ใจ อึ๊งภากรณ์
ผู้นำจีนเคยอ้างเสมอว่าการปฏิวัติของ เหมาเจ๋อตุง ในปี 1949 เป็นการปฏิวัติ “สังคมนิยม” และพรรคคอมมิวนิสต์ของไทยเราก็เคยเชื่อทำนองนี้เหมือนกัน แต่ในการปฏิวัติของ เหมาเจ๋อตุง ชนชั้นกรรมาชีพจีนไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใดเลย
แท้จริงแล้วการปฏิวัติจีน เป็นการปฏิวัติชาตินิยม ที่อาศัยกองกำลังชาวนาแต่นำโดยปัญญาชนที่เป็นแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์
ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมักอ้างว่าสาเหตุที่การปฏิวัติจีนอาศัยกองทัพของชาวนา ก็เพราะจีนแตกต่างจากประเทศในยุโรปตรงที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวนา แต่เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น
ในรัสเซียสมัยปฏิวัติสังคมนิยมที่นำโดยชนชั้นกรรมาชีพในปี 1917 รัสเซียเป็นประเทศด้อยพัฒนา มีชาวนาถึง 160 ล้านคน และกรรมาชีพเพียง 3 ล้านคน (จีนในปี 1918 มีกรรมาชีพถึง 11 ล้านคน) แต่ เลนิน เข้าใจดีว่าชาวนาสร้างสังคมนิยมไม่ได้ เพราะชาวนาเสมือนผู้ประกอบการรายย่อยแบบปัจเจกชน ที่ไม่ต้องการรวมพลังการผลิตของทุนนิยมสมัยใหม่ไว้ภายใต้การควบคุมของส่วนรวม
นอกจากนี้การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนหันมาใช้กองทัพของชาวนาก็เพราะความผิดพลาดของพรรคเอง ที่ไปรวมตัวเข้ากับพรรค ก๊กมินตั๋ง ของนายทุนจีน ซึ่งจบลงด้วยการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างโหดร้ายป่าเถื่อนในปี 1927 ความผิดพลาดนี้มาจากนโยบายการสร้างแนวร่วมกับนายทุนของสตาลินในรัสเซียที่เสนอต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศ
หลังจากที่ถูกปราบ พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้เหมาจึงตัดสินใจหนีออกจากเมืองไปหาชาวนา ถ้าเปรียบเทียบกับพรรค บอลเชอร์วิค ของเลนิน จะเห็นได้ว่า เลนินปฏิเสธแนวร่วมกับนายทุนตลอด และเมื่อพรรคของเลนินถูกปราบปราม จะไม่หนีออกไปหาชาวนา แต่จะหลบซ่อนอยู่กับกรรมาชีพตามเมืองหรือบางครั้งหนีออกนอกประเทศ
ในวันที่ 11 มกราคม 1949 เพียง 9 เดือนก่อนชัยชนะ ของเหมาในจีน พรรคจีนมีคำสั่งกับกรรมาชีพดังนี้
“เราหวังว่ากรรมกรและพนักงานต่างๆ คงจะทำงานต่อไปอย่างปกติ เจ้าหน้าที่ของพรรคก๊กมินตั๋งในทุกระดับและตำรวจ จะต้องทำหน้าที่ต่อไปและเชื่อฟังคำสั่งจากกองทัพปลดแอก…”
ข้อสรุปคือ การปฏิวัติจีนในปี 1949 เป็นการปฏิวัติแบบ “ชาตินิยมกู้ชาติ” ไม่ใช่การปฏิวัติสังคมนิยม และหลังการปฏิวัติ ผู้ครองอำนาจจริงคือผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะชนชั้นกรรมาชีพและชาวนาไม่มีส่วนในการปกครองตนเองเลย ที่เห็นได้ชัดคือ หลังการปฏิวัติจีนไม่มีการตั้ง “สภาคนงาน” หรือแม้แต่ “สภาชาวนา” กลไกในการปกครองตนเองจึงไม่มี ลักษณะแท้ของรัฐจีนคือ เผด็จการของพรรคข้าราชการเหนือประชาชน
การปฏิวัติยึดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สำเร็จได้เพราะพรรคนายทุนจีนในพรรคก๊กมินตั๋ง หมดสภาพ และญี่ปุ่นพึ่งแพ้สงคราม
ชัยชนะของ เหมาเจ๋อตุง นำไปสู่การปลดแอกจีนจากมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาเกรงกลัวว่า “คอมมิวนิสต์” จะยึดโลก และที่สำคัญคือชัยชนะของ เหมาเจ๋อตุง เปิดประตูให้มีการพัฒนาประเทศภายใต้ระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ซึ่งในที่สุดทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจอย่างที่เห็นทุกวันนี้
แต่สำหรับกรรมาชีพและเกษตรกรจีน การกดขี่ขูดรีดยังไม่สิ้นสุด
ทุนนิยมโดยรัฐในจีน
หลังการปฏิวัติ การบริโภคของประชาชนผู้ยากจน มีความสำคัญน้อยกว่าการผลิตเพื่อสะสมทุนโดยรัฐ ซึ่งเห็นได้จากข้อมูลสัดส่วนของรายได้ชาติที่นำไปลงทุนในอุตสาหกรรม ในปี 1952 การลงทุนใช้รายได้ของชาติประมาณ 15.7% และปี 1956 ใช้ ถึง 22.8 % และการลงทุนในการผลิตอาวุธใช้ 18.1% ของรายได้ชาติในปี 1952 และในปี 1955 เพิ่มถึง 16.2% ในเมื่อจีนมีภาระในการลงทุนทางอุตสาหกรรมและการลงทุนทางทหารสูง แน่นอนรายได้ของกรรมาชีพย่อมเพิ่มช้ากว่าอัตราการผลิต ซึ่งถือว่าการขูดรีดแรงงานในยุคนี้ค่อนข้างสูง
ถ้าเราตรวจดูข้อมูลที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานของกรรมาชีพกับรายได้ของคนงาน จะเห็นว่าอัตราการขูดรีดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 1953, 1954 และ 1955 ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 13%, 15% และ 10% แต่ค่าแรงเพิ่มแค่ 5%, 2.6% และ 0.6% ตามลำดับ
การขูดรีดชาวนายิ่งหนักกว่าการขูดรีดแรงงานอุตสาหกรรมอีก ระหว่างกรกฎาคม 1954 ถึง มิถุนายน 1955 รัฐได้เก็บภาษีในรูปแบบข้าวสารและผลิตผลอื่นๆ 52 ล้านต้น หรือ 30% ของผลิตผลเกษตรทั้งหมดของชาติ
ในระบบทุนนิยมโดยรัฐ รัฐข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมและการผลิตอาวุธ เพื่อสร้างจีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ ในขณะที่กรรมาชีพและเกษตรกรถูกขูดรีดอย่างหนักเพื่อการสะสมทุนดังกล่าว ระบบนี้ไม่ใช่สังคมนิยม แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของทุนนิยม
ความผิดพลาดของ เหมา หลังการปฏิวัติ
เหมาเจ๋อตุง อาจนำการปฏิวัติชาตินิยมจีนถึงจุดสำเร็จ แต่ในการบริหารประเทศภายหลัง เหมาไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ในปี 1958 เหมาเสนอให้แก้ปัญหาความด้อยพัฒนาของจีนด้วยวิธีทาง “จิตใจ” เหมาเสนอให้มีการ “ก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่” เพื่อให้จีนทันตะวันตกภายใน5-7ปี!! ไม่มีการคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจจีนแต่อย่างใด วิธีการที่เหมาใช้คือการรณรงค์ให้คนงานทำงานวันละ 18 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด ยกเลิกการพักกินข้าว บังคับให้ชาวนาทำนาร่วม และสร้างเตาหลอมเหล็กในทุกหมู่บ้าน ผลของการ “ก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่” คือเศรษฐกิจจีนพัง คนอดตาย 20 ล้านคน และในที่สุดผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พยายามกีดกันไม่ให้เหมามีบทบาทในการนำอีก
แต่เหมาไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ในปี 1966 เหมาจึงหันมาปลุกระดมคนหนุ่มสาวไฟแรงที่ไม่พอใจกับเจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์ซึ่งเริ่มมีลักษณะแบบขุนนาง มีการตั้งกองกำลังแดง และมีการเชิดชูเหมาเหมือนพระเจ้า ผลของ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสงครามภายในพรรคคอมมิวนิสต์ คือเกิดสงครามกลางเมืองทั่วประเทศ เศรษฐกิจยิ่งทดถอย และในที่สุดผู้นำจีนต้องใช้กองทัพในการปราบปรามกองกำลังแดงและคนหนุ่มสาว คาดว่าตายเป็นหมื่นและคนหนุ่มสาว 17 ล้านคนถูกส่งไป “อบรมใหม่” ในชนบท เรื่องราวของยุคสมัยนั้นหาอ่านได้ในหนังสือหลายเล่มเช่นเรื่อง หงษ์ป่า
เหมาอาจชนะการปฏิวัติวัฒนธรรมชั่วคราว แต่เมื่อเหมาตายในปี 1976 พรรคพวกของเขา ที่เรียกกันภายหลังว่า “แก๊งสี่คน” ก็ถูกกำจัดไปและ เติ้ง เสี่ยว ผิง ก็ขึ้นมามีอำนาจ สองปีต่อมามีการประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ คือหันหน้าเข้าสู่กลไกตลาดเสรีนั้นเอง
ปัจจุบันจีนเป็นประเทศทุนนิยมตลาดเสรีภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์
ในปี 1989 หลังกำแพงมืองเบอร์ลินถูกพังทลาย สงครามเย็นก็สิ้นสุดลงท่ามกลางการล่มสลายของเผด็จการคอมมิวนิสต์แนวสตาลินในรัสเซียและยุโรปตะวันออก นักศึกษาและกรรมาชีพจีนที่ไม่พอใจกับสภาพความเป็นอยู่มานานจึงได้กำลังใจและออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน มีการร้องเพลง “แองเตอร์นาซิอองนาล” ของฝ่ายสังคมนิยม ซึ่งสะท้อนว่านักศึกษาส่วนหนึ่งผิดหวังกับรัฐบาลจีนที่ไม่สร้างสังคมนิยมจริงๆ ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่เผด็จการพรรคคอมิวนิสต์ใช้กำลังทหารปราบปรามนักศึกษาและกรรมาชีพอย่างรุนแรง
กรรมาชีพจีนในสมัยนี้
ระหว่างปี 1978 และ 2015 คนรวยที่สุด10% ในจีน เพิ่มการครองสัดส่วนของรายได้ชาติ จาก 27% เป็น41% ในขณะที่คนธรรมดาที่จนที่สุด 50% ของประเทศ ครองสัดส่วนของรายได้ชาติลดลง จาก 27% เหลือเพียง 15% ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าทุนนิยมกลไกตลาดเสรีในจีนมีผลในการเพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างถึงที่สุด
ในยุคปัจจุบัน กรรมาชีพจีนมีประมาณ 800 ล้านคน ซึ่งกระจุกอยู่ตามเมืองสำคัญๆ เขตอ่าวแม่น้ำไข่มุก มีประชากร 69 ล้านคน เขตนี้เป็นศูนย์กลางการผลิตของบริษัทไอที และการประกอบรถยนต์ โดยที่เชื่อมโยงกับระบบไฟแนนส์และท่าเรือของฮ่องกง เศรษฐกิจในเขตนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนโตกว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย และมีการดึงเกษตรกรจากชนบทมาเป็นกรรมาชีพเป็นล้านๆ คน
อย่างไรก็ตามทั้งๆ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำในถูมิภาคนี้สูงมาก และคนงานใหม่ที่อพยพเข้ามาจากชนบท 63.8% ต้องทำงาน 7 วันโดยไม่มีวันหยุด โดยชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์เฉลี่ยประมาณ 56 ชั่วโมง
สภาพเช่นนี้นำไปสู่การฆ่าตัวตายในโรงงาน Foxconn แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือนำไปสู่การต่อสู้ของกรรมาชีพ ในหนึ่งปีที่ผ่านมามีการนัดหยุดงานเกิดขึ้น 1,100 ครั้ง เกือบครึ่งหนึ่งในภาคก่อสร้าง และนักศึกษาจีนจาก 20 มหาวิทยาลัยก็มาสนับสนุนช่วยคนงานทั้งๆ ที่มักโดนปราบปรามจากรัฐ
อนาคตของการสร้างเสรีภาพ ความเท่าเทียม และประชาธิปไตยในจีน อยู่ในมือของกรรมาชีพและนักศึกษา