จุดยืนทางชนชั้นเป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของพรรคการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในบทความก่อนหน้านี้ผมได้เสนอว่าถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ถูกเปิดโปงออกมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะสภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ล้าหลังและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนส่วนใหญ่ที่ยากจนกับเศรษฐีคนรวยหรือแม้แต่คนชั้นกลางที่มีความเป็นอยู่สบาย เราจะวนเวียนอยู่ในอ่างจนเกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่

การปฏิรูปสังคมและการเมืองพื้นฐานที่จะเริ่มแก้ปัญหาเหล่านี้มีอะไรบ้าง?

ในประการแรกเราต้องสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจร รัฐสวัสดิการนี้ไม่ใช่การให้สวัสดิการกับคนจน มันจะต้องเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคน โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน มันต้องครอบคลุมเรื่องที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การศึกษา และการดูแลคนชรา โดยที่พลเมืองไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายในเรื่องการรับบริการ เพราะกองทุนในการสร้างรัฐสวัสดิการสร้างขึ้นจากการจ่ายภาษีของทุกคนในอัตราก้าวหน้า คือคนที่รายได้ต่ำจ่ายน้อย และคนรวยและกลุ่มทุนจ่ายมาก เราต้องมีการเก็บภาษีในอัตราสูงเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มทุนใหญ่และเศรษฐี อย่างที่อาจารย์ปรีดีเคยเสนอ

การนำระบบการเก็บภาษีทางตรงแบบก้าวหน้า และการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นภาระสำหรับคนจน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย

กองทุนในการสร้างรัฐสวัสดิการจะได้งบประมาณเพิ่มขึ้น ถ้าเราตัดงบประมาณทหารและสร้างสันติภาพในปาตานีผ่านการใช้วิธีทางการเมืองแทนการทหาร งบประมาณสำหรับพิธีกรรมและวิถีชีวิตของราชวงศ์ควรถูกตัดให้ “พอเพียง” เท่าเทียมกับคนธรรมดาอีกด้วย

รัฐสวัสดิการต้องถูกตรวจสอบเสมอว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำจริงในรูปธรรมได้หรือไม่ และถ้ายังไม่สำเร็จก็ควรมีการแก้ไขให้ดีขึ้น เราจะต้องไม่พูดว่าเรา “ให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” เพราะคนในสังคมไม่เท่าเทียมตั้งแต่แรก คนที่ด้อยโอกาสจึงต้องได้รับการสนับสนุนมากกว่าคนที่มีโอกาส

ดังนั้นเวลาพรรคอนาคตใหม่พูดถึงการ “ให้โอกาส” กับทุกคน มันน่าจะสร้างข้อกังวลกับคนที่ต้องการเห็นรัฐสวัสดิการ

นอกจากการสร้างรัฐสวัสดิการแล้ว รัฐต้องลงทุนในการสร้างความก้าวหน้าทันสมัยของสังคม เช่นในการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การลงทุนในพลังงานแสงแดดและลม การกำจัดมลพิษ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และการผลิตยารักษาโรคต่างๆ ภายในประเทศในราคาที่เหมาะสม

มาตรการในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ต้องอาศัยการขึ้นเงินเดือนหรือค่าแรงเพื่อให้พลเมืองทุกคนอยู่ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอนาคต ในประเด็นนี้การแก้กฏหมายแรงงาน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มเสรีภาพของสหภาพแรงงานมีความสำคัญพอๆ กับการสร้างรัฐสวัสดิการ และมันเป็นมาตรการเพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตยอีกด้วย

ในเรื่องที่ดิน ควรมีการปฏิรูปให้เกษตรกรมีที่ทำกินเพียงพอ และในกรณีทรัพยากรที่เป็นของส่วนรวม พลเมืองในพื้นที่ควรมีบทบาทในการร่วมบริหารการใช้อีกด้วย

และในประการสุดท้ายเราต้องช่วยกันสร้าง “ความเป็นพลเมือง” ในสังคม ควรยกเลิกการหมอบคลานกราบไหว้ การก้มหัวให้ “ผู้ใหญ่” และการใช้ภาษาที่เน้นความไม่เสมอภาคระหว่างพลเมือง เราต้องยกเลิกการใส่เครื่องแบบของข้าราชการพลเรือน โดยเฉพาะครูในโรงเรียน เราต้องสร้างค่านิยมในสังคมที่เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าพลเมืองจะมีเพศอะไรหรือเชื้อชาติอะไร

สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ แต่จะต้องอาศัยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองก้าวหน้า เพื่อการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง และเราต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง “ชนชั้น” อย่างชัดเจน เพราะอภิสิทธิ์ชน นายทุน และนายทหารระดับสูง จะรวมตัวกันเพื่อคัดค้านอย่างแน่นอน

การลืมต้นกำเนิดความขัดแย้งในไทยเป็นการนำสมองไปไว้ใต้กะลา

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนที่เสนอว่าเราไม่ควรพูดถึง “สลิ่ม”  หรือคนที่เสนอว่าเราต้องมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ข้ามพ้นความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร โดยไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายทางการเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้ง เป็นพวกที่มองว่าความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่การก่อตัวของเสื้อเหลืองและการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนชั้นนำไม่กี่คน หรือเป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ใส่เสื้อคนละสี มันเป็นการเอาสมองไปไว้ใต้กะลา เพื่อหวังว่าเราจะเดินไปสู่ประชาธิปไตยที่ไร้ความขัดแย้งโดยนำคนหน้าใหม่มาเป็นนักการเมืองแทนคนหน้าเก่า

มันเป็นความคิดปัญญาอ่อนที่ไร้สาระ และถ้าเราย้อนกลับไปศึกษาต้นกำเนิดความขัดแย้ง เราจะเข้าใจว่าทำไมเป็นอย่างนี้

พวกทหาร สลิ่ม และฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ริเริ่มกระบวนการในการทำลายประชาธิปไตย ตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร ๑๙ กันยา มันทำให้เราต้องประสบวิกฤตทางการเมืองอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของทหารกับศาลซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมถึงการก่อความรุนแรงโดยม็อบคนชั้นกลางและพวกอันธพาลจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำลายการเลือกตั้งและสนับสนุนการก่อรัฐประหารดังกล่าว นอกจากทหาร สลิ่ม แลพวกอนุรักษ์นิยมแล้ว นักเคลื่อนไหวเอ็นจีโอ และนักวิชาการเสรีนิยมฝ่ายขวาก็มีส่วนในการสนับสนุนรัฐประหารและการทำลายประชาธิปไตยอีกด้วย

ในรอบสิบปีที่ผ่านมาพวกที่ต้านประชาธิปไตยได้เข่นฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างเลือดเย็น โดยพวกฆาตรกรของฝ่ายรัฐลอยนวลเสมอ ในขณะเดียวกันคุกไทยมีนักโทษทางการเมืองในจำนวนที่เราไม่เคยเห็นตั้งแต่การยุติของสงครามเย็น พร้อมกันนั้นในต่างประเทศก็มีคนไทยที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนหนึ่งอย่างที่ไม่เคยมีมานาน กลไกสำคัญอันหนึ่งที่ใช้ในการปราบฝ่ายซ้ายและเสื้อแดงคือกฏหมายเถื่อน 112 ที่ปกป้องกระทำทุกอย่างของทหารเผด็จการ

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากการ “เหม็นขี้หน้าทักษิณ” ของพวกที่ทำลายประชาธิปไตย มันมาจากจุดยืนและแนวคิดทางการเมืองของเขาต่างหาก

ต้นกำเนิดของวิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้คือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ ซึ่งเปิดโปงปัญหาพื้นฐานในสังคมไทย คือการที่สภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แค่ห้าปีก่อนหน้านั้นมีการลุกฮือที่ประสบความสำเร็จในการล้มเผด็จการทหาร แต่การเมืองยังวนเวียนอยู่ในสภาพเดิมๆ

ในหลายปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่อย่างที่ควร เพราะผลประโยชน์เกือบทั้งหมดตกอยู่ในมือของชนชั้นนำและนายทุนไม่กี่คน ส่วนชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเช่นกัน ก็ได้ประโยชน์บ้าง สรุปแล้วหลายแง่ของสังคมไทยถูกแช่แข็งในความล้าหลัง

ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตของประชาชนทั่วประเทศเปลี่ยนไป คนที่เลี้ยงชีพในภาคเกษตรลดลงอย่างรวดเร็ว และคนที่เป็นลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและการบริการก็เพิ่มขึ้น แม้แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรของชนบทก็ต้องเสริมรายได้ด้วยการทำงานในกิจกรรมนอกภาคเกษตรในชุมชนตนเองด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนมากพอสมควร โดยเฉพาะเวลาเราพิจารณาว่าคนที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไปได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และคนรุ่นใหม่เริ่มเข้าสู่วัยของการเป็นผู้ใหญ่ แต่ความไม่พอใจดังกล่าวไม่ได้ถูกแสดงออกเพราะหลายคนขาดความมั่นใจ และมองไม่ออกว่าจะแก้สถานการณ์ในรูปธรรมอย่างไร นอกจากนี้ไทยขาดพรรคฝ่ายซ้ายที่จะเป็นปากเสียงของคนเหล่านี้โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์

ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเรามีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีภาพว่ามาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมกับการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนเริ่มมีความหวังว่าสภาพสังคมจะดีขึ้น มันเป็นประกายไฟที่จุดให้คนจำนวนมากตื่นตัวทางการเมืองภายใต้ความหวังและทางออกที่พอมองเห็นได้

ทักษิณ ชินวัตร กับพรรคไทยรักไทย เข้าใจและพร้อมจะฉวยโอกาสทองในการสร้างการเมืองแบบใหม่บนพื้นฐานโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อครองใจประชาชน ซึ่งจะแทนที่ระบบอุปถัมภ์และการซื้อเสียงแบบเดิม นโยบายของไทยรักไทย โดยเฉพาะ “30บาทรักษาทุกโรค” และกองทุนหมู่บ้าน ถูกออกแบบเพื่อทำให้สังคมไทยทันสมัยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหญ่เพิ่มกำไรผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยทั่วไปในสังคม ทักษิณเรียกนโยบายดังกล่าวว่า “นโยบายคู่ขนาน” คือผสมการลงทุนจากรัฐกับการใช้กลไกตลาดเสรี แต่ศัตรูของไทยรักไทยมักเรียกนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ว่าเป็น “ประชานิยม” เหมือนใช้คำด่า พวกนี้เกลียดชังการใช้รัฐเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะเขานิยมกลไกตลาดเสรีสุดขั้วแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ที่ให้ประโยชน์กับพวกเขามานาน นอกจากนี้พวกนี้เกลียดชังคนส่วนใหญ่และมองว่าเราเป็น “คนโง่” ที่ไว้ใจไม่ได้ ถูกซื้อง่าย และตัดสินใจอะไรเองไม่ได้

สาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่พวกทหาร สลิ่ม และฝ่ายอนุรักษ์นิยม เริ่มไม่พอใจรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆที่เคยชื่นชมในยุคแรก คือการที่ไทยรักไทยสามารถครองใจประชาชนผ่านนโยบายและสามารถผูกขาดอำนาจจากการชนะการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย พวกนั้นไม่พร้อมหรือไม่สามารถที่จะแข่งขันทางการเมืองกับไทยรักไทยในระบบการเลือกตั้ง เขาจึงหันมาชื่นชมเผด็จการแทน

วิกฤตการเมืองปัจจุบันไม่ได้เกิดจาก “ปัญหาการเปลี่ยนรัชกาล” แต่อย่างใด เพราะกษัตริย์ภูมิพลเป็นคนอ่อนแอมาตลอด ไม่มีอำนาจ และถูกใช้โดยทหารและอำมาตย์ รวมถึงนักการเมืองอย่างทักษิณอีกด้วย

ในขณะที่เรามองเห็นและรู้จักพวกที่ทำลายประชาธิปไตย เราต้องไม่ไปหลงใหลในนักการเมืองแบบทักษิณว่าจะสู้เพื่อประชาธิปไตย ทักษิณมีส่วนในการแช่แข็งเสื้อแดง และเขาเป็นนักการเมืองของฝ่ายทุนที่พร้อมจะก่ออาชญากรรมในปาตานีหรือในสงครามยาเสพติด

ข้อเสนอว่าเราควรหาทางข้ามพ้นความขัดแย้งในหมู่ประชาชนสองฝ่ายของสังคมไทย เพื่อหาฉันทามติในการกำหนดรูปแบบการเมืองที่ไม่ใช่เผด็จการทหาร เป็นข้อเสนอที่จะไม่สร้างประชาธิปไตยจริงในรูปธรรม เพราะความขัดแย้งทางการเมืองมักดำรงอยู่ในทุกสังคมของโลก และความขัดแย้งดังกล่าวมีรากฐานจากผลประโยชน์ที่ต่างกันทางชนชั้น ทั้งๆ ที่ประเด็นต่างๆ อาจถูกบิดเบือนไปหรือไม่ชัดเจนแบบขาวกับดำ การหาฉันทามติระหว่างคนที่รักประชาธิปไตยในไทยกับพวกสลิ่ม นอกจากจะเป็นความฝันที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังเป็นข้อเสนอที่จะจบลงโดยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประนีประนอมในที่สุด ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเป็นฝ่ายประนีประนอม เราจะได้แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ถูกเปิดโปงออกมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะสภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ล้าหลังและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนส่วนใหญ่ที่ยากจนกับเศรษฐีคนรวยหรือแม้แต่คนชั้นกลางที่มีความเป็นอยู่สบาย เราจะวนเวียนอยู่ในอ่างจนเกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่

เราจะกำจัดมรดกพิษของเผด็จการทหารอย่างไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

มันเป็นเรื่องดียิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ประกาศอย่างชัดเจนว่าต้องการกำจัดมรดกของเผด็จการและป้องกันไม่ให้มีรัฐประหารอีก และเราทุกคนควรสนับสนุนเป้าหมายนี้ ไม่ว่าเราจะสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ อ่านเพิ่มตรงนี้

การกำจัดมรดกของทหาร การผลักทหารออกจากการเมือง และการป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่ออำนาจฝ่ายอนุรักษณ์นิยมในไทย เพราะต้องมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร ปลดนายพล ปลดสว.แต่งตั้งของทหาร ปลดศาลแต่งตั้งของทหาร ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ลงโทษนายพลที่กระทำผิด ลดงบประมาณทหาร และยกเลิกการเกณฑ์ทหารอีกด้วย

การยกเลิกกฏหมาย 112 ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งอีก เพราะทหารมักใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อเป็นเครื่องมือของตนเอง และใช้กฏหมาย 112 และการทำรัฐประหารคู่กันไป โดยอ้างว่าฝ่ายตรงข้ามต้องการล้มเจ้า

ลองนึกภาพดู ถ้าเกิดมีพรรคการเมืองที่ต่อต้านเผด็จการ ที่มีเสียงข้างมากในสภา ถ้าสส.เขายกมือพร้อมกันเพื่อลดบทบาททหาร ทหารจะอ่อนแอทันทีหรือไม่?

การที่พรรคการเมืองไหนชนะการเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากในรัฐสภา ไม่สามารถสร้างอำนาจอย่างเพียงพอในการลดบทบาททหาร ทั้งนี้เพราะ “รัฐ” มีสถาบันและองค์กรต่างๆ ที่มากมาย และมีแค่รัฐสภากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น นี้คือลักษณะทั่วไปของรัฐในระบบทุนนิยม มันไม่ใช่เรื่อง “รัฐพันลึก” ที่ลึกลับและมองไม่เห็นแต่อย่างใด เพราะพวกที่พร้อมจะต่อต้านประชาธิปไตยปรากฏตัวให้เห็นตลอดเวลา

gettyimages-688651088

ในประเทศอังกฤษ ถ้า เจเรมี คอร์บิน จากพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป และผมหวังว่าจะชนะ รัฐบาลฝ่ายซ้ายของเขาจะถูกต่อต้านจากกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งกำลังวางแผนขนทุนออกนอกประเทศ จากสื่อกระแสหลักที่เริ่มใส่ร้ายลงข่าวเท็จ จากข้าราชการประจำในกระทรวงต่างๆ ที่จะไม่ยอมร่วมมือ และจากศาลที่มักมีจุดยืนอนุรักษ์นิยม แถมยังมีนายพลขวาตกขอบคนหนึ่งที่ขู่ว่าจะทำรัฐประหารอีกด้วย สำหรับอังกฤษมันไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษต้องเผชิญหน้ากับปัญหาแบบนี้ โดยเฉพาะการต่อต้านทางเศรษฐกิจจากกลุ่มทุนใหญ่ และจากไอเอ็มเอฟอีกด้วย พวกนี้ไม่เคยเคารพกติกาประชาธิปไตยเลย ในประเทศกรีซพรรคไซรีซาก็โดนกดดันจากกลุ่มทุนและสถาบันในอียู รวมถึงไอเอ็มเอฟ จนต้องกลับลำเลิกใช้นโยบายที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ

ในกรณีไทย แรงกดดันต่อรัฐบาลที่ต้องการลดบทบาททหารจากฝ่ายปฏิกิริยา คงไม่น้อยหน้าจากกรณียุโรป

ฝ่ายซ้ายทั่วโลกเข้าใจดีว่าอำนาจที่จะมาคานกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแบบนี้ ต้องมาจากการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งรวมถึงสหภาพแรงงานด้วย

ในไทยอิทธิพลของทหารในการเมืองถูกลดลงหลังจากที่ประชาชนห้าแสนคนชุมนุมขับไล่เผด็จการในวันที่ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และหลังจากที่มวลชนออกมาไล่เผด็จการในปี ๒๕๓๕

ในตุรกี เกาหลีใต้ เวเนสเวลา และอาเจนทีนา มีการยับยั้งรัฐประหาร มีการลดบทบาททหารในการเมือง และมีการนำนายพลฆาตกรมาขึ้นศาลแล้วจำคุก พลังสำคัญมาจากมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหว

suu-kyi-rohingya

ในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เผด็จการถูกล้มโดยพลังมวลชน แต่ในกรณีพม่า การที่นางอองซานซูจีพยายามสลายมวลชน และส่งคนกลับบ้าน ในเหตุการณ์ 8-8-88 ทำให้เผด็จการทหารยังอยู่ต่อไปถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งจอมปลอมหรือไม่

29512150_1698098393566630_1691086882136188064_n

บทเรียนจากไทยและทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่าเราจะสามารถกำจักมรดกพิษของทหารเผด็จการได้ ถ้าเราสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นภาระสำคัญของเราในยุคนี้คือการรื้อฟื้นขบวนการแบบเสื้อแดง แต่ในรูปแบบใหม่ที่ไม่ถูกนำโดยนักการเมืองอย่างทักษิณ

พรรคอนาคตใหม่สนใจจะมีส่วนร่วมในการสร้างขบวนการแบบนี้หรือไม่?

 

ธนาธรคุยเรื่องแรงงานจากมุมมองนายทุน

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อวันก่อน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้คุยกับ สุนทร บุญยอด และคุณบัวลอง เรื่องแรงงาน [ดู Facebook ของธนาธร] แต่ส่วนใหญ่เป็นการสร้างภาพเท่านั้น และข้อเสนอไปไม่ไกลพอ จะขออธิบายเพิ่ม

DaMB39JU8AEGUGV

ธนาธรพูดว่าธุรกิจต้องได้กำไรก่อนอื่น ถ้าบรษัทหนึ่งขึ้นค่าแรงหรือเพิ่มสวัสดิการ ก็จะแข่งกับคู่แข่งไม่ได้ ดังนั้นต้องทำทั้งประเทศ … แต่คำถามที่ตามมาคือเรื่องการแข่งขันกับต่างประเทศ ถ้าประเทศคู่แข่งของไทยกดค่าแรงและสวัสดิการ มันจะกลายเป็นข้ออ้างในการกดค่าแรงและสวัสดิการของคนงานไทยใช่ไหม? เพราะข้ออ้างของพวกเสรีนิยมกลไกตลาดแบบนี้ใช้กันทั่วโลก

ธนาธรบอกว่าต้องบังคับใช้ 40 ชม.ต่อสัปดาห์! แต่40 ชม.ต่อสัปดาห์มันมากเกินไปและแรงงานสากลเรียกร้อง 35 ชม.ต่อสัปดาห์มานานแล้ว ควรหยุดทั้งเสาร์อาทิตย์และเงินเดือนสำหรับการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ควรจะพอสสำหรับวิถีชีวิตที่ดี

ธนาธรมองว่าแรงงานไม่มีความรู้ และเปลี่ยนชนชั้น ยกระกับตนเองไม่ได้ พูดตามสูตรพวกกลไกตลาด สร้างภาพว่าคนทำงานควรพยายามเป็นนายทุนน้อย และใครที่ทำไม่ได้ก็ต้องโทษตนเอง จริงๆ แล้วในโลกจริงชนชั้นกรรมาชีพทั้งชนชั้นแปรสภาพไปเป็นชนชั้นกลางไม่ได้ เราควรเรียกร้องให้สภาพความเป็นอยู่ของลูกจ้างทุกคนดีพอที่จะมีวิถีชีวิตที่ดี ผ่านการขึ้นค่าแรง ลดชั่วโมงการทำงาน เพิ่มวันลาพักร้อน และสร้างรัฐสวัสดิการต่างหาก คนทำงานธรรมดาจะได้ไปเที่ยวต่างประเทศเหมือนธนาธร

Thanathorn09

ธนาธรพูดถึงสวัสดิการค่าเลี้ยงดูบุตร สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนเข้าอนุบาลในทุกชุมชน และการลดภาษีให้คนจน แต่ไม่แตะ “รัฐสวัสดิการ” แบบถ้วนหน้าผ่านการเก็บภาษีในอัตราสูงเป็นพิเศษจากคนรวยและกลุ่มทุน นอกจากนี้ข้อเสนอให้นำคนสูงวัยมาเลี้ยงลูกหลานในสถานรับเลี้ยงเด็ก เหมือนกับการบังคับให้คนชราต้องทำงานต่อโดยไม่สามารถเกษียณได้ ใช่หรือไม่? ต้องดูเงื่อนไขและรายละเอียด

ข้อเสนอให้รัฐมนตรีแรงงานเป็นตัวแทนแรงงานเคยถูกนำมาใช้ในฟิลิปปินส์และลาตินอเมริกา และถูกนำมาใช้เพื่อหลอกใช้แรงงานและควบคุมการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานต่างหาก ไม่ใช่ว่าขบวนการแรงงานจะมีอำนาจคุมรัฐบาลแต่อย่างใด

ที่สำคัญคือธนาธรไม่แตะการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปกฏหมายแรงงาน เพื่อเพิ่มสิทธิกับสหภาพแรงงานในการเคลื่อนไหวและนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่อาจสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงาน

ไม่มีการพูดถึงการต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำลายสภาพการจ้างของพนักงาน อีกด้วย

สุนทร บุญยอด หวังว่าแรงงานจะกำหนดนโยบายให้พรรค  แต่ธนาธรกลับพูดถึงทีมนักวิชาการ ที่จะเสนอนโยบายต่างหาก เช่นในเรื่องสวัสดิการ

สรุปแล้วเป็นการสร้างภาพเพื่อดูดี

ขบวนการแรงงานต้องสร้างพรรคของตนเองจากล่างสู่บน เพื่อไม่ให้ถูกนักการเมืองนายทุนหลอกใช้

ธนาธร เสนอนโยบายฝ่ายขวา ในขณะที่ ปิยบุตร พูดถึงพรรคฝ่ายซ้าย? ตกลงจะเอายังไง?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมือง หมายความว่าเราสามารถดูออกและแยกแยะแนวคิดทางการเมืองของฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา เราสามารถเข้าใจว่า “ฝ่ายซ้าย” เป็นฝ่ายที่อยู่เคียงข้างคนทำงานกับคนจน และ “ฝ่ายขวา” อยู่เคียงข้างคนจำนวนน้อยที่เป็นนายทุนกับคนรวย และมันหมายความว่าเราเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดที่เชิดชูกลไกตลาดเสรีกับแนวคิดที่มองว่ารัฐควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย

organise-fish-solidarity-hi

การที่พลเมืองจำนวนมากในสังคมไทยไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะเขาโง่แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะแนวคิดการเมืองกระแสหลัก ที่มาจากทหาร นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และเอ็นจีโอ พยายามปกปิดเรื่องนี้มานาน เพราะเน้นแต่ผลประโยชน์คนข้างบน หรือไม่สนใจเรื่องทฤษฏีการเมือง

อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ฝ่ายซ้ายไทยและขบวนการสหภาพแรงงานอ่อนแอเกินไปที่จะท้าทายการผูกขาดของแนวคิดฝ่ายขวา จนพวกฝ่ายขวาสามารถอ้างว่าแนวคิดของเขาเป็น “ธรรมชาติ” และในโลกจริง “เราไม่มีทางเลือกอื่น” ความอ่อนแอนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทหารฝ่ายขวาเข้ามาปกครองบ้านเมืองและปราบปรามฝ่ายซ้ายในอดีตและปัจจุบัน แม้แต่ในรัฐธรรมนูญมีการระบุว่ารัฐต้องส่งเสริมกลไกตลาด เหมือนกับว่ามันไม่มีทางเลือกอื่น และประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกนโยบายอื่น

ในมหาวิทยาลัยไทย ไม่ค่อยมีการสอนเศรษฐศาสตร์การเมือง ไม่ค่อยมีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสำรวจข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดเกี่ยวกับกลไกตลาดและรัฐ [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ] และไม่ค่อยจะมีการชวนให้นักศึกษาเรียนรู้การถกเถียงโต้แย้งในเรื่องต่างๆ เช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำกลไกตลาดเข้ามาในระบบการศึกษาและสาธารณสุข

ส่วนขบวนการ เอ็นจีโอ มักจะภูมิใจที่จะไม่ศึกษาทฤษฏีทางการเมืองเลย พวกนี้และนักสหภาพแรงงานบางคน จะพูดว่าเขาเป็นนักปฏิบัติที่ไม่ต้องสนใจทฤษฏีทางการเมือง

ผมเคยเอ่ยถึงรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส และสื่ออื่นๆ ที่เสนอว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการที่จะให้ธุรกิจในไทยมีเสรีภาพมากขึ้น [ดูhttps://reut.rs/2ugDj39 และ https://voicetv.co.th/read/HyhWwN9qz ]

ในรายงานข่าวนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สเสนอว่าบางคนเปรียบเทียบ ธนาธร กับประธานาธิบดี แมครอน ของฝรั่งเศส(ภาพข้างใต้)

สื่อไทยชื่อ The Momentum ก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน [ดู https://bit.ly/2G3SQIP ]

macron-1

การมองว่า ธนาธร เหมือน แมครอน อาจจริง เพราะทั้งสองคนเป็นนักการเมืองฝ่ายทุน ที่อ้าง  “ความหน้าใหม่” มาเป็นจุดขาย และทั้งสองมีจุดยืนในการปราบสหภาพแรงงาน ภาพข้างใต้เป็นภาพสหภาพแรงงานฝรั่งเศสประท้วงแมครอนเมื่อไม่นานมานี้

29542044_411046555989397_9009463493784753527_n

ข้อแตกต่างอันหนึ่งระหว่างแมครอนกับธนาธรอาจเป็นเรื่องจุดยืนต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งดูเหมือนธนาธรก้าวหน้ากว่ามาก

เราคงต้องกลับไปทบทวนคำพูดของ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่บอกว่าต้องการจะสร้างพรรคการเมืองใหม่ตามแบบพรรคซีรีซา(Syriza)ของกรีซ พรรคโพเดมอส(Podemos)ของสเปน พรรคห้าดาวของอิตาลี่ และพรรค “La France Insoumise”(พรรค “ฝรั่งเศสไม่ก้มหน้าให้ใคร” ) ของ Jean-Luc Mélenchon [ดู https://bbc.in/2G38dRO ]

Jean-Luc_Mélenchon_-_avril_2012

ที่นี้มันดูเหมือนมีปัญหาหนัก เพราะพรรค La France Insoumise ของเมลองชอง (ภาพข้างบน) เป็นพรรคฝ่ายซ้าย ที่ซ้ายกว่าพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส และสนับสนุนสหภาพแรงงาน ในขณะที่ประธานาธิบดี แมครอน เป็นนักการเมืองฝ่ายขวา ที่ต้องการทำลายสหภาพแรงงาน และพยายามเสนอนโยบายชาตินิยมจัด เพื่อพยายามดึงคะแนนมาจากพรรคฟาสซิสต์ สรุปแล้วทั้งสองอยู่คนละขั้วของการเมืองฝรั่งเศส ไม่มีพรรคไหนที่เป็นทั้งสองอย่างพร้อมกันได้

ผมนึกภาพไม่ออกว่าเวลา ปิยบุตร คุยกับ ธนาธร ในเรื่องแบบนี้เขาทะเลาะกันเอาเป็นเอาตาย หรือมองว่าเรื่องซ้ายกับขวาไม่ควรจะมีความสำคัญสำหรับพลเมืองไทย ผมไม่อยากคิดว่า ปิยบุตร ขาดความรู้ในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมเลยไม่เชือว่าแยกไม่ออกระหว่างซ้ายกับขวา

ผมไม่อยากคิดอีกว่า ปิยบุตร จงใจปกปิดความแตกต่างระหว่างซ้ายกับขวา เพื่อผลิตซ้ำการที่พลเมืองไทยไม่ค่อยมีโอกาสในการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่จะให้ผมคิดอย่างไร?

ตกลงในยุคนี้ เมื่อเรามีโอกาสที่จะถกเถียงตรวจสอบพรรคการเมืองใหม่กับเก่า เราจะเอาสมองไปไว้กะลา แล้วไม่สนใจนโยบายของพรรคต่างๆ ว่าเป็นซ้ายหรือขวา แต่จะแค่ตื่นเต้นกับคนหน้าใหม่เท่านั้นหรือ?

 

ถ้าธนาธรจะให้ธุรกิจมีเสรีภาพมากขึ้นมันจะขัดกับผลประโยชน์คนส่วนใหญ่หรือไม่?

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการที่จะให้ธุรกิจในไทยมีเสรีภาพมากขึ้น  โดยลดระเบียบข้อบังคับต่างๆ น่าจะชวนให้เราตั้งคำถามสำคัญในเรื่องนี้ [ดู https://reut.rs/2ugDj39 ] นอกจากนี้รอยเตอร์สเสนอว่าธนาธรต้องการ “ถอยออกห่างจากนโยบายประชานิยมของไทยรักไทย” เราควรจะรู้ว่าท่าทีของพรรคอนาคตใหม่ต่อนโยบายที่ช่วยคนจนเป็นอย่างไร

ในขณะเดียวกันรายงานข่าวจาก Voice TV เปิดเผยว่า ธนาธร ต้องการรื้อระบบผูกขาดที่ครอบงำภาคเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภาคการธนาคาร ธุรกิจค้าปลีก และภาคการเกษตร และพูดว่า หลายภาคส่วนไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ควบคุมโดยกลุ่มทุนไม่กี่ราย” [ดู https://voicetv.co.th/read/HyhWwN9qz ]

 

ในด้านหนึ่งการทำลายการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่อาจเป็นประโยชน์กับพลเมืองส่วนใหญ่ ถ้านำไปสู่การลดราคาหรือการบริการที่ดีขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจนำไปสู่ข้อเสียสำหรับคนส่วนใหญ่ ถ้าผลที่เกิดขึ้น นำไปสู่การรื้อทิ้งคนงาน และการตัดค่าจ้าง

 

นอกจากนี้ ในภาพรวม ข้อเสนอในการให้เสรีภาพกับกลุ่มทุนต่างๆ และนำกลไกตลาดเข้ามา เป็นข้อเสนอของนักการเมืองฝ่ายขวาคลั่งกลไกตลาดเสรีมานาน ในบริบทสากลมันเป็นข้อเสนอของคนที่ต้องการเพิ่มกำไรให้กลุ่มทุนบนซากศพหรือความรันทดในชีวิตของคนธรรมดา และมันเป็นสิ่งที่ขัดกับผลประโยชน์พลเมืองส่วนใหญ่ทั่วโลก นี่คือประสบการณ์จากโลกจริงในทุกประเทศ ผมจะขออธิบายต่อ

 

การให้เสรีภาพมากขึ้นกับธุรกิจ ผ่านการรื้อทิ้งและลดระเบียบข้อบังคับต่างๆ มีผลเสียกับขบวนการแรงงานและกรรมาชีพคนทำงาน มันมีผลเสียกับคนที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มันมีผลเสียต่อคนที่อาจประสบอุบัติเหตุในสถานที่ทำงาน มันเป็นผลเสียต่อชาวไร่ชาวนา และมันเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคอีกด้วย

UnsafeEnviro

สำหรับกรรมาชีพคนทำงานและขบวนการแรงงาน การให้เสรีภาพกับกลุ่มทุนหมายความว่าในรูปธรรมกฏหมายที่ปกป้องสิทธิพื้นฐานของคนทำงานจะถูกรื้อทิ้ง ผลที่เห็นกันทั่วโลกคือนายทุนมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการให้คุณให้โทษและในการละเมิดชีวิตคนทำงาน

นอกจากนี้การรื้อทิ้งข้อบังคับต่างๆ ในเรื่องความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน หรือบนเรือประมง ทำให้การทำงานอันตรายมากขึ้น และมันทำให้คนที่มีที่อยู่อาศัยใกล้ๆ กับสถานประกอบการเสี่ยงภัยมากขึ้นอีกด้วย

การรื้อทิ้งระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในเรื่องความปลอดภัยในการประกอบธุรกิจคมนาคม เช่นการเดินรถประจำทาง การเดินรถไฟ  หรือการธุรกิจการบิน ทำให้มีอุบัติเหตุมากขึ้น

Anthropocene

สำหรับคนที่ต้องการจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือลดมลภาวะ หรือแก้ปัญหาโลกร้อน และสำหรับชาวบ้านธรรมดา การรื้อทิ้งระเบียบที่จำกัดเสรีภาพของธุรกิจ นำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้า การขุดเหมือง การบุกรุกป่า และการเพิ่มมลภาวะในเมือง มันนำไปสู่การปฏิเสธปัญหาโลกร้อนที่มาจากการเผาเชื้อเพลิงคอร์บอน เพราะนายทุนจะมีเสรีภาพเต็มที่ในการใช้ทรัพยากรที่ควรเป็นของส่วนรวม ในการกอบโกบกำไรโดยไม่มีการจำกัดเลย เราเห็นปัญหาแบบนี้ในไทยอยู่แล้ว และเห็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดี ทรัมพ์ อีกด้วย

สำหรับเกษตรกรรายย่อย การเพิ่มเสรีภาพกับกลุ่มทุน ทำให้เขามีอำนาจต่อรองกับกลุ่มทุนภาคเกษตรน้อยลง และเอาตัวรอดในการประกอบอาชีพยากขึ้นจนเขาต้องล้มละลาย ซึ่งตอนนี้ก็กลายเป็นปัญหาทั่วโลก สำหรับชาวประมงพื้นบ้าน ก็จะถูกธุรกิจประมงขนาดใหญ่แย่งอาชีพไปเช่นกัน

การรื้อทิ้งระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำหรับบริษัทสื่อไอทีหรือโทรคมนาคม จะนำไปสู่การที่บริษัทเหล่านั้นสามารถละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกค้า โดยการนำข้อมูลส่วนตัวไปขายได้อย่างเสรี

สำหรับผู้บริโภค การรื้อทิ้งระเบียบข้อบังคับต่างๆ นำไปสู่การผลิตอาหารที่อันตรายมากขึ้น เพราะมาตรฐานความสะอาดจะลดลง และการใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช และการฉีดยาปฏิชีวนะใส่เนื้อสัตว์มีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในประเทศตะวันตก

ถ้าเราพิจารณาสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด และมาดูสภาพสังคมไทย เราจะเห็นว่าในยุคนี้ ธุรกิจต่างๆ เกือบจะมีเสรีภาพในการกอบโกยกำไรและทำลายชีวิตพลเมืองส่วนใหญ่อยู่แล้ว และส่วนหนึ่งมาจากมรดกการปกครองแบบเผด็จการทหาร หรือการที่เรามีแต่พรรคการเมืองฝ่ายทุน ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ คือการเพิ่มระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อจำกัดสิทธิของกลุ่มทุนและปกป้องสิทธิของคนส่วนใหญ่

ดังนั้นในเรื่องนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ ควรจะออกมาชีแจงความหมายอย่างเป็นรูปธรรมของการที่จะให้ธุรกิจในไทยมีเสรีภาพมากขึ้นผ่านการรื้อทิ้งข้อบังคับต่างๆ [“business deregulation”] เราจะได้ตัดสินใจว่าจะเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่หรือไม่