ใจ อึ๊งภากรณ์
สังคมไทยเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวแบบประเด็นเดียวมาตั้งแต่ยุคเอ็นจีโอ มีคนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องผลประโยชน์ของแรงงาน มีกลุ่มที่รณรงค์เรื่องสิทธิสตรี มีกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนหรือคัดค้านความก้าวร้าวของกลุ่มทุนใหญ่ในพื้นที่ชนบท และมีคนที่เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย ฯลฯ….
การรณรงค์ในประเด็นที่เอ่ยถึงนี้มีประโยชน์และก้าวหน้าทั้งนั้น แต่มีผลจำกัดมากในการแก้ปัญหาระยะยาว และไม่มีผลเลยในการปลดแอกคนส่วนใหญ่ในสังคมจากการกดขี่ของชนชั้นปกครอง
สาเหตุสำคัญคือ
- ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เราต้องแก้ไข และมีคนพยายามรณรงค์แก้ไข มีต้นกำเนิดจากจุดเดียวกันคือระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น การเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนจึงเป็นการเน้นอาการของระบบ แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนระบบ ปัญหาต่างๆ จึงเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง
- การเคลื่อนไหวแบบแยกประเด็นเป็นการเคลื่อนไหวที่อ่อนแอ และไม่สามารถรวมพลังของคนที่ถูกกดขี่หรือเดือดร้อนทั้งหมดได้
- ไม่มีการวิเคราะห์ว่าพลังในการเปลี่ยนสังคมกระจุกอยู่ตรงไหน
ในหลายกรณี คนที่เคลื่อนไหว เช่นพวกเอ็นจีโอ ไม่อยากเปลี่ยนสังคมแต่แรก แค่อยากวิงวอนคนข้างบนที่มีอำนาจ ให้แก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เช่นพวกที่ไปเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลเผด็จการ โดยไม่วิจารณ์รัฐบาลว่าขาดความชอบธรรมเนื่องจากการทำรัฐประหารแต่แรก
ในหลายกรณี คนที่เคลื่อนไหวในประเด็นหนึ่ง อาจไม่อยากสมานฉันท์กับคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นอื่น และไม่สนใจหรือไม่เห็นใจคนที่ถูกกดขี่อื่นๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่นคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันเกลียดเกย์ (อย่างที่อาจารย์ปวินเล่าให้เราฟังเรื่องเสื้อแดงคนหนึ่งที่ออสเตรเลีย) หรือเสื้อแดงบางคนที่เชียงใหม่ หรือการที่เสื้อแดงบางคนในสหรัฐที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมพ์ซึ่งเกลียดชังคนผิวดำ คนมุสลิม และสตรี หรือกรณีเอ็นจีโอต่างๆ ที่เคยโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหารเป็นต้น
หนังสือ “จะทำอะไรดี” ของเลนิน เขียนไว้ในปี 1901 เพื่อวิจารณ์พวกฝ่ายซ้ายที่เน้นแต่ประเด็นปากท้องของชนชั้นกรรมาชีพอย่างคับแคบ เลนินฟันธงว่านักสังคมนิยมจะต้องคัดค้านและเปิดโปงการกดขี่ทุกรูปแบบโดยชนชั้นปกครอง เขาตั้งคำถามว่าการศึกษาทางการเมืองของพรรคสังคมนิยมควรจะเป็นอย่างไร และตอบเองว่าต้องยกตัวอย่างการกดขี่ทุกรูปแบบจากโลกจริงมาพิจารณา และเขาฟันธงอีกว่าจิตสำนึกทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพจะไม่เป็นจิตสำนึกทางการเมืองที่แท้จริง ถ้าไม่มีคำตอบต่อการกดขี่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าการกดขี่นั้นจะมีผลกับชนชั้นใด
ตัวอย่างรูปธรรมของแนวคิดเลนิน คือท่าทีต่อพลเมืองมุสลิมในรัสเซียซึ่งมีจำนวนไม่น้อย พรรคบอลเชวิคของเลนิน ออกคำประกาศในเดือนพฤศจิกายน 1917 หลังการปฏิวัติสำเร็จ ว่า “ชาวมุสลิมในรัสเซีย ซึ่งมัสยิดและประเพณีต่างๆ ของท่านเคยถูกรัฐทำลาย ตอนนี้ท่านมีสิทธิเสรีภาพทางศาสนาเต็มที่ซึ่งจะถูกละมิดไม่ได้… จงเข้าใจว่าการปฏิวัติกรรมาชีพอันยิ่งใหญ่จะปกป้องสิทธิของท่านเสมอ”
และในเรื่องสิทธิเสรีภาพของชาติเล็กที่เคยถูกรัฐบาลรัสเซียกดขี่ เลนินประกาศว่าเขาพร้อมจะทำ “สงคราม” กับแนวคิดชาตินิยมที่กดขี่คนอื่นตลอด
สาเหตุที่เลนินเสนอว่านักสังคมนิยมจะต้องสนับสนุนและมีส่วนร่วมโดยตรงในการต่อสู้ของผู้ที่ถูกกดขี่ในทุกรูปแบบคือ
- มันเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพื้นฐาน และการกดขี่ในทุกรูปแบบมีจุดกำเนิดจากระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น และถูกผลิตซ้ำโดยระบบนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าไม่กำจัดระบบนี้ในที่สุด มนุษย์จะมีเสรีภาพอย่างมั่นคงไม่ได้
- พรรคของชนชั้นกรรมาชีพจะต้องคอยรณรงค์ให้กรรมาชีพทั้งหลายมีจุดยืนที่ก้าวหน้าที่สุด เพื่อให้กรรมาชีพมีส่วนสำคัญในการนำการผลักดันให้เกิดการปลดแอกมนุษย์ในทุกรูปแบบ ทั้งนี้เพราะชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นทางเศรษฐกิจที่จะล้มระบบที่เป็นรากฐานการกดขี่ทั้งหลายได้
- การที่พรรคสังคมนิยมจะชูประเด็นการกดขี่ หรือประเด็นปัญหาหลากหลายของคนในสังคม เป็นสิ่งที่จะสร้างความสามัคคีในการต่อสู้ระหว่างคนที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการปฏิวัติเพื่อปลดแอกมวลมนุษย์
สำหรับประเทศไทย มันแปลว่าเราต้องสร้างพรรคที่สนับสนุนและร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวปาตานี ของสตรี ของเกย์เลสเบี้ยนหรือกะเทย ของคนพิการ ของคนยากจนในชนบท ของกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และของชนกลุ่มน้อย ฯลฯ
[บางส่วนของบทความนี้คัดจากหนังสือของ John Molyneux (2017) “Lenin for Today”, Bookmarks]