ประยุทธ์แก้ตัวแทนทหารที่ใช้ความรุนแรงทรมานผู้ถูกขัง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทหารไทยได้ใช้ความรุนแรงทรมานนักเคลื่อนไหว อับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 32 ปี ในค่ายอิงคยุทธ การทรมานและใช้ความรุนแรงกับผู้ถูกคุมขังแบบนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น และคงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายตราบใดที่รัฐบาลเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ยังครองอำนาจอยู่ หลังเหตุการณ์ประยุทธ์แก้ตัวแทนทหารในค่ายอิงคยุทธ โดยการโกหกว่า อับดุลเลาะ อีซอมูซอ “หน้ามืด” แล้วล้มในห้องน้ำ ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดคนนี้ยังพูดต่อว่าคนที่ตั้งคำถามกับพฤติกรรมของทหารคง “ดูหนังมากเกินไป” แถมหัวหน้าโจรปล้นประชาธิปไตยคนนี้ยังพูดอีกว่า บางคนเน้นสิทธิมนุษยชนมากเกินไป

1563771872921
อับดุลเลาะ อีซอมูซอ (นั่งตรงกลาง) ภาพจากข่าวสด

ทหารในค่าย อิงคยุทธ ไม่คิดจะแจ้งภรรยาของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ หลังจากที่เขาถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล เขาต้องทราบเมื่อไปพยายามเยี่ยมสามีที่ค่ายทหาร หลังจากนั้นญาติและเพื่อนๆ ของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่ไปเยี่ยมเขาที่โรงพยาบาลก็ถูกรังแกโดยทหารที่คอยถ่ายภาพและรบกวนอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมแบบนี้แสดงให้เห็นว่าทหารของรัฐไทย ไม่มีความเคารพต่อประชาชนมาเลย์มุสลิมในปาตานีแต่อย่างใด

หลายคนตั้งข้อสันนิษฐานว่า อับดุลเลาะ อีซอมูซอ อาจถูกทรมานโดยทหารนำถุงครอบหัวจนหายใจไม่ออก จากการตรวจร่างกายไม่พบร่องรอยของการถูกทำร้าย เอกซเรย์ไม่พบว่ามีน้ำอยู่ในปอด แต่พบว่าผู้ป่วยสมองบวม สาเหตุจากการขาดอากาศเป็นเวลานาน สมองใกล้ตาย ถ้าฟื้นได้ก็คงพิการอย่างหนัก

67535340_2408292259228649_7345892156457877504_n

พฤติกรรมของรัฐไทยในการกดขี่ปราบปรามประชาชนมาเลย์มุสลิมในปาตานี สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่ง และเป็นสาเหตุที่ประชาชนบางส่วนตัดสินใจที่จะจับอาวุธสู้กับรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่อง [ดู https://bit.ly/2b5aCYI ]

สื่อกระแสหลักมักสนับสนุนการกดขี่ปราบปรามของรัฐไทย และเรียกนักสู้เพื่ออิสรภาพว่าเป็น “คนร้าย” หรือ “โจใต้” แต่คนร้ายและโจรตัวจริงกำลังคุมรัฐบาลไทยอยู่ทุกวันนี้

ทั้งๆ ที่เราไม่ควรเลือกข้างรัฐไทยโดยการประณามนักต่อสู้ชาวปาตานี แต่จุดยืนของนักสังคมนิยมคือ ถ้าจะมีสันติภาพและเสรีภาพในปาตานี ขบวนการมวลชนจะต้องมีบทบาทหลัก ทั้งในปาตานี และในกรุงเทพฯ การจับอาวุธคงไม่มีวันชนะรัฐไทย แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกร้องให้รัฐไทยถอนกำลังทหารตำรวจออกไป และที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย สามารถแก้ปัญหาได้

พวกเราคงไม่แปลกใจเลยที่มีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวนของตำรวจได้เข้าไปในพื้นที่ค่ายอิงคยุทธ เพื่อเข้าตรวจสอบพื้นที่และรวบรวมหลักฐาน โดยได้ขอดูเทปบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งภายในศูนย์ซักถาม ที่มีอยู่โดยรอบ แต่ปรากฏว่า ทางเจ้าหน้าที่ค่ายอิงคยุทธ ระบุว่ากล้องวงจรปิดเสียทุกตัว!!

ในกรณีอื่นๆ ที่ตำรวจและทหารวิสามัญฆาตกรรมชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นที่ปาตานี หรือกรณีชาวชนเผ่าทางเหนือของไทย กล้องวงจรปิดมัก “เสีย” เสมอ

ล่าสุด ตำรวจเชียงใหม่ได้วิสามัญฆาตกรรม ‘จะจือ จะอ่อ’ ชาวชนเผ่ามูเซอ ที่ อ.เวียงแหง มีผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า ตอนแรกพบว่าผู้ตายไม่ได้มีอาวุธปืนวางอยู่ แต่ถูกกันไม่ให้เข้าไป ภายหลังจากที่ผู้เห็นเหตุการณ์กลับไปเรียกญาติผู้ตายมาในพื้นที่ ก็ปรากฏว่าร่างของผู้ตายถูกเคลื่อนไปยังอีกจุดหนึ่ง และมีอาวุธปืนวางอยู่ข้างๆ และหลังจากที่แม่ของผู้เสียชีวิตมาเห็นเหตุการณ์ก็วิ่งเข้าไปหาร่างของลูกชาย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผลักและใช้เท้าถีบจนล้มลง ทำให้กลุ่มชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงที่มาดูเหตุการณ์ทนดูไม่ได้ จึงได้เข้าช่วยจนเกิดเหตุการณ์ชลมุนขึ้นมา

a11

ชาวบ้านมั่นใจว่า จะจือ จะอ่อ ไม่ใช่ผู้ค้ายาเสพติดอย่างที่ตำรวจอ้าง

เราจะเห็นว่านี่คืออีกกรณีหนึ่งของการที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่แสดงความเคารพต่อประชาชนชนกลุ่มน้อย

ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยควรตระหนักว่าแนวคิดเหยียดเชื้อชาติและแนวคิดชาตินิยม ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักในสังคมเรา ทำให้การตรวจสอบพฤติกรรมของทหารและตำรวจรัฐไทย ทำได้ยากขึ้น เพราะไม่ค่อยมีใครสนใจ [ดู https://bit.ly/2YeOCT2 ] และตราบใดที่เรายังมีเผด็จการทหารที่ครองอำนาจผ่านการทำรัฐประหารและการโกงการเลือกตั้ง ความยุติธรรมและสันติภาพไม่มีวันเกิด

สส.พรรคทหารใช้วาจาเหยียดเชื้อชาติกลางสภา

กรุง ศรีวิไล สส,พรรคพลังประชารัฐ พูดจาเหยียดเชื้อชาติ รังสิมันต์ โรม,สส.พรรคอนาคตใหม่ กลางสภา แต่ไม่มีใครประท้วงหรือลงโทษไล่ออกจากสภา

กรุง ศรีวิไลพูดว่า”ผมเป็นลูกทุ่งลูกชาวนาโดยกำเนิด ไม่ใช่ลูกครึ่ง ครึ่งลูกที่ไหน ความสำคัญที่สุดในชีวิตของความเป็นคนไทยนั้นสำคัญที่สุด”

นี่คืออีกตัวอย่างว่าทำไมสังคมไทยเป็นสังคมเหยียดเชื้อชาติ

ถ้าพลเมืองไทยไม่ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในสังคมเรา คนไทยก็จะเป็นทาสต่อไป เพราะลัทธิเหยียดเชื้อชาติเป็นส่วนหนึ่งของการคลั่งชาติ ซึ่งดึงคนไปกราบเท้าชนชั้นปกครอง แทนที่จะมองว่าเรามีผลประโยชน์ทางชนชั้นที่ต่างจากพวกข้างบนโดยสิ้นเชิง

สหายธง แจ่มศรี และการเมืองแนวลัทธิ “สตาลิน -เหมา” ของ พคท.

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในปลายปี ๒๕๕๒ ทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สิ้นสภาพการเป็นพรรคนานแล้วตั้งแต่ “ป่าแตก” แต่ได้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ซึ่งความขัดแย้งนี้สะท้อนความแตกแยกในสังคมไทยโดยทั่วไประหว่าง “เหลือง” กับ “แดง”

ส่วนหนึ่งของคนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ไปเข้าข้างเสื้อเหลือง ชูเจ้า และต้านทักษิณ และอีกส่วน ซึ่งรวมถึง สหายธง แจ่มศรี ออกมาคัดค้านและสนับสนุนเสื้อแดงกับทักษิณ

จุดยืนของ สหายธง แจ่มศรีตรงนี้ ถือว่าก้าวหน้ากว่าอีกซีก เพราะเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมาก โดยเฉพาะคนจน แทนที่จะกอดคอกับทหารเผด็จการและพวกอวยเจ้า

อย่างไรก็ตามจุดยืนของสหายธง แจ่มศรี ไม่ได้มาจากเงื่อนไขการเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมากเป็นหลัก แต่มาจากมุมมองที่แสวงหาแนวร่วมกับนายทุน ตามสูตร “ปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” ของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

ในความเป็นจริงจุดยืนของ พคท. สายเสื้อเหลืองก็เริ่มจากจุดยืนนี้เหมือนกัน แต่มีการทำให้การแสวงหาแนวร่วมกับชนชั้นนายทุน แปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไปยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้ออ้างในการไปจับมือกับพวกเสื้อเหลือง ปรากฏการณ์นี้ไม่แตกต่างจากพวกสายเอ็นจีโอที่ไปเข้ากับเสื้อเหลืองด้วย

การวิเคราะห์สังคมไทยตามแนว เหมาเจ๋อตุง และ สตาลิน ของ พคท. ที่เคยเสนอว่าไทยยังเป็นสังคม “กึ่งศักดินา” ที่มีความขัดแย้งระหว่างศักดินากับนายทุนดำรงอยู่ พร้อมกับการมีลักษณะ “กึ่งเมืองขึ้น” ของสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ข้อเสนอของ พคท. ว่าการปฏิวัติไทยในขั้นตอนแรกยังไม่ควรนำไปสู่สังคมนิยม แต่ควรเป็นการปฏิวัติชาตินิยมเพื่อสร้างประชาธิปไตยทุนนิยม ในรูปธรรมมันแปลว่า พคท. พร้อมจะทำแนวร่วมข้ามชนชั้นกับชนชั้นนายทุนไทย เพื่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่าพวกขุนศึกและศักดินา มันมีต้นกำเนิดจากลัทธิสตาลินในรัสเซีย ที่ต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกทำแนวร่วมกับนายทุน เพื่อปกป้องเสถียรภาพของรัสเซียด้วยการลดศัตรู มันกลายเป็นแนวกู้ชาติ และมันเป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งกับจุดยืนหลักของนักมาร์คซิสต์ อย่างมาร์คซ์ เลนิน หรือตรอทสกี้ เพราะมีการเสนอให้กรรมาชีพและชาวนาร่วมมือกับนายทุนผู้เป็นศัตรู และชะลอการต่อสู้เพื่อสังคมนิยม [ดู “สังคมนิยมจากล่างสู่บน” https://bit.ly/2vbhXCO  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง(บทเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์) https://bit.ly/1sH06zu   และ “แนวของตรอทสกี้”  https://bit.ly/2zCPB5h ]

yai1

การปฏิวัติในจีน ลาว เวียดนาม และที่อื่นที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศด้อยพัฒนา จึงมีลักษณะชาตินิยมเป็นหลัก เป้าหมายกลายเป็นการสร้างระบบทุนนิยม และไม่ใช่การปฏิวัติที่นำโดยชนชั้นกรรมาชีพหรือแม้แต่ชาวนาแต่อย่างใด ในรูปธรรมสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องความอ่อนแอของทุนชาติในประเทศเหล่านั้น แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเข้ามาเป็น “นายทุนรัฐ” เสียเอง จึงเกิดระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ซึ่งในปัจจุบันแปรธาตุไปเป็นทุนนิยมตลาดเสรีภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ในจีน ลาว หรือเวียดนาม

การวิเคราะห์สังคมไทยโดย พคท. ในยุคหลัง ๖ ตุลา มีปัญหามาก เพราะระบบศักดินา ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิ้นไปจากสังคมไทยในยุครัชกาลที่ ๕ และประเทศไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด ในความจริงรัฐไทยเป็นรัฐทุนนิยมที่เอื้อกับระบบทุนนิยมไทยในโลกที่มีอำนาจจักรวรรดินิยมดำรงอยู่ คือประเทศใหญ่มีอำนาจมากกว่าประเทศเล็กโดยไม่ต้องนำมาเป็นเมืองขึ้น [ดู “การเปลี่ยนแปลงจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย” https://bit.ly/2ry7BvZ   และ “การเมืองไทย” https://bit.ly/2t6CapR ]

แต่ปัญหาใหญ่สุดของแนว พคท. คือการที่ไม่นำการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมโดยมีชนชั้นกรรมาชีพเป็นศูนย์กลางการต่อสู้ แต่กลับไปเน้นการสร้างชาติโดยจับมือกับนายทุน

ฝ่ายซ้ายในวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ต้องสนับสนุนคนชั้นล่างในการต่อสู้กับเผด็จการ เพื่อสร้างประชาธิปไตย โดยเน้นผลประโยชน์ของกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจนเป็นหลัก และต้องพยายามสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ไม่ใช่ไปอวยนักการเมืองนายทุนอย่างทักษิณที่หักหลังการต่อสู้ของเสื้อแดงด้วยการเสนอนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือการยุติบทบาทของเสื้อแดงเพื่อหวังประนีประนอมกับทหาร และในปัจจุบันมันแปลว่าต้องไม่สร้างความหวังในพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือสร้างความหวังในระบบรัฐสภาภายใต้เผด็จการประยุทธ์ คือต้องเน้นการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาเป็นหลัก [ดู “มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทย” https://bit.ly/3112djA ]

20190714-img_9312

สำหรับสหายธง แจ่มศรี เขาไม่เคยทิ้งจุดยืนสามัคคีข้ามชนชั้นแบบสตาลิน-เหมา ทั้งๆ ที่มีการปรับในภายหลังว่าไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอีกแล้วตั้งแต่มีการถอนทหารออกไปในปี ๒๕๑๙

สหายธง แจ่มศรี เคยเขียนในปี๒๕๕๒ ว่า “ผมเห็นว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมทุนนิยมแล้วในด้านเศรษฐกิจ แต่ภาคการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและความคิดของผู้คนในสังคมยังไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย…..  หลังเหตุการณ์ ๑๔  ตุลา  ๒๕๑๖  เป็นต้นมา  ศักดินามีบทบาทนำสูงสุดในการบงการรูปแบบการเมืองการปกครองของไทย เช่นรูปแบบการเลือกตั้ง การรัฐประหาร ประชาธิปไตยครึ่งใบเหล่านี้เป็นต้น….. ดังนั้นขณะนี้สังคมไทยถูกปกครองโดย “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  เพราะได้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าสถาบันนี้อยู่เหนือรัฐ กลไกรัฐไม่สามารถควบคุมได้ (ไม่มีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย) ซึ่งกลุ่มนี้ได้พัฒนาตนเองเป็น “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

สหายธง แจ่มศรี เสนออีกว่า “ทักษิณ ชินวัตร มีแนวคิดทุนนิยมเสรีใหม่ และเป็นกลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มใหม่ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

ในความเป็นจริงเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เป็น “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  แต่เราอยู่ในสังคมที่ถูกครอบงำโดยเผด็จการทหารที่จับมือกับนายทุนและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม [ดู “อำนาจกษัตริย์” https://bit.ly/2GcCnzj ] นอกจากนี้ ทั้งๆ ที่ สหายธงเสนอว่า “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ” มีความสัมพันธ์กับทุนโลกาภิวัตน์ แต่เขาวิเคราะห์ทักษิณว่าเป็น “นายทุนเสรีนิยมใหม่” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสับสนเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะฝ่ายเหลือง ประชาธิปัตย์ และทหารเผด็จการคลั่งกลไกตลาดเสรีมากกว่าทักษิณ ทักษิณใช้กลไกตลาดผสมเศรษฐกิจนำโดยรัฐ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจน สิ่งที่ไทยรักไทยเรียกว่าเศรษฐกิจคู่ขนาน

D_FxFoOUwAE8FgZ

ข้อดีของ พคท. และจุดยืนของ สหายธง แจ่มศรี ไม่ใช่เนื้อหาการวิเคราะห์สังคมไทยที่ผิดพลาด หรือการเสนอแนวร่วมกับนายทุน แต่เป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ไม่จำเป็นต้องสนใจรัฐสภาเป็นหลัก และการที่เขาพยายามเสนอแนวทางในการต่อสู้ผ่านการศึกษาและพัฒนาทฤษฏี เรายังรอวันที่จะมีการสร้างพรรคแบบนั้นขึ้นมาใหม่ในไทย

การหักหลังประชาชนกรีซของพรรค “ไซรีซา”

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

ในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่กรีซ พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” แพ้การเลือกตั้งหลังจากที่เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2015

 

0914e64d80be42c19bea83482cac7c3b_18
พรรคนายทุนชนะการเลือกตั้ง

การกลับมาของพรรคนายทุนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับผู้ที่ติดตามการเมืองกรีซแต่อย่างใด เพราะ “ไซรีซา” เคยชนะการเลือกตั้งโดยสัญญากับประชาชนว่าจะต่อสู้กับนโยบายรัดเข็มขัดและเสรีนิยมกลไกตลาดที่ทำลายชีวิตกรรมาชีพกรีซ แต่ไปๆมาๆ “ไซรีซา” กลับยอมจำนนต่อคำสั่งของสหภาพยุโรปทุกประการ ซึ่งนำไปสู่การตัดสวัสดิการและงบประมาณรัฐมากกว่าเดิม ถือว่าเป็นการหักหลังประชาชนกรีซอย่างร้ายแรง

 

SW-SUPPORT-GREECE-1067x600

 

การหักหลังประชาชนเริ่มเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมปี 2015 เพียง 7 เดือนหลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง รัฐบาล “ไซรีซา” ได้จัดประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะรับเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟอยากจะบังคับใช้กับกรีซหรือไม่ ปรากฏว่าประชาชนเกิน 60% ลงคะแนนไม่รับ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ของอียูและไอเอ็มเอฟ เป็นการตัดสวัสดิการมหาศาลและการขึ้นภาษีให้กับคนจน และมีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่แล้ว แต่ประชาชนยังไม่ทันลงคะแนนเสร็จในประชามติ รัฐบาล “ไซรีซา” ก็คลานเข้าไปหาอียูและไอเอ็มเอฟ เพื่อรับเงื่อนไขที่แย่กว่าเดิม

 

a-yanis-17-tsipras-merkel

 

ทำไมพรรคไซรีซาถึงยอมจำนนต่อกลุ่มทุนง่ายๆ แบบนี้? มีสองสาเหตุหลักคือ

 

1. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่หลงเชื่อว่าสหภาพยุโรป(อียู)เป็นสิ่งที่ “ก้าวหน้า” แทนที่จะเข้าใจว่ามันเป็น “สมาคมกลุ่มทุนใหญ่” ที่ยึดถือผลประโยชน์ทุนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ “ไซรีซา” จึงคิดผิดว่าฝ่ายรัฐบาลและอำนาจทุนในยุโรปจะฟังเหตุผลและพยายามช่วยกรีซ แต่กลุ่มทุนในอียูประกาศตบหน้าประชาชนกรีซว่าเขาไม่สนใจผลการลงคะแนนเสียงในประชามติแต่อย่างใด มันเป็นเผด็จการทุนเหนือประชาธิปไตยกรีซ ที่สำคัญที่สุดคือ “ไซรีซา” ทำทุกอย่างที่จะอยู่ต่อในสกุลเงินยูโร แต่การยึดติดกับสกุลเงินยูโรเป็นการมอบอำนาจทางเศรษฐกิจให้ธนาคารกลางของยุโรปและยอมจำนนต่อเงื่อนไขรัดเข็มขัด ในรอบหลายเดือนรัฐบาล “ไซรีซา” พยายามประนีประนอมกับอียูและไอเอ็มเอฟ และการจัดประชามติก็ทำไปเพื่อต่อรองเท่านั้น แต่มันไม่เคยเพียงพอสำหรับพวกตัวแทนนายทุนเหล่านั้น ความคิดของไซรีซาจึงมีความขัดแย้งในตัวสูง และมันเป็นการตั้งความหวังกับโครงสร้างรัฐกับทุนที่ตนเองหลงคิดว่าก้าวหน้า แทนที่จะฝากความหวังไว้กับกรรมาชีพกรีซและกรรมาชีพในประเทศอื่นๆ ของยุโรป

 

2. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่พัฒนามาจากบางส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่รับแนวปฏิรูปในอดีต นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและฝ่ายซ้ายปฏิวัติบางกลุ่มเข้ามาร่วม ก่อนที่จะชนะการเลือกตั้ง “ไซรีซา” จะมีจุดยืนไม่ชัดเจนระหว่างการปฏิวัติล้มทุนนิยม กับการปฏิรูปประนีประนอมกับทุน คือคลุมเครือเรื่องปฏิวัติกับปฏิรูป ทั้งในประเด็นระบบเศรษฐกิจและระบบรัฐ เพราะมองว่าสภาพโลกปัจจุบันมัน “ข้ามพ้นปัญหาแบบนี้ไปแล้ว” จุดยืนนี้พา “ไซรีซา” ไปให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและรัฐสภามากเกินไป และละเลยความสำคัญของการเชื่อมโยงกับพลังกรรมาชีพและขบวนการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา ดังนั้น “ไซรีซา” พยายามใช้ผลของประชามติในการเจรจากับอียูเท่านั้น แทนที่จะปลุกระดมและใช้พลังการนัดหยุดงาน หรือการประท้วงนอกสภา เพื่อการจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและการเมือง และที่สำคัญด้วยคือ สส.ซีกซ้ายภายใน “ไซรีซา” หมดสภาพในการค้านแกนนำพรรคจนหดหู่ และทั้งๆ ที่พวกนี้โดนแกนนำเขี่ยออกจากตำแหน่งใน ครม. แต่ก็ยังเน้นแต่การปกป้องรักษาพรรค หลงคิดว่าจะเปลี่ยนนโยบายพรรคได้จากภายใน และที่สำคัญที่สุดคือละเลยการปลุกระดมขบวนการนอกรัฐสภา มันเป็นบทเรียนสำคัญว่าฝ่ายซ้ายต้านทุนนิยม หรือฝ่ายซ้ายปฏิวัตินั้นเอง จะต้องรักษาองค์กรของตนเองและอิสระจากแนกนำในแนวร่วมใหญ่ ในขณะที่ร่วมสู้กับคนที่อยู่ในแนวร่วมกว้างที่ต้องการต้านนโยบายรัดเข็มขัดหรือเผด็จการของกลุ่มทุน

 

ต้นกำเนิดของวิกฤตกรีซ

วิกฤตหนี้กรีซเกิดจากการปล่อยกู้ให้ประเทศในยุโรปใต้โดยธนาคารเยอรมันและสถาบันการเงินในยุโรปเหนือ มีการปล่อยกู้ให้ธนาคารเอกชนในกรีซ ซึ่งปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชนอีกที จากมุมมองเยอรมันการปล่อยกู้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในยุโรปใต้ซื้อสินค้าจากเยอรมัน ซึ่งมีผลในการกระต้นเศรษฐกิจเยอรมัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมันก็กดค่าแรงกรรมาชีพเยอรมันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบนี้ของเยอรมันทำให้กรีซและประเทศในยุโรปใต้แข่งขันกับเยอรมันไม่ได้ ส่งออกให้ยุโรปเหนือยากขึ้น ขาดดุลการค้า การเป็นหนี้แบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติและมีการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวกรีซจากสภาพเดิมที่ยากจนพอสมควร แต่มันกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ระเบิดขึ้นในขั้นตอนแรกที่สหรัฐเมื่อปี 2008

วิกฤตเศรษฐกิจโลกนี้มาจากการลดลงของอัตรากำไร และการพยายามปั่นหุ้นและหากำไรในภาคไฟแนนส์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้คนจนซื้อบ้าน มันเป็นการพนันเพื่อหากำไรแทนที่จะลงทุนในภาคการผลิต

เมื่อเกิดวิกฤตโลก ธนาคารกรีซใกล้ล้มละลาย และรัฐก็เข้ามาอุ้มหนี้ คือแปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ และที่เลวร้ายกว่านั้นคือบริษัทซื้อขายหุ้นก็ขายหนี้กรีซให้ “บริษัทอีแร้ง” ที่หากำไรจากการเก็บหนี้ มีการกดดันให้ดอกเบี้ยเพิ่มทวีคูณไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้หนี้กรีซสูงขึ้นถึงขั้นไม่มีวันจ่ายคืนได้

ในที่สุด ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางอียู และฝ่ายบริหารอียู ก็บังคับให้รัฐบาลชุดก่อนๆ ของกรีซจ่ายหนี้คืนผ่านการตัดสวัสดิการและการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน คนตกงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการเก็บภาษีหรือทวงหนี้จากคนรวยหรือกลุ่มทุนกรีซ แม้แต่บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ของเยอรมันที่สร้างและเคยเป็นเจ้าของสนามบินที่กรีซ ก็ไม่ได้จ่ายภาษีเลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้บริษัทกรีซหลายแห่งถูกซื้อโดยกลุ่มทุนจากยุโรปเหนือ และบริษัทเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกู้เงินในอดีตอีกด้วย

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “เงินช่วยเหลือ” ที่ธนาคารอียูและไอเอ็มเอฟส่งให้กรีซ ไม่เคยถึงมือประชาชนที่ยากลำบากเลย เพราะ 90% ถูกส่งกลับให้ธนาคารในยุโรปเพื่อจ่ายหนี้ต่างหาก และหนี้สินกรีซก็ทวีคูณอย่างต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ นับว่า “ยารักษาโรค” ของกลุ่มอำนาจอียูที่ยิ่งทำให้คนไข้อาการหนักขึ้นบนพื้นฐานการยึดผลประโยชน์กลุ่มทุนและความเดือดร้อนของประชาชนธรรมดา มันเป็นเรื่องชนชั้นชัดๆ มันไม่เกี่ยวกับรัฐชาติ

 

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Joseph Stiglitz และ Paul Krugman เคยวิจารณ์ว่ามาตรการแบบนี้จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงและคนเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ และทั้งสองคนเคยมองว่าประชาชนกรีซควรจะ “โหวตไม่รับ” เงื่อนไขในประชามติ

 

ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภากรีซ สมาชิกพรรค “ไซรีซา” เอง และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังสองคนนี้ เคยเสนอว่าศูนย์อำนาจในสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟต้องการที่จะล้มรัฐบาลกรีซที่มาจากการเลือกตั้งหรืออย่างน้อยทำให้หมดสภาพ เพื่อไม่ให้ประชาชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสเปน อิตาลี่ ไอร์แลนด์ หรือปอร์ตุเกส ได้กำลังใจในการออกมาต้านนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของพวกเสรีนิยม มันเป็นการต่อสู้ทางการเมือง

 

เราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจเผด็จการไปได้สวยกับการบังคับใช้มาตรการกลไกตลาดเสรี

 

athensbudget1
พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซ

 

สำหรับพรรคกรรมาชีพสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาในกรีซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม “แอนตาซียา”เคยมีการเสนอว่าต้องออกจากสกุลเงินยุโรป ชักดาบไม่ยอมจ่ายหนี้ให้ไอเอ็มเอฟ และยึดธนาคารต่างๆ มาเป็นของรัฐ ที่สำคัญคือต้องใช้พลังกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และพลังมวลชนบนท้องถนน ในการเข้ามาควบคุมและบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในระยะสั้นต้องมีการจัดตั้งเตรียมตัวนัดหยุดงานและร่วมสู้กับการรัดเข็มขัด แต่น่าเสียดายที่พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซเล็กเกินไปที่จะสร้างกระแสการต่อสู้ที่มีพลังเพียงพอ

 

ในช่วงแรกที่ “ไซรีซา” เป็นรัฐบาล มีกลุ่มฝ่ายซ้ายในบางประเทศ เช่นในออสเตรเลีย ที่ฝากความหวังไว้กับ “ไซรีซา” โดยไม่วิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียด

 

บทเรียนสำคัญจากกรีซคือ การเน้นการเมืองในรัฐสภาอย่างเดียว และการพยายาม “ทำงานในระบบ” มักนำไปสู่การยอมจำนนและหักหลังความฝันของกรรมาชีพผู้ทำงานเสมอ

 

201229195147950734_20

 

ความหวังแท้ของกรรมาชีพกรีซตอนนี้คือการลุกขึ้นสู้ผ่านการนัดหยุดงาน ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว พร้อมกับการสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมนอกรัฐสภาให้เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่

 

อย่าฝันเลยว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญ สร้างประชาธิปไตย หรือสร้างความยุติธรรม ถ้าไม่มีขบวนการมวลชน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกวันนี้เราเห็นกระบวนการของ “รัฐประหารยาว” ที่ประยุทธ์และแก๊งโจรเริ่มลงมือทำตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การร่วมมือกับสลิ่ม ม็อบสุเทพ และพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อล้มการเลือก ตั้งเปิดประตูให้มีการทำรัฐประหารโดยประยุทธ์ แต่การทำลายประชาธิปไตยครั้งนั้นมันเป็นเพียงการต่อยอดสิ่งที่ทหารเผด็จการ ศาลเตี้ย และพวกสลิ่มเสื้อเหลือง รวมถึงเอ็นจีโอ ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้ตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา และ “รัฐประหารยาว” ครั้งนี้ไม่ได้จบลงด้วยการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ เพราะมีการวางกติกาการเลือกตั้ง และสร้างสถาบันของเผด็จการเพิ่มขึ้นให้มีลักษณะถาวร เช่นการแต่งตั้งวุฒิสภากับศาล การออกกฏหมายเพื่อโกงการเลือกตั้ง และการประกาศใช้ยุทธศาสตร์แห่งชาติ ๒๐ ปี

ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเพียงแต่เป็นการเล่นละครของเผด็จการ จะมีหรือไม่มีรัฐบาลใหม่ก็ไม่สำคัญเพราะ คสช. ก็ยังอยู่และปฏิบัติเหมือนเดิม แถมจอมเผด็จการประยุทธ์ก็ออกมาขู่ว่าถ้าไม่พอใจเมื่อไร มันพร้อมจะนำรถถังออกมาเพื่อล้มประดานอีก

423027

จริงๆ แล้วเราไม่ต้องอธิบายให้ใครฟังว่าสภาพการเมืองไทยแย่แค่ไหน เพราะมันเห็นชัด นอกจากการที่แก๊งประยุทธ์ยังครองอำนาจเหมือนเดิมแล้ว เราเห็นจากการทำร้ายคนอย่างจ่านิว หรือการเข่นฆ่าหรือไล่ขู่ฆ่าคนอย่างอาจารย์สุรชัยและผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อบ้าน

คนที่มองไม่ออกว่านี่คือเผด็จการ เป็นคนที่เลือกจะไม่มอง เพราะชื่นชมเผด็จการอยู่แล้ว

แต่ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยเข้าใจดีว่าเรายังอยู่ภายใต้เผด็จการ ทั้งๆ ที่บางคนเคยปิดหูปิดตาถึงความจริงและเคยฝันว่าการเลือกตั้งจะนำประชาธิปไตยกลับมา

ประเด็นที่เราควรจะคุยกันอย่างจริงจังคือเราจะทำอย่างไร อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจในแผ่นดินแทนคณะทหาร

เวลาเราพิจารณาเส้นทางต่อสู้ เราควรจะคำนึงถึงวิธีการที่ฝ่ายเผด็จการทำลายประชาธิปไตยมาตั้งแต่การชุมนุมของเสื้อเหลืองและการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา

สิ่งที่ชัดเจนคือการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง และการทำลายรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ไม่ได้ทำผ่านรัฐสภา หรือผ่านการใช้กลไกของกฏหมาย หรือกติกาของระบบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ดังนั้นการลบผลพวงของเผด็จการจะอาศัยการใช้ระบบรัฐสภาหรือกฏหมายหรือกติกาที่ฝ่ายเผด็จการออกแบบมาใช้ได้อย่างไร?

มีนักกิจกรรมและนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยไม่น้อย ที่มองว่าเราขาดประชาธิปไตย เสรีภาพ หรือความยุติธรรม แต่พูดเป็นนามธรรมอย่างเดียวว่าจะต้อง “แก้รัฐธรรมนูญ” หรือ “ปฏิรูปกองทัพ” โดยที่ไม่เสนอวิธีการอย่างชัดเจนที่ตรงกับโลกจริง

แล้วจะทำได้อย่างไรถ้าแค่อาศัยสส. ในรัฐสภา และกติกาของเผด็จการ?

คำตอบคือทำไม่ได้ ใครๆ ที่เคยฝันว่าการเลือกตั้งภายใต้กติกาเผด็จการจะเปลี่ยนอะไร ควรจะยอมรับได้แล้วว่ามันถึงทางตันในการใช้รัฐสภาหรือกฏหมายกติกาโจรมาล้มเผด็จการ ควรจะมีการสรุปกันแล้วว่าต้องสร้างพลังนอกรัฐสภาของมวลชนจำนวนมาก

บางคนพูดถึง “ภาคประชาชน” แต่เราต้องชัดเจนว่า “ภาคประชาชน” คือใครและคืออะไร เพราะที่แล้วมาพวกเอ็นจีโอที่เคยช่วยโบกมือเรียกเผด็จการก็ชอบเรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน”

ควรจะพูดให้ชัดว่าต้องมีการลงมือสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่มีมวลชน ตัวอย่างที่ดีในอดีตคือขบวนการเลื้อแดง แต่รอบนี้เราต้องสร้างให้ดีกว่าและไปไกลกว่าเสื้อแดง คือต้องอิสระจากพรรคการเมืองกระแสหลักประเภทที่ต้องการประนีประนอมหรือคอยชะลอการต่อสู้ และต้องเชื่อมโยงกับขบวนการแรงงานและคนรุ่นใหม่ มันควรมีหน้าตาคล้ายๆ ขบวนการประท้วงที่ฮ่องกง (ดูภาพ)

8c28952358d6402da804eb83814f4f27_18

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบนี้มันไม่เกิดขึ้นเอง มันไม่เกิดขึ้นจากความหวังของผม มันไม่เกิดขึ้นจากบทความที่พวกเราเขียน และมันไม่เกิดจากคำประกาศหรือการถกเถียงในโซเชียลมีเดีย มันต้องมีคนตัวจริงคุยกับคนตัวจริงต่อหน้าต่อตา มันต้องมีการประชุม และมันต้องมีการจัดตั้ง

อ่านเพิ่ม “เราจะสู้อย่างไร?” https://bit.ly/2RQWYP4