ใจ อึ๊งภากรณ์
แนวคิดเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ เป็นแนวของสำนักเศรษฐกิจการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ตรงข้ามกับสำนักเศรษฐกิจการเมืองเสรีนิยมกลไกตลาด [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]
ในการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป แนวสังคมนิยมประชาธิปไตยวางกรอบสำคัญๆ สำหรับรัฐสวัสดิการดังนี้คือ
- เป็นระบบถ้วนหน้า เพื่อให้เป็นสิทธิทั่วไปของพลเมือง ไม่ต้องไปขอความเมตตาหรือพิสูจน์ความจน และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการเนื่องจากไม่ต้องมีหลายระบบซ้อนกันและมีการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารที่มาจากการกำจัดตลาดภายในอีกด้วย
- เป็นระบบครบวงจร เพราะการให้สวัสดิการแบบแยกส่วนไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของพลเมืองได้ ปัญหาสังคมต่างๆ เชื่อมโยงกันตลอด เช่นถ้าเด็กๆ ขาดที่อยู่อาศัยที่ดี และรายได้พ่อแม่ต่ำเกินไป จะมีผลต่อสุขภาพอนามัยและความสำเร็จในการศึกษา
- เป็นระบบที่เน้นผลในการสร้างความเท่าเทียม แทนการ “ให้โอกาสเท่าเทียม” เพราะการ “ให้โอกาส” บ่อยครั้งไม่ได้สร้างความเท่าเทียมจริง เนื่องจากพลเมืองมีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน
- เป้าหมายในการสร้างรัฐสวัสดิการคือการเพิ่มเสรีภาพในสังคม โดยเฉพาะเสรีภาพในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่ปราศจากความกลัว เช่นความกลัวว่าการเจ็บป่วยจะนำไปสู่ความยากจน หรือความกลัวว่าจะไม่มีงานทำแล้วจะเลี้ยงครอบครัวไม่ได้
ระบบรัฐสวัสดิการเป็นระบบที่เน้นผลประโยชน์ร่วมของพลเมือง และความสมานฉันท์ระหว่างทุกคนในสังคม ไม่ใช่การเน้นการกอบโกยของปัจเจกชน และที่สำคัญคือมีการเก็บภาษีก้าวหน้าในอัตราสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน
แนวเสรีนิยมกลไกตลาดที่รื้อฟื้นขึ้นมาเมื่อสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นแนวคิดที่เน้นสิทธิปัจเจกของคนรวยและนายทุน เหนือสิทธิของคนธรรมดา “เสรีนิยมใหม่” นี้คือลัทธิของคนที่เน้นกลไกตลาด การขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน และการยกเลิกรัฐสวัสดิการ เช่นแนวของพรรคอนุรักษ์นิยมในอังกฤษและส่วนอื่นของยุโรปและในสหรัฐ
พวกเสรีนิยมใหม่ทั่วโลก มักจะวิจารณ์รัฐสวัสดิการว่าเป็นการสร้าง “ระบบอุปถัมภ์” และ “ทำลายวินัยทางการคลัง” เพราะรัฐเก็บภาษีสูงและกู้เงินมาเพื่อสร้างสวัสดิการ แทนที่จะลดภาษีให้คนรวยและหลีกทางให้บริษัทเอกชนเป็นคนกู้เงินในตลาดการเงิน พรรคประชาธิปัตย์ และนักวิชาการเสรีนิยมในไทย มักจะโจมตีการที่รัฐบาล ไทยรักไทย เคยใช้รัฐในการสร้างสวัสดิการว่าเป็นการ “ทำลายวินัยทางการคลัง” และการสร้างวัฒนธรรมพึ่งพาอุปถัมภ์
คนที่อ้างว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการภายใต้แนวคิดเสรีนิยมกลไกตลาดเป็นคนโกหก เพราะพวกนี้ต้องการนำกลไกตลาดมาใช้ในทุกส่วนของระบบสวัสดิการ ในฐานะที่ผมทำงานในระบบสาธารณสุขของรัฐสวัสดิการอังกฤษ และในฐานะที่ผมเป็นนักสังคมนิยม ผมจะขอยกตัวอย่างจากระบบสาธารณสุข
การแยกระบบสาธารณสุขอังกฤษออกเป็นฝ่าย ‘ผู้ซื้อ’ กับ ‘ผู้ให้บริการ’ เป็นมาตรการของอดีตนายกรัฐมนตรีแทชเชอร์ เพื่อค่อยๆ ทำลายระบบรัฐสวัสดิการ และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตัดงบประมาณรัฐพร้อมกับดึงบริษัท “หากิน” ของเอกชนเข้ามา ผลคือมีการจ้างนักบัญชีและนักบริหารตัวเลขมากขึ้นอย่างมหาศาล แต่เงินที่เคยทุ่มเทไปในการดูแลรักษาคนไข้กลับลดลง เงินซื้อยาถูกจำกัด และจำนวนพยาบาลกับหมอก็ขาดแคลนเรื่อยมา พร้อมกันนั้นมีการกดค่าแรงให้ต่ำลง
ในระบบนี้ทุกรายละเอียดของการดูแลคนไข้จะถูกตีราคา ไม่ว่าจะเป็นการใส่สายในเส้นโลหิต การตรวจไขสันหลัง หรือการให้ยา มันเป็นระบบที่สิ้นเปลืองทรัพยากรและขาดประสิทธิภาพในการดูแลคนป่วย เพราะการทำบัญชีกลายเป็นสิ่งที่กำหนดทุกอย่าง แทนที่จะเอาความต้องการของคนไข้มาเป็นหลัก
ตลาดภายในสำหรับระบบสาธารณสุขแบบนี้ถูกนำมาใช้ในไทยในระบบสามสิบบาทที่รัฐบาลทักษิณริเริ่ม มันจึงขาดประสิทธิภาพสำหรับพลเมืองทั่วไปแต่แรก
นอกจากการเน้นตลาดภายใน เพื่อทำลายรัฐสวัสดิการแล้ว พวกเสรีนิยมกลไกตลาดมีมาตรการอื่นที่ช่วยทำให้รัฐสวัสดิการเสื่อม มีการเปลี่ยนระบบสวัสดิการจากระบบถ้วนหน้าไปสู่ระบบที่จำกัดสิทธิ และเน้นคนบางกลุ่มที่ยากจนสุด คือในที่สุดพลเมืองต้องเสียศักดิ์ศรีในการพิสูจน์ความจน และมีการจำกัดสวัสดิการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ในประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์อย่าง สมภพ มานะรังสรรค์ พวก TDRI และรัฐบาลเผด็จการทหาร จะสนับสนุนการจำกัดสิทธิในการให้สวัสดิการเพื่อประหยัดงบประมาณโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีการพูดกันมากขึ้นถึงการ “ร่วมจ่าย” ซึ่งเป็นการเก็บค่าบริการนั้นเอง และการที่พวกเสรีนิยมพร้อมจะใช้รัฐเพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหาร แต่ต้องการตัดสวัสดิการให้กับคนธรรมดา เห็นได้ชัดในกรณีรัฐบาลพรรคทหารหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา
ผลของนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดในสหรัฐเห็นได้ชัด เพราะระหว่างปี 2000-2006 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 18% แต่รายได้จริงของกรรมาชีพลดลง 1.1% ส่วนคนรวยที่สุด 10% ของชาติเพิ่มรายได้ 32% ในขณะที่คนรวยสุดยอด 1% กอบโกยรายได้เพิ่มถึง 203% และพวกอันดับยอด 0.1% ของชาติ สามารถยึดทรัพย์เพิ่มขึ้น 425% ปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบนี้ในสหรัฐและทั่วโลกทวีคุณมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้
ข้ออ้างเท็จว่า “รัฐสวัสดิการล้มเหลวหรือใช้ไม่ได้เพราะคนชรามีมากเกินไป”ที่เรามักได้ยิน เป็นคำโกหกของพวกเสรีนิยมที่ไม่เคารพคนทำงานรุ่นก่อนหรือคนรุ่นพ่อแม่เรานั้นเอง พวกนี้อ้างว่าสัดส่วนระหว่างคนทำงานกับคนชราลดลง เพราะคนมีแนวโน้มจะมีลูกน้อยและคนแก่มีอายุยืนยาวขึ้น แต่ในความเป็นจริงขณะที่สัดส่วนคนทำงานลดลง ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าใน 50 ปี ข้างหน้าคนทำงานจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉลี่ยสองเท่า ซึ่งแปลว่าคนทำงานสามารถเลี้ยงดูคนชราได้มากขึ้นอีกสองเท่า นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น
รัฐสวัสดิการสร้างได้ในประเทศไทย ถ้าเราปฏิเสธสำนักคิดเสรีนิยมกลไกตลาด แต่ถ้าจะทำจริง เราต้องมีความเข้าใจและความสนใจเรื่องการรณรงค์และพลังของขบวนการเคลื่อนไหวในสังคม เราต้องร่วมกันผนึกขบวนการประชาธิปไตยกับขบวนการที่สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และส่วนสำคัญของขบวนการนี้ต้องเป็นสหภาพแรงงาน นอกจากนี้คนที่มีความคิดที่จะพัฒนาสังคมไทยไปข้างหน้า แทนที่จะย่ำอยู่กับที่ในยุคหินแห่งระบบกลไกตลาด จะต้องหันมาจับมือกันเพื่อสร้างพรรคการเมืองเพื่อช่วงชิงความคิดในสังคม