พรรคการเมืองกับสิทธิทางเพศ

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้มีสหายท่านหนึ่งตั้งคำถามในโซเชียลมีเดียว่าทำไมพรรคการเมืองไทยไม่ค่อยสนใจประเด็นสิทธิทางเพศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน และสิทธิของคนข้ามเพศ

หลายคนเมื่อพูดถึงคนที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน หรือคนข้ามเพศ  มักจะพูดในทำนองทีตลกขบขัน  หรือมองว่าเป็นคนที่ผิดจากมนุษย์ธรรมดา แต่สำหรับนักสังคมนิยม เราตั้งคำถามว่า “เกย์  ทอม ดี้ กะเทย เป็นมนุษย์เพี้ยน หรือ ระบบมันเพี้ยน?” และเราตอบเองว่าปัญหาอยู่ที่ระบบทุนนิยมและชนชั้น เพราะระบบปัจจุบันเน้นครอบครัวจารีตแบบผัวเมียพ่อแม่ ซึ่งแนวคิดนี้กีดกันสิทธิทางเพศของคนรักเพศเดียวกัน ของคนข้ามเพศ และของสตรี ผู้มีอำนาจในระบบทุนนิยมพยายามสร้างให้สังคมมีเพียงสองเพศเท่านั้น  เพศอื่น ๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคม  ถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติเป็นเรื่องแปลกประหลาด  ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเลย  สังคมไทยและสังคมเอเซียแถบนี้มีคน “เพศที่สาม” มาพันๆ ปี สังคมตะวันตกก็เช่นกัน

เหตุผลที่มีแนวคิดครอบครัวจารีตคือ มันเกี่ยวข้องกับการผลิตมนุษย์รุ่นต่อไป  มันเกี่ยวกับความต้องการแรงงานรุ่นต่อไปแบบราคาถูก คือยกให้เป็นเรื่องภาระปัจเจกในการเลี้ยงเด็กของสังคม โดยผู้หญิงต้องรับภาระนี้เป็นหลัก

แต่เมื่อทุนนิยมพัฒนามากขึ้นและดึงผู้หญิงเข้าไปในสถานที่ทำงานมากขึ้น เพราะขาดแคลนกำลังงาน ผู้หญิงเหล่านั้นมั่นใจที่จะพึ่งตนเอง และมั่นใจมากขึ้นที่จะรวมตัวกับผู้หญิงคนอื่นในการเรียกร้องสิทธิ การเรียกร้องสิทธิของมวลชนในรูปแบบนี้ให้กำลังใจกับ เกย์ ทอม ดี้ กะเทย คนผิวดำ และคนที่ถูกกดขี่อื่นๆ เพื่อที่จะลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิของตนเองด้วย เราเห็นปรากฏการณ์นี้ทั่วโลก และในสังคมไทยด้วย

นี่คือสาเหตุที่ชนชั้นปกครองเริ่มยอมในเรื่องสิทธิทางเพศบางส่วน แต่พยายามปกป้องครอบครัวจารีตในเวลาเดียวกัน

บ่อยครั้งการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะขึ้นๆ ลงๆ ตามกระแสสากล สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือพรรคการเมืองที่ปลุกระดมคนในสังคมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมจะอธิบายว่าทำไมเราต้องสู้เพื่อสิทธิต่างๆ พร้อมจะอธิบายว่าจะสู้อย่างไร และพร้อมจะเถียงกับคนที่เห็นต่างเสมอ

แต่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในไทย ทั้งพรรคเก่าและใหม่ ไม่ทำในสิ่งนี้ บางพรรคอาจพูดในนามธรรมว่าทุกคนควรมีสิทธิทางเพศ พูดถึงความเสมอภาค และบางพรรค เช่นพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคเพื่อชาติ พูดว่าควรแก้กฏหมาย แต่บ่อยครั้งมีการพูดแบบคลุมเครือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อนในสังคม” ซึ่งคงเป็นแนวทางสู่การประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่สำคัญคือพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่กล้ารณรงค์เรื่องนี้อย่างชัดเจนหรือปลุกระดมมวลชนให้เปลี่ยนความคิด เพราะภายในพรรคยังไม่เป็นเอกภาพเรื่องนี้ และกลัวว่าจะเสียคะแนนเสียงจากประชาชนในวันเลือกตั้ง พรรคส่วนใหญ่จึงเดินตามกระแสที่มีอยู่ในสังคมซึ่งได้รับอิทธิพลจากความคิดจารีตนิยม [ดูข่าวประชาไท https://bit.ly/2DYsbuU ]

_104244121_23143247613_a12de7eb1b_h
ภาพโดย WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ถ้าจะพูดกันถึงรูปธรรม มันมีหลายเรื่องที่ถกกันในสังคมไทยตอนนี้ เช่นร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ตกค้างมาจากยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ นักกิจกรรมหลายคนต้องการเห็นการผ่าน พ.ร.บ.นี้ เพราะจะเปิดโอกาสให้คนรักเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็น “คู่ชีวิต” ได้ แต่มีนักเคลื่อนไหวและนักวิจัยอีกหลายคน เช่นชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ที่ชี้ว่า พ.ร.บ. นี้ให้สิทธิกับคนรักเพศเดียวกันน้อยกว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างชายกับหญิง เช่นสิทธิที่จะร่วมกันเลี้ยงลูกที่มาจากวิธีการต่างๆ  สิทธิที่จะลดภาษี สิทธิในสวัสดิการสังคม สิทธิที่จะใช้นามสกุลร่วมกัน ฯลฯ [ดู https://bbc.in/2P5xn1T ]

ส่วน ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เสนอว่าควรแก้กฎหมายสมรส ให้เปลี่ยนคำจาก “ชาย-หญิง” เป็นการจดทะเบียนระหว่าง “บุคคล” ก็น่าจะทำให้สิทธิเท่าเทียมกันมากขึ้น

tumblr_inline_o9agfteDw41tgknjf_1280.png.cf

และสำหรับสิทธิของคนข้ามเพศ (“กะเทย”) หรือคนที่ไม่อยากจำกัดตัวเองว่าเป็นเพศอะไร คณาสิต พ่วงอำไพ นักกิจกรรมภาคี “นอนไบนารี” (ไม่มีแค่สองเพศ) อธิบายว่าร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่ให้อะไรกับคนเหล่านี้

ในประเทศตะวันตกเริ่มมีการต่อสู้ของคนข้ามเพศ เพื่อให้มีสิทธิเลือกเพศที่ตนเองต้องการในเอกสารทางการ เพื่อให้มีสิทธิ์เลือกเข้าห้องน้ำตามเพศที่ตัวเองเลือก และสำหรับคนที่ต้องติดคุกก็เพื่อที่จะเลือกอยู่คุกตามเพศที่ตนเลือกเช่นกัน แต่เป็นที่น่าสลดใจที่พวกสิทธิสตรีคับแคบล้าหลังบางคน ไม่พอใจกับการเรียกร้องสิทธิของคนข้ามเพศ เพราะอ้างว่ามันจะทำให้ความเป็นผู้หญิงหมดความหมาย

ที่แน่นอนก็คือในไทย ยังไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ชูประเด็นนี้และพร้อมจะต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศอย่างถ้วนหน้า ซึ่งนอกจากสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนไม่เลือกเพศแล้ว ยังต้องรวมถึงสิทธิทำแท้งเสรีสำหรับสตรีอีกด้วย

42864387_1048457538658557_5369240746756931584_n

เราชาวสังคมนิยมมองว่า ไม่ว่ามนุษย์ในสังคมจะเลือกเป็นเพศอะไร หรือเลือกที่จะรักเพศอะไร อย่างไร นับเป็นสิทธิที่ชอบธรรมอันดับแรกที่สามารถเลือกได้  และพวกเราที่ต้องการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมจะต้องสนับสนุนสิทธิดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไข ตราบใดที่คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ หรือสตรี ไม่มีสิทธิเต็มตัว สังคมเราไม่มีวันมีประชาธิปไตยและเสรีภาพสมบูรณ์ นี่คืออีกสาเหตุหนึ่งที่เราควรมีพรรคสังคมนิยม

 

วิเคราะห์ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส เป็นขบวนการที่ดูเหมือนระเบิดขึ้นอย่างกระทันหันจนสามารถท้าทายการปกครองของประธานาธิบดีมาครง

มีนักวิเคราหะบางคน รวมถึงอดีตผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งจากยุค 1968 ที่มองว่าขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองเป็นขบวนการของชาวชนบทที่มี่นำโดยพรรคฟาซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน

แต่พวกที่มองแบบนี้เป็นคนที่มองอะไรแบบตื้นเขิน ไม่ติดดิน และไม่ทันกับสถานการณ์โลกจริง เพราะขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองซับซ้อนกว่านั้นมากและกลายเป็นขบวนการทางชนชั้นที่เอียงไปทางซ้าย

ในตะวันตกพอมาครงชนะการเลือกตั้งในปี2017 พวกเสรีนิยมทั้งหลายพากันตื่นเต้นและเชียร์เขาสุดขีด หลายคนมองว่าเขาคือความหวังใหม่และจะปฏิรูปฝรั่งเศสและยุโรปให้ทันสมัย

macron-1

ในไทยตอนที่มาครงเข้ามาใหม่ๆ นสพ ไทยรัฐ เขียนชมไว้ว่า “หลายคนเห็นหน้าประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใหม่แล้ว กรี๊ดกร๊าดในความหล่อ ทั้งยังฉลาด รู้สึกหลงรักอย่างบอกไม่ถูก” ส่วน MThaiNews ก็มีบทความ “เปิดประวัติ ‘มาครง’ ผู้นำหล่อคนใหม่แห่งเมืองน้ำหอม”

ยิ่งกว่านั้น ความ “หน้าใหม่หน้าหล่อ” ของมาครงทำให้สำนักข่าวรอยเตอร์สเสนอว่าบางคนเปรียบเทียบเขากับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สื่อไทยชื่อ The Momentum ก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน [ดู https://bit.ly/2G3SQIP และ https://bit.ly/2S3MSto ] แต่ที่สำคัญคือธนาธรเองไม่เคยเปรียบเทียบตัวเองกับมาครง

1920px-Manif_fonctionnaires_Paris_contre_les_ordonnances_Macron_(37572386626)

อย่างไรก็ตามตั้งแต่มาครงขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2017 ก็มีการประท้วงอย่างต่อเนื่องที่ต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของเขา โดยแนวร่วมสหภาพแรงงานเป็นแกนหลัก สาเหตุคือความพยายามของมาครงที่จะทำลายสิทธิแรงงานเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน อีกสาเหตุหนึ่งคือการพยายามนำรัฐวิสาหกิจในภาคขนส่งออกขายให้เอกชน

นอกจากนี้ในไม่นานมาครงได้ชื่อว่าเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย” เพราะลดภาษีให้คนรวยทันที และใช้เงินรัฐเพื่อการเสพสุขของตนเอง เช่นซื้อของใช้ราคาแพงสำหรับบ้านพักประธานาธิบดี และเขายังผลักดันนโยบายรัดเข็มขัดที่ทุกรัฐบาลในอียูทำกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อคนจนมาก

mka05lnsc5d123536

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองเกิดขึ้นจากการประท้วงนโยบายของมาครงที่ประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน โดยที่มาครงใช้ข้ออ้างเท็จว่าจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ในความจริงมันมีผลกระทบกับคนจนและคนชั้นกลางมากกว่า ในช่วงแรกพรรคฟาซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน พยายามจะฉวยโอกาสด้วยการสนับสนุน แต่เมื่อขบวนการเริ่มชูประเด็นของชนชั้นกรรมาชีพ เช่นข้อเรียกร้องให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และให้เก็บภาษีเพิ่มจากคนรวย เลอ แปน ก็ถอยออกไป ในไม่ช้าขบวนการนักศึกษาก็มาร่วมโดยนำข้อเรียกร้องของตนเองเกี่ยวกับการเก็บค่าเล่าเรียนและการกีดกันนักศึกษาจำนวนมากออกจากระบบมหาวิทยาลัย สหภาพแรงงานก็มาสนับสนุนและประกาศนัดหยุดงานด้วย แต่แกนนำสหภาพระดับชาติยังสองจิตสองใจอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่ดุเดือดมากขึ้น ประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศและเรื่องสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนผิวดำก็ถูกชูขึ้นอีกด้วย และเวลาเกิดการทำลายทรัพย์สิน มักจะเป็นร้านค้าและรถยนต์ของเศรษฐีคนรวยที่ถูกเผา แต่ความรุนแรงส่วนใหญ่มากจากตำรวจของรัฐที่พยายามปราบผู้ประท้วงที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง

กลุ่มล่าสุดที่เข้ามามีส่วนร่วมคือกลุ่มคนพิการที่ไม่พอใจกับกฏหมายของรัฐบาลที่ลดมาตรฐานในการสร้างบ้านใหม่ นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานที่ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกลงในหนังสือพิมพ์เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำแรงงานออกมาประสานการนัดหยุดงาน

yellow-vests-demonstration-in-paris

นักมาร์คซิสต์จะมองว่าขบวนการมวลชนที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยการถกเถียงเสมอ และเป็นพื้นที่สำหรับการช่วงชิงการนำโดยพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายซ้ายปฏิวัติ ฝ่ายซ้ายปฏิรูป และฝ่ายขวารวมถึงฟาสซิสต์ด้วย ตอนนี้ดูเหมือนฝ่ายซ้ายสามารถชิงการนำได้ [ดูhttps://bit.ly/2cvlmCk ]

นอกจากนี้นักมาร์คซิสต์จะมองว่าถ้าจะเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคใดยุคหนึ่ง ต้องดูบริบททางประวัติศาสตร์ คือดูว่าการต่อสู้ก่อนหน้านั้นมีหน้าตาอย่างไร มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ การต่อต้านมาครงระเบิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปี 2008 นำไปสู่นโยบายรัดเข็มขัดอย่างรุนแรงในทุกประเทศของยุโรปและหลายประเทศของลาตินอเมริกา มันทำให้คนจนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และความเดือดร้อนดังกล่าวนำไปสู่ความโกรธแค้นที่สะสมในหัวใจคนจำนวนมาก มันแค่รอวันที่จะแสดงตัวเท่านั้น มันอธิบายได้ว่าทำไปประชาชนอังกฤษจึงลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียูซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตรุนแรงสำหรับชนชั้นปกครอง มันอธิบายได้ว่าทำไมประชาชนใน บราซิล เยอรมัน อิตาลี่ ฯลฯ เบื่อหน่ายกับพรรคกระแสหลัก และมันอธิบายความโกรธแค้นอย่างรุนแรงของ “ผู้ที่ถูกลืม” ในฝรั่งเศส

c318c5c05db8a043348e993cf24f8214_w982_h543
นักสหภาพแรงงานร่วมประท้วงกับเสื้อกั๊กเหลือง

ทุกวันนี้ชนชั้นปกครองในประเทศต่างๆ ของยุโรป เกรงกลัวว่าเสื้อกั๊กเหลืองจะลามจากฝรั่งเศสไปสู่ประเทศของตนเอง เหมือนกับคลื่นประท้วงอาหรับสปริงเมื่อไม่นานมานี้

ชัยชนะของขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส ที่จะล้มมาครงและเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาล จะขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงมวลชนกับพลังของชนชั้นกรรมาชีพและนักศึกษา แต่ถ้าผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติพยายามจะประนีประนอมมันก็จะไม่ไปถึงจุดนั้น อย่างไรก็ตามกรณีเสื้อกั๊กเหลืองแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพและคนจนมีผลสำคัญในการผลักพวกฟาซิสต์ออกจากเวทีการเมืองของมวลชน และมันมีผลทำให้รัฐบาลมาครงหมดความชอบธรรม

นโยบายที่น่าขายหน้าของรัฐบาลไทยต่อผู้ลี้ภัยและคนงานข้ามพรมแดน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในขณะที่ผู้รักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกกำลังแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของรัฐบาลสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ลี้ภัยจากลาตินอเมริกาที่ต้องการเข้าไปในสหรัฐ และนโยบายของสหภาพอียู ที่มีการปล่อยให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องการเดินทางเข้าสู่ยุโรปจมน้ำตายเป็นพันๆ คนในทะเลสืบเนื่องจากนโยบายเหยียดเชื้อชาติสีผิวของอียู เราควรจะมาพิจารณาประวัติอันน่าอับอายขายหน้าของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ด้วย

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาองค์การนิรโทษกรรมสากล ได้รายงานว่ารัฐบาลเผด็จการไทยมีการละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่อง เช่นการจับคุมผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและเขมรเกือบสองร้อยคน ซึ่งรวมถึงเด็กและหญิงตั้งครรภ์ โดยที่หลายคนถือบัตรผู้ลี้ภัยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ มีการแยกเด็กออกจากพ่อแม่ หลายคนถูกส่งไปศาลแล้วโดนจำคุก บางคนถูกส่งไปที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองซอยสวนพลู ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นที่กักกันที่แออัดและไร้มาตรฐานมนุษยธรรมโดยสิ้นเชิง

Bangkok-detention-center-300x225

ปัญหาใหญ่มาจากการที่รัฐบาลไทย ทุกรัฐบาล ไม่ยอมเซ็นรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951และพิธีสารปี 1967 ดังนั้นผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในไทยถูกปฏิบัติเหมือนกับว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฏหมาย เหมือนเป็นอาชญากร และมีหลายกรณีที่รัฐบาลไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปสู่คุกและการถูกทำร้ายในประเทศเดิม เช่นตุรกี เขมร และจีน

uyghur-detention-march2014

เมื่อสามปีที่แล้วรัฐบาลไทยส่งผู้ลี้ภัยอุยกูร์หนึ่งร้อยคนกลับประเทศจีน ทั้งๆ ที่เขาต้องการไปอยู่ตุรกีเพื่อหนีความรุนแรงและการกดขี่ของรัฐบาลจีน ซึ่งทำให้ชาวอุยกูร์ในตุรกีแสดงความไม่พอใจไทยด้วยการประท้วงทุบกระจกสถานกลสุลไทย

ล่าสุดคือกรณีของ ฮาคีม อัล อาไรบี และ รวต รุทมนี

សហជីព-1
รวต รุทมนี

รวต รุทมนี ถูกออกหมายจับโดยรัฐบาลเผด็จการของเขมรเพราะมีส่วนในการทำรายการสารคดีที่เปิดโปงการค้ามนุษย์ในเขมร เขาถูกจับโดยตำรวจไทยขณะที่กำลังขอลี้ภัยในสำนักงานวิซาของฮอลแลนด์ หลังจากนั้นเขาถูกส่งกลับเขมร

07bahrain-thailand-jumbo
ฮาคีม อัล อาไรบี

ฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรนที่มีสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย ถูกควบคุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหลังจากที่เขาเดินทางจากออสเตรเลียมาเที่ยวที่ไทยพร้อมกับภรรยา ทั้งๆ ที่ไทยไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับบาห์เรน แต่เผด็จการทหารไทยขู่ว่าจะส่งกลับบาห์เรน ถ้าเป็นเช่นนั้นเขาจะถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม หรือซ้อมทรมาน เพราะบาห์เรนเป็นเผด็จการโหด กรณีนี้ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากสื่อต่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร

ROHINGYA-MT-7-622x414-e1423819114649

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ที่พยายามเข้ามาทางเรือก็โดนทหารและกรมน.ผลักออกไปสู่ทะเลอย่างป่าเถื่อน

2012_Thailand_burmarefugees

ส่วนผู้ลี้ภัยจากสงครามและความรุนแรงของทหารพม่าส่งผลให้คนเป็นแสนเดินข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย แต่คนที่อยู่ต่อได้ถูกรัฐบาลไทยกักไว้ในค่ายผู้ลี้ภัยแถบชายแดน โดยที่ไม่มีสิทธิที่จะออกจากค่าย รัฐบาลไม่มีการบริการสาธารณสุข ไม่มีการให้การศึกษากับเด็ก และมีการห้ามไม่ให้ทำงานเลี้ยงชีพ คนที่แอบไปทำงานก็โดนนายจ้างและตำรวจเอาเปรียบเพราะเป็นแรงงาน “ผิดกฏหมาย”

แต่ชาวสังคมนิยมถือว่าผู้ลี้ภัยทุกคนเป็นมนุษย์ เราปฏิเสธคำจำกัดความที่ตราหน้าเพื่อนมนุษย์ว่าผิดกฏหมาย และเราจะไม่ยอมให้พวกชนชั้นปกครองชาตินิยมแบ่งแยกคนธรรมดาตามสีผิวหรือเชื้อชาติ การพูดว่าผู้ลี้ภัยเป็น “ภาระ” กับประเทศไม่เป็นความจริง เพราะถ้าเขาสามารถทำงาน เขาจะร่วมพัฒนาสังคมของเรา การพูดว่าเขาจะมา “แย่งงานคนไทย” ก็ไม่จริงอีกเพราะเขาพร้อมจะทำงานที่คนไทยไม่อยากทำ และเมื่ออายุของประชากรเพิ่มขึ้นสังคมเราก็จะขาดแรงงาน คำพูดแบบนี้ล้วนแต่เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาของระบบทุนนิยม โดยชนชั้นปกครอง เพื่อให้เรามองไม่เห็นการเอารัดเอาเปรียบและการกอบโกยกำไรของชนชั้นนายทุน สังคมเราไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากร เพียงแต่ว่ามันไปกระจุกอยู่ในมือของคนชั้นสูง 5% ของสังคม และถูกใช้ในทางที่ผิด เช่นใช้ซื้ออาวุธให้ทหารที่ฆ่าประชาชนและทำลายประชาธิปไตย หรือถูกใช้เพื่อให้คนชั้นสูงเสพสุขมหาศาลเป็นต้น นี่คือสาเหตุที่เราปฏิเสธการกดขี่เอารัดเอาเปรียบพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในไทยด้วย และเป็นสาเหตุที่เราปฏิเสธลัทธิชาตินิยมและการเคารพธงชาติอีกด้วย เราเคารพเพื่อนมนุษย์และพลเมืองในสังคมเราแทน

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ในยุคนี้กำลังกระตือรือร้นที่จะหาเสียง ไม่ยอมให้ความสำคัญกับเรื่องแบบนี้ จริงอยู่พรรคอนาคตใหม่เคยเสนอว่าจะต้องไม่ผลักชาวโรฮิงญากลับสู่ทะเลและต้อง “ดูแล” แต่เมื่อมีพวกหัวอนุรักษ์นิยมรุมด่า ก็ไม่กล้าที่จะถกเถียงกับความคิดเหยียดเชื้อชาติแบบนี้ ได้แต่เงียบไปหรือพยายามปรับนโยบายคล้อยตามพวกล้าหลัง และที่สำคัญไม่มีการประกาศว่าจะเซ็นรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 และพิธีสารปี 1967 และไม่มีการเสนอว่าต้องรื้อถอนนโยบายแย่ๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ในเรื่องแรงงานข้ามชาติก็มีแต่การพูดว่าจะให้สิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย แต่นั้นก็เฉพาะคนที่เข้ามาอย่าง “ถูกกฏหมาย” และแรงงานไทยเองก็ขาดสิทธิเสรีภาพในหลายเรื่อง

พรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่ ที่พยายามเล่นการเมืองในระบบเลือกตั้งของเผด็จการทหารไทย ไม่ให้ความสำคัญกับการปลุกระดมคนให้เปลี่ยนความคิด ไม่สนใจที่จะเปลี่ยนกระแสในสังคม เพราะสนใจแต่การตามกระแส สนใจแค่เสียงสนับสนุนซึ่งรวมไปถึงเสียงของคนที่มีความคิดล้าหลัง การไม่พูดถึงกฏหมาย 112 ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของพฤติกรรมแบบนี้

พรรคกรรมาชีพ

นี่คือสาเหตุที่เราจำเป็นต้องมีพรรคสังคมนิยม ที่เน้นการเคลื่อนไหวและการปลุกระดมคนให้เปลี่ยนความคิด เช่นให้เลิกบูชาคนข้างบน เลิกคลั่งชาติ หรือเลิกความคิดอคติต่อสิทธิทางเพศเป็นต้น โดยที่เราจะต้องไม่ยอมจำนนต่อการเมืองรัฐสภาในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

บราซิล เมื่อฝ่ายซ้ายหักหลังคนจน ฝ่ายขวามักฉวยโอกาส

ใจ อึ๊งภากรณ์

ชัยชนะของ ชาอีร์ โบลโซนาโร นักการเมืองขวาจัดในประเทศบราซิล สร้างภัยให้กับนักประชาธิปไตย ฝ่ายซ้าย และประชาชนทั่วโลก

ภัยหลักสำหรับชาวโลกที่มาจากผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนก่อนคือ จะช่วยเสริมกระแสฝ่ายขวาสุดขั้วในประเทศอื่นๆ และจะมีผลต่อปัญหาโลกร้อน

โบลโซนาโร เป็นนักการเมืองที่เหยียดสตรี เหยียดสีผิว เกลียดชังนักสหภาพแรงงานกับฝ่ายซ้าย ส่งเสริมนโยบายกลไกตลากเสรีสุดขั้ว และพร้อมจะใช้มาตรการเผด็จการที่รุนแรงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและคนรวย

bolsonaro-nao-nunca-jamais-logo-FFE4B3BC5C-seeklogo.com

ในเรื่องปัญหาโลก โบลโซนาโร พร้อมจะทำลายป่าอเมซอนเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเกษตรโดยเฉพาะกิจกรรมผลิตเนื้อวัว และทุนเหมืองแร่ โดยที่มองว่าชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่าต้อง “ปรับตัว” หรือตาย และการที่ป่าอเมซอนคือ “ปอดของโลก” ที่ช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออคไซด์ออกจากบรรยากาศ แปลว่าการทำลายป่านี้จะมีผลต่อประชากรทั้งโลกอีกด้วย

โบลโซนาโร เป็นนักการเมืองต่ำช้าที่เกลียดทุกอย่างที่ก้าวหน้า นอกจากการเกลียดชังสิทธิทางเพศทุกชนิด และการข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงกับฝ่ายค้านแล้ว โบลโซนาโร ซึ่งเป็นอดีตนายทหาร มองว่าควรหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคเผด็จการทหารในอดีต เขามองว่าในยุคนั้นเผด็จการทหารไม่รุนแรงเพียงพอ

ระหว่างค.ศ. 1964 ถึง 1985 บราซิลตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร โดยที่รัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากสลิ่มชนชั้นกลาง กลุ่มทุน และพวกเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ไปลงคะแนนให้โบลโซนาโร ในยุคเผด็จการทหารมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ มีการปราบปรามพรรคการเมืองทุกพรรค ปราบปรามสหภาพแรงงาน และจับแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ทุกคนมาฆ่าทิ้ง

แต่หลังจากที่ทหารยึดอำนาจมาได้แค่ 6 ปีกว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตยเริ่มก่อตัวจากขบวนการนักศึกษา นักสหภาพแรงงาน และฝ่ายซ้าย สิ่งที่กระตุ้นการเติบโตของขบวนการนี้คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิทธิมนุษยชน การเหยียดสีผิว การคอร์รับชั่น และความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจโดยรัฐบาลทหาร

ในปี 1978 คนงานในโรงเหล็กและในโรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองเซาเปาโล ตัดสินใจนัดหยุดงานผิดกฏหมายจนได้รับชัยชนะ ผู้นำสำคัญของสหภาพแรงงานนี้คือ “ลูลา” และชัยชนะครั้งนี้นำไปสู่การก่อตั้งพรรคแรงงาน (PT) ในปี 1980 โดยที่พรรคนี้ประกอบไปด้วยนักสหภาพแรงงาน นักศึกษา และฝ่ายซ้ายกลุ่มต่างๆ ที่เคยทำการต่อสู้ทั้งใต้ดินและเปิดเผย พรรคนี้เป็นพรรคอิสระของชนชั้นกรรมาชีพและภายในเวลาสิบปีมีสมาชิก 8 แสนคน ในเวลาเดียวกันพรรคแรงงานนี้สามารถดึงสภาแรงงาน CUT และองค์กรเกษตรกร MST มาเป็นแนวร่วมที่สำคัญ

ระหว่าง 1979 ถึง 1985 บราซิลค่อยๆ ปฏิรูปกลับมาเป็นประชาธิปไตยภายใต้แรงกดดันจากขบวนการมวลชนและการนัดหยุดงาน ในปี 1988 มีการนำรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ที่เพิ่มสิทธิเสรีภาพและกล่าวถึงรัฐสวัสดิการ

ลูลา ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคแรงงานสามครั้งในปี 1989 1994 และ 1998 แต่ไม่ชนะเพราะกระแสของฝ่ายขวาและกลุ่มทุนมีอิทธิพลสูง ความไม่สำเร็จในการเลือกตั้งตอนนั้น ประกอบกับการล่มสลายของระบบเผด็จการสตาลินในรัสเซียกับยุโรปตะวันออก ทำให้แกนนำพรรคแรงงานขยับไปทางขวา มีการเขี่ยนักสังคมนิยมออกจากตำแหน่งที่มีอิทธิพล และ ลูลา เลิกแต่งตัวเหมือนคนธรรมดาและหันมาใส่เสื้อสูทราคาแพง พร้อมกันนั้นมีการสร้างแนวร่วมกับพรรคน้ำเน่าเพื่อขยายอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งเป็นอาการของการละทิ้งการเคลื่อนไหวและอุดมการณ์ เพื่อให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งอย่างเดียว

lulada
ลูลา

ในปี 2002 ลูลา ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีสองสมัย ในรอบแรกแนวร่วมของพรรคแรงงานเป็นแนวร่วมนรกที่ประกอบไปด้วยนายทุน เจ้าของที่ดินฝ่ายขวา คนจนในเมือง นักสหภาพแรงงาน กับชนชั้นกลาง และรัฐบาลพรรคแรงงานทั้งสองสมัยภายใต้ ลูลา ใช้นโยบายเศรษฐกิจกลไกตลาดเสรีเหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ ดังนั้นมีการตัดเงินบำเหน็จบำนาญ เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ตัดภาษีให้กลุ่มทุน และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแค่เล็กน้อย นโยบายดังกล่าวได้รับคำชมจากองค์กรไอเอ็มเอฟ

ผลของนโยบายรัฐบาลพรรคแรงงานคือทำให้กรรมาชีพในสหภาพแรงงานเริ่มเบื่อหน่ายกับพรรค และพร้อมกันนั้นมีการสลายการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของสมาชิกพรรคกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่ในขณะเดียวกันมีการนำโครงการช่วยคนจนในเมืองมาใช้ เพื่อสร้างฐานเสียง เงินที่ใช้ในการช่วยคนจนมาจากกำไรจากการส่งออกวัตถุดิบที่เริ่มบูมเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ในขณะเดียวกันยังใช้แนวเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดต่อไป

Luiz Inacio Lula da Silva, Dilma Rousseff
ลูลากับเดลมา รุสเซฟ

ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤตและราคาส่งออกของวัตถุดิบดิ่งลงเหวในยุคของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ จากพรรคแรงงาน มีการตัดโครงการต่างๆ ที่เคยช่วยคนจน และเกิดเรื่องอื้อฉาวคอร์รับชั่นต่างๆ ที่เกี่ยวกับพรรคแรงงาน มันนำไปสู่ “รัฐประหารโดยวุฒิสภาและตุลาการ” ที่ล้มรัฐบาล เดลมา รุสเซฟ ในปี 2016 และนักการเมืองฝ่ายขวาก็เข้ามาเป็นประธานาธิบดีชั่วคราวจนถึงวันเลือกตั้งที่พึ่งผ่านมา

สาเหตุที่คนอย่าง โบลโซนาโร ชนะการเลือกตั้งก็เพราะพรรคแรงงานทำลายฐานเสียงตัวเองในสหภาพแรงงานและในหมู่คนจนในเมือง โดยการใช้นโยบายที่หักหลังและละทิ้งคนธรรมดา พร้อมกันนั้นการคอร์รับชั่นก็ทำให้คนชั้นกลางเกลียดชังพรรค

manifestação-ele-não-joinville-800x445

โบลโซนาโร เป็นภัยต่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ เพราะเขากำลังวางแผนใช้ทหารและตำรวจเพื่อสร้างรัฐบาลที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงกับคนที่เห็นต่าง แต่ขบวนการสหภาพแรงงาน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศ ขบวนการนักศึกษา และขบวนการเกษตรกร ยังไม่ได้ถูกทำลาย และถ้าเรียนบทเรียนจากการล้มเผด็จการทหารรอบก่อน ก็จะสามารถเอาชนะ โบลโซนาโร ด้วยการต่อสู้นอกรัฐสภาได้

อ่านเพิ่ม เรื่องบราซิลกับลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

พรรคของชนชั้นกรรมาชีพ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ลีออน ตรอทสกี นักมาร์คซิสต์รัสเซีย เคยเขียนว่า “ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่จะเป็นผู้ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทุนนิยม จนได้รับชัยชนะ… และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อชนชั้นกรรมาชีพเข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเองอย่างชัดเจน สร้างพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพเอง และไม่หลงเชื่อคำแนะนำจากพวกนายทุนน้อยประชาธิปไตยสองหน้าที่เสนอว่ากรรมาชีพไม่ต้องมีพรรคของตนเอง”

ทุกวันนี้มีคนไม่น้อยในไทย ทั้งอดีตฝ่ายซ้ายและอดีตนักเคลื่อนไหวแรงงาน ที่เถียงหน้าดำหน้าแดงว่ากรรมาชีพไทย “ไม่สามารถสร้างพรรคของตนเองได้” ต้องพึ่งนายทุนและชนชั้นกลางตลอดไป เหมือนเด็กที่ต้องพึ่งพี่เลี้ยงและไม่มีวันโต เรื่องนี้มีการถกเถียงกันเมื่อผมเสนอว่านักเคลื่อนไหวในขบวนการแรงงานควรสร้างพรรคของตนเองแทนที่จะพึ่งพรรคอนาคตใหม่

แรงงานกับอนาคตใหม่

บางคนอ้างว่ากรรมาชีพไม่สามารถสร้างพรรคของตนเองได้เพราะกรรมาชีพเปลี่ยนไปเป็นคนส่วนน้อยของสังคมไปแล้ว ซึ่งสะท้อนสองสิ่งเกี่ยวกับคนที่มีความคิดแบบนี้คือ ไม่เข้าใจว่ากรรมาชีพคือใคร และไม่ติดตามข้อมูลจริงในโลกปัจจุบัน

ชนชั้นกรรมาชีพในนิยามเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ คือลูกจ้าง หรือคนที่ไม่มีปัจจัยการผลิตของตนเองและต้องไปทำงานให้กับคนอื่น ซึ่งนักมาร์คซิสต์เข้าใจดีว่าระบบทุนนิยมและกรรมาชีพมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกรรมาชีพในโลกสมัยใหม่ประกอบไปด้วยคนงานโรงงาน คนที่ทำงานในภาคบริการ เช่นการขนส่ง ห้างร้านค้า กิจการธนาคารกับไฟแนนส์ และในโรงเรียน มหาวิทยาลัย กับ โรงพยาบาล มันรวมกรรมาชีพที่ใส่ชุดทำงานของโรงงาน และกรรมาชีพที่แต่งตัวเพื่อเข้าไปทำงานในออฟฟิส และถ้าเรานับปริมาณประชาชนในไทยหรือในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะเห็นว่ากรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนตลอดเวลา

เรื่องนี้ไม่น่าแปลกเลย เพราะทุนนิยมดำเนินการไม่ได้ถ้าขาดกำไร และกำไรดังกล่าวมาจากการทำงานของกรรมาชีพผู้เป็นลูกจ้างเสมอ นี่คือสาเหตุที่นายทุนและรัฐบาลที่รับใช้นายทุนพยายามหาทุกวิธีทางที่จะสร้างอุปสรรค์กับการนัดหยุดงาน เพราะเมื่อกรรมาชีพนัดหยุดงานก็จะไม่มีการสร้างกำไรเพื่อให้นายทุนขโมยไป

ในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะในไทยหรือที่อื่น กรรมาชีพในรูปแบบที่ผมกล่าวถึง มีการจัดตั้งตัวเองในสหภาพแรงงาน เช่นสหภาพลูกจ้างธนาคาร สหภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอ สหภาพครู หรือแม้แต่สหภาพพยาบาล และเมื่อมีการจัดตั้งแบบนี้ การสร้างพรรคการเมืองของกรรมาชีพย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีนักเคลื่อนไหวที่เข้าใจความสำคัญของการสร้างพรรคของกรรมาชีพเอง

บางคนที่อ้างว่าพรรคกรรมาชีพ “สร้างไม่ได้” จะอ้าง “วัฒนธรรมของคนงานไทย” ว่าไม่สามารถรวมตัวกันต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ตนเองได้ ต้องคลานตามนายทุนหรือชนชั้นกลางเสมอ ความคิดแบบนี้ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าสร้างสหภาพแรงงานได้ ก็ย่อมสร้างพรรคได้ อย่างที่พึ่งอธิบายไป ในโลกแห่งความเป็นจริงวัฒนธรรมไม่ได้มีวัฒนธรรมเดียวในสังคม แต่มีหลายวัฒนธรรมที่ขัดแย้งกันและดำรงอยู่พร้อมๆ กัน ดังนั้นเราจะเห็นประวัติและวัฒนธรรมของแรงงานไทยที่ลุกขึ้นสู้ เข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตนเอง และให้ความสำคัญกับการเมืองฝ่ายซ้าย เราเห็นในอดีตยุคพรรคคอมมิวนิสต์ และเราเห็นในปัจจุบัน แต่แน่นอนเขาอาจไม่ใช่คนส่วนใหญ่ พร้อมกันนั้นเราเห็นวัฒนธรรมของนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานที่บูชาคนข้างบน เชิญนักการเมืองฝ่ายทุนหรือแม้แต่เผด็จการทหารมาพูดในงานของแรงงาน และมองว่าตนเองทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ที่มีอำนาจและเงินมาช่วย นั้นคืออีกวัฒนธรรมหนึ่ง

ถ้าจะชักชวนและดึงกรรมาชีพส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับวัฒนธรรมแรกที่ต่อสู้และพึ่งตนเอง มันต้องมีการจัดตั้งในองค์กรทางการเมืองของฝ่ายซ้าย พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมนั้นเอง บ่อยครั้งคนที่อ้างว่าคนงานไทยไม่มีวัฒนธรรมการต่อสู้ มักจะเป็นคนที่ไม่สนใจการจัดตั้งพรรคฝ่ายซ้ายของกรรมาชีพ และเขาก็จะหาข้ออ้างไร้สาระมาหนุนจุดยืนของเขา เช่นการพูดว่าฝ่ายซ้ายคาบคำภีร์ หรือฝ่ายซ้ายไม่รู้จักแรงงาน ซึ่งเป็นคำด่าเหลวไหลของคนที่หมดปัญญาที่จะเถียงโดยใช้เหตุผลและข้อมูลจากโลกจริง ผู้เขียนสามารถฟันธงในเรื่องนี้ได้เพราะมีประสบการณ์โดยตรงจากการพยามสร้างพรรคในสังคมไทย

42864387_1048457538658557_5369240746756931584_n

พรรคกรรมาชีพที่ควรจะถูกสร้างขึ่นในไทยตอนนี้ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ในประการแรกมันควรจะเป็นพรรคสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันบ่อยครั้งต้องอาศัยคนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาไฟแรง หรือ “เตรียมกรรมาชีพ” นั้นเอง เพราะคนหนุ่มสาวแบบนี้มีเวลาที่จะศึกษาและอ่าน และไม่เหนื่อยเกินไปจากการทำงานหนัก อาจมีปัญญาชนเข้าร่วมด้วย แต่ที่สำคัญคือต้องมีการสร้างกรรมาชีพให้นำตนเอง ที่คิดเอง เป็นปัญญาชนกรรมาชีพ และสอนคนอื่นได้ และสมาชิกส่วนใหญ่ควรจะเป็นคนทำงานที่เคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานของตนเอง

คนไทยที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” แต่อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายในไทย ไม่ควรลังเลที่จะสร้างพรรค ควรเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลย เพื่อเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้านอกรัฐสภา พูดง่ายๆ “พรรค” กับการเลือกตั้งรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอ ดังนั้นพรรคไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนจนกว่าจะตัดสินใจลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ภาระแรกเลยคือการสร้างสมาชิกที่เป็นนักเคลื่อนไหว สมาชิกที่แค่จ่ายค่าสมาชิกไม่ค่อยมีประโยชน์

ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน

เราจะต้องเข้าใจกันว่าเป้าหมายของพรรคในที่สุด คือการล้มระบบทุนนิยมผ่านการลุกฮือของมวลชน การลุกฮือแบบนี้จะนำไปสู่การปกครองกันเองของกรรมาชีพที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม เพราะตราบใดที่เราไม่ล้มระบบทุนนิยม เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ที่มีความเท่าเทียมได้ กรุณาเข้าใจอีกด้วยว่า “สังคมนิยม” ที่กำลังเอ่ยถึงนั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่พบในจีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ หรือในอดีตโซเวียด [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2vbhXCO ]

แน่นอนพรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นกรรมาชีพ ด้วยเหตุนี้เงินทุนของพรรคต้องมาจากสมาชิกที่เป็นคนธรรมดาเท่านั้น และพรรคก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด หรือนโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรงเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค โดยไม่มีใครที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่พอถกเถียงกันแล้ว เมื่อมีการลงมติ ลูกพรรคควรจะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่

พรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

ถ้าพรรคเน้นแต่การต่อสู้เรื่องปากท้องอย่างเดียว พรรคจะไม่ต่างจากสหภาพแรงงานสามัญ และที่สำคัญคือ พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคของนายทุน จะสามารถครองใจมวลชนจนผูกขาดการวิเคราะห์ประเด็นการเมืองได้ และการวิเคราะห์ดังกล่าวจะกระทำจากมุมมองนายทุนเสมอ ในบริบทสังคมไทย ถ้าพรรคสังคมนิยมไม่สนใจการเมืองด้านกว้างจากจุดยืนคนชั้นล่าง พรรคของคนอย่างทักษิณหรือพรรคอนาคตใหม่จะเข้ามาครองใจคนส่วนใหญ่ได้ง่าย

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพรรคไม่สนใจประเด็นปากท้อง และไม่ร่วมกับมวลชนนอกพรรคในการต่อสู้เพื่อพัฒนาชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ก็จะแค่เป็นกลุ่มที่พูดเก่ง แต่ไม่ลงมือทำอะไร ไม่มีวันขยายการต่อสู้ได้ ดังนั้นพรรคจะต้องโฆษณาขยายความคิดและปลุกระดมการต่อสู้พร้อมกัน

การผสมผสานยุทธศาสตร์สองอย่างนี้เข้าด้วยกัน แปลว่าพรรคจะต้องชักชวนให้มวลชนมองภาพกว้างทางการเมืองจากชีวิตประจำวันเสมอ และจะต้องเชื่อมโยงทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิทางเพศ สิทธิของเชื้อชาติต่างๆ เรื่องประชาธิปไตย และสถานการณ์ในโลกภายนอกประเทศไทยอีกด้วย

ในบริบทสังคมไทย การที่จะสร้างพรรคแบบนี้ควรเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายต่างๆ ในขบวนการแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน การสร้างพรรคสังคมนิยมจะต้องไม่เริ่มต้นจากการคุยกันว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วม หรือการถกกันเรื่องการลงทะเบียน