การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับกับสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ (Combined and Uneven Development) เป็นวิธีอธิบายกระบวนการพัฒนาในประเทศด้อยพัฒนาท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ คนที่เสนอแนวคิดนี้คือนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ของรัสเซียชื่อ ลีออน ตรอทสกี

ลักษณะสำคัญของรัสเซียในสมัยก่อนการปฏิวัติปี 1917 คือมีความล้าหลังในการพัฒนา ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมถ้าเทียบกับยุโรปตะวันตก หรือสหรัฐ แต่ท่ามกลางความล้าหลังนี้มีบางส่วนที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สุด

ประเทศล้าหลังจะเรียนรู้วิธีคิดและเทคนิคการผลิตจากประเทศที่ก้าวหน้ากว่า ผ่านกระบวนการโลกาภิวัฒน์ของทุนนิยม แต่ไม่ได้เรียนรู้ในลักษณะการเดินย้อนรอยประวัติศาสตร์ของประเทศพัฒนา เพราะประเทศล้าหลังจะได้เปรียบในแง่หนึ่งคือ สามารถรับสิ่งที่ทันสมัยที่สุดในโลกจากประเทศก้าวหน้าได้ทันที จึงมีการก้าวกระโดดสู่ความทันสมัยตามภาพรวมของทุนนิยมโลก

ตรอทสกี้เขียนว่า “มนุษย์เผ่าดั้งเดิมที่ยังใช้ชีวิตโบราณอยู่ในป่า วันนี้อาจใช้ธนูและหอก แต่พรุ่งนี้ ถ้ามีโอกาสสัมผัสกับคนจากภายนอก จะสามารถจับปืนมาใช้ได้ทันที”

อย่างไรก็ตาม การก้าวกระโดดข้ามขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ไม่เคยเป็นเรื่อง “กฏเหล็ก” ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในทุกเรื่อง และบางครั้งการรับสิ่งที่ทันสมัยมาใช้โดยสังคมล้าหลัง อาจรับมาในลักษณะเพี้ยนๆ ก็ได้ เช่นการนำระบบคิดใหม่มาเสริมสร้างรูปแบบการปกครองแบบล้าหลัง กรณี รัชกาลที่๕ ในไทย เป็นตัวอย่างที่ดี คือรับรูปแบบการบริหารรัฐและเศรษฐกิจทุนนิยมมาใช้เพื่อเสริมอำนาจกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

ถ้าประวัติศาสตร์มีกฏเหล็กทั่วไป กฏนั้นคงจะระบุว่าการพัฒนาของประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียม ต่างระดับ และความไม่แน่นอนเสมอ

ในเรื่องของความ “ต่างระดับ” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการรับสิ่งใหม่ๆ จากโลกแบบองค์รวม เราจะเห็นจากรัสเซีย ในปี 1914 คือรัสเซียยากจนกว่าสหรัฐประมาณ 10 เท่า แต่ 40% ของอุตสาหกรรมรัสเซียเป็นอุตสาหกรรมทันสมัยขนาดใหญ่ที่มีกรรมาชีพจำนวนมากในโรงงานเดียวกัน ในขณะที่เพียง 18% ของอุตสาหกรรมสหรัฐเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่พร้อมๆ กันนั้นรัสเซียมีความล้าหลังดำรงอยู่ คือมีชาวนากึ่งทาสเป็นล้านๆ คน ซึ่งสหรัฐไม่มี

กรรมาชีพในประเทศล้าหลังมีสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของกองหน้ากรรมาชีพโลกได้ทันที ทั้งในด้านจิตสำนึก ระดับการศึกษา และฝีมือ คือไม่ต้องผ่านการพัฒนาเป็นร้อยๆปี แบบที่เคยเกิดขึ้นในตะวันตก ลูกชาวนาในไทยที่เข้าสู่ระบบโรงงาน ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานได้ และคนไทยที่อยู่ในเมืองกับชนบทเรียนรู้วิธีใช้อินเตอร์เน็ดได้อย่างรวดเร็ว ไม่แพ้คนตะวันตก

แต่หลายแง่ของระบบการเมืองและสังคมในไทย ยังติดอยู่ในระดับล้าหลัง เช่นแนวคิดของชนชั้นปกครองไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นนายทุนหรือทหาร และมองว่าพลเมืองไทยคิดเองไม่เป็น ไม่ทันสมัย “ขาดการศึกษา” และปกครองตนเองไม่ได้ ดังนั้นชนชั้นปกครองไทยจึงอาศัยการปกครองแบบกึ่งเผด็จการเป็นส่วนใหญ่ ความคิดแบบนี้นำไปสู่การมองว่าประชาชนไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะเลือกนักการเมืองได้ การบังคับให้พลเมืองรักกษัตริย์ดุจเทวดาก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดล้าหลังอันนี้ ทั้งๆ ที่กษัตริย์ไทยมีลักษณะทันสมัยในยุคปัจจุบัน คือเป็นเครื่องมือของนายทุนและทหาร

อีกแง่หนึ่งของความล้าหลังและต่างระดับของสังคมไทย คือในเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างสภาพชีวิตคนธรรมดา กับพวก “ผู้ใหญ่” และชนชั้นกลางในสังคม คนไทยจำนวนมากยังยากจน เมื่อเทียบกับเศรษฐีระดับโลกของไทย และการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการและสิทธิพลเมืองยังไม่เกิดอย่างจริงจัง

สภาพการพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับของไทย นำไปสู่ความขัดแย้งที่เราเห็นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นอันหนึ่งคือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพราะเมื่อมีนักการเมืองนายทุน คือทักษิณและพรรคพวก เข้ามาเสนอแผนที่จะพัฒนาชีวิตประชาชนหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นโครงการสร้างงานหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค พลเมืองจำนวนมากชื่นชมและเทคะแนนเสียงให้ในการเลือกตั้ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่นักการเมืองและทหารหัวเก่าที่ไม่เข้าใจความไม่พอใจที่ดำรงอยู่ในสังคมที่พัฒนาไปไกลแล้ว

เราควรเข้าใจว่าทฤษฏี “การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ” ของตรอทสกี้ ใช้อีกทฤษฏีหนึ่งเป็นคู่ฝาแฝด คือ “ทฤษฏีปฏิวัติถาวร” (Permanent Revolution) ทั้งตรอทสกี้ และคาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่า ชนชั้นนายทุนในประเทศด้อยพัฒนาไม่เคยมีประวัติศาสตร์ที่ก้าวหน้าเท่านายทุนในประเทศพัฒนา เพราะไม่เคยนำการปฏิวัติล้มระบบขุนนาง นายทุนส่วนใหญ่หลังยุค 1848 เป็นนายทุนขี้ขลาด กลัวกรรมาชีพมากกว่าเกลียดขุนนาง และมุ่งที่จะอนุรักษ์ระบบโดยพร้อมจะประนีประนอมกับอำนาจเผด็จการประเภทที่ปฏิกิริยาที่สุดเสมอ

นักมาร์คซิสต์จึงเสนอว่าผู้ที่จะต้องรับภาระในการปลดแอกประชาชนในโลกปัจจุบัน จะต้องเป็นชนชั้นกรรมาชีพสมัยใหม่ที่กำลังขยายตัวทั่วโลก ชนชั้นกรรมาชีพสำคัญเพราะทำงานรวมหมู่และอยู่ในใจกลางระบบการผลิตและเศรษฐกิจทุนนิยม

สำหรับไทย แนวคิดนี้อธิบายว่าทำไมทักษิณและนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ไม่มีวันนำการต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทหารและพวกอนุรักษ์นิยม เพราะเขากลัวว่าการต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นจะไปไกลกว่าแค่การหมุนนาฬิกากลับไปสู่สภาพการเมืองก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา ทักษิณและพรรคพวกมีส่วนคล้ายและอุดมการณ์ร่วมกับพวกทหารและนักการเมืองอนุรักษ์นิยม มากกว่าที่เขาจะมีกับประชาชนธรรมดา นี่คือสาเหตุที่เขาแช่แข็งการต่อสู้ของเสื้อแดงหลังยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์จนถึงทุกวันนี้

ถ้าเราจะเดินหน้าพัฒนาระบบการเมืองและสังคมไทย เราต้องสร้างพรรคและขบวนการทางสังคมของมวลชนคนชั้นล่าง โดยเฉพาะกรรมาชีพ พรรคและขบวนการนี้ต้องอิสระโดยสิ้นเชิงจากทักษิณและพรรคเพื่อไทย และเราต้องเลิกตั้งความหวังอะไรเลยกับพรรคเพื่อไทยหรือการเลือกตั้งภายใต้อำนาจทหารในอนาคต