ใจ อึ๊งภากรณ์
ในรอบหกสิบปีที่ผ่านมา เผด็จการทหารพม่ากดขี่พลเมืองทั้งในเรื่องประชาธิปไตยและในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางเชื้อชาติพร้อมๆกัน และทุกวันนี้ แม้ว่ามีการเลือกตั้งจอมปลอมและ อองซานซูจี ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศภายใต้อำนาจทหาร สถานการณ์ก็ไม่เปลี่ยนแปลง ล่าสุดรัฐบาลพม่าได้ก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยที่ อองซานซูจี แก้ตัวแทนผู้ก่ออาชญากรรมครั้งนี้
หลายคนที่เคยบูชา อองซานซูจี จะสลดใจและผิดหวัง แต่ถ้าเราศึกษาแนวการเมืองของเขา บวกกับประวัติศาสตร์พม่า เราไม่ควรจะแปลกใจในทัศนะและพฤติกรรมแย่ๆ ของ อองซานซูจี แต่อย่างใด
ดินแดนที่เรียกว่าพม่า มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติมาตั้งแต่สมัยที่อังกฤษเข้ามาล่าอณานิคม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ชื่อ Martin Smith อธิบายว่าปัญหาทางเชื้อชาติในพม่า รุนแรงขึ้นเมื่อมีการพยายามรวมศูนย์รัฐชาติในยุคหลังเอกราช ในสภาพดั้งเดิมชุมชนต่างๆ มีลักษณะกระจัดกระจายและหลากหลายทางเชื้อชาติ แม้แต่ในยุคท้ายของการปกครองของอังกฤษก็ยังไม่มีการรวมศูนย์อำนาจในพม่าตอนเหนืออย่างสมบูรณ์ และแน่นอนอังกฤษใช้ระบบ “แบ่งแยกเพื่อปกครอง” ซึ่งสร้างความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติต่างๆ อีกด้วย
เมื่อคนงานท่าเรือพม่านัดหยุดงาน อังกฤษนำคนงานเชื้อสายอินเดียเข้ามาทำงานแทน ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างอันหนึ่งของพวกนักชาตินิยมพม่า ในการเหยียดคนเชื้อสายอินเดีย นอกจากนี้ขบวนการชาตินิยมพม่ามักเหมารวมคนเชื้อสายอินเดียว่าเป็นพวกปล่อยกู้หน้าเลือด ทั้งๆ ที่ชาวพม่าจำนวนไม่น้อยก็ปล่อยกู้และเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูงเช่นกัน
สถิติเกี่ยวกับสถานภาพเชื้อชาติต่างๆ ในพม่าไม่ชัดเจน แต่ที่สำคัญคือในครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศ มีผู้คนอาศัยอยู่ที่ไม่ใช่เชื้อชาติ “พม่า” ซึ่งอาจมีจำนวน 35-50% ของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศพม่ามีชาติพันธุ์ที่หลากหลายมานาน ไม่ได้แปลว่ามีความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติโดย “ธรรมชาติ” เพราะมีประวัติอันยาวนานของการดำรงอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ยิ่งกว่านั้น Smith มองว่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของแต่ละเชื้อชาติไม่ได้ถูกอนุรักษ์แช่แข็งอยู่กับที่ แต่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการปรับตัวระหว่างเชื้อชาติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นผ่านการค้าขายและการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย
การที่ผู้นำขบวนการชาตินิยมพม่าอย่าง อองซาน (บิดาของ อองซานซูจี) พยายามสร้างรัฐรวมศูนย์ที่คนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาว “พม่า” มองว่าตนเองจะถูกควบคุมโดยชาว “พม่า” เป็นปัญหาแต่แรก อองซานไม่ยอมรับว่าประชาชนเชื้อชาติต่างๆ นอกจากชาว “พม่า” และชาวฉาน (ไทใหญ่) มีความเป็นชาติจริง และกองทัพกู้เอกราชของอองซาน ถูกกล่าวหาว่าฆ่าเด็กและสตรีกะเหรี่ยงกว่า 1,800 คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมขบวนการเชื้อชาติ คะฉิ่น กะเหรี่ยง คะเรนนี่ มอญ ว้า และอะระกัน ไม่ยอมมาร่วมประชุม ปางโหลง (Panglong) ในปี ค.ศ. 1947 เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ และไม่ไว้ใจผู้นำพม่าอย่าง อองซาน และอูนุ แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์พม่าก็ยังไม่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นเชื้อชาติเท่าที่ควร
อูนุ ซึ่งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากที่ อองซาน ถูกยิงตาย มีนโยบายระหว่างปี ค.ศ. 1954-1956 ที่จะส่งเสริมศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาประจำชาติ และประกาศว่าพม่าใช้การปกครองที่อิง “พุทธสังคมนิยม” ซึ่งนโยบายดังกล่าวสร้างความแตกแยกและความไม่พอใจในหมู่ชนชาติอื่นๆ ที่ ไม่นับถือพุทธ ยิ่งกว่านั้นเมื่อนายพลเนวินทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐในปี ค.ศ. 1962 มีการใช้กำลังในการบังคับรวมศูนย์ประเทศมากขึ้น เพราะกองทัพพม่าไม่ยอมพิจารณาสิทธิใดๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ในการปกครองตนเองเลย
การเน้นศาสนาพุทธแบบสุดขั้วบวกกับการเหยียดหยามคนเชื้อสายอินเดีย นำไปสู่การสร้างกระแสเกลียดชังชาวมุสลิม โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นคนที่มีเชื้อสายเดียวกับชาวบังคลาเทศ แต่อาศัยอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันเรียกว่าพม่ามาตลอด
ในยุคปัจจุบันขบวนการเชื้อชาติต่างๆ ไม่ค่อยไว้ใจ นางอองซานซูจี เพราะเขามีจุดยืนเกี่ยวกับเชื้อชาติที่เน้นแต่ความเป็นใหญ่ของชาว “พม่า” ไม่ต่างจากจุดยืนของพ่อ ในอดีตในหนังสือของ อองซานซูจี มีการเอ่ยถึงความสามารถของชนชาติอิ่นๆ ในการ “ร้องรำทำเพลง” หรือในการ “เป็นพี่เลี้ยงเด็ก” มากกว่าที่จะเคารพว่าปกครองตนเองได้ และที่สำคัญคือพรรค National League for Democracy (N.L.D.) ของ อองซานซูจี มีนโยบายที่กีดกันคนมุสลิม
จุดยืนล่าสุดของ อองซานซูจี ที่ปล่อยให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิง และคำพูดโกหกของเขาว่าพวกโรฮิงญาไม่ใช่พลเมืองของประเทศพม่า หรือคำโกหกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากการ “ก่อการร้าย” ของชาวโรฮิงญา แสดงธาตุแท้ของแนวคิด “พม่านิยม” สุดขั้วของ อองซานซูจี จุดยืนแย่ๆ ของเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เขาให้ความสำคัญกับการเอาใจทหารเพื่อขึ้นมามีตำแหน่ง และการเอาใจแม้แต่พระสงฆ์ฟาสซิสต์อย่างวีระธู โดยมีวัตถุประสงค์ในการปลุกทัศนะเหยียดคนมุสลิมเพื่อรักษาฐานเสียงของตนเองในหมู่ชาวพุทธอีกด้วย สรุปแล้วจุดยืนของ อองซานซูจี ไม่มีความก้าวหน้าแต่อย่างใด และจะไม่นำไปสู่เสรีภาพของพลเมืองประเทศพม่า ไม่ว่าจะชนชาติใด
[ อ่านเพิ่ม http://bit.ly/1sH06zu
และอ่านประกอบเรื่องทัศนะสังคมไทยต่อผู้ลี้ภัย http://bit.ly/1TUGqhz ]