รัฐบาลพรรคสังคมนิยมกับการหักหลังขบวนการประชาชน บทเรียนจากโบลิเวีย

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐประหารที่ล้มประธานาธิบดีฝ่ายซ้าย อีโว โมราเลส แห่งโบลิเวีย เป็นรัฐประหารที่วางแผนกันระหว่างกองทัพ ตำรวจ และนักการเมืองฝ่ายขวา และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลของกลุ่มประเทศอียูก็ดูเหมือนยอมรับการทำรัฐประหารครั้งนี้ด้วย และหลังจากการทำรัฐประหารมีการประกาศว่าโบลิเวีย “เป็นของคนผิวขาวคริสเตียน” ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นคนพื้นเมือง

Bolivian Coup
ทหารกับนักการเมืองฝ่ายขวาก่อรัฐประหาร

ทุกคนที่รักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสังคมควรจะประณาม

ในขณะเดียวกันฝ่ายซ้ายจะต้องวิเคราะห์ว่าทำไมมันเกิดขึ้นได้ และจุดอ่อนกับข้อผิดพลาดของ อีโว โมราเลส กับรัฐบาลพรรคขบวนการเพื่อสังคมนิยม (MAS) มีอะไรบ้าง เพื่อเป็นบทเรียนในการต่อสู้

download
อีโว โมราเลส

อีโว โมราเลส ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 53.7% และขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีโบลิเวียในปี 2005 ท่ามกลางกระแสการต่อสู้อย่างดุเดือดของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ต่อสู้กับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดของรัฐบาลที่ทำลายวิถีชีวิตกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน ศูนย์กลางการต่อสู้นี้อยู่ที่เมือง El Alto ใกล้ๆ กับเมืองหลวง จุดสูงสุดของกระแสนี้เกิดขึ้นในปี 2000 เมื่อมีการลุกฮือต่อสู้ของประชาชนเพื่อคัดค้านการขายระบบน้ำประปาให้บริษัทเอกชน และในปี 2003 กับ 2005 การประท้วงต่อต้านการขายองค์กรก๊าชสามารถล้มประธานาธิบดีสองคน

AP_Morales_Resigns_min

โมราเลส เป็นประธานาธิบดีคนแรกของลาตินอเมริกาที่เป็นคนเชื้อสายพื้นเมือง เรื่องนี้สำคัญเพราะตั้งแต่การล่าอาณานิคมของสเปนเมื่อห้าร้อยปีก่อนหน้านี้ ชนชั้นปกครองในประเทศลาตินอเมริกามักจะเป็นคนผิวขาว และคนพื้นเมืองจากชนเผ่าต่างๆมักจะถูกกดขี่และยากจน

รัฐบาลของ โมราเลส ได้พยายามนำทรัพยากรธรรมชาติ เช่นก๊าซ แร่ธาตุ ป่า และน้ำมาอยู่ภายใต้รัฐ แทนที่จะอยู่ในมือของบริษัทเอกชนและบริษัทข้ามชาติ และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนธรรมดาที่ยากจนก็ดีขึ้นตามลำดับเพราะรัฐสามารถนำรายได้จากก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุมาใช้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน

ในปี 2008 มีการจัดประชามติเพื่อตรวจสอบประธานาธิบดี โมราเลส ซึ่งเขาชนะ ดังนั้นฝ่ายขวาในเมือง Santa Cruz จึงพยายามก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล โดยที่สหรัฐอเมริกาหนุนช่วย แต่รัฐประหารครั้งนั้นล้มเหลว เพราะมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีคนพื้นเมืองร่วมอยู่ด้วย สามารถระงับการกบฏต่อรัฐบาลได้ ดังนั้นในการเลือกตั้งปี 2009 โมราเลส ชนะด้วยคะแนนเสียงเพิ่ม พรรค MAS เพิ่มที่นั่งในรัฐสภา และมีการนำรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ รัฐธรรมนูญนี้เพิ่มสิทธิให้คนจน คนพื้นเมือง และกล่าวถึงการปกป้องป่ากับทรัพยากรธรรมชาติ บรรยากาศทางการเมืองในยุคนั้นต่างกับปัจจุบันพอสมควร

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลของ โมราเลส พยายามจะปฏิรูปสังคม โดยไม่ปฏิวัติล้มทุนนิยม และการที่รัฐบาลโบลิเวียอาศัยรายได้จากการส่งออกทรัพยากรอย่างสินค้าเกษตร ก๊าซธรรมชาติกับแร่ธาตุ เหมือนรัฐบาลฝ่ายซ้ายอื่นในลาตินอเมริกา หมายความว่ารัฐบาลต้องพัฒนาประเทศตามกติกากลุ่มทุนใหญ่ในระบบทุนนิยมโลก  ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งตกอยู่ในมือนักธุรกิจ และรายได้ที่เคยนำมาช่วยคนจนลดลงเมื่อราคาทรัพยากรส่งออกลดลงในตลาดโลก ปัญหานี้เกิดขึ้นกับรัฐบาลเวเนสเวลาและบราซิลด้วย

เริ่มตั้งแต่ปี 2010 มีการประท้วงของสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องรายได้เพิ่ม และกลุ่มผู้ประท้วงประเด็นอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลสร้างความไม่พอใจเมื่อประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิง กลุ่มผู้ไม่พอใจกับรัฐบาลภายในพรรค MAS ได้ออกแถลงการณ์ที่วิจารณ์การที่พวกนายธนาคาร บริษัทข้ามชาติ พวกที่ค้าสินค้าเถื่อน และแก๊งยาเสพติด กลายเป็นกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดจากนโยบายรัฐบาล

มีสองเหตุการณ์ที่สำคัญที่ช่วยสร้างกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เหตุการณ์แรกคือในปี 2011 มีการเสนอให้สร้างถนนเชื่อมโยงกับบราซิลที่ตัดผ่านเขตป่าสงวนที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมืองที่เรียกว่าเขต TIPNIS เหตุผลที่รัฐบาลเสนอให้สร้างถนนสายนี้คือมันจะช่วยในการเจาะก๊าซและแร่ธาตุ เพื่อส่งออกไปสู่ตลาดโลกผ่านบราซิล เป็นการเอาใจนายทุนภายในประเทศ และจะดึงการลงทุนจากบราซิลอีกด้วย ปรากฏว่ามีการประท้วงใหญ่ซึ่งตำรวจใช้ความรุนแรงอย่างหนักในการปราบ ในที่สุด โมราเลส ต้องออกมาประณามตำรวจและหยุดโครงการสร้างถนน หลังจากนั้น โมราเลส ชนะการเลือกตั้งรอบที่สามในปี 2014 อย่างไรก็ตามในปี 2017 มีการรื้อฟื้นโครงการสร้างถนนอีกครั้งซึ่งสร้างกระแสความไม่พอใจอย่างมาก

brazil-tipnis01

Sin-título

tipnis-march-la-paz-2aug17

เหตุการณ์ที่สองคือความพยายามของ โมราเลส ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 4 ทั้งๆ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มีการทำประชามติเรื่องนี้ในปี 2016 และโมราเลสแพ้ 51% ต่อ 49% แต่ในปี 2018 ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตราที่ห้ามไม่ให้ โมราเลส สมัครเป็นครั้งที่ 4 ในการเลือกตั้งที่พึ่งผ่านมา และผลการเลือกตั้งรอบนี้ไม่ค่อยชัดเจน จนมีการกล่าวหาว่ากระบวนการไม่ถูกต้อง

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายของ โมราเลส พยายามจะพัฒนาชีวิตของคนจน คนพื้นเมือง และกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมก้าวพ้นระบบทุนนิยม และพยายามคานผลประโยชน์ของคนชั้นล่างกับผลประโยชน์ของนายทุน ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การหักหลังประชาชนและเปิดโอกาสให้ฝ่ายขวาเผด็จการทำรัฐประหาร

เวลาเราศึกษาปัญหาที่เปิดทางให้เกิดรัฐประหารในโบลิเวีย เราควรจะเปรียบเทียบกับนโยบายที่ทำให้ประชาชนผิดหวังและเปิดทางให้ฝ่ายขวาขึ้นมาใน บราซิล กับ กรีซ เพื่อเป็นภาพรวมและบทเรียนสำหรับการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมในอนาคต

Syriza betrayal
กรีซ

อ่านเพิ่ม

ลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

บราซิล https://bit.ly/36XfDA6

การหักหลังประชาชนกรีซของพรรค “ไซรีซา” https://bit.ly/2NUhYUL

ศาลเตี้ยออกฤทธิ์เผด็จการอีกครั้ง

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ศาล(เตี้ย)รัฐธรรมนูญ ที่แต่งตั้งโดยเผด็จการประยุทธ์ สั่งปลด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ด้วยเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด มันเป็นแค่อีกตัวอย่างหนึ่งของกลไกต่างๆ ที่เผด็จการทหารสร้างขึ้นเพื่อต่อยอดอำนาจของทหารในระบบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้ผู้นำเผด็จการ” หรือระบอบ “เผด็จการรัฐสภา”

Dt-n4cyVYAA7HNH

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน iLaw รายงานถึง 10 สาเหตุที่ประยุทธ์ไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งได้ [ดู https://prachatai.com/journal/2019/11/85125 ] มีการกล่าวถึงการที่ประยุทธ์ไม่ใช่สส. การที่เผด็จการประยุทธ์คุมอำนาจตลอดเวลาที่มีการเลือกตั้ง การที่ทหารเขียนกติกาเอง การที่ทหารแต่งตั้งศาลและกกต. และการสร้างอุปสรรค์ทั้งหลายให้กับพรรคฝ่ายค้าน ยิ่งกว่านั้นในที่สุดพรรคทหารได้คะแนนเสียงและที่นั่งน้อยกว่าพรรคที่ต้านทหารอีกด้วย

นอกจากนี้ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าทหารกำลังข่มขู่ผู้เห็นต่างด้วยวิธีผิดกฏหมาย [ดู https://prachatai.com/journal/2019/11/85172 ] แต่ในยุค “เผด็จการรัฐสภา” ทหารทำอะไรก็ได้ไม่ต้องสนใจกฏหมาย

คำถามสำคัญที่พวกเราจะต้องชูขึ้นมาคือ ทำไมฝ่ายประชาธิปไตยถึงอ่อนแอ?

เพราะการที่เผด็จการประยุทธ์สามารถสืบทอดอำนาจด้วยกลไกและองค์กรต่างๆ ของมัน ไม่ได้เป็นเรื่องชี้ขาดว่าสังคมเราจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และนิยายหลอกเด็กว่ากษัตริย์ปัญญาอ่อนวชิราลงกรณ์มีอำนาจล้นฟ้า เพียงแต่เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นในการต่อสู้ เพื่อเป็นคำแก้ตัวสำหรับคนที่หมดแนวทางในการต่อสู้ [ดู https://bit.ly/2GcCnzj ]

เรื่องชี้ขาดที่ทำให้เผด็จการประยุทธ์ยังคงดำรงอยู่ได้ คือความอ่อนแอของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยนอกรัฐสภา

ความอ่อนแอนี้ไม่ได้มาจากการปราบปรามของฝ่ายเผด็จการเป็นหลัก แต่มาจากการที่แกนนำทางการเมืองของพรรคต่างๆ ที่ต้านทหาร ไม่ต้องการสนับสนุนและสร้างขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว เช่นการที่ทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงเพื่อหวังประนีประนอมกับฝ่ายทหาร และการที่พรรคอนาคตใหม่ไม่เคยสนใจที่จะทำอะไรนอกจากการเล่นละครในรัฐสภาหรือการพูดถึงกฏหมายและรัฐธรรมนูญ

สิ่งเหล่านี้สำคัญเพราะมันมีผลในการลดความมั่นใจของคนธรรมดาที่จะเคลื่อนไหว

การเคลื่อนไหวที่ผมพูดถึงไม่ใช่การออกรบแบบหัวชนฝาเพื่อพลีชีพ แต่มันเป็นการสร้างเครือข่ายและเคลื่อนไหวของมวลชนแบบที่ใช้สติปัญญา

การที่ธนาธรตอนนี้มีแค่สถานภาพของพลเมืองนอกรัฐสภา เป็นโอกาสทองที่เขาจะเริ่มสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

75239188-c826-496f-8fd6-1d593349dff2

แต่ธนาธรจะทำหรือไม่? เพราะเขาเป็นแค่นักการเมืองนักธุรกิจที่เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวในอดีต ในฐานะนักธุรกิจเขาเน้นผลประโยชน์กลุ่มทุนเหนือผลประโยชน์ของสหภาพแรงงานและกรรมาชีพ และพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้รณรงค์เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบหรือครบวงจร เขาแค่แสดงความจริงใจในการต้านทหารเผด็จการ

ผู้เขียนหวังว่าธนาธรจะเปลี่ยนใจและหันมารณรงค์สร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่มีพลัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไปรอหรือตั้งความหวังว่าเขาจะทำไม่ได้ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชนต้องสร้างจากล่างสู่บน โดยพลเมืองรากหญ้าที่เป็นกรรมาชีพและเกษตรกร อย่างที่เขาทำกันในขณะนี้ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก [ดู https://bit.ly/2OxpmVr ]

อ่านเพิ่ม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทย https://bit.ly/2BYxAyd

 

เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการลุกฮือของมวลชนทั่วโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนในหลายประเทศของโลก ในทุกกรณีประเด็นลึกๆ ที่สร้างความโกรธแค้นของมวลชนมีจุดร่วม ทั้งๆ ที่ประกายไฟที่นำไปสู่การประท้วงอาจแตกต่างกัน และไม่มีการประสานกันระหว่างผู้ชุมนุมในประเทศต่างๆ แต่อย่างใด

8c28952358d6402da804eb83814f4f27_18
ฮ่องกง

ในฮ่องกง การประท้วงรอบปัจจุบันมาจากความไม่พอใจกับกฏหมายส่ง “คนร้าย” ข้ามพรมแดน ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการจีนในฮ่องกง แต่ถ้าเราสำรวจภาพกว้างและประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าความไม่พอใจในการปกครองที่ไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่ออกแบบมาโดยรัฐบาลอังกฤษกับจีน เป็นกระแสมานานตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าผู้ประท้วงจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และกระแสนี้ก่อให้เกิดขบวนการประชาธิปไตยที่ใช้ร่ม เป็นสัญลักษณ์ ความไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ตั้งแต่สมัยอังกฤษมาถึงยุคปัจจุบัน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพยายามกดขี่ประชาชนให้สงบท่ามกลางความยากจนและความเหลื่อมล้ำเพื่อขูดรีดส่วนเกินจากกรรมาชีพ และมันสอดคล้องกับเป้าหมายในการขูดรีดแรงงานของเผด็จการจีนด้วย การเมืองกับเศรษฐกิจแยกออกจากกันไม่ได้ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2qB7h0l ]

72453624_10156651317591966_7480245532409987072_o
ชิลี

ในชิลี การประท้วงไล่รัฐบาลของนายทุนในปัจจุบัน เป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม สิ่งที่จุดประกายการประท้วงรอบนี้คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเช รัฐบาลปัจจุบันของฝ่ายขวา และรัฐบาลชุดก่อนของพรรคสังคมนิยม ล้วนแต่ใช้นโยบายแบบนี้ ดังนั้นเวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวงเมื่อไม่นานมานี้ และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย ประเด็นหลักคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

f7ef7923de30459bba3228c2f8a88069_18
เลบานอน

ในเลบานอน การประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาล เริ่มจากการค้านข้อเสนอของรัฐบาลที่จะเก็บภาษีจากการใช้วอตส์แอปป์ แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนคือนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด บวกกับการที่ระบบการเมืองเลบานอนถูกพรรคการเมืองกระแสหลักแช่แข็งในระบบการเมืองที่แบ่งแยกตามเชื้อชาติศาสนา จนประชาชนธรรมดารู้สึกว่าไม่มีเสรีภาพจริงเพราะผู้นำทางการเมืองจากซีกเชื้อชาติศาสนาต่างๆ ฮั้วกันกดขี่ประชาชนธรรมดา และ 1% ของคนที่รวยที่สุดคุม 50.5% ของทรัพย์สินทั้งหมดของประเทศ

000_1LL3RJ-e1571596008689-640x400

ปรากฏการณ์ในเลบอนอนในขณะนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะมวลชนออกมาประท้วงท่ามกลางความสามัคคีข้ามเชื้อชาติศาสนา และมีการเน้นประเด็นชนชั้น ในอดีตผู้นำทางการเมืองที่เน้นเชื้อชาติศาสนา และมหาอำนาจต่างชาติ สามารถสร้างความแตกแยกระหว่างพลเมืองกลุ่มต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ตนเองเท่านั้น

นอกจากตัวอย่างที่พึ่งกล่าวถึง ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนเพื่อขับไล่รัฐบาลใน ปวยร์โตรีโก กินี เอกวาดอร์ เฮติ อิรัก กับแอลจีเรีย และมีการรื้อฟื้นการประท้วงใน อียิปต์ กับซูดาน นอกจากนี้ใน กาตาลุญญา มีการประท้วงของมวลชนที่แสวงหาเสรีภาพจากสเปนเพื่อปกครองตนเอง ในกรณีหลังมวลชนไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการที่ยังใช้อยู่และเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ที่ต้องการแยกตัวออกจากรัฐสเปน

711aa2a618878ae58d6ab1984c2c1c4fd0ae40f6
กินี

จุดร่วมของการประท้วงที่เกิดขึ้นในยุคนี้ที่พึ่งกล่าวถึง คือการที่ระบบทุนนิยมที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนธรรมดาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และพรรคการเมืองกระแสหลัก ทั้งขวาและซ้ายปฏิรูป ไม่ยอมคัดค้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่สร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาล บ่อยครั้งสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือมีลักษณะกึ่งเผด็จการ หรือยังมีผลพวงของเผด็จการฝังลึกอยู่ในสังคม

Haiti
เฮติ

การลุกฮือของมวลชนอาจเกิดในลักษณะที่ไร้การนำทางการเมืองจากฝ่ายซ้าย เช่นในชิลี เพราะพรรคสังคมนิยมปฏิรูปต่างๆ ที่เคยเป็นรัฐบาลไม่ยอมท้าทายโครงสร้างของทุนนิยม และในกรณี บราซิล กับ เวเนสเวลา อาศัยราคาทรัพยากรธรรมชาติเช่นน้ำมันหรือแร่ธาตุที่ขึ้นสูงแบบชั่วคราว เพื่อพยายามแก้ปัญหาความยากจน แต่พอราคาสินค้าส่งออกตกต่ำก็หันไปใช้นโยบายรัดเข็มขัด

บางครั้งในสถานการณ์แบบนี้พรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดขั้วสามารถฉวยโอกาสได้ เช่นใน บราซิล กับ อินเดีย แต่การฉวยโอกาสของฝ่ายขวาทำได้ยากเมื่อมวลชนคนธรรมดาออกมาประท้วง เพราะท่ามกลางวิกฤตของทุนนิยมโลก ชนชั้นกรรมาชีพโลกขยายตัวไปเป็นคนส่วนใหญ่ไปแล้วและมีส่วนร่วมในการประท้วง

72369120_2608381949211853_1324092946538037248_o
กาตาลุญญา

งานวิจัยชิ้นใหญ่โดยนักวิชาการชาวนอร์เวย์เกี่ยวกับการประท้วงของมวลชนในรอบ 100 ปีถึงยุคปัจจุบันค้นพบว่าการประท้วงที่มีส่วนร่วมหรือนำโดยสหภาพแรงงานและมวลชนกรรมาชีพมักจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการล้มรัฐบาล ผลักดันการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง และขยายพื้นที่ประชาธิปไตย พูดง่ายๆ มันมีพลังมากกว่าการประท้วงของเกษตรกรหรือชนชั้นกลาง

ผลงานจากการวิจัยนี้ช่วยพิสูจน์ความล้มเหลวของทฤษฏีรัฐศาสตร์กระแสหลักที่ผมเคยวิจารณ์ [ดู https://bit.ly/33yfdhj ]

สิ่งที่เราเห็นในยุคปัจจุบันคือการประท้วงใหญ่ของมวลชน บ่อยครั้งมีส่วนร่วมโดยกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน แต่ขาดการนำทางการเมืองของพรรคซ้ายปฏิวัติที่เสนอแนวทางที่จะล้มรัฐทุนนิยม และข้ามพ้นทุนนิยมไปสู่ระบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้

อ่านเพิ่ม:

ลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

บราซิล https://bit.ly/36XfDA6

ซูดานกับแอลจีเรีย https://bit.ly/36SxEj5

อียิปต์ ประชาชนเริ่มหายกลัว https://bit.ly/36NCEoO

ทำไมเราต้องหมอบคลานต่อกษัตริย์ทารก?

ใจ อึ๊งภากรณ์

พฤติกรรมของวชิราลงกรณ์ในสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่มีการปลดเมียน้อยและมหาดเล็ก ไม่ใช่พฤติกรรมของคนที่มีวุฒิภาวะสมจะเป็นเป็นประมุข และไม่ใช่พฤติกรรมของคนที่เป็นผู้นำที่มีอำนาจ แต่มันแสดงถึงนิสัยเอาแต่ใจตัวเองในรูปแบบเด็กทารกเกเรของวชิราลงกรณ์ ทั้งๆ ที่เขาอายุถึง 67 ปี

ก่อนหน้านี้วชิราลงกรณ์ปลดอดีตเมียไปหลายคนและแสดงท่าทีแย่ๆ ต่อสตรีเหล่านี้ ต่อมาเมื่อขึ้นมาเป็นกษัตริย์ก็แต่งตั้งเมืยหลักและเมียน้อยในตำแหน่งเว่อร์ๆ ทั้งๆ ที่ผู้หญิงเหล่านั้นไม่มีความสามารถอะไรพิเศษนอกจากจะเป็นนางบำเรอให้วชิราลงกรณ์

ใครๆ ที่ตามข่าวอื้อฉาวของกษัตริย์ไทยคงจะนึกถึงภาพเด็กเล็กๆ ที่พยายามให้คนรอบข้างเอาแต่ใจตัวเองและอาละวาด โยนของเล่น เมื่อไม่ได้ดังใจ

cb01-temper-tantrum

ชนชั้นปกครองไทย โดยเฉพาะทหาร แต่รวมถึงภูมิพลผู้เป็นพ่อ สิริกิติ์ผู้เป็นแม่ และนายทุนกับนักการเมืองกระแสหลัก ได้มีส่วนร่วมในการเอาใจทารกวชืราลงกรณ์ตลอดชีวิตอันไร้ค่าของเขา จนทำให้กษัตริย์ทารกคนนี้ “เสียเด็ก”

กษัตริย์ทารกวชิราลงกรณ์แสดงความโลภและพยายามกวาดกองทุนต่างๆ เกี่ยวกับกษัตริย์ มาเป็นของตัวเองในลักษณะส่วนตัว และพยายามบังคับให้กองทหารหลายหน่วยมาดูแลตัวเขา แต่นั้นไม่ใช่อาการของคนที่มีอำนาจแท้ในสังคม มันเป็นอาการของเด็กทารกที่ต้องการของเล่นเพิ่ม เพราะอำนาจแท้ที่จะขัดใจวชิราลงกรณ์หรือปกครองประเทศอยู่ที่อิ่น คืออยู่กับทหารและนายทุน

2019-05-04T072632Z-948315276-RC1EE0951570-RTRMADP-3-THAILAND-KING-CORONATION

การเอาใจวชิราลงกรณ์ไม่ใช่เพราะเขามีอำนาจอะไรหรอก มันเป็นเพราะพวกทหารและฝ่ายเผด็จการอื่นๆ มองว่าสถาบันกษัตริย์ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกล่อมเกลาให้พลเมืองก้มหัวให้ชนชั้นปกครอง และยอมรับความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและเศรษฐกิจ ที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย พูดง่ายๆ กษัตริย์เป็นเครื่องมือของทหารและนายทุน (ดู https://bit.ly/2GcCnzj )

คนที่มีอำจาจจริงในสังคมมักจะไม่ทำตัวเป็นเด็กทารกเกเรที่เอาแต่ใจตนเองอย่างเปิดเผย คนที่มีอำนาจจริงในสังคมคงจะมีวุฒิภาวะในการนำทั้งๆ ที่อาจเป็นคนชั่ว คนที่มีอำนาจทางการเมืองคงเข้าใจเรื่องการสร้างภาพที่ช่วยครองใจประชาชน และคนที่มีอำนาจจริงจะไม่อาศัยในต่างประเทศเป็นหลัก เพราะต้องคอยคุมและรักษาอำนาจของตนเอง

ในยุคสงครามเย็นการอ้างถึงกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิที่ใช้ต่อต้านแนวสังคมนิยมที่ต้องการสร้างความเท่าเทียม ในยุคปัจจุบันมันกลายเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารและการแทรกแซงการเมืองและสังคมโดยทหาร สาเหตุเข้าใจได้ง่าย เพราะกองทัพไม่มีความชอบธรรมอะไรในเรื่องประชาธิปไตย และความยุติธรรม หรือการพยายามสร้างสังคมที่ก้าวหน้า ทันสมัย และเท่าเทียม ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพลเมืองไทยจำนวนมาก กองทัพไม่มีความชอบธรรมในการปลดแอกประเทศเหมือนในประเทศเพื่อนบ้าน และกองทัพไทยมีประวัติอันยาวนานในการปราบปรามประชาชน กองทัพจึงต้องใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม และต้องคอยรณรงค์ส่งเสริมกษัตริย์

โดยทั่วไปแล้วการเชิดชูสถาบันกษัตริย์แบบนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นที่ยังมีสถาบันล้าหลังอันนี้ แต่ในประเทศยุโรปจะไม่ทำโดยทหารเผด็จการเพราะพลเมืองมีการต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยมานาน ในไทยพลเมืองก็สู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยเช่นกัน แต่สิ่งที่ขาดไปคือการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพที่สามารถเน้นเรื่องความเท่าเทียมทางชนชั้นบ้าง และกดดันให้ฝ่ายชนชั้นนายทุนยอมแบ่งอำนาจบางส่วนให้คนธรรมดาเพื่อสร้างเสถียรภาพสำหรับรัฐนายทุนและระบบขูดรีด ในไทยกระแสทางการเมืองและการจัดตั้งทางการเมืองของชนนชั้นกรรมาชีพยังอ่อนแอเกินไป ดังนั้นลัทธิที่เน้นอภิสิทธิ์ของคนชั้นสูงยังมีอิทธิพลสูงในสังคมเรา

สภาพเช่นนี้เปลี่ยนได้ถ้าเราสร้างพรรคการเมืองที่มีฐานอำนาจในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ และสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนอกรัฐสภา

แต่ภาพที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ของสังคมไทยหลังการทำรัฐประหารและการสร้างเผด็จการรัฐสภา คือภาพของระบบการเมืองที่ชำรุด คือภาพของรัฐสภาที่ไร้ความหมาย คือภาพของสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ คือภาพของสังคมที่ถูกแช่แข็งไม่ให้พัฒนาไปในลักษณะสมัยใหม่ …. และเป็นภาพที่ผู้มีอำนาจบังคับและชวนให้เราไปหมอบคลานต่อกษัตริย์ทารก

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/36rj3KS  และ   https://bit.ly/2Lptg4d