คนที่ปกป้อง “พระ” อภิชาติ เป็นคนที่ไร้จิตสำนึกประชาธิปไตย

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ “พระ” ที่ชื่อ อภิชาติ ถูกทหารจับสึก สร้างความไม่พอใจในหมู่คนไทยจำนวนหนึ่งที่มีทัศนะแย่ๆ ต่อชาวมุสลิม พวกคนเหล่านี้ลึกๆ แล้ว เกลียดชังชาวมาเลย์มุสลิมในภาคใต้ หรือชาวโรฮิงญาในพม่า เขาเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติและศาสนา และการที่มีคนเสื้อแดงหลายคนรวมอยู่ในกลุ่มนี้ก็เป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้า แต่สำหรับหลายคนมันยังไม่สายเกินไปที่จะทบทวนตนเองและยกเลิกอคติที่ตนมีต่อเชื้อชาติหรือศาสนาของคนอื่น อย่างไรก็ตามสำหรับคนอีกส่วนหนึ่งคงไม่มีปัญญาจะทบทวนตนเองได้

“เอาน้ำมันหมูกรอกปากโต๊ะอิหม่ามเลยครับ” คือตัวอย่างของคำหยาบคายที่คนแบบนี้ใช้ในโซเชียลมีเดีย

อภิชาติเป็นคนที่อ้างตัวเป็น “พระสงฆ์” แล้วปลุกระดมให้คนเกลียดชังชาวมุสลิม และไปใช้ความรุนแรงกับชุมชนมุสลิมอีกด้วย สองปีก่อนอภิชาติพูดว่า “หมดเวลาแล้วที่ชาวพุทธจะใช้คำว่า เมตตาปรานี ถ้าพระใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกระเบิดหรือถูกยิงตาย 1 รูป ต้องแลกกับการไปเผามัสยิดทิ้งไป 1 มัสยิด โดยเริ่มจากภาคเหนือลงมาเรื่อยๆ”  “ถ้ากลัวก็ไปกราบเท้าแขกและยกประเทศให้” นอกจากนี้อภิชาติก็พูดทำนองว่า “แขกอิสลามบ่อนทำลายพุทธศาสนามาตลอด”

จะสังเกตเห็นว่าเขามักจะใช้คำหยาบคายและเหยียดหยามคนเชื้อสายมาเลย์หรือคนเอเชียใต้ด้วยคำว่า “แขก” เสมอ ซึ่งคนไทยจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับอภิชาติ ก็ใช้คำว่า “แขก” เช่นกัน ปรากฏการณ์แบบนี้ชี้ให้เห็นว่ากระแสเหยียดหยามทางเชื้อชาติแพร่กระจายไปทั่วสังคมไทย มันถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเตือนสติกัน

อภิชาติเป็นพวกที่ใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ลัทธิฝ่ายขวาสุดขั้ว ที่คอยปลุกระดมให้คนเกลียดมุสลิม เขาไม่ต่างจากพวกฟาสซิสต์ในยุโรป หรือพระฟาสซิสต์ในพม่าที่ชื่อวิระทู ซึ่งเป็นพระเอกของอภิชาติ วิระทูชอบปลุกระดมให้ม็อบอันธพาลชาวพุทธไปทำร้ายชาวมุสลิม โดยที่เขามีเส้นสายภายในหมู่ทหารเผด็จการพม่าอีกด้วย อภิชาติก็ชมวิระทูว่า “พูดถูก” ที่วิระทูพูดว่า ชาวโรฮิงญา “ใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินเราแต่ไม่สำนึกในบุญคุณของเรา”

คำพูดของ อภิชาติ และวิระทู เป็นคำพูดป่าเถื่อน แต่ยิ่งกว่านั้นเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ เพื่อให้ความชอบธรรมกับลัทธิขวาตกขอบของเขา ในความเป็นจริงทั้งชาวมาเลย์มุสลิม และชาวโรฮิงญาอาศัยในพื้นที่ที่เป็นของเขามานาน ก่อนที่รัฐบาลไทย อังกฤษ หรือพม่า จะทำการสร้างประเทศและยึดพื้นที่ของเขามาปกครอง

ในกรณีภาคใต้ รัฐบาลไทยกดขี่คนมาเลย์มุสลิมมานาน พร้อมกับใช้ความรุนแรงในการพยายามปกครอง ตั้งแต่ปี ๒๔๖๔  รัฐบาลไทยมีนโยบายบังคับให้ชาวมาเลย์มุสลิมเปลี่ยนเป็น “ไทย” ผ่านระบบการศึกษา โดยมีการห้ามใช้ภาษาของตนเองในโรงเรียนเป็นต้น ในปี ๒๔๙๑  ผู้นำสำคัญของชาวมาเลย์ชื่อ ฮัจญีสุหลง ถูกจับคุมโดยรัฐบาลไทยและในที่สุดโดนฆ่าวิสามัญ ในปีเดียวกันตำรวจไทยก่อเหตุนองเลือด ฆ่าชาวบ้านที่ บ.ตุซงญอ อ.ระแงะ จ. นราธิวาส สภาพแบบนี้ดำรงอยู่มาจนทุกวันนี้ ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ กองทหารและตำรวจไทยจงใจฆ่าชายมุสลิมบริสุทธิ์แปดสิบกว่าคนในเหตุการณ์ที่ตากใบ

พฤติกรรมของรัฐไทยคือต้นกำเนิดของการลุกชึ้นจับอาวุธของชาวมาเลย์มุสลิมบางคน เขาไม่ใช่โจร เขาเป็นคนที่ต้องการเสรีภาพ โจรที่แท้จริงคือเจ้าหน้าที่รัฐไทย โดยเฉพาะทหาร ซึ่งโจรรัฐไทยก็เคยฆ่าคนเชื้อชาติไทยกลางกรุงเทพฯ หลายครั้ง และใช้กำลังอาวุธในการทำรัฐประหารอีกด้วย

การที่พลเมืองไทย รวมถึงพระสงฆ์ ไม่ออกมาประท้วงต่อต้าน อภิชาติ เปิดทางให้เขาสามารถสร้างภาพการเป็นเหยื่อเมื่อทหารเผด็จการจับสึกและนำไปขัง การกระทำของทหารครั้งนี้ไม่ได้ทำเพราะมีอุดมการณ์ดีๆ อะไรเลย แต่ทำไปเพราะกลัวว่า อภิชาติ จะเพิ่มความขัดแย้งในสังคมที่ทหารจะคุมยากขึ้น และการที่ทหารจับ อภิชาติ ไม่ได้แปลว่าทหารจะไม่มีแนวคิดคล้ายๆ เขา

ประเด็นการกระทำของทหารต่อ อภิชาติ ไม่ใช่ประเด็นหลัก ในระยะยาวแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ และแนวชาตินิยมของ อภิชาติ ช่วยปกป้องอำนาจของรัฐไทย โดยเฉพาะฝ่ายที่นิยมเผด็จการ เพราะทำให้พลเมืองไทยตาบอดถึงอาชญากรรมของรัฐไทยในภาคใต้ มันทำให้คนธรรมดาขัดแย้งกันเอง แทนที่จะมีการสร้างความสามัคคีในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของทุกคน ลัทธิเหยียดเชื้อชาติเป็นอาวุธสำคัญในการแบ่งแยกและปกครอง และในการเบี่ยงเบนประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อไม่ให้ไปโทษชนชั้นปกครอง ในหลายแง่ ถ้าดูจากมุมมองชนชั้น คนอย่างอภิชาติไม่ต่างจาก “พระฟาสซิสต์” ที่ชื่อ อิสระ ซึ่งเป็นพระโปรดของประยุทธ์มือเปื้อนเลือด ทั้งสองใช้ลัทธิที่เอื้อกับการใช้อำนาจของเผด็จการ

สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับสังคมไทยคือ คนไทยจำนวนมากใช้คำว่า “แขก” ในบริบทคล้ายๆ กับ อภิชาติ ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นอาจไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของ อภิชาติ และนอกจากนี้มีคนที่ปกติอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยที่มีทัศนะแย่ๆ เกี่ยวกับโรฮิงญาหรือคนมาเลย์มุสลิม ในกรณีภาคใต้คนเหล้านี้จะด่า “โจรใต้” โดยไม่เอาใจใส่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ และไม่มีการวิจารณ์ฝ่ายทหารที่ก่ออาชญากรรมแต่แรก นอกจากนี้มีคนไทยจำนวนมากที่นิยมลัทธิชาตินิยม ซึ่งในบริบทสังคมไทย เป็นลัทธิที่ปกป้องอำนาจของชนชั้นปกครองอย่างเดียว

ปรากฏการณ์แบบนี้แสดงให้เห็นว่ากระแสเหยียดเชื้อชาติในไทยมีอิทธิพลลสูง และเส้นแบ่งระหว่างคนอย่าง  อภิชาติ กับคนทั่วไปที่ใช้คำว่า “แขก” ไม่ชัดเจน สาเหตุหลักคือไม่มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่รณรงค์อย่างเป็นระบบที่จะต่อต้านกระแสเหยียดเชื้อชาติในไทย และไม่มีการรณรงค์ประท้วงพฤติกรรมแย่ๆ ของ อภิชาติ ด้วย เหตุผลที่ไม่มีขบวนการมวลชนที่ต่อต้านทัศนะเหยียดเชื้อชาติในไทยก็เพราะไทยขาดพรรคฝ่ายซ้ายที่พอจะมีอิทธิพลได้ ตรงนี้เราเห็นชัดว่าไทยแตกต่างจากประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในยุโรป ด้วยเหตุนี้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพทั่วๆ ไป ไทยจะล้าหลังมาก เช่นเรื่องสิทธิในการทำแท้งเสรี ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องเพศ ความเท่าเทียมของพลเมืองโดยไม่มีการมอบคลาน หรือในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจฯลฯ นอกจากนี้เราไม่มีขบวนการมวลชนของพลเมืองไทยที่ออกมาเรียกร้องให้มีการรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา หรือให้มีการถอนทหารตำรวจออกจากพื้นที่สามจังหวัดเพื่อสร้างสันติภาพเป็นต้น

ดังนั้นเราจำเป็นต้องคิดหาวิธีสร้างขบวนการมวลชนที่ต่อต้านทัศนะเหยียดเชื้อชาติ เพื่อชักชวนคนส่วนใหญ่ให้เลิกเหยียดเชื้อชาติหรือเลิกใช้คำอย่างเช่น “แขก” หรือ “ไอ้มืด” ฯลฯ คนเหล่านี้ไม่เคยถูกท้าทายเรื่องทัศนคติ แต่ผู้เขียนมั่นใจว่าเขาเปลี่ยนทัศนคติได้ เพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่เห็นด้วยกับคนอย่าง อภิชาติ ยิ่งกว่านั้นเราทราบดีว่ามีคนจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มต่างๆ เช่น “กลุ่มเพื่อนเพื่อมนุษยธรรม” ที่ไม่เห็นด้วยกับการเหยียดเชื้อชาติ แต่ไม่มีการจัดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน เขาจึงมีอิทธิพลจำกัด

ขบวนการมวลชนที่ต่อต้านทัศนะเหยียดเชื้อชาติ จะต้องให้การศึกษากับคนธรรมดาให้เข้าใจต้นกำเนิดของความรุนแรงในภาคใต้ และต้องจับมือร่วมกับนักประชาธิปไตยในการต่อต้านเผด็จการทหารอีกด้วย

ถ้าเราไม่มีองค์กรมวลชนที่ทวนกระแสเหยียดเชื้อชาติในสังคม คนอย่าง อภิชาติ จะสามารถดึงคนธรรมดามาคิดเหมือนเขาได้ และสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยจะไม่มีวันเกิด

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2b5aCYI

อย่าเอากรอบศีลธรรมอนุรักษ์นิยมมาพิจารณาการละมิดทางเพศ

ใจ อึ๊งภากรณ์ และนุ่มนวล ยัพราช

ในช่วงนี้มีนักข่าว นสพ.ข่าวสด เขียนบทความเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงนักกิจกรรม แต่ก่อนที่เราจะสรุปอะไร เราควรจะพิจารณาความซับซ้อนของเรื่องนี้ในบริบทสังคมไทย

การล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่เรื่องตะหลก มันเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ควรยอมรับ และเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่ามันคืออะไร

ปัจจัยสำคัญของการล่วงละเมิดทางเพศคือการบังคับและการไม่ยินยอมกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นถ้ามีการยินยอมกันทั้งสองฝ่ายไม่ถือว่าเป็นการละเมิดอะไร การล่วงละเมิดทางเพศมีหลายระดับ ตั้งแต่การพูดจาล้อเลียนทางเพศหรือพูดจาอนาจารที่พุ่งเป้าไปที่คนๆ หนึ่ง การแตะเนื้อแตะตัว การมีเพศสัมพันธ์ และการใช้ความรุนแรงในการข่มขืน

ในกรณีการล่วงละเมิดทางเพศแบบวาจา หรือการแตะเนื้อแตะตัวแบบที่ไม่ไปจูบหรือจับอวัยวะทางเพศ การที่ฝ่ายหนึ่งไม่พูดอะไรไม่ได้แปลว่ายินยอม เพราะในสังคมเราการที่จะประท้วงหรือแสดงความไม่พอใจกับเรื่องนี้ไม่ง่าย เนื่องจากคนรอบข้างจะมองว่า “ทำเรื่องเล็กๆ ให้เป็นเรื่องใหญ่”

เนื่องจากการล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่ฝ่ายหนึ่งกระทำโดยอีกฝ่ายหนึ่งถูกกดดันให้ยินยอม “อำนาจ” เป็นส่วนสำคัญในพฤติกรรมแบบนี้ อำนาจที่พูดถึงนี้ไม่ใช่แค่กำลังกายที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง อำนาจรวมถึงอำนาจของคนที่สามารถให้คุณให้โทษได้ เช่นอำนาจของหัวหน้างาน ครูบาอาจารย์ หรือผู้บังคับบัญชา ด้วยเหตุนี้เนื่องจากผู้เขียนเคยเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ก็ทราบดีว่าอาจารย์จะต้องไม่พูดจาในเรื่องเพศหรือแตะตัวนักศึกษา และจะต้องละเว้นที่จะจีบนักศึกษาด้วย กฏระเบียบของมหาวิทยาลัยสากลจะระบุไว้ว่าถ้าอาจารย์หลงรักนักศึกษาและทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ใหญ่ ต้องรอให้นักศึกษาเรียนจบก่อนที่จะสร้างความสัมพันธ์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจในการกดดันนักศึกษา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เวลาเราพิจารณาการล่วงละเมิดทางเพศ เราต้องไม่สับสนกับเรื่องศีลธรรมอนุรักษ์นิยม เพราะการเป็นคน “เจ้าชู้” มีคู่รักหลายคน หรือการเป็น “เสือผู้หญิง” ที่หาคู่รักใหม่เป็นประจำ ไม่ใช่เรื่องเดียวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ถ้าทั้งสองฝ่ายเต็มใจยินยอม แต่ในสังคมคับแคบที่บางส่วนล้าหลัง และในแวดวงพวกที่ยึดถือศีลธรรมอนุรักษ์นิยม ซึ่งรวมถึงนักเอ็นจีโอบางคน มักจะมีการมองว่าการมีคู่หลายคน การเปลี่ยนคู่บ่อยๆ หรือการมีเพศสัมพันธ์นอกกรอบการแต่งงาน เป็นเรื่องผิด และมีการเหมารวมว่านักกิจกรรมที่ “เจ้าชู้” ย่อมมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศเสมอ ซึ่งไม่มีความจริงแต่อย่างใด คำถามคือนักเอ็นจีโอสิทธิสตรีที่ออกมาแสดงความเห็นในบทความของนสพข่าวสดเรื่องนี้ มีการใช้กรอบศีลธรรมอนุรักษนิยมในการมองหรือไม่

ในสังคมล้าหลังของไทย ผู้หญิงที่มีหลายคู่จะถูกลดระดับ และถูกมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี สำส่อน ไม่รู้จักรักนวลสงวนตัว บางครั้งก็มีการมองว่าผู้หญิงเหล่านั้นเป็นเหยื่อของผู้ชายอีกด้วย

นอกจากนี้ในกรณีคนที่ขายบริการทางเพศ มีการมองว่าเขาเป็นพลเมืองชั้นสองโดยไม่มีการพิจารณาภาพรวมของการซื้อขายเพศแต่อย่างใด

ในกรณีนักกิจกรรมเด่นๆ เราไม่ควรสับสนระหว่างเรื่อง “อำนาจ” กับเรื่อง “เส่นห์” ของนักกิจกรรมคนนั้น เพราะอำนาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม แต่เส่นห์เป็นปัจจัยของการมีความสัมพันธ์แบบที่ทั้งสองฝ่ายยินยอม

นอกจากนี้ในกรณีที่มีความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายยินยอม ถ้าฝ่ายชายไปเล่าเรื่องให้เพื่อนๆ ฟัง เพื่อลดหลู่ล้อเลียนฝ่ายหญิง มันไม่ใช่การละเมิดทางเพศ แต่เป็นการดูถูกและเหยียดทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ควรยอมรับ

บทความที่เขียนไว้ในนสพ.ข่าวสด โดยธีรนัย จารุวัสตร์  [http://bit.ly/2x7FGTm] เป็นบทความที่ไม่พิจารณาและวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้แต่อย่างใด มันตื้นเขินเหลือเกินและไม่มีความเป็นมืออาชีพ และที่แย่ที่สุดคือมีการเอ่ยถึงชื่อนักกิจกรรมบางคนโดยไม่มีรายละเอียดหลักฐาน ไม่มีการเปิดโอกาสให้เจ้าตัวแสดงความเห็นกับคำกล่าวหาก่อนที่จะตีพิมพ์ พึ่งมาแก้เพิ่มทีหลัง แก้แล้วก็บิดเบือนคำพูดอีก คนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน กำลังนั่งอยู่ในคุกตอนนี้ ก็เหมือนกลายเป็นเหยื่อ ซึ่งเราไม่มีข้อมูลอะไรที่แสดงว่าคนๆ นี้มีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศในอดีตเลย ทั้งๆ ที่อาจเจ้าชู้  แต่ถ้าคนอื่นมีหลักฐานก็ควรจะมีการพิสูจน์กันให้ชัดเจน ไม่ใช่กล่าวหากันลอยๆ

แน่นอนมันคงมีนักกิจกรรมที่ล่วงละเมิดคนอื่นทางเพศ นักกิจกรรมไม่ใช่เทวดา เราต้องประณามพฤติกรรมแบบนี้โดยไม่ปกปิดอะไร และอีกบทความหนึ่งที่นักข่าวคนนี้เขียนเรื่องขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีหลักฐานชัดเจน

แต่สำหรับบทความที่เรากำลังวิจารณ์ในครั้งนี้ เราต้องตั้งคำถามกับนักข่าวว่าทำไมต้องเป็นบุคคลคนนี้ที่ถูกป้ายสี มันมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ทำไมคนที่ถูกจองจำในโทษ 112 กลับถูกเลือกนำมาพูดในขณะที่กำลังจะพ้นโทษ มันเกิดอะไรขึ้น? และทำไมไม่มีการกล่าวถึงปัญหาของสาวโรงงานที่โดนหัวหน้างานกดดันให้นอนด้วย? เพราะหัวหน้างานมีอำนาจให้คุณให้โทษ ซึ่งต่างจากนักกิจกรรมแรงงาน

แต่ที่แย่มากกว่านั้นคือ นักข่าวที่เขียนบทความนี้ไม่กล้าพิจารณาคนระดับสูงของประเทศที่มีพฤติกรรมดูถูกเพศหญิงอย่างต่อเนื่อง และใช้อำนาจในการลงโทษอดีตเมียอย่างป่าเถื่อนอีกด้วย นั้นคืออีกตัวอย่างหนึ่งของระบบสองมาตรฐานในกะลาแลนด์

เลนินกับนิยามของ “อำนาจ”

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ผมกับอาจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ถกเถียงกันเรื่อง “อำนาจ” ของกษัตริย์ไทย ทั้งในสมัยรัชกาลที่ ๙ และ ในสมัยรัชกาลที่ ๑๐

ผมเสนอมานานแล้วกษัตริย์ไทยไม่มีอำนาจในการสั่งการ ไม่สามารถสั่งให้ทหารยิงประชาชน ไม่สามารถสั่งให้มีการทำรัฐประหาร และไม่สามารถสั่งการในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจได้ ผมเสนอว่าทหารและชนชั้นปกครองอื่นๆ มักใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความชอบธรรมในสิ่งที่พวกนี้ทำต่างหาก

ส่วน อ. สมศักดิ์ เสนอว่าเราต้องเข้าใจ “อำนาจ” ในแง่ที่ไม่ใช่อำนาจสั่งการอะไร แต่เป็นอิทธิพลทางความคิดในสังคมมากกว่า เขาจึงเชื่อว่าในยุคท้ายๆ หลังพฤษภา ๓๕  กษัตริย์ภูมิพลมีอำนาจมากที่สุดในหมู่ชนชั้นปกครองไทย

สำหรับผม เรื่องนี้มีความสำคัญในแง่ที่เราต้องเข้าใจว่ามันมีอำนาจอะไรที่เป็นอุปสรรคในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และมันมีความสำคัญในการตั้งเป้าในการล้ม “อำนาจ” ของเผด็จการ ดังนั้นการพูดลอยๆ ว่ากษัตริย์ภูมิพลเคยมีอำนาจสูงสุด เพราะมีบารมีหรืออะไรทำนองนั้น โดยไม่สนใจว่าอำนาจนี้สั่งการอะไรได้หรือไม่ ผมมองว่าเป็นคำพูดนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ และใช้ในการออกแบบยุทธศาสตร์เพื่อการปลดแอกสังคมไทยไม่ได้อีกด้วย

แน่นอนมันมีสิ่งที่เรียกว่า “ลัทธิ” ความคิด ที่หลากหลายและดำรงอยู่ในสังคม บางลัทธิความคิด เช่นลัทธิชาตินิยม หรือลัทธิเชิดชูกษัตริย์ เป็นลัทธิล้าหลังที่ปกป้องเผด็จการ แต่ “ลัทธิ” ไม่ใช่ “อำนาจ”

ลัทธิมันช่วยให้ความชอบธรรมหรือหนุนเสริมอำนาจ ถ้าพลเมืองจำนวนมากคล้อยตามลัทธิดังกล่าว และเราน่าจะหนีไม่พ้นข้อสรุปว่าลัทธิกษัตริย์นิยมในไทย หนุนเสริมอำนาจของทหาร

ในเรื่อง “อำนาจ” มันมีข้อแตกต่างระหว่างนิยามของ “อำนาจ” ตามแนวคิดของฟูโก้ (Foucault) นักปรัชญาฝรั่งเศส กับแนวคิดของเลนิน นักปฏิวัติมาร์คซิสต์ของรัสเซีย

ฟูโก้ เสนอว่า “อำนาจ” มีอยู่ในรูปแบบต่างๆ ทั่วทุกส่วนของสังคม เมื่อมีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เช่นความไม่เท่าเทียมทางอำนาจระหว่างครูใหญ่กับครูธรรมดา ระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างผู้บริหารโรงพยาบาลกับพยาบาล หรือระหว่างหมอในโรงพยาบาลกับลูกจ้างธรรมดาอย่างผมเป็นต้น และฟูโก้เสนอว่าถ้าเราจะเข้าใจอำนาจแบบนี้เราต้องดูความคิดที่ท้าทายหรืออยู่ตรงข้ามกับอำนาจแต่ละอำนาจ เขาพูดถึงระบบ “อำนาจทางความรู้” ในสังคมที่ครอบงำเรา

ในแง่หนึ่งสิ่งที่ฟูโก้บรรยายก็มีจริง คือความไม่เท่าเทียมทางอำนาจในหลากหลายรูปแบบนี้ดำรงอยู่จริง และมันไม่ใช่สิ่งที่ เลนินหรือนักมาร์คซิสต์จะปฏิเสธ แต่ประเด็นที่เราต้องสนใจมากที่สุดคืออำนาจต่างๆ ที่หลากหลาย มันมีความสำคัญไม่เท่ากัน เพราะถ้าเราจะปฏิวัติเพื่อทำให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน อุปสรรคหลักคือ “อำนาจรัฐ” ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานชนชั้นนายทุน และอำนาจนั้นมาจากการครอบครองและควบคุมปัจจัยการผลิตในสังคม มันเป็นอำนาจวัตถุนิยมที่จับต้องได้ และเป็นอำนาจรูปธรรมที่อาศัยกลุ่มคนถืออาวุธ กฏหมาย คุกและการครองสื่อ นี่คือลักษณะอำนาจรัฐในทุกประเทศทั่วโลกภายใต้ระบบทุนนิยมในโลกปัจจุบัน รวมถึงไทยด้วย

นี่คือสาเหตุที่เลนินสนใจอำนาจรัฐเป็นหลัก

กลุ่มคนที่ควบคุมอำนาจรัฐ อาจแย่งชิงอำนาจกันเอง แต่อำนาจรัฐมีความสำคัญเพราะมันนำไปสู่ความสามารถในการก่อรัฐประหาร หรือปกป้องรัฐบาลทหารเผด็จการ คนที่ล้มประชาธิปไตยในสังคมต่างๆ คนที่ทำลายการปฏิวัติอียิปต์ หรือคนที่ปราบปรามเสื้อแดง ไม่ใช่ครูใหญ่ ผู้บริหารโรงพยาบาล หรือหมอในโรงพบาบาล แต่เป็นคนที่คุมอำนาจรัฐ

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐที่จับต้องได้ ซึ่งเป็นอำนาจในการสั่งการอย่างเป็นรูปธรรม และถ้าเราจะล้มอำนาจนี้เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติที่ยืนอยู่บนรากฐานมวลชนกรรมาชีพผู้ทำงาน

บทความนี้อาศัยความคิดที่เสนอในหนังสือ “Lenin For Today” (2017) โดย John Molyneux. Bookmarks Publications.

อ่านเพิ่ม “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน http://bit.ly/1QPRCP6

กฏ “หมา” กฏหมู่ และความล้าหลังของจุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัย

ใจ อึ๊งภากรณ์

การตัด “คะแนนความประพฤติ” ของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และผู้แทนอื่นๆ ของสภานิสิตนักศึกษา เพื่อเป็นข้ออ้างในการปลดนักศึกษาก้าวหน้าเหล่านี้ออกจากตำแหน่ง เป็นไปตามคำสอนของพวกเผด็จการทหารและศาลเตี้ยระดับชาติ พวกนี้ร่วมกันทำลายสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของพลเมืองไทย แล้วอ้าง “กฏหมาย” ในการให้ความชอบธรรมกับความเลวทรามทุกอย่างที่มันทำ

“กฏหมาย” หรือ ที่เราควรเรียกว่า “กฏหมา” ที่คนอย่างไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดชอบอ้าง เพื่อทำลายนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และเพื่อปิดปากพลเมืองที่แสดงความไม่พอใจกับระบอบเผด็จการด้วยวาจาหรือการประท้วงอย่างสันติ เป็นแค่สิ่งที่คนบ้าอำนาจที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ในปัจจุบันคิดขึ้นมาเอง มันมีความศักดิ์สิทธิ์พอๆ กับคำสั่งของอันธพาลข้างถนน

จุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัยได้ทำ “รัฐประหาร” ล้มผู้แทนนักศึกษาที่มาจากการเลือกตั้ง ตามสันดานเผด็จการของคนที่อ้างตัวเป็น “คนดี”

ในสังคมกะลาแลนด์ “คนดี” จะล็อคคอนักศึกษา ดึงผม และด่าด้วยคำหยาบคาย ในสังคมกะลาแลนด์ “คนดี” จะฆ่าประชาชนมือเปล่าที่เรียกร้องประชาธิปไตย และปล้นสิทธิเสรีภาพอธิปไตยของพลเมือง ในสังคมกะลาแลนด์ “คนดี” แบบนี้ลอยนวล ในขณะที่คนคิดต่างที่ไม่เคยทำผิดเข้าคุก ในสังคมกะลาแลนด์ “คนดี” ที่เป็นคนชั้นกลาง จะใช้คำเหยียดเพศด่านักการเมืองสตรีที่ตนเองไม่ชอบ บางคนเป็นหมอ บางคนเป็น “กวี” ด้วย แต่ “คนดี” ชอบเอ่ยถึง “มารยาทวัฒนธรรมไทย” เสมอ

ในบทความก่อนหน้านี้ ผมเขียนว่าจุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัย แค่สะท้อนความเลวทรามของสังคมไทย แต่ในอีกแง่หนึ่งการพยายามดัดคนหนุ่มสาวให้หมอบคลานต่ออำนาจเผด็จการจนคิดเองไม่เป็น เป็นการผลิตซ้ำลักษณะแย่ๆ ของสังคมไทยสู่อนาคต ไม่ต่างจากการที่แก๊งไอ้ยุทธ์ตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์เผด็จการแห่งชาติ ซึ่งจะสืบทอดระบอบเผด็จการสู่อนาคต แง่สำคัญของคณะกรรมการเผด็จการนี้ นอกจากการสืบทอดอำนาจทหารแล้ว และนอกจากการกีดกันนักการเมืองฝ่ายทักษิณ คือมันมีวัตถุประสงค์หลักในการปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน คนรวย และ ชนชั้นปกครองที่รวมไปถึงนายพลทั้งหลายอีกด้วย เพราะมันจะดูแลให้มีการใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว และกีดกันไม่ให้มีการใช้นโยบายที่ช่วยคนจนและลดความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้นเราจะเห็นชัดว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์เผด็จการแห่งชาติ ที่ก่อตั้งจาก กฏ “หมา” ของแก๊งประยุทธ์ ประกอบไปด้วยนายทหาร นายทุนใหญ่จากธนาคารและบริษัทสื่อสาร และพลเรือนรับใช้ของทหาร มีอดีตอธิการบดีหมาวิทยาลัยจุฬาอยู่ตรงนั้นด้วย

การที่คณะกรรมการนี้ไม่มีผู้แทนของคนจน เช่นนักสหภาพแรงงาน สะท้อนแนวทางของมัน แต่มันเป็นเรื่องดีด้วย เพราะถ้ามีผู้แทนของสหภาพแรงงานเข้าไปตรงนั้น คนเหล่านั้นคงเป็นศัตรูที่ทรยศต่อคนทำงานและคนจนแน่นอน

ขอวกกลับมาเรื่องจุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัย…. การที่สถาบันอุดมศึกษาไทย ที่มีนักศึกษาที่เป็นผู้ใหญ่ มีสิ่งที่เรียกว่า “คะแนนความประพฤติ” เป็นเรื่องน่าขำและอับอายขายหน้ามานาน มหาวิทยาลัยในประเทศเจริญเขาไม่มี และไม่มีการบังคับใส่เครื่องแบบตั้งแต่มัธยมปลายอีกด้วย ที่จุฬาฯ นิสิตนักศึกษาที่ไม่ยอมเข้าห้องเชียร์เพื่อถูกรุ่นพี่ทรมานตามระบบ SOTUS ก็อาจถูกตัด “คะแนนความประพฤติ” โดย “อนาจารย์”ที่บังคับบัญชานักศึกษาอีกด้วย

แต่อย่าคิดว่าจุฬาฯ แย่ทั้งสถาบัน เพราะเราทราบว่ามีนักศึกษาที่คิดเหมือนเนติวิทย์ไม่น้อย นี่คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจกลัว และเมื่อไม่นานมานี้มีอาจารย์คณะรัฐศาสตร์คนหนึ่ง โพสต์ในโซเชียลมีเดีย รายชื่อหนังสือที่นิสิตปีหนึ่งในภาคปกครองเขาเลือกอ่านก่อนเข้ามหาวิทยาลัย รายชื่อหนังสือนี้สะท้อนว่าเด็กสมัยนี้คิดเองเป็นและสนใจเรื่องราวกว้างๆ ในสังคม และการที่จุฬาฯ มีอาจารย์ที่คิดจะถามนิสิตว่าเคยอ่านหนังสืออะไรมาก่อน สะท้อนว่าอาจารย์บางคนก็คิดนอกกรอบกะลาได้ น่ายินดีมาก

กลับมาเรื่อง “กฏหมา” ที่เอ่ยถึงในตอนต้น ถ้าเราจะล้ม “กฏหมา” ของไอ้ยุทธ์ เราต้องใช้ “กฏหมู่” ของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการประชาธิปไตยชนิดหนึ่ง