ใจ อึ๊งภากรณ์
การประชุมระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิม จอง-อึน จากเกาหลีเหนือ คงลดความเครียดสำหรับคนจำนวนมากในโลก โดยเฉพาะในเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น เพราะก่อนหน้านี้ดูเหมือนภัยจากสงครามนิวเคลียร์จะกลับมาเป็นเรื่องจริงอีกครั้งตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็น
เราจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือได้อย่างไร? เพราะมันไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งระหว่าง “โลกเสรี” กับ “คอมมิวนิสต์” อย่างที่นักวิเคราะห์ปัญญาอ่อนคิดเลย

ทฤษฏีจักรวรรดินิยมของเลนิน มีความสำคัญทุกวันนี้ในการทำความเข้าใจกับภัยสงคราม ทั้งๆ ที่มหาอำนาจเลิกใช้การล่าอาณานิคมในการกดขี่ประชากรโลกในรูปแบบเดิม เพราะทุกวันนี้ยังมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ออกมาในรูปแบบการแข่งขันทางทหาร ทฤษฏีจักรวรรดินิยมของเลนิน เน้นว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการแข่งขันทางทหารเสมอ

ทุกวันนี้ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด เริ่มอ่อนแอเมื่อเทียบกับจีน หรือประเทศอื่นๆ ในโลกพัฒนา เช่นญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศในอียู สหรัฐจึงจงใจใช้อำนาจทางทหารในการรักษาตำแหน่งในโลก สงครามในอ่าว สงครามอิรัก การแทรกแซงในซิเรีย ฯลฯ ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะสาเหตุนี้ และปัจจุบันความก้าวร้าวของประธานาธิบดีทรัมป์ในเรื่องเกาหลีเหนือ ก็เกี่ยวข้องกับการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน [ดู https://bit.ly/2MhgYY2 ]ยิ่งกว่านั้น การที่โลกไม่ได้แยกเป็นสองฝ่ายตามมหาอำนาจหลัก อเมริกา กับ รัสเซีย อย่างที่เคยเป็นในยุคสงครามเย็น แปลว่าประเทศขนาดกลางมีพื้นที่ในการเบ่งอำนาจ เช่นในตะวันออกกลางเป็นต้น มันทำให้โลกเราในยุคนี้ขาดเสถียรภาพและเต็มไปด้วยภัยสงคราม “สงคราม” ทางเศรษฐกิจกับการค้าระหว่างสหรัฐกับ อียู คานาดา และจีน เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ ในกรณีสหรัฐกับเกาหลีเหนือมันเป็นภัยสงครามนิวเคลียร์อีกด้วย
คิม จอง-อึน เป็นผู้นำเผด็จกการที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผ่านสายเลือด คิม อิล-ซ็อง ผู้นำคนแรกของเกาหลีเหนือ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำโดยสตาลินเมื่อกองทัพรัสเซียเข้ามายึดทางเหนือของเกาหลีในช่วงปลายๆ ของสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีเหนือจึงกลายเป็นรัฐเผด็จการในรูปแบบที่สตาลินใช้ปกครองรัสเซีย ระบบนี้ไม่ใช่ “สังคมนิยม” หรือ “คอมมิวนิสต์” ตามแนวคิดของมาร์คซ์หรือเลนินแต่อย่างใด เพราะชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้ปกครองตนเอง แต่กลับกลายเป็นผู้ถูกขูดรีดกดขี่ และการสถาปนารัฐมาจากกองทัพรัสเซีย ไม่ใช่การปฏิวัติของกรรมาชีพ ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่าระบบเศรษฐกิจการเมืองของเกาหลีใต้คือ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ที่รัฐกลายเป็นกลุ่มทุนผูกขาดแทนที่จะมีกลุ่มทุนเอกชน นอกจากนี้ คิม อิล-ซ็อง ได้เสนอแนวทาง “เศรษฐกิจพึ่งตนเอง” (จูเช) อีกด้วย
ในระยะแรกทุนนิยมโดยรัฐประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ โดยที่เกาหลีเหนือพัฒนาไปไกลกว่าเผด็จการทุนนิยมตลาดเสรีของเกาหลีใต้ แต่เมื่อระบบทุนนิยมโลกพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องโลกาภิวัฒน์ การพึ่งตนเองและระดมทุนภายในกลายเป็นจุดอ่อน จนเกาหลีเหนือยากจนลงเรื่อยๆ นี่คือสาเหตุที่ คิม จอง-อึน ปล่อยให้ทุนเอกชนทำการค้าขายลงทุนได้ และความอ่อนแอของเกาหลีเหนือ เป็นสาเหตุที่รัฐบาลเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องตัวเองและเอาตัวรอดจากการข่มขู่จากภายนอก
สำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ ท่าทีก้าวร้าวที่เคยมีกับเกาหลีเหนือ ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการปกป้อง “โลกเสรี” เพราะท่าทีนี้ทำให้พลเมืองในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเสี่ยงตายจากสงครามนิวเคลียร์ และอย่าลืมว่าสองประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย
นโยบายของสหรัฐต่อเกาหลีเหนือเป็นแค่เครื่องมืออันหนึ่งในการแข่งขันกับจีน ซึ่งเป็นการแข่งขันเพื่อช่วงชิงอิทธิพลในเอเชีย
การข่มขู่ทางทหาร และการเจรจาทางการทูต เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน และในกรณีตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งแข่งขันระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ทรัมป์ ได้ยุยงให้อิสราเอลก้าวร้าวมากขึ้นจนประชาชนในภูมิภาคเสี่ยงภัยสงครามระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลอย่างน่าใจหาย
ในปีค.ศ. 1916 หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติรัสเซีย เลนิน ได้เขียนหนังสือสำคัญชื่อ “จักรวรรดินิยมขั้นตอนสูงสุดของทุนนิยม”
ประเด็นสำคัญในความคิดเรื่องจักรวรรดินิยมของเลนินคือ การพัฒนาของระบบทุนนิยมทำให้กลุ่มทุนต่างๆ ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านั้นกับรัฐ ทำงานในทิศทางเดียวกัน รัฐใหญ่ๆ ของโลกจะใช้อำนาจทางทหารเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในประเทศของตนเอง และมีการแบ่งพื้นที่ของโลกภายใต้อำนาจของรัฐดังกล่าวในรูปแบบอาณานิคม และที่สำคัญคือการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ และรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน นำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งในที่สุดระเบิดออกมาในรูปแบบสงคราม
ความคิดกระแสหลักที่ยังสอนกันอยู่ในสถานศึกษาทุกวันนี้ มักจะอธิบายสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่าเกิดจากอุบัติเหตุทางการเมือง หรือการจับมือเป็นพันธมิตรสองขั้วของชาติต่างๆ ในยุโรป แต่นั้นเป็นเพียงการบรรยายอาการของ “จักรวรรดินิยม” เพราะต้นกำเนิดของสงครามมาจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลก และสงครามดังกล่าวเป็นสงครามที่กลุ่มทุนใหญ่และรัฐกระทำเพื่อเพิ่มอำนาจของฝ่ายตนเองในการขูดรีดกรรมาชีพและปล้นทรัพยากรในประเทศอื่น แต่ในการทำสงครามมักมีการโกหกสร้างภาพว่าทุกสงครามเป็นการรบเพื่อ “เสรีภาพ” เพราะคนที่ต้องไปรบมักจะเป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร
ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราจะเข้าใจว่าทำไม เลนิน กับนักมาร์คซิสต์จะไม่สนับสนุนสงครามจักรวรรดินิยม และจะไม่มีวันคลั่งชาติ คำขวัญสำคัญของเลนินในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ “เปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมไปเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างชนชั้น!”
สงครามไม่ได้เกิดจาก “นิสัยพื้นฐานของมนุษย์” มันเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่างๆ ในระบบทุนนิยม สงครามต่างๆ ในประเทศซิเรียทุกวันนี้ และการแทรกแซงจากภายนอกเป็นตัวอย่างที่ดี ดังนั้นถ้าจะห้ามสงคราม เราต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่โจมตีการจับมือกันระหว่างรัฐกับทุน และโจมตีระบบทุนนิยมโลกอีกด้วย
บางคนไปตั้งความหวังไว้กับองค์กรสหประชาชาติ เพื่อสร้างสันติภาพในโลก แต่สหประชาชาติเป็นเพียงสมาคมของรัฐต่างๆ ทั่วโลก โดยมหาอำนาจคุมองค์กรผ่านคณะมนตรีความมั่นคง รัฐเหล่านี้เป็นผู้ก่อสงครามแต่แรก ไม่ใช่ผู้ที่จะสร้างสันติภาพแต่อย่างใด
ในไทยเราต้องต่อต้านการแข่งกันสะสมอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโจมตีการซื้ออาวุธของรัฐไทยเป็นหลัก เราต้องต่อต้านการเกณฑ์ทหารด้วย และเราต้องคัดค้านการรักชาติ และหันมารักประชาชนแทน
นอกจากนี้เมื่อประชาชนปาตานีพยายามต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองจากอำนาจรัฐไทย เราต้องเข้าข้างเขาเสมอ ไม่ใช่ไปเชียร์กองทัพไทยซึ่งมีประวัติในการกดขี่ชาวปาตานีและประวัติการทำรัฐประหารเข่นฆ่าพลเมืองไทยเพื่อปล้นประชาธิปไตยอีกด้วย