มวลชน เครือข่าย และการเมืองภาพรวม กับการประท้วง

ใจ อึ๊งภากรณ์

สัปดาห์นี้เราเห็นการประท้วงรัฐบาลเผด็จการโดยคนสองกลุ่ม ซึ่งแน่นอนเป็นเรื่องดีน่าชื่นชม

ดังนั้น เพื่อการเคลื่อนไหวในอนาคต หลังจากการประเมินผลของการประท้วง เราควรจะมีข้อสรุปอะไรบ้าง?

กลุ่มแรกที่อยากจะพูดถึงคือ “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” ซึ่งประกอบไปด้วยแกนนำคนหนุ่มสาวที่มีประวัติในการค้านเผด็จการด้วยความกล้าหาญในรอบสองสามปีที่ผ่านมา จากภาพต่างๆ ของการประท้วงเมื่อวันเสาร์ก็จะเห็นว่ามีคนออกมาร่วมประมาณร้อยกว่าคน ถ้าไม่นับนักข่าว ซึ่งเป็นเรื่องดี

ผมมีข้อเสนอที่อยากจะฝากคนหนุ่มสาวเหล่านี้ และคนอื่น สำหรับการจัดกิจกรรมในอนาคต คือการเคลื่อนไหวที่จะมีพลัง ไม่สามารถจัดได้ ถ้าเราเพียงแต่ประกาศชวนเชิญประชาชนมาร่วมผ่านสื่อมวลชนหรือโซเชียลมีเดีย ถ้าในอนาคตจะมีการจัดให้มีพลังมากขึ้น คือมีคนมาร่วมจำนวนมาก ควรจะมีการจงใจสร้างเครือข่ายและแนวร่วมอย่างจริงจังกับกลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน เพื่อการขับไล่เผด็จการ พูดง่ายๆ ต้องมีการใช้เวลาเพื่อไปคุยกับคนที่มีประวัติในการค้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นอดีตคนเสื้อแดง กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันที่หลากหลาย และควรมีการนัดคุยกันหลายรอบ เพื่อร่วมกันตกลงว่าจะเคลื่อนไหวด้วยกันอย่างไร และเมื่อไร นอกจากนี้ตัวแทนของทุกกลุ่มที่ร่วมกันควรจะถือว่าเป็นแกนนำของแนวร่วมใหม่อันนี้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การจัดตั้ง”

แน่นอนการทำงานแนวร่วมแบบนี้ต้องมีการประนีประนอมกันในการวางแผนแนวปฏิบัติ แต่นั้นไม่ได้แปลว่าจะมีมุมมองในหลายแง่ของการเมืองที่ต่างกันไม่ได้ จริงๆ แล้วการมีหลากหลายมุมมองทางการเมืองเป็นเรื่องดี เพราะจะนำไปสู่การถกเถียงเรื่องการเมืองภาพกว้าง ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเมืองแบบนี้และช่วยให้ทุกคนมีความคิดที่ชัดเจนมากขึ้น ตัวอย่างอันหนึ่งคือเรื่องการเลือกตั้ง การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่ไม่ถูกเลื่อนออกไปเป็นเรื่องดี แต่เราต้องพูดกันอีกว่าเราต้องการการเลือกตั้งแบบไหน? เราต้องการ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ของทหารหรือไม่? ฯลฯ

เราไม่ควรลืมว่าประชาธิปไตย ควรจะรวมไปถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธที่จะมีค่าแรงที่เลี้ยงชีพได้ สิทธิของทุกเพศรวมถึงเกย์ ทอม ดี้ กะเทย ฯลฯ สิทธิของชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิในการนับถือศาสนาตามที่ปัจเจกเลือกที่จะนับถือ หรือสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลและการศึกษาคุณภาพดีอย่างถ้วนหน้า

ฝังอยู่ในข้อเสนอของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผม คือความสำคัญของการสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ซึ่งผมเขียนเรื่องนี้บ่อย หาอ่านได้ที่นี่ http://bit.ly/2nfpcVA

แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่เราควรจะมี จะต้องไม่จำกัดไว้ในแวดวงคนที่อยากสร้างพรรคเท่านั้น ต้องกว้างกว่านั้นอีกมาก

กลุ่มเคลือ่นไหวที่สองที่ผมอยากจะพูดถึงคือ กลุ่ม “เดินมิตรภาพ” ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอ

คำถามแรกที่อยากจะถามคือ ทำไม“กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” กับกลุ่ม “เดินมิตรภาพ” ไม่ออกมาร่วมกันในวันเดียวกัน มันยากนักหรือ?

หลายคนที่ต้องการประชาธิปไตยอาจแค้นจุดยืนของเอ็นจีโอในอดีตที่โบกมือเรียกทหาร แต่ถ้าเราจะเอาความแค้นแบบนี้นำการทำงานทางการเมือง มันจะกลายเป็นเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าผมจะเสนอให้เสื้อแดงกับเสื้อเหลืองจับมือกัน อย่างที่นักวิชาการบางคนเสนอ ไม่ใช่เลย ผมมองว่าคนที่รักประชาธิปไตยร่วมมือกับคนที่ทำลายประชาธิปไตยไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าคนกลุ่มหลังไม่เปลี่ยนใจและสำนึกความผิด ที่สำคัญคือ “สลิ่ม”ชนชั้นกลาง กับเอ็นจีโอไม่เหมือนกัน

แน่นอนในอดีต คนอย่าง นิมิตร์ เทียนอุดม จากเครือข่ายเอดส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่ม “เดินมิตรภาพ” ได้เคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ และนิมิตร์ ได้พูดจากเวทีนี้ในทำนองดูถูกคนจนว่า ผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ “ขาดข้อมูล”  ซึ่งเป็นทัศนะที่ให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร ที่แย่มากๆ คือ มีผู้นำ เอ็นจีโอ หลายคนเคยเสนอชื่อตนเองให้ทหาร หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา เพื่อหวังว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว.  ตัวอย่างเช่น เรวดี ประเสริฐเจริญสุข, นิมิตร์ เทียนอุดม, บรรจง นะแส (เครือข่ายประมงพื้นบ้าน) วิฑูรย์ เพิ่ม พงศาเจริญ (สิ่งแวดล้อม) หรือ ศยามล ไกยูรวงศ์ (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) เป็นต้น

แต่การที่เอ็นจีโอในช่วงนี้ออกมาค้านการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่เขาจะทบทวนจุดยืนในอดีต ทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครออกมาพูดในที่สาธารณะอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม วิธีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “เดินมิตรภาพ” มีประเด็นที่ชวนให้เราตั้งคำถามได้คือ

  1. รูปแบบการเดินไกลที่ใช้เวลาหลายวันเหมาะกับการที่คนธรรมดา ที่ต้องไปทำงาน จะมาร่วมได้ไหม? คือถ้าเราจะสร้างมวลชนที่จะออกมาเคลื่อนไหวจำนวนมาก เราต้องมีรูปแบบกิจกรรมอื่น และคำถามที่สำคัญคือพวก “เดินมิตรภาพ” มีความตั้งใจจะสร้างขบวนการมวลชนหรือไม่? หรืออยากจะเคลื่อนไหวแบบเดิมๆ ต่อไป
  2. พวกเอ็นจีโอชอบพูดถึง “ชาวบ้าน” และการเดินยาวครั้งนี้อ้างว่าจัดเพื่อคุยกับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านคือใคร? เขาเป็นชาวบ้านที่ลงคะแนนให้พรรคของทักษิณด้วยปัญญาและเหตุผลหรือไม่? นอกจากนี้เส้นทางเดินมิตรภาพ ผ่านย่านอุตสาหกรรมที่มีคนงานกรรมาชีพมากมาย ทำไมไม่มีการนัดคุยกับมวลชนสหภาพแรงงานตามเส้นทางอย่างจริงจัง?
  3. ทำไมการเดินมิตรภาพ ไม่กล้าพูดตรงๆ เรื่องการค้านเผด็จการทหาร เพราะตราบใดที่เราไม่สามารถล้มเผด็จการและกำจัดมรดกของเผด็จการ เช่นรัฐธรรมนูญทหาร หรือยุทธศาสตร์แห่งชาติ เราไม่มีวันได้สิทธิเสรีภาพอื่นๆ นอกจากนี้มีการพูดถึงกฏหมาย 112 ที่ปิดปากประชาชนหรือไม่? หรือในที่สุดมีแต่การปฏิเสธการเมืองภาพกว้างตามแนวเดิมๆ ?

สรุปแล้วผมขอเสนอว่านักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพ ควรพิจารณาเรื่องการสร้างมวลชน การขยายเครือข่ายการทำงานไปสู่กลุ่มอื่นๆ ที่เราไม่เคยร่วมด้วยในอดีต และการขยายประเด็นการเมืองไปสู่การเมืองภาพกว้าง

ถ้าจะสร้างรัฐสวัสดิการในไทยต้องคัดค้านกลไกตลาดเสรี

ใจ อึ๊งภากรณ์

แนวคิดเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ เป็นแนวของสำนักเศรษฐกิจการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ตรงข้ามกับสำนักเศรษฐกิจการเมืองเสรีนิยมกลไกตลาด [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

ในการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป แนวสังคมนิยมประชาธิปไตยวางกรอบสำคัญๆ สำหรับรัฐสวัสดิการดังนี้คือ

  1. เป็นระบบถ้วนหน้า เพื่อให้เป็นสิทธิทั่วไปของพลเมือง ไม่ต้องไปขอความเมตตาหรือพิสูจน์ความจน และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการเนื่องจากไม่ต้องมีหลายระบบซ้อนกันและมีการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารที่มาจากการกำจัดตลาดภายในอีกด้วย
  2. เป็นระบบครบวงจร เพราะการให้สวัสดิการแบบแยกส่วนไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของพลเมืองได้ ปัญหาสังคมต่างๆ เชื่อมโยงกันตลอด เช่นถ้าเด็กๆ ขาดที่อยู่อาศัยที่ดี และรายได้พ่อแม่ต่ำเกินไป จะมีผลต่อสุขภาพอนามัยและความสำเร็จในการศึกษา
  3. เป็นระบบที่เน้นผลในการสร้างความเท่าเทียม แทนการ “ให้โอกาสเท่าเทียม” เพราะการ “ให้โอกาส” บ่อยครั้งไม่ได้สร้างความเท่าเทียมจริง เนื่องจากพลเมืองมีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน
  4. เป้าหมายในการสร้างรัฐสวัสดิการคือการเพิ่มเสรีภาพในสังคม โดยเฉพาะเสรีภาพในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่ปราศจากความกลัว เช่นความกลัวว่าการเจ็บป่วยจะนำไปสู่ความยากจน หรือความกลัวว่าจะไม่มีงานทำแล้วจะเลี้ยงครอบครัวไม่ได้

ระบบรัฐสวัสดิการเป็นระบบที่เน้นผลประโยชน์ร่วมของพลเมือง และความสมานฉันท์ระหว่างทุกคนในสังคม ไม่ใช่การเน้นการกอบโกยของปัจเจกชน และที่สำคัญคือมีการเก็บภาษีก้าวหน้าในอัตราสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน

แนวเสรีนิยมกลไกตลาดที่รื้อฟื้นขึ้นมาเมื่อสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นแนวคิดที่เน้นสิทธิปัจเจกของคนรวยและนายทุน เหนือสิทธิของคนธรรมดา “เสรีนิยมใหม่” นี้คือลัทธิของคนที่เน้นกลไกตลาด การขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน และการยกเลิกรัฐสวัสดิการ เช่นแนวของพรรคอนุรักษ์นิยมในอังกฤษและส่วนอื่นของยุโรปและในสหรัฐ

พวกเสรีนิยมใหม่ทั่วโลก มักจะวิจารณ์รัฐสวัสดิการว่าเป็นการสร้าง “ระบบอุปถัมภ์” และ “ทำลายวินัยทางการคลัง” เพราะรัฐเก็บภาษีสูงและกู้เงินมาเพื่อสร้างสวัสดิการ แทนที่จะลดภาษีให้คนรวยและหลีกทางให้บริษัทเอกชนเป็นคนกู้เงินในตลาดการเงิน พรรคประชาธิปัตย์ และนักวิชาการเสรีนิยมในไทย มักจะโจมตีการที่รัฐบาล ไทยรักไทย เคยใช้รัฐในการสร้างสวัสดิการว่าเป็นการ “ทำลายวินัยทางการคลัง” และการสร้างวัฒนธรรมพึ่งพาอุปถัมภ์

คนที่อ้างว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการภายใต้แนวคิดเสรีนิยมกลไกตลาดเป็นคนโกหก เพราะพวกนี้ต้องการนำกลไกตลาดมาใช้ในทุกส่วนของระบบสวัสดิการ ในฐานะที่ผมทำงานในระบบสาธารณสุขของรัฐสวัสดิการอังกฤษ และในฐานะที่ผมเป็นนักสังคมนิยม ผมจะขอยกตัวอย่างจากระบบสาธารณสุข

การแยกระบบสาธารณสุขอังกฤษออกเป็นฝ่าย ‘ผู้ซื้อ’ กับ ‘ผู้ให้บริการ’ เป็นมาตรการของอดีตนายกรัฐมนตรีแทชเชอร์ เพื่อค่อยๆ ทำลายระบบรัฐสวัสดิการ และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตัดงบประมาณรัฐพร้อมกับดึงบริษัท “หากิน” ของเอกชนเข้ามา ผลคือมีการจ้างนักบัญชีและนักบริหารตัวเลขมากขึ้นอย่างมหาศาล แต่เงินที่เคยทุ่มเทไปในการดูแลรักษาคนไข้กลับลดลง เงินซื้อยาถูกจำกัด และจำนวนพยาบาลกับหมอก็ขาดแคลนเรื่อยมา พร้อมกันนั้นมีการกดค่าแรงให้ต่ำลง

ในระบบนี้ทุกรายละเอียดของการดูแลคนไข้จะถูกตีราคา ไม่ว่าจะเป็นการใส่สายในเส้นโลหิต การตรวจไขสันหลัง หรือการให้ยา มันเป็นระบบที่สิ้นเปลืองทรัพยากรและขาดประสิทธิภาพในการดูแลคนป่วย เพราะการทำบัญชีกลายเป็นสิ่งที่กำหนดทุกอย่าง แทนที่จะเอาความต้องการของคนไข้มาเป็นหลัก

ตลาดภายในสำหรับระบบสาธารณสุขแบบนี้ถูกนำมาใช้ในไทยในระบบสามสิบบาทที่รัฐบาลทักษิณริเริ่ม มันจึงขาดประสิทธิภาพสำหรับพลเมืองทั่วไปแต่แรก

นอกจากการเน้นตลาดภายใน เพื่อทำลายรัฐสวัสดิการแล้ว พวกเสรีนิยมกลไกตลาดมีมาตรการอื่นที่ช่วยทำให้รัฐสวัสดิการเสื่อม มีการเปลี่ยนระบบสวัสดิการจากระบบถ้วนหน้าไปสู่ระบบที่จำกัดสิทธิ และเน้นคนบางกลุ่มที่ยากจนสุด คือในที่สุดพลเมืองต้องเสียศักดิ์ศรีในการพิสูจน์ความจน และมีการจำกัดสวัสดิการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ในประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์อย่าง สมภพ มานะรังสรรค์ พวก TDRI และรัฐบาลเผด็จการทหาร จะสนับสนุนการจำกัดสิทธิในการให้สวัสดิการเพื่อประหยัดงบประมาณโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีการพูดกันมากขึ้นถึงการ “ร่วมจ่าย” ซึ่งเป็นการเก็บค่าบริการนั้นเอง และการที่พวกเสรีนิยมพร้อมจะใช้รัฐเพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหาร แต่ต้องการตัดสวัสดิการให้กับคนธรรมดา เห็นได้ชัดในกรณีรัฐบาลพรรคทหารหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ผลของนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดในสหรัฐเห็นได้ชัด เพราะระหว่างปี 2000-2006 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 18% แต่รายได้จริงของกรรมาชีพลดลง 1.1% ส่วนคนรวยที่สุด 10% ของชาติเพิ่มรายได้ 32% ในขณะที่คนรวยสุดยอด 1% กอบโกยรายได้เพิ่มถึง 203% และพวกอันดับยอด 0.1% ของชาติ สามารถยึดทรัพย์เพิ่มขึ้น 425%  ปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบนี้ในสหรัฐและทั่วโลกทวีคุณมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้

ข้ออ้างเท็จว่า “รัฐสวัสดิการล้มเหลวหรือใช้ไม่ได้เพราะคนชรามีมากเกินไป”ที่เรามักได้ยิน เป็นคำโกหกของพวกเสรีนิยมที่ไม่เคารพคนทำงานรุ่นก่อนหรือคนรุ่นพ่อแม่เรานั้นเอง พวกนี้อ้างว่าสัดส่วนระหว่างคนทำงานกับคนชราลดลง เพราะคนมีแนวโน้มจะมีลูกน้อยและคนแก่มีอายุยืนยาวขึ้น แต่ในความเป็นจริงขณะที่สัดส่วนคนทำงานลดลง ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าใน 50 ปี ข้างหน้าคนทำงานจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉลี่ยสองเท่า ซึ่งแปลว่าคนทำงานสามารถเลี้ยงดูคนชราได้มากขึ้นอีกสองเท่า นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น

รัฐสวัสดิการสร้างได้ในประเทศไทย ถ้าเราปฏิเสธสำนักคิดเสรีนิยมกลไกตลาด แต่ถ้าจะทำจริง เราต้องมีความเข้าใจและความสนใจเรื่องการรณรงค์และพลังของขบวนการเคลื่อนไหวในสังคม เราต้องร่วมกันผนึกขบวนการประชาธิปไตยกับขบวนการที่สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และส่วนสำคัญของขบวนการนี้ต้องเป็นสหภาพแรงงาน นอกจากนี้คนที่มีความคิดที่จะพัฒนาสังคมไทยไปข้างหน้า แทนที่จะย่ำอยู่กับที่ในยุคหินแห่งระบบกลไกตลาด จะต้องหันมาจับมือกันเพื่อสร้างพรรคการเมืองเพื่อช่วงชิงความคิดในสังคม

ถ้าจะสร้างรัฐสวัสดิการในไทย ต้องสร้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในช่วงปลายปีที่แล้วมีการจัดสัมมนาวิชาการเรื่องรัฐสวัสดิการในไทย เรื่องการเรียกร้องรัฐสวัสดิการในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเสนอมาตั้งแต่สมัย อ.ปรีดี หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และในยุครัฐบาลทักษิณประมาณปี ๒๕๕๑ มีการเสนอว่าไทยควรจะเป็นรัฐสวัสดิการโดย “พรรคแนวร่วมภาคประชาชน” ที่มี “กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน” เป็นส่วนสำคัญในการจัดตั้งขึ้นมา ในช่วงต่อจากนั้นองค์กร “เลี้ยวซ้าย” มีการรณรงค์เรื่องนี้ต่อไป [ดู http://bit.ly/2rOzlLy ]

การสร้างรัฐสวัสดิการในอังกฤษ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้รัฐบาลพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาโดยสหภาพแรงงานอังกฤษ พรรคนี้ได้เสียงข้างมากหลังสงคราม เพราะประชาชนจำนวนมากมองว่าการเสียสละในสงครามจะไม่มีความหมายเลย ถ้าสภาพความเป็นอยู่ของพลเมืองไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างจริงจัง พูดง่ายๆ มันมีกระแสเรียกร้องรัฐสวัสดิการในสังคมที่มาแรง โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน

ก่อนหน้านั้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซีย และกระแสการปฏิวัติแพร่กระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรป มีการนัดหยุดงานทั่วไปในหลายประเทศ และมีการพยายามปฏิวัติสังคมนิยมในเยอรมันอีกด้วย ในช่วงนั้นมีทหารผ่านศึกที่ยังถืออาวุธอยู่ในมือจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ เวลาสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ชนชั้นปกครองอังกฤษเกรงกลัวพลังของกรรมาชีพจน รัฐมนตรีคนหนึ่งจากพรรคอนุรักษ์นิยมของนายทุนถึงกับพูดในรัฐสภาว่า “ถ้าเราไม่ยอมให้รัฐสวัสดิการพวกนั้นจะปฏิวัติโค่นล้มระบบ”

ในประเทศสวีเดนมีการสร้างรัฐสวัสดิการหลังสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน และรัฐบาลที่นำรัฐสวัสดิการมาใช้คือรัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหภาพแรงงาน ไม่ต่างจากกรณีอังกฤษ

ในทั้งสองประเทศ สิ่งที่ทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้คือการมีสหภาพแรงงานและขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง และการที่พรรคของคนทำงานได้รับเลือกเป็นรัฐบาลท่ามกลางกระแสเรียกร้องรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการไม่ได้เกิดจากความเมตตาของนายทุนหรือรัฐแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่รัฐสวัสดิการมีส่วนช่วยให้นายทุนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ พูดง่ายๆ ถ้ากรรมาชีพและพรรคการเมืองของกรรมาชีพไม่ต่อสู้เพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการมันก็ไม่เกิด

คนที่ปฏิเสธการสร้างพรรคการเมืองในยุคนี้ จะไม่มีวันสร้างรัฐสวัสดิการได้ เพราะจะไม่มีองค์กรทางการเมืองที่มีมวลชนจำนวนมากที่พร้อมใจกันรณรงค์ผลักดันเรื่องนี้ จะมีแต่ปัจเจกชนที่พูดถึงเท่านั้น

คนที่ฝันว่าพรรคการเมืองของฝ่ายทุนจะนำรัฐสวัสดิการแบบอังกฤษหรือสวีเดนเข้ามา ก็จะไม่มีวันสร้างรัฐสวัสดิการเช่นกัน ตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับไทยคือประสบการณ์ของการมีรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลนี้นำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้ามาใช้ก็จริง แต่ไม่มีการขยับไปสู่รัฐสวัสดิการแบบครบวงจร ถ้วนหน้า และที่อาศัยการเก็บภาษีในอัตราสูงหรือก้าวหน้าจากคนรวยกับกลุ่มทุน ทักษิณเองก็เคยปฏิเสธว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการ และสาเหตุสำคัญคือไม่ต้องการเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวยหรือนายทุน ทักษิณเองก็ใช้กลไกต่างๆ ในการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี

คนที่ฝันว่ารัฐบาลปฏิกิริยาของทหารเผด็จการ หรือของพรรคประชาธิปัตย์ จะสร้างรัฐสวัสดิการ เป็นคนที่หลอกตนเองอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะทั้งทหารและพรรคประชาธิปัตย์ต่อต้านการใช้งบประมาณรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำหรือการบริการคนส่วนใหญ่ กลุ่มโจรเหล่านี้คัดค้านแม้แต่การปฏิรูประบบสวัสดิการที่รัฐบาลทักษิณเคยทำ เขาเป็นพวกคลั่งกลไกตลาดเสรีและการกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเอง

รัฐสวัสดิการจะไม่เกิดในไทย ถ้าทหารยังคุมอำนาจเผด็จการอยู่ หรือถ้ามีการสืบทอดอำนาจทหารผ่าน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ของพวกเผด็จการ ดังนั้นคนที่ต้องการเห็นรัฐสวัสดิการต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย

การที่นักวิชาการในไทยรื้อฟื้นเรื่องรัฐสวัสดิการจากการรณรงค์ที่ผมและพรรคพวกเคยทำก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา เป็นเรื่องดี แต่มันไม่พอ เพราะในรูปธรรมต้องมีการสร้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีฐานในขบวนการแรงงาน และสมาชิกของพรรคนี้ต้องลงไปรณรงค์กับสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวนมาก เพื่อให้เกิดกระแสเรียกร้องรัฐสวัสดิการในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพไทย มันต้องกลายเป็นประเด็นหลักในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และมันเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สหภาพแรงงานไทยต้องยุ่งกับการเมืองของชนชั้นตนเองมากกว่าที่เคย

ความคิดมาร์คซิสต์ กับแนวทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

เผด็จการและมรดกของเผด็จการจะไม่หายไปเอง นักเคลื่อนไหวปัจจุบันจะต้องทบทวนแนวคิดที่มองว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทำได้โดยห้าหกคนที่ “ยอมเสียสละ” หรือแนวคิดที่ตั้งความหวังไว้กับพรรคการเมืองกระแสหลัก ถ้าเราจะสร้างพลังในการต่อรองกับเผด็จการ เราต้องมีการ “จัดตั้ง” มวลชน และถ้าจะให้ความสำคัญกับการจัดตั้ง เราต้องกระตือรือร้นในการลงพื้นที่เพื่อคุยกับและปลุกระดมคน ต้องไว้ใจว่ามวลชนกลุ่มต่างๆ จะนำตนเองได้ และต้องมีทัศนะที่เปิดกว้างยอมทำงานกับคนที่มีความคิดหลากหลายที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนที่ต่อต้านเผด็จการ การจัดตั้งองค์กรทางการเมืองแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันจะช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวต้านเผด็จการเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และมันจะเป็นเครือข่ายโครงสร้างองค์กรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้ เมื่อเกิดการลุกฮืออย่างจริงจัง

การสร้างประชาธิปไตยแท้ในไทย ย่อมอาศัยทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชนจำนวนมาก และพรรคการเมืองแบบสังคมนิยมของคนชั้นล่าง ถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง เราคงจะไม่สำเร็จ

ในหมู่ทฤษฏีทางการเมืองทั้งหลาย ความคิดมาร์คซิสม์ เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์มากที่สุดในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในโลกสมัยนี้ รวมถึงกรณีประเทศไทยด้วย สาเหตุเพราะไม่มีการพึ่งพาและสร้างความหวังจอมปลอมในบทบาทชนชั้นกลางหรือคนชั้นสูง มีการเน้นพลังมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน และมีการอธิบายความสำคัญของการสร้างพรรคอิสระในการต่อสู้เพื่อประโยชน์ของคนธรรมดา ทั้งหมดนี้แตกต่างจากแนวคิดเสรีนิยม แนวความคิดหลังสมัยใหม่ แนวคิดอภิสิทธิ์ชน และแนวความคิดประชาสังคมโดยสิ้นเชิง

เลนิน มักจะเน้นเสมอว่าพรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

ในบริบทสังคมไทย การที่จะสร้างพรรคแบบนี้ควรเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายต่างๆ ในขบวนการแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน การสร้างพรรคสังคมนิยมจะต้องไม่เริ่มต้นจากการคุยกันว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วม หรือการถกกันเรื่องการลงทะเบียน

เราต้องสร้างพรรคที่สนับสนุนและร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวปาตานี ของสตรี ของเกย์เลสเบี้ยนหรือกะเทย ของคนพิการ ของคนยากจนในชนบท ของกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และของชนกลุ่มน้อย ฯลฯ

ในเรื่องการเปลี่ยนความคิดหรือจิตสำนึกของมวลชน อันโตนิโอ กรัมชี่ สอนให้ชาวมาร์คซิสต์เข้าใจว่ากลุ่มคนที่อาจเปิดกว้างในการรับความคิดใหม่ๆ ที่ทวนกระแสหลัก เช่นคนที่มีแนวโน้มที่จะรับความคิดสังคมนิยม น่าจะเป็นคนที่กำลังต่อสู้ ไม่ใช่คนที่นิ่งเฉยรับสถานการณ์ ภาระของพรรคสังคมนิยมจึงเป็นการนำการเมืองแบบมาร์คซิสต์ไปสู่กรรมาชีพหรือกลุ่มคนที่ออกมาต่อสู้ในประเด็นปากท้องประจำวัน ในขณะเดียวกันพรรคจะต้องสนับสนุนและช่วยผลักดันให้เกิดการต่อสู้ทุกรูปแบบด้วย และต้องพยายามพัฒนาจิตสำนึกจากแค่เรื่องปากท้องไปเป็นการเมืองภาพกว้างในทุกประเด็น

ในไทยเราเคยเห็นปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” ของคนเสื้อแดงจำนวนมาก หลังจากที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แล้วต้องเผชิญหน้ากับการปราบปราม

การเคลื่อนไหวของมวลชนในสังคมมีความสำคัญยิ่ง เราหรือพรรคไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของมวลชน และการนัดหยุดงานเป็นส่วนสำคัญของการเคลื่อนไหวนี้ เราควรลองคิดดูว่า ในสมัยที่มีการชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย ถ้ามีการปลุกระดมให้นัดหยุดงานทั่วไป ในโรงงานต่างๆ ในสำนักงานต่างๆ หรือการหยุดเรียนหยุดสอนในสถาบันการศึกษาพร้อมๆ กัน ทหารจะสามารถปราบปรามเสื้อแดงด้วยกองกำลังได้หรือไม่

สำหรับนักเคลื่อนไหวในไทยในยุคปัจจุบัน มันมีบทเรียนสำคัญจากชีวิต โรซา ลัคแซมเบอร์ค คือ (1) การปฏิรูปที่ทำให้สังคมเดินหน้า ต้องอาศัยพลังการต่อสู้ระดับการปฏิวัติเสมอ ไม่ใช่การประนีประนอมหรือการปรองดอง ความก้าวหน้าหลังการลุกฮือล้มเผด็จการทหารในยุค 14 ตุลา หรือพฤษภา 35 เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความจริงอันนี้ (2) ต้องจัดตั้งองค์กรสังคมนิยมปฏิวัติให้เข้มแข็งแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าไม่มีองค์กรณ์แบบนั้นการลุกฮือจะโดนลากเพื่อไปรับใช้อำนาจเดิม (3) นักปฏิวัติทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องกล้าท้าทาย “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายที่เริ่มแปรตัวเป็นคนอนุรักษ์นิยม (4) ถ้าไม่มีการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมสังคมจะวนเวียนอยู่ในความป่าเถื่อนตลอดไป แต่ในขณะเดียวกันนักปฏิวัติต้องสนใจการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน และการต่อสู้เพื่อประธิปไตยเสมอ

เชิญอ่านบทความยาวเรื่องนี้ได้ที่นี่ http://bit.ly/2BYxAyd