ใจ อึ๊งภากรณ์
ในอดีตแกนนำเสื้อแดงที่มีรากฐานการกำเนิดมาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคนายทุน ไม่เคยเห็นความสำคัญของการขยายการจัดตั้งของขบวนการเสื้อแดงสู่ขบวนการแรงงานเลย และการจัดตั้งของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในขบวนการแรงงานอ่อนแอเกินไปที่จะทำให้สหภาพแรงงานต่างๆ เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยร่วมกับเสื้อแดง ถ้าจัดตั้งได้จะมีการสำแดงพลังทางเศรษฐกิจของแรงงาน ผ่านการนัดหยุดงาน และพิสูจน์ความสำคัญของแรงงานในการต่อสู้กับเผด็จการ สถานการณ์นี้เป็นจุดอ่อนสำคัญของเสื้อแดง และช่วยเปิดโอกาสให้รัฐบาลอภิสิทธิ์และทหารเข่นฆ่าประชาชนที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์เมื่อปี ๒๕๕๓ ในที่สุดมันเปิดโอกาสให้เผด็จการเข้ามาครองเมืองหลายปี
ถ้าเราเปรียบเทียบกับกรณีการประท้วงล้มเผด็จการมูบารักในอียิปต์ เมื่อต้นปี ๒๕๕๔ เราจะเห็นว่าก่อนหน้านั้นหลายปี ขบวนการฝ่ายซ้ายอียิปต์ทำงานใต้ดินเพื่อเสริมสร้างขบวนการสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐ จนมีกระแสนัดหยุดงานครั้งใหญ่สี่ปีก่อนการประท้วงล้มมูบารัก ต่อมาการออกมานัดหยุดงานของสหภาพคู่ขนานกับการประท้วงที่จตุรัสทาห์เรีย เป็นเงื่อนไขชี้ขาดที่ทำให้กองทัพอียิปต์ตัดสินใจเขี่ยมูบารักออกไปก่อนที่ประชาชนจะเขี่ยนายพลออกไปด้วยและทำการปฏิวัติสังคม แต่นั้นก็ยังไม่พอ เพราะในที่สุดทหารก็กลับมาครองเมืองอีกรอบ ซึ่งแสดงว่าฝ่ายซ้ายอียิปต์อ่อนแอเกินไปที่จะนำกรรมาชีพในการปฏิวัติล้มระบบ
การล้มเผด็จการของคนผิวขาวในอัฟริกาใต้ใช้พลังกรรมาชีพที่นัดหยุดงานเป็นกำลังหลัก การล้มเผด็จการคอมมิวนิสต์สายสตาลินในโปแลนด์ก็เช่นกัน
นอกจากกรรมาชีพไทยจะไม่มีการจัดตั้งโดยคนเสื้อแดงและไม่มีการนัดหยุดงานเพื่อล้มเผด็จการแล้ว สหภาพแรงงานไทยในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา ไม่เคยพยายามตั้งพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพและเกษตรกรเลย
เวลาที่นักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวแรงงานพูดถึง “ความอ่อนแอ” ของขบวนการแรงงาน เขามักจะชี้ไปที่สัดส่วนของแรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3-4% หรืออาจมีการพูดถึงการที่มีหลายสภาและสหภาพแรงงานซึ่ง “ขาดเอกภาพ” แต่ทั้งๆ ที่สองเรื่องนี้มีผลบ้างในการกำหนดความเข้มแข็งของแรงงาน มันไม่ใช่ประเด็นหลัก
ประเด็นหลักที่นำไปสู่ความอ่อนแอในขบวนการแรงงานคือ “การเมือง” เพราะการเมืองของขบวนการแรงงานเป็นเข็มทิศที่ชี้ทางไปสู่วิธีการจัดตั้ง และยุทธวิธีในการใช้พลังทางเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของแรงงาน ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ในอดีตนักสังคมนิยมในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เคยให้ความสำคัญในการจัดตั้งแรงงาน แต่หลังจากที่พรรคเริ่มหันไปเน้นการจับอาวุธในป่า การทำงานสายแรงงานถูกลดความสำคัญลง พอถึงยุค “ป่าแตก” และการล่มสลายของ พคท. ปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวที่มีส่วนในการจัดตั้งแรงงานลดน้อยลงจนเกือบจะไม่เหลือ และ เอ็นจีโอ ก็เข้ามาแทนที่
กลุ่ม “พี่เลี้ยง” เอ็นจีโอ ที่เข้าไป “ช่วย” แรงงานมีแนวโน้มจะเสนอให้คนงานทำตามกฎหมายนายทุนในระบบ “แรงงานสัมพันธ์” และไม่คิดต่อสู้ทางชนชั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่ดีคือองค์กร ACILS/Solidarity Center ซึ่งได้รับทุนจากสหรัฐอเมริกาเพื่อ “พัฒนาแรงงาน” องค์กรนี้ไม่เคยสนับสนุนการนัดหยุดงานเลย ทั้งๆ ที่การนัดหยุดงานเป็นวิธีหลักในการต่อสู้ของแรงงาน อีกองค์กรหนึ่งที่ให้เงินสหภาพแรงงาน คือ มูลนิธิ Friedrich Ebert Stiftung (FES.) ของเยอรมัน แนวคิดของ FES. จะเน้นการแยกบทบาทระหว่างสหภาพแรงงาน ที่เขามองว่าควรต่อสู้เพื่อเรื่องปากท้อง กับพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในรัฐสภา จุดยืนนี้สอดคล้องกับกฏหมายของชนขั้นปกครองไทยที่มองว่าสหภาพแรงงานไม่ควรยุ่งการเมือง ในรูปธรรมผลของแนวคิดแบบนี้คือ ไม่มีการจัดตั้งทางการเมืองในขบวนการแรงงาน และสหภาพแรงงานจะไม่ออกมานัดหยุดงานในประเด็นการเมืองเลย
นอกจากนี้ เอ็นจีโอ มักเน้นการทำงานกับกลุ่มคนงานที่พ่ายแพ้ไปแล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าเป็นงานสังคมสงเคราะห์ที่จำเป็นต้องทำ แต่ไม่มีผลในการพัฒนาความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานเลย และที่สำคัญประสบการณ์จากทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กร เอ็นจีโอ ไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานเท่ากับพรรคการเมืองของฝ่ายซ้าย เพราะพรรคฝ่ายซ้ายสามารถประสานและเสริมพลังของขบวนการแรงงานในด้านความคิดทางการเมือง เพื่อให้นักสหภาพนำตนเองแทนที่จะพึ่ง “พี่เลี้ยง” และพึ่งเงินจากภายนอก และในกรณีที่สหภาพแรงงานเข้มแข็งจริง จะไม่มีการพึ่งพา เอ็นจีโอ เลย เช่นในเกาหลีใต้ ขบวนการแรงงานเข้มแข็งจนองค์กร เอ็นจีโอ มักจะเป็นฝ่ายมาขอพลังความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงาน K.C.T.U.
ในยุคปัจจุบัน นอกจากผู้นำสภาแรงงานระดับชาติแล้ว องค์กรสภาแรงงานสากลต่างๆ เริ่มพยายามเข้ามาจัดตั้งแรงงานในประเทศไทยมากขึ้น การที่สภาสากลช่วยให้คนงานไทยตั้งสหภาพแรงงานในสถานที่ทำงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน เป็นเรื่องดี แต่ในทางการเมืองสภาแรงงานสากลเหล่านี้จะไม่ส่งเสริมการนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเลย และจะไม่มีผลอะไรเลยในการปกป้องผู้นำสหภาพแรงงานในไทยที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้เพราะสภาแรงงานสากลทุกแห่งนำโดยเจ้าหน้าที่ “แรงงานข้าราชการ” ที่ห่างเหินจากขบวนการแรงงานจริงในทุกประเทศ เราจะเห็นว่าในประเทศที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็ง อย่างเช่นในยุโรปตะวันตก หรือเกาหลีใต้ สภาแรงงานสากลเกือบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย
ในอดีตความอ่อนแอทางการเมืองของขบวนการแรงงานไทย เปิดช่องให้คนอย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข นำการเมืองปฏิกิริยาของพันธมิตรเสื้อเหลือง เข้ามาในบางส่วนของขบวนการแรงงาน เช่นในรัฐวิสาหกิจรถไฟ และไฟฟ้า และในบางส่วนของย่านอุตสาหกรรมเอกชนในภาคตะวันออกใกล้เมืองระยองเป็นต้น แต่แนวคิดเสื้อเหลืองของสมศักดิ์ ขัดกับผลประโยชน์พื้นฐานของกรรมาชีพไทยโดยสิ้นเชิง เพราะพาคนไปต่อสู้เพื่อสนับสนุนเผด็จการ แทนที่จะสู้เพื่อผลประโยชน์คนจน
นักสังคมนิยมควรเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน ไม่ใช่เป็นปัญญาชนในหอคอยงาช้าง เราควรทำงานในสถานที่ทำงานต่างๆ และปลุกระดมจากภายใน ในระยะแรกเราอาจต้องทำงานจากภายนอก แต่ในช่วงนั้นต้องเน้นการสร้างนักสังคมนิยมที่เป็นกรรมาชีพ เพื่อให้เขาทำงานในสหภาพและสถานที่ทำงานของเขาเอง
แน่นอนนักสังคมนิยมจะต้องมีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน และต้องมีส่วนในการสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง เช่นเรื่องค่าจ้าง โบนัส และสภาพการจ้างอื่นๆ แต่ถ้าทำแค่นั้น เราก็เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” และผู้ที่เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” จะมองว่าองค์กรจัดตั้งหลักคือสหภาพแรงงาน ไม่ใช่พรรคซ้ายสังคมนิยม และเราจะก้าวข้ามปัญหาภายในรั้วสถานที่ทำงานเพื่อไปสนใจสังคมภายนอกไม่ได้
การปลุกระดมทางการเมืองแปลว่าต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อของพรรค และผ่านกลุ่มศึกษาของพรรค ซึ่งต่างจากกลุ่มศึกษาของสหภาพที่เน้นแต่เรื่องปากท้องหรือกฏหมายแรงงาน การศึกษาทางการเมืองของพรรคต้องครอบคลุมการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยและสังคมต่างประเทศ ต้องเรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์ไทยและทั่วโลก ต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ ต้องศึกษาธาตุแท้ของชนชั้นและของรัฐ เราต้องสนใจศิลปะวัฒนธรรม ต้องสนใจวิทยาศาสตร์ และเราต้องพร้อมที่จะร่วมกันค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาทุกเรื่องในชีวิตมนุษย์
การศึกษาแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย เพราะในสมัย พคท. ก็มีการเน้นการศึกษาแบบนั้น ไม่ว่าเราอาจมีข้อถกเถียงกับแนวการเมืองของ พคท. มากน้อยแค่ไหน แต่มันเป็นการศึกษาทางการเมืองเพื่อจัดตั้งพรรค ซึ่งหลังการล่มสลายของ พคท. นักปฏิบัติการต่างๆ พากันหันหลังให้เรื่องนี้ เพื่อทำงานแบบพี่เลี้ยงในรูปแบบ เอ็นจีโอ ที่ปฏิเสธเรื่องการเมืองเพื่อเน้นประเด็นปากท้องอย่างเดียว นี่คือที่มาของความอ่อนแอของขบวนการแรงงานไทยในปัจจุบัน และมันเป็นผลทำให้ขบวนการประชาธิปไตยอ่อนแอไปด้วย นี่คือสิ่งที่เราต้องลงมือแก้ไข
[อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2MBfQzc ]