จากกบเลือกนายเป็นกบใต้กะลา

ใจ อึ๊งภากรณ์

สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศซิมบาบวี หลังจากที่ทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจจากมูกาบี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหาการไว้ใจทหารให้ทำอะไรแทนประชาชน เพราะจริงๆ แล้ว กองทัพในรัฐทุนนิยมปัจจุบัน เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง และพวกนายพลที่คุมอำนาจในกองทัพ เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองด้วย

ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากที่ควรจะรู้ดีกว่านี้ ที่สนับสนุนการทำรัฐประหารในซิมบาบวี เพราะมองว่ามูกาบีเป็นทรราชที่มวลชนคนธรรมดา โดยเฉพาะกรรมาชีพ ไม่สามารถโค่นล้มเองได้ นี่คือแนวคิดของคนที่ไม่เคยเชื่อว่าคนชั้นล่างเปลี่ยนแปลงสังคมเองได้ จึงหันไปหาคนใหญ่คนโตในสังคม เพื่อตั้งความหวังว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ และแน่นอนคนใหญ่คนโตที่มีอำนาจในสังคมชนชั้นของทุกประเทศ จะเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครองเสมอ

การละเลยที่จะวิเคราะห์และเข้าใจว่าสังคมของทุกประเทศเป็นสังคมชนชั้นในระบบทุนนิยม ทำให้คนหลอกตัวเองว่าไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตลอดไประหว่างชนชั้นปกครองและประชาชน พวกนี้จะมองว่าบางคนที่เป็นนายทหาร หรือนักการเมือง อาจเป็น “คนดี” ที่จะทำอะไร “เพื่อชาติ” โดยไม่ตั้งคำถามว่า “ชาติ” ที่พูดถึงเป็นชาติภายใต้อำนาจของใคร ดังนั้นจะมีการยอมรับนิยามของชนชั้นปกครอง ซึ่งเป็นกระแสความคิดหลักในสังคม ว่าประชาชนทุกคนในชาติมีผลประโยชน์ตรงกันไม่ว่าจะมาจากชนชั้นใด

แต่ถ้าความคิดนี้จริง ทำไมคนใหญ่คนโตในชาติ พยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเสมอ ซึ่งเงินภาษีดังกล่าวจะนำมาพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ได้ เช่นในการสร้างระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า การพัฒนาระบบการศึกษา หรือการพัฒนาที่อยู่อาศัย

ถ้าความคิดนี้จริง ทำไมคนใหญ่คนโตในชาติ มักคัดค้านการขึ้นค่าแรงหรือเงินเดือนของประชาชนคนทำงาน เพราะมองว่าจะมีผลเสียต่อชาติ? ทำไมเขาพร้อมจะเสพสุขในความร่ำรวยของเขาเอง ทำไมเขาไม่มีปัญหากับการใช้เงินรัฐในการสร้างวังหรือซื้ออาวุธ? ทำไมเขามักมองว่าต้องมีกฏหมายเพื่อควบคุมและจำกัดสิทธิในการแสดงออก สิทธิในการประท้วง หรือสิทธิในการนัดหยุดงานของคนธรรมดา?

ในกรณีซิมบาบวี จะมีการชื่นชมการเดินขบวนประท้วงของมวลชนเพื่อเรียกร้องให้มูกาบีออกไปหลังจากที่เกิดรัฐประหาร แต่ไม่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทหารปล่อยให้มีการประท้วงดังกล่าว และทหารแอบสนับสนุนการประท้วงอีกด้วย นั้นไม่ได้หมายความว่าคนที่ออกมาประท้วงถูกทหารจ้างมา หรือทุกคนเป็นขี้ข้าของทหาร แต่เขาไม่รอบคอบเพียงพอ และหลงเชื่อว่าทหารจะปลดแอกประเทศ อย่างไรก็ตามทหารจะพยายามคอยจับตาดูไม่ให้มวลชนไปไกลกว่าเป้าหมายที่ทหารต้องการ

นอกจากนี้พวกทหารและประธานาธิบดีใหม่ มันนึงกากูวา เคยถูกสหประชาชาติกล่าวหาว่ามีส่วนในการปล้นทรัพยากรจากประเทศคองโก

ฝ่ายซ้ายในซิมบาบวี จึงออกใบปลิวและ หนังสือพิมพ์เพื่อชักชวนให้กรรมาชีพออกมาเคลื่อนไหวอิสระจากทหารและพวกชนชั้นปกครองเก่าที่ยังถืออำนาจอยู่

นายทหารระดับสูงของซิมบาบวี ไม่เคยมีปัญหากับมูกาบีในอดีต ตลอดเวลาที่เขาปกครองในรูปแบบเผด็จการ ทหารพึ่งมามีปัญหาเมื่อมูกาบีเตรียมโอนอำนาจให้เมียตัวเอง ซึ่งไม่ใช่พรรคพวกของทหาร นอกจากนี้ทหารก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการคอร์รับชั่นของรัฐบาล เพราะทหารก็ร่วมกินด้วย ซึ่งไม่ต่างจากไทย

นายจรเข้

ตอนนี้ทหารสนับสนุนการตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้อดีตรองประธานาธิบดีมันนึงกากูวา ซึ่งคนจำนวนมากเรียกเขาว่า “นายจรเข้” เพราะเขาสามารถรอดตัวมาตลอด ก๊กของเขาในพรรคซานูพีเอฟ จึงถูกเรียกว่า “ก๊กลาคอสต์” ตามเสื้อตราจรเข้ ในอดีต “นายจรเข้” มีบทบาทในองค์กรความมั่นคงของมูกาบีที่คอยปราบปรามฝ่ายค้าน

นายจรเข้ ซึ่งเป็นนายทุน จะนำนโยบายกลไกตลาดเสรีเข้ามาใช้อย่างสุดขั้ว ซึ่งตรงข้ามกับผลประโยชน์คนธรรมดาส่วนใหญ่ และหลายคนมองว่ารัฐบาลจีน ซึ่งลงทุนมหาศาลในซิมบาบวี อาจชื่นชมนโยบายดังกล่าวอีกด้วย สรุปแล้วมวลชนที่ออกมาฉลองการทำรัฐประหาร อาจหลงคล้อยตามแนว “กบเลือกนาย” คือไม่ยอมจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ตนเองอย่างอิสระ ในที่สุดเมื่อพึ่งทหาร ก็ได้ “จรเข้” เป็นนาย แทนทรราชมูกาบี้

นายจรเข้กับอดีตเพื่อนรัก

ในกรณีอียิปต์ หลังการลุกฮือล้มเผด็จการมูบารักและการจัดการเลือกตั้ง มีปรากฏการณ์ของการชุมนุมของมวลชนเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีมูร์ซี่ หลังจากที่เขาไม่ยอมปฎิรูปการเมืองตามที่มวลชนฝันไว้ แต่ปัญหาคือคนจำนวนมากหลงเชื่อว่ากองทัพคือเพื่อนของประชาชนเมื่อทหารปลดมูรซี่ออก เขามองไม่เห็นหรือไม่แคร์ว่ากองทัพกำลังฉวยโอกาสไฮแจ็กกระแสการประท้วงของมวลชน เพื่อยึดอำนาจให้ตนเองในที่สุด และทุกวันนี้รัฐบาลอียิปต์เป็นรัฐบาลภายใต้อดีตนายพล ทั้งๆ ที่มีการจัดฉากการเลือกตั้ง

นั้นไม่ได้แปลว่ามวลชนไม่ควรเคลื่อนไหว เพราะอาจเปิดประตูให้มีการทำรัฐประหาร แต่ประเด็นคือเคลื่อนไหวภายใต้ชุดความคิดที่อิสระจากชนชั้นปกครองหรือไม่ เพราะถ้าไม่อิสระ ก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์ “กบเลือกนาย”

ในไทยคนที่ควรจะรู้ดีกว่านี้จำนวนมาก เช่นนักสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจ และนักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ ที่วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ และหลายคนมีเหตุผลดีในการไม่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ เนื่องจากนโยบายการฆ่าวิสามัญใน “สงครามยาเสพติด” และในปาตานี หรือการที่ทักษิณต้องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน ก็ไปหลงเชื่อว่าการไปเข้ากับพวกอวยเจ้า และในที่สุดการโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหาร จะนำไปสู่สังคมที่ดีกว่า พวกนี้มีข้อแก้ตัวเสมอว่ามวลชนคนชั้นล่างไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้  ดังนั้นต้องไปพึ่งคนใหญ่คนโตแทน

แล้วพฤติกรรม “กบเลือกนาย” ในไทย ก็จบลงด้วย สถานการณ์ “กบใต้กะลา” ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

แนวทางการสร้างพรรคของ เลนิน กับบริบทสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั้งๆ ที่ เลนิน เป็นนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่แล้วในประเทศรัสเซีย แต่วิธีการในการสร้างพรรคกรรมาชีพของเขา มีหลายประเด็นที่สำคัญสำหรับสังคมไทยในยุคนี้

ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องแนวคิดของเลนินในเรื่องพรรค ผมจะขอฟันธงว่า คนไทยที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่างหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” เพราะกรอบที่เผด็จการกำหนดไว้นี้จะทำให้พรรคสังคมนิยมหรือพรรคของคนชั้นล่างลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ กรอบ“ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” นี้กำหนดมาเพื่อสร้างแค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายในไทย ไม่ควรลังเลที่จะสร้างพรรค ควรเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลย เพื่อเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้านอกรัฐสภา พูดง่ายๆ “พรรค” กับการเลือกตั้งรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอ

ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน

ผู้ที่สนใจที่จะสร้างพรรคสังคมนิยมในไทย ซึ่งเป็นรูปแบบพรรคของคนชั้นล่างที่ดีที่สุด จะต้องเข้าใจกันว่าเป้าหมายของพรรคในที่สุด คือการล้มระบบทุนนิยมผ่านการลุกฮือของมวลชน การลุกฮือแบบนี้จะนำไปสู่การปกครองกันเองของคนชั้นล่าง เพราะตราบใดที่เราไม่ล้มระบบทุนนิยม เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ที่มีความเท่าเทียมได้ กรุณาเข้าใจอีกด้วยว่า “สังคมนิยม” ที่กำลังเอ่ยถึง แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่พบในจีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ หรือในอดีตโซเวียด [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2vbhXCO]

สำหรับ เลนิน พรรคสังคมนิยมจะต้องสร้างรากฐานในหมู่คนทำงานหรือชนชั้นกรรมาชีพ เพราะชนชั้นนี้มีพลังทางเศรษฐกิจมหาศาลถ้ารู้จักสามัคคีกัน พรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมเสมอ ด้วยเหตุนี้เงินทุนของพรรคต้องมาจากสมาชิกที่เป็นคนธรรมดาเท่านั้น และพรรคก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด หรือนโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรงเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค โดยไม่มีใครที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่พอถกเถียงกันแล้ว เมื่อมีการลงมติ ลูกพรรคควรจะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่

เลนิน มักจะเน้นเสมอว่าพรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

ถ้าพรรคเน้นแต่การต่อสู้เรื่องปากท้องอย่างเดียว พรรคจะไม่ต่างจากสหภาพแรงงานสามัญ และที่สำคัญคือ พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคของนายทุน จะสามารถครองใจมวลชนจนผูกขาดการวิเคราะห์ประเด็นการเมืองได้ และการวิเคราะห์ดังกล่าวจะกระทำจากมุมมองนายทุนเสมอ ในบริบทสังคมไทย ถ้าพรรคสังคมนิยมไม่สนใจการเมืองด้านกว้างจากจุดยืนคนชั้นล่าง พรรคของคนอย่างทักษิณจะเข้ามาครองใจคนส่วนใหญ่ได้ง่าย และสามารถนำหรือยกเลิกการต่อสู้ได้ตามใจชอบ อย่างที่เราเห็นมาแล้ว

เราควรจะเข้าใจว่า ทั้งๆ ที่พรรคของทักษิณมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แล้วโดนทหารก่อรัฐประหาร แต่ทักษิณและพรรคพวกต้องการจำกัดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกรอบที่เป็นประโยชน์กับเขา ผลของการต่อสู้แค่ครึ่งทางแบบนี้ คือความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2hryRoB ]

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพรรคไม่สนใจประเด็นปากท้อง และไม่ร่วมกับมวลชนนอกพรรคในการต่อสู้เพื่อพัฒนาชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ก็จะแค่เป็นกลุ่มที่พูดเก่ง แต่ไม่ลงมือทำอะไร ไม่มีวันขยายการต่อสู้ได้ ดังนั้นพรรคจะต้องโฆษณาขยายความคิดและปลุกระดมการต่อสู้พร้อมกัน

การผสมผสานยุทธศาสตร์สองอย่างนี้เข้าด้วยกัน แปลว่าพรรคจะต้องชักชวนให้มวลชนมองภาพกว้างทางการเมืองจากชีวิตประจำวันเสมอ และจะต้องเชื่อมโยงทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิทางเพศ สิทธิของเชื้อชาติต่างๆ เรื่องประชาธิปไตย และสถานการณ์ในโลกภายนอกประเทศไทยอีกด้วย

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

นอกจากพรรคจะต้องมีแนวความคิดของตนเอง หรือพูดง่ายๆ มี “ทฤษฏี” ในการเข้าใจสังคม พรรคต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และเป็นองค์กรที่เป็น “ความทรงจำ” ของคนชั้นล่าง เพราะถ้าไม่มีความทรงจำแบบนี้ มวลชนต้องเริ่มจากสูญทุกครั้งที่ออกมาเคลื่อนไหว แทนที่จะมีการสรุปบทเรียนจากอดีต

ในบริบทสังคมไทย การที่จะสร้างพรรคแบบนี้ควรเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายต่างๆ ในขบวนการแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน การสร้างพรรคสังคมนิยมจะต้องไม่เริ่มต้นจากการคุยกันว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วม หรือการถกกันเรื่องการลงทะเบียน

บทความนี้ในบางส่วนอาศัยความคิดที่เสนอในหนังสือ “Lenin For Today” (2017) โดย John Molyneux. Bookmarks Publications.

การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับกับสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ (Combined and Uneven Development) เป็นวิธีอธิบายกระบวนการพัฒนาในประเทศด้อยพัฒนาท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ คนที่เสนอแนวคิดนี้คือนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ของรัสเซียชื่อ ลีออน ตรอทสกี

ลักษณะสำคัญของรัสเซียในสมัยก่อนการปฏิวัติปี 1917 คือมีความล้าหลังในการพัฒนา ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมถ้าเทียบกับยุโรปตะวันตก หรือสหรัฐ แต่ท่ามกลางความล้าหลังนี้มีบางส่วนที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สุด

ประเทศล้าหลังจะเรียนรู้วิธีคิดและเทคนิคการผลิตจากประเทศที่ก้าวหน้ากว่า ผ่านกระบวนการโลกาภิวัฒน์ของทุนนิยม แต่ไม่ได้เรียนรู้ในลักษณะการเดินย้อนรอยประวัติศาสตร์ของประเทศพัฒนา เพราะประเทศล้าหลังจะได้เปรียบในแง่หนึ่งคือ สามารถรับสิ่งที่ทันสมัยที่สุดในโลกจากประเทศก้าวหน้าได้ทันที จึงมีการก้าวกระโดดสู่ความทันสมัยตามภาพรวมของทุนนิยมโลก

ตรอทสกี้เขียนว่า “มนุษย์เผ่าดั้งเดิมที่ยังใช้ชีวิตโบราณอยู่ในป่า วันนี้อาจใช้ธนูและหอก แต่พรุ่งนี้ ถ้ามีโอกาสสัมผัสกับคนจากภายนอก จะสามารถจับปืนมาใช้ได้ทันที”

อย่างไรก็ตาม การก้าวกระโดดข้ามขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ไม่เคยเป็นเรื่อง “กฏเหล็ก” ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในทุกเรื่อง และบางครั้งการรับสิ่งที่ทันสมัยมาใช้โดยสังคมล้าหลัง อาจรับมาในลักษณะเพี้ยนๆ ก็ได้ เช่นการนำระบบคิดใหม่มาเสริมสร้างรูปแบบการปกครองแบบล้าหลัง กรณี รัชกาลที่๕ ในไทย เป็นตัวอย่างที่ดี คือรับรูปแบบการบริหารรัฐและเศรษฐกิจทุนนิยมมาใช้เพื่อเสริมอำนาจกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

ถ้าประวัติศาสตร์มีกฏเหล็กทั่วไป กฏนั้นคงจะระบุว่าการพัฒนาของประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียม ต่างระดับ และความไม่แน่นอนเสมอ

ในเรื่องของความ “ต่างระดับ” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการรับสิ่งใหม่ๆ จากโลกแบบองค์รวม เราจะเห็นจากรัสเซีย ในปี 1914 คือรัสเซียยากจนกว่าสหรัฐประมาณ 10 เท่า แต่ 40% ของอุตสาหกรรมรัสเซียเป็นอุตสาหกรรมทันสมัยขนาดใหญ่ที่มีกรรมาชีพจำนวนมากในโรงงานเดียวกัน ในขณะที่เพียง 18% ของอุตสาหกรรมสหรัฐเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่พร้อมๆ กันนั้นรัสเซียมีความล้าหลังดำรงอยู่ คือมีชาวนากึ่งทาสเป็นล้านๆ คน ซึ่งสหรัฐไม่มี

กรรมาชีพในประเทศล้าหลังมีสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของกองหน้ากรรมาชีพโลกได้ทันที ทั้งในด้านจิตสำนึก ระดับการศึกษา และฝีมือ คือไม่ต้องผ่านการพัฒนาเป็นร้อยๆปี แบบที่เคยเกิดขึ้นในตะวันตก ลูกชาวนาในไทยที่เข้าสู่ระบบโรงงาน ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานได้ และคนไทยที่อยู่ในเมืองกับชนบทเรียนรู้วิธีใช้อินเตอร์เน็ดได้อย่างรวดเร็ว ไม่แพ้คนตะวันตก

แต่หลายแง่ของระบบการเมืองและสังคมในไทย ยังติดอยู่ในระดับล้าหลัง เช่นแนวคิดของชนชั้นปกครองไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นนายทุนหรือทหาร และมองว่าพลเมืองไทยคิดเองไม่เป็น ไม่ทันสมัย “ขาดการศึกษา” และปกครองตนเองไม่ได้ ดังนั้นชนชั้นปกครองไทยจึงอาศัยการปกครองแบบกึ่งเผด็จการเป็นส่วนใหญ่ ความคิดแบบนี้นำไปสู่การมองว่าประชาชนไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะเลือกนักการเมืองได้ การบังคับให้พลเมืองรักกษัตริย์ดุจเทวดาก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดล้าหลังอันนี้ ทั้งๆ ที่กษัตริย์ไทยมีลักษณะทันสมัยในยุคปัจจุบัน คือเป็นเครื่องมือของนายทุนและทหาร

อีกแง่หนึ่งของความล้าหลังและต่างระดับของสังคมไทย คือในเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างสภาพชีวิตคนธรรมดา กับพวก “ผู้ใหญ่” และชนชั้นกลางในสังคม คนไทยจำนวนมากยังยากจน เมื่อเทียบกับเศรษฐีระดับโลกของไทย และการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการและสิทธิพลเมืองยังไม่เกิดอย่างจริงจัง

สภาพการพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับของไทย นำไปสู่ความขัดแย้งที่เราเห็นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นอันหนึ่งคือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพราะเมื่อมีนักการเมืองนายทุน คือทักษิณและพรรคพวก เข้ามาเสนอแผนที่จะพัฒนาชีวิตประชาชนหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นโครงการสร้างงานหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค พลเมืองจำนวนมากชื่นชมและเทคะแนนเสียงให้ในการเลือกตั้ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่นักการเมืองและทหารหัวเก่าที่ไม่เข้าใจความไม่พอใจที่ดำรงอยู่ในสังคมที่พัฒนาไปไกลแล้ว

เราควรเข้าใจว่าทฤษฏี “การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ” ของตรอทสกี้ ใช้อีกทฤษฏีหนึ่งเป็นคู่ฝาแฝด คือ “ทฤษฏีปฏิวัติถาวร” (Permanent Revolution) ทั้งตรอทสกี้ และคาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่า ชนชั้นนายทุนในประเทศด้อยพัฒนาไม่เคยมีประวัติศาสตร์ที่ก้าวหน้าเท่านายทุนในประเทศพัฒนา เพราะไม่เคยนำการปฏิวัติล้มระบบขุนนาง นายทุนส่วนใหญ่หลังยุค 1848 เป็นนายทุนขี้ขลาด กลัวกรรมาชีพมากกว่าเกลียดขุนนาง และมุ่งที่จะอนุรักษ์ระบบโดยพร้อมจะประนีประนอมกับอำนาจเผด็จการประเภทที่ปฏิกิริยาที่สุดเสมอ

นักมาร์คซิสต์จึงเสนอว่าผู้ที่จะต้องรับภาระในการปลดแอกประชาชนในโลกปัจจุบัน จะต้องเป็นชนชั้นกรรมาชีพสมัยใหม่ที่กำลังขยายตัวทั่วโลก ชนชั้นกรรมาชีพสำคัญเพราะทำงานรวมหมู่และอยู่ในใจกลางระบบการผลิตและเศรษฐกิจทุนนิยม

สำหรับไทย แนวคิดนี้อธิบายว่าทำไมทักษิณและนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ไม่มีวันนำการต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทหารและพวกอนุรักษ์นิยม เพราะเขากลัวว่าการต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นจะไปไกลกว่าแค่การหมุนนาฬิกากลับไปสู่สภาพการเมืองก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา ทักษิณและพรรคพวกมีส่วนคล้ายและอุดมการณ์ร่วมกับพวกทหารและนักการเมืองอนุรักษ์นิยม มากกว่าที่เขาจะมีกับประชาชนธรรมดา นี่คือสาเหตุที่เขาแช่แข็งการต่อสู้ของเสื้อแดงหลังยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์จนถึงทุกวันนี้

ถ้าเราจะเดินหน้าพัฒนาระบบการเมืองและสังคมไทย เราต้องสร้างพรรคและขบวนการทางสังคมของมวลชนคนชั้นล่าง โดยเฉพาะกรรมาชีพ พรรคและขบวนการนี้ต้องอิสระโดยสิ้นเชิงจากทักษิณและพรรคเพื่อไทย และเราต้องเลิกตั้งความหวังอะไรเลยกับพรรคเพื่อไทยหรือการเลือกตั้งภายใต้อำนาจทหารในอนาคต

การปฏิวัติรัสเซีย 1917

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1917 ซึ่งตามปฏิทินรัสเซียสมัยนั้นตรงกับวันสตรีสากล ท่ามกลางความป่าเถื่อนของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คนงานสตรีจากโรงงานสิ่งทอทั่วเมือง เพทโทรกราด (เซนต์ปิเตอร์สเบอร์ค) ออกมาเดินขบวนแสดงความไม่พอใจกับราคาสินค้า ความอดอยาก และการขาดแคลนขนมปัง แม้แต่พวกพรรคสังคมนิยมใต้ดินอย่าง “บอลเชวิค” กับ “เมนเชวิค” ตอนนั้น ยังไม่กล้าออกมาเรียกร้องให้คนงานเดินขบวนเลย แต่คนงานหญิงนำทางและชวนคนงานชายในโรงเหล็กให้ออกมาร่วมนัดหยุดงานด้วยกัน

ในวันต่อมาคนงานครึ่งหนึ่งในเมือง เพทโทรกราด ออกมาประท้วง และคำขวัญเปลี่ยนไปเป็นการคัดค้านสงคราม การเรียกร้องขนมปัง และการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของกษัตริย์ซาร์ ในขั้นตอนแรกรัฐบาลพยายามใช้ตำรวจติดอาวุธเพื่อปราบคนงาน แต่ไม่สำเร็จ ต่อจากนั้นมีการสั่งทหารให้เข้ามาปราบ แต่ทหารระดับล่างเปลี่ยนข้างไปอยู่กับฝ่ายปฏิวัติหมด และเมื่อมีการสั่งให้ส่งทหารเข้ามาจากนอกเมือง ก็มีการกบฏและเปลี่ยนข้างเช่นกัน ในวันที่สี่คนงานกับทหารติดอาวุธร่วมเดินขบวนโบกธงแดง และเมื่อกษัตริย์ซาร์พยายามเดินทางกลับเข้าเมือง เพทโทรกราด เพื่อ “จัดการ” กับสถานการณ์ คนงานรถไฟก็ปิดเส้นทาง จนรัฐบาลกษัตริย์และซาร์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะลาออก

แต่เมื่อกษัตริย์และรัฐบาลลาออก ใครจะมาแทนที่? ตอนนั้นมีองค์กรคู่ขนานสององค์กรที่มีบทบาทคล้ายๆ รัฐบาลคือ (1) รัฐสภา Duma ที่ประกอบไปด้วยส.ส.ฝ่ายค้านที่เลือกมาจากระบบเลือกตั้งที่ให้สิทธิ์พิเศษกับคนมีทรัพย์สิน (2) สภา โซเวียด ที่มีผู้แทนของคนงานกับทหาร และเป็นสภาที่ต้องจัดการประสานงานการบริหารเมืองและการแจกจ่ายอาหารในชีวิตประจำวัน

สภาโซเวียด

ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐสภา Duma สามารถตั้ง “รัฐบาลชั่วคราว” ของคนชั้นกลางได้ เพราะสภาโซเวียดยินยอม แต่พอถึงเดือนตุลาคม สภาโซเวียดเป็นผู้ก่อตั้งรัฐบาลใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพ

สภาโซเวียด

ในการปฏิวัติอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา ชนชั้นนายทุนและผู้มีทรัพย์สิน มีส่วนในการล้มอำนาจเก่า ทั้งๆ ที่เริ่มลังเลใจหลังจากที่การปฏิวัติเริ่มก้าวหน้าสุดขั้วมากขึ้น แต่ในการปฏิวัติรัสเซีย ชนชั้นนายทุนเข้ากับอำนาจเก่าของกษัตริย์ซาร์ตลอด เพราะกลัวพลังของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยม

ในเดือนกุมพาพันธ์ พรรคสังคมนิยมสองพรรค คือพรรคบอลเชวิค กับพรรคเมนเชวิค ยังเชื่อว่าการปฏิวัติต้องเป็นเพียงการปฏิวัตินายทุน โดยที่ เมนเชวิค มองว่าชนชั้นกรรมาชีพต้องช่วยนายทุน แต่ บอลเชวิค มองว่ากรรมาชีพต้องนำการปฏิวัติ ดังนั้น บอลเชวิค อย่าง สตาลิน กับ มอลอทอฟ จาก เมนเชวิค และนักสังคมนิยมจำนวนมาก เสนอให้สภาโซเวียดสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของพวกชนชั้นกลาง ในขณะที่กรรมกรพื้นฐานไม่พอใจและไม่ไว้ใจรัฐบาลใหม่ ในช่วงนั้น ทั้ง เลนิน และตรอทสกี ซึ่งมีความคิดว่ากรรมาชีพต้องยึดอำนาจรัฐและปฏิวัติสังคมนิยม ยังอยู่นอกประเทศ

การบริหารของรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง ภายใต้นักสังคมนิยมปฏิรูปชื่อ คาเรนสกี้ กลายเป็นที่ไม่พอใจของมวลชน ทั้งในหมู่ทหารที่เป็นลูกหลานเกษตรกร เกษตรกรเอง และคนงานกรรมาชีพ เพราะรัฐบาลนี้ต้องการทำสงครามต่อและไม่ยอมแก้ไขปัญหาอะไรเลย

ทหารรัสเซียกับเยอรมันกอดกันฉลองการยุติสงครามโดยบอลเชวิค

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนี้ สมาชิกพรรคสังคมนิยม “เมนเชวิค” ส่วนใหญ่สนับสนุนสงคราม ในขณะที่พรรคสังคมนิยม “บอลเชวิค” ของ เลนิน คัดค้านสงคราม เลนิน เสนอมาตลอดว่าเป้าหมายในการเคลื่อนไหวของพรรค ไม่ใช่เพื่อไปสนับสนุนปัญญาชนฝ่ายซ้าย หรือผู้นำสหภาพแรงงานในระบบรัฐสภาทุนนิยม แต่เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายนักปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพที่จะล้มระบบทุนนิยม นี่คือสาเหตุที่พรรคบอลเชวิคได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในหมู่กรรมกรเมือง เพทโทรกราด ซึ่งเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมทันสมัย และในบางแห่งมีโรงงานขนาดใหญ่กว่าในสหรัฐอเมริกาอีก

มีอีกพรรคหนึ่งที่มีความสำคัญในยุคนั้นคือ “พรรคปฏิวัติสังคม” ซึ่งไม่ใช่พรรคมาร์คซิสต์ แต่เติบโตมาจากแนวลุกฮือของนักสู้ชนชั้นกลางกลุ่มเล็กๆ เดิมพรรคนี้มีฐานเสียงในชนบทในหมู่เกษตรกรยากจน แต่เมื่อแกนนำพรรคไปสนับสนุนสงครามและรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง โดยไม่แก้ไขปัญหาในชนบท เริ่มมีสมาชิกพรรคจำนวนมากแยกตัวออกไปตั้ง “พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย”

เลนินเดินทางกลับถึงรัสเซีย

ในตอนแรกพรรคบอลเชวิคเต็มไปด้วยความสับสนเพราะแกนนำ อย่าง สตาลิน ไปสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง ในขณะที่คนงานรากหญ้าไม่พอใจ แต่เมื่อ เลนิน เดินทางกลับเข้าสู่รัสเซีย และเริ่มโจมตีนโยบายเก่าของแกนนำบอลเชวิค เริ่มเรียกร้องให้โซเวียดล้มรัฐบาล และเริ่มรณรงค์ต่อต้านสงครามอย่างเป็นระบบ พรรคบอลเชวิคก็ขยายฐานเสียงในเมือง เพทโทรกราด อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่พรรคปฏิวัติสังคมมีเสียงข้างมากในสภาโซเวียด พอถึงวันประชุมใหญ่ครั้งที่สองในวันที่ 25 ตุลาคม 1917 (ตามปฏิทินรัสเซียสมัยนั้น) ปรากฏว่าพรรคบอลเชวิคได้ 53% ของผู้แทน และพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้ายได้อีก 21% รวมเป็น 74% ของผู้แทนที่ต้องการปฏิวัติสังคมนิยม

เลนินกับตรอทสกี้

ก่อนที่จะถึงจุดนั้น มีการเดินหน้าถอยหลัง เช่นช่วงเดือนกรกฏาคมมีการลุกฮือของทหารและคนงานที่ถูกรัฐบาลชั่วคราวปราบ และแกนนำบอลเชวิคถูกจำคุกหรือต้องหลบหนี ต่อมานายพล คอร์นิลอฟ พยายามทำรัฐประหารเพื่อก่อตั้งเผด็จการทหารฝ่ายขวา แต่พรรคบอลเชวิคออกมาปกป้องและทำแนวร่วมกับรัฐบาลชั่วคราว เพื่อยับยั้งรัฐประหารจนสำเร็จ ในขณะเดียวกัน การที่บอลเชวิคเป็นอำนาจสำคัญที่สุดในการสู้กับรัฐประหารฝ่ายขวา ทำให้รัฐบาลชั่วคราวหมดสภาพไป พร้อมกันนั้นในชนบท เกษตรกรยากจนไม่รอใคร ตัดสินใจยึดที่ดินมาแจกจ่ายกันเอง นี่คือสภาพสังคมที่สุกงอมกับการปฏิวัติสังคมนิยม

ทหารแดงยึดถนนต่างๆ ในเมือง

การปฏิวัติเดือนตุลาคม ต่างจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อ 8 เดือนก่อน เพราะไม่มีความวุ่นวาย ยิงกันน้อยมาก และไม่มีใครตาย สาเหตุไม่ใช่เพราะ “เป็นการทำรัฐประหาร” อย่างที่นักประวัติศาสตร์บางคนอ้าง แต่เป็นเพราะเป็นการปฏิวัติโดยมวลชนที่มีการประสานกัน ผ่านองค์กรที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากคนงาน ทหารเกณฑ์ และเกษตรกร องค์กรนี้ชื่อ “คณะกรรมการทหารปฏิวัติของโซเวียดเมือง เพทโทรกราด” องค์กรปฏิวัตินี้ ซึ่งมีผู้แทนส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิค สามารถตัดสินใจด้วยความชอบธรรม เพราะมวลชนเลือกมาในระบบที่ถอดถอนผู้แทนได้เสมอ และเมื่อมีคำสั่งจากองค์กรนี้ มวลชนทุกฝ่ายก็จะทำตาม เพราะเป็นองค์กรของมวลชน ซึ่งต่างจากรัฐบาล “ชั่วคราว” โดยสิ้นเชิง

สมาชิกพรรคบอลเชวิคแจกใบปลิว

สิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซียในเดือนตุลาคม 1917 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่แล้วมาในการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 หรือในการลุกฮือที่ฝรั่งเศสปี 1848 และ 1871 คนงานกับคนจนในปารีสเป็นพลังสำคัญ แต่ถูกแย่งอำนาจไปโดยชนชั้นนายทุนหรือถูกปราบปรามอย่างหนัก ในรัสเซียครั้งนี้ สภาของชนชั้นกรรมาชีพ ทหาร และเกษตรกรรายย่อย สามารถยึดอำนาจรัฐในประเทศที่มีประชากร 160 ล้านคน มันเป็นการพิสูจน์ว่าเราสามารถสร้างระบบสังคมนิยมโลกได้

อย่างไรก็ตามแกนนำการปฏิวัติสังคมนิยม อย่าง เลนิน หรือ ตรอทสกี เข้าใจดีว่าเขาเผชิญหน้ากับปัญหามหาศาล รัสเซียเป็นประเทศล้าหลังที่มีความก้าวหน้ากระจุกอยู่ที่แค่เมือง เพทโทรกราด เกษตรกรจำนวนมากของรัสเซียไม่ได้สนับสนุนการปฏิวัติสังคมนิยมเพราะอุดมการณ์ แต่เขาสนับสนุนการปฏิวัติเพราะมันนำไปสู่การกระจายที่ดินไปสู่เกษตรกร ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดในการปฏิวัติทุนนิยมที่ฝรั่งเศส ดังนั้นถ้าการปฏิวัติสังคมนิยมนี้จะได้รับการสนับสนุนยาวนานถาวรจากเกษตรกร ต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกร แต่สิ่งนี้ทำไม่ได้ในรัสเซีย โดยเฉพาะในช่วงที่มีความเสียหายจากสงคราม ถ้าจะทำ ต้องทำผ่านการขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นเยอรมัน ซึ่งในประเทศต่างๆ ของยุโรปตะวันตกก็มีการลุกฮือกบฏและต่อต้านสงครามมากพอสมควร

เลนิน ฟันธงไปเลยว่าถ้าไม่มีการปฏิวัติในเยอรมัน การปฏิวัติรัสเซียจะไปไม่รอด ในต้นปี 1918 มีการลุกฮือนัดหยุดงานโดยคนงาน ห้าแสนคน ในอุตสาหกรรมเหล็กของ ออสเตรีย และเยอรมัน แต่คนงานเหล่านี้ไปหลงไว้ใจผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิรูป SPD และผลคือผู้นำเหล่านั้นหักหลังคนงาน โรซา ลัคแซมเบอร์ ซึ่งตอนนั้นติดคุกอยู่ เพราะต้านสงคราม เขียนว่า “ผู้นำพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นพวกขี้ขลาดที่แย่ที่สุด เพราะพร้อมจะนิ่งเฉยปล่อยให้รัสเซียตาย”

การที่แกนนำพรรค SPD เยอรมันหักหลังคนงานและทำลายกระแสนัดหยุดงาน ซึ่งอาจขยายไปเป็นการปฏิวัติได้ เป็นการเปิดโอกาสให้นายพลเยอรมันส่งทหารบุกเข้าไปยึดพื้นที่ยูเครน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของรัสเซีย นอกจากนี้กองทัพของอังกฤษ ฝรั่งเศส เชค และญี่ปุ่น บุกเข้าไปยึดส่วนต่างๆ ของรัสเซียเช่นกัน และในไม่ช้าพรรคเมนเชวิค และพรรคปฏิวัติสังคม ภายในรัสเซียเอง ก็เริ่มจับอาวุธเพื่อทำลายการปฏิวัติ ในสภาพเช่นนี้พรรคบอลเชวิคต้องตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ทั้งในลักษณะเผด็จการและในลักษณะการทหาร เพื่อเอาชนะศัตรู

อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติสังคมนิยมไม่ได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพและศัตรูเหล่านี้ เพราะคนจนส่วนใหญ่ในรัสเซียสนับสนุนการปฏิวัติและพร้อมจะสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขา ลีออน ตรอทสกี สามารถรวบรวมคนงานและทหารเพื่อก่อตั้ง “กองทัพแดง” ที่เอาชนะ “กองทัพขาว” ทั้งหลายได้ แต่ชัยชนะของนักปฏิวัติรัสเซียเป็นชัยชนะราคาแพง

การที่ต้องระดมพลเพื่อสร้างกองทัพแดง และเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ในสภาพที่เศรษฐกิจย่ำแย่ หมายความว่าพลังการผลิตของชนชั้นกรรมาชีพสูญหายไป เพราะโรงงานต่างๆ ต้องปิด และกองกำลังแดงกับพรรคคอมมิวนิสต์ (พรรคบอลเชวิคเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์) กลายเป็นอำนาจที่ลอยอยู่เหนือสังคม และตลอดเวลา แกนนำพรรครอและหวังว่าจะมีการปฏิวัติในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก เพื่อมาช่วยกู้สถานการณ์ในรัสเซีย แต่ในที่สุดเขาต้องผิดหวัง

สภาพแบบนี้เปิดทางให้ สตาลิน สามารถยึดอำนาจได้หลังจากที่เลนินตาย และสตาลินก็เดินหน้าทำลายสิทธิเสรีภาพและสังคมนิยมในรัสเซียอย่างถอนรากถอนโคน แต่การสร้างเผด็จการของสตาลินจำต้องอาศัยการโกหกหลอกลวงอันยิ่งใหญ่ เพราะมีการอ้างว่ารัสเซียยังเป็นสังคมนิยม ทั้งๆ ที่ชนชั้นกรรมาชีพถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนักในระบบใหม่ที่เขาสร้างขึ้นซึ่งเป็นเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” นอกจากนี้มีการสร้างรูปปั้นเลนินทั่วประเทศ เพื่อสร้างภาพเท็จว่าแนวของสตาลินคือแนวเดียวกับเลนิน มีแค่ตรอทสกี้เท่านั้นที่พยายามรักษาอุดมการณ์เดิมของการปฏิวัติ แต่ในที่สุดเขาก็โดนคนของสตาลินตามไปฆ่าที่เมคซิโก

ทุกวันนี้การปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ถ้ามนุษย์จะปลดแอกตนเอง ในปัจจุบันชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกขยายตัวอย่างรวดเร็วและเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมนิยม แต่สังคมนิยมจะสร้างได้ก็ต่อเมื่อไม่จำกัดอยู่ในประเทศเดียว ต้องมีการขยายไปสู่ประเทศพัฒนาหลายๆ ประเทศทั่วโลก