การล้มละลายของบริษัท “คอริเลี่ยน” ในอังกฤษ พิสูจน์อีกครั้งว่าเอกชนไม่มีประสิทธิภาพในการบริการประชาชน

 

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อเดือนที่แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ “คอริเลี่ยน” ล้มละลายในอังกฤษ บริษัทนี้เริ่มต้นเป็นบริษัทก่อสร้าง แต่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุคที่มีการเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาให้บริการแทนรัฐในโรงพยาบาล โรงเรียน ห้องสมุด หรือระบบคมนาคม มีการใช้ระบบเหมาช่วงเพื่อจ้างเจ้าหน้าที่ในอัตราเงินเดือนต่ำ เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ แทนลูกจ้างของรัฐที่เคยทำงานบริการ มีการทำสัญญา “รัฐ-เอกชน” (PFI) เพื่อก่อสร้างตึกใหม่ของโรงพยาบาล โดยที่ภาคเอกชนลงทุนในการก่อสร้าง และรัฐต้องจ่าย “ค่าเช่า” ในระบบนี้จำนวนเงินที่รัฐต้องจ่ายให้เอกชนสูงกว่าการลงทุนโดยตรงจากรัฐถึง 40% และค่าบริการโครงการต่างๆ หลังจากการก่อสร้างเส็จสิ้น ก็สูงกว่าการจ้างพนักงานโดยตรงทั้งๆ ที่เอกชนตัดค่าแรงและสวัสดิการ สาเหตุเพราะมีการกินกำไรตลอด แต่รัฐบาลต่างๆ ในอดีต ต้องการลดหนี้รัฐที่คำนวณจากการกู้เงินโดยตรง และรัฐบาลต้องการเพิ่มบทบาทเอกชน และตัดค่าแรงในสังคม ตามลัทธิคลั่งกลไกตลาดของพวกเสรีนิยมสุดขั้ว

 

บริษัทอย่าง “คอริเลี่ยน” มักจะชิงสัญญาจากรัฐเมื่อมีการเปิดประมูล เพราะมีการตีราคาต่ำกว่าคู่แข่งผ่านการตัดค่าแรงและลดคุณภาพการทำงาน ในที่สุดยุทธศาสตร์นี้ทำให้บริษัทล้มละลายและคนงานสี่หมื่นสามพันคนต้องเกร็งกลัวกับการตกงานและการถูกตัดเงินบำนาญ ในขณะเดียวกัน ซีอีโอ ของบริษัทบางคนที่รีบลาออกก่อนการล้มละลายสามารถกอบโกยเงินโบนัสเป็นล้าน และสุดท้ายคาดกันว่ารัฐอังกฤษและประชาชนธรรมดาที่เสียภาษีจะต้องก้าวเข้ามาอุ้มกิจกรรมที่ “คอริเลี่ยน” เคยทำ

 

คอริเลี่ยน ไม่ใช่บริษัทเดียวที่มีปัญหา บริษัท “คาพิตา” และ “เชอร์โค” ซึ่งมีบทบาทคล้ายๆ คอริเลี่ยน คือเข้ามาให้บริการแทนรัฐ ก็มีวิกฤตเช่นกัน ในกรณี “คาพิตา” มีหมอและพยาบาลตามคลินิคชุมชนที่ไม่ได้รับเงินเดือนตรงเวลา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในภาครัฐ

 

การคลั่งกลไกตลาดและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยวิธีต่างๆ ในอังกฤษ สร้างปัญหามากมายสำหรับระบบรถไฟ ระบบสาธารณสุข และระบบการศึกษา ประสบการณ์ของการใช้บริษัทเอกชนในการบริการแทนรัฐ ทำให้คุณภาพการบริการตกต่ำลง เพราะเน้นการจ่ายเงินเดือนต่ำและการขูดรีดกำไร

 

การวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ค้นพบว่าองค์กรรัฐที่แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนในภาคโทรคมนาคม พลังงาน และรถไฟ ของอังกฤษ ไม่ได้มีประสิทธิภาพเหนือกว่ารัฐวิสาหกิจ และการวิจัยรูปแบบเดียวกันเกี่ยวกับยุโรปก็มีข้อสรุปเหมือนกัน แม้แต่ธนาคารโลกก็รายงานว่าในประเทศกำลังพัฒนาไม่มีหลักฐานอะไรเลยว่าลักษณะการเป็นเจ้าของระหว่างรัฐกับเอกชน มีผลต่อประสิทธิภาพขององค์กรแต่อย่างใด

[ http://bit.ly/2BctqBC ]

 

พรรคแรงงานในอดีตภายใต้นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ มีนโยบายส่งเสริมสัญญา “รัฐ-เอกชน” ไม่ต่างจากรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของนายทุน แต่ในยุคนี้หลังการเลือก เจเรมี คอร์บิน เข้ามานำพรรคแรงงาน และหลังจากกระแสในสังคมเรียกร้องให้มีการนำบริษัทเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ จุดยืนของพรรคแรงงานก็เปลี่ยนไป

จอห์น แมคดอนเนล “รัฐมนตรีเงา”ทางด้านการคลังของพรรคแรงงานอังกฤษ ที่ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ เจเรมี คอร์บิน ได้ออกมาประกาศว่ากรณี “คอริเลี่ยน” พิสูจน์ว่าลัทธิสุดขั้วที่เชื่อว่า “เอกชนดีกว่าเสมอ” หมดยุคไปแล้ว ถ้าพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งในโอกาสหน้าจะมีการนำการบริการของเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ

 

ในไทยนักวิชาการจำนวนมากมัก โดยเฉพาะใน “สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” (ทีดีอาร์ไอ) และตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะท่องสูตร “เอกชนดีกว่า” และ “เอกชนมีประสิทธิภาพมากกว่า” โดยไม่เปิดหูเปิดตาดูความจริง และผมจะไม่แปลกใจเลยถ้านักวิชาการขี้เกียจทั้งหลายภายใต้กะลา จะท่องสูตรเท็จนี้และสอนลัทธิคลั่งกลไกตลาดในมหาวิทยาลัยต่อไป

 

ต้นกำเนิดของนิยาย “กลไกตลาดมีประสิทธิภาพในการให้บริการมากกว่าภาครัฐ” ในยุคนี้ เริ่มต้นจากการฟื้นตัวของเสรีนิยมในทศวรรษที่ 70 นำโดยนักคิดเช่น มิลตัน ฟรีดแมน และนำมาปฏิบัติโดยนักการเมืองเช่น มาร์กาเรต ฮิลดา แทตเชอร์ ในอังกฤษ หรือ โรนัลด์ เรแกน ในสหรัฐ แต่เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามันเป็นลัทธิที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับคนส่วนใหญ่ในสังคม

 

นิยายอันนี้เป็นความพยายามอย่างหยาบๆ ที่จะลดบทบาทรัฐ เพื่อลดการเก็บภาษีจากคนรวย และเพิ่มกำไรให้ภาคเอกชนผ่านการตัดเงินเดือนและสวัสดิการ แต่ไม่มีข้อมูลจากที่ไหนในโลกที่ยืนยันประโยชน์ของความเชื่อนี้เลย ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายต่อหัวในระบบสาธารณะสุขแบบอิงเอกชน ที่เน้นการประกันตน แทนการเก็บภาษีในระบบถ้วนหน้าของรัฐ มักจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวในระบบรัฐสวัสดิการเสมอ ระบบสาธารณะสุขของสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบเอกชนเป็นหลัก แพงกว่าระบบอังกฤษสองเท่า เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายต่อหัว และไม่ครอบคลุมคนจนหลายล้านคน ซึ่งหมายความว่าในด้านประสิทธิภาพของการให้บริการกับผู้มีประกัน และประสิทธิภาพในการดูแลประชากร ระบบกลไกตลาดของอเมริกาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ถ้าเปรียบเทียบคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบสาธารณะสุขสหรัฐกับระบบของประเทศอื่น จะพบว่าสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก ในขณะที่ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ หรืออย่างน้อยระบบถ้วนหน้าที่บริหารโดยรัฐอยู่ในอันดับ1 ถึง 25

 

พวกสำนักเสรีนิยมกลไกตลาดชอบเสนอว่ารัฐไม่ควรแทรกแซงตลาด ไม่ควรปกป้องการผลิตในกรอบรัฐชาติ จึงเสนอให้มีการค้าเสรี และรัฐไม่ควรลงมาทำหน้าที่แทนนายทุนเอกชนอีกด้วย อีกประเด็นที่สำคัญคือพวกนี้มองว่าควรสร้างความ “ยืดหยุ่น” ในตลาดแรงงาน คือไม่ควรมีการปกป้องมาตรฐานการทำงานและไม่ควรมีสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง พูดง่ายๆ พวกเสรีนิยมเป็นพวกที่เข้าข้างนายทุน และมองว่าแรงงานควรได้รับค่าจ้างสวัสดิการน้อยที่สุดเพื่อเพิ่มกำไรให้นายทุนมากที่สุด

 

แต่สำนักเสรีนิยมกลไกตลาดนี้มีจุดอ่อนสำคัญอีกสองประการคือ

  1. ทั้งๆที่พูดว่าปฏิเสธบทบาทนำของรัฐ แต่ในรูปธรรมมีการใช้รัฐในการต่อรองทางเศรษฐกิจตลอด โดยเฉพาะในรูปแบบการสร้างกำลังทหารเพื่อทำสงคราม

 

  1. มีการเลือกปฏิบัติเสมอ เช่นสนับสนุนให้รัฐอุ้มธุรกิจเอกชนในยามวิกฤต แต่มองว่ารัฐไม่ควรช่วยคนจนเพราะจะไปทำลาย “วินัยทางการคลัง” หรือมีการมองว่าควรเปิดตลาดการค้าเสรีในกรณีที่นายทุนของชาติตัวเองเข้มแข็งกว่าคู่แข่ง แต่ในกรณีที่อ่อนแอควรมีมาตรการจำกัดนายทุนต่างชาติเป็นต้น

 

การอ้างว่ากลไกตลาดเสรีสร้างประสิทธิภาพสูงสุดถูกพิสูจน์ว่าไม่จริงมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นในกรณีการก่อให้เกิดวิกฤตจากการแข่งขัน เช่นวิกฤตเศรษฐกิจเอเซียปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ. 2008 ที่เกิดจากฟองสบู่ sub-prime ซึ่งในทุกกรณีภาครัฐต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการอุ้มบริษัทที่ใกล้ล้มละลาย ล่าสุดกรณีของบริษัท “คอริเลี่ยน” ก็พิสูจน์ปัญหาของการเน้นบริษัทเอกชน  สรุปแล้วกลไกตลาดไม่สามารถบริการและตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมโลกได้เลย

 

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2tWNJ3V