ใจ อึ๊งภากรณ์
ลีออน ตรอทสกี นักมาร์คซิสต์รัสเซีย เคยเขียนว่า “ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่จะเป็นผู้ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทุนนิยม จนได้รับชัยชนะ… และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อชนชั้นกรรมาชีพเข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเองอย่างชัดเจน สร้างพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพเอง และไม่หลงเชื่อคำแนะนำจากพวกนายทุนน้อยประชาธิปไตยสองหน้าที่เสนอว่ากรรมาชีพไม่ต้องมีพรรคของตนเอง”
ทุกวันนี้มีคนไม่น้อยในไทย ทั้งอดีตฝ่ายซ้ายและอดีตนักเคลื่อนไหวแรงงาน ที่เถียงหน้าดำหน้าแดงว่ากรรมาชีพไทย “ไม่สามารถสร้างพรรคของตนเองได้” ต้องพึ่งนายทุนและชนชั้นกลางตลอดไป เหมือนเด็กที่ต้องพึ่งพี่เลี้ยงและไม่มีวันโต เรื่องนี้มีการถกเถียงกันเมื่อผมเสนอว่านักเคลื่อนไหวในขบวนการแรงงานควรสร้างพรรคของตนเองแทนที่จะพึ่งพรรคอนาคตใหม่
บางคนอ้างว่ากรรมาชีพไม่สามารถสร้างพรรคของตนเองได้เพราะกรรมาชีพเปลี่ยนไปเป็นคนส่วนน้อยของสังคมไปแล้ว ซึ่งสะท้อนสองสิ่งเกี่ยวกับคนที่มีความคิดแบบนี้คือ ไม่เข้าใจว่ากรรมาชีพคือใคร และไม่ติดตามข้อมูลจริงในโลกปัจจุบัน
ชนชั้นกรรมาชีพในนิยามเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ คือลูกจ้าง หรือคนที่ไม่มีปัจจัยการผลิตของตนเองและต้องไปทำงานให้กับคนอื่น ซึ่งนักมาร์คซิสต์เข้าใจดีว่าระบบทุนนิยมและกรรมาชีพมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกรรมาชีพในโลกสมัยใหม่ประกอบไปด้วยคนงานโรงงาน คนที่ทำงานในภาคบริการ เช่นการขนส่ง ห้างร้านค้า กิจการธนาคารกับไฟแนนส์ และในโรงเรียน มหาวิทยาลัย กับ โรงพยาบาล มันรวมกรรมาชีพที่ใส่ชุดทำงานของโรงงาน และกรรมาชีพที่แต่งตัวเพื่อเข้าไปทำงานในออฟฟิส และถ้าเรานับปริมาณประชาชนในไทยหรือในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะเห็นว่ากรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนตลอดเวลา
เรื่องนี้ไม่น่าแปลกเลย เพราะทุนนิยมดำเนินการไม่ได้ถ้าขาดกำไร และกำไรดังกล่าวมาจากการทำงานของกรรมาชีพผู้เป็นลูกจ้างเสมอ นี่คือสาเหตุที่นายทุนและรัฐบาลที่รับใช้นายทุนพยายามหาทุกวิธีทางที่จะสร้างอุปสรรค์กับการนัดหยุดงาน เพราะเมื่อกรรมาชีพนัดหยุดงานก็จะไม่มีการสร้างกำไรเพื่อให้นายทุนขโมยไป
ในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะในไทยหรือที่อื่น กรรมาชีพในรูปแบบที่ผมกล่าวถึง มีการจัดตั้งตัวเองในสหภาพแรงงาน เช่นสหภาพลูกจ้างธนาคาร สหภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอ สหภาพครู หรือแม้แต่สหภาพพยาบาล และเมื่อมีการจัดตั้งแบบนี้ การสร้างพรรคการเมืองของกรรมาชีพย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีนักเคลื่อนไหวที่เข้าใจความสำคัญของการสร้างพรรคของกรรมาชีพเอง
บางคนที่อ้างว่าพรรคกรรมาชีพ “สร้างไม่ได้” จะอ้าง “วัฒนธรรมของคนงานไทย” ว่าไม่สามารถรวมตัวกันต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ตนเองได้ ต้องคลานตามนายทุนหรือชนชั้นกลางเสมอ ความคิดแบบนี้ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าสร้างสหภาพแรงงานได้ ก็ย่อมสร้างพรรคได้ อย่างที่พึ่งอธิบายไป ในโลกแห่งความเป็นจริงวัฒนธรรมไม่ได้มีวัฒนธรรมเดียวในสังคม แต่มีหลายวัฒนธรรมที่ขัดแย้งกันและดำรงอยู่พร้อมๆ กัน ดังนั้นเราจะเห็นประวัติและวัฒนธรรมของแรงงานไทยที่ลุกขึ้นสู้ เข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตนเอง และให้ความสำคัญกับการเมืองฝ่ายซ้าย เราเห็นในอดีตยุคพรรคคอมมิวนิสต์ และเราเห็นในปัจจุบัน แต่แน่นอนเขาอาจไม่ใช่คนส่วนใหญ่ พร้อมกันนั้นเราเห็นวัฒนธรรมของนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานที่บูชาคนข้างบน เชิญนักการเมืองฝ่ายทุนหรือแม้แต่เผด็จการทหารมาพูดในงานของแรงงาน และมองว่าตนเองทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ที่มีอำนาจและเงินมาช่วย นั้นคืออีกวัฒนธรรมหนึ่ง
ถ้าจะชักชวนและดึงกรรมาชีพส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับวัฒนธรรมแรกที่ต่อสู้และพึ่งตนเอง มันต้องมีการจัดตั้งในองค์กรทางการเมืองของฝ่ายซ้าย พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมนั้นเอง บ่อยครั้งคนที่อ้างว่าคนงานไทยไม่มีวัฒนธรรมการต่อสู้ มักจะเป็นคนที่ไม่สนใจการจัดตั้งพรรคฝ่ายซ้ายของกรรมาชีพ และเขาก็จะหาข้ออ้างไร้สาระมาหนุนจุดยืนของเขา เช่นการพูดว่าฝ่ายซ้ายคาบคำภีร์ หรือฝ่ายซ้ายไม่รู้จักแรงงาน ซึ่งเป็นคำด่าเหลวไหลของคนที่หมดปัญญาที่จะเถียงโดยใช้เหตุผลและข้อมูลจากโลกจริง ผู้เขียนสามารถฟันธงในเรื่องนี้ได้เพราะมีประสบการณ์โดยตรงจากการพยามสร้างพรรคในสังคมไทย
พรรคกรรมาชีพที่ควรจะถูกสร้างขึ่นในไทยตอนนี้ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ในประการแรกมันควรจะเป็นพรรคสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันบ่อยครั้งต้องอาศัยคนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาไฟแรง หรือ “เตรียมกรรมาชีพ” นั้นเอง เพราะคนหนุ่มสาวแบบนี้มีเวลาที่จะศึกษาและอ่าน และไม่เหนื่อยเกินไปจากการทำงานหนัก อาจมีปัญญาชนเข้าร่วมด้วย แต่ที่สำคัญคือต้องมีการสร้างกรรมาชีพให้นำตนเอง ที่คิดเอง เป็นปัญญาชนกรรมาชีพ และสอนคนอื่นได้ และสมาชิกส่วนใหญ่ควรจะเป็นคนทำงานที่เคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานของตนเอง
คนไทยที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” แต่อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายในไทย ไม่ควรลังเลที่จะสร้างพรรค ควรเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลย เพื่อเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้านอกรัฐสภา พูดง่ายๆ “พรรค” กับการเลือกตั้งรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอ ดังนั้นพรรคไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนจนกว่าจะตัดสินใจลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ภาระแรกเลยคือการสร้างสมาชิกที่เป็นนักเคลื่อนไหว สมาชิกที่แค่จ่ายค่าสมาชิกไม่ค่อยมีประโยชน์
ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน
เราจะต้องเข้าใจกันว่าเป้าหมายของพรรคในที่สุด คือการล้มระบบทุนนิยมผ่านการลุกฮือของมวลชน การลุกฮือแบบนี้จะนำไปสู่การปกครองกันเองของกรรมาชีพที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม เพราะตราบใดที่เราไม่ล้มระบบทุนนิยม เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ที่มีความเท่าเทียมได้ กรุณาเข้าใจอีกด้วยว่า “สังคมนิยม” ที่กำลังเอ่ยถึงนั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่พบในจีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ หรือในอดีตโซเวียด [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2vbhXCO ]
แน่นอนพรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นกรรมาชีพ ด้วยเหตุนี้เงินทุนของพรรคต้องมาจากสมาชิกที่เป็นคนธรรมดาเท่านั้น และพรรคก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด หรือนโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรงเป็นต้น
ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค โดยไม่มีใครที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่พอถกเถียงกันแล้ว เมื่อมีการลงมติ ลูกพรรคควรจะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่
พรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง
ถ้าพรรคเน้นแต่การต่อสู้เรื่องปากท้องอย่างเดียว พรรคจะไม่ต่างจากสหภาพแรงงานสามัญ และที่สำคัญคือ พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคของนายทุน จะสามารถครองใจมวลชนจนผูกขาดการวิเคราะห์ประเด็นการเมืองได้ และการวิเคราะห์ดังกล่าวจะกระทำจากมุมมองนายทุนเสมอ ในบริบทสังคมไทย ถ้าพรรคสังคมนิยมไม่สนใจการเมืองด้านกว้างจากจุดยืนคนชั้นล่าง พรรคของคนอย่างทักษิณหรือพรรคอนาคตใหม่จะเข้ามาครองใจคนส่วนใหญ่ได้ง่าย
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพรรคไม่สนใจประเด็นปากท้อง และไม่ร่วมกับมวลชนนอกพรรคในการต่อสู้เพื่อพัฒนาชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ก็จะแค่เป็นกลุ่มที่พูดเก่ง แต่ไม่ลงมือทำอะไร ไม่มีวันขยายการต่อสู้ได้ ดังนั้นพรรคจะต้องโฆษณาขยายความคิดและปลุกระดมการต่อสู้พร้อมกัน
การผสมผสานยุทธศาสตร์สองอย่างนี้เข้าด้วยกัน แปลว่าพรรคจะต้องชักชวนให้มวลชนมองภาพกว้างทางการเมืองจากชีวิตประจำวันเสมอ และจะต้องเชื่อมโยงทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิทางเพศ สิทธิของเชื้อชาติต่างๆ เรื่องประชาธิปไตย และสถานการณ์ในโลกภายนอกประเทศไทยอีกด้วย
ในบริบทสังคมไทย การที่จะสร้างพรรคแบบนี้ควรเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายต่างๆ ในขบวนการแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน การสร้างพรรคสังคมนิยมจะต้องไม่เริ่มต้นจากการคุยกันว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วม หรือการถกกันเรื่องการลงทะเบียน