ศาลเตี้ยไทยสร้างมาตรฐานใหม่ของความอยุติธรรม

ใจ อึ๊งภากรณ์

ศาลเตี้ยไทย หมาเลี้ยงของเผด็จการ ได้สร้างมาตรฐานใหม่อันเลวทรามของความอยุติธรรม การจำคุกอดีตรัฐมนตรีและนักการเมืองหลายคนเป็นเวลา 30-40 ปี ในคดีจำนำข้าว นับว่าเป็นการลงโทษทางการเมือง และสาเหตุหลักไม่ใช่เรื่องการกำจัดคอร์รับชั่น แต่เป็นความพยายามที่จะกำจัดนักการเมืองฝ่ายไทยรักไทย/เพื่อไทยต่างหาก ยิ่งกว่านั้นมันเป็นการพยายามฟันธงว่ารัฐบาลในอนาคตจะต้องไม่ใช้งบประมาณเพื่อช่วยประชาชนคนจนอีกด้วย

นักการเมืองที่เผด็จการมือเปื้อนเลือดของไอ้ยุทธ์ไม่ชอบ ถูกลงโทษร้ายแรงกว่าฆาตกรสามัญสามถึงสี่เท่า

แต่สำหรับฆาตกรรายใหญ่ที่สั่งฆ่าประชาชน ไม่ต้องติดคุกเลย ทุกวันนี้ประยุทธ์ อภิสิทธิ์ และสุเทพ ยังลอยนวล

นักศึกษา และนักเคลื่อนไหวธรรมดา ติดคุกเป็นสิบๆ ปี เพราะแค่เห็นต่างกับเผด็จการ หรือเพราะแค่แสดงออกและพูดความจริง

แต่สำหรับคนที่ใช้กำลังอาวุธในการยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ และทำลายประชาธิปไตย คือพวกแก๊งทหารปัจจุบัน ยังไม่มีการลงโทษใครเลย และอันธพาลที่ทำลายการเลือกตั้ง คือพวกแก๊งประชาธิปัตย์และสลิ่ม ก็ไม่มีการลงโทษอะไรเลย

นักวิชาการและสื่อมวลชนที่พยายามพูดหรือเขียนความจริง โดนข่มขู่ตลอดเวลา แต่คนที่แต่งตั้งตนเองเป็นผู้นำประเทศหลังรัฐประหาน จะแหกปากพูดเท็จได้ทุกวัน และแถมไม่อายใครอีกด้วย

เรื่องคอร์รับชั่นกลายเป็นคำที่ไม่มีความหมาย เพราะเมื่อทหารคอร์รับชั่น เมื่อทหารกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋า หรือใช้เงินของพวกเราในจำนวนมหาศาลเพื่อซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็น เช่น รถถัง เครื่องบิน หรือเรือดำน้ำ โดยไม่มีความโปร่งใสตามกระบวนการประชาธิปไตยแต่อย่างใด มันลอยนวลเสมอ ในขณะที่โครงการจำนำข้าวที่ช่วยชาวนากลายเป็นการคอร์รับชั่น

นอกจากเรื่องสองมาตรฐานของศาลเตี้ยแล้ว ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสิบปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าฝ่ายทหาร ประชาธิปัตย์ และสลิ่มชนชั้นกลาง เป็นศัตรูของคนทำงานธรรมดา ชาวไร่ชาวนา และยากจน มันเป็นการแสดงความเกลียดชังทางชนชั้น เกลียดคนธรรมดา และเกลียดนักการเมืองที่พยายามช่วยคนจนและครองใจคนส่วนใหญ่ได้

ถ้าท่านไม่อยากใช้ชีวิตภายใต้ระบอบเผด็จการปัจจุบันนี้ เราต้องตั้งสติ มองความจริง และเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ระบอบเผด็จการไม่เคยหายไปเอง แต่จะถูกล้มโดยพลังประชาชนที่รวมตัวกันเอง การรวมตัวต้องมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบอย่างที่เราเคยทำสมัยก่อน เราต้องเรียนรู้จากการล้มเผด็จการในยุค ๑๔ ตุลา การต่อสู้ของ พคท. และการต่อสู้ในช่วงพฤษภา ๓๕ เราต้องสรุปจุดเด่นจุดด้อย โดยเฉพาะการไปหวังพึ่ง “ผู้ใหญ่” ที่เป็นนักการเมืองอย่างทักษิณ หรือคนที่ตั้งตัวเป็นผู้นำเดี่ยวอย่างจำลอง และเราต้องจัดตั้งภายใต้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่ายุค พคท.

การที่ยิ่งลักษณ์ออกจากประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการติดคุก ในระบบที่ขาดความยุติธรรม เป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ แต่คนที่ “ผิดหวัง” หรือ “ฝัน” เพราะไปตั้งความหวังว่าทักษิณหรือยิ่งลักษณ์จะนำการต่อสู้ ควรจะตื่นได้แล้ว เพราะมันมีการแช่แข็งการต่อสู้โดยนักการเมืองเศรษฐีเหล่านี้มานาน แถมเผด็จการทหารอาจปล่อยให้ยิ่งลักษณ์ออกจากประเทศเพื่อลดพลังในการต่อสู้โดยคนรากหญ้าอีกด้วย

สักวันหนึ่ง ถ้าไทยจะมีความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพ เราต้องจับพวกที่หนีความยุติธรรมทั้งหลายเข้าคุก เช่นประยุทธ์ อภิสิทธ์ สุเทพ และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเผด็จการและการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืด แต่ถ้าเราจะทำเราต้องมีพลัง พลังนั้นจะมาจากพลังของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนธรรมดา

ประเด็นคือเราจะทนอยู่ในสังคมภายใต้ระบอบกะลาแลนด์ ทนเป็นทาส ทนเป็นพลเมืองชั้นสอง หรือจะลุกขึ้นสู้และให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการล้มเผด็จการหรือไม่ แค่เป็นกองเชียร์ให้กลุ่มคนเล็กๆ หรือปัจเจกกล้าหาญ ที่ออกมาแสดงจุดยืนแล้วโดนจับมันไม่พอ

รัฐทุนนิยมไทยและระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

 ถ้าเราจะเข้าใจว่าทำไมนักมาร์คซิสต์นิยามรัฐรวมศูนย์ภายใต้การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัชกาลที่ ๕ ว่าเป็นรัฐทุนนิยม เราจะต้องมาทำความเข้าใจกับศัพท์สำคัญทางรัฐศาสตร์สองคำคือ “ทุนนิยม” และ “รัฐ”

ทุนนิยม

ในหนังสือ ว่าด้วยทุน คาร์ล มาร์คซ์ ได้นิยามระบบทุนนิยมว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญที่พอจะสรุปเป็นสูตรได้ดังนี้คือ

เงิน สินค้า เงิน…. (หมุนเวียนไปเรื่อยๆ)

ซึ่งถ้าเราจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ มีการลงทุน(ด้วยเงิน) เพื่อผลิตสินค้า เพื่อขายให้ได้เงินทุนกลับมา เพื่อลงทุนต่อไป…. และแน่นอนไม่มีใครจะมาลงทุนเพื่อได้ทุนกลับมาเท่าเดิม ต้องมีการเพิ่มมูลค่าของทุนในรูปแบบกำไร ที่มาจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานของลูกจ้างผู้ผลิตสินค้านั้นๆ

ระบบเศรษฐกิจในยุครัชกาลที่ ๕ มีแนวโน้มไปในรูปแบบการลงทุนเพื่อการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบของระบบทุนนิยมมากกว่าระบบศักดินา

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งกับระบบทุนนิยมก็คือ ต้องมีการจ้างแรงงานของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อได้มาซึ่งมูลค่าส่วนเกินหรือกำไร แต่แรงงานรับจ้างเป็นแรงงานที่เลือกที่จะทำงานที่ไหนก็ได้ เรียกว่า “แรงงานเสรี” ต่างจากแรงงานบังคับของไพร่และทาสในระบบศักดินา และถ้ามีแรงงานรับจ้างก็ต้องมีชนชั้นนายทุนผู้เป็นนายจ้าง นี่คือที่มาของการเลิกทาส เลิกไพร่

เงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญสำหรับการรองรับอำนาจของนายทุน คือความสามารถในการคุมระบบการผลิต โดยการคุมปัจจัยการผลิตและทุน ส่วนลักษณะ รูปร่าง ยศศักดิ์ ของนายทุนเป็นเรื่องรอง ดังนั้นชนชั้นนายทุนในระบบทุนนิยมจะมีหลายรูปแบบเช่น นายทุนเอกชน นายทุนรัฐข้าราชการ หรือนายทุนกษัตริย์ ก็ได้

คาร์ล มาร์คซ์ ในงานเขียนเกี่ยวกับอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในสมัยกษัตริย์ เฮนรี่ที่ ๘ ของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ปกครองในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “ลักษณะตำแหน่งยศศักดิ์ของเฮนรี่และที่ดินของผู้ครองที่ดินรายใหญ่ในสมัยนั้น มีลักษณะแบบทุนนิยม ไม่ใช่แบบฟิวเดิล” ลักษณะของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยก็มีลักษณะทุนนิยมเช่นเดียวกัน และมีนักวิชาการหลายคนยอมรับว่าสถาบันกษัตริย์ไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพฤติกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนการทำธุรกิจนายทุนโดยใช้พระคลังข้างที่ หรือ สถาบันทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นหน่วยธุรกิจ

ผาสุก พงษ์ไพจิตร อธิบายว่า:

พระองค์ทรงนำประเทศไทยในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์นักธุรกิจ

กล่าวคือพระองค์ทรงเข้าร่วมลงทุน โดยผ่านพระคลังข้างที่ กับนักลงทุน

ชาวต่างประเทศ และลงทุนกิจการอสังหาริมทรัพย์อย่างแข็งขันลงทุน

ซื้อขายที่ดิน พัฒนาที่ดินย่านการค้าสำคัญเป็นตลาดหลวง และต่อมาเป็น

ตลาดพระคลังข้างที่ ทั้งยังทรงลงทุนสร้างห้องแถว

ในคำจำกัดความของคำว่า “รัฐ” ของ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เขาได้อธิบายว่า “อำนาจของรัฐสมัยใหม่ เป็นแต่เพียงคณะกรรมการจัดการธุรกิจร่วมกันของชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นนั้นเอง” ส่วน เลนิน อธิบายเพิ่มในหนังสือ รัฐกับการปฏิวัติ ว่า “รัฐเป็นเครื่องมือสำหรับขูดรีดชนชั้นผู้ถูกกดขี่” โดยที่รัฐใช้อำนาจในรูปแบบกองกำลังพิเศษของผู้ติดอาวุธ ทหารและตำรวจ คุก และศาล

นักวิชาการมาร์คซิสต์ชื่อ ฮาร์แมน จากอังกฤษได้กำหนดภาระหน้าที่หลักของรัฐทุนนิยมไว้ดังนี้

  • การจัดสรรแรงงานเสรีที่มีการศึกษาและฝีมือเพื่อเป็นแรงงานรับจ้าง
  • การจัดสรรกฏหมายธุรกิจ กฏหมายกรรมสิทธิ์ และระบบเงินตรา ที่เป็นมาตรฐานทั่วประเทศ
  • ปกป้องธุรกิจของนายทุนภายในประเทศจากการแข่งขันจากธุรกิจภายนอก และปัญหาการล้มละลาย
  • จัดสรรกองกำลังติดอาวุธเพื่อปกป้องผลประโยชน์นายทุน

จากงานการวิจัยของ ไชยันต์ รัชชกูร เรื่องระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้รัชกาลที่ ๕ เราจะเห็นได้ว่าการปฏิวัติรัฐที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น มีผลต่อความสามารถในการรับภาระหน้าที่ทั้งสี่ประการของรัฐทุนนิยม

รัฐรวมศูนย์ของรัชกาลที่ ๕ จึงมีกฏเกณฑ์เป็นมาตรฐานที่ใช้ได้ทั่วประเทศและเป็นการสร้าง “รัฐชาติ” ของ “ประเทศไทย” เป็นครั้งแรก

การปฏิวัติทุนนิยม (Bourgeois Revolution) แบบนี้ ที่นำโดยชนชั้นปกครอง ในสถานการณ์ที่อำนาจภายนอกเข้ามาคุกคาม เกิดขึ้นในลักษณะคล้ายกันในญี่ปุ่นสมัยการปฏิวัติเมจิ (Meiji Restoration) และถึงแม้ว่าไม่ใช่การปฏิวัติจากส่วนล่างของสังคม อย่างที่เกิดขึ้นในอังกฤษหรือฝรั่งเศส แต่มีผลเหมือนกันคือเป็นการปูทางไปสู่ระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบทุนนิยม

การปฏิวัติของชนชั้นนายทุนกระฎุมพีในไทย กระทำขึ้นก่อนหน้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ กว่า 60 ปี โดยเป็นการกระทำของรัชกาลที่ ๕ และการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการทำลายระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบทุนนิยมที่รัชกาลที่ ๕ เคยสร้างขึ้น เพื่อเดินหน้าต่อไปและสร้างระบบการปกครองแบบรัฐธรรมนูญภายใต้ทุนนิยม

อ่านบทความเต็มที่ http://bit.ly/2ry7BvZ

เราควรมีท่าทีอย่างไรต่อคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์?

ใจ อึ๊งภากรณ์

บทความนี้ไม่ได้เขียนเพื่อให้สลิ่มอ่าน ถ้าสลิ่มอ่านมันจะเป็นการสีซอให้ควายฟัง เพราะสลิ่มไม่สนใจความยุติธรรมหรือประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่บทความนี้เขียนเพื่อแลกเปลี่ยนกับฝ่ายประชาธิปไตยและคนที่เป็นเสื้อแดงในอดีต ผมใช้คำว่า “อดีต” เพราะขบวนการเสื้อแดงโดนแช่แข็งโดยนักการเมืองเพื่อไทยและทักษิณจนหมดสภาพไปแล้ว

ผมคงจะไม่เสนออะไรใหม่ถ้าผมฟันธงว่าคดีจำนำข้าว ที่เผด็จการมือเปื้อนเลือดริเริ่ม เป็นคดีการเมืองเพื่อทำลายนักการเมืองอย่างยิ่งลักษณ์ เพราะนั้นคือเจตนาของพวกโจรที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจมาแต่แรก

การโทษยิ่งลักษณ์ว่าต้องรับผิดชอบต่อปัญหานโยบายจำนำข้าวนั้น มีเหตุผล แต่ไม่ใช่ตามเหตุผลปลอมของศาลหรือเผด็จการ คนที่ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจในบ้านเมืองควรรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในนามของรัฐบาลหรือในนามขององค์กรที่ตนคุมอยู่ ดังนั้นประยุทธ์และอภิสิทธิ์ต้องรับผิดชอบต่อการเข่นฆ่าคนเสือแดง ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงกว่าปัญหาการจำนำข้าวหลายพันเท่า

ทุกคนทราบดีว่าถ้ามีการคอร์รับชั่นในบางส่วนของโครงการจำนำข้าว ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มีส่วนได้ประโยชน์จากการคอร์รับชั่นนี้แต่อย่างใด แต่การคอร์รับชั่นภายใต้เผด็จการประยุทธ์ มีหลายกรณีที่เพื่อฝูงและญาติประยุทธ์ได้ประโยชน์

การรับผิดชอบต่อสิ่งที่คนอื่นทำเวลาตัวเองดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนใหญ่แล้ว ในประเทศประชาธิปไตย จะปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินในวันเลือกตั้ง บางครั้งนักการเมืองอาจโดนกดดันให้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบก็ได้

ถ้ายิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบทางกฏหมาย คือโดนยึดทรัพย์ หรือโทษอื่นๆ จากการคอร์รับชั่นของคนอื่นในสมัยที่เป็นนายก ประยุทธ์ก็ควรถูกยึดทรัพย์และลงโทษจากการคอร์รับชั่นที่เกิดขึ้นในยุคนี้ โดยเฉพาะการคอร์รับชั่นในกองทัพ รวมถึงการไปเที่ยวต่างประเทศของทหารภายใต้ข้ออ้างว่า “ไปดูงาน”

และนี่ไม่รวมถึงโทษที่ประยุทธ์ควรจะได้รับจากการทำรัฐประหาร ทำลายประชาธิปไตย และละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง

ในแง่หนึ่งผมไม่สนใจว่าเศรษฐีตระกูลชินวัตร จะโดนยึดทรัพย์หรือไม่ เพราะผมสนใจสภาพชีวิตของประชาชนผู้ทำงานธรรมดาๆ มากกว่า พวกเราไม่ใช่เศรษฐี และพวกเรากังวลตลอดชีวิตในเรื่องความมั่นคงของรายได้ และนี่คือสาเหตุที่ผมสนับสนุนนโยบายจำนำข้าวที่ช่วยเกษตรกร ผมไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการเสรีนิยมกลไกตลาด ที่วิจารณ์การใช้งบประมาณรัฐในการช่วยประชาชน ถ้าโครงการจำนำข้าวขาดทุนเพราะช่วยเกษตรกรก็เป็นเรื่องดี และไม่ขาดทุนจริงเพราะได้กำไรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร พวกนักวิชาการเสรีนิยมเหล่านี้ไม่เคยวิจารณ์การใช้เงินของชาติในการซื้ออาวุธ เครื่องบิน รถถัง หรือเรือดำน้ำให้ทหารเลย

มันมีอีกเรื่องที่เราต้องพิจารณากัน ยิ่งลักษณ์และนักการเมืองพรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะอยากเห็นประชาชนออกมาให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ในจำนวนมาก

ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้รักยิ่งลักษณ์หรือทักษิณ และทั้งๆ ที่พวกนี้ไม่เคยสนใจประเด็น 112 หรือนักโทษการเมืองจำนวนมากที่มีอยู่ และพร้อมจะนิรโทษกรรมตนเองกับพวกมือเปื้อนเลือด โดยไม่สนใจที่จะนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง 112 และยกเลิกกฏหมายเถื่อน 112 แต่อย่างใด แต่ผมเสนอว่าเราควรจะยินดีกับการระดมมวลชนเพื่อสนับสนุนยิ่งลักษณ์ ถ้ามันเกิดขึ้นจริง เพราะมันอาจปลุกกระแสที่พัฒนาไปสู่การล้มเผด็จการได้ และนักประชาธิปไตยหรือนักสังคมนิยมควรเป็นส่วนหนึ่งของกระแสมวลชนแบบนี้… ถ้ามันเกิดจริง…และมันไม่มีหลักประกันว่าจะเกิด แต่เราควรช่วยให้มันเกิดโดยไม่ต้องไปอวยตระกูลชินวัตร

บ่อยครั้งการต่อสู้จะเกิดขึ้นในบริบทที่เราไม่ได้เลือก การนิ่งเฉยเพราะกระแสที่เกิดไม่บริสุทธ์พอ เช่นเพราะเต็มไปด้วยคนที่รักยิ่งลักษณ์ เป็นความผิดพลาดทางการเมืองและเป็นการเล่นพรรคเล่นพวกแบบคับแคบ

เราควรเป็นส่วนหนึ่งของกระแสมวลชนที่ไม่พอใจกับพฤติกรรมของเผด็จการต่อยิ่งลักษณ์ เพราะมันเป็นโอกาสทองที่เราจะเสนอว่ากระแสนี้ควรจะไปไกลกว่าแค่การปกป้องยิ่งลักษณ์ คือพัฒนาไปสู่การล้มทหารเผด็จการ การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน และการยกเลิก 112 เป็นต้น ถ้าเรางอมืองอเท้าหันหลังให้กระแส เราจะไม่สามารถเสนอสิ่งเหล่านี้ต่อมวลชนได้ และถ้าเราไม่จัดตั้งเป็นกลุ่มหรือพรรคการเมืองเสียงปัจเจกของเราจะน้อยนิดจนหายไปกับสายลมอีกด้วย

อ่านเพิ่มเรื่องเสรีนิยมกลไกตลาด http://bit.ly/2tWNJ3V 

จุฬาฯ สะท้อนลักษณะแย่ๆ ของสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

“ไอ้สัตว์ เนเน่อยู่ไหน”…ผศเรืองวิทย์ บรรจงรัตน์ ตะโกนพร้อมเดินตรงเข้าล็อคคอนักศึกษา นี่คือพฤติกรรม ของอันธพาลสลิ่มที่มีตำแหน่งเป็น “อนาจาร” มหาวิทยาลัยที่ชอบอวดชาวไทยว่ามุ่ง “สู่ความเป็นเลิศ”

คนอย่างเรืองวิทย์ และอาจารย์คนอื่นที่จุฬาฯ ที่อวยทหารและร่วมทำลายประชาธิปไตย หรือสนับสนุนระบบ SOTUS โดยไม่รู้จักเคารพนักศึกษา ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ชื่อเป็นหมา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ชี้ให้เห็นว่า “หมาวิทยาลัยจุฬา” และหลายมหาวิทยาลัยทั่วไทย เป็นแหล่งเพาะและผลิตซ้ำความคิดเผด็จการ

จากเหตุการณ์ที่พึ่งผ่านมา เราจะเห็นว่าผู้มีอำนาจในจุฬาฯ ทำผิดจรรยาบรรณการเป็นครูหลายข้อดังนี้

  1. ใช้คำหยาบคายกับนักศึกษา
  2. ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาถึงขั้นล็อคคอดึงผม
  3. ไม่ดูแลนิสิตนักศึกษาที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ โดยการบังคับให้ตากฝน และตากฝนโดยไร้เหตุผลด้วย

และที่สำคัญคือกิจกรรมนี้ไม่มีผลอะไรในด้านบวกกับการพัฒนานิสิตนักศึกษาให้เป็นปัญญาชนที่มีความสามารถในการคิดเอง กิจกรรมหมอบคลานเหมือนไม่ใช่คน ต่อรูปปั้นอดีตสองกษัตริย์ เป็นการผลิตซ้ำว้ฒนธรรมทาสใต้อำนาจเผด็จการ โดยเฉพาะเพราะสองกษัตริย์ที่มีรูปปั้นตรงนั้นมีพฤติกรรมที่มีปัญหา

นอกจากการเป็นกษัตริย์เผด็จการแล้ว รัชกาลที่ ๕ มีเมียเป็นร้อย ไม่เคารพเสรีภาพของสตรี และเมื่อเมียคนหนึ่งกำลังจมน้ำตาย ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยเพราะกลัวโดนประหารชีวิตอันเนื่องจากการแตะตัว “ทรัพย์สิน” ของเจ้า รัชกาลที่ ๕ มีผลในการพัฒนาก่อตั้งรัฐทุนนิยมไทยเป็นครั้งแรกก็จริง แต่ไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนไทย ทำเพื่อเพิ่มอำนาจตนเอง และการเลิกทาสเลิกไพร่ทำไปเพื่อลดระดับค่าจ้างและปัญหาการขาดกำลังงานในไทยต่างหาก

ส่วนรัชกาลที่ ๖ เป็นกษัตริย์ที่รักหมามากกว่าประชาชน พยายามกีดกันการเกิดประชาธิปไตย และหลังจากที่ตายไปแล้ว มีการพูดกันไปทั่วว่าใช้เงินสิ้นเปลืองและเป็นที่เกลียดชังของประชาชน ในแง่ดีกษัตริย์คนนี้ช่วยปูทางไปสู่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่ล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เนื่องจากการที่คนเกลียดชังกษัตริย์ไปทั่ว และการที่ใช้เงินสิ้นเปลืองจนทำให้ประเทศขาดเงินในช่วงก่อนที่ไทยจะเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลก

ดังนั้นการบังคับให้นิสิตและอาจารย์ใหม่ต้องไปแสดงความเคารพต่อสองกษัตริย์ เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ และพยายามบังคับไม่ให้นิสิตคิดเองเป็น มันเป็นการเชิดชูพฤติกรรมเลวทรามของกษัตริย์ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้เราเห็นทุกวันนี้ในตัวกษัตริย์คนใหม่ ในความจริงจุฬาฯ ควรสร้างรูปปั้นวชิราลงกรณ์ไว้ข้างๆ รูปปั้นสองกษัตริย์ด้วย

ผมด่าจุฬาฯ ว่าทำตัวเป็น “หมาวิทยาลัย” ทั้งๆ ที่ผมเคยเป็นอาจารย์ที่นั้น และเติบโตมาใกล้ชิดกับจุฬาฯ ในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ แต่ผมไม่เคยรักสถาบัน ไม่เคยร้องเพลงบ้าๆ เรื่องสีชมพู ผมเคารพนิสิตนักศึกษา และรักเพื่อนอาจารย์ที่มีความคิดก้าวหน้าต่างหาก

เวลาได้เป็นอาจารย์ใหม่ผมโดนบังคับให้เข้าไป “อบรม” แบบปัญญาอ่อนของจุฬาฯ ต้องยอมฟังอาจารย์ตี๋เล็ก อายุน้อยกว่าผม ล้อเลียนชื่อผมเพราะมีชื่อภาษาอังกฤษผสมไทย ตามที่พ่อแม่ผมตั้งให้ และในช่วงที่ผมสอนที่จุฬาฯ ก็มีหลายกรณีของอาจารย์ตี๋เล็กที่อยากเป็น “นายพลน้ำนม” ปรามนักศึกษาในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เช่นแต่งเครื่องแบบผิด ใส่รองเท้าแตะเข้าห้องสมุด หรือไม่ยอมเข้าห้องเชียร์ คนหนึ่งถึงกับด่านิสิตบนรถไฟBTSด้วย อาจารย์นายพลน้ำนมเหล่านี้ พอได้ตำแหน่งที่จุฬาฯ จะกระตือรือร้นที่จะทำตัวเป็นใหญ่เพื่อปกปิดความด้อยของตนเอง พวกนี้จมอยู่ในความคิด “ถึงตากูเป็นใหญ่แล้ว” เขาไม่สนใจที่จะเคารพและพัฒนาให้นิสิตคิดเอง ที่คณะรัฐศาสตร์คนแบบนี้ไม่อยากให้นิสิตเขียนเรียงความเชิงโต้แย้ง และใครเขียนอะไรในแนวที่ไม่ตรงกับความเห็นตนเองจะโดนหักคะแนน

หลังจากที่ผมสอนที่นั้นมาหลายปี ในที่สุดผมโดนคดี 112 เพราะผู้มีอำนาจในจุฬาฯ นำหนังสือ A Coup For the Rich ของผมไปให้ตำรวจ หนังสือขายดีเล่มนี้วิจารณ์การที่ทหารใช้แนวคิดกษัตริย์ในการให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร ๑๙ กันยา มันเป็นหนังสือที่ปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบสิบปีที่ผ่านมาทั่วประเทศไทยพิสูจน์ว่าในไทยไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ

แต่อย่าคิดว่าจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยอนุรักษ์นิยม นั้นเป็นการมองด้านเดียวที่ไม่ตรงกับหลักฐานประวัติศาสตร์ ในความเป็นจริงจุฬาฯ เป็นพื้นที่สมรภูมิรบระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ในประการแรกจิตร ภูมิศักดิ์ก็เรียนที่จุฬาฯ แต่โดนพวกล้าหลังโยนบก หลัง ๑๔ ตุลา นิสิตจุฬาฯ จากหลายคณะมีการตั้งกลุ่มฝ่ายซ้ายและหลายคนก็เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์หลัง ๖ ตุลา นอกจากนี้มีการล้มระบบ SOTUS ในช่วงนั้นด้วย ยี่สิบปีที่แล้วมีการเปิดสอนวิชามาร์คซิสต์ที่คณะรัฐศาสตร์เป็นครั้งแรก และตอนนี้มีการเลือกนักศึกษาก้าวหน้าเข้าสภานิสิตจุฬาฯ

ความจริงมหาวิทยาลัยแห่งนี้เพียงแต่สะท้อนลักษณะทั่วไปของสังคมไทย คือผู้มีอำนาจล้าหลังป่าเถื่อน สถาบันเต็มไปด้วยความเป็นชนชั้นและความไม่เท่าเทียม มีความเหลื่อมล้ำกับพลเมืองที่ไม่ใช่คนจุฬาฯ ด้วย แต่ในขณะเดียวกันมีผู้ที่กบฏต่อระบบเพราะรักเสรีภาพประชาธิปไตย