10 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

สิบปีผ่านไปหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบอย่างแรงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และลามไปสู่ส่วนอื่นๆ ของโลก ซึ่งทุกวันนี้เรายังเห็นผลในรูปแบบวิกฤตการเมืองของพรรคกระแสหลัก และการขึ้นมาของพรรคฝ่ายขวาฟาสซิสต์

ในบทความนี้จะขอทบทวนสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 ธนาคารกลางสหรัฐพยายามจะหลีกเลี่ยงการชลอตัวของเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมให้กรรมาชีพกู้เงินในราคาถูกเพื่อซื้อบ้าน ในขณะที่มีการกดค่าแรง มันทำให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่คนจนไม่มีวันจ่ายหนี้นี้ได้ ทำให้คนจนเป็นหนี้ที่เรียกกันว่า “sub-prime” ต่อมามีการขายหนี้คนจนให้บริษัทไฟแนนส์และปั่นราคาหุ้น แต่เมื่อคนจนจ่ายหนี้ไม่ได้ ฟองสบู่การพนันนี้ก็แตก และเกิดวิกฤตในระบบธนาคาร จนธนาคารพี่น้องตระกูลเลห์แมน (Lehman Brothers) ล้มละลาย ธนาคารนี้เป็นธนาคารการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ4 และการล้มละลายครั้งนี้เปิดโปงปัญหาใหญ่ในระบบธนาคารในสหรัฐและยุโรป

ในยุโรปมีการปล่อยกู้ในรูปแบบคล้ายๆ สหรัฐ แต่เป็นการปล่อยกู้ระหว่างธนาคารต่างๆ ในอียู เพื่อให้กับบริษัทต่างๆ และเมื่อเกิดวิกฤตธนาคาร ประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ และสเปนก็มีปัญหา

ก่อนหน้านั้นมีการปั่นหุ้นในบริษัทอินเตอร์เน็ด (dot com) เพื่อวัตถุประสงค์ในการพยุงอัตรากำไรชั่วคราวเช่นกัน ฟองสบู่นั้นก็แตกเหมือนกัน

ในปี 2008/2009 ประเทศที่ใหญ่ที่สุดของโลก 11 ประเทศได้เข้าสู่วิกฤติอย่างแรง องค์กร OECD เสนอว่าในปีค.ศ. 2009 ประเทศที่พัฒนาแล้วประสบปัญหาการชลอตัวของเศรษฐกิจ 4.3% และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูง คนงานสหรัฐ  6 แสนกว่าคนต้องตกงานในเดือนเมษายน  และระบบอุตสาหกรรมสหรัฐกำลังชลอตัวลง 12.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในยุโรประบบการผลิตอุตสาหกรรมหดลง 18.4% และในญี่ปุ่นหดลงถึง 38%  จีนก็มีปัญหาด้วย

ท่าทีของรัฐทุนนิยมหลักๆ  เช่นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในสกุลเงินยูโร คือใช้รัฐแทรกแซงตลาดเพื่ออุ้มสถาบันการเงิน รวมถึงการนำธนาคารและสถาบันการเงินเอกชนมาเป็นของรัฐทั้งทางอ้อมและทางตรง นโยบายดังกล่าวได้ทำลายความน่าเชื่อถือของลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาดที่ปฏิเสธรัฐโดยสิ้นเชิง แต่เป้าหมายของการแทรกแซงตลาดโดยรัฐในครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อปกป้องงาน ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือที่อยู่อาศัยของคนธรรมดาแต่อย่างใด เป้าหมายคือการปกป้องระบบทุนนิยมและนายทุนใหญ่ในระบบการเงินต่างหาก

นอกจากนี้ในสหรัฐและยุโรป ธนาคารกลางใช้นโยบายพิมพ์เงินและลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยายามพยุงเศรษฐกิจ ในจีนรัฐบาลใช้รัฐวิสาหกิจพยุงเศรษฐกิจโดยการขยายโครงการสาธารณูปโภค

หลังจากนั้นรัฐบาลตะวันตกก็กอบโกยเงินคืนจากประชาชนด้วยนโยบายรัดเข็มขัด มีการตัดงบประมาณสาธารณสุข สวัสดิการ และการศึกษา มีการกดค่าแรง ลดคนงาน หรือขึ้นภาษีให้คนธรรมดา สรุปแล้วกรรมาชีพคนทำงานถูกบังคับให้อุ้มบริษัทใหญ่และนายทุนที่เล่นการพนันในตลาด ในยุโรปประชาชนกรีซเดือดร้อนมากที่สุด

นโยบายดังกล่าวนำไปสู่ความไม่พอใจและความสิ้นหวังในระบบกระแสหลัก และบวกกับผลของสงครามในส่วนต่างๆ ของโลก ที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผู้ลี้ภัย นำไปสู่การปลุกระดมลัทธิเหยียดสีผิวและเชื้อชาติที่เอื้อประโยชน์กับพรรคฟาสซิสต์ฝ่ายขวาและคนอย่างดอนัลด์ ทรัมป์

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง ไมเคิล โรเบิรตส์ [ดู https://thenextrecession.wordpress.com/ ] ปัญหาแท้จริงที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำในระบบทุนนิยม คือปัญหาอัตรากำไร เพราะนายทุนทุกคนจะประเมินความคุ้มของการลงทุนที่ตัวเลขอัตรากำไรเสมอ อัตรากำไรมีแนวโน้มลดลงผ่านการแข่งกันลงทุนในเครื่องจักรมากกว่าการลงทุนในการจ้างงาน และมันนำไปสู่การชลอในการลงทุน หรือแสวงหาแหล่งลงทุนนอกภาคการผลิต เช่นในภาคอสังหาริมทรัพย์หรือการปั่นหุ้นเป็นต้น ซึ่งสภาพแบบนี้ทำให้เกิดฟองสบู่ในราคาหุ้น ราคาที่ดิน หรือราคาบ้าน คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายปัญหาพื้นฐานอันนี้ของทุนนิยมในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” [ดู https://bit.ly/2v6ndWf ]

โดยทั่วไปการฟื้นตัวของอัตรากำไรเกิดขึ้นได้ถ้ามีการทำลายทุน หรือมีการทำลายเครื่องจักรในวิกฤต หรือผ่านการทำสงคราม หรืออาจฟื้นตัวถ้ามีการขูดรีดแรงงานหนักขึ้น แต่มันเป็นเรื่องชั่วคราวและความสำเร็จเฉพาะหน้าขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ที่จะทำลายทุนที่เป็นส่วนเกิน หรือความเป็นไปได้ที่จะขูดรีดแรงงานหนักขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันพิสูจน์ว่าระบบทุนนิยมและกลไกตลาดเป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ สิ้นเปลือง และไม่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ส่วนใหญ่

ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศสำคัญๆ ของโลกในยุคนี้ แสดงให้เราเห็นว่าอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร (rate of GDP increase / head หรืออัตราการขยายตัวของมูลค่าที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศหาญด้วยจำนวนประชากร) ไม่ได้กลับสู่ระดับก่อนวิกฤตปี 2008 เลย นอกจากนี้ระดับการค้าขายทั่วโลกก็ซบเซาเมื่อเทียบกับก่อนปี 2008 และแนวโน้มอาจแย่ลงท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและยุโรป

แม้แต่การขยายตัวของจีนก็ช้าลง และความคาราคาซังของเศรษฐกิจโลกกับสงครามการค้า ทำให้ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาที่เคยอาศัยการส่งออกวัตถุดิบมีปัญหามากขึ้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกบวกกับการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐ และปัญหาการเมืองในหลายประเทศ ก็เข้ามซ้ำเติม ทำให้มีการถอนทุนจากลาตินอเมริกา ตุรกี อินโดนีเซีย และอัฟริกาใต้ ในที่สุดอาจส่งผลต่อเกาหลีใต้และอินเดียอีกด้วย ซึ่งไทยคงหนีปัญหาไม่ได้

ปัจจุบันระดับหนี้สินของรัฐบาลและกลุ่มทุนในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าระดับหนี้ในเศรษฐกิจโลกเท่ากับ 217% ของผลผลิตมวลรวมทั้งหมดภายในประเทศต่างๆ ซึ่งสูงกว่าระดับหนี้ก่อนวิกฤตปี 2008 และบริษัทไฟแนนส์กับธนาคารก็ใหญ่ขึ้นและมีลักษณะผูกขาดมากขึ้น ถ้าในอนาคตธนาคารแห่งหนึ่งล้มละลายก็จะมีผลกระทบสูงกว่าคราวก่อน นอกจากนี้มีการซื้อขายหุ้นและหนี้ใน “ธนาคารเงา” ที่รัฐต่างๆ ควบคุมไม่ได้เพราะไม่ความโปร่งใส การเพิ่มขึ้นของราคาเงินดอลลาร์และการลดลงของราคาเงินในหลายประเทศของโลก ทำให้ประเทศที่มีหนี้สินเป็นดอลลาร์มีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ตราบใดที่เรายังไม่ล้มทุนนิยมและนำระบบสังคมนิยมมาใช้แทน ชาวโลกก็จะต้องประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่สงครามและความปั่นป่วนทางการเมืองอีกด้วย

วิกฤตขยะพลาสติกรกโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกๆ ปีมีการผลิตพลาสติกเท่ากับน้ำหนักมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ และคาดว่าในปี 2050 จะมีพลาสติกในทะเลมากกว่าปลา นักวิจัยบางคนเสนออีกว่าคนที่กินอาหารทะเลเป็นประจำจะกลืนเศษพลาสติกเล็กๆ จากปลาหมื่นกว่าชิ้น ซึ่งเรายังไม่ทราบว่าจะมีผลอะไรต่อสุขภาพ

Plastic-Pollution-kills-another-Whale-1
ปลาวาฬกลืนพลาสติกจนตาย

ปัญหาขยะพลาสติกได้กลายเป็นวิกฤตสำหรับสิ่งแวดล้อมและความอยู่ดีกินดีของมนุษย์และสัตว์โดยทั่วไป ทั้งนี้เพราะผลผลิตพลาสติกใช้เวลาเป็นศตวรรษก่อนที่มันจะเน่าเปื่อย และเพราะการผลิตพลาสติกในรอบ 50 ปี เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

เมื่อสมัยผมเป็นเด็ก น้ำอัดลมมักจะขายในขวดแก้วที่ดื่มแล้วส่งกลับไปที่โรงงานเพื่อใช้ต่อไปอีกหลายครั้ง แต่ในยุคนี้ทุกวินาทีโรงงานอุตสาหกรรมของโลกผลิตขวดพลาสติก 16,000 ขวด และบริษัทโคคาโคลาบริษัทเดียวผลิตขวดพลาสติกหนึ่งแสนล้านขวดต่อปี เพราะการผลิตขวดพลาสติกเพื่อใช้ครั้งเดียวถูกกว่าการใช้ขวดแก้วที่ต้องนำไปล้าง

เมื่อสมัยผมเป็นเด็ก เวลาเราจะซื้ออาหารที่ขายกันหน้าปากซอยไปกินที่บ้าน เราจะใช้ปิ่นโตที่ยกไปที่ร้านแล้วให้เขาเติมอาหารลงไป แต่ในยุคนี้เราจะซื้ออาหารในถุงพลาสติกแทน และถุงพลาสติกเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาขยะเช่นกัน

4238772540_49e76baa05_b-640x427

การค้นพบวิธีผลิตพลาสติกผูกพันกับการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพราะพลาสติกเป็นผลผลิตจากการกลั่นน้ำมัน การขยายตัวของการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และมีทั้งคุณและโทษต่อสังคม ในด้านประโยชน์การผลิตพลาสติกในรูปแบบต่างๆ ทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลจีทางการแพทย์ได้ และเป็นวัตถุที่มีประโยชน์ในเครื่องมือไฟฟ้า ฯลฯ อย่างไรก็ตามการขยายตัวของการผลิตขวด หลอด และถุงพลาสติกชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง กลายเป็นวิกฤตสำหรับเราในยุคนี้

กระแสต่อต้านขยะพลาสติกทำให้บริษัทใหญ่และรัฐบาลในบางประเทศปรับตัว เช่นในหลายประเทศของยุโรปมีการพยายามยกเลิกการให้ถุงพลาสติกในร้านค้า หรือลดปริมาณการขายกาแฟในถ้วยพลาสติกเป็นต้น บางแห่งมีการเก็บขยะพลาสติกไปรีไซเคิลหรือไปแปรรูปผ่านการหลอมและใช้ใหม่ แต่ในความเป็นจริง บริษัทใหญ่ใช้พลาสติกที่มาจากการรีไซเคิลแค่ 6.6% ของการผลิตเท่านั้น เพราะการผลิตขวดพลาสติกใหม่ราคาถูกกว่าการรีไชเคิล ยิ่งกว่านั้นราคาขยะพลาสติกตกต่ำลงจนไม่คุ้มค่าสำหรับบริษัทต่างๆ ที่จะขนไปรีไซเคิล ดังนั้นมีการนำไปฝังดินหรือทิ้งในทะเลแทน

038e996cbd633e061281082d28da26cd

เรื่องเงินเรื่องทองเป็นหัวใจของเรื่อง เพราะในระบบทุนนิยม รูปแบบการผลิตทุกอย่างถูกกำหนดจากปริมาณกำไรที่กลุ่มทุนจะได้ ถ้าการผลิตถุงหรือขวดพลาสติกสร้างกำไรมากกว่าการลดพลาสติก กลุ่มทุนจะทำต่อไปไม่ว่าจะสร้างปัญหาอะไรให้กับชาวโลก

นี่คือสาเหตุที่วิธีการแก้ปัญหาพลาสติกไม่ได้อยู่ที่พฤติกรรมของปัจเจก เพราะไม่ว่าเราจะหาทางลดการใช้พลาสติกและเพิ่มการรีไซเคิลในชีวิตประจำวันของเราแค่ไหน บริษัทใหญ่จะผลิตพลาสติกมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาอยู่ที่เรื่องของการยึดอำนาจการผลิตมาเป็นของประชาชนในรูปแบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพราะการยึดอำนาจดังกล่าวจากกลุ่มทุนใหญ่เอกชน จะนำไปสู่การผลิตสิ่งของในรูปแบบที่ไม่สร้างปัญหา เช่นการหาทางผลิตพลาสติกที่รีไซเคิลได้จริงๆ หรือที่เปื่อยภายในเวลาอันสั้น ถ้าเราจำเป็นต้องใช้พลาสติกจริงๆ มันจะนำไปสู่การรีไชเคิลหรือกระบวนการผลิตที่คำนึงถึง “ราคา” ของการปกป้องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การคำนึงถึงกำไรเฉพาะหน้า และนอกจากนี้มันจะนำไปสู่การกลับมาใช้ขวดแก้วหรือปิ่นโตได้

แต่การยึดอำนาจการผลิตมาเป็นของประชาชน กระทำไม่ได้ภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะทุนนิยมกดดันให้บริษัทต่างๆ แข่งขันกันในตลาดเพื่อเพิ่มกำไรเฉพาะหน้าเสมอ ดังนั้นเราต้องปฏิวัติล้มทุนนิยมและระบบกลไกตลาดถึงจะสำเร็จ ซึ่งแปลว่าเราต้องรณรงค์สร้างพรรคการเมืองสังคมนิยม โดยเฉพาะในแวดวงชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน เพราะกรรมาชีพมีอำนาจเศรษฐกิจซ่อนเร้น

นอกจากนี้การแก้ปัญหาพลาสติกกระทำไปโดยการเน้นประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วนไม่ได้ เพราะการผลิตพลาสติกเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงคาร์บอนเช่นน้ำมัน ซึ่งการเผาเชื้อเพลิงดังกล่าวกำลังสร้างปัญหาโลกร้อนที่ต้องแก้ไขโดยการผลิตพลังงานจากแหล่งอื่นเช่นแสงแดดหรือลม

Medium_plastic-pollution_03

ปัญหาพลาสติกเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำยากจนอีกด้วย และไม่ใช่แค่ในเรื่องการเก็บขยะหรือการที่คนจนต้องอาศัยใกล้ๆ แหล่งขยะพลาสติก เพราะถ้าเราจะลดการใช้ถุง แก้ว หรือขวดพลาสติก เราต้องต่อสู้เพื่อลดชั่วโมงการทำงานของคนส่วนใหญ่ และเพิ่มค่าจ้างอีกด้วย เราทุกคนจะได้มีโอกาสนั่งดื่มหรือกินอาหารในร้านที่ใช้จานหรือแก้วที่ล้างได้ หรืออย่างน้อยไม่เหนื่อยเกินไปจากการทำงานจนขี้เกียจใช้ปิ่นโต

อย่างไรก็ตามทั้งๆ ที่การแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของโลก เช่นเรื่องพลาสติกหรือโลกร้อน ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบถอนรากถอนโคน นั้นไม่ได้แปลว่าเราควรนิ่งเฉยเพื่อรอวันปฏิวัติ แต่เราต้องรณรงค์ในเรื่องแบบนี้และต้อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีวันปฏิวัติสังคมได้

12 ปีรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ใจ อึ๊งภากรณ์

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองฝ่ายค้าน (เช่นจากพรรคประชาธิปัตย์) พวกเจ้าพ่อทางการเมือง และพวกนายทุนใหญ่อย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล และนายธนาคารต่างๆ นอกจากนี้การทำรัฐประหารครั้งนี้ได้รับการประทับตราเห็นชอบจากกษัตริย์ภูมิพล โดยที่นายภูมิพลไม่ใช่ผู้บงการ [ดู https://bit.ly/2MLmrFm ]

 

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทย ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ผ่านนโยบายที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

 

นโยบายเศรษฐกิจของ ไทยรักไทย คือนโยบาย “คู่ขนาน” (Dual Track) ที่ใช้เศรษฐศาสตร์แนวเคนส์ (Keynesianism) ในระดับรากหญ้า คือใช้งบประมาณของรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน และใช้นโยบายตลาดเสรี (Neo-liberalism) ในระดับชาติ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีและการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ถึงแม้ว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้เคยมีการใช้ในประเทศอื่นในยุคต่างๆ และไม่ใช่อะไรที่ประดิษฐ์ใหม่ และเป็นนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวและธนาคารต่างๆ ไม่ยอมปล่อยกู้ นักวิชาการอนุรักษ์นิยมของไทยจำนวนมากไม่เข้าใจหรือจงใจไม่เข้าใจ และประกาศว่ารัฐบาลใช้แนวเศรษฐกิจ “ระบอบทักษิณ” (Taksinomics) เหมือนกับว่านายกทักษิณเป็นคนบ้าที่เสนอนโยบายเพ้อฝันแบบแปลกๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน

 

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด เช่นกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทย เป็นต้น พวกนี้ไม่พอใจที่ทักษิณและไทยรักไทยมีอำนาจทางการเมืองผ่านสัญญาทางสังคมกับประชาชนส่วนใหญ่ เขาไม่พอใจที่รัฐบาลมีการนำกิจการใต้ดินหลายอย่างมาทำให้ถูกกฎหมาย เขาไม่พอใจที่มีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อทหาร พระราชวัง และคนชั้นสูงอย่างเดียว ดังนั้นเขาและนักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนเขา มักจะวิจารณ์นโยบายรัฐบาลว่า “ขาดวินัยทางการคลัง” ตามนิยามของพวกกลไกตลาดเสรีที่เกลียดชังสวัสดิการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพวกนี้มีอำนาจก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ เขาไม่เคยมองว่าการขึ้นงบประมาณทหาร “ขาดวินัยทางการคลัง” แต่อย่างใด

 

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการขยันทำงานของประชาชนชั้นล่างล้านๆ คน พวกอำมาตย์อนุรักษ์นิยมเคยชินกับระบบนี้ เขาเคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัดกันกิน พวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญในการร่วมกินด้วย เพราะรัฐบาลอ่อนแอ เขาจึงไม่พอใจและเกรงกลัวเวลานายทุนใหญ่ที่เป็นนักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร สามารถครองใจประชาชนและเริ่มมีอำนาจสูงกว่าอภิสิทธิ์ชนคนอื่นๆ โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า เวลาอำมาตย์ คนชั้นกลาง หรือพันธมิตรฯ พูดถึง “การคอร์รับชั่น”  “การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การใช้อำนาจเกินหน้าที่” ของทักษิณ เขาไม่ได้พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนธรรมดาที่มีมานาน หรือการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือการโกงกินของนักการเมืองทุกพรรค หรือของทหารและคนในวัง เขาหมายถึงปัญหาเฉพาะหน้าของพวกอภิสิทธิ์ชนที่เริ่มถูกเขี่ยออกจากผลประโยชน์ในคอกหมูมากกว่า นี่คือสาเหตุที่เขาทำรัฐประหาร แล้วแก้รัฐธรรมนูญจากที่เคยเป็น เพื่อลดอำนาจของรัฐบาลและพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมาก เขาอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “ประชาธิปไตยคอกหมู” ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ นั้นเอง

 

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้าน ไทยรักไทย ด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ ไทยรักไทย เคยเสนออีก คือต้องเสนอให้เพิ่มสวัสดิการและเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ด้วยการเพิ่มงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากคนรวย นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เกลียดชังอย่างถึงที่สุด ดังนั้นเขาจึงหันมาเกลียดชังอำนาจการลงคะแนนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ และตัดสินใจว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับรัฐบาล ไทยรักไทย คือต้องทำรัฐประหาร

 

แต่รัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ทหารจะทำได้ง่ายๆ เพราะสังคมไทยพัฒนาไปไกลและมีกลุ่มต่างๆ ที่ตื่นตัวและมีพลังในสังคมมากมาย การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา จะต้องอาศัยการทำแนวร่วมกับคนชั้นกลาง นักวิชาการ“เสรีนิยมรถถัง” และพวกเอ็นจีโอ ที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” นี่คือสาเหตุสำคัญที่การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยาต้องอาศัยการร่วมมือกับขบวนการฝ่ายขวา “ฟาสซิสต์” ที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งประกอบไปด้วยนักธุรกิจสื่อคลั่งเจ้า นักเคลื่อนไหวพุทธแบบขวาตกขอบ ผู้นำแรงงาน และนักเอ็นจีโอ คือ สนธิ ลิ้มทองกุล, จำลอง ศรีเมือง, สมศักดิ์ โกศัยสุข, พิภพ ธงไชย และ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

 

รัฐบาล ไทยรักไทย และนายกทักษิณไม่ได้เป็นเทวดา รัฐบาลนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในสงครามปราบยาเสพติด ที่คาดว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นศาล ถูกเจ้าหน้าที่รัฐฆ่าตายเกือบสามพันคน  นอกจากนี้การฆ่าประชาชนมือเปล่าที่ตากใบ และ กรือแซะ ในภาคใต้ เป็นการก่ออาชญากรรมต่อประชาชนเช่นกัน

 

นอกจากนี้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดของไทยรักไทย เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีที่เพิ่มราคายาสำหรับประชาชน เป็นการทำลายประโยชน์ของระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรค และเพิ่มภาระให้รัฐเพื่อผลประโยชน์บริษัทยาข้ามชาติ และการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน เป็นนโยบายที่ขัดกับประโยชน์คนจน เพราะทำให้ประชาชนตกงาน คุณภาพการทำงานแย่ลง และเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจไปเป็นบริษัทเอกชนที่สนใจแต่กำไรแทนการบริการและพัฒนาสังคม

19 กย

     อย่างไรก็ตาม ในระบบประชาธิปไตย ถ้าเรามีรัฐบาลที่เราไม่เห็นด้วย เราจะต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการคัดค้าน ผู้เขียนไม่เคยลงคะแนนเสียงให้ ไทยรักไทย (หรือพรรคฝ่ายค้าน) และผู้เขียนเคยประท้วงและคัดค้านรัฐบาลทักษิณในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้กลไกตลาดเสรี แต่การเปลี่ยนรัฐบาลตามกติกาประชาธิปไตยต้องไม่อาศัยรัฐประหารโดยกลุ่มคนที่ไม่เคารพประชาธิปไตย ไม่เคยสนใจสิทธิมนุษยชน และไม่เคยสนใจผลประโยชน์ของคนจน

Ji

 

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/24tv63k

BookCover1

วิกฤตการเมืองบราซิลเปรียบเทียบกับไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ทั้งบราซิลกับไทยมีประวัติการตกภายใต้เผด็จการทหาร และมีวิกฤตการเมืองที่เกิดจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของพวกอภิสิทธิ์ชนและสลิ่มชนชั้นกลาง จนในที่สุดเกิดรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

p18 argentina protest

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ชนชั้นกลางใช้ประเด็น “การต่อต้านคอร์รับชั่น” เพื่อเป็นข้ออ้างในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทั้งสองประเทศ

นักวิชาการบราซิล Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais วิเคราะห์ว่าชนชั้นกลางชอบเล่นประเด็นเรื่องการคอร์รับชั่น เพราะมองว่าตัวเองมีฐานะดีที่มาจาก “ความสามารถและความขยันของตนเอง” ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่จริงเท่าไร แต่มันทำให้คนชั้นกลางมองว่าการคอร์รับชั่นเปิดโอกาสให้ “คนมีเส้น” เข้ามากอบโกยผลประโยชน์

brazil-45

ปัจจัยที่บวกเข้าไปสำหรับชนชั้นกลางคือ เขาจะมักจะไม่พอใจเมื่อรัฐบาลช่วยคนจนและแรงงาน

180908-004-2E0344EA
เดลมา รุสเซฟ

อย่างไรก็ตามการกล่าวหานักการเมืองว่าโกงกิน มักถูกใช้ในลักษณะที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเราเห็นในกรณีไทย เช่นการที่ทหารชั้นสูงจะโกงแค่ไหนก็ได้ โดยที่สลิ่มชนชั้นกลางเงียบเฉย ในกรณีบราซิล กระแสต่อต้านการคอร์รับชั่นกลายเป็นข้ออ้างสำหรับ ตุลาการ ตำรวจชั้นสูง และอัยการ ในการเลือกที่จะตั้งข้อกล่าวหากับพรรคแรงงานของ ประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ และอดีตประธานาธิบดี ลูลา โดยที่ไม่มีการสอบสวนนักการเมืองฝ่ายขวาจากพรรคฝ่ายค้านเลยทั้งๆ ที่มีเรื่องอื้อฉาวติดตัวด้วย ในด้านหนึ่งการคอร์รับชั่นของนักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่ในกรณีผู้นำอย่างรุสเซฟหรือลูลา ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ แต่ในไม่ช้าข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รับชั่น ก็แปรไปเป็นเรื่องที่ผูกพันกับการต่อต้านนโยบายช่วยคนจนของพรรคแรงงาน โดยมีการกล่าวหาว่า “ทำลายวินัยทางการคลัง” และข้อกล่าวหาหลังนี้เองที่ถูกใช้โดยฝ่ายตุลาการและวุฒิสภาบราซิลในการก่อรัฐประหารล้มประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ มันทำให้เรานึกถึงกรณียิ่งลักษณ์ในไทย

Luiz Inacio Lula da Silva, Dilma Rousseff
ลูลากับเดลมา รุสเซฟ

ลึกๆ แล้ววัตถุประสงค์ของฝ่ายขวาอภิสิทธิ์ชนบราซิลในการล้มรัฐบาลพรรคแรงงาน คือความต้องการของพวกนี้ที่จะยกเลิกนโยบายที่ช่วยคนจนที่กระทำไปภายใต้นโยบาย “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) [รายละเอียดเรื่องนี้อ่านได้ในบทความสัปดาห์ที่แล้วเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา]  และเขาต้องการยกเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิของคนจนและแรงงาน นอกจากนี้พวกนี้ต้องการเปิดประเทศเต็มที่และแปรรูปบริษัทน้ำมันของรัฐเพื่อขายให้ทุนข้ามชาติ นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของพวกนี้ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ผมเคยเสนอมานานว่าการทำรัฐประหาร๑๙กันยาและรัฐประหารของประยุทธ์ ส่วนหนึ่งกระทำไปเพื่อทำลายนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนานของทักษิณที่ช่วยคนจน โดยมีเป้าหมายที่จะนำนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วเข้ามาใช้ นโยบายดังกล่าวเป็นที่ชื่นชมของพรรคประชาธิปัตย์และทหาร และมันเอื้อประโยชน์ให้คนรวย [ดู https://bit.ly/2Na1TLa ]

จริงๆ แล้วนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด เป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย เพราะมันเน้นผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่ร่ำรวย และเน้นอำนาจของ “กลไกตลาด” ในขณะที่กีดกันการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน และกีดกันไม่ให้รัฐคุมเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์คนส่วนใหญ่อีกด้วย ดังนั้นเราไม่ควรหลงเชื่อว่าเสรีนิยมสร้างประชาธิปไตย [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

แน่นอนบราซิลกับไทยไม่ได้เหมือนกัน 100% เพราะพรรคการเมืองของทักษิณไม่ใช่พรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูป และพรรคแรงงานบราซิลไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนพรรคของทักษิณ

สำหรับทางออกในปัจจุบัน Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais เน้นว่าฝ่ายซ้ายต้องต่อต้านคอร์รับชั่น แต่ไม่ใช่ไปเล่นเรื่องนี้จนฝ่ายขวานำมาใช้เป็นเครื่องมือเองได้ คือต้องมีการให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ และต้องต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งจริงๆ แล้วเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนและคนรวยผูกขาดนโยบายของรัฐเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อย

นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดปิดโอกาสสำหรับคนธรรมดาที่จะร่วมกันตรวจสอบการกอบโกยของนายทุน ซึ่งต้องถือว่าเป็นการคอร์รับชั่นประเภทหนึ่ง

ที่สำคัญคือ การล้มเผด็จการทหาร และการผลักดันให้รัฐเสนอนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้คนจน มาจากกระแสการกดดันจากมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งในไทยและบราซิล เมื่อขบวนการดังกล่าวถูกหักหลังโดยรัฐบาลพรรคแรงงานในบราซิล หรือถูกแช่แข็งโดยพรรคของทักษิณ สังคมมีแนวโน้มจะถอยหลัง

วิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองในหลายประเทศของลาตินอเมริกา เป็นปัญหาที่มาจากการพึ่งการส่งออกวัตถุดิบสู่ตลาดโลก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมอธิบายสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนสเวลา ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจากการพึ่งการส่งออกของน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำลงอันเนื่องมาจากวิกฤคเศรษฐกิจโลกปี 2008 [ดู https://bit.ly/2Pvrjk0 ] แต่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่ไหนเวเนสเวลา มันสร้างปัญหาให้กับอาเจนทีนา บราซิล และนิการากัวด้วย ซึ่งจะอธิบายต่อไป

ถ้าเราย้อนกลับไปสี่สิบกว่าปี นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายชาตินิยมซ้ายในประเทศกำลังพัฒนา มักจะชี้ให้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศในแถบ “ใต้” จะมีจุดอ่อนตรงที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบสู่ตลาดโลกที่ควบคุมโดยประเทศพัฒนาในแถบ “เหนือ” ซึ่งผลก็คือความด้อยพัฒนาของการผลิตอุตสาหกรรมภายในประเทศ และการที่รัฐบาลในประเทศทางใต้ขาดอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจ

ทางออกของที่พวกชาตินิยมซ้ายเสนอ คือการปิดประเทศระดับหนึ่ง เพื่อควบคุมการลงทุนและการแข่งขัน และเพื่อให้รัฐบาลส่งเสริมการผลิตภายในเพื่อทดแทนการนำเข้าของผลผลิตอุตสาหกรรมจากประเทศพัฒนา เป้าหมายคือการพัฒนาเศรษฐกิจให้หลากหลายมากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบ และลดการถูกควบคุมโดยบริษัทข้ามชาติ ผู้นำและนักเศรษฐศาสตร์ในคิวบา เวเนสเวลา บราซิล และอาเจนทีนา มีความพยายามที่จำนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ และมีนักวิชาการหลายคนที่เสนอการวิเคราะห์ปัญหาและทางออกภายใต้สิ่งที่เรียกกันว่า “ทฤษฏีพึ่งพา”

ในไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งก็มีนักเศรษฐศาสตร์ชาตินิยมซ้ายที่เสนอนโยบายคล้ายๆ กัน [เช่น กมล กมลตระกูล (๒๕๔๐) “IMF นักบุญหรือคนบาป” ส.พ.มิ่งมิตร, พิทยา ว่องกุล (๒๕๔๐) บรรณาธิการ “คำประกาศอิสรภาพจาก IMF” ส.ก.ว. และมูลนิธิภูมิปัญญา,เศรษฐสยาม (๒๕๔๑) “สหรัฐอเมริกา ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า” วิถีทรรศน์ชุดภูมิปัญญา 8]

ปัญหาคือการปิดประเทศเพื่อพัฒนาภายใน ภายใต้เงื่อนไขของทุนนิยมโลกในสมัยนี้ นำไปสู่การขาดการลงทุนและเทคโนโลจีสมัยใหม่ ถ้าจะทำกันจริงๆ ต้องมีการยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของกรรมาชีพ ปฏิวัติล้มทุนนิยม สร้างรัฐสังคมนิยม เริ่มการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และสร้างความสมานฉันท์กับประเทศอื่นๆที่ทำสิ่งเดียวกัน แต่แนวชาตินิยมซ้ายไม่ต้องการจะล้มระบบทุนนิยม เพราะทั้งๆที่อ้างความเป็นซ้าย แท้จริงแนวคิดหลักเป็นแนวชาตินิยมที่ตรงกับผลประโยชน์นายทุนชาติเท่านั้น สิ่งที่เขาต้องการคือการสร้างชาติที่อิสระจากจักรวรรษนิยมเท่านั้น มันตรงกับสิ่งที่ลัทธิเผด็จการ “สตาลิน-เหมา” ของพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ เรียกว่าขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย”

และการบิดเบือนสังคมนิยมภายใต้เผด็จการแนวสตาลิน ที่ใช้ระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ทำให้การต่อสู้เพื่อสังคมนิยมมีอุปสรรคมากมาย [ดู https://bit.ly/2uOffCh ]

การล่มสลายของเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในรัสเซีย กับยุโรปตะวันออก และการเปลี่ยนนโยบายของจีน เวียดนาม และคิวบา มาจากปัญหาเดียวกันของการปิดประเทศโดยพวกชาตินิยมซ้าย [เรื่องคิวบาดู https://bit.ly/2N7HyGf ]

ผลของความล้มเหลวของแนวชาตินิยมซ้าย ทำให้รัฐบาลต่างๆ ในลาตินอเมริกา หันไปรับนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งแปลว่าต้องเปิดประเทศ รับการลงทุนและอิทธิพลจากบริษัทข้ามชาติ กดค่าแรงของประชาชน ขายรัฐวิสาหกิจ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงการลงทุนเข้ามา และยกเลิกความพยายามของรัฐที่จะควบคุมเศรษฐกิจ คือยอมจำนนต่อตลาดโลกนั้นเอง แม้แต่อดีตนักวิชาการทฤษฏีพึ่งพาอย่าง เฟอร์นานโด เฮนริก คาร์โดโซ พอขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีบราซิล ก็หันไปใช้นโยบายเสรีนิยมสุดขั้ว

ปัญหาหลักของนโยบายเสรีนิยมคือ ในทุกประเทศมันนำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำมหาศาล เพราะมันเป็นนโยบายที่อิงผลประโยชน์ของกลุ่มทุน นอกจากนี้มันหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่ประเทศในลาตินอเมริกาต้องพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบ เช่นน้ำมันในกรณีเวเนสเวลาและบราซิล น้ำตาลในกรณีคิวบา แร่ธาตุในกรณีบราซิล และผลิตผลเกษตรในกรณีอเจนทีนาและนิการากัว ซึ่งราคาวัตถุดิบเหล่านี้ในตลาดโลกขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่ขยายตัวแล้วเข้าสู่วิกฤตเป็นประจำ โดยที่วิกฤตทุนนิยมดังกล่าวมีต้นเหตุจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรตามที่มาร์คซ์เคยวิเคราะห์นานแล้ว [ดู  https://bit.ly/2HZwn0y ]

สำหรับเวเนสเวลา บราซิล และอาเจนทีนา การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ในต้นทศวรรษ 2000 นำไปสู่ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงและดึงเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้ขยายตัว

ในเวเนสเวลา กับ บราซิล มีการนำกำไรจากการส่งออกมาพัฒนาสถานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่โดยที่ไม่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบทุนนิยมแต่อย่างใด [ดูบทความสัปดาห์ที่แล้ว]

lulada

ในบราซิล รัฐบาลของประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงาน เลือกใช้นโยบายเสรีนิยมต่อไปจากรัฐบาลก่อนเพื่อเอาใจนายทุน แต่ในขณะเดียวกันจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานเสียงจากคนจนและกรรมาชีพ ดังนั้นมีความพยายามที่จะนำทฤษฏีเศรษฐกิจ “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) มาใช้ หลักสำคัญคือการใช้รัฐเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกำไรของทุนเอกชนภายในประเทศภายใต้กลไกตลาด แต่ในขณะเดียวกันมีการยกระดับความเป็นอยู่ของคนจนผ่านโครงการของรัฐ นโยบายนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนจำนวนมากในบราซิล โดยรัฐบาลจงใจไม่แตะหรือลดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเลย แต่ความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจนี้ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตและวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงในตลาดโลก ซึ่งแปลว่าทุกอย่างพังทะลายเมื่อทุนนิยมโลกเข้าสู่วิกฤตในปี 2008 และมีการลดลงของราคาวัตถุดิบ สภาพเช่นนี้นำไปสู่วิกฤตทางการเมือง การตัดโครงการต่างๆ ที่ช่วยคนจน และการหายไปของเสียงสนับสนุนรัฐบาล ผลคือ “รัฐประหารโดยวุฒิสภาและตุลาการ” ที่ล้มรัฐบาลพรรคแรงงานของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ ในปี 2016

หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลฝ่ายขวาที่เข้ามาใหม่มีการหันมาใช้นโยบายรัดเข็มขัดที่โจมตีสถานะของคนจนและกรรมาชีพ [ดู https://bit.ly/2NDhLmw ]

ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในบราซิล และอดีตประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงานก็ลงสมัครอีกครั้ง แต่ตุลาการหาข้ออ้างเรื่องการคอรับชั่นมากีดกันไม่ให้เขาลงสมัคร ขณะนี้(ต้นเดือนกันยายน) โพล์ดูเหมือนจะเสนอว่าผู้สมัครฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ที่สนับสนุนเผด็จการทหารโหดร้ายกำลังนำ แต่เขาพึ่งถูกทำร้ายต้องเข้าโรงพยาบาล สรุปแล้วสถานการณ์ทางการเมืองในบราซิลปั่นป่วนมาก

ในแง่หนึ่งเราควรจะเปรียบเทียบนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยกับทฤษฏี “เสรีนิยมพัฒนา” เพราะไทยรักไทยพยายามฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ผ่านการสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกำไรของทุนเอกชนพร้อมกับความพยายามที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของคนธรรมดา คือใช้ “เศรษฐกิจคู่ขนาน”แทนเสรีนิยมสุดขั้ว แต่มันมีข้อแตกต่างตรงที่ไทยไม่ได้พึ่งการส่งออกของวัตถุดิบแบบบราซิล และไทยรักไทยไม่ได้เป็นพรรคฝ่ายซ้าย [ดู https://bit.ly/2PYRDnr ]

ในอาเจนทีนา เศรษฐกิจออกจากวิกฤตที่เกิดในปี 1998 และเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วระหว่าง 2001 กับ 2008 แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดจากการส่งออกผลผลิตเกษตรที่ราคาสูงในตลาดโลก อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤตในปี 2008 อาเจนทีนาก็เริ่มมีปัญหาอีก และในที่สุดรัฐบาลฝ่ายขวาของประธานาธิบดีแมครี ต้องไปกราบเท้าองค์กร ไอเอ็มเอฟ เมื่อไม่นานมานี้เอง

A woman holds a sign that reads "No to the IMF" during a protest outside the Congress in Buenos Aires
ประชาชนต้านไอเอ็มเอฟในอเจนทีนา

ในนิการากัว อดีตนักปฏิวัติพรรคซานดินิสตา ประธานาธิบดี แดเนียล ออร์เตกา กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการเมืองที่มาจากการต่อต้านอย่างแรงจากประชาชน สาเหตุหลักของการต่อต้านครั้งนี้ ซึ่งนำไปสู่การที่ประชาชนถูกยิงตายเกือบ 300 คน คือนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของรัฐบาลท่ามกลางปัญหาราคาผลผลิตส่งออก ออร์เตกาเคยนำการปฏิวัติล้มเผด็จการโซโมซาในปี 1979 แต่การปลุกสงครามต่อต้านรัฐบาลใหม่ในยุคนั้นโดยสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจพังจนพรรคซานดินิสตาต้องแพ้การเลือกตั้งในปี 1990 ต่อมาในปี 2006 ออร์เตกาชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ใน16ปีที่ผ่านไปก่อนหน้านั้นเขาเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองโดยสิ้นเชิง คือสร้างความสัมพันธ์กับทุนภายในประเทศกับนักการเมืองคอร์รับชั่น และทำตัวเป็นเผด็จการหลังชนะการเลือกตั้ง อดีตนักปฏิวัติซานดินิสตาหลายคนจึงรับไม่ได้และตัดสินใจแยกทางกัน

image
ฝ่ายค้านประท้วงที่นิการากัว

สรุปแล้วสิ่งที่เราควรจะเข้าใจคือ วิกฤตการเมืองในลาตินอเมริกาไม่ใช่วิกฤตที่เกิดจากนโยบายสังคมนิยมแต่อย่างใด ตราบใดที่ไม่มีการต่อต้านและล้มทุนนิยมรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นซ้ายไม่สามารถหลุดพ้นจากวิกฤตทุนนิยมที่เกิดเป็นประจำได้ และรัฐบาลฝ่ายขวาก็จะพยายามแก้วิกฤตเศรษฐกิจบนสันหลังประชาชนผู้ทำงานเสมอ

พวกฝ่ายขวาเสรีนิยมคลั่งตลาด ไม่มีวันอธิบายปัญหา เวเนสเวลา ได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ทุกวันนี้ประเทศเวเนสเวลาประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ประชาชนจำนวนมากเลี้ยงชีพไม่ได้และเดินทางออกนกอประเทศ ปีนี้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 1 ล้าน% และราคาสินค้าพื้นฐานสำหรับครอบครัวธรรมดาสูงกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 17 เท่า ซึ่งทำให้มีการนัดหยุดงานประท้วงโดยลูกจ้างในโรงพยาบาล องค์กรไฟฟ้า มหาวิทยาลัย และองค์กรโทรศัพท์

5000
พนักงานโรงพยาบาลประท้วง

แต่อย่าไปหวังว่าสื่อกระแสหลักหรือนักวิจารณ์ฝ่ายขวาแบบเสรีนิยมคลั่งกลไกตลาดจะให้คำอธิบายได้ เพราะพวกนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากข้อมูลประวัติศาสตร์หรือการทำความเข้าใจอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะวิจารณ์บนพื้นฐานอคติที่ไร้สาระมากกว่า

30729801_10156261728071649_5907026744489017344_n

ตัวอย่างที่ดีจากไทยคือ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์  [ดู  https://bit.ly/2LmKVUW ]

พิภพ ได้ข้อมูลส่วนใหญ่จากสื่อฝ่ายขวา แล้วเติมอคติตนเองเข้าไปด้วย เช่นการพูดลอยๆ ว่า เวเนสเวลาเป็น “สังคมนิยม” แล้วกระแนะกระแหนว่าในสวรรค์ของกรรมาชีพประชาชนจะอดอยาก มีการพูดดูถูกว่าอดีตคนขับรถเมล์ไม่สามารถเป็นผู้นำประเทศได้ และนอกจากนี้มีการโจมตีการบริหารบริษัทน้ำมันโดยรัฐ โดยไม่มีการพิจารณาข้อมูลจริง

ในความจริงรัฐบาลที่นำบริษัทน้ำมันมาเป็นของรัฐ คือรัฐบาลฝ่ายขวาของ คาร์ลอส เพเรส ในปี 1976 ก่อนที่ ฮูโก ชาเวส จะขึ้นมาเป็นผู้นำ และสิ่งที่ ชาเวส ทำกับบริษัทน้ำมันของรัฐในภายหลัง คือปลดผู้บริหารและผู้นำสหภาพแรงงานที่ร่วมมือกันขโมยรายได้ของบริษัทเข้ากระเป๋าตนเอง ผลคือรายได้ของบริษัทน้ำมันสามารถถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจนได้

ก่อนที่จะอธิบายเพิ่มเกี่ยวกับเวเนสเวลา ขอรายงานว่าใน “สวรรค์ของทุนนิยม” เช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เงินเดือนเฉลี่ยของคนทำงานธรรมดาลดลง 15% ระหว่าง 1973-1995 และลดลงอีก 16% ระหว่าง 1990-2013 และในปีนี้ประชาชนสหรัฐ 40 ล้านคนมีรายได้ในระดับยากจน และในกลุ่มนี้ 18.5 ล้านคนถือว่า “ยากจนสุดขั้ว” นอกจากนี้ประชาชน 44 ล้านคนไม่มีหลักประกันสุขภาพเลย ซึ่งถือว่าแย่กว่าฐานะของประชาชนไทย และในโลกทุนนิยมเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาอยู่ในสภาพคาราคาซัง ไม่มีการฟื้นตัวอย่างจริงจังตั้งแต่วิกฤตทุนนิยมปี 2008

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สภาพย่ำแย่ของฐานะประชาชนในสหรัฐหรือยุโรป ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะมาใช้แก้ตัวให้กับรัฐบาลเวเนสเวลา ที่ปกครองประเทศที่ประสบวิกฤตอย่างหนัก

สาเหตุหลักของวิกฤตปัจจุบันในประเทศเวเนสเวลามีทั้งหมด 3 สาเหตุคือ

1) การลดลงของราคาน้ำมัน เพราะ 95% ของรายได้จากการส่งออกของเวเนสเวลา มาจากการขายน้ำมัน ระหว่างปี 2008 กับ 2017 ราคาน้ำมันลดจาก $140 ต่อถัง เหลือแค่ $38 ต่อถัง คือลดลง 73% และถึงแม้ว่าในรอบปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยถึง $70ต่อถัง แต่นั้นก็แค่ 50% ของราคาเดิมในช่วง 2008

2) การคอร์รับชั่นในแวดวงรัฐบาลและในพรรคสังคมนิยม PSUV ซึ่งกลายเป็นโรคเรื้อรัง เพราะพรรค PSUV เป็นพรรคของข้าราชการในรูปแบบเดียวกับพรรคสายสตาลินในคิวบาหรือในอดีตโซเวียด มันไม่ใช่พรรคสังคมนิยมที่กรรมาชีพหรือพลเมืองธรรมดาควบคุมได้

3) การกักสินค้าและการแสวงหากำไรโดยนายทุนคนรวย ที่ร่วมมือกับข้าราชการพรรค PSUV และนายทหารชั้นสูงที่กลายเป็นเศรษฐี ปัญหาสำคัญอันหนึ่งของเวเนสเวลา คือบทบาทที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของกองทัพ ซึ่งเข้ามามีส่วนในการควบคุมสังคมและเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย

0f59d-6290784_std
ฮูโก ชาเวส

สำหรับเรื่อง “สังคมนิยม” นั้น ทั้งๆ ที่ ฮูโก ชาเวส อดีตผู้นำที่ชนะการเลือกตั้งมาหลายรอบ ได้ประกาศว่าจะ “ปฏิวัติสังคมนิยม” แต่ในรูปธรรมการปฏิวัติดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น เพราะกรรมาชีพไม่ได้ยึดอำนาจรัฐ รัฐทุนนิยมเดิมยังดำรงอยู่ ไม่มีการคุมปัจจัยการผลิตโดยกรรมาชีพ และมีการร่วมมือกับบริษัททุนข้ามชาติตลอดเวลา

ก่อนที่ ชาเวส จะป่วยตาย เขาเตือนว่าถ้าจะมีสังคมนิยมต้องมีการเปลี่ยนลักษณะของรัฐแบบถอนรากถอนโคน แต่มันไม่เกิดขึ้น

chavezmural_AndreasLehner_Flickr

สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของ ชาเวส คือโครงการต่างๆ ที่ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณสุข และในขณะเดียวกันมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขึ้นมาโดยคนระดับล่าง เพื่อบริหารและปกป้องสิ่งเหล่านี้ และขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ได้ปกป้องรัฐบาล ชาเวส จากการพยายามทำรัฐประหารโดยฝ่ายค้านซึ่งเป็นพวกขวาจัดที่เกลียดชังคนจน ฝ่ายค้านนี้ได้รับการสนับสนุนจาก “สลิ่ม” คนชั้นกลาง ที่มองว่าคนผิวคล้ำๆ ที่เป็นคนธรรมดาหรือคนจน ไม่ควรมีสิทธิทางการเมือง [ดู https://bit.ly/1UgAWyo ]

VENEZUELA-OPPOSITION-DEMO
สลิ่มชนชั้นกลางเวนเนสเวลา

โครงการที่ช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ในยุค ชาเวส อาศัยเงินจากการขายน้ำมัน ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมเมื่อราคาน้ำมันตกต่ำ มันจึงเกิดวิกฤตสำหรับประชาชน แต่วิกฤตนี้ร้ายแรงกว่าที่จำเป็น เพราะรัฐบาลปัจจุบันของ นิโคลัส มาดูโร เลือกที่จะใช้นโยบายรัดเข็มขัดตามสูตรทุนนิยมกลไกตลาด ในขณะที่ยังใช้เงินเพื่อทดแทนหนี้ต่างประเทศ และไม่ยอมเก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุน การลดค่าเงินตราและการตัดโครงการช่วยคนจนของ มาดูโร ทำให้คนธรรมดาจนลงอย่างน่าใจหาย และบวกกับการนำเข้าสินค้าที่ลดลงก็ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ

Maduro_PresidenciaRD_Flickr
นิโคลัส มาดูโร

 

การที่รัฐบาลของชาเวสอาศัยกำไรจากการขายน้ำมันในตลาดทุนนิยม เป็นการทำให้ประเทศพึ่งการส่งออกวัตถุดิบชนิดเดียวเท่านั้น มันไม่เป็นการแปลงเศรษฐกิจเป็นระบบสังคมนิยม เพราะไม่ได้มีการขยายการผลิตสิ่งต่างๆ ที่ประชาชนต้องการผ่านการถือปัจจัยการผลิตร่วมกันของพลเมือง และไม่มีการยึดปัจจัยการผลิตจากนายทุนเอกชนหรือบริษัทข้ามชาติ และมันทำให้มีการพึ่งพาตลาดโลกที่ไม่มีความแน่นอน และไม่เป็นการพัฒนาการผลิตที่หลากหลายภายในประเทศอีกด้วย

ฝ่ายค้านและสื่อกระแสหลักต่างประเทศไม่ได้เสนอทางออกที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ เพราะพวกนี้ไม่เคยสนใจประชาธิปไตยและความเสมอภาค มีแต่การเสนอให้ล้มรัฐบาลและนำนโนบายรัดเข็มขัดสุดขั้วเข้ามาใช้ เช่นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย การขายรัฐวิสาหกิจ และการตัดสวัสดิการและค่าจ้าง

ทางออกที่จะเริ่มแก้ปัญหาคือการส่งเสริมการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อเพิ่มค่าจ้าง สกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายค้านยึดอำนาจ ลดบทบาททหาร และจัดการกับข้าราชการโกงกิน ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นของประชาชนชั้นล่าง เพราะนักสังคมนิยมในเวนเนสเวลาได้นิยามรัฐบาลปัจจุบันของ มาดูโร ว่าเป็น “เผด็จการที่กดขี่ประชาชน” ส่วนการแก้ปัญหาเงินเฟ้อต้องอาศัยการหยุดจ่ายหนี้ต่างประเทศ และการนำกำไรจากการขายน้ำมันมาใช้เพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็นให้พอเพียงสำหรับประชาชนทุกคนพร้อมๆ กับการควบคุมราคาต่างๆ และการพัฒนาการผลิตภายในประเทศให้หลากหลายมากขึ้น

แต่หลายคนมองว่ามันอาจสายเกินไปแล้ว เพราะทหารอาจทำรัฐประหารในไม่ช้า

 

อ่านเพิ่มภาษาอังกฤษ:

บทความของนักเศรษฐศาสตร์มาร์คซิสต์ และ Venezuela struggle and the left https://bit.ly/2Pyitmb  video https://bit.ly/2o4j6Yi

ISO      https://bit.ly/2wjnZAj