แนวทางการสร้างพรรคของ เลนิน กับบริบทสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั้งๆ ที่ เลนิน เป็นนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่แล้วในประเทศรัสเซีย แต่วิธีการในการสร้างพรรคกรรมาชีพของเขา มีหลายประเด็นที่สำคัญสำหรับสังคมไทยในยุคนี้

ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องแนวคิดของเลนินในเรื่องพรรค ผมจะขอฟันธงว่า คนไทยที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่างหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” เพราะกรอบที่เผด็จการกำหนดไว้นี้จะทำให้พรรคสังคมนิยมหรือพรรคของคนชั้นล่างลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ กรอบ“ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” นี้กำหนดมาเพื่อสร้างแค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายในไทย ไม่ควรลังเลที่จะสร้างพรรค ควรเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลย เพื่อเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้านอกรัฐสภา พูดง่ายๆ “พรรค” กับการเลือกตั้งรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอ

ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน

ผู้ที่สนใจที่จะสร้างพรรคสังคมนิยมในไทย ซึ่งเป็นรูปแบบพรรคของคนชั้นล่างที่ดีที่สุด จะต้องเข้าใจกันว่าเป้าหมายของพรรคในที่สุด คือการล้มระบบทุนนิยมผ่านการลุกฮือของมวลชน การลุกฮือแบบนี้จะนำไปสู่การปกครองกันเองของคนชั้นล่าง เพราะตราบใดที่เราไม่ล้มระบบทุนนิยม เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ที่มีความเท่าเทียมได้ กรุณาเข้าใจอีกด้วยว่า “สังคมนิยม” ที่กำลังเอ่ยถึง แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่พบในจีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ หรือในอดีตโซเวียด [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2vbhXCO]

สำหรับ เลนิน พรรคสังคมนิยมจะต้องสร้างรากฐานในหมู่คนทำงานหรือชนชั้นกรรมาชีพ เพราะชนชั้นนี้มีพลังทางเศรษฐกิจมหาศาลถ้ารู้จักสามัคคีกัน พรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมเสมอ ด้วยเหตุนี้เงินทุนของพรรคต้องมาจากสมาชิกที่เป็นคนธรรมดาเท่านั้น และพรรคก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด หรือนโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรงเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค โดยไม่มีใครที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่พอถกเถียงกันแล้ว เมื่อมีการลงมติ ลูกพรรคควรจะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่

เลนิน มักจะเน้นเสมอว่าพรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

ถ้าพรรคเน้นแต่การต่อสู้เรื่องปากท้องอย่างเดียว พรรคจะไม่ต่างจากสหภาพแรงงานสามัญ และที่สำคัญคือ พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคของนายทุน จะสามารถครองใจมวลชนจนผูกขาดการวิเคราะห์ประเด็นการเมืองได้ และการวิเคราะห์ดังกล่าวจะกระทำจากมุมมองนายทุนเสมอ ในบริบทสังคมไทย ถ้าพรรคสังคมนิยมไม่สนใจการเมืองด้านกว้างจากจุดยืนคนชั้นล่าง พรรคของคนอย่างทักษิณจะเข้ามาครองใจคนส่วนใหญ่ได้ง่าย และสามารถนำหรือยกเลิกการต่อสู้ได้ตามใจชอบ อย่างที่เราเห็นมาแล้ว

เราควรจะเข้าใจว่า ทั้งๆ ที่พรรคของทักษิณมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แล้วโดนทหารก่อรัฐประหาร แต่ทักษิณและพรรคพวกต้องการจำกัดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกรอบที่เป็นประโยชน์กับเขา ผลของการต่อสู้แค่ครึ่งทางแบบนี้ คือความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2hryRoB ]

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพรรคไม่สนใจประเด็นปากท้อง และไม่ร่วมกับมวลชนนอกพรรคในการต่อสู้เพื่อพัฒนาชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ก็จะแค่เป็นกลุ่มที่พูดเก่ง แต่ไม่ลงมือทำอะไร ไม่มีวันขยายการต่อสู้ได้ ดังนั้นพรรคจะต้องโฆษณาขยายความคิดและปลุกระดมการต่อสู้พร้อมกัน

การผสมผสานยุทธศาสตร์สองอย่างนี้เข้าด้วยกัน แปลว่าพรรคจะต้องชักชวนให้มวลชนมองภาพกว้างทางการเมืองจากชีวิตประจำวันเสมอ และจะต้องเชื่อมโยงทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิทางเพศ สิทธิของเชื้อชาติต่างๆ เรื่องประชาธิปไตย และสถานการณ์ในโลกภายนอกประเทศไทยอีกด้วย

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

นอกจากพรรคจะต้องมีแนวความคิดของตนเอง หรือพูดง่ายๆ มี “ทฤษฏี” ในการเข้าใจสังคม พรรคต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และเป็นองค์กรที่เป็น “ความทรงจำ” ของคนชั้นล่าง เพราะถ้าไม่มีความทรงจำแบบนี้ มวลชนต้องเริ่มจากสูญทุกครั้งที่ออกมาเคลื่อนไหว แทนที่จะมีการสรุปบทเรียนจากอดีต

ในบริบทสังคมไทย การที่จะสร้างพรรคแบบนี้ควรเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายต่างๆ ในขบวนการแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน การสร้างพรรคสังคมนิยมจะต้องไม่เริ่มต้นจากการคุยกันว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วม หรือการถกกันเรื่องการลงทะเบียน

บทความนี้ในบางส่วนอาศัยความคิดที่เสนอในหนังสือ “Lenin For Today” (2017) โดย John Molyneux. Bookmarks Publications.