วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี ๒๕๔๐ และผลกระทบทางการเมือง

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

วิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ที่ก่อตัวขึ้นในปี ๒๕๔๐ มีผลกระทบกับสังคมไทยไม่น้อย และเป็นต้นกำเนิดของวิกฤติการเมืองไทยที่ยังดำรงอยู่ถึงวันนี้

ในระยะสั้นธนาคารโลกรายงานว่าในปี ๒๕๔๓ จำนวนคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจนมีทั้งหมด 13 ล้านคน ในต้นปี ๒๕๔๑ อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับโดยเฉลี่ยลดลง 12.6% และ ชั่วโมงการทำงานลดลง 4.4% ซึ่งมีผลทำให้รายได้จริงของพลเมืองลดลงถึง 19.2% สภาพเช่นนี้ถูกสะท้อนในความไม่พอใจของคนงานหลายส่วน และโรงงานแห่งหนึ่งถูกเผาเพื่อเป็นการประท้วงนายจ้าง

เมื่อรัฐบาล ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลดค่าเงินบาท และปิดบริษัทไฟแนนส์ที่ล้มละลาย ม็อบคนรวยที่หวงเงินออมและทรัพย์สินของตนเอง ก็ออกมาปิดถนนสีลมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก พวกนี้ไม่ได้ถูกตำรวจไล่ตีเหมือนม็อบคนงานที่เคยปิดถนนบางนา-ตราดเพื่อประท้วงนายจ้าง และคนรวยบางคนไม่เคยมีประสบการณ์ในการไปร่วมม็อบซึ่งต้องทนแดดทนฝน เขาจึงต้องพาคนรับใช้มาบริการน้ำเย็นให้

ในขณะเดียวกันกษัตริย์ภูมิพล เศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศ ก็ออกมาพยุงชนชั้นปกครอง โดยเสนอแนว “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อโยนความผิดให้ประชาชนธรรมดาที่กษัตริย์มองว่า “ไม่รู้จักพอ” แต่ในความจริงประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยมีพอ คนที่ไม่รู้จักพอคือพวกนายทุน เศรษฐี และคนรวยต่างหาก

สำนักแนวคิดเศรษฐกิจชุมชนของนักวิชาการและเอ็นจีโอบางส่วน มีส่วนคล้ายคลึงกับแนวพอเพียง เพราะจุดเด่นคือเน้นว่าวิกฤติเศรษฐกิจเกิดจาก “ลัทธิบริโภคนิยม” และพูดถึง “การบริโภคในระดับเกินควร” เราต้องมองว่าแนวนี้เป็นแนวปฏิกิริยาที่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยที่ยังยากจน มันเป็นความฝันที่จะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่ไม่เคยมีในอดีต และเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นเพื่อไม่ให้เราโทษการกระทำของนักธุรกิจคนรวยกลุ่มเล็กๆ ที่นำเศรษฐกิจไปสู่ความหายนะ

ในการอธิบายต้นเหตุของวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” เราไม่ควรไปให้ความสำคัญกับพวกปัญญาอ่อนที่โทษรัฐบาลชวลิต หรือคนที่มองว่า “ความเป็นไทย” และการคอร์รับชั่นแบบไทยๆ เป็นต้นเหตุ และไม่ควรให้ความสำคัญกับแนวพอเพียง แต่มันมีสำนักความคิดทางเศรษฐกิจหลายสำนักที่พยายามอธิบายสาเหตุของวิกฤติที่เราควรศึกษา

สำนัก “เสรีนิยม” เสนอว่าการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจตั้งแต่ยุครัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของ อานันท์ ปันยารชุน หรือก่อนหน้านั้นอีกภายใต้ ชาติชาย ชุณหวัณ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ โดยดึงการลงทุนเข้ามา และลดการควบคุมธนาคาร พวกเสรีนิยมอย่างเช่น อัมมาร สยามวาลา มองว่าเป็นเรื่องดี แต่มีการวิจารณ์ว่าการกำกับดูแลไม่มีประสิทธิภาพพอ ดังนั้นสำนักนี้เสนอว่าถ้าจัดระบบการควบคุมการลงทุนให้ดีขึ้นจะแก้ปัญหาได้ นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมคนอื่น อย่างเช่น รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ หรือ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมฝ่ายขวาตกขอบบางคน สรุปว่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยเกิดจากการที่คนงานไทยมีค่าแรงสูงเกินไปจนไทยแข่งขันในตลาดโลกต่อไปไม่ได้ พีเทอร์ วอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย เสนอว่าค่าแรงของคนงานไทย “สูงเกินไป” ทั้งๆ ที่คนงานไทยยากจนและมีรายได้ต่ำกว่านักวิชาการทุกคน ดังนั้นรัฐบาลประชาธิปัตย์ของ ชวน หลีกภัย จึงกดค่าแรงขั้นต่ำไม่ให้มีการปรับขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ ในขณะเดียวกันมีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อปกป้องเงินออมของคนรวย

โดยรวมสำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมมักจะเสนอว่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจไทยมาจากการที่มีการเปิดเสรีไม่พอในระยะยาว เขามักเสนอเป็นประจำให้เร่งรีบเปิดเสรีมากขึ้นเพื่อให้กลไกตลาดกำหนดทุกอย่างโดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐแต่อย่างใด แต่ในรูปธรรมนักเสรีนิยมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ขององค์กร ไอเอ็มเอฟ หรือนักเศรษฐศาสตร์ไทย ก็ล้วนแต่หน้าไหว้หลังหลอกในเรื่องบทบาทของรัฐทั้งสิ้น เพราะขณะที่เสนอให้มีการลดบทบาทรัฐในเรื่องสวัสดิการหรือการควบคุมมาตรฐานการจ้าง ก็เสนอให้รัฐเข้ามาใช้ภาษีประชาชนเพื่ออุ้มระบบหนี้เสียของสถาบันการเงินเอกชน

สำนัก “ชาตินิยม-เคนส์” เสนอว่าการเปิดประเทศมากเกินไปทำให้เกิดการพึ่งพาระบบโลกาภิวัตน์มากเกินควร วอลเดน เบโล จากฟิลิปปินส์ มีความเห็นว่ารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ “หาทางลัด” ของไทยที่เน้นการลงทุนจากภายนอกเพื่อผลิตส่งออกสู่ตลาดโลก มีข้อเสียที่ก่อให้เกิดวิกฤติเพราะพึ่งพาทุนจากต่างประเทศและระบบตลาดเสรีในโลกภายนอกมากเกินไป ดังนั้น เบโล จึงเสนอให้รัฐไทยควบคุมการเคลื่อนย้ายทุนและระดมทุนภายในมาใช้ในการเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจสำนักความคิดชาตินิยมกู้ชาติต้องถือว่ามีเสียงมากที่สุดในหมู่พวกที่คัดค้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มบัณฑิตไทย” “โครงการหนังสือวิถีทรรศน์” “กลุ่มบางจาก” หรือ “เสรีไทยใหม่” นักเขียนที่มีชื่อเสียงในกลุ่มเหล่านี้มีคนอย่าง ยุค ศรีอาริยะ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กัญญา ลีลาลัย และ พิทยา ว่องกูล พวกนี้เสนอให้ปิดประเทศระดมทุนจากภายในเป็นหลัก นโยบายแบบนี้ซึ่งอาจเคยใช้พัฒนาประเทศได้ในยุคอดีต ที่มีการเคลื่อนย้ายทุนและการแข่งขันทั่วโลกน้อยกว่าปัจจุบัน ล้มเหลวและใช้ไม่ได้อีกแล้ว กรณีนโยบายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์สายสตาลินของประเทศในยุโรปตะวันออกและจีนเป็นตัวอย่างที่ดีของความล้มเหลวของแนวนี้

ในหมู่พวกกู้ชาติที่สุดขั้วที่สุดมีการเสนอว่าวิกฤตินี้เป็นแผนร้ายของสหรัฐอเมริกาที่จะทำลายเศรษฐกิจเอเซีย แต่ข้อเสนอนี้ไม่มีน้ำหนักแต่อย่างใดในเมื่อผู้นำสหรัฐเองเกรงกลัวผลกระทบของวิกฤติเอเซียที่อาจมีกับเศรษฐกิจสหรัฐ

พวกชาตินิยมเหล่านี้ไม่ปฏิเสธระบบทุนนิยมเลย และเสนอให้สร้างระบบทุนนิยมของ “ประชาชนไทย”เพื่อสกัดกั้นนายทุนต่างชาติ แต่ในรูปธรรมแนวนี้ให้ประโยชน์กับนายทุนไทยมากกว่าชนชั้นอื่นทุกชนชั้น ดังนั้นในการพยายามปลุกระดมมวลชนที่ไม่ใช่นายทุน สำนักชาตินิยมจำต้องหยิบยกนิยายจากอดีตเพื่อสร้างความงมงายในหมู่ประชาชน เช่นมีการเอ่ยอ้างถึงบทบาทของพระนเรศวรหรือพระเจ้าตากสินในการกู้ชาติ

ข้อเสนอของสองสำนักคิดหลักข้างต้น มีข้อเสียคือ เพียงแต่มองปัญหาเฉพาะหน้าและอาการของวิกฤติในระบบทุนนิยมเท่านั้น ไม่สามารถเจาะลึกถึงสาเหตุหรือต้นปัญหาของวิกฤติไทยได้ การมองปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหารายละเอียดปลีกย่อยของวิกฤติหนึ่งไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเข้าสู่วิกฤติเป็นประจำ ทั้งๆ ที่อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันในยุคต่างๆ เช่นในประเทศที่มีการควบคุมการลงทุนโดยรัฐ หรือประเทศที่มีการเปิดเสรีภายใต้การตรวจสอบก็ยังเกิดวิกฤติได้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นสำนักแนวคิดที่เน้นแต่ปัญหาที่มาจากการหลั่งไหลเข้าออกของทุนโดยไม่มีการควบคุมดูแล ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมในเศรษฐกิจไทยมีการทุ่มเทเงินในภาคอสังหาริมทรัพย์แต่แรก จนเกิดสภาพฟองสบู่ และทำไมพอถึงจุดๆ หนึ่งมีการถอนทุนออกจากประเทศไทยอย่างรวดเร็ว

สำนักเสรีนิยมมีข้ออ่อนด้อยมหาศาลเพราะไม่มีมาตรการอะไรเลยที่จะใช้แก้ปัญหาวิกฤติเรื้อรังของระบบทุนนิยมตลาดเสรี นอกเหนือจากการเพิ่มอัตราการขูดรีดแรงงานเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น

ในรูปธรรมแนวทางปิดประเทศและระดมทุนภายในเป็นแนวที่ยังไม่ปฏิเสธระบบทุนนิยม ดังนั้นประเทศที่ใช้นโยบายแบบนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ อย่างไทยที่มีตลาดและทรัพยากรจำกัด การระดมทุนจากภายในประเทศแทนที่จะอาศัยทุนมหาศาลและเทคโนโลจีที่เคลื่อนไหวอยู่รอบโลกในยุคนี้ เป็นแนวทางที่สร้างความเสียเปรียบกับประเทศเพราะการระดมทุนในรูปแบบนี้ใช้ต้นทุนสูง ค่าใช้จ่ายสูง ไม่สามารถใช้เทคโนโลจีที่ทันสมัยที่สุด และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเป็นแนวที่อาศัยการระดมทุนจากการขูดรีดแรงงานที่ยากจนภายในประเทศในอัตราสูงขึ้น

สำนักมาร์คซิสต์ อธิบายว่ากลไกการทำงานของระบบทุนนิยม ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญที่มาจากการแข่งขันกอบโกยกำไรในระบบตลาด ทำให้เกิดสองเหตุการณ์ที่นำไปสู่วิกฤติคือ (1)แนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร ที่มาจากการแข่งขันกันลงทุนในตลาดเสรี ซึ่งมีผลทำให้การลงทุนในเครื่องจักรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับการลงทุนในการจ้างงาน และในที่สุดนำไปสู่การชะลอการลงทุนใหม่ในภาคการผลิตหรือภาคบริการ (2)การผลิตล้นเกินในตลาดและการลงทุนล้นเกินในขณะที่ความต้องการแท้ของมนุษย์ยังมีอยู่

ในวิกฤตต้มยำกุ้ง การลดลงของอัตรากำไรในภาคอุตสาหกรรมส่งออกของไทย และการผลิตล้นเกินในตลาดโลก ทำให้มีการแสวงหากำไรจอมปลอมจากการปั่นหุ้นและการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดปรากฏการณ์ฟองสบู่

แนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรที่ก่อให้เกิดการย้ายการลงทุนไปสู่การปั่นหุ้นในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะเห็นจากงานวิจัยของ เจมส์ กลาสแมน เพราะตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ อัตรากำไรในภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มลดลงจากหน่วยอัตราส่วน 0.53 เหลือ 0.37 ในปี ๒๕๓๙ และถ้าพิจารณาภาพรวมระยะยาวของเศรษฐกิจไทยจะพบว่าสัดส่วนมูลค่าผลผลิตต่อต้นทุนในประเทศไทยลดลงจาก 0.83 ในปี ๒๕๑๓ เหลือแค่ 0.65 ในปี ๒๕๓๙ ซึ่งสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของราคาการลงทุนในเครื่องจักร

รายงานเศรษฐกิจของบริษัทเอกชนในเครือธนาคารกสิกรไทยและรายงานของธนาคาร “ไอเอนจีแบริ่งส์” ก็สนับสนุนข้อเสนอว่ามีการผลิตล้นเกินและการลดลงของอัตรากำไรอย่างทั่วถึง เช่นในภาคน้ำมัน โทรคมนาคม เหล็ก และกระดาษเป็นต้น

เมื่อเราสำรวจเหตุผลของวิกฤติเศรษฐกิจไทยที่ถูกเสนอโดยสำนักแนวความคิดต่างๆ และมาเปรียบเทียบกับแนวมาร์คซิสต์ แทนที่ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจของมาร์คซ์จะหมดสมัย จะเห็นได้ว่าลัทธิของฝ่ายทุนนิยมต่างหากที่ไม่สามารถอธิบายโลกปัจจุบันและวิกฤติของทุนนิยมได้

ทางออกสำหรับกรรมาชีพไทยที่มุมมองมาร์คซิสต์เคยเสนอคือ ในระยะสั้นจะต้องร่วมต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นการต่อสู้เพื่อยับยั้งการตกงาน การต่อสู้เพื่อยับยั้งการกดค่าแรง หรือการต่อสู้เพื่อยับยั้งการทำลายสวัสดิการ แต่ในระยะยาว ถ้าเราจะแก้ปัญหาที่มาจากระบบทุนนิยมเราต้องเริ่มการต่อสู้เพื่อนำระบบสังคมนิยมเข้ามาแทนทุนนิยม เราต้องเริ่มการต่อสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐมาเป็นของมวลชนกรรมาชีพ แทนที่จะปล่อยให้อยู่ในกำมือของนายทุนและนายทหารผู้เป็นคนส่วนน้อยของสังคม การต่อสู้เปลี่ยนแปลงสังคมทุกครั้งต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงเสมอ เราต้องรู้จักประเมินพลังแท้ของฝ่ายเรา และต้องเลือกเครื่องมือในการเปลี่ยนสังคม สำหรับนักลัทธิมาร์คซ์ เครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมคือชนชั้นกรรมาชีพ และพรรคสังคมนิยม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ เราจะทำอย่างไรให้ชนชั้นกรรมาชีพไทยเข้มแข็ง และเราจะจัดตั้งพรรคอย่างไร

นโยบายแก้ปัญหาจากวิกฤติต้มยำกุ้งของรัฐบาลไทยรักไทย หลังชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ รัฐบาลทักษิณได้ใช้แนวเศรษฐกิจผสมเพื่อแก้ปัญหา คือในระดับที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกมีการใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด แต่รัฐนำการลงทุนภายในเพื่อพัฒนาเทคโนโลจีและสาธารณูปโภคให้ทันสมัย รวมถึงการสร้างระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า เพื่อเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทยในการแข่งขัน และเพื่อพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในขณะเดียวกันในระดับชุมชนและหมู่บ้าน มีการลงทุนโดยรัฐในการสร้างงาน นี่คือสิ่งที่ไทยรักไทยเรียกว่า “นโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน” คือผสมแนวเสรีนิยมกับแนว “เคนส์รากหญ้า”

นโยบายดังกล่าวมีส่วนในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน มันเป็นมาตรการเฉพาะหน้า แต่มันไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื้อรังของระบบทุนนิยมทั่วโลกที่มีปัญหาวิกฤติเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามผลของการใช้นโยบายดังกล่าวสร้างคะแนนนิยมให้กับทักษิณและพรรคไทยรักไทยจนส่วนอื่นๆ ของชนชั้นปกครองไทย โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยม และคนชั้นกลางส่วนใหญ่ เริ่มไม่พอใจกับการเมืองประชาธิปไตยแบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเสียงของเกษตรกรและกรรมาชีพ ผ่านการพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ และในที่สุดก็นำไปสู่วิกฤติการเมืองและการปกครองภายใต้เผด็จการทหาร

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2t6CapR  เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจต้อมยำกุ้ง (บทที่ 12)  http://bit.ly/2v6ndWf   เรื่องวิกฤติทุนนิยมตามแนวคิดมาร์คซิสต์ และ http://bit.ly/2tWNJ3V เรื่องแนวเสรีนิยม