ใจ อึ๊งภากรณ์
ในเมื่อมีการพูดกันด้วยความตื่นเต้นในเรื่อง “ความใหม่” และ พรรค “อนาคตใหม่” ผมจะขอเชิญชวนให้ผู้อ่านทบทวนและเปรียบเทียบความหวังของคนจำนวนมากในยุคนี้ กับความหวังที่คนเคยมีกับพรรคไทยรักไทยในอดีต เพราะในยุคปัจจุบันพรรคของ ทักษิณ ไม่น่าจะเป็นที่พึ่งของคนที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมได้แต่อย่างใด
พรรคไทยรักไทยก่อตั้งขึ้นมาในปี ๒๕๔๑ โดยทักษิณ ชินวัตร หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง คำขวัญสำคัญของพรรคคือ “คิดใหม่ทำใหม่” และเป้าหมายคือการทำให้ประเทศไทยทันสมัย
สรุปแล้วพรรคอนาคตใหม่กับพรรคไทยรักไทยมีจุดร่วมในการเน้น “ความใหม่” กับ “ความทันสมัย” และทักษิณก็เคยเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ด้วย
ก่อนอื่นเราต้องให้ความเป็นธรรมกับพรรคของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เพราะเผด็จการทหารชุดปัจจุบันห้ามไม่ให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายในช่วงนี้ การห้ามแบบนี้ด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่มีการอธิบาย แต่อาจเป็นเพราะต้องการตีกรอบล่วงหน้า ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่านโยบายแบบไหนจะมีได้ และแบบไหนมีไม่ได้
อย่างไรก็ตามทั้ง ธนาธร ปิยบุตร และคนอื่นได้ให้ความเห็นบางประการผ่านสื่อซึ่งเราสามารถนำมาพิจารณาได้ ที่ชัดเจนมากคือพรรคอนาคตใหม่ฟันธงว่าต่อต้านเผด็จการทหาร การทำรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจของทหาร
ถ้าเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ซึ่งก็คือพรรคไทยรักไทยที่แปลงร่างนั้นเอง จุดยืนของ ธนาธร กับ ปิยบุตร มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากกว่าอย่างชัดเจน เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นพรรคพวกของ ทักษิณ คอยประนีประนอมกับทหารเผด็จการเรื่อยมา ในช่วงที่ ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากอย่างชัดเจน ไม่มีการพยายามลงโทษประยุทธ์เลย และไม่มีการสกัดกั้นไม่ให้แทรกแซงการเมืองด้วย ต่อมาหลังจากที่ประยุทธ์ทำรัฐประหาร ก็ไม่มีการส่งเสริมการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการแต่อย่างใด
กรณีข้อยกเว้นที่ดีของอดีตสส.พรรคเพื่อไทยคือ วัฒนา เมืองสุข และ จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งสองคนนี้ไม่ยอมก้มหัวให้ทหารมาตลอด
แน่นอน เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองที่มีจุดมุ่งหมายในการนำทหารออกจากการเมืองแบบที่ ธนาธร กับ ปิยบุตร เสนอ แต่มันมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยคือ จะเอาอำนาจที่ไหนมาลดบทบาททหาร? จริงๆ แล้วมันมีอำนาจเดียวที่ทำตรงนี้ได้คือ อำนาจของมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ตรงนี้เราจะเห็นว่าพรรคของ ทักษิณ มีประวัติในการสร้างขบวนการเสื้อแดงขึ้นมา ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่แล้ว ทักษิณ กับ นปช. ก็ไปแช่แข็งขบวนการนี้และปล่อยให้ตายอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ นี่คือบาปกรรมอันเลวร้ายของพรรคเพื่อไทย
คำถามคือ ธนาธร กับ ปิยบุตร มีแผนจะสร้างขบวนการมวลชนหรือไม่ ยังไม่มีการพูดถึง ซึ่งแตกต่างจากจุดยืนของ “พรรคสามัญชน” ที่ประกาศว่าเชื่อมโยงกับมวลชนรากหญ้า
ปิยบุตร พูดถึงตัวอย่างพรรคซ้ายใหม่ในยุโรป แต่ตามด้วยการเสนอว่าความขัดแย้งระหว่างซ้ายกับขวาไม่มีความสำคัญในไทย พูดง่ายๆ เขามองว่าไทยไม่มีความขัดแย้งทางชนชั้น และไม่มีการพูดถึงความสำคัญของขบวนการแรงงานเลย
การที่ผู้นำแรงงานหนึ่งคน คือสุรินทร์ คำสุข จากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ มาร่วมเปิดตัวพรรค ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการที่พรรคจะมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับขบวนการสหภาพแรงงาน เหมือนที่พรรคฝ่ายซ้ายในหลายประเทศมี พรรคไทยรักไทยเคยมี สถาพร มณีรัตน์ จากสหภาพแรงงาน กฝผ เป็นสมาชิกและต่อมาเป็นรัฐมนตรีอีกด้วย แต่นั้นไม่ได้ทำให้พรรคของทักษิณเป็นพรรคของกรรมาชีพแต่อย่างใด
ธนาธร เปิดเผยไปแล้วว่าเขาเห็นชอบกับการกดขี่สิทธิแรงงาน
ปิยบุตรเอ่ยถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบสวัสดิการที่สร้างหลักประกันถ้วนหน้าให้คนทุกคนตั้งแต่เกิด ในยามแก่ ในยามเจ็บ และยามตาย ซึ่งคำพูดแบบนี้นักการเมืองพรรคเก่า เช่นทักษิณ ก็เคยพูด ถ้าพรรคอนาคตใหม่จะจริงจังในการสร้างรัฐสวัสดิการ ซึ่งจะเป็นสิ่งใหม่ ต้องพูดกันให้ชัด และต้องพูดว่าจะเก็บภาษีก้าวหน้าเพื่อสร้างกองทุน
ผมจะขอเดาว่าจริงๆ แล้ว ปิยบุตร ต้องการสร้างฐานเสียงของพรรคในหมู่คนหนุ่มสาวชนชั้นกลางเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยแล้ว ทักษิณ เคยประกาศว่ามีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน ไม่ใช่แค่คนรวยหรือคนชั้นกลางเท่านั้น และเขาก็ทำจริงตามคำประกาศ
บางคนพูดว่าการที่มีนายทุนอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่พร้อมจะลงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเคียงข้างประชาชนน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ใหม่เลย นายทุนใหญ่หน้าใหม่อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยลงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเคียงข้างประชาชนเช่นกัน
ธนาธร ยังไม่ได้กล่าวถึงนโยบายอะไรมากนอกจากการลดบทบาททหาร และการกระจายอำนาจในการเก็บภาษีเพื่อสร้างโรงเรียนหรือโรงพยาบาลไปสู่แต่ละจังหวัด นโยบายการกระจายอำนาจแบบนี้เป็นนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดชัดๆ เพราะปฏิเสธบทบาทรัฐบาลกลางในการเก็บภาษีแล้วกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นที่ยากจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นในขณะที่ ธนาธร พูดเหมือนกับว่าจะปล่อยให้จังหวัดที่ยากจนจนต่อไป ทักษิณ เคยเน้นบทบาทรัฐบาลกลางในการพัฒนาฐานะของคนจนในชนบท นอกจากนี้รัฐบาลไทยรักไทยมีผลงานในการสร้างระบบรักษาพยาบาลถ้วนหน้าขึ้นมาเป็นครั้งแรก และนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจนอีกหลายนโยบาย
ก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก มีการส่งทีมงานลงไปในชุมชนต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับประชาชนว่าเขาต้องการนโยบายอะไรแบบไหน ตรงนี้ไทยรักไทยทำอย่างเป็นระบบ ถ้าพรรคของ ธนาธร กับ ปิยบุตร จะมีผลงานจริงกับคนรากหญ้า มันมีงานอีกมากมายที่ต้องทำ โดยเฉพาะการต่อสายไปสู่ขบวนการแรงงานกับเกษตรกรยากจน แต่ถ้าเขาไม่สนใจทำ พรรคของเขาก็คงเป็นแค่พรรคฝ่ายขวาธรรมดาของชนชั้นกลาง ที่ต่อต้านทหาร
เราคงต้องติดตามข่าวต่อไปครับ