มาทำความเข้าใจกับรัฐไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในบริบทวิกฤตประชาธิปไตยไทยปัจจุบัน มีแนวความคิดหลายแนวที่สร้างความสับสนในการทำความเข้าใจกับลักษณะแท้ของรัฐไทย

แนวความคิดที่ถือว่าเป็นกระแสหลักมากที่สุด คือความเชื่อว่าการชนะการเลือกตั้งจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ แต่สิ่งที่อาจทำให้นักประชาธิปไตยจำนวนมากตั้งคำถามก็คือ ในเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบสิบปี การชนะการเลือกตั้งดูเหมือนไม่พอ เพราะมีการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยทหารกับศาล

บางคนจะอธิบายว่าทหารกับศาลกำลังทำงานภายใต้การควบคุมของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือบางคนอาจพูดถึงอำนาจของ “รัฐพันลึก”

แต่เกือบตลอดเวลาที่มีวิกฤตประชาธิปไตยไทยรอบนี้ กษัตริย์ภูมิพลป่วยและไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะสั่งการอะไร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประยุทธ์ยึดอำนาจ และในขณะนี้พรรคพวกของเผด็จการประยุทธ์กำลังออกแบบระบบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้แนวยุทธศาสตร์แห่งชาติ ในเรื่องนี้กษัตริย์คนใหม่ก็ไม่เคยแสดงความเห็นหรือแสดงความสนใจแต่อย่างใด ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจรัฐอยู่ในมือของทหารข้าราชการชั้นสูง รวมถึงศาล และในมือของนายทุนใหญ่อีกด้วย ทุกส่วนที่คุมอำนาจรัฐนี้ถือว่าเป็นสมาชิกของชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง เพียงแต่ว่ามีการแบ่งงานและหน้าที่กัน เช่นทหารมีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองด้วยการใช้อาวุธ ยิ่งกว่านั้นส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยก็ทะเลาะกันเป็นประจำ คือทั้งสามัคคีในผลประโยชน์รวมของชนชั้น แต่แย่งชิงกันในเรื่องปลีกย่อยอย่างต่อเนื่อง

จริงๆ แล้วอำนาจของทหาร ข้าราชการชั้นสูง และนายทุนใหญ่ ไม่ใช่อำนาจที่เรามองไม่เห็น เพราะก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร เราก็เห็นกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นรัฐไทยไม่ได้มีอำนาจลึกลับหรือพันลึกแต่อย่างใด ความคิดเรื่องรัฐพันลึกในไทยอาศัยการเข้าใจผิดว่ารัฐควรเป็นกลางและยอมรับกติกาประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงรัฐในระบบทุนนิยมถูกออกแบบเพื่อจำกัดกระบวนการประชาธิปไตยแท้ต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ การที่ยิ่งลักษณ์หรือทักษิณจะชนะการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าทักษิณจะเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครอง เพราะเป็นนายทุนใหญ่ ไม่ได้แปลว่าอำนาจรัฐจะตกอยู่ในมือของเขาคนเดียว เขาต้องแบ่งอำนาจกับส่วนอื่นของชนชั้นปกครอง

แต่ถ้าพรรคการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าพรรคต่างๆ ของทักษิณ โดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน เกิดชนะการเลือกตั้งในอนาคต แน่นอนอำนาจรัฐจะยังคงอยู่ในมือของพวกที่เป็นศัตรูของประชาชน และจะไม่ได้อยู่ในมือของตัวแทนกรรมาชีพและคนจนในรัฐสภาเลย และถ้ารัฐบาลของพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน พยายามจะกำจัดอภิสิทธิ์ชนและความเหลื่อมล้ำในสังคม รัฐบาลนั้นจะถูกโค่นล้มโดยชนชั้นปกครอง

หนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน มีประโยชน์มากในการทำความเข้าใจกับเนื้อแท้ของรัฐไทยภายใต้ระบบทุนนิยมในปัจจุบัน [ดู http://bit.ly/1QPRCP6 ]

เลนินอธิบายว่ารัฐไม่เคยเป็นกลาง และเป็นเครื่องมือสำหรับชนชั้นนายทุนในการกดขี่ชนชั้นล่าง ดังนั้นการที่พรรคของกรรมาชีพจะชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้แปลว่าชนชั้นนายทุนจะมือไม้อ่อนยอมโอนอำนาจให้กรรมาชีพ ตรงกันข้ามรัฐจะพยายามทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกครองประเทศไม่ได้

กรรมาชีพจะใช้รัฐปัจจุบันในการปกครองในรูปแบบใหม่ที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่ได้ เพราะรัฐทุนนิยมปัจจุบันถูกออกแบบเพื่อไม่ให้ประชาชนเป็นใหญ่แต่แรก

จริงๆ แล้ว ระบบการเลือกตั้งรัฐสภาภายใต้รัฐทุนนิยมเป็นวิธีการที่จะสร้างภาพในสังคมว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน แต่มันเป็นภาพลวงตา เพราะถ้าจะสร้างความเท่าเทียมทางอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง ต้องมีการฝืนกฏหมายและกติการที่ถูกสร้างไว้โดยนายทุน เพื่อยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของส่วนรวม และยึดอำนาจทหาร ตำรวจ และศาล มาเป็นของประชาชน ซึ่งแปลว่าต้องปฏิวัติล้มรัฐเก่า และสร้างรัฐในรูปแบบใหม่ที่ไม่มีอภิสิทธิ์ชน และมีประชาธิปไตยแท้ผ่านสภาต่างๆ ในสถานที่ทำงานและในท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ คือประชาชนธรรมดาต้องมีอำนาจโดยตรงในการกำหนดทุกอย่าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ควรหันหลังให้กับการเลือกตั้งในรัฐสภาหรือสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียง และนี่คือจุดยืนของเลนินด้วย เพราะถ้าเราไม่มีสิทธิเสรีภาพตามกติกาของรัฐนายทุน หรือไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง การจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อสังคมใหม่จะยากขึ้น

สรุปแล้วเราต้องเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยตลอด แต่ในขณะเดียวกัน ต้องไม่หลงคิดว่ารัฐปัจจุบันเป็นกลาง หรือหลงคิดว่าแค่การชนะการเลือกตั้งในระบบทุนนิยมจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ ซึ่งแปลว่าเราต้องพร้อมจะจัดตั้งองค์กรหรือพรรคของคนชั้นล่างที่เคลื่อนไหวไปไกลกว่าแค่ข้อเรียกร้องของเสื้อแดงในอดีต