ใจ อึ๊งภากรณ์
[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]
ในยุคที่มีพรรคการเมืองที่พยายามเสนอว่าควรจะมีการรื้อถอนโครงสร้างของเผด็จการทหาร อย่างเช่นพรรคอนาคตใหม่ เราควรจะมาสำรวจความขัดแย้งระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้มีผู้แทนในสภา กับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะบ่อยครั้งจะมีความพยายามที่จะปฎิเสธว่าความขัดแย้งดังกล่าวมีอยู่จริง
ก่อนอื่นผู้เขียนขอเน้นว่าการมีระบบเลือกตั้งเสรีในระบบประชาธิปไตยเป็นเรื่องดี และเมื่อถึงวันเลือกตั้งการที่จะมีพรรคทางเลือกที่เสนอว่าควรจะขยายพื้นที่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องดีและจำเป็นอีกด้วย
อย่างไรก็ตามเราไม่ควรจะลืมว่าในไทยตอนนี้เผด็จการทหารกำลังออกแบบประชาธิปไตยจอมปลอมเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปอีก 20 ปี พรรคพวกของประยุทธ์ใช้ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” และรัฐธรรมนูญทหาร เป็นเครื่องมือ ดังนั้นถ้าเราจะลบผลพวงของเผด็จการและกีดกันไม่ให้อำนาจเถื่อนอย่างทหาร เข้ามามีบทบาททางการเมืองอีก เราจะต้องจัดการกับ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” รัฐธรรมนูญทหาร และองค์กรต่างๆที่ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องโครงสร้างอำนาจที่เผด็จการวางไว้
และเราไม่ควรลืมอีกด้วยว่า ถ้าพรรคใหม่ๆ ได้เสียงข้างมากในสภา และตรงนี้ต้องเน้นคำว่า “ถ้า” การที่จะยกมือเพื่อล้ม “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” และรัฐธรรมนูญทหาร และปลดองค์กรที่งอกจากเผด็จการ มันจะไม่ใช่เรื่องง่าย
ปัญหาในรูปธรรมของการลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้กติกาของเผด็จการประยุทธ์ หรือแม้แต่กติกาปกติที่มักพบในระบบทุนนิยมตะวันตก คือมันเป็นกระบวนการที่พรรคการเมืองพยายามเสนออะไรที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยอยู่แล้ว โดยที่ไม่มีการท้าทายให้พลเมืองเปลี่ยนความคิดแต่อย่างใด มันเป็นการพยายามเก็บเกี่ยวคะแนนนิยมของประชาชน โดยที่ประชาชนไม่ต้องเคลื่อนไหว แค่ไปกาช่องของพรรคในวันเลือกตั้งก็พอ
มันเป็นอะไรที่มองสภาพความเห็นและค่านิยมของประชาชนในลักษณะหยุดนิ่ง และเป็นความพยายามที่จะตามกระแสนั้นเอง
แน่นอนในยุคนี้ คนไทยจำนวนมากเบื่อหน่ายกับเผด็จการประยุทธ์และต้องการประชาธิปไตย ดังนั้นพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับเผด็จการ เช่นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอนาคตใหม่ คงจะได้คะแนนเสียงไม่น้อย แต่การ “เบื่อหน่ายกับเผด็จการประยุทธ์และความต้องการประชาธิปไตย” ไม่ได้แปลว่าพลเมืองเหล่านั้นมองโดยอัตโนมัติว่าเราสามารถลบผลพวงของเผด็จการ หรือล้มยุทธศาสตร์แห่งชาติ หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญทหารได้
ประเด็นคือ เราจะทำอย่างไรให้พลเมืองจำนวนมากพร้อมที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่จะทำสิ่งเหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรม และการสนับสนุนที่พูดถึงจำต้องมีพลังติดมาด้วย เพราะการรื้อถอนโครงสร้างต่างๆ ของเผด็จการจำต้องอาศัยการต่อสู้ทางการเมืองกับอำนาจเผด็จการ และอย่าลืมว่าความคิดกระแสหลัก ที่มากับสื่อมวลชนและความกลัวที่จะท้าทายอำนาจ จะมองว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็นเรื่อง “สุดขั้ว” หรือ ไม่เหมาะสม
ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือเราต้องมีขบวนการทางสังคมที่รณรงค์ท้าทายความคิดกระแสหลักในสังคม และทำให้พลเมืองจำนวนมากพร้อมจะมีส่วนร่วมในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง
แต่พรรคการเมืองที่เน้นการลงสมัครรับเลือกตั้งมักจะไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือที่ฝ่ายตรงข้ามจะเรียกว่า “ม็อบ” บ่อยครั้งพรรคเหล่านี้ต้องการให้มีการหยุดการเคลื่อนไหวด้วยซ้ำ เพื่อรอวันเลือกตั้ง
และที่สำคัญพอๆ กันคือ พรรคการเมืองที่เน้นการสมัครรับเลือกตั้งในสภา มักจะไม่กล้าเสนออะไรที่กระแสหลักในสังคมมองว่า “สุดขั้ว” เกินไป ทั้งๆ ที่การลบผลพวงของเผด็จการ หรือแม้แต่การสร้างรัฐสวัสดิการ หรือการเพิ่มรายได้ให้คนทำงานธรรมดา ไม่ได้สุดขั้วแต่อย่างใด เราอาจพูดต่ออีกด้วยว่าการยกเลิกกฏหมายเถื่อน 112 การเสนอให้ไทยมีกฏหมายทำแท้งเสรี การเสนอให้ประชาชนในปาตานีมีเสรีภาพในการปกครองตนเอง หรือแม้แต่การเปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐ ก็ไม่ใช่เรื่องสุดขั้วเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นในโลกปัจจุบัน มันแค่ถูกตราว่า “สุดขั้ว” เพราะไทยใต้กะลามันล้าหลังเท่านั้น
พรรคการเมืองที่เน้นการลงสมัครรับเลือกตั้งมักจะกล้าๆ กลัวๆ ในการเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับกระแสหลักหรือผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจต่างๆ และมักจะมีการเสนอว่าต้องหาทางดึงคะแนนเสียงจากคนที่มีแนวคิด “กลางๆ” อันนี้เป็นความจริงไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ พรรคแรงงงานอังกฤษภายใต้ เจเรมี คอร์บิน หรือพรรคกรรมชีพ (PT) บราซิลในอดีต
มันมีวิธีเดียวที่จะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งกับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง นั้นคือคนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องสนับสนุนพรรคที่ก้าวหน้าในช่วงที่มีการเลือกตั้ง และต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ไปเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง