พรรคอนาคตใหม่ร้อนตัว ใจ อึ๊งภากรณ์ ตอบคำโต้แย้งของ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

 

 มีหลายคนออกมาโต้บทความของผม “แรงงานไม่ควรหลงเลือกนายใหม่ในรูปแบบพรรคอนาคตใหม่” [ดู https://bit.ly/2yJp3Q0 ] ผมจะไม่ขอโต้ตอบ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ที่ไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับชนชั้นในโลกทุนนิยมสมัยใหม่หรือแม้แต่พรรคแรงงานอังกฤษภายใต้ เจเรมี คอร์บิน และจะไม่ขอโต้กับ จิตรา คชเดช ที่หดหู่จนยอมจำนนด้วยคำพูดว่าในไทย “การรวมตัวของคนงานมันยาก แค่จัดตั้งสหภาพแรงงาน ผลประโยชน์ใกล้ตัวที่สุดจับต้องได้ ยังยากเลย นับประสาอะไรจะตั้งพรรคการเมืองกรรมกร มันยิ่งยากกว่าหลายเท่า” สองคนนี้ได้แต่กระแนะกระแหนแบบไร้สาระ

แต่จะขอโต้ตอบ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เพราะการโต้แย้งของเขามีสาระ ทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยช่องโหว่

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อ้างว่าพรรคอนาคตใหม่มีนโยบายสร้างรัฐสวัสดิการ แต่ในเว็บไซต์ของพรรค [ดู https://bit.ly/2ESdyvi ]  มีการเขียนเพียงแต่ว่า “พรรคอนาคตใหม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การสร้างรัฐสวัสดิการที่ถ้วนหน้า ครบวงจร”

คำสำคัญในประโยคนี้คือ “ผลักดัน” และ “เดินหน้าสู่” พูดง่ายๆ มันเป็นแค่ความหวังหรือความฝันสำหรับอนาคต แต่ถ้าพรรคมีนโยบายที่จะสร้างรัฐสวัสดิการจริง จะต้องเขียนไว้ว่าพรรค “จะลงมือสร้างรัฐสวัสดิการ” โดยอธิบายว่าจะมีรายละเอียดอะไรบ้างอย่างเป็นรูปธรรม และจะสร้างภายในอายุของรัฐบาลหรือรัฐสภา คือภายใน4ปี หรือไม่ ในกรณีรัฐบาลอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีการระบุอย่างชัดเจนว่าจะมีสวัสดิการอะไรบ้าง และเริ่มใช้งานเมื่อไร ในกรณีรัฐบาลไทยรักไทยก็มีนโยบายชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่าจะเริ่มโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเมื่อไรและจะมีหน้าตาอย่างไร

ในเว็บไซต์ของพรรคอนาคตใหม่เขียนไว้อีกว่า “พรรคจึงเร่งปรับให้ค่าใช้จ่ายการศึกษาหลังการศึกษาภาคบังคับอยู่ในอัตราที่เหมาะสมต่อการเข้าถึงของประชาชนทั่วไปและสร้างกลไกการสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับปัจเจกชนในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย” คือไม่เรียนฟรีอย่างถ้วนหน้านั้นเอง แต่หลายประเทศในยุโรปมีการเรียนฟรีในระบบรัฐสวัสดิการ

มีการเขียนต่อว่าจะ “ขยายสิทธิและพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ใกล้เคียงกับสวัสดิการของกลุ่มข้าราชการและมุ่งหวังให้คนไทยได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลที่ไม่มีค่าใช้จ่าย” และ “ผู้มีความต้องการด้านการรักษาในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องรักษาต่อเนื่อง จะถูกคำนึงในฐานะสิทธิและศักดิ์ศรีของมนุษย์มากกว่าต้นทุนค่าใช้จ่าย” พูดง่ายๆ คือยังมีระบบสองมาตรฐาน และแค่หวังว่าจะฟรี ไม่ยืนยันว่าจะฟรี

แต่ในระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า การรักษาพยาบาลต้องมีมาตรฐานเหมือนกันหมดและฟรีสำหรับทุกคนไม่ว่าจะมีโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องรักษาต่อเนื่องหรือไม่

ในเรื่องภาษี การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า คือในอัตราสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน เป็นเรื่องสำคัญ แต่พรรคอนาคตใหม่เขียนไว้แค่ว่า “ลดความเหลื่อมล้ำผ่านมาตรการภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดก ภาษีการถือครองที่ดินปริมาณสูง” ไม่มีการพูดถึงภาษีรายได้ของคนรวยและภาษีที่เก็บจากธุรกิจกลุ่มทุนที่ควรเก็บในอัตราสูง

สรุปแล้วในรูปธรรมนโยบายพรรคอนาคตใหม่ยังไปไม่ถึงรัฐสวัสดิการ และมันตรงกับที่ผมเขียนในบทความของผมว่าพรรคอนาคตใหม่ “ไม่มีข้อเสนอให้เก็บภาษีในอัตราสูงจากเศรษฐีหรือกลุ่มทุน… ไม่มีข้อเสนอเป็นรูปธรรมว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการ”

นอกจากนี้ในเรื่องแนวคิด Negative Income Tax หรือเงินคืนภาษีให้คนรายได้น้อยกว่า 100,000บาทต่อปี เงินที่จะให้คนจนมาจากงบประมาณของรัฐ ซึ่งแปลว่ากลุ่มทุนหรือธุรกิจไม่ต้องเพิ่มค่าจ้าง ตรงนี้ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ไม่สามารถเถียงได้เลย

 

ในเรื่องกฏหมายแรงงาน ในบทความของผม ผมเขียนไว้ว่า “พรรคอนาคตใหม่ไม่มีข้อเสนอให้รื้อถอนกฏหมายแรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน และร่างกฏหมายแรงงานใหม่ที่ให้อำนาจกับสหภาพ” ซึ่งผมยืนยันว่าเป็นจริง ส่วน ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี แค่ชี้ไปที่นโยบายพรรคว่าจะ “รับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วย เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรอง” ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวไม่ได้ทำให้อุปสรรคในการนัดหยุดงานหายไป หรือเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับสหภาพแรงงานให้เท่ากับอำนาจทุนในรูปธรรมแต่อย่างใด เพราะอนุสัญญาดังกล่าวเป็นแค่นามธรรมที่ไม่ลงรายละเอียดเลย และไม่ห้ามไม่ให้นายทุนปิดงานอีกด้วย

และเรายังไม่พูดถึงการที่พรรคอนาคตใหม่ไม่เสนอให้ยกเลิก 112 ไม่เสนอให้สตรีมีสิทธิทำแท้งเสรี และไม่เสนอให้ชาวปาตานีสามารถกำหนดอนาคตตนเองโดยไม่ต้องพิจารณาความมั่นคงของชาติ

แรงงานไม่ควรหลงเลือกนายใหม่ในรูปแบบพรรคอนาคตใหม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

มันเป็นเรื่องดีมากๆ ที่พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่ออกมาวิจารณ์เผด็จการทหารปัจจุบันอย่างเป็นระบบ และเสนอว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่ใช่ของทหาร พร้อมกับรื้อถอนข้อบังคับต่างๆ ของเผด็จการประยุทธ์ที่จำกัดพื้นที่ประชาธิปไตย และเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคสามัญชน พรรคอนาคตใหม่พูดชัดเจนกว่าในเรื่องนี้

แต่เราก็ต้องตั้งคำถามว่าจะทำได้อย่างไร เพราะการมีเสียงส่วนใหญ่ในสภา ถ้าเกิดมีจริงในอนาคต จะไม่ทำให้ข้อเสนอเหล่านี้มีพลัง การรื้อถอนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี การรื้อถอนวุฒิสภาที่ทหารแต่งตั้ง และการรื้อถอนตุลาการที่อยู่ฝ่ายเผด็จการ ต้องอาศัยพลังมวลชนนอกรัฐสภา ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ลงมือสร้างแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการสังกัดหรือสนับสนุนพรรคไหน กรรมาชีพในขบวนการแรงงานควรพิจารณาเรื่องอื่นอีกด้วย เรื่องสำคัญคือเรื่องจุดยืนทางชนชั้น

แรงงาน 011

ผมเคยเขียนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่คือ ในรายการสดของ The Standard http://bit.ly/2DI5maR  ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดชัดเจนว่าในอดีตเมื่อสหภาพแรงงานในโรงงานไทยซัมมิทเรียกร้องโบนัสเท่าเทียมกับสำนักงานใหญ่ ธนาธร และบริษัทซัมมิทตัดสินใจปิดโรงงานและไล่คนงานทุกคนออก เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการนัดหยุดงาน

นอกจากนี้เราทราบจากข่าว “ประชาไท” ว่าบริษัทไทยซัมมิทอีสเทิร์น ซีบอร์ด ออโต้พาร์ท อินดัสตรี ได้สั่งเลิกจ้างคนงาน 50 คนในวันที่ 26 ธันวาคม 2549 เพราะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย และทางบริษัทเกรงว่าจะทำให้ลูกจ้างมีอำนาจต่อรองกับบริษัทมากขึ้นหากมีสหภาพแรงงานแบบนี้

57-5

ในรายการโทรทัศน์หลายครั้ง ธนาธร ออกมาสั่งสอนนักสหภาพแรงงานเหมือนเป็นครูใหญ่และพูดว่าธุรกิจ “ต้อง” ได้กำไรเพิ่มก่อนที่จะเพิ่มค่าจ้างหรือปรับสวัสดิการให้ดีขึ้น พูดง่ายๆ ผลประโยชน์ของนายทุน 1% ของประชากร สำคัญกว่าผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ 99% และเมื่อนายทุนกินอิ่มแล้ว เศษอาหารที่เหลือบนโต้จะเป็นของแรงงาน นอกจากนี้เมื่อไม่นานมานี้ ธนาธร พูดว่าจะ “ปกป้องทุนนิยม” และอ้างว่าทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ แต่ในรูปธรรมระบบทุนนิยมให้ประโยชน์กับนายทุนเป็นหลัก และระบบกลไกตลาดเสรีทำให้มีการกดค่าแรงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันเสมอ และการแข่งขันดังกล่าวนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำอีกด้วย

ถ้าคนส่วนใหญ่ถือครองปัจจัยการผลิต โดยไม่มีนายทุน มันไม่จำเป็นต้องมีกำไรที่ตกอยู่ในมือนายทุน แต่ส่วนเกินจากการผลิตจะนำมาลงทุนเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ โดยคนส่วนใหญ่ในสถานประกอบการและคนในสังคมจะร่วมกันตัดสินใจว่าจะลงทุนในอะไร นั้นคือตัวอย่างของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ แต่นั้นไม่ใช่เป้าหมายของพรรคอนาคตใหม่

ธนาธร และพรรคอนาคตใหม่พูดว่าอยากจะ “ให้โอกาส” กับทุกคน แต่การให้โอกาสกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมจะเกิดได้ต่อเมื่อทุกคนมีรายได้และทรัพย์สินเท่ากัน ซึ่งไม่ใช่ข้อเสนอของพรรค มีการเสนอแนวคิด Negative Income Tax หรือเงินคืนภาษีให้คนรายได้น้อยกว่า 100,000บาทต่อปี เพื่อ “แก้ปัญหาความยากจน” แต่การให้เงินคนจนแบบนี้เป็นข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวา เพราะเงินที่จะให้คนจนมาจากงบประมาณของรัฐ ซึ่งแปลว่ากลุ่มทุนหรือธุรกิจไม่ต้องเพิ่มค่าจ้าง และเงินนี้จะได้จากการเก็บภาษีจากคนทำงานที่รายได้มากกว่าหมื่นบาทต่อเดือน หรือจากภาษีมูลค่าเพิ่ม พูดง่ายๆ มันเป็นการสร้างภาพว่าช่วยคนจนโดยที่กลุ่มทุนไม่ต้องเสียผลประโยชน์เลย นอกจากนี้ในสังคมไทยคนที่จนที่สุดไม่มีงานประจำถาวรและไม่ได้เสียภาษี คำถามคือจะให้เงินกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร

2 Capitalist

ในขณะเดียวกันพรรคอนาคตใหม่ไม่มีข้อเสนอให้รื้อถอนกฏหมายแรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน และร่างกฏหมายแรงงานใหม่ที่ให้อำนาจกับสหภาพ ไม่มีข้อเสนอให้เก็บภาษีในอัตราสูงจากเศรษฐีหรือกลุ่มทุน ไม่มีข้อเสนอเป็นรูปธรรมว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการ และไม่มีการรับข้อเสนอเรื่องการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับเดียวกันกับคำเรียกร้องของสหภาพต่างๆ

นอกจากนี้ในปัญหาของสังคม พรรคอนาคตใหม่ไม่เสนอให้ยกเลิก 112 ไม่เสนอให้สตรีมีสิทธิทำแท้งเสรี และไม่เสนอให้ชาวปาตานีสามารถกำหนดอนาคตตนเองโดยไม่ต้องพิจารณาความมั่นคงของชาติ

ในแวดวงนักสหภาพแรงงานมักจะมีการตั้งคำถามกันว่า “จะอยู่อย่างเป็นทาส หรือจะร่วมกันต่อสู้?” การที่แรงงานไม่สร้างพรรคของกรรมาชีพเอง และคอยเดินตามก้นพรรคนายทุน ไม่ว่าจะเป็นพรรคนายทุนหน้าเก่าอย่างเพื่อไทย หรือพรรคนายทุนหน้าใหม่อย่างอนาคตใหม่ แปลว่ากรรมาชีพจะอยู่อย่างเป็นทาสและเป็นแค่ “กบเลือกนาย” แรงงานต้องมีศักดิ์ศรีมากกว่านั้น

frog_mini

สองเหตุผลว่าทำไมไทยควรเป็นสาธารณรัฐ

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านในบล็อกโดยตรง]

ประเทศทั่วโลกที่มีกษัตริย์เป็นประมุข เช่นอังกฤษ สเปน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ หรือไทย ยังคงไว้สถาบันจากอดีตอันนี้เพื่อวัตถุประสงค์สมัยใหม่ วัตถุประสงค์หลักคือเรื่องลัทธิความคิดทางการเมืองที่เน้นว่าลำดับชนชั้นในสังคมเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่เราเปลี่ยนไม่ได้ สถาบันกษัตริย์มีไว้เพื่อกล่อมเกลาให้ประชาชนพึงรู้ว่ามีคนเกิดสูงและเกิดต่ำ คนที่เกิดสูงมีความชอบธรรมในการกอบโกยทรัพย์สินของสังคม และในการมีบทบาทหลักในสังคม ส่วนคนที่เกิดต่ำควรเจียมตัวกับความจนและการที่ถูกกีดกันออกจากการตัดสินใจทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม (ดู https://bit.ly/2On85jD )

วัตถุประสงค์หลักของลัทธิ “สูงต่ำ” อันนี้ไม่ใช่เพื่อเชิดชูกษัตริย์ แต่เพื่อให้ความชอบธรรมกับชนชั้นปกครองในรัฐทุนนิยมสมัยใหม่ คือนายทุน นักการเมืองฝ่ายทุน ผู้บังคับบัญชาทหาร และข้าราชการชั้นสูง

ในประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ ชนชั้นปกครองใช้ลัทธิความคิดอื่นในการให้ความชอบธรรมกับลำดับชนชั้นที่ดำรงอยู่ ในสหรัฐจะมีการเสนอว่าคนชั้นสูงเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษและขยันในการทำงาน ซึ่งถ้าดูพฤติกรรมและความสามารถจริงของพวกผู้นำสหรัฐก็จะเห็นว่าเป็นคำโกหก ในฝรั่งเศสจะมีการอ้างความชอบธรรมจากการปฏิวัติฝรั่งเศสและการอ้างว่าทุกคนเท่าเทียมกันแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่จริง ในจีนก็เช่นกัน มีการอ้างว่าในระบบ “คอมมิวนิสต์” ไม่มีชนชั้น และเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นตัวแทนของกรรมาชีพกับประชาชน ซึ่งไม่จริงอีก ไม่เชื่อก็ลองดูสภาพความเป็นอยู่ของคนงานจีนเมื่อเทียบกับวิถีชีวิตของครอบครัวผู้นำรัฐ

ในรายละเอียด ชนชั้นปกครองอังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส หรือจีน ไม่ได้แตกต่างกันเลย ของไทยก็เช่นกัน ล้วนแต่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์กลุ่มทุนทั้งสิ้น และต้องการที่จะกดขี่ขูดรีดคนธรรมดา

บางคนที่อ้างว่าตัวเอง “ตาสว่าง” แต่ยังติดอยู่ในกับดักความคิดของกะลาแลนด์ จะเถียงว่า “ประเทศไทยไม่เหมือนประเทศในยุโรปหรือที่อื่น” เพื่อพยายามเสนอว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีความ “พิเศษ” ที่ไม่เหมือนของชาติอื่น เพราะ “เรายังมีระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” (ดู https://bit.ly/2QgB0TJ ) คนเหล่านี้ไม่ยอมศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ตามยุคสมัย ผ่านการปฏิวัติของรัชกาลที่๕ สู่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ และที่สำคัญคือพวกนี้ไม่ยอมศึกษาบทบาทและที่มาของสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ในยุโรป พวกนี้จึงมองอะไรแบบผิวเผิน คือพอได้ยินว่ากษัตริย์ไทยแต่งตั้งผู้พิพากษา หรือแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือ “โปรดเกล้า” เรื่องอื่น ก็เชื่อว่ากษัตริย์มีอำนาจ แต่การแต่งตั้งหรือ “โปรดเกล้า” ในเรื่องต่างๆ ก็มีในอังกฤษตามทำเนียม ซึ่งคนไทยแบบนี้จะไม่ยอมมองและเข้าใจ มันเป็นความคิดชาตินิยมในกะลาที่ส่งเสริมโดยฝ่ายเผด็จการและชนชั้นปกครองไทย ที่ชวนให้เราไม่ศึกษาการเมืองทั่วโลกในเชิงเปรียบเทียบ “เพราะประเทศไทยพิเศษ”

การที่ไทยมีกฏหมาย 112 ที่ยังใช้อยู่ในทางปฏิบัติ และการที่มีการมอบคลาน การใช้ราชศัพท์ และการติดภาพหรืออ้างถึงกษัตริย์บ่อยๆ เป็นแค่รายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งไม่เปลี่ยนลักษณะลึกๆ ของสถาบัน ที่เหมือนกับสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ทั่วโลก

ดังนั้นปัญหาใหญ่อันหนึ่งของการมีสถาบันกษัตริย์ในไทย คือการที่ทหาร นักการเมือง และนายทุน ใช้สถาบันนี้เพื่อให้ความชอบธรรมกับอภิสิทธิ์ของตนเอง ในรูปธรรมหมายความว่าทหารทำรัฐประหารแล้วอ้างว่าปกป้องกษัตริย์ได้ หรือมีการอ้างลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสนับสนุกแนวเสรีนิยมกลไกตลาดแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

ลัทธิกษัตริย์ หรือ “ลัทธิสูงต่ำ” ถูกใช้เพื่อพยายามให้ความชอบธรรมกับเผด็จการและความเหลื่อมล้ำ

แต่อย่าหลงเชื่อว่าในยุโรปชนชั้นปกครองชื่นชมประชาธิปไตยมาตลอด ในยามวิกฤตชนชั้นปกครองยุโรปพร้อมจะใช้ระบบเผด็จการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ตนเอง ดูได้จากอดีตในเยอรมัน อิตาลี่ สเปน หรือโปรตุเกส ดูได้จากกรณีการใช้กฏหมายฉุกเฉินในอังกฤษหรือฝรั่งเศส และดูได้จากมาตรการเผด็จการที่อียูใช้กับกรีซเพื่อบังคับให้รัดเข็มขัด หรือที่รัฐสเปนใช้กับชาวคาทาลูเนีย

วชิราลงกรณ์ไม่ได้มีอำนาจสั่งการในระบบการเมืองไทย เพราะถ้าเราพิจารณาปัญหาต่างๆ เช่นเรื่องการสืบทอดอำนาจเผด็จการประยุทธ์ผ่าน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ20 ปี” หรือการทำลายระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาสิทธิสตรี หรือปัญหาสงครามในปาตานีฯลฯ กษัตริย์คนนี้ ซึ่งสอบตกอย่างต่อเนื่องในยุคเรียนหนังสือ ไม่มีความเห็นของตนเองที่ปรากฏออกมา

และก่อนที่ภูมิพลจะเสียชีวิต ภูมิพลหมดสภาพในการสื่อสารหรือทำอะไรเป็นเวลานานพอสมควร แต่ไม่มีผลกระทบอะไรเลยกับระบบการปกครองของเผด็จการไทยแม้แต่นิดเดียว ภูมิพลก็ไม่ได้สั่งการอะไรเช่นกัน (ดู https://bit.ly/2s0KHd4 )

อย่างไรก็ตามมันมีสิ่งที่วชิราลงกรณ์กระตือรือร้นที่จะสนใจ นั้นคือการเสพสุขของตนเองบนพื้นฐานความร่ำรวยมหาศาล มันคือสาเหตุที่เขาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้สามารถเสพสุขที่เยอรมันโดยไม่มีคนอื่นแต่งตั้งใครมาดำรงตำแหน่งเขาแทนได้ หรือการที่วชิราลงกรณ์รวบความเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ของสถาบัน มาเป็นของตนเองคนเดียว หรือการที่สั่งย้ายสวนสัตว์เขาดิน เพื่อเพิ่มกำไรจากการครองที่ดิน มันเกี่ยวกับความโลภที่จะเสพสุข และเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัวเขาอย่างเดียว มันไม่เกียงกับการบริหารสังคมหรือการเมือง (ดู https://bit.ly/2IwdWxP )

ซึ่งเรื่องนี้พาเราไปสู่การพิจารณาสาเหตุที่สองที่เราควรมีระบบสาธารณรัฐ นั้นคือการที่สถาบันกษัตริย์เป็นปรสิตที่ดูดทรัพย์ของสังคมเข้ากระเป๋าตนเอง มันเป็นปัญหาในประเทศทั่วโลกที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และในไทยถ้าเทียบทรัพย์สินของกษัตริย์กับความเป็นอยู่ของประชาชนธรรมดา มันเป็นเรื่องร้ายแรง

ถ้าเรายกเลิกสถาบันกษัตริย์ และบังคับให้คนอย่างวชิราลงกรณ์ต้องทำงานเลี้ยงชีพตนเองเหมือนคนธรรมดา เราจะสามารถใช้ทรัพยากรมหาศาลในการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ได้ เราสามารถพัฒนาระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข และสร้างรัฐสวัสดิการได้

พูดง่ายๆ ระบบกษัตริย์ทำให้พวกสมาชิกราชวงศ์กลายเป็นคนขี้เกียจหลังยาวแบมือกอบโกย “สวัสดิการ” มหาศาลจากรัฐ โดยไม่ทำงานตลอดชีพ

ดังนั้นสองเหตุผลหลักที่เราควรมีระบบสาธารณรัฐคือ (1)มันสร้างลัทธิที่ส่งเสริมให้มีการให้ความชอบธรรมกับระบบชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ และการกีดกันสิทธิเสรีภาพเต็มที่ของพลเมืองธรรมดา และ (2)มันสิ้นเปลืองทรัพยากรของสังคมที่ควรจะนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

แนวคิดมาร์คซิสต์เรื่องการต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศ

ใจ อึ๊งภากรณ์

 [เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

เราไม่สามารถสร้างสังคมใหม่แห่งสังคมนิยมได้ ถ้ากรรมาชีพชายและหญิงไม่สามัคคีกัน  และถ้าจะเกิดความสามัคคีดังกล่าว ทั้งชายและหญิง แต่โดยเฉพาะผู้ชาย ต้องสลัดความคิดกดขี่หรือดูถูกผู้หญิงออกจากหัว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความดีความชั่วของปัจเจก แต่เป็นเรื่องโครงสร้างสังคม และการต่อสู้ทางชนชั้น

 

มันไม่ใช่เรื่อง “ธรรมชาติ” ที่มนุษย์จะมากดขี่กัน แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์บางคนสร้างขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขสังคมชนชั้นในอดีต เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง

 

นักมาร์คซิสต์คนสำคัญ ชื่อ เฟรดเดอริค เองเกิลส์ เป็นคนที่ริเริ่มการศึกษาปัญหาการกดขี่ทางเพศอย่างเป็นระบบ ในหนังสือ “กำเนิดครอบครัว ทรัพย์สินเอกชน และรัฐ”  เองเกิลส์ อธิบายว่าแรกเริ่มมนุษย์บุพกาลไม่มีชนชั้น ไม่มีรัฐ และไม่มีครอบครัว คือหญิงชายมีความสัมพันธ์อย่างเสรีตามรสนิยมของแต่ละคน ไม่มีคู่ถาวร ตอนนั้นมนุษย์ไม่มีครอบครัวแต่มีเผ่า และลูกที่เกิดมาจะทราบว่าใครเป็นแม่ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่สำคัญเพราะเด็กๆ ทุกคนถือว่าเป็นลูกของชุมชน และทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของส่วนรวม แบ่งกันอย่างเสมอภาคเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ในยุคบุพกาลจะมีการเก็บของป่าและล่าสัตว์ สังคมไม่มีส่วนเกินหรือคลังอาหารใหญ่โต วันไหนได้อะไรก็มาแบ่งกันกิน แต่เมื่อมนุษย์รู้จักการเกษตรและเริ่มมีส่วนเกินมากขึ้น จะมีผู้ชายคนหนึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่หรือตั้งตัวเป็น “พระ” และจ้างอันธพาลติดอาวุธมาเป็นลูกน้องของตน ประชาชนที่เหลือจะตกเป็นทาสและถูกบังคับให้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งส่วยให้ผู้ปกครอง คือมีการยึดการผลิตส่วนมาเป็นของหัวหน้า แต่ในขณะเดียวกัน การจัดระเบียบสังคมใหม่แบบนี้ ให้ประโยชน์กับคนธรรมดาบ้าง เพราะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากสมัยบุพกาลเดิม และทำให้มีความมั่นคงมากขึ้นภายใต้การกดขี่

 

ภายใต้ระบบการปกครองทางชนชั้น ทรัพย์สินทั้งหมดของชุมชนที่เคยเป็นของส่วนรวม ถูกแบ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่ตกในมือของผู้ปกครอง ผู้หญิงถูกบังคับให้อยู่ในระบบครอบครัวที่ชัดเจน เพื่อให้ชายผู้เป็นเจ้าสามารถให้มรดกกับลูกตนเองเท่านั้น จะเห็นว่าเริ่มมีการสร้างระเบียบครอบครัวที่ระบุว่าหญิงต้องเลี้ยงลูกเป็นหลักในขณะที่ชายมีบทบาทสาธารณะ และชนชั้นปกครองมักกล่อมเกลาให้ทั้งชายและหญิงยอมรับว่าผู้ชายสำคัญกว่าผู้หญิง และผู้หญิงต้องไม่นอกใจผู้ชาย

 

ระเบียบครอบครัวนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของแนวคิดหรือลัทธิกระแสหลักในสังคม

 

นี่คือที่มาของการกดขี่สตรีในสังคมชนชั้นปัจจุบัน ซึ่งเกิดพร้อมกับระบบการปกครอง กองกำลังอันธพาล และกฎระเบียบหรือกฎหมายที่ใช้รองรับการสร้างอำนาจ “รัฐ”

 

มันแปลว่าถ้าเราจะจัดการกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ เราต้องจัดการกับสังคมชนชั้น และรัฐทุนนิยมปัจจุบัน แต่นั้นไม่ได้แปลว่าว่าเราต้องนิ่งเฉยและรอวันปฏิวัติ นักมาร์คซิสต์ต้องต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันตลอด ซึ่งแปลว่าเราต้องรณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพทางเพศ

 

ในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ชนชั้นนายทุนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการที่สังคมมองว่า หญิงเสมือนเท้าหลังที่มีหน้าที่หลักคือการเลี้ยงดูลูกและทำงานบ้าน เพราะหญิงจะได้เป็นผู้ผลิตแรงงานรุ่นต่อไปเพื่อป้อนเข้าโรงงานและสถานที่ทำงานอื่นๆ โดยที่นายทุนไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นี่คือเงื่อนไขที่ผลิตซ้ำแนวคิดเกี่ยวกับ “ครอบครัวจารีต”

 

แต่ในขณะเดียวกันทุกสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ระบบทุนนิยมมีความต้องการที่จะขยายกิจการและจ้างงานเพิ่มตลอดเวลา จึงมีการดึงแรงงานหญิงออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้หญิงเริ่มมีความอิสระและเรียกร้องสิทธิมากขึ้น นอกจากนี้ในสังคมไทยและที่อื่น ค่าจ้างของชายหนึ่งคน ถูกนายทุนกดไว้เพื่อเพิ่มกำไร  จึงย่อมไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้

 

ผู้หญิงได้รับการศึกษามากขึ้น และมีความมั่นใจซึ่งมาจากการที่ออกไปทำงาน มีรายได้ของตนเอง และไม่ต้องพึ่งผู้ชาย เทคโนโลจีสมัยใหม่ก็ช่วยให้งานบ้านง่ายขึ้น และมีโรงเรียนในระดับต่างๆ ที่จะช่วยในการเลี้ยงดูเด็ก

1-116-752x440

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลในการพัฒนาความคิดของสตรีเพื่อต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศ ดังนั้นระบบทุนนิยมได้สร้างเงื่อนไขให้สตรีออกมาสู้เพื่อปลดแอกตนเองด้วย แต่รัฐและนายจ้างพยายามปฏิเสธการรับผิดชอบในการจัดสถานที่เลี้ยงเด็กฟรี โดยใช้แนวคิด “หญิงเป็นเท้าหลัง” และ “บทบาทธรรมชาติของสตรี” พร้อมกันนั้นมักมีการเน้นหรือเสริมคุณค่าของ “ครอบครัวจารีต” เพื่อให้ชายกับหญิงสามัคคีกันยาก และเพื่อบังคับให้งานบ้าน และงานเลี้ยงลูกหรือคนชรา ตกอยู่กับผู้หญิง แทนที่จะเป็นภาระของส่วนรวม สรุปแล้วมันเป็นวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐนายทุน และลดภาษีที่เก็บจากกลุ่มทุน เพื่อเพิ่มกำไร

 

จะเห็นว่าทุนนิยมเป็นระบบที่ขัดแย้งในตัวเกี่ยวกับสภาพสตรี คือทั้งกดขี่และสร้างเงื่อนไขในการต่อสู้พร้อมกัน

 

ชาวมาร์คซิสต์จะต้องอาศัยการเพิ่มขึ้นของความมั่นใจในหมู่สตรี เพื่อช่วยกันผลักดันการต่อสู้ทางชนชั้น องค์กรจัดตั้งหรือพรรคสังคมนิยม จะต้องขยันต่อสู้ทางความคิดกับลัทธิศีลธรรมจารีตแบบคับแคบเสมอ เราต้องรณรงค์ให้กรรมาชีพเข้าใจลักษณะการกดขี่ทางเพศ และให้หญิงกับชายสามัคคีกัน พร้อมกันนั้นเราจะต้องต่อสู้เพื่อชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ เช่นสิทธิในการทำแท้งเสรี สิทธิที่จะได้เงินเดือนเท่าเทียมกันระหว่างเพศ หรือสิทธิลาคลอด ฯลฯ ซึ่งแยกไม่ออกจากการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ แต่ในระยะยาวเราต้องการสลายสถาบันครอบครัวที่กดขี่ผู้หญิง เราต้องการสลายระบบชนชั้น และเราต้องการล้มรัฐนายทุน  มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเพศใด จะได้มีเสรีภาพที่จะเลือกวิถีชีวิตตามรสนิยม มีเสรีภาพที่จะรักเพื่อนมนุษย์คนใดก็ได้ตามรสนิยม และมีเสรีภาพที่จะรักและดูแลเด็กๆ ของสังคมทุกคนอย่างอบอุ่น

 

2000px-Woman-power_emblem.svg

สองแนวคิดเรื่องสิทธิสตรี

 

ผู้รักความเป็นธรรมทุกคนต้องยอมรับว่าในสังคมนี้ สตรีด้อยโอกาสกว่าชาย ตัวอย่างเช่น ค่าจ้างโดยเฉลี่ยของหญิงมักต่ำกว่าชาย หญิงมักมีบทบาทเป็นผู้นำของสังคมน้อยกว่าชาย และสังคมมักจะมีค่านิยมที่ให้โอกาสกับชายมากกว่าหญิงในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศเป็นต้น

 

ในการอธิบายปัญหาของสตรีและทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าว เราจะพบว่ามีสองสำนักความคิดหลักคือ

  1. สำนักความคิด สตรีนิยม หรือแฟมินิสต์ (Feminist)
  2. สำนักความคิดแบบ สังคมนิยมลัทธิมาร์คซ์ หรือมาร์คซิสต์

 

สำนักความคิดสตรีนิยมจะเสนอว่าปัญหาของหญิงมาจากชาย คือผู้ชายทุกคนรวมหัวกันกดขี่หญิง ชายทุกคนไม่ว่าจะกรรมาชีพหรือนายทุนได้ประโยชน์จากการกดขี่หญิง ดังนั้นชายเป็นผู้กำหนดกฎกติกาทั้งหลายในสังคมที่เอาเปรียบผู้หญิง ชายบังคับให้หญิงอ่อนน้อมต่อตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานบ้าน การตัดสินใจ หรือการมีความสัมพันธ์ทางเพศ  ทฤษฎีนี้มีชื่อว่า “ทฤษฎีพ่อเป็นใหญ่” หรือ “ชายเป็นใหญ่” ฉนั้นทางออกของแนวนี้คือผู้หญิงจากทุกชนชั้นจะต้องสร้างแนวร่วมต่อต้านผู้ชาย คือหญิงไม่ว่าจะ ชั้นสูง ราชวงศ์ นายจ้าง หรือกรรมาชีพ ต้องสามัคคีกัน และพวกสำนักความคิดสตรีนิยมนี้มักเสนอว่าควรมีผู้บริหารที่เป็นสตรีมากขึ้น และเสนอว่าเราควรมี ส.ว. หรือ ส.ส. หญิงเพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึงแนวทางการเมืองของหญิงเหล่านั้น

 

สิ่งที่ฝ่ายสตรีนิยมเสนอ ถ้าดูแบบผิวเผินอาจมีความจริง แต่เมื่อเราพิจารณาลึกกว่านั้นจะมีข้อบกพร่อง เช่น แนวคิดนี้ไม่สามารถอธิบายว่าการกดขี่ทางเพศเริ่มเมื่อไรในประวัติศาสตร์มนุษย์ และไม่สามารถอธิบายได้ว่าชายที่เป็นกรรมาชีพจะได้อะไรจากการที่เมียของเขากินค่าแรงต่ำเป็นต้น นอกจากนี้แนวคิดสตรีนิยมจะทำให้ชายกับหญิงสามัคคีกันยากขึ้น ซึ่งแปลว่ากรรมาชีพผู้ทำงานหรือคนยากจนจะต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองจากการที่ถูกกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นยาก

 

ในเมื่อฝ่ายสตรีนิยมเสนอเหมือนกับว่าการกดขี่ทางเพศเป็น “ธรรมชาติของชาย” หนทางที่จะแก้ไขคงเต็มไปด้วยอุปสรรคในทุกยุคทุกสมัย เพราะเราจะต้องฝืนธรรมชาติ แต่นักคิดแนวมาร์คซิสต์เช่น เองเกิลส์ อธิบายว่าการกดขี่ทางเพศไม่มีในสมัยบรรพกาล และเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีสังคมชนชั้น พูดง่ายๆ การกดขี่ทางเพศเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง และไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ดังนั้นมันถูกรื้อทิ้งได้

egypt_women

นักมาร์คซิสต์เชื่อว่ากรรมาชีพหญิงไม่ควรจับมือกับรัฐมนตรีชนชั้นนายทุนที่เป็น“ท่านผู้หญิง” และไม่ควรเลือก ส.ส. หรือ ส.ว. หญิงจากพวกนายทุน เพราะการกดขี่ทางเพศมาจากสังคมชนชั้น  ในระยะสั้นกรรมาชีพหญิงและชายต้องต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เช่นสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย โดยเฉพาะสิทธิทำแท้ง เพราะการกดขี่หญิงสร้างความแตกแยกในขบวนการแรงงาน และไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับกรรมาชีพชาย

 

การเน้นครอบครัวจารีตในสังคมชนชั้น เป็นที่มาของการดูหมิ่นและเลือกปฏิบัติต่อ ชายรักชาย หญิงรักหญิง และกะเทย ดังนั้นเราควรปกป้องสิทธิของคนเหล่านี้ที่จะมีความสัมพันธ์อย่างเสรีตามรสนิยมส่วนตัว ในยุคนี้ในแวดวงนักสิทธิสตรีมีการถกเถียงโต้แย้งกันว่า “กะเทย” ที่เป็นหญิงในร่างชาย ไม่ควรถูกมองว่าเป็น “หญิงแท้” การถกเถียงเรื่องนี้เพิ่มขึ้นในประเทศตะวันตก เพราะมีการเปลี่ยนกฏหมายให้พลเมืองเลือกว่าอยากเป็นเพศอะไรในเอกสารทางการและในชีวิตประจำวัน มันเกี่ยวข้องกับเรื่องการแยกห้องน้ำระหว่างเพศในสถานที่สาธารณะ และเรื่องการจำคุกว่ากะเทยควรจะอยู่ในคุกของนักโทษเพศอะไรด้วย

 

นักมาร์คซิสต์มองว่าเราต้องปกป้องสิทธิของเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่จะเลือกเพศของตนเอง และกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง เราต้องปกป้องความหลากหลายที่มีจริงในโลก และต้องปฏิเสธการนิยามว่าใครเป็นหญิงหรือชาย “แท้”

ทำไมฝ่ายขวาฟาสซิสต์ในยุโรปเพิ่มคะแนนเสียง

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ข่าวล่าสุดจากการเลือกตั้งในสวีเดนเมื่อต้นเดือนกันยายนรายงานว่าพรรค “ประชาธิปัตย์สวีเดน” ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ที่มีต้นกำเนิดจากพวกนาซี สามารถเพิ่มคะแนนเสียง 4.7% เป็น 17.6% จนกลายเป็นพรรคอันดับที่สามของประเทศรองจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคสายกลาง

สื่อหลายแห่งและพรรคประชาธิปัตย์สวีเดนเอง อ้างว่าเป็นเพราะสวีเดนรับผู้ลี้ภัยมา “มากเกินไป” แต่สาเหตุสำคัญที่แท้จริง เป็นเพราะรัฐบาลจากพรรคกระแสหลักในอดีต ได้ใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดเพื่อค่อยๆ ทำลายรัฐสวัสดิการผ่านการรัดเข็มขัดและการเพิ่มบทบาทของบริษัทเอกชน มีการตัดอัตราภาษีที่เก็บจากบริษัท กลุ่มทุน และคนรวยอีกด้วย

การตัดสวัสดิการและการกดค่าแรงในสวีเดน เริ่มตั้งแต่วิกฤตการเงินในกลางทศวรรษที่ 90 และมาแรงหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก 2008 ผลคือความเหลื่อมล้ำในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง [ดู https://bit.ly/2p0LVFD ]

พรรคกึ่งฟาสซิสต์ของสวีเดนโฆษณาว่าประชาชน “ต้อง” เลือกระหว่างรัฐสวัสดิการและการรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ ซึ่งเป็นคำโกหกเหยีดเชื้อชาติสีผิว และเป็นการสร้างแพะรับบาปในรูปแบบคนต่างชาติ เพราะผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน ซึ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ และคุณภาพของรัฐสวัสดิการเพิ่มได้ถ้ามีรัฐบาลที่พร้อมจะเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากกลุ่มทุนและคนรวย และพร้อมจะเลิกการใช้นโยบายเสรีนิยม

คะแนนเสียงของพรรคกระแสหลักสวีเดนลดลง ทั้งๆ ที่มีการลอกแบบจุดยืนบางอย่างที่คัดค้านผู้ลี้ภัยจากพรรคประชาธิปัตย์สวีเดน ในขณะเดียวกัน “พรรคซ้าย” ซึ่งเป็นพรรคอดีตคอมมิวนิสต์ สามารถเพิ่มคะแนนเสียงโดยไม่ยอมจำนนต่อนโยบายที่เหยียดเชื้อชาติ

ผลของการขยับไปทางขวาของพรรคกระแสหลัก นอกจากจะไม่ช่วยกู้คะแนนแล้ว ยังมีผลในการทำให้นโยบายของพวกฟาสซิสต์ดูน่าเชื่อถือมากขึ้นในสายตาประชาชนบางคน คำพูดเหยียดเชื้อชาติของ ดอนัลด์ ทรัมป์ และเงินสนับสนุนพวกฟาสซิสต์ในยุโรปที่มาจากพรรคพวกของทรัมป์ในสหรัฐ ก็มีส่วนช่วยด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นในสวีเดนไม่ต่างจากปรากฏการณ์ในประเทศอื่นๆ ของยุโรป คือพรรคกึ่งฟาสซิสต์ ที่ประกอบไปด้วยแกนนำที่เป็นนาซี แต่สร้างภาพปลอมว่า “เคารพประชาธิปไตย” สามารถเพิ่มคะแนนเสียง พรรคกระแสหลักทั้งซ้ายและขวาคะแนนลดลง ทั้งๆ ที่ขยับจุดยืนไปทางขวาและเริ่มโจมตีผู้ลี้ภัย จนจุดยืนของพวกฟาสซิสต์ค่อยๆ เป็นที่ยอมรับในประชาชนหลายส่วนส่วน

skynews-germany-chemnitz-hitler_4403794
ฟาสซิสต์ในเมืองChemnitz

ในรัฐสภาเยอรมันตอนนี้มี สส. ที่เป็นนาซี และในเมือง Chemnitz เมื่อเดือนที่แล้ว หลังข่าวการแทงกัน มีการอาละวาดของอันธพาลนาซีที่เดินขบวนและทำร้ายคนสีผิวที่อยู่ในเมือง แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกต่อต้านโดยมวลชนที่คัดค้านฟาสซิสต์

Chemnitz-assembly091118
ต้านฟาสซิสต์ที่ Chemnitz

รัฐบาลอิตาลี่ตอนนี้ประกอบไปด้วย “พรรคห้าดาว” และ พรรคLega ซึ่งเป็นพรรคกึ่งฟาสซิสต์ และมีการกีดกันผู้ลี้ภัยที่กำลังจมน้ำในทะเลไม่ให้เข้าประเทศ พร้อมกันนั้นมีการส่งตำรวจไปปรามชาวโรมา (ยิปซี) และข่มขู่คนมุสลิมภายในประเทศ

_101876768_mediaitem101876767
Matteo Salvini ผู้นำพรรคกึ่งฟาสซิสต์ในอิตาลี่

รัฐบาลออสเตรียเป็นรัฐบาลพรรคแนวร่วมที่ประกอบไปด้วยพรรคฟาสซิสต์ (ชื่อพรรคเสรีภาพ!)

ในเดนมาร์ครัฐบาลปัจจุบันอาศัยเสียงสนับสนุนจาก “พรรคประชาชนเดนมาร์ค” ซึ่งเป็นพรรคกึ่งฟาสซิสต์ และผลคือประเทศเดนมาร์คใช้กฏหมายคนเข้าเมืองโหดที่สุดและกีดกันผู้ลี้ภัยอย่างรุนแรง

marine-le-pen-fn-really-may-day-paris
Le Pen ในฝรั่งเศส

ในฝรั่งเศส “พรรคแนวร่วมชาติ” ของ Marine Le Pen ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “รวมตัวกันเพื่อชาติ” เป็นพรรคนาซี และ นางLe Pen ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

jobbik
อันธพาลพรรค Jobbik ในฮังการี่

ในฮังการี่ พรรค Fidesz ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ใช้นโยบายเหยียดมุสลิมและผู้ลี้ภัยอย่างเปิดเผย และในรัฐสภาฮังการี่ยังมี พรรค Jobbik ซึ่งเป็นพรรคฟาสซิสต์อย่างเปิดเผยที่ได้ 19% ของคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

ปัจจัยร่วมที่สำคัญซึ่งนำไปสู่สภาพแบบนี้ของการขึ้นมาของฝ่ายขวาสุดขั้วในยุโรปคือ ผลของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 และการใช้นโยบายเสรีนิยมรัดเข็มขัด ที่กดค่าแรงและทำลายสวัสดิการ ซึ่งนโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยพรรคกระแสหลักทั้งซ้ายและขวา บวกกับการพยายามเบี่ยงเบนประเด็นและสร้างแพะรับบาปในรูปแบบผู้ลี้ภัยหรือคนมุสลิม

ในขณะเดียวกันเราไม่ควรมองข้ามการเพิ่มคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายบางพรรคที่ปฏิเสธนโยบายรัดเข็มขัดและการกีดกันผู้ลี้ภัย เช่นพรรคแรงงานอังกฤษของ Jeremy Corbyn  พรรคของ Jean-Luc Mélenchon ในฝรั่งเศส หรือพรรคซ้ายในเยอรมัน

วิธีที่จะคัดค้านกระแสเหยียดสีผิวและการขึ้นมาของฟาสซิสต์คือ ต้องทำสองอย่างคือ หนึ่งสร้างแนวร่วมต้านการเหยียดสีผิวและฟาสซิสต์ เพื่อออกมาคัดค้านการเคลื่อนไหวของพวกนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการสร้างแนวร่วมแบบนี้ในอังกฤษ เยอรมัน กรีซ และออสเตรีย สอง สร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่คัดค้านนโยบายเสรีนิยมกับการรัดเข็มขัด โดยเฉพาะในหมู่สหภาพแรงงาน

sutr080918_web
แนวร่วมต้านการเหยียดสีผิวในอังกฤษ

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2OcScsD , https://bit.ly/2x7iyWm