ใจ อึ๊งภากรณ์
หนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ธง แจ่มศรี เต็มไปด้วยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เช่นการที่ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายเวียดนาม “เวียดเกียว” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึง ธง แจ่มศรี บวกกับคนเชื้อสายจีนในกรุงเทพฯ
แต่ปัญหาใหญ่ของหนังสือเล่มนี้คือขาดการวิเคราะห์ในบริบทของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล โดยเฉพาะการวิเคราะห์แนวลัทธิสตาลิน และไม่มีการประเมินข้อดีข้อเสียของพรรคอีกด้วย มันเป็นแค่หนังสือ “บอกเล่า”
พรรคคอมมิวนิสต์ในไทยกำเนิดขึ้นราวๆ ปี ๒๔๗๓ (1930) ในยุคที่สตาลินขึ้นมาปกครองรัสเซียอย่างเบ็ดเสร็จ ดังนั้นพรรคไทยจึงทำตามคำสั่งของขบวนการคอมมิวนิสต์สากลภายใต้สตาลินตลอด
การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทยเกิดขึ้นใน“ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” ที่สตาลินเสนอ ดังนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ผลิตและแจกใบปลิวโจมตีคณะราษฏรว่าเป็น “คณะราษฏรปลอม” ที่ ”ร่วมมือกับรัชกาลที่ ๗” ทั้งๆ ที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายสังคมนิยมปฏิรูปที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ (ใต้ธงปฏิวัติหน้า188) คำวิจารณ์ของคอมมิวนิสต์ไทย ไม่ต่างจากการวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันว่าเป็น “ฟาสซิสต์แดง” ผลคือมันทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยโดดเดี่ยวตนเองจากคนก้าวหน้าในคณะราษฎรไประยะหนึ่ง และในเยอรมันมันนำไปสู่ชัยชนะของฮิตเลอร์
การเสนอว่าโลกอยู่ใน “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” และการมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่งต้องโดดเดี่ยวตนเอง ไม่รวมมือกับฝ่ายปฏิรูป มีสามวัตถุประสงค์คือ (1) เป็นการปกปิดหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดที่เคยเสนอให้คอมมิวนิสต์ไว้ใจ เชียงไกเชค หรือพวกผู้นำแรงงานข้าราชการในอังกฤษ (2) เป็นการสร้างบรรยากาศ “ปฏิวัติ” เพื่อรณรงค์ให้คนงานในรัสเซียทำงานเร็วขึ้นด้วยความรักชาติ และ (3) เป็นการตรวจสอบพิสูจน์ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนในต่างประเทศพร้อมจะ “หันซ้ายหันขวา” ตามคำสั่งของ สตาลิน เพื่อให้มีการกำจัดคนที่ไม่เชื่อฟัง และในที่สุด สตาลิน สามารถสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลให้เป็นเครื่องมือของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ในยุคนั้นคอมมิวนิสต์ในไทยพยายามสร้าง “สหภาพแรงงานแดง” ภายใต้คอมมิวนิสต์ แทนที่จะสร้างสหภาพแรงงานที่รวมคนงานทุกคนเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวแบบ “แดงเอียงซ้าย” ตามแนว “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” ที่สตาลินเสนอ
ต่อมาในปี ๒๔๘๐ (1935) มีการยกเลิกนโยบาย “แดงเอียงซ้าย” เพื่อหันขวาอีกครั้งไปสู่การสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลและพรรคนายทุนที่พอจะดูเป็นมิตร โดยไม่เลือกหน้าเลย การหันขวาแบบนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายของสตาลินเช่นกัน เพราะสตาลินเริ่มกลัวอำนาจของเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ ดังนั้นในปี ๒๔๘๔ (1941) คอมมิวนิสต์ในไทยจึงลงมือสร้างแนวร่วมกับ “นายทุนชาติ”
นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนนี้กลายเป็นนโยบายหลัก และมีการให้เหตุผลว่าไทยเป็นสังคม “ศักดินากึ่งเมืองขึ้น” ที่ไม่อาจปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้ทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนปฏิวัติกู้ชาติเพื่อสร้างทุนนิยม ซึ่งเป็นสูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน จริงๆ แนวนี้เริ่มมีการเสนอในไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓
สูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ เลนินและตรอทสกี้ ในปี 1917 เพราะมีการกระโดดข้ามจากสังคมภายใต้ระบบฟิวเดิลไปสู่สังคมนิยม และตรงกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของตรอดสกี้และมาร์คซ์
นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในยุคที่สฤษดิ์กำลังแย่งอำนาจกับจอมพลป. ในปี ๒๕๐๐ (1957) วารสาร “ปิตุภูมิ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เสนอว่า “สฤษดิ์เป็นขุนพลที่รักชาติและมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตย” และในปีนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของสฤษดิ์ (ใต้ธงปฏิวัติหน้า358)
เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น เมื่อสฤษดิ์ทำรัฐประหารรอบสอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเปลี่ยนการวิเคราะห์จอมพลสฤษดิ์ไปเป็นว่า สฤษดิ์เป็น “ฟาสซิสต์ของฝ่ายศักดินา” โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด แต่ที่แน่นอนคือสฤษดิ์ได้ลงมือปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก
การฝากความหวังไว้กับแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุนแบบนี้ ตามด้วยการถูกปราบอย่างหนัก เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินในช่วงนั้นในตะวันออกกลาง ในอินโดนีเซีย และเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในปี 1926 เมื่อคอมมิวนิสต์จีนทำแนวร่วมกับ เชียง ไกเชก จากพรรคก๊กมินตั๋งแล้วโดนฆ่าทิ้งเกือบหมด
สำหรับไทยมันกลายเป็นหนึ่งข้ออ้างในการหันไปใช้ยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง เหมือนกับข้ออ้างของเหมาเจ๋อตุงในจีน โดยที่พรรคไทยไม่มีการทบทวนสรุปข้อบกพร่องของนโยบายพรรคแต่อย่างใด
นโยบายชนบทล้อมเมืองของพรรคไทยเริ่มมีการพูดถึงตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ (1950) แต่ลงมือทำกันอย่างจริงจังในปี ๒๕๐๔ (1961) ในยุคนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นผู้ปกป้องแนวลัทธิสตาลินหลังจากที่สตาลินตายและผู้นำรัสเซียเริ่มตั้งคำถามกับเผด็จการสตาลิน
นโยบาย “ชนบทล้อมเมือง” นำไปสู่การที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยละเลยหน้าที่ที่จะนำการต่อสู้กับเผด็จการทหารในกรุงเทพฯ ในการลุกฮือ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และนำไปสู่การละเลยที่จะปกป้องนักศึกษากับกรรมกรในเหตุการณ์ ๖ ตุลา สามปีหลังจากนั้น ส่วนการสู้รบในชนบทนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุดเนื่องจากละเลยการต่อสู้ในเมือง ความเป็นเผด็จการภายในพรรค และการพึ่งพาแนวสตาลิน-เหมาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ข้อเสียของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย คือการเดินตามแนวสตาลินโดยไม่ใช้แนวมาร์คซิสต์ และไม่ศึกษาข้อเขียนของเลนินกับตรอทสกี้หรือนักมาร์คซิสต์อื่นๆ เช่นกรัมชี่ หรือโรซา ลัคแซมเบอร์ค ข้อเสียนี้รวมถึงปัญหาแนว เหมาเจ๋อตุง ในเรื่องชนบทล้อมเมือง และปัญหาแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุน
ข้อดีของพรรค ซึ่งนักกิจกรรมในยุคปัจจุบันควรนำไปศึกษาคือ มีการเน้นการจัดตั้งในช่วงแรกในหมู่กรรมาชีพและนักศึกษา มีการให้ความสำคัญกับการตั้งกลุ่มศึกษาและห้องสมุด มีการใช้การต่อสู้ในรัฐสภาและนอกรัฐสภาพร้อมกัน และมีการให้ความสำคัญกับการผลิตหนังสือพิมพ์เพื่อนำมาขาย โดยมีเป้าหมายในการขยายสมาชิกพรรค
ดังนั้นผมจึงแนะนำให้นักเคลื่อนไหวในยุคนี้ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ไปหาอ่านหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ
อ่านเพิ่ม
ประวัติศาสตร์โลกในมุมมองมาร์คซิสต์ ฉบับสังเขป Chris Harman แปลและเรียบเรียงโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ https://bit.ly/2i294Cn
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ https://bit.ly/1sH06zu
ปัญหาของลัทธิสตาลินในขบวนการคอมมิวนิสต์สากลและผลกระทบต่อพรรคไทย https://bit.ly/2Mj3bSy
ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (๒๕๕๗) โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ธง แจ่มศรี (๒๕๖๒)