อียิปต์ ประชาชนเริ่มหายกลัว

ใจ อึ๊งภากรณ์

การประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีนายพล เอล์ซิซี ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาในเมืองไคโร อะเล็กซานเดรีย และสุเอซ เป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมัวที่ปกคลุมประเทศอียิปต์มาตั้งแต่ปี 2013 หลังจากที่การปฏิวัติลุกฮือ “อาหรับสปริง” ถูกทำลายโดยกองทัพ

7431bdc60584405eafdb3b144857fc1c_18

ในเมืองมาฮาลา ซึ่งเป็นเมืองที่มีย่านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็มีการประท้วงเช่นกัน มาฮาลา เคยเป็นศูนย์กลางการประท้วงของกรรมาชีพที่ล้มมูบารัคใน“อาหรับสปริง”

ตั้งแต่กรกฏาคมปี 2013 เมื่อกองทัพไฮแจ๊กการประท้วงที่ต่อต้านประธานาธิบดี มูรซี่ จากพรรคมุสลิม และก่อรัฐประหารเพื่อตั้งคณะทหารเผด็จการ ตามด้วยการเลือกตั้งนายพล เอล์ซิซี หัวหน้ากองทัพ เป็นประธานาธิบดีท่ามกลางความสับสนของประชาชน รัฐบาลได้จับนักโทษการเมืองเข้าคุก 40,000 คน และฆ่าประชาชนกว่า 3000 คน นอกจากนี้ประชาชนหลายร้อยคนก็ “หายไป”

77937380100387640360no
ทรราชอียิปต์ได้รับคำชมจากประธานาธิบดีสหรัฐ

ปัจจุบันนี้อียิปต์มีรัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา” ไม่ต่างจากไทย เพราะกองทัพใช้กลไกต่างๆ เพื่อโกงการเลือกตั้ง แต่ข้อแตกต่างจากไทยคือตอนนี้เริ่มมีการชุมนุมของมวลชนบนท้องถนนท่ามกลางการปราบปรามอย่างโหดร้ายของทหาร ที่ใช้ทั้งก๊าซน้ำตา กระสุนยาง และกระสุนจริง

combo-egypt-protest-politics_9c9ab2e4-ddea-11e9-a910-fb95b571a1f5

สิ่งที่จุดประกายการลุกฮือครั้งนี้ในอียิปต์ คือการใช้อินเตอร์เน็ดและโซเชียลมีเดีย เพื่อเปิดโปงการคอรรับชั่นของประธานาธิบดีนายพล เอล์ซิซี  โดยนักธุรกิจชื่อ มูฮัมหมัด อาลี ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ มีการปลุกระดมให้คนออกมาประท้วง

แต่เบื้องหลังความโกรธแค้นของประชาชนที่นำไปสู่การลุกฮือครั้งนี้คือสภาพเศรษฐกิจ และการขาดสิทธิเสรีภาพโดยสิ้นเชิง

Protests-break-out-in-Egypt-calling-for-Sisis-removal

รัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา” ของทหารอียิปต์ ได้ใช้นโยบายรัดเข็มขัดตามแนวเสรีนิยมสุดขั้วขององค์กร ไอเอ็มเอฟ มาตั้งแต่ปี 2016 ผลคือประชาชนหนึ่งในสามมีสถานภาพต่ำกว่าเส้นความยากจน คือมีรายได้น้อยกว่า US$1.40 ต่อวัน

เนื่องจาก มูฮัมหมัด อาลี เคยเป็นนักธุรกิจที่ร่วมมือกับเผด็จการทหารแล้วแตกแยกกับพวกนั้น วัตถุประสงค์ของเขาคงจะไม่ใช่เพื่อสร้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพให้กับคนส่วนใหญ่ แต่วิดีโอที่เขาโพสต์ในอินเตอร์เน็ด กลายเป็นชนวนที่ทำให้คนตัดสินใจที่จะออกมาประท้วง

5f9e5-revsoa2statement

“องค์กรสังคมนิยมปฎิวัติอียิปต์” ได้ออกแถลงการณ์ชื่นชมความกล้าหาญของประชาชนที่ออกมาประท้วง และตั้งข้อสังเกตว่าประชาชนเริ่มหายกลัว แต่ที่สำคัญคือประชาชนจะต้องจดจำบทเรียนจากการลุกฮือคราวที่แล้ว โดยเฉพาะตอนที่มีการขับไล่ประธานาธิบดี มูรซี่ เพราะในสถานการณ์แบบนี้มักจะมีคนฉวยโอกาสยึดอำนาจ แทนที่อำนาจจะตกอยู่ในมือประชาชน สิ่งที่ควรจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการประท้วงครั้งนี้คือการผลักดันให้ทหารออกจากรัฐบาลและการเมืองโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่ขับไล่นายพล เอล์ซิซี คนเดียว

สองปีหลังการลุกฮือ “อาหรับสปริง” ประธานาธิบดี มูรซี่ จากพรรคมุสลิม ปกครองประเทศแต่ไม่ทำอะไรเพื่อเปลี่ยนระบบ และหันไปจับมือกับทหารและสหรัฐอเมริกา ประชาชนจำนวนมากจึงออกมาแสดงความไม่พอใจกับรัฐบาลในปี 2013 แต่ในยุคนั้นประชาชนจำนวนมากถูกหลอกให้ไว้ใจกองทัพ ซึ่งในที่สุดก็ยึดอำนาจและหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคเผด็จการก่อนปี 2011

คราวนี้มวลชนไม่ควรไว้ใจใครที่มาจากกลุ่มอำนาจเก่าหรือกลุ่มนักธุรกิจ ประชาชนต้องนำตนเองจากรากหญ้า แต่ต้องมีการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อสร้างการนำและเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้มีแต่การลุกฮือตามธรรมชาติที่ไร้การจัดตั้ง

พวกเราในประเทศไทยที่กำลังต้านเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ควรศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์และที่อื่นอย่างดี และไม่หลงเชื่อว่าการค้านรัฐบาลในรัฐสภา หรือการตั้งความหวังกับ “ผู้ใหญ่” หรือนักธุกิจ จะนำไปสู่การสร้างสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2m88j1w  และ  https://bit.ly/2l6NZgJ

รัฐประหาร ๑๙ กันยา ทำลายความก้าวหน้าของสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ เป็นจุดเริ่มต้นของการแช่แข็งสังคมไทย และการทำลายความก้าวหน้าที่คนจำนวนมากเคยหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐

ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา มีการหมุนนาฬิกากลับสู่ความหล้าหลังของเผด็จการทหาร และมีการเสียเวลา เสียโอกาส ที่จะพัฒนาสังคมไทยให้ทันสมัยและมีความเป็นธรรม เราเสียโอกาสที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ เราเสียโอกาสที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของพลเมือง เราเสียโอกาสที่จะพัฒนาระบบการศึกษา และเราเสียโอกาสที่จะพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและการคมนาคม และสภาพเช่นนี้ยังดำรงอยู่ทุกวันนี้ภายใต้เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์

19 กย

ใครบ้างในไทยมีส่วนในการทำลายความก้าวหน้าของสังคม?

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์  พวกเจ้าพ่อทางการเมือง พวกนายทุนใหญ่ และนายธนาคารหลายส่วน โดยที่แนวร่วมนี้มักอ้างความชอบธรรมโดยพูดถึงการปกป้องสถาบันกษัตริย์

กษัตริย์ภูมิพลเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มนี้มานานและไม่เคยปกป้องประชาธิปไตยกับเสรีภาพ แต่ภูมิพลไม่เคยมีอำนาจทางการเมืองของตัวเอง

นอกจากนี้พวกที่สนับสนุนการทำลายสังคมผ่านการทำรัฐประหาร มีพวกสลิ่มชนชั้นกลางและกลุ่มเอ็นจีโอหลายกลุ่ม

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทยที่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ผ่านนโยบายที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม หรือพรรคของคนจนหรือกรรมาชีพ เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

นโยบายเศรษฐกิจของ ไทยรักไทย คือนโยบาย “คู่ขนาน” (Dual Track) ที่ใช้เศรษฐศาสตร์แนวเคนส์ (Keynesianism) ในระดับรากหญ้า คือใช้งบประมาณของรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน และใช้นโยบายตลาดเสรี (Neo-liberalism) ในระดับชาติ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีและการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ถึงแม้ว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้เคยมีการใช้ในประเทศอื่นในยุคต่างๆ และไม่ใช่อะไรที่ประดิษฐ์ใหม่ และเป็นนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวและธนาคารต่างๆ ไม่ยอมปล่อยกู้ นักวิชาการอนุรักษ์นิยมของไทยจำนวนมากไม่เข้าใจหรือจงใจไม่เข้าใจ และประกาศว่ารัฐบาลใช้แนวเศรษฐกิจ “ระบอบทักษิณ”  (Taksinomics) เหมือนกับว่านายกทักษิณเป็นคนบ้าที่เสนอนโยบายเพ้อฝันแบบแปลกๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด เช่นกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทย เป็นต้น พวกนี้ไม่พอใจที่ทักษิณและไทยรักไทยมีอำนาจทางการเมืองผ่านสัญญาทางสังคมกับประชาชนส่วนใหญ่ เขาไม่พอใจที่รัฐบาลมีการนำกิจการใต้ดินหลายอย่างมาทำให้ถูกกฎหมาย เขาไม่พอใจที่มีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อทหาร และคนชั้นสูงอย่างเดียว ดังนั้นเขาและนักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนเขา มักจะวิจารณ์นโยบายรัฐบาลว่า “ขาดวินัยทางการคลัง” ตามนิยามของพวกกลไกตลาดเสรีที่เกลียดชังสวัสดิการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพวกนี้มีอำนาจก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ เขาไม่เคยมองว่าการเพิ่มงบประมาณทหาร “ขาดวินัยทางการคลัง” แต่อย่างใด

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการขยันทำงานของประชาชนชั้นล่างล้านๆ คน พวกอำมาตย์อนุรักษ์นิยมเคยชินกับระบบนี้ เขาเคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัดกันกิน พวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญในการร่วมกินด้วย เขาจึงไม่พอใจและเกรงกลัวเวลานายทุนใหญ่ที่เป็นนักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร สามารถครองใจประชาชนและเริ่มมีอำนาจสูงกว่าอภิสิทธิ์ชนคนอื่นๆ โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า เวลาพวกอนุรักษ์นิยม คนชั้นกลาง หรือพันธมิตรฯเสื้อเหลือง พูดถึง “การคอร์รับชั่น”  “การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การใช้อำนาจเกินหน้าที่” ของทักษิณ เขาไม่ได้พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนธรรมดาที่มีมานาน หรือการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือการโกงกินของนักการเมืองทุกพรรค หรือของทหาร เขาหมายถึงปัญหาเฉพาะหน้าของพวกอภิสิทธิ์ชนที่เริ่มถูกเขี่ยออกจากผลประโยชน์ในคอกหมูมากกว่า นี่คือสาเหตุที่เขาทำรัฐประหาร เขาอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “ประชาธิปไตยคอกหมู” ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ นั้นเอง การปฏิกูลการเมืองภายใต้เผด็จการประยุทธ์ก็เป็นเช่นนี้

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้านไทยรักไทยด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ไทยรักไทยเคยเสนออีก คือต้องเสนอให้เพิ่มสวัสดิการและเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ด้วยการเพิ่มงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากคนรวย นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เกลียดชังอย่างถึงที่สุด เพราะพวกนี้เป็นพวกคลั่งนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว หรือนโยบาย “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ดังนั้นเขาจึงหันมาเกลียดชังอำนาจการลงคะแนนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ และตัดสินใจว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับรัฐบาลไทยรักไทย คือต้องทำรัฐประหาร และมีการพยายามโกหกว่า “ประชาชนที่เลือกรัฐบาลทักษิณเป็นคนโง่ที่ขาดการศึกษา”

FI-fists_0

ตราบใดที่เราไม่รื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดยพลเมืองระดับรากหญ้าและกรรมาชีพ เพื่อสร้างอำนาจประชาชนนอกรัฐสภา เราจะไม่มีทางหลุดพ้นจากความหล้าหลังที่มาจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ต้นกำเนิดความขัดแย้งและความรุนแรงในแคชเมียร์

ใจ อึ๊งภากรณ์

แคชเมียร์ หรือที่เรียกกันเต็มๆ ว่า “จัมมูและแคชเมียร์” เป็นพื้นที่ที่มีทหารยึดครองหนาแน่นที่สุดในโลก คาดว่าทหารอินเดีย 5 แสนคนคุมพื้นที่ที่มีประชากรแค่ 7 ล้านคน และตั้งแต่ปี 2016 กองกำลังของอินเดียได้ใช้ปืนยิงนกในการปราบการเดินขบวนประท้วงของประชาชน โดยจงใจทำให้คนตาบอด นอกจากนี้มีการอุ้มฆ่า ทรมาน และข่มขืนประชาชนชาวมุสลิม โดยทหารอินเดียอีกด้วย

pellets-640-535x472

images

ต้นกำเนิดของความขัดแย้งและความรุนแรงมาจากการปกครองของอังกฤษ ทีใช้วิธีการแบ่งแยกเพื่อปกครองมาตลอด และในยุคที่มีการยอมยกเอกราชให้อินเดีย ผลของการแบ่งแยกเพื่อปกครองนั้นก็สำแดงออกมาในความขัดแย้งนองเลือดระหว่างคนมุสลิมกับคนฮินดู

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่ขบวนการกู้ชาติอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็ว อังกฤษจงใจสนับสนุน “สันนิบาตมุสลิม” ที่หนุนอังกฤษในสงครามโลกและขัดขาขบวนการกู้ชาติ และเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ อังกฤษสัญญาว่าจะแบ่งแยกอาณานิคมอินเดีย เป็นอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของ“สันนิบาตมุสลิม”  และเป็นการแบ่งแยกประเทศตามศาสนา

download
พรรคคองเกรส
download (1)
สันนิบาตมุสลิม

พอใกล้เวลาที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากอินเดีย “พรรคคองเกรส” ที่เคยต้านอังกฤษและคัดค้านการแบ่งแยกประเทศก็เปลี่ยนใจยอมรับ สาเหตุหลักคือพรรคคองเกรสกลัวว่าถ้าไม่รีบแบ่งแยกประเทศ มวลชนชาวอินเดียจากทุกศาสนาจะสามัคคีรวมตัวกันลุกฮือ และอิทธิพลของพรรคคองเกรสจะหายไปท่ามกลางกระแสการเมืองซ้ายที่ก้าวหน้ามากกว่า

เมื่อเกิดการแบ่งแยกประเทศ ประชาชนจำนวนมากพบว่าตนอยู่ในเขต “ผิด” เพราะไม่ได้นับถือศาสนาเหมือนคนส่วนใหญ่ในเขตนั้น การปลุกระดมความเกลียดชังของคนต่างศาสนา ซึ่งมาจากนโยบายของอังกฤษ และความพยายามเบี่ยงเบนความเดือดร้อนของประชาชนไปสู่แพะรับบาปโดยนักการเมือง นำไปสู่การนองเลือด คาดว่าคนเป็นแสนเสียชีวิต และประชาชนนับล้านต้องหนีข้ามพรมแดนกัน

ประเทศใหม่สองประเทศที่เกิดขึ้น อินเดีย กับ ปากีสถาน(ซึ่งตอนนั้นรวมถึงบังคลาเทศ) กลายเป็นคู่ขัดแย้ง โดยเฉพาะในเรื่องแคชเมียร์ ปากีสถานถูกปกครองในรูปแบบเผด็จการทหารหลายปีโดยเจ้าครองที่ดินและพ่อค้าใหญ่ชาวมุสลิมมีอิทธิพลสูง ส่วนอินเดียปกครองผ่านระบบประชาธิปไตยโดย “พรรคคองเกรส” ที่อ้างว่าไม่อิงศาสนา แต่ในทางปฏิบัติมีความสัมพันธ์กับพวกที่เน้นความเป็นใหญ่ของชาวฮินดู

ในสมัยที่อินเดียกับปากีสถานได้เอกราช คนส่วนใหญ่ในจัมมูและแคชเมียร์เป็นคนมุสลิมแต่ปกครองโดยเจ้าที่นับถือศาสนาฮินดู และในขณะที่ผู้ปกครองคนนี้ไม่ยอมเลือกข้างระหว่างอินเดียกับปากีสถาน “กองโจร”ติดอาวุธจากปากีสถาน และทหารของอินเดีย ก็ข้ามพรมแดนเข้ามาเพื่อแย่งชิงพื้นที่ ในที่สุดสหประชาชาติก็แบ่งแยกแคชเมียร์ระหว่างปากีสถานกับอินเดีย โดยมีการสัญญาว่าจะมีการทำประชามติให้ประชาชนเลือกว่าอยากจะปกครองกันอย่างไร ประชามตินั้นไม่เคยเกิดขึ้น

คาดว่าคนส่วนใหญ่คงจะอยากมีประเทศอิสระของตนเองที่ไม่ขึ้นกับอินเดียหรือปากีสถาน เพราะมองว่าไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ใครก็จะไม่มีเสรีภาพ

india-kashmir-protests_d2b59a9e-519b-11e6-8d8d-a42edc5c5383

สถานการณ์ในจัมมูและแคชเมียร์ค่อยๆ เข้าสู่ขั้นวิกฤต หลังจากที่พรรคคองเกรสแพ้การเลือกตั้ง และนเรนทรา โมดี จาก “พรรคภารตียชนตา” ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี “พรรคภารตียชนตา” เป็นพรรคของคนคลั่งศาสนาฮินดู และโมดี มีประวัติในการปลุกระดมความรุนแรงต่อชาวมุสลิมอีกด้วย

modi
นเรนทรา โมดี

ปีนี้รัฐบาลอินเดียภายใต้โมดี ได้ยกเลิกมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิในการปกครองตนเองระดับหนึ่งกับชาวแคชเมียร์ และยกเลิกมาตรา 35A ที่ปกป้องการยึดครองที่ดินของคนพื้นเมืองในแคชเมียร์ เพราะโมดีต้องการส่งเสริมให้ชาวฮินดูจากอินเดียเข้าไปถือครองที่ดิน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มจำนวนคนฮินดูและเปิดทางให้กลุ่มทุนอินเดียเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ ในขณะที่ประกาศนโยบายใหม่มีการจับคุมนักการเมืองและปิดระบบโทรคมนาคมพร้อมๆ กับการใช้ความรุนแรงของทหาร

pic_1565162567

พื้นที่แคชเมียร์ล้มอรอบด้วยมหาอำนาจติดอาวุธนิวเคลียร์สามประเทศคือ อินเดีย ปากีสถาน และจีน อินเดียกับปากีสถานเคยทำสงครามกันเรื่องแคชเมียร์หลายครั้ง และตอนนี้สหรัฐอเมริกาก็เข้ามามีส่วน โดยเปลี่ยนการสนับสนุนปากีสถานไปเป็นการสนับสนุนอินเดียเพื่อต้านอิทธิพลจีน

a-kashmir-man-carries-an-injured-women-during-a-clash-between-protesters-and-indian-forcess-on-eid-day

เสรีภาพแท้จริง และสันติภาพจะเกิดขึ้นกับชาวแคชเมียร์ได้ก็ต่อเมื่อคนในพื้นที่มีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของตนเองอย่างเสรี โดยไม่มีมหาอำนาจใดเข้ามาแทรกแซง และถ้าจะเกิดขึ้นได้ ชนชั้นกรรมาชีพในอินเดียและปากีสถานจะต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านชนชั้นปกครองของตนเอง เพื่อประโยชน์ทางชนชั้น และในขณะเดียวกันต้องสมานฉันท์กับชาวแคชเมียร์

[ข้อมูลส่วนใหญ่ในการเขียนบทความนี้มาจากบทความ Kashmir: the poisoned legacy of partition. By Joseph Choonara https://bit.ly/2k6joj3 ]

เบื้องหลังการลุกฮือในฮ่องกง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ประชาชนอ่องกงกำลังต่อสู้กับอำนาจรัฐอย่างน่าทึ่ง ขบวนการเคลื่อนไหวมีมวลชนนับล้านและรวมนักศึกษา คนหนุ่มสาว และคนทำงานในสหภาพแรงงานอิสระ (ที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายรัฐของฮ่องกงกับจีน) สิ่งที่น่าชื่นชมคือความมุ่งมั่นในการต่อสู้ท่ามกลางการปราบปรามอย่างโหดร้ายรุนแรงของตำรวจ

นักเคลื่อนไหวไทยควรให้ความสนใจและเรียนรู้จากการต่อสู้กับเผด็จการครั้งนี้

สิ่งที่จุดประกายการลุกฮือคือการพยายามผ่านกฏหมายส่ง “คนร้าย” ข้ามพรมแดน ซึ่งในทางปฏิบัติจะทำให้รัฐบาลเผด็จการจีนสามารถควบคุมสังคมฮ่องกงมากขึ้น สภานิติบัญญัติของฮ่องกง ประกอบไปด้วยผู้แทนที่ได้รับการเลือกตามสาขาอาชีพผ่านกระบวนการกึ่งประชาธิปไตย แต่ตำแหน่ง “ผู้บริหารสูงสุด” ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

การเรียกร้องให้ขยายสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งชาวฮ่องกงไม่เคยมี ไม่ว่าจะภายใต้อังกฤษหรือภายใต้จีน เป็นข้อเรียกร้องสำคัญที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวของ “ขบวนการร่ม” เมื่อห้าปีที่แล้ว

แต่ถ้าเราจะเข้าใจสถานการณ์ในอ่องกงในภาพรวม เราต้องพิจารณาสภาพชีวิตประจำวันและเรื่องปากท้องของประชาชน และการที่ฮ่องกงเชื่อมโยงกับเมืองยักษ์ใหญ่ในเขตอ่าวแม่น้ำไข่มุก (Pearl River) หรือแม่น้ำจูเจียงอีกด้วย

hong-kong-protests-august2019-ap-img

ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง คนทำงานมักจะทำงานหลายชั่วโมงต่อวันและได้รับเงินเดือนต่ำ สภาพการขูดรีดเช่นนี้เป็นแรงดึงดูดการลงทุนจากภายนอก แต่ในขณะเดียวกันค่าที่พักพุ่งขึ้นสูง 242 % ท่ามกลางค่าแรงที่ถูกแช่แข็ง เมืองฮ่องกงขาดบ้านที่อยู่อาศัยในระดับวิกฤตจนประชาชน 2 แสนคนต้องอาศัยใน “ห้องโลงศพ” ที่มีพื้นที่สำหรับเตียงเล็กๆ เท่านั้น สาเหตุหนึ่งของวิกฤตที่อยู่อาศัยในฮ่องกง คือนโยบายรัฐบาบลที่พยายามกักตุนที่ดิน เพื่อเพิ่มกำไร

1.37 ล้านคนในฮ่องกงถือว่าอยู่ในระดับยากจนเพราะมีรายได้ต่ำกว่า HK$4000 ต่อเดือน ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็เริ่มมีปัญหาและขยายตัวช้าลง โดยเฉพาะในสาขาการนำเข้าและส่งออก ซึ่งเป็นสาขาที่สำคัญมากสำหรับคนทำงาน

สภาพเช่นนี้ทำให้ประชาชนจำนวนมากมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียดและอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวอายุ 19-24 นอกจากการทำงานหนักหลายชั่วโมงแล้ว นักศึกษาต้องเรียนหนักมากและไม่มีเวลาที่จะพักผ่อนเลย

นี่คือส่วนหนึ่งของแรงกดดันที่ทำให้ชาวอ่องกงลุกฮือทางการเมือง

แต่ฮ่องกงไม่ได้โดดเดี่ยวตัดขาดจากสังคมจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะรอบๆ ฮ่องกง มีการพัฒนาเมืองยักษ์ใหญ่ในเขตอ่าวแม่น้ำไข่มุก ที่มีประชากร 69 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางการผลิตของบริษัทไอที และการประกอบรถยนต์ โดยที่เชื่อมโยงกับระบบไฟแนนส์และท่าเรือของฮ่องกง เศรษฐกิจในเขตนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนโตกว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย และมีการดึงเกษตรกรจากชนบทมาเป็นกรรมาชีพเป็นล้านๆ คน

IMG_2427

อย่างไรก็ตามทั้งๆ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำในถูมิภาคนี้สูงมาก และคนงานใหม่ที่อพยพเข้ามาจากชนบท 63.8% ต้องทำงาน 7 วันโดยไม่มีวันหยุด โดยชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์เฉลี่ยประมาณ 56 ชั่วโมง

foshan-workers-strike

สภาพเช่นนี้นำไปสู่การฆ่าตัวตายในโรงงาน Foxconn แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือนำไปสู่การต่อสู้ของกรรมาชีพ ในหนึ่งปีที่ผ่านมามีการนัดหยุดงานเกิดขึ้น 1,100 ครั้ง เกือบครึ่งหนึ่งในภาคก่อสร้าง และนักศึกษาจีนจาก 20 มหาวิทยาลัยก็มาสนับสนุนช่วยคนงานทั้งๆ ที่มักโดนปราบปรามจากรัฐ

Support Group last video grab
นักศึกษาสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน

มันไม่มีหลักประกันอะไรว่าขบวนการต่อสู้ของชาวฮ่องกงจะรวมตัวกับกระแสการนัดหยุดงานและความไม่พอใจในจีนแผ่นดินใหญ่ในเขตแม่น้ำไข่มุก แต่ถ้าเกิดขึ้นในอนาคต จะกลายเป็นขบวนการที่ท้าทายเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างแรง และเป็นโอกาสที่จะปลดแอกกรรมาชีพและนักศึกษาจากการกดขี่ขูดรีดของทุนนิยมทั้งในจีนและในฮ่องกง

ในไทย ศาลกับความยุติธรรม ไม่เกี่ยวข้องกัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ศาลในไทยเป็นเครื่องมือรับใช้เผด็จการมานาน มันไม่เกี่ยวอะไรกับ “ความยุติธรรม” และเนื่องจากศาลไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม ชนชั้นปกครองไทยมีความจำเป็นที่จะสร้างกลไกเพื่อปกป้องศาลจากการถูกตรวจสอบโดยประชาชนตามแนวประชาธิปไตย

กฏหมายหมิ่นศาลกลายเป็นเครื่องมือเพื่อกีดกันการตรวจสอบศาล และเป็นเครื่องมือในการทำลายเสรีภาพในการแสดงออก เพราะเผด็จการของรัฐไทยในยุคนี้ต้องการที่จะทำให้ศาลมีสถานภาพเหมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้” ไม่ต่างเลยจากการใช้กฏหมาย 112 เพื่อปิดปากประชาชนไม่ให้ตรวจสอบประมุขและตรวจสอบการใช้ประมุขโดยทหารและชนชั้นปกครองไทยส่วนอื่น

ศาลเตี้ย

ตัวอย่างของ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย ที่ถูกหมายเรียกเพราะแสดงความเห็นเรื่องคดีเลือกตั้งและการถือหุ้นสื่อ เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ศาลพยายามปิดปากไม่ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องคดี ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งถ้าจะสร้างความยุติธรรมในสังคมผ่านกระบวนการประชาธิปไตย

ในประเทศประชาธิปไตย “การหมิ่นศาล” ไม่เกี่ยวกับการวิจารณ์ศาล แต่เกี่ยวกับการไม่ทำตามคำตัดสินของศาลหรือการสร้างเหตุวุ่นวายภายในศาลในขณะที่กำลังพิจารณาคดี แต่เนื่องจากไทยไม่มีประชาธิปไตยหรือความยุติธรรม เราไม่จำเป็นต้องก้มหัวให้ศาลเลย

อีกคดีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าศาลกับความยุติธรรมไม่เกี่ยวข้องกันคือคดีฆาตกรรมที่เกาะเต่า ศาลฎีกาพิพากษายืนประหารชีวิต ซอลิน และ เวพิว จำเลยชาวพม่า ซึ่งเป็นแพะรับบาปแทนพวกมาเฟียบนเกาะที่หลายคนสงสัยว่าเป็นผู้ร้ายที่แท้จริง นอกจากนี้มีการวิจารณ์การทำงานของตำรวจไทยภายใต้แรงกดดันให้หาคนร้ายโดยเร็วจากรัฐบาล โดยที่ตำรวจไม่ปกป้องสถานที่เกิดเหตุเพื่อหาหลักฐานตามวิธีการวิทยาศาสตร์

ใครๆ ก็ทราบดีว่าในสังคมไทย ตำรวจไม่เคยจับคนร้ายที่ใช้ความรุนแรงกับนักประชาธิปไตย ไม่เคยแก้ปัญหาการอุ้มฆ่า และมักจะอยู่ภายใต้อำนาจ “ผู้มีอิทธิพล” ดังนั้นการหาแพะรับบาป โดยเฉพาะในหมู่คนต่างชาติจากประเทศเพื่อบ้าน เป็นวิธีการปกติของตำรวจไทย

ในบริบทนี้ การรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารยิ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย

ในสังคมชนชั้นของระบบทุนนิยมทั่วโลก ศาลเป็นเครื่องมือร่วมกับทหารและตำรวจในการบังคับผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองและปกป้องรัฐ แต่ในสังคมที่มีการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และมีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ศาลถูกแรงจากสังคมบังคับให้ต้องมีความโปร่งใสและต้องพิสูจน์ต่อสังคมว่าสร้างความยุติธรรม ระบบลูกขุนที่ประกอบไปด้วยประชาชนธรรมดา ก็เกิดจากแรงกดดันอันนี้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีบางกรณีที่ศาลตัดสินคดีผิดและหันหลังให้กับความยุติธรรม แต่กรณีแบบนี้น้อยกว่าในไทยมาก

ในสังคมไทยการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรณีการตายของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ในค่ายทหารเป็นแค่ตัวอย่างล่าสุด และการฟอกความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐก็เกิดขึ้นผ่านสื่อ ผ่านทหารในรัฐสภา และผ่านการใช้ “ภาคประชาชน” จอมปลอม เช่น คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

67535340_2408292259228649_7345892156457877504_n

คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ออกมาพูดว่าทหารไม่ได้ทำร้าย อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไม่ใช่องค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรที่อิสระจากอำนาจรัฐและทหารแต่อย่างใด มันเป็นองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นมาโดยทหารที่กดขี่ชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี

การสร้างความยุติธรรม แยกออกไม่ได้จากการสร้างสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตย แยกออกไม่ได้จากการรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญทหาร และแยกออกไม่ได้จากความจำเป็นที่จะรื้อถอนศาล ยกเลิกกฏหมายเผด็จการ และรื้อถอนอำนาจทหาร แต่สิ่งเหล่านี้อาศัยแค่รัฐสภาหรือกลุ่มนักวิชาการไม่ได้ ต้องมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตยนอกรัฐสภา