เช กูวารา นักสู้เพื่อสังคมนิยม หรือ “วีรชนเอกชน”เพ้อฝัน ?

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนส่วนใหญ่จากรุ่น ๑๔ ตุลา หรือคนที่คลุกคลีกับฝ่ายซ้าย คงรู้จักชื่อและใบหน้าของ เช กูวารา สหายนักสู้ของ คัสโตร ในประเทศคิวบา และคนที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ เช ก็อาจเคยเห็นใบหน้าของเขาบนโปสเตอร์ที่ขายตามตลาดและบนเสื้อยืดหรือแม้แต่บนหลังรถบรรทุกในเมืองไทย

che_guevara_1474x774

เช กูวารา เกิดที่ประเทศอาเจนตีนาในทวีปอเมริกาใต้เมื่อปี 1928 และเริ่มสนใจการเมืองในขณะที่เขาไปเที่ยวประเทศกวาตามาลา เพราะในช่วงนั้นสหรัฐเข้ามาแทรกแซงการเมืองกวาตามาลาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทผลไม้สหรัฐ โดยที่สหรัฐสนับสนุนการยึดอำนาจของทหารที่ล้มรัฐบาลชาตินิยมซึ่งกำลังพยายามนำธุรกิจกล้วยหอมส่งออก ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของประเทศ มาเป็นของรัฐ แทนที่จะเป็นของบริษัทต่างชาติ

เช กูวารา มองตัวเองว่าเป็นนักเคลื่อนไหว “มาร์คซิสต์” และมีนักต่อสู้คนรุ่นหลังหลายกลุ่มที่ถือเอา เช เป็นวีรบุรุษ

เราสามารถเรียนบทเรียนอะไรบ้างจากแนวทางการต่อสู้ของเช?

castro-che-afp-wb

เช ได้เข้าร่วมในปฏิวัติยึดอำนาจในประเทศคิวบาภายใต้การนำของ คัสโตร ในปี 1959 โดยที่เขาอาศัยยุทธศาสตร์การสู้รบแบบกองโจร รัฐบาลเก่าของคิวบาที่ถูกล้มเป็นรัฐบาลน้ำเน่าที่ไม่มีใครสนับสนุนเนื่องจากมีการโกงกินสุดยอดของนักการเมือง อย่างไรก็ตามในยุคก่อนการปฏิวัติคิวบา พรรคคอมมิวนิสต์คิวบา ได้สนับสนุนรัฐบาลน้ำเน่านี้ โดยหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ฉนั้นในสมัยนั้น เช และ คัสโตร ไม่ได้สนใจพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาหรือชนชั้นกรรมาชีพในเมืองมากเท่าไร แต่เลือกใช้วิธีการยึดอำนาจของกองกำลังที่มาจากนักศึกษาและชาวนาที่ไม่มีที่ดินซึ่งตั้งขึ้นในเขตภูเขาห่างไกลจากเมือง แนวทางการต่อสู้แบบนี้ไม่ใช่แนวมาร์คซิสต์ เพราะไม่ได้อาศัยพลังชนชั้นกรรมาชีพเลย

ยุทธศาสตร์แบบกองโจรที่ เช และ คัสโตร นำมาใช้มีผลกระทบกับแนวความคิดของเขา เพราะเขามักจะมองกลไกของการสู้รบว่าสำคัญกว่าความคิดทางการเมือง อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายหลักของการปฎิวัติคิวบาคือการปลดปล่อยคิวบาจากอิทธิพลของจักรวรรดินิยมอเมริกา ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจคิวบาต้องพึ่งการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลเป็นหลัก และสหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมการผลิตดังกล่าวอย่างผูกขาด

เมื่อรัฐบาลใหม่ของ คัสโตร ขึ้นมามีอำนาจ สหรัฐได้พยายามปิดกั้นเศรษฐกิจของประเทศเพื่อเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลใหม่ยอมจำนนต่อผลประโยชน์สหรัฐ แต่รัฐบาล คัสโตร ตัดสินใจนำธุรกิจหลักของประเทศมาเป็นของรัฐแทนที่จะยอมจำนน และได้เร่งพัฒนาระบบการศึกษาและสาธารณสุขของประชาชนเพื่อหวังพึ่งตนเองแทนสหรัฐ

การนำระบบการผลิตภายในประเทศมาเป็นของรัฐมีผลทำให้ คัสโตร กับ เช ต้องสร้างความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาซึ่งมีอิทธิพลในหมู่คนงานในเมือง จุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ก็เพื่อที่จะใช้ฐานอำนาจและองค์กรนี้ในการควบคุมเศรษฐกิจ และเพื่อที่จะใช้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นกลไกในการควบคุมแรงงาน เพราะกลุ่มนักรบของ เช และคัสโตร เป็นกลุ่มเล็กที่ขาดบุคคลากร ฉนั้นในที่สุด คัสโตร ที่เคยเรียกตัวเองว่านักต่อสู้ชาตินิยม ก็เริ่มเรียกตัวเองว่าเป็น “คอมมิวนิสต์”

เช เป็นนักต่อสู้กล้าหาญที่รักความเป็นธรรม แต่ถึงแม้ว่าเขาจะเรียกตัวเองว่าเป็นมาร์คซิสต์ ความคิดและวิธีการที่เขาเลือกใช้ไม่ตรงกับแนวความคิดมาร์คซิสต์แต่อย่างใด เช ให้ความสำคัญกับการกระทำของวีรชนคนกลุ่มน้อยแทนที่จะอาศัยพลังมวลชนและการต่อสู้ทางชนชั้น เขาเขียนว่า “เราได้พิสูจน์ว่าคนกลุ่มเล็กๆที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ถ้าไม่กลัวตาย สามารถชนะกองทัพอันเข้มแข็งได้” เงื่อนไขที่สำคัญในการต่อสู้ ในสายตาของ เช คือกลไกการต่อสู้และความมั่นใจของนักสู้ โดยที่ไม่ต้องให้ความสำคัญกับสภาพการเมืองและสังคม ความคิดอัตวิสัยแบบนี้เป็นความคิดแบบ “จิตนิยมปลุกระดม” ซึ่งตรงข้ามกับความคิดวัตถุนิยมของมาร์คซ์ เพราะมองความกล้าหาญและความมั่นใจของนักสู้เป็นหลัก และไม่ให้บทบาทในการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพเลย

ในที่สุดยุทธศาสตร์การต่อสู้แบบวีรชนเอกชนของ เช นำเขาและสหายไปสู่ความพ้ายแพ้ในประเทศคองโกและในที่สุดนำเขาไปสู่ความตายในประเทศโบลีเวียในปี 1967

เราสดุดีความกล้าหาญและความจริงใจของ เช ได้ และเราชมการให้ความสำคัญกับการต่อสู้ในระดับสากลได้อีกด้วย แต่เราควรจะเข้าใจว่าแนวทางการจับอาวุธของวีรชนคนกลุ่มเล็กๆ ของ เช ไม่สามารถสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคมนิยมได้ และทุกวันนี้คิวบาก็ไม่ใช่สังคมนิยม แต่เป็นเผด็จการภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แนวสตาลิน

อ่านเพิ่มเรื่องคิวบาในบทความเรื่องลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp