สองเหตุผลว่าทำไมไทยควรเป็นสาธารณรัฐ

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านในบล็อกโดยตรง]

ประเทศทั่วโลกที่มีกษัตริย์เป็นประมุข เช่นอังกฤษ สเปน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ หรือไทย ยังคงไว้สถาบันจากอดีตอันนี้เพื่อวัตถุประสงค์สมัยใหม่ วัตถุประสงค์หลักคือเรื่องลัทธิความคิดทางการเมืองที่เน้นว่าลำดับชนชั้นในสังคมเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่เราเปลี่ยนไม่ได้ สถาบันกษัตริย์มีไว้เพื่อกล่อมเกลาให้ประชาชนพึงรู้ว่ามีคนเกิดสูงและเกิดต่ำ คนที่เกิดสูงมีความชอบธรรมในการกอบโกยทรัพย์สินของสังคม และในการมีบทบาทหลักในสังคม ส่วนคนที่เกิดต่ำควรเจียมตัวกับความจนและการที่ถูกกีดกันออกจากการตัดสินใจทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม (ดู https://bit.ly/2On85jD )

วัตถุประสงค์หลักของลัทธิ “สูงต่ำ” อันนี้ไม่ใช่เพื่อเชิดชูกษัตริย์ แต่เพื่อให้ความชอบธรรมกับชนชั้นปกครองในรัฐทุนนิยมสมัยใหม่ คือนายทุน นักการเมืองฝ่ายทุน ผู้บังคับบัญชาทหาร และข้าราชการชั้นสูง

ในประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ ชนชั้นปกครองใช้ลัทธิความคิดอื่นในการให้ความชอบธรรมกับลำดับชนชั้นที่ดำรงอยู่ ในสหรัฐจะมีการเสนอว่าคนชั้นสูงเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษและขยันในการทำงาน ซึ่งถ้าดูพฤติกรรมและความสามารถจริงของพวกผู้นำสหรัฐก็จะเห็นว่าเป็นคำโกหก ในฝรั่งเศสจะมีการอ้างความชอบธรรมจากการปฏิวัติฝรั่งเศสและการอ้างว่าทุกคนเท่าเทียมกันแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่จริง ในจีนก็เช่นกัน มีการอ้างว่าในระบบ “คอมมิวนิสต์” ไม่มีชนชั้น และเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นตัวแทนของกรรมาชีพกับประชาชน ซึ่งไม่จริงอีก ไม่เชื่อก็ลองดูสภาพความเป็นอยู่ของคนงานจีนเมื่อเทียบกับวิถีชีวิตของครอบครัวผู้นำรัฐ

ในรายละเอียด ชนชั้นปกครองอังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส หรือจีน ไม่ได้แตกต่างกันเลย ของไทยก็เช่นกัน ล้วนแต่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์กลุ่มทุนทั้งสิ้น และต้องการที่จะกดขี่ขูดรีดคนธรรมดา

บางคนที่อ้างว่าตัวเอง “ตาสว่าง” แต่ยังติดอยู่ในกับดักความคิดของกะลาแลนด์ จะเถียงว่า “ประเทศไทยไม่เหมือนประเทศในยุโรปหรือที่อื่น” เพื่อพยายามเสนอว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีความ “พิเศษ” ที่ไม่เหมือนของชาติอื่น เพราะ “เรายังมีระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” (ดู https://bit.ly/2QgB0TJ ) คนเหล่านี้ไม่ยอมศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ตามยุคสมัย ผ่านการปฏิวัติของรัชกาลที่๕ สู่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ และที่สำคัญคือพวกนี้ไม่ยอมศึกษาบทบาทและที่มาของสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ในยุโรป พวกนี้จึงมองอะไรแบบผิวเผิน คือพอได้ยินว่ากษัตริย์ไทยแต่งตั้งผู้พิพากษา หรือแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือ “โปรดเกล้า” เรื่องอื่น ก็เชื่อว่ากษัตริย์มีอำนาจ แต่การแต่งตั้งหรือ “โปรดเกล้า” ในเรื่องต่างๆ ก็มีในอังกฤษตามทำเนียม ซึ่งคนไทยแบบนี้จะไม่ยอมมองและเข้าใจ มันเป็นความคิดชาตินิยมในกะลาที่ส่งเสริมโดยฝ่ายเผด็จการและชนชั้นปกครองไทย ที่ชวนให้เราไม่ศึกษาการเมืองทั่วโลกในเชิงเปรียบเทียบ “เพราะประเทศไทยพิเศษ”

การที่ไทยมีกฏหมาย 112 ที่ยังใช้อยู่ในทางปฏิบัติ และการที่มีการมอบคลาน การใช้ราชศัพท์ และการติดภาพหรืออ้างถึงกษัตริย์บ่อยๆ เป็นแค่รายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งไม่เปลี่ยนลักษณะลึกๆ ของสถาบัน ที่เหมือนกับสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ทั่วโลก

ดังนั้นปัญหาใหญ่อันหนึ่งของการมีสถาบันกษัตริย์ในไทย คือการที่ทหาร นักการเมือง และนายทุน ใช้สถาบันนี้เพื่อให้ความชอบธรรมกับอภิสิทธิ์ของตนเอง ในรูปธรรมหมายความว่าทหารทำรัฐประหารแล้วอ้างว่าปกป้องกษัตริย์ได้ หรือมีการอ้างลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสนับสนุกแนวเสรีนิยมกลไกตลาดแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

ลัทธิกษัตริย์ หรือ “ลัทธิสูงต่ำ” ถูกใช้เพื่อพยายามให้ความชอบธรรมกับเผด็จการและความเหลื่อมล้ำ

แต่อย่าหลงเชื่อว่าในยุโรปชนชั้นปกครองชื่นชมประชาธิปไตยมาตลอด ในยามวิกฤตชนชั้นปกครองยุโรปพร้อมจะใช้ระบบเผด็จการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ตนเอง ดูได้จากอดีตในเยอรมัน อิตาลี่ สเปน หรือโปรตุเกส ดูได้จากกรณีการใช้กฏหมายฉุกเฉินในอังกฤษหรือฝรั่งเศส และดูได้จากมาตรการเผด็จการที่อียูใช้กับกรีซเพื่อบังคับให้รัดเข็มขัด หรือที่รัฐสเปนใช้กับชาวคาทาลูเนีย

วชิราลงกรณ์ไม่ได้มีอำนาจสั่งการในระบบการเมืองไทย เพราะถ้าเราพิจารณาปัญหาต่างๆ เช่นเรื่องการสืบทอดอำนาจเผด็จการประยุทธ์ผ่าน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ20 ปี” หรือการทำลายระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาสิทธิสตรี หรือปัญหาสงครามในปาตานีฯลฯ กษัตริย์คนนี้ ซึ่งสอบตกอย่างต่อเนื่องในยุคเรียนหนังสือ ไม่มีความเห็นของตนเองที่ปรากฏออกมา

และก่อนที่ภูมิพลจะเสียชีวิต ภูมิพลหมดสภาพในการสื่อสารหรือทำอะไรเป็นเวลานานพอสมควร แต่ไม่มีผลกระทบอะไรเลยกับระบบการปกครองของเผด็จการไทยแม้แต่นิดเดียว ภูมิพลก็ไม่ได้สั่งการอะไรเช่นกัน (ดู https://bit.ly/2s0KHd4 )

อย่างไรก็ตามมันมีสิ่งที่วชิราลงกรณ์กระตือรือร้นที่จะสนใจ นั้นคือการเสพสุขของตนเองบนพื้นฐานความร่ำรวยมหาศาล มันคือสาเหตุที่เขาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้สามารถเสพสุขที่เยอรมันโดยไม่มีคนอื่นแต่งตั้งใครมาดำรงตำแหน่งเขาแทนได้ หรือการที่วชิราลงกรณ์รวบความเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ของสถาบัน มาเป็นของตนเองคนเดียว หรือการที่สั่งย้ายสวนสัตว์เขาดิน เพื่อเพิ่มกำไรจากการครองที่ดิน มันเกี่ยวกับความโลภที่จะเสพสุข และเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัวเขาอย่างเดียว มันไม่เกียงกับการบริหารสังคมหรือการเมือง (ดู https://bit.ly/2IwdWxP )

ซึ่งเรื่องนี้พาเราไปสู่การพิจารณาสาเหตุที่สองที่เราควรมีระบบสาธารณรัฐ นั้นคือการที่สถาบันกษัตริย์เป็นปรสิตที่ดูดทรัพย์ของสังคมเข้ากระเป๋าตนเอง มันเป็นปัญหาในประเทศทั่วโลกที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และในไทยถ้าเทียบทรัพย์สินของกษัตริย์กับความเป็นอยู่ของประชาชนธรรมดา มันเป็นเรื่องร้ายแรง

ถ้าเรายกเลิกสถาบันกษัตริย์ และบังคับให้คนอย่างวชิราลงกรณ์ต้องทำงานเลี้ยงชีพตนเองเหมือนคนธรรมดา เราจะสามารถใช้ทรัพยากรมหาศาลในการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ได้ เราสามารถพัฒนาระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข และสร้างรัฐสวัสดิการได้

พูดง่ายๆ ระบบกษัตริย์ทำให้พวกสมาชิกราชวงศ์กลายเป็นคนขี้เกียจหลังยาวแบมือกอบโกย “สวัสดิการ” มหาศาลจากรัฐ โดยไม่ทำงานตลอดชีพ

ดังนั้นสองเหตุผลหลักที่เราควรมีระบบสาธารณรัฐคือ (1)มันสร้างลัทธิที่ส่งเสริมให้มีการให้ความชอบธรรมกับระบบชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ และการกีดกันสิทธิเสรีภาพเต็มที่ของพลเมืองธรรมดา และ (2)มันสิ้นเปลืองทรัพยากรของสังคมที่ควรจะนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่