เราทุกคนไม่มีวันเป็นเสรีชนตราบใดที่ยังมีนักโทษการเมืองและกฏหมาย 112
Monthly Archives: December 2017
สตรีกับพระธาตุ “หมากับคนจีน(และผู้หญิง) ห้ามเข้า”
ใจ อึ๊งภากรณ์
[บทความเก่า ตีพิมพ์ในวารสาร ADAY ๒๓ กรกฏาคม ๒๕๔๗]
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเป็นยุคที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกแบ่งกันปกครองเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีน ในย่านคนรวยของชาวตะวันตก จะมีป้ายเขียนว่า “ห้ามหมากับคนจีนเข้าโดยเด็ดขาด”… ในกรุงเทพฯในศตวรรษที่ 21 บางครั้งเราจะเห็นป้ายตามข้างถนนที่เขียนไว้ว่า “คนงานต่างด้าวเป็นอาชญากรที่นำเชื้อโรคเข้ามาในประเทศ” ในสหรัฐอเมริกาในทศวรรษที่ 50 รถเมล์สาธารณะมักจะติดป้ายว่า “ห้ามคนผิวดำนั่งหน้า” ในเยอรมันภายใต้นาซีมีการติดป้าย “ห้ามคนยิวเข้า” ตามส่วนต่าง ๆ ของเมือง และตามวัดวาอารามบางแห่งในภาคเหนือของประเทศไทยทุกวันนี้ ยังติดป้าย “ห้ามผู้หญิงเข้า”
สาเหตุที่วัดวาอารามห้ามผู้หญิงเข้าไปใน “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” ก็เพราะชาวพุทธคับแคบ หัวโบราณ ที่ติดป้ายเหล่านั้น มองว่าผู้หญิงสกปรก พวกนี้มองว่าประจำเดือนของผู้หญิงเป็นเรื่องสกปรกเช่นกัน ทั้ง ๆ ที่ประจำเดือนของผู้หญิงเป็นวัฏจักรธรรมชาติของร่างกายสตรี ที่รักษาสภาพความพร้อมและสดชื่นของร่างหญิงที่จะเลี้ยงลูกในครรภ์ การที่พวกชาวพุทธประเภทนี้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งโสโครก แสดงว่าเขาไม่เข้าใจข้อมูลพื้นฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ งมงายอยู่ในความโง่เขลาทางปัญญา แต่ที่ร้ายกว่านั้นจมอยู่ในอคติต่อเพศสตรี เพศแม่ โดยมองว่าชายดีเลิศกว่าเสมอ เราต้องถามว่าชายพวกนี้ และหญิงที่ถูกหลอกให้เชื่อแบบนี้ จนส่งเสริมสนับสนุนให้มีการติดป้ายแบบที่ดูถูกผู้หญิงตามวัดวาอาราม เคยถ่ายอุจาระ หรือ อาเจียน หรือ ขับปัจสาวะบ้างหรือไม่ในชีวิต? และหลังจากเขาทำสิ่งเหล่านั้นเขาล้างมือหรือเปล่าก่อนเข้าวัด? เพราะอย่างน้อยชาวมุสลิมซึ่งเป็นกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกสังคมไทยเหยียดหยาม เขาล้างมือแน่
ทำไมวัดวาอารามในภาคเหนือของประเทศไทย ไม่ติดป้ายว่า “คนเบียดเบียนคนอื่น เช่น นายทุนที่ขูดรีด เจ้าพ่อที่ใช้ความรุนแรง ข้าราชการที่โกงกิน ตำรวจที่ยิงคนทิ้งโดยไม่ขึ้นศาล นักการเมืองที่โกหกประชาชน หรือคนที่ก่อสงคราม ฯลฯ ห้ามเข้า”? ผู้หญิงสกปรกกว่าพวกนั้นหรือ? คำตอบง่าย ๆ ก็คือ ศาสนาพุทธนิกายล้าหลังประเภทที่เราเจอในบางส่วนของภาคเหนือ สอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้ที่เบียดเบียนคนส่วนใหญ่ในสังคม ชนชั้นปกครองนั่นเอง และในสังคมชนชั้นพวกนี้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองล้านนาในอดีต หรือชนชั้นนายทุนในปัจจุบัน ได้ประโยชน์จากการกดขี่ผู้หญิง
ในขณะที่ศาสนาพุทธประเภทนั้นมองว่าผู้หญิงโสโครกและต่ำต้อย แต่ในอีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึง ศาสนาพุทธได้ดูดกินส่วนเกินที่ผลิตโดยผู้หญิง มาเป็นประโยชน์ เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่ทำบุญมากที่สุดในสังคมไทย แต่ผู้หญิงไม่มีสิทธิที่จะมีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา มีการกีดกันไม่ให้ผู้หญิงบวชเป็นพระ โดยอาศัยข้ออ้างเหลวไหลว่าผู้หญิง รักษาวินัยไม่เป็น ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงในฐานะที่เป็นเพศที่ถูกกดขี่มากที่สุด เข้าใจดีว่า “ความอดทน” คืออะไร
การมองว่าผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นคนโสโครก สอดคล้องกับการบังคับให้ผู้หญิงรับภาระหลักในงานบ้าน และการเลี้ยงดูลูก โดยมีการกีดกันบทบาทของผู้หญิงในการเป็นผู้นำของสังคมภายนอกบ้าน เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกับทัศนะคติคับแคบเกี่ยวกับ เกย์ กะเทย ทอม ดี้ และเป็นเรื่องเดียวกับทัศนะคับแคบต่อพี่น้องคนงานพม่า หรือคนชนเผ่า เพราะการเหยียดหยาม ”ผู้อื่น” ที่ไม่ใช่ “ไทยแท้” เป็นวิธีการบังคับให้เขายอมทำงานประเภทสกปรก และอันตรายโดยที่ได้รับค่าจ้างแรงงานต่ำ แต่ที่สำคัญที่สุดคือมันเป็นวิธีการปลุกระดม ให้คนธรรมดาส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นชายหญิง กะเทย คนพม่า หรือ คนบนดอย แตกแยกกัน เพราะตราบใดที่เราแตกแยกกัน เราจะไม่สามัคคีโค่นล้มระบบงี่เง่านี้
ที่เมืองจีนเขาต้องมีการปฏิวัติ ป้ายเหยียดหยามมันจึงถูกดึงลงมา
กรณีความไม่พอใจของผู้ที่อ้างว่าเป็น ”พุทธศาสนิกชน” ต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ ของ สว.ระเบียบรัตน์ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะความคิดคับแคบและปฏิกิริยามีมานานในการตีความศาสนาพุทธของคนบางกลุ่ม ในประเด็นนี้มีพุทธศาสนิกชนอีกส่วนหนึ่งตีความในด้านตรงข้าม เขามองว่าศาสนาพุทธเป็นปรัชญาของ สิทธัตถะ ผู้นำการกบฏเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมวรรณะของอินเดีย พุทธจึงเปิดกว้าง ส่วนผู้รักความเป็นธรรมอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่นับถือศาสนาเลย อาจจะมองว่า สิทธัตถะ ละเว้นความรับผิดชอบต่อลูกเมียโดยการออกบวช เช่น ในวรรณกรรมของ ศรีดาวเรือง หรือในภาพยนต์ เรื่อง “ซันซาร่า” อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระสงฆ์ธิเบตที่หลงรักผู้หญิง
ทัศนะคติที่น่าสลดใจที่สุดมาจากผู้ที่ควรจะรู้ดีกว่านี้ คือสายชุมชนในภาคเหนือ เช่นธเนศวร์ เจริญเมือง ที่งมงายในท้องถิ่นนิยม และการปกป้องภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างสุดขั้ว จนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรก้าวหน้า หรืออะไรกดขี่ผู้หญิง และไม่สามารถแยกแยะอีกด้วยว่าวัฒนธรรม “โบราณ” ของล้านนาเป็นวัฒนธรรมของคนชนชั้นสูงหรือวัฒนธรรมของชาวบ้านกันแน่ ส่วนใหญ่วัดวาอารามที่เหยียดหยามสตรี มักจะเป็นวัดวาอาราม”ทอง”ของคนชั้นสูง ไม่ใช่วัดเล็ก ๆ ของชาวบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ
ในเรื่องของท่าทีของเจ้าล้านนาในอดีต มีนักมานุษยวิทยาท่านหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องภาคเหนือของประเทศไทย เคยไปสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่เกี่ยวกับทัศนะคติของเขาที่มีต่อเจ้าเมืองเดิม นักวิชาการคนนี้ค้นพบว่าชาวบ้านล้านนา เกลียดชังเจ้าครองเมืองเก่าเพราะมองว่าเมื่อพวกนี้เสด็จผ่านถิ่นของตน เขามักจะฉุดลูกสาวชาวบ้านไปข่มขืน นี่เป็นวัฒนธรรมที่เราควรจะไปปกป้องหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม แม้แต่ชาวบ้านเองก็ยังสามารถมีอคติแคบๆ ตามความคิดชุมชนโบราณ กรณีอคติคับแคบของชาวบ้านต่อเด็กๆ ติดเชื้อ HIV เป็นตัวอย่างที่ดี มีชุมชนบางแห่งในภาคเหนือที่พยายามขับไล่เด็กติดเชื้อออกจากโรงเรียนในหมู่บ้าน เพราะไม่มีจิตสำนึกเรื่องสิทธิเสรีภาพและไม่เข้าใจข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในเรื่องวิธีการแพร่ระบาดของ HIV เป็นต้น
เมื่อไม่นานมานี้ในการสัมมนาที่จุฬาฯ ในโอกาสครบรอบ 72 ปี การปฏิวัติ 2475 มีนักเอ็นจีโอสายชุมชนคนหนึ่งพูดโจมตีวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ที่เขามองว่าเป็น “ศาสตร์ของตะวันตก” สิ่งที่คนนี้พูดมันผิดตั้งแต่แรก เพราะวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่มีรากฐานจากศาสตร์ของชาวอาหรับและชาวจีนในยุคที่ชาวตะวันตกจมอยู่ในความโง่ของชุมชนโบราณ นอกจากนี้การปฏิเสธวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่พยายามเข้าใจ “องค์รวม” ของปัญหาหรือวิธีการรักษาด้วยยาพร้อมกับวิธีการักษาด้วยการพัฒนาสภาพชีวิตโดยรวม เป็นสิ่งที่ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ และมุมมองว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “ตะวันตก” และ “ตะวันออก” ก็เป็นทัศนะคติ “ตะวันตก” แต่แรก แต่ยุคนี้คน “ตะวันออก” นำมาใช้เพื่อพิสูจน์อย่างโง่ๆ ว่าเราต่างจากตะวันตก
ตัวอย่างของการคลั่งชาติ หรือท้องถิ่นนิยมสุดขั้ว ที่เป็นพิษภัยต่อคนธรรมดา คือนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดี อุมเบเค ในอัฟริกาใต้ เพราะอุมเบเคเสนอว่าการวิเคราะห์ว่าโรคเอดส์มาจากไวรัส HIV และรักษาด้วยยาต้านไวรัส “เป็นมุมมองตะวันตกที่หลอกลวงให้คนในอัฟริกาให้ซื้อยาต้านไวรัสจากบริษัทยาข้ามชาติ” นโยบายนี้มีผลด้านเดียวเท่านั้น คือทำให้คนจนในอัฟริกาใต้ที่ติดเชื้อ HIV ตายโดยไม่จำเป็น เพราะรัฐบาลไม่ยอมใช้งบประมาณในการแจกจ่ายยาต้านไวรัสมาหลายปี โชคดีที่นักเคลือนไหวทางสังคมสามารถกดดันให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายในที่สุด
วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความคิดตะวันตกหรือตะวันออก และไม่ใช่ ”ความคิดของชาย” อย่างที่พวกแฟมินิสต์สุดขั้วบางกลุ่มเสนอ มันเป็นวิธีการทำความเข้าใจกับโลกที่พยายามใช้เหตุผลและข้อมูลมากที่สุด แน่นอนบ่อยครั้งวิทยาศาสตร์จะถูกใช้โดยคนชั้นนำหรือกลุ่มทุนในทางที่ผิด เช่นในการกอบโกยกำไร หรือในการทำสงคราม แต่นั้นไม่ใช่ข้อบกพร่องของวิทยาศาสตร์ มันเป็นข้อบกพร่องของระบบอำนาจในสังคมชนชั้นต่างหาก
ในลักษณะเดียวกัน ประชาธิปไตยและอุดมคติเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันของมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ทัศนะ “ฝรั่ง” หรือทัศนะของคนที่ไม่ใช่ไทยหรือล้านนา มันเป็นอุดมการณ์ของเพื่อนมนุษย์ทั่วโลกที่ร่วมกันต่อสู้มานานเพื่อให้เรารอดพ้นจากสภาพความเป็นสัตว์และพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นมนุษย์เต็มตัว เราต้องฟันธงไปเลยว่า ถ้ามันมีความเชื่อใดๆ หรือวัฒนธรรมชุมชนใดๆ ที่มองว่าหญิงเป็นเพศต้อยต่ำ ความเชื่อแบบนี้ล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการพ้นสภาพความเป็นสัตว์ของมนุษย์ ยิ่งกว่านั้น อย่างที่ เลนิน เคยตั้งข้อสังเกต: “ชนชาติใดที่ยอมให้ชนชั้นปกครองของตนเองนำผู้อื่นมาเป็นทาส ย่อมไม่มีวันปลดปล่อยตนเองได้” ในกรณีนั้นเลนินกำลังพูดถึงชนชั้นกรรมาชีพอังกฤษที่ยอมให้สังคมอังกฤษดูถูกคนไอริช แต่เราสามารถขยายไปสู่คนไทยได้ เพราะถ้าคนไทย ไม่ว่าจะมาจากภาคใด เชิดชูการกดขี่สตรี คนไทยก็จะยังเป็นทาสต่อไป ไม่มีวันปลดปล่อยตนเองได้
แล้ว “ขบวนการสิทธิสตรีไทย” หายไปไหนอีกแล้ว? ทำไมไม่ออกมาสนับสนุน ส.ว. ระเบียบรัตน์ และร่วมกันด่าความคับแคบของสังคมวัดในภาคเหนือ? เป็นเพราะอะไรที่ไม่มีการออกมาหนุนกัน เพราะขบวนการสิทธิสตรีกลายเป็นศพภายใต้แนวคิด “หลังทันสมัย” ที่มองว่า “ไม่มีผิดไม่มีถูก” ใช่ไหม? นั่งคุยกันในหอคอยงาช้างถึงวาทกรรมที่กดขี่สตรี แต่เมื่อมีป้ายด่าผู้หญิง กลับ มือไม้อ่อน….
บางคนอาจสงสัยว่าทำไมนักมาร์คซิสต์สนใจในสิทธิเสรีภาพของสตรีที่จะเข้าวัด บางคนอาจคิดว่าเราคงไม่อยากให้ใครเข้าวัดเลยในเมื่อเราไม่เห็นด้วยกับปรัชญาของศาสนาใดๆ ก็จริงนะ เพื่อนมาร์คซิสต์คนหนึ่งของผมถึงกับพูดว่า “ทำไมไปเรียกร้องตรงนี้? ทำไมไม่เผาวัดทิ้งไปเลย?” “ใจเย็นๆ” ผมบอกเขา นอกจากจะเสียดายโบราณสถานสวยงามแล้ว อันโตนีโอ กรัมชี่ นักมาร์คซิสต์อิตาลี่เคยอธิบายว่านักปฏิวัติสังคมต้องสนใจการช่วงชิงความคิดในทุกแง่ทุกมุมของสังคมเพื่อไม่ให้ “ประชาสังคม” กลายเป็นเกราะป้องกันอภิสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง สรุปแล้วแม้แต่ในเรื่องของศาสนานักสังคมนิยมก็ต้องเป็นปากเสียงของเพื่อนมนุษย์ผู้ถูกกดขี่ทั้งหลาย ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่า นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์เป็นผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างแท้จริง เราต่างจากพวกคับแคบในชนชั้นปกครองไทยที่มองว่าควรมีกระทรวงวัฒนธรรมหรือกระทรวงศาสนา เพราะเรามองว่าความเชื่อของปัจเจก ในเรื่องของศาสนา ถ้าไม่เบียดเบียนกดขี่ผู้อื่น เป็นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกเสมอ รัฐไม่ควรยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด
เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลไทยจัดทัศนะศึกษานอกพื้นที่ให้กับมุสลิมภาคใต้ เพื่อให้ไปศึกษาวัฒนธรรมวิถีชีวิตของภาคกลางและภาคอื่น ๆ โดยอ้างว่าเป็นการ“ส่งเสริมให้ชาวภาคใต้มีทัศนะเปิดกว้าง” การกระทำดังเกล่าของรัฐไทย เป็นการพยายามแก้ปัญหาผิดจุด จริง ๆ แล้วรัฐบาลไทยควรจะนำนักการเมือง ข้าราชการ พลเมือง ทหาร ไปศึกษาความดีงามของวิถีชีวิตชาวมุสลิมต่างหาก และในกรณีความคับแคบของศาสนิกชนบางกลุ่มในภาคเหนือ ขอเสนอให้รัฐบาลไทยจัดทัศนะศึกษาให้กับพวกนี้ เพื่อเรียนรู้ถึงความคิดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพทางเพศ ในท้องถิ่นอื่น ๆ ที่ก้าวหน้ากว่าด้วย
ทำไมคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นเดียวไม่มีวันปลดแอกสังคมได้
ใจ อึ๊งภากรณ์
สังคมไทยเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวแบบประเด็นเดียวมาตั้งแต่ยุคเอ็นจีโอ มีคนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องผลประโยชน์ของแรงงาน มีกลุ่มที่รณรงค์เรื่องสิทธิสตรี มีกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนหรือคัดค้านความก้าวร้าวของกลุ่มทุนใหญ่ในพื้นที่ชนบท และมีคนที่เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย ฯลฯ….
การรณรงค์ในประเด็นที่เอ่ยถึงนี้มีประโยชน์และก้าวหน้าทั้งนั้น แต่มีผลจำกัดมากในการแก้ปัญหาระยะยาว และไม่มีผลเลยในการปลดแอกคนส่วนใหญ่ในสังคมจากการกดขี่ของชนชั้นปกครอง
สาเหตุสำคัญคือ
- ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เราต้องแก้ไข และมีคนพยายามรณรงค์แก้ไข มีต้นกำเนิดจากจุดเดียวกันคือระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น การเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนจึงเป็นการเน้นอาการของระบบ แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนระบบ ปัญหาต่างๆ จึงเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง
- การเคลื่อนไหวแบบแยกประเด็นเป็นการเคลื่อนไหวที่อ่อนแอ และไม่สามารถรวมพลังของคนที่ถูกกดขี่หรือเดือดร้อนทั้งหมดได้
- ไม่มีการวิเคราะห์ว่าพลังในการเปลี่ยนสังคมกระจุกอยู่ตรงไหน
ในหลายกรณี คนที่เคลื่อนไหว เช่นพวกเอ็นจีโอ ไม่อยากเปลี่ยนสังคมแต่แรก แค่อยากวิงวอนคนข้างบนที่มีอำนาจ ให้แก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เช่นพวกที่ไปเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลเผด็จการ โดยไม่วิจารณ์รัฐบาลว่าขาดความชอบธรรมเนื่องจากการทำรัฐประหารแต่แรก
ในหลายกรณี คนที่เคลื่อนไหวในประเด็นหนึ่ง อาจไม่อยากสมานฉันท์กับคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นอื่น และไม่สนใจหรือไม่เห็นใจคนที่ถูกกดขี่อื่นๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่นคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันเกลียดเกย์ (อย่างที่อาจารย์ปวินเล่าให้เราฟังเรื่องเสื้อแดงคนหนึ่งที่ออสเตรเลีย) หรือเสื้อแดงบางคนที่เชียงใหม่ หรือการที่เสื้อแดงบางคนในสหรัฐที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมพ์ซึ่งเกลียดชังคนผิวดำ คนมุสลิม และสตรี หรือกรณีเอ็นจีโอต่างๆ ที่เคยโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหารเป็นต้น
หนังสือ “จะทำอะไรดี” ของเลนิน เขียนไว้ในปี 1901 เพื่อวิจารณ์พวกฝ่ายซ้ายที่เน้นแต่ประเด็นปากท้องของชนชั้นกรรมาชีพอย่างคับแคบ เลนินฟันธงว่านักสังคมนิยมจะต้องคัดค้านและเปิดโปงการกดขี่ทุกรูปแบบโดยชนชั้นปกครอง เขาตั้งคำถามว่าการศึกษาทางการเมืองของพรรคสังคมนิยมควรจะเป็นอย่างไร และตอบเองว่าต้องยกตัวอย่างการกดขี่ทุกรูปแบบจากโลกจริงมาพิจารณา และเขาฟันธงอีกว่าจิตสำนึกทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพจะไม่เป็นจิตสำนึกทางการเมืองที่แท้จริง ถ้าไม่มีคำตอบต่อการกดขี่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าการกดขี่นั้นจะมีผลกับชนชั้นใด
ตัวอย่างรูปธรรมของแนวคิดเลนิน คือท่าทีต่อพลเมืองมุสลิมในรัสเซียซึ่งมีจำนวนไม่น้อย พรรคบอลเชวิคของเลนิน ออกคำประกาศในเดือนพฤศจิกายน 1917 หลังการปฏิวัติสำเร็จ ว่า “ชาวมุสลิมในรัสเซีย ซึ่งมัสยิดและประเพณีต่างๆ ของท่านเคยถูกรัฐทำลาย ตอนนี้ท่านมีสิทธิเสรีภาพทางศาสนาเต็มที่ซึ่งจะถูกละมิดไม่ได้… จงเข้าใจว่าการปฏิวัติกรรมาชีพอันยิ่งใหญ่จะปกป้องสิทธิของท่านเสมอ”
และในเรื่องสิทธิเสรีภาพของชาติเล็กที่เคยถูกรัฐบาลรัสเซียกดขี่ เลนินประกาศว่าเขาพร้อมจะทำ “สงคราม” กับแนวคิดชาตินิยมที่กดขี่คนอื่นตลอด
สาเหตุที่เลนินเสนอว่านักสังคมนิยมจะต้องสนับสนุนและมีส่วนร่วมโดยตรงในการต่อสู้ของผู้ที่ถูกกดขี่ในทุกรูปแบบคือ
- มันเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพื้นฐาน และการกดขี่ในทุกรูปแบบมีจุดกำเนิดจากระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น และถูกผลิตซ้ำโดยระบบนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าไม่กำจัดระบบนี้ในที่สุด มนุษย์จะมีเสรีภาพอย่างมั่นคงไม่ได้
- พรรคของชนชั้นกรรมาชีพจะต้องคอยรณรงค์ให้กรรมาชีพทั้งหลายมีจุดยืนที่ก้าวหน้าที่สุด เพื่อให้กรรมาชีพมีส่วนสำคัญในการนำการผลักดันให้เกิดการปลดแอกมนุษย์ในทุกรูปแบบ ทั้งนี้เพราะชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นทางเศรษฐกิจที่จะล้มระบบที่เป็นรากฐานการกดขี่ทั้งหลายได้
- การที่พรรคสังคมนิยมจะชูประเด็นการกดขี่ หรือประเด็นปัญหาหลากหลายของคนในสังคม เป็นสิ่งที่จะสร้างความสามัคคีในการต่อสู้ระหว่างคนที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการปฏิวัติเพื่อปลดแอกมวลมนุษย์
สำหรับประเทศไทย มันแปลว่าเราต้องสร้างพรรคที่สนับสนุนและร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวปาตานี ของสตรี ของเกย์เลสเบี้ยนหรือกะเทย ของคนพิการ ของคนยากจนในชนบท ของกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และของชนกลุ่มน้อย ฯลฯ
[บางส่วนของบทความนี้คัดจากหนังสือของ John Molyneux (2017) “Lenin for Today”, Bookmarks]
มาทำความเข้าใจกับรัฐไทย
ใจ อึ๊งภากรณ์
ในบริบทวิกฤตประชาธิปไตยไทยปัจจุบัน มีแนวความคิดหลายแนวที่สร้างความสับสนในการทำความเข้าใจกับลักษณะแท้ของรัฐไทย
แนวความคิดที่ถือว่าเป็นกระแสหลักมากที่สุด คือความเชื่อว่าการชนะการเลือกตั้งจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ แต่สิ่งที่อาจทำให้นักประชาธิปไตยจำนวนมากตั้งคำถามก็คือ ในเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบสิบปี การชนะการเลือกตั้งดูเหมือนไม่พอ เพราะมีการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยทหารกับศาล
บางคนจะอธิบายว่าทหารกับศาลกำลังทำงานภายใต้การควบคุมของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือบางคนอาจพูดถึงอำนาจของ “รัฐพันลึก”
แต่เกือบตลอดเวลาที่มีวิกฤตประชาธิปไตยไทยรอบนี้ กษัตริย์ภูมิพลป่วยและไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะสั่งการอะไร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประยุทธ์ยึดอำนาจ และในขณะนี้พรรคพวกของเผด็จการประยุทธ์กำลังออกแบบระบบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้แนวยุทธศาสตร์แห่งชาติ ในเรื่องนี้กษัตริย์คนใหม่ก็ไม่เคยแสดงความเห็นหรือแสดงความสนใจแต่อย่างใด ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจรัฐอยู่ในมือของทหารข้าราชการชั้นสูง รวมถึงศาล และในมือของนายทุนใหญ่อีกด้วย ทุกส่วนที่คุมอำนาจรัฐนี้ถือว่าเป็นสมาชิกของชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง เพียงแต่ว่ามีการแบ่งงานและหน้าที่กัน เช่นทหารมีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองด้วยการใช้อาวุธ ยิ่งกว่านั้นส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยก็ทะเลาะกันเป็นประจำ คือทั้งสามัคคีในผลประโยชน์รวมของชนชั้น แต่แย่งชิงกันในเรื่องปลีกย่อยอย่างต่อเนื่อง
จริงๆ แล้วอำนาจของทหาร ข้าราชการชั้นสูง และนายทุนใหญ่ ไม่ใช่อำนาจที่เรามองไม่เห็น เพราะก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร เราก็เห็นกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นรัฐไทยไม่ได้มีอำนาจลึกลับหรือพันลึกแต่อย่างใด ความคิดเรื่องรัฐพันลึกในไทยอาศัยการเข้าใจผิดว่ารัฐควรเป็นกลางและยอมรับกติกาประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงรัฐในระบบทุนนิยมถูกออกแบบเพื่อจำกัดกระบวนการประชาธิปไตยแท้ต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ การที่ยิ่งลักษณ์หรือทักษิณจะชนะการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าทักษิณจะเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครอง เพราะเป็นนายทุนใหญ่ ไม่ได้แปลว่าอำนาจรัฐจะตกอยู่ในมือของเขาคนเดียว เขาต้องแบ่งอำนาจกับส่วนอื่นของชนชั้นปกครอง
แต่ถ้าพรรคการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าพรรคต่างๆ ของทักษิณ โดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน เกิดชนะการเลือกตั้งในอนาคต แน่นอนอำนาจรัฐจะยังคงอยู่ในมือของพวกที่เป็นศัตรูของประชาชน และจะไม่ได้อยู่ในมือของตัวแทนกรรมาชีพและคนจนในรัฐสภาเลย และถ้ารัฐบาลของพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน พยายามจะกำจัดอภิสิทธิ์ชนและความเหลื่อมล้ำในสังคม รัฐบาลนั้นจะถูกโค่นล้มโดยชนชั้นปกครอง
หนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน มีประโยชน์มากในการทำความเข้าใจกับเนื้อแท้ของรัฐไทยภายใต้ระบบทุนนิยมในปัจจุบัน [ดู http://bit.ly/1QPRCP6 ]
เลนินอธิบายว่ารัฐไม่เคยเป็นกลาง และเป็นเครื่องมือสำหรับชนชั้นนายทุนในการกดขี่ชนชั้นล่าง ดังนั้นการที่พรรคของกรรมาชีพจะชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้แปลว่าชนชั้นนายทุนจะมือไม้อ่อนยอมโอนอำนาจให้กรรมาชีพ ตรงกันข้ามรัฐจะพยายามทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกครองประเทศไม่ได้
กรรมาชีพจะใช้รัฐปัจจุบันในการปกครองในรูปแบบใหม่ที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่ได้ เพราะรัฐทุนนิยมปัจจุบันถูกออกแบบเพื่อไม่ให้ประชาชนเป็นใหญ่แต่แรก
จริงๆ แล้ว ระบบการเลือกตั้งรัฐสภาภายใต้รัฐทุนนิยมเป็นวิธีการที่จะสร้างภาพในสังคมว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน แต่มันเป็นภาพลวงตา เพราะถ้าจะสร้างความเท่าเทียมทางอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง ต้องมีการฝืนกฏหมายและกติการที่ถูกสร้างไว้โดยนายทุน เพื่อยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของส่วนรวม และยึดอำนาจทหาร ตำรวจ และศาล มาเป็นของประชาชน ซึ่งแปลว่าต้องปฏิวัติล้มรัฐเก่า และสร้างรัฐในรูปแบบใหม่ที่ไม่มีอภิสิทธิ์ชน และมีประชาธิปไตยแท้ผ่านสภาต่างๆ ในสถานที่ทำงานและในท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ คือประชาชนธรรมดาต้องมีอำนาจโดยตรงในการกำหนดทุกอย่าง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ควรหันหลังให้กับการเลือกตั้งในรัฐสภาหรือสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียง และนี่คือจุดยืนของเลนินด้วย เพราะถ้าเราไม่มีสิทธิเสรีภาพตามกติกาของรัฐนายทุน หรือไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง การจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อสังคมใหม่จะยากขึ้น
สรุปแล้วเราต้องเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยตลอด แต่ในขณะเดียวกัน ต้องไม่หลงคิดว่ารัฐปัจจุบันเป็นกลาง หรือหลงคิดว่าแค่การชนะการเลือกตั้งในระบบทุนนิยมจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ ซึ่งแปลว่าเราต้องพร้อมจะจัดตั้งองค์กรหรือพรรคของคนชั้นล่างที่เคลื่อนไหวไปไกลกว่าแค่ข้อเรียกร้องของเสื้อแดงในอดีต
การทำรัฐประหารซ้ำๆ ตั้งแต่ 19 กันยา ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่พัฒนา
ใจ อึ๊งภากรณ์
เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยทางด้านเศรษฐกิจของบริษัททุนภัทรได้รายงานว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาทางด้านโครงสร้าง ซึ่งทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในอัตราปัจจุบัน ไม่สามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ให้ดีขึ้นได้
ปัจจัยสำคัญที่เป็นปัญหาทางด้านโครงสร้างนี้คือ (1)ความเหยื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนจนกับคนรวย ซึ่งหมายความว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจากการขยายเศรษฐกิจในสิบปีที่ผ่านมา (2)การที่นายทุนไทยไม่ลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตผ่านการจ้างงานที่มีคุณภาพมากขึ้นและอัตราค่าแรงที่สูงขึ้น และผ่านการลงทุนในเทคโนโลจีสมัยใหม่ เพราะนายทุนไทยอาศัยแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน (3)ภาคเกษตรในส่วนที่มีผู้ผลิตรายย่อย ขาดประสิทธิภาพที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร มีแต่ภาคเกษตรภายใต้ทุนใหญ่เท่านั้นที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง
ใครที่ติดตามปัญหาเศรษฐกิจของไทยก่อนและหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี๒๕๔๐ คงจะเข้าใจดีว่าสาเหตุหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจนี้มาจากปัญหาคล้ายๆ กัน
และใครที่ติดตามนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทย และรัฐบาลเพื่อไทย คงจะจำได้ดีว่ารัฐบาลเหล่านี้พยายามจะแก้ไขปัญหาโครงสร้างดังกล่าว รัฐบาลไทยรักไทยพยายามจะใช้งบประมาณรัฐในการสร้างงานในชนบท และลดความเหลื่อมล้ำ มีกองทุนหมู่บ้าน การพักชำระหนี้ให้เกษตรกร และนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค นอกจากนี้มีการพยายามลงทุนในการพัฒนาฝีมือดิจีตอลสำหรับคนรุ่นใหม่ในโรงเรียน ส่วนรัฐบาลเพื่อไทยก็มีโครงการประกันราคาข้าว มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และมีการพยายามพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมให้ทันสมัย
นักการเมืองของพรรคไทยรักไทยอธิบายว่านโยบายดังกล่าวเป็นนโยบาย “คู่ขนาน” ที่ผสมแนวเคนส์ในการใช้รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า และแนวเสรีนิยมกลไกตลาดในระดับที่ไทยต้องแข่งขันในตลาดโลก
แต่พวกหัวอนุรักษ์นิยม ชนชั้นกลาง พรรคประชาธิปัตย์ และทหารเผด็จการ มองว่านโยบายดังกล่าวเป็นการ “ซื้อเสียงผ่านประชานิยม” หรือเป็นการ “สิ้นเปลืองงบประมาณของชาติ” คือเป็นการกระทำที่นำไปสู่การ “ขาดวินัยทางการคลัง” ดังนั้นหลังจากที่ทหารทำรัฐประหาร ก็มีการพยายามยกเลิกหลายส่วนของนโยบายดังกล่าวผ่านลัทธิคลั่งกลไกตลาดเสรีของพวกเผด็จการ และทุกวันนี้ก็มีการพยายามออกแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ภายใต้ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” เพื่อห้ามไม่ให้รัฐบาลในอนาคตแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจเรื้อรังที่ยังเป็นปัญหาอยู่ มีการห้ามไม่ให้รัฐบาลในอนาคตใช้นโยบายที่เพิ่มงบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
สำหรับพวกอนุรักษ์นิยมเหล่านี้การใช้งบประมาณรัฐในการซื้ออาวุธหรือในการจ่ายเงินมหาศาลให้ชนชั้นนำ เป็นการใช้ทรัพยากรของชาติอย่าง “ถูกวิธี”
ผลของสองรัฐประหารทหารและรัฐประหารศาลเตี้ยรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา นอกจากจะนำไปสู่การทำลายประชาธิปไตยในระยะยาวและต่ออายุอำนาจทหารแล้ว ยังเป็นการการหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคที่ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าการแทรกแซงการเมืองและเศรษฐกิจโดยทหาร เป็นการกระทำที่เน้นผลประโยชน์ของคนรวยและชนชั้นกลาง และทำลายผลประโยชน์ของคนทำงานธรรมดาในเมืองและในชนบท
แต่เราต้องเข้าใจอีกว่านโยบายการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยรักไทย และเพื่อไทย มันไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง เพราะมีการปฏิเสธที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ ผ่านการเก็บภาษีระดับสูงจากคนรวย [อ่านเพิ่มเรื่องรัฐสวัสดิการ http://bit.ly/2xryfF7 ]
ยิ่งกว่านั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จะไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแข่งขันในตลาดโลก และแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร ที่เป็นโรคเรื้อรังของระบบทุนนิยม [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2v6ndWf ]
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเน้นกลไกตลาดเสรีอย่างเดียว และการปฏิเสธที่จะใช้งบประมาณรัฐในการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนจน ตามแนวความคิดเผด็จการทหารและพรรคประชาธิปัตย์ มันเป็นนโยบายที่ยิ่งแย่กว่า
ประวัติ โรเบิร์ต มูกาบี้ จากผู้นำขบวนการปลดแอกสู่เผด็จการ
โรเบิร์ต มูกาบี้ เกิดในครอบครัวยากจน แต่ด้วยความพยายามสามารถเดินทางไปเรียนในมหาวิทยาลัย ฟอร์ด แฮร์ ที่ประเทศอัฟริกาใต้ พอเรียนจบเขากลับมาที่ประเทศบ้านเกิดซึ่งตอนนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษที่เรียกว่า “โรดีเชียร์ใต้” ชื่อของประเทศตอนนั้นตั้งขึ้นตามชื่อโจรล่าอาณานิคม เซซิล โรดส์
ในยุคนั้นคนผิวขาวสองแสนกว่าคนมีสิทธิในการเลือกตั้งและครองอำนาจ ในขณะที่คนผิวดำห้าล้านคนไม่มีสิทธิเสรีภาพอะไรเลย นอกจากนี้คนผิวขาวครอบครองที่ดิน 70% ของประเทศ โรดีเชียร์เป็นประเทศที่กดขี่คนผิวดำอย่างเป็นระบบ ไม่ต่างจากอัฟริกาใต้ในยุคเดียวกัน
พอ มูกาบี้ กลับมา เขาเข้าร่วมในขบวนการปลดแอกของคนผิวดำทันที เขามีส่วนสำคัญในการก่อตั้งพรรค Zimbabwe African National Union (Zanu) ในปี 1963 โดยแนวทางของพรรคคือการจับอาวุธเพื่อโค่นล้มชนชั้นปกครองผิวขาว เนื่องจากพรรค Zanu กลายเป็นพรรคผิดกฏหมายในสายตารัฐบาล มูกาบี้ต้องติดคุกหลายปี ในช่วงนั้นเขาสนใจและรับแนวการต่อสู้แบบ “สตาลิน-เหมา” จากจีน มาใช้เป็นแนวทางของพรรค
ในปี 1966 ลูกชายอายุ 3 ขวบของเขาเสียชีวิต และมูกาบี้ขออนุญาตไปงานศพ แต่นายกรัฐมนตรีเผด็จการผิวขาว เอียน สมิท ปฏิเสธ

การกดขี่ปราบปรามขบวนการปลดแอกโดยรัฐบาล ไม่สามารถจะคุมสถานการณ์ได้ และในปี 1978 รัฐบาลของ เอียน สมิท อยู่ในสภาพวิกฤต เพราะต้องรบกับขบวนการจับอาวุธใน 6 จุดทั่วประเทศ รัฐบาลขาดกำลังทหารจนต้องเกณฑ์ชายทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ไปรบ และต้องหาทหารรับจ้างมาเสริมอีก รัฐบาลหมดทางเลือกและต้องยอมเจรจา
ในปี 1974 มูกาบี้ ซึ่งได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค Zanu ขณะที่ยังติดคุก ก็ถูกปล่อยเพื่อให้เข้าร่วมการเจรจาที่อังกฤษ ในกระบวนการเจรจานี้ หัวหน้าขบวนการคนผิวดำหลายคนพร้อมจะประนีประนอมและแชร์อำนาจทางการเมืองกับพรรคของ เอียน สมิท ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ มูกาบี้ ไม่ยอม เขายืนยันว่าประเทศต้องเป็นประชาธิปไตย 100% และคนผิวดำต้องมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่
อย่างไรก็ตาม มูกาบี้ ยอมประนีประนอมในเรื่องการถือครองที่ดินของคนผิวขาว โดยตกลงว่าในสิบปีแรกจะไม่มีการปฏิรูปที่ดิน ตอนนั้นเกษตรกรผิวขาวครอบครองที่ดินเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด
ในปี 1980 มูกาบี้ กลับเข้าประเทศ และมวลชนจำนวนมากก็มาต้อนรับ ต่อจากนั้นในการเลือกตั้งปีเดียวกันพรรคของ มูกาบี้ ก็ชนะเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาอย่างชัดเจน ซึ่งสร้างความหวาดกลัวในหมู่พวกเหยียดสีผิวและรัฐบาลตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษ คนที่เคยถูกประณามว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” ก็ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของประเทศ “ซิมบาบวี”

ชื่อของประเทศใหม่นี้ตั้งตามโบราณสถานสำคัญที่พิสูจน์ว่าในอดีต ก่อนยุคล่าอาณานิคม ชาวอัฟริกาผิวดำมีอารยธรรมที่พัฒนาไปไกล แต่ประวัติศาสตร์นี้ถูกปกปิดโดยคนตะวันตกที่เข้ามาครอบครองประเทศ
รัฐบาลใหม่ของ มูกาบี้ ต้องบริหารประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่ เพราะพวกคนผิวขาวจงใจทำลายก่อนที่จะเสียอาจไป แต่ในไม่ช้าสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนผิวดำเริ่มดีขึ้น ทั้งในเรื่องสาธารณสุข การศึกษา และการเกษตร
อย่างไรก็ตามพวกเกษตรกรรายใหญ่ผิวขาว ก็ทำทุกอย่างเพื่อกีดกันไม่ให้ชาวไร่ชาวนาผิวดำได้ที่ดินของตนเอง
ในด้านลบ รัฐบาลของมูกาบี้ ใช้กำลังทหารในการปราบปรามคู่แข่งทางการเมืองผิวดำในพรรคฝ่ายค้าน คาดว่าประชาชนในแคว้นเมธาบีลีแลนด์ถูกฆ่าตายไปสองหมื่นกว่าคน ตัวสำคัญในการปราบปรามครั้งนี้ นอกจาก มูกาบี้ คือ มันนึงกากูวา หรือ “นายจรเข้” ซึ่งพึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่โดยทหารเมื่อไม่นานมานี้เอง
กลางทศวรรษ80 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในระดับโลก และวิกฤตนี้เริ่มมีผลกระทบร้ายแรงต่อซิมบาบวี ในปี 1991 อัตราตกงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่ปริมาณสินค้าส่งออกตกต่ำ และซิมบาบวีก็หันไปพึ่งไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก นี่คือจุดเริ่มต้นของ “สงครามกับคนจน” โดยรัฐบาลมูกาบี้ ในปี 1997-1998 มีการนัดหยุดงานทั่วไปหลายครั้ง และชุมชนต่างๆ ลุกฮือคัดค้านรัฐบาล จากนั้นก็มีการตั้งพรรคฝ่ายค้าน Movement for Democratic Change (MDC) ซึ่งในช่วงนั้นมีฐานเสียงสำคัญในขบวนการแรงงาน แต่ในยุคปัจจุบันแปรธาตุไปเป็นพรรคฝ่ายขวาที่สนับสนุนกลไกตลาดเสรี
ในปี 2000 มูกาบี้ จัดทำประชามติ เพื่อหวังเพิ่มอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับตนเอง แต่เขาแพ้การลงคะแนนรอบนั้น ต่อมาในปี 2002 และ 2008 มีการโกงการเลือกตั้งและใช้กำลังในการปราบปรามฝ่ายค้าน เพราะ มูกาบี้ กลัวว่าจะแพ้ กลุ่มที่ถูกปราบปรามหนักสุดคือกลุ่มสังคมนิยม IST ในขณะเดียวกัน มูกาบี้ พยายามเบี่ยงเบนประเด็นทางการเมือง เพื่อหวังกลบลักษณะเผด็จการของตนเอง มีการรณรงค์ต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน และมีการส่งพวกทหารผ่านศึกไปยึดที่ดินของคนผิวขาว ซึ่งจริงๆ แล้วควรทำแต่แรก นอกจากนี้ มูกาบี้ และครอบครัวเริ่มสะสมทรัพย์สินมหาศาลด้วยการคอร์รับชั่น และมีการวางแผนให้เมียวัยสาวเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
จุดอ่อนของ มูกาบี้ ที่ทำให้เขาเปลี่ยนไปจากผู้นำขบวนการปลดแอกประเทศไปเป็นทรราช คือการเมืองของที่เน้นการทำทุกอย่างจากเบื้องบน เช่นการจับอาวุธสู้ แทนที่จะอาศัยฐานอำนาจจากชนชั้นกรรมาชีพ การเมืองแบบนี้ทำให้เขาไม่สามารถต้านกระแสจักรวรรดินิยมที่เน้นนโยบายรัดเข็มขัดขององค์กรอย่าง ไอเอ็มเอฟ ได้ และต้องหันไปกดขี่ประชาชนชั้นล่างแทน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กลุ่มคนที่เข้ามาครองอำนาจแทนทรราชมูกาบี้ หลังรัฐประหารเมื่อเดือนที่แล้ว ก็เป็นกลุ่มคนเดิมที่เคยอยู่รอบข้าง มูกาบี้ และมีทหารเข้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ตอนนี้พวกเขาต้องการจะใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว และกอบโกยทรัพย์สินมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นอนาคตของเสรีภาพและประชาธิปไตยแท้อยู่ในมือของมวลชนกรรมาชีพ