ใจ อึ๊งภากรณ์
อนาคตของกระบวนการปฏิรูป “โบลิวาร์”[1] ของอดีตประธานาธิบดีชาเวสในประเทศเวเนสเวลา อยู่ในสภาพวิกฤตอันเนื่องมาจากการที่สหรัฐอเมริการ่วมกับรัฐบาลตะวันตกกำลังสนับสนุนให้มีรัฐประหาร
วิกฤตนี้จะมีจุดจบได้ในสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือจบในลักษณะที่เป็นประโยชน์กับกรรมาชีพและคนจน รูปแบบที่สองคือจบลงในลักษณะที่เอื้อประโยชน์กับจักรวรรดินิยม กลุ่มทุนใหญ่ กับคนรวย ผ่านการใช้กำลังและแนวกลไกตลาดสุดขั้ว
บทเรียนสำคัญสำหรับเราคือ “พรรคสังคมนิยมปฏิรูป ที่ไม่สามารถปฏิรูปอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ได้ เพราะไม่ยอมก้าวสู่กระบวนการปฏิวัติล้มอำนาจทุน ย่อมเปิดทางให้ฝ่ายขวากลับเข้ามาในที่สุด” ผมจะขออธิบายรายละเอียด…
เจ้าหน้าที่ทางทูตคนสำคัญของสหรัฐ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์ให้ดูแลเรื่องรัฐประหาร คือ เอลิออด เอแบรมส์ คนนี้มีประวัติในการสนับสนุนการฆ่าประชาชนเป็นพันโดยกองกำลังฆาตกรในประเทศเอลซาลวาดอร์ มีประวัติในการหนุนพวกฝ่ายขวาในนิคารากัว โดยโกหกรัฐสภาสหรัฐในเรื่องนี้สองครั้ง และมีประวัติในการสนับสนุนรัฐประหารที่ล้มเหลวในเวเนสเวลาในปี 2002

ตอนนี้สหรัฐกับตะวันตกกำลังสนับสนุนความพยายามของนักการเมืองฝ่ายขวาชื่อ วาน กูไอโด ที่ประกาศว่าตนเป็น “ประธานาธิบดีที่แท้จริง” ของเวเนสเวลา แทนประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แต่พรรคการเมืองของ วาน กูไอโด มีแค่14ที่นั่งในรัฐสภา และประชาชน80%ของประเทศไม่เคยรู้จักเขามาก่อน
พรรคฝ่ายขวาต่างๆ ในเวเนสเวลา เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนใหญ่ คนรวยและคนชั้นกลาง ซึ่งในอดีต ก่อนที่ ฮูโก ชาเวส จะชนะการเลือกตั้งในปี 1998 มีประวัติในการปกครองประเทศด้วยความป่าเถื่อนเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของตนเองและเพื่อควบคุมคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในปี 1989 เมื่อคนจนลุกฮือเนื่องจากการใช้นโยบายรัดเข็มขัดสุดขั้ว รัฐบาลฝ่ายขวาลงมือฆ่าประชาชนมือเปล่าสองพันคนกลางเมืองคาราคัส เหตุการณ์นี้เรียกว่าการลุกฮือ Caracazo นอกจากนี้พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่เป็นแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบัน เคยพยายามก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของ ฮูโก ชาเวส ในปี 2002 แต่ไม่สำเร็จ
โดยรวม เป้าหมายของฝ่ายขวาในเวเนสเวลา คือการหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคที่คนจนต้องเจียมตัวกับความยากจนท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและการใช้อำนาจของคนรวย ดังนั้นนักการเมืองพวกนี้ไม่ใช่นักประชาธิปไตยที่จะมาปลดแอกประชาชนแต่อย่างใด และเขายังพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยมอีกด้วย
แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่ารัฐบาลของประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร มีส่วนในการสร้างวิกฤตร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมีสามสาเหตุคือ
ปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน ซึ่งเคยมีราคาสูงในตลาดโลก แต่ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในรอบสองสามปีที่ผ่านมา เงินรายได้จากการขายน้ำมันได้ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านหน่วยงาน Las Misiones แต่พอราคาน้ำมันลดลงงบประมาณรัฐก็หายไป และรัฐบาลไม่ได้พยายามส่งเสริมการผลิตสิ่งอื่นๆ แทนน้ำมัน

ตอนนี้เกือบ 90% ของประชาชนถือว่ายากจน 3 ล้านคนย้ายไปอยู่ในประเทศอื่น และอัตราเงินเฟ้อตอนนี้สูงถึง 1.3ล้าน%!!! ซึ่งแปลว่าทุก 19 วันราคาสินค้าจะเพิ่มเท่าตัว ประชาชนคนจนขาดแคลนของใช้จำเป็น ส่วนหนึ่งมาจากการกักสินค้าโดยนายทุนเอกชน และข้าราชการในพรรครัฐบาลด้วย และการกีดกันการค้าขายโดยรัฐบาลสหรัฐตั้งแต่ปี 2017 ก็ไม่ช่วย
สาเหตุที่สองของวิกฤตคือการคอร์รับชั่นโกงกินของข้าราชการชั้นสูง นักการเมืองของพรรคสังคมนิยม PSUV และทหารระดับสูง ซึ่งร่วมกันกินกับนายทุนใหญ่ที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้คนธรรมดาเบื่อหน่ายและหมดความเชื่อมั่นในพรรครัฐบาล แต่ไม่ใช่ว่าจะชื่นชมพรรคฝ่ายค้าน
สาเหตุที่สามของวิกฤตปัจจุบัน คือความพยายามของนักการเมืองฝ่ายขวาที่จะฉวยโอกาสกลับมาปกครองประเทศผ่านการนำการประท้วงบนท้องถนนในปี 2014 และในปัจจุบัน บ่อยครั้งมีการใช้ความรุนแรงในการประท้วง แต่รัฐบาลก็โต้ตอบด้วยความรุนแรงเช่นกัน
ขณะนี้เวเนสเวลามีสองสภา ซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ “สภาแห่งชาติ” ที่พรรคฝ่ายขวามีเสียงข้างมากมาตั้งแต่ปี 2015 และ “สภาผู้แทนประชาชน” ซึ่งพรรค PSUV ของ มาดูโร มีเสียงข้างมาก สองสภานี้กำลังแย่งอำนาจกัน
ปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ในเวเนสเวลาคือ กระบวนการปฏิรูป “บอลลิวา” ของอดีตประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวส ที่ ชาเวส พยายามอ้างว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนิยม เป็นแค่การปฏิรูปเพื่อทำให้ชีวิตคนจนดีขึ้น โดยไม่แตะอำนาจของกลุ่มทุนใหญ่หรือเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากระบบทุนนิยมแต่อย่างใด การปฏิรูป “จากบนลงล่าง” แบบนี้ล้มเหลวเพราะไม่ได้ทำลายระบบเดิม และเพราะพึ่งพาการส่งออกน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งไม่ต่างจากปัญหาในประเทศ บราซิล เลย [ดู https://bit.ly/2sU4mh1 ]
ถ้าประชาชนคนจนและกรรมาชีพในเวเนสเวลา จะกู้สถานการณ์กลับมา เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ จะต้องมีการเคลื่อนไหวของขบวนการมวลชนรากหญ้าในรูปบบที่เคยเกิดในปีก่อนๆ ที่ผ่านมา เช่นการลุกฮือของประชาชนจำนวนมากที่ล้มรัฐประหารของฝ่ายขวาในปี 2002 การเคลื่อนไหวของกรรมาชีพเป็นล้านเพื่อต่อต้านความพยายามของนายทุนที่จะทำลายเศรษฐกิจน้ำมันระหว่างปี2002และ2003 การปลุกระดมการมีส่วนร่วมและการเคลื่อนไหวของคนธรรมดาในการสร้างและบริหาร “องค์กรแก้ไขปัญหาความยากจน” Las Misiones ซึ่งเข้ามาบริการคนจนในเรื่อง อาหารราคาถูก ระบบสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การปฏิรูปที่ดิน การศึกษา และปัญหาอีกมากมาย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง หลัง2003 สมัยที่ ชาเวส ยังมีชีวิตอยู่
แต่ถ้าการเคลื่อนไหวของคนชั้นล่างจะสำเร็จ จะต้องปฏิเสธวัฒนธรรมการควบคุมพลังมวลชน ที่ชาเวสเริ่มใช้ผ่านพรรคสังคมนิยม PSUV และจะต้องไม่หวังพึ่งคนอย่าง นิโคลัส มาดูโร นายทหารชั้นสูง หรือผู้นำโกงกินของ PSUV
ปัญหาของพรรคสังคมนิยมเวเนสเวลา พรรคแรงงานของบราซิล และพรรคไซรีซาในกรีซ คือพรรคปฏิรูปที่ไม่สามารถปฏิรูปอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ได้ เพราะไม่ยอมก้าวสู่กระบวนการปฏิวัติล้มอำนาจทุน ย่อมเปิดทางให้ฝ่ายขวากลับเข้ามาในที่สุด
[1] ชาเวสตั้งชื่อกระบวนการปฏิรูปสังคมของเขาตาม ซิมอน โบลิวาร์ ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการปลดแอกลาตินอเมริกาจากการปกครองของสเปน
อ่านเพิ่ม เรื่องลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp เรื่องกรีซ https://bit.ly/293hWr1