การทำรัฐประหารซ้ำๆ ตั้งแต่ 19 กันยา ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่พัฒนา

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยทางด้านเศรษฐกิจของบริษัททุนภัทรได้รายงานว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาทางด้านโครงสร้าง ซึ่งทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในอัตราปัจจุบัน ไม่สามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ให้ดีขึ้นได้

ปัจจัยสำคัญที่เป็นปัญหาทางด้านโครงสร้างนี้คือ (1)ความเหยื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนจนกับคนรวย ซึ่งหมายความว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจากการขยายเศรษฐกิจในสิบปีที่ผ่านมา (2)การที่นายทุนไทยไม่ลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตผ่านการจ้างงานที่มีคุณภาพมากขึ้นและอัตราค่าแรงที่สูงขึ้น และผ่านการลงทุนในเทคโนโลจีสมัยใหม่ เพราะนายทุนไทยอาศัยแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน (3)ภาคเกษตรในส่วนที่มีผู้ผลิตรายย่อย ขาดประสิทธิภาพที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร มีแต่ภาคเกษตรภายใต้ทุนใหญ่เท่านั้นที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง

ใครที่ติดตามปัญหาเศรษฐกิจของไทยก่อนและหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี๒๕๔๐ คงจะเข้าใจดีว่าสาเหตุหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจนี้มาจากปัญหาคล้ายๆ กัน

และใครที่ติดตามนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทย และรัฐบาลเพื่อไทย คงจะจำได้ดีว่ารัฐบาลเหล่านี้พยายามจะแก้ไขปัญหาโครงสร้างดังกล่าว รัฐบาลไทยรักไทยพยายามจะใช้งบประมาณรัฐในการสร้างงานในชนบท และลดความเหลื่อมล้ำ มีกองทุนหมู่บ้าน การพักชำระหนี้ให้เกษตรกร และนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค นอกจากนี้มีการพยายามลงทุนในการพัฒนาฝีมือดิจีตอลสำหรับคนรุ่นใหม่ในโรงเรียน ส่วนรัฐบาลเพื่อไทยก็มีโครงการประกันราคาข้าว มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และมีการพยายามพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมให้ทันสมัย

นักการเมืองของพรรคไทยรักไทยอธิบายว่านโยบายดังกล่าวเป็นนโยบาย “คู่ขนาน” ที่ผสมแนวเคนส์ในการใช้รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า และแนวเสรีนิยมกลไกตลาดในระดับที่ไทยต้องแข่งขันในตลาดโลก

แต่พวกหัวอนุรักษ์นิยม ชนชั้นกลาง พรรคประชาธิปัตย์ และทหารเผด็จการ มองว่านโยบายดังกล่าวเป็นการ “ซื้อเสียงผ่านประชานิยม” หรือเป็นการ “สิ้นเปลืองงบประมาณของชาติ” คือเป็นการกระทำที่นำไปสู่การ “ขาดวินัยทางการคลัง” ดังนั้นหลังจากที่ทหารทำรัฐประหาร ก็มีการพยายามยกเลิกหลายส่วนของนโยบายดังกล่าวผ่านลัทธิคลั่งกลไกตลาดเสรีของพวกเผด็จการ และทุกวันนี้ก็มีการพยายามออกแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ภายใต้ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” เพื่อห้ามไม่ให้รัฐบาลในอนาคตแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจเรื้อรังที่ยังเป็นปัญหาอยู่ มีการห้ามไม่ให้รัฐบาลในอนาคตใช้นโยบายที่เพิ่มงบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

สำหรับพวกอนุรักษ์นิยมเหล่านี้การใช้งบประมาณรัฐในการซื้ออาวุธหรือในการจ่ายเงินมหาศาลให้ชนชั้นนำ เป็นการใช้ทรัพยากรของชาติอย่าง “ถูกวิธี”

ผลของสองรัฐประหารทหารและรัฐประหารศาลเตี้ยรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา นอกจากจะนำไปสู่การทำลายประชาธิปไตยในระยะยาวและต่ออายุอำนาจทหารแล้ว ยังเป็นการการหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคที่ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าการแทรกแซงการเมืองและเศรษฐกิจโดยทหาร เป็นการกระทำที่เน้นผลประโยชน์ของคนรวยและชนชั้นกลาง และทำลายผลประโยชน์ของคนทำงานธรรมดาในเมืองและในชนบท

แต่เราต้องเข้าใจอีกว่านโยบายการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยรักไทย และเพื่อไทย มันไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง เพราะมีการปฏิเสธที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ ผ่านการเก็บภาษีระดับสูงจากคนรวย [อ่านเพิ่มเรื่องรัฐสวัสดิการ http://bit.ly/2xryfF7 ]

ยิ่งกว่านั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จะไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแข่งขันในตลาดโลก และแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร ที่เป็นโรคเรื้อรังของระบบทุนนิยม [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2v6ndWf ]

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเน้นกลไกตลาดเสรีอย่างเดียว และการปฏิเสธที่จะใช้งบประมาณรัฐในการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนจน ตามแนวความคิดเผด็จการทหารและพรรคประชาธิปัตย์ มันเป็นนโยบายที่ยิ่งแย่กว่า