระทำของทหารและชนชั้นนำคนอื่นเท่านั้น

รัชกาลที่ ๑๐ ยิ่งอ่อนแอกว่าพ่อของเขา และไม่สนใจเรื่องการเมืองและสังคมไทยเลย วชิราลงกรณ์ ต้องการเสพสุขที่เยอรมันอย่างเดียว ที่ขอแก้รัฐธรรมนูญก็เพื่อควบคุมเรื่องส่วนตัวในวังเท่านั้น

ถ้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ยังไม่สำเร็จในแง่ของการสร้างประชาธิปไตย สาเหตุสำคัญมาจากการที่อาจารย์ปรีดี ผู้ก่อตั้งคณะราษฏร์ ไม่เข้าใจความสำคัญของการสร้างพรรคการเมืองของมวลชน และไปพึ่งอำนาจทหารมากเกินไปในการปฏิวัติ นี่คือที่มาของอำนาจทหารในระบบการเมืองไทย ในภายหลังเมื่ออาจารย์ปรีดีมาทบทวนความผิดพลาด เขาเคยเขียนว่าในยุคที่เขามีอำนาจ เขาไม่ค่อยเข้าใจการเมืองอย่างเพียงพอ แต่เมื่อเขาเริ่มเข้าใจมากขึ้นเขาเสียอำนาจไปแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ใช่การ “ชิงสุกก่อนห่าม” แต่อย่างใด ในยุคนั้นและยุคนี้ประชาชนไทยต้องการและพร้อมที่จะมีประชาธิปไตย

ผู้ที่ทำให้เป้าหมายการสร้างประชาธิปไตยหลัง ๒๔๗๕ ไม่ประสบผลสำเร็จ คือทหารเป็นหลัก และบ่อยครั้งทหารที่ก่อรัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากนายทุนและพวกสลิ่มชนชั้นกลางอีกด้วย

ถ้าตอนนี้เราอยู่ในยุค “สู่อำนาจสมบูรณ์” มันไม่ใช่อำนาจสมบูรณ์ของกษัตริย์ แต่เป็นการสร้าง “อำนาจสมบูรณ์” ของทหารต่างหาก ซึ่งดูได้จากรัฐธรรมนูญทหาร และการใช้มาตรา 44 ในเรื่องการเมืองและสังคมแบบนี้ นายวชิราลงกรณ์ไม่เคยแสดงความเห็นหรือความสนใจแม้แต่นิดเดียว

อำนาจของทหารที่เผด็จการประยุทธ์ต้องการจะแช่แข็งและสืบทอดไปเรื่อยๆ เห็นได้จากรัฐธรรมนูญดังนี้

  1. มีการคงไว้บทบาทและยืดวาระการทำงานของคณะทหารเผด็จการ คสช. ออกไปหลังการเลือกตั้ง โดยให้มีส่วนสำคัญในการกำหนด “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ที่ผูกพันกับ “นโยบายรัฐ” ในหมวดที่ 6 “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” นี้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดและแช่แข็งนโยบายของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีเสรีภาพที่จะกำหนดนโยบายเองตามความต้องการของประชาชน นอกจากนี้มันเป็นการเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญจับผิด ถอดถอนนักการเมือง หรือ “วีโต้” นโยบายของรัฐบาลที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความเองว่า “ไม่ตรงกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ”
  2. มาตรา 5 และ 272 ให้อำนาจกับพวกเผด็จการในการเลือกนายกที่ไม่ใช่สส.
  3. เผด็จการทหารมีอำนาจแต่งตั้งวุฒิสภาทั้ง200คน, กกต., และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนกกต.มีอำนาจในการสั่งเปลี่ยนนโยบายของพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความคิดของทหารอนุรักษ์นิยม
  4. ระบบการเลือกตั้งและจัดจำนวนสส. ให้ประโยชน์กับพรรคขนาดกลางอย่างพรรคประชาธิปัตย์
  5. มีการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน ที่พวกสลิ่มเรียกว่า “ประชานิยม”
  6. การแก้รัฐธรรมนูญฉบับทหารอันนี้ ถ้ายึดตามกติกาของผู้ร่าง เกือบจะไม่มีโอกาสแก้ได้เลย แต่พวกทหารเผด็จการฉีกรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ที่ประชาชนมีส่วนในการร่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
  7. ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แล้วจะเห็นว่ามีการลดความสำคัญของสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  8. มีการทำลายมาตรฐานการบริการพลเมืองโดยรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องสาธารณสุข พูดง่ายๆ มีการเสนอนโยบายที่ทำลายระบบบัตรทอง หรือที่เคยเรียกกันว่า “30 บาทรักษาทุกโรค”
  9. ในเรื่องการศึกษา มีการตัดสิทธิ์เรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย

ดังนั้นประเทศของเรากำลังเดินถอยหลังไปสู่ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้ตีนทหาร

เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร? ประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศสอนให้เรารู้ว่าถ้าประชาชนจะปลดแอกตนเองจากเผด็จการ ต้องมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนที่รักประชาธิปไตยพร้อมกับการสร้างพรรคมวลชนของคนธรรมดา เช่นกรรมาชีพกับเกษตรกรรายย่อย ไม่มีผู้ใหญ่ที่ไหนที่จะยกสิทธิเสรีภาพให้เรา แต่ในขณะนี้แกนนำเสื้อแดงและทักษิณได้แช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพไปแล้ว ดังนั้นเราต้องเริ่มต้นใหม่ในการสร้างขบวนการประชาธิปไตย

ประเด็นถกเถียงกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ แอนดรู  แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ ในงานเสวนานี้

เพื่อความยุติธรรมต่อ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ แอนดรู  แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ กรุณาไปค้นโดยตรงว่าเจ้าตัวทั้งสองมีความเห็นอย่างไรครับ…

  1. เรื่อง “อำนาจ” กษัตริย์ภูมิพล ผมเสนอมาตลอดว่ากษัตริย์ภูมิพลไม่มีอำนาจสั่งการอะไรและเป็นแค่เครื่องมือของทหาร ยิ่งกว่านั้นกษัตริย์ภูมิพลเป็นคนที่ไม่มีความกล้าที่จะพูดหรือเสนออะไรเอง มักคล้อยตามกระแสผู้มีอำนาจจริงเช่นทหารเสมอ [ดู http://bit.ly/2s0KHd4 ]ตรงนั้นหลายคนเริ่มเห็นด้วยมากขึ้น ส่วน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าต้องมอง “อำนาจ” กษัตริย์ภูมิพลในลักษณะที่ไม่ใช่อำนาจสั่งการใคร และไม่ใช่อำนาจที่จับต้องได้ แต่เป็นอำนาจในลักษณะลัทธิความคิดที่ได้รับการยอมรับในสังคม แต่ผมมองว่าการพูดแบบนี้มันนามธรรมและเป็นการพูดลอยๆ พิสูจน์อะไรไม่ได้ จับต้องไม่ได้ และในที่สุดไม่มีความหมายเลย ผมนิยามว่าเป็นทฤษฏี “อำนาจแบบไสยศาสตร์” ต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ที่ติดดินและจับต้องได้ ผมมองว่าสมศักดิ์ เสนอความคิดแบบนี้เพราะไม่สามารถให้ตัวอย่างอำนาจกษัตริย์ภูมิพลเป็นรูปธรรม แต่ต้องการเชื่อต่อไปว่ามีอำนาจ สมศักดิ์มีจุดอ่อนในการปกป้องข้อเสนอของเขาเพราะนอกจากจะพิสูจน์อะไรเป็นรูปธรรมไม่ได้แล้ว ยังโจมตีผมแบบส่วนตัวว่า “ไม่เข้าใจสังคมไทย” ในทำนองที่ชวนคนมองว่าผมไม่ใช่คนไทยแท้ทำนองนั้น ซึ่งเป็นการโจมตีที่ไม่ตรงกับสภาพชีวิตผมที่เติบโตในไทยและมีพ่อเป็นคนไทย และมีลักษณะแบบเหยียดเชื้อชาติผมอีกด้วย มันไม่ใช่ข้อถกเถียงที่ใช้ปัญญาเลย

  1. สมศักดิ์เสนอว่าในสังคมไทยเริ่มมีความเห็นร่วมกันทั้งสังคมที่เชิดชูกษัตริย์ภูมิพล ตั้งแต่พฤษภา 35 และให้เหตุผลว่าคนเชื้อสายจีนในเมืองต้องการพิสูจน์ความเป็นไทยและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมร่วมกับคนไทย คนจีนจึง “ต้องการสิ่งที่จะยึดมั่นได้” และนี่คือที่มาของอำนาจกษัตริย์ ซึ่งถ้าจริงก็คงมีอำนาจแบบ “อำนาจแบบไสยศาสตร์” ลอยๆ ในเวลาแค่สิบกว่าปีเองก่อนป่วยและหมดสภาพ แต่ปัญหาของแนวคิด สมศักดิ์ นี้คือ เขามองแค่สังคมคนชั้นกลาง มองข้ามคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เป็นกรรมาชีพไทย คนลาว คนล้านนา คนเขมร คนมาลายู ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ต้องการพิสูจน์อะไรแบบนั้น พูดง่ายๆ คือสำหรับ สมศักดิ์ ชนชั้นกลาง ซึ่งผมมองว่าเป็นสลิ่มต้านประชาธิปไตย เป็นกลุ่มคนที่สำคัญที่สุด ยิ่งกว่านั้นการที่มีกระแสเชิดชูกษัตริย์หลังปี 35 นั้นมันเกี่ยวกับการที่ พคท. ล่มสลายไปและแนวคิดการเมืองพคท. และแนวคิดซ้ายอ่อนลงมากกว่าอะไรอื่น มันเป็นชัยชนะทางความคิดชั่วคราวในสงครามจุดยืนที่กรัมชี่เคยพูดถึงมากกว่า และมันเป็นความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะทำลายแนวคิดซ้ายในยุคที่เปิดกว้างให้มีการเลือกตั้งและประชาธิปไตย

 

  1. สมศักดิ์เสนอมานานแล้วว่าเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงควรเลิกด่ากัน เพื่อสร้างฉันทามติร่วมที่ยอมรับกันได้เกี่ยวกับประชาธิปไตย เขาพูดเหมือนกับว่ามวลชนทั้งสองฝ่ายด่ากันเหมือนคนเชียร์ทีมฟุตบอลที่เป็นคู่แข่งกันเท่านั้น นี่เป็นมุมมองที่ไร้ประเด็นการเมืองโดยสิ้นเชิง เพราะความแตกแยกระหว่างเหลืองกับแดงมันมีพื้นฐานจากจุดยืนต่อนโยบายรัฐบาลทักษิณที่ช่วยยกระดับคนจนด้วยระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า และการลงทุนเพื่อพัฒนาชีวิตคนชนบทและคนจนในเมือง โดยที่รัฐบาลสมัยนั้นมองว่าพลเมืองทุกคนควรมีหุ้นส่วนในการพัฒนาชาติ ไม่ใช่แค่คนรวยและคนชั้นกลาง ดังนั้นฉันทามติร่วมทางการเมืองคงไม่มีทางเกิดได้ และในทุกประเทศทั่วโลกก็มีความคิดที่ขัดแย้งกันเสมอในเรื่องท่าทีต่อความเหลื่อมล้ำและนโยบายเศรษฐกิจการเมือง ในเรื่องนี้ สมศักดิ์ ไม่ให้เกียรติมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวเสื้อแดงว่าคิดเองเป็นและไม่ใช่แค่ขี้ข้าทักษิณ และสมศักดิ์ไม่เคยมองว่าขบวนการมวลชนมีความสำคัญในการเปลี่ยนสังคม ในอดีตเขาเคยวิจารณ์ผมที่ลงไปทำงานกับกรรมาชีพไทยด้วย

  1. ในความเห็นผม ทั้ง สมศักดิ์ และ แอนดรู แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ หมกมุ่นกับนายวชิราลงกรณ์ โดยที่ แอนดรู มองว่า “ใครๆ ก็รู้ว่าสั่งถอนหมุดคณะราษฏร์” ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย[ดู http://bit.ly/2oVf9Uu และ http://bit.ly/2quNSZx ] แอนดรู แสนอว่าคนไทยจำนวนมาก “ไม่เคยยอมรับการปฏิวัติ 2475” ซึ่งขัดกับหลักฐานประวัติศาสตร์ (กรุณาอ่านหนังสือของ ณัฐพล ใจจริง) และเขาอธิบายว่า “ความเป็นไทย” ทำให้คนไทยพร้อมจะหมอบคลาน ซึ่งไม่ตรงกับความจริงเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายๆ รอบที่คนไทยเข้าร่วม ในแง่หนึ่งมันดูถูกพลเมืองไทยจำนวนมาก  แต่นั้นคงไม่ใช่เจตนา ส่วนการที่ สมศักดิ์ หมกมุ่นกับ วชิราลงกรณ์ และภูมิพล นำไปสู่การมองแต่พวกเจ้าเพื่อความสนุก จนไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเสนอแนวทางการล้มเผด็จการทหาร และมรดกเผด็จการอย่างเป็นรูปธรรมเลย และไม่สนใจการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเลย การมองแต่เรื่องเจ้าๆ ทำให้คนอัมพาต โดยเฉพาะเวลาเชื่อว่าเจ้ามีอำนาจ เพราะมองไม่ออกว่าจะล้มอย่างไร ต่างโดยสิ้นเชิงกับคนที่กำลังพยายามเคลื่อนไหวในไทยทุกวันนี้ เพื่อคัดค้านทหารในเรื่องปากท้องและเรื่องรูปธรรมหลายๆ เรื่อง ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายการสร้างกระแสล้มเผด็จการ

 

ทั้งหมดนี้เป็นการถกเถียงทางการเมืองระหว่างสามคนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศไทย หวังว่าที่นำเสนอให้อ่านครั้งนี้จะช่วยชวนให้ท่านผู้อ่านคิดต่อและมีความเห็นของตนเอง