ใจ อึ๊งภากรณ์
มันเป็นเรื่องดียิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ประกาศอย่างชัดเจนว่าต้องการกำจัดมรดกของเผด็จการและป้องกันไม่ให้มีรัฐประหารอีก และเราทุกคนควรสนับสนุนเป้าหมายนี้ ไม่ว่าเราจะสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ อ่านเพิ่มตรงนี้
การกำจัดมรดกของทหาร การผลักทหารออกจากการเมือง และการป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่ออำนาจฝ่ายอนุรักษณ์นิยมในไทย เพราะต้องมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร ปลดนายพล ปลดสว.แต่งตั้งของทหาร ปลดศาลแต่งตั้งของทหาร ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ลงโทษนายพลที่กระทำผิด ลดงบประมาณทหาร และยกเลิกการเกณฑ์ทหารอีกด้วย
การยกเลิกกฏหมาย 112 ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งอีก เพราะทหารมักใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อเป็นเครื่องมือของตนเอง และใช้กฏหมาย 112 และการทำรัฐประหารคู่กันไป โดยอ้างว่าฝ่ายตรงข้ามต้องการล้มเจ้า
ลองนึกภาพดู ถ้าเกิดมีพรรคการเมืองที่ต่อต้านเผด็จการ ที่มีเสียงข้างมากในสภา ถ้าสส.เขายกมือพร้อมกันเพื่อลดบทบาททหาร ทหารจะอ่อนแอทันทีหรือไม่?
การที่พรรคการเมืองไหนชนะการเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากในรัฐสภา ไม่สามารถสร้างอำนาจอย่างเพียงพอในการลดบทบาททหาร ทั้งนี้เพราะ “รัฐ” มีสถาบันและองค์กรต่างๆ ที่มากมาย และมีแค่รัฐสภากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น นี้คือลักษณะทั่วไปของรัฐในระบบทุนนิยม มันไม่ใช่เรื่อง “รัฐพันลึก” ที่ลึกลับและมองไม่เห็นแต่อย่างใด เพราะพวกที่พร้อมจะต่อต้านประชาธิปไตยปรากฏตัวให้เห็นตลอดเวลา
ในประเทศอังกฤษ ถ้า เจเรมี คอร์บิน จากพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป และผมหวังว่าจะชนะ รัฐบาลฝ่ายซ้ายของเขาจะถูกต่อต้านจากกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งกำลังวางแผนขนทุนออกนอกประเทศ จากสื่อกระแสหลักที่เริ่มใส่ร้ายลงข่าวเท็จ จากข้าราชการประจำในกระทรวงต่างๆ ที่จะไม่ยอมร่วมมือ และจากศาลที่มักมีจุดยืนอนุรักษ์นิยม แถมยังมีนายพลขวาตกขอบคนหนึ่งที่ขู่ว่าจะทำรัฐประหารอีกด้วย สำหรับอังกฤษมันไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษต้องเผชิญหน้ากับปัญหาแบบนี้ โดยเฉพาะการต่อต้านทางเศรษฐกิจจากกลุ่มทุนใหญ่ และจากไอเอ็มเอฟอีกด้วย พวกนี้ไม่เคยเคารพกติกาประชาธิปไตยเลย ในประเทศกรีซพรรคไซรีซาก็โดนกดดันจากกลุ่มทุนและสถาบันในอียู รวมถึงไอเอ็มเอฟ จนต้องกลับลำเลิกใช้นโยบายที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ
ในกรณีไทย แรงกดดันต่อรัฐบาลที่ต้องการลดบทบาททหารจากฝ่ายปฏิกิริยา คงไม่น้อยหน้าจากกรณียุโรป
ฝ่ายซ้ายทั่วโลกเข้าใจดีว่าอำนาจที่จะมาคานกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแบบนี้ ต้องมาจากการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งรวมถึงสหภาพแรงงานด้วย
ในไทยอิทธิพลของทหารในการเมืองถูกลดลงหลังจากที่ประชาชนห้าแสนคนชุมนุมขับไล่เผด็จการในวันที่ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และหลังจากที่มวลชนออกมาไล่เผด็จการในปี ๒๕๓๕
ในตุรกี เกาหลีใต้ เวเนสเวลา และอาเจนทีนา มีการยับยั้งรัฐประหาร มีการลดบทบาททหารในการเมือง และมีการนำนายพลฆาตกรมาขึ้นศาลแล้วจำคุก พลังสำคัญมาจากมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหว
ในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เผด็จการถูกล้มโดยพลังมวลชน แต่ในกรณีพม่า การที่นางอองซานซูจีพยายามสลายมวลชน และส่งคนกลับบ้าน ในเหตุการณ์ 8-8-88 ทำให้เผด็จการทหารยังอยู่ต่อไปถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งจอมปลอมหรือไม่
บทเรียนจากไทยและทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่าเราจะสามารถกำจักมรดกพิษของทหารเผด็จการได้ ถ้าเราสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นภาระสำคัญของเราในยุคนี้คือการรื้อฟื้นขบวนการแบบเสื้อแดง แต่ในรูปแบบใหม่ที่ไม่ถูกนำโดยนักการเมืองอย่างทักษิณ
พรรคอนาคตใหม่สนใจจะมีส่วนร่วมในการสร้างขบวนการแบบนี้หรือไม่?