โลกาภิวัตน์ทุนนิยมกับความแตกต่างระหว่างอัตราการตายจากโควิด19 ในประเทศต่างๆ ของโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั้งๆ ที่เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์พยายามอ้างว่านโยบายรัฐบาลทำให้ไทย “เอาชนะ” โควิด19ได้ แต่ในความเป็นจริงอัตราการตายจากโควิดในไทย ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด สูงกว่าบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเช่นเวียดนาม และในกรณีไทยและหลายๆ ประเทศ ที่อยู่นอกกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตกกับสหรัฐ ผลกระทบของไวรัสโคโรน่าออกมาในรูปแบบวิกฤตชีวิตหรือวิกฤตทางสังคมของคนจนมากกว่าวิกฤตจากพิษทางชีววิทยาของตัวไวรัส และวิกฤตทางสังคมของคนจนมาจากนโยบายของรัฐบาลโดยตรงบวกกับผลกระทบของทุนนิยมโลกาภิวัตน์

total-covid-deaths-per-million

อัตราการตายจากโควิด19ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ค่อนข้างจะต่ำถ้าเทียบกับประเทศตะวันตกเกือบทุกประเทศคือ อัตราการตายสะสมในวันที่ 24 พ.ค. 2020 ต่อประชากรหนึ่งล้านคนเท่ากับ 4.3 ในอินโดนีเซีย 7.3 ในฟิลิปปินส์ 3.2 ในมาเลเซีย 0.9 ในไทย และ 0 ในเวียดนาม เทียบกับ 525 ในอังกฤษ [ดู https://bit.ly/2Zvc0A0 ]

_111039738_gettyimages-1203060096

ถ้าเราจะเข้าใจสาเหตุเราต้องดูปัจจัยหลายอย่างด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่คลั่งชาติหรือฟังข้อโกหกของผู้นำรัฐบาลต่างๆ

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่ออัตราการตายสะสมคือ

  1. ความเชื่อมโยงกับระบบโลกาภิวัตน์ในแง่ของการเคลื่อนไหวของคนและสินค้า ยุโรปตะวันตกกับสหรัฐมีความเชื่อมโยงสูงที่สุดในโลก ซึ่งดูได้จากเที่ยวบินที่เข้าออกจากประเทศ ปริมาณสินค้า และจำนวณนักท่องเที่ยวก่อนที่จะมีการปิดประเทศ เช่นฝรั่งเศสมีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก และสนามบินหลักๆ ของสหรัฐและอังกฤษมีเที่ยวบินต่างๆ สูงที่สุดในโลก ปัจจัยนี้ทำให้ไวรัสโคโรน่าสามารถเดินทางในร่างมนุษย์จากจีนได้ง่ายที่สุด
  2. สัดส่วนคนชราต่อประชากรทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดอัตราการตาย เพราะคนชราเสี่ยงกับการตายมากที่สุดเนื่องจากมีโรคประจำตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโรคหัวใจและเส้นโลหิต หรือโรคระบบปอดและการหายใจ ปรากฏว่าประเทศตะวันตกมีอัตราคนชราต่อประชากรทั้งหมดสูงที่สุดในโลก และประชาชนในประเทศโลกที่สามหรือประเทศ “ใต้” ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย อัฟริกา หรือลาตินอเมริกา มีจำนวนประชากรในวัยเด็กและหนุ่มสาวสูง นี่คือสาเหตุสำคัญที่อัตราการตายในหลายประเทศของอัฟริกาและเอเชียค่อนข้างต่ำ และองค์กร WHO ก็ยืนยันสิ่งนี้ แต่นั้นไม่ได้แปลว่าประเทศยากจนไม่มีวิกฤตสาธารณะสุข เพราะในบางประเทศเกือบจะไม่มีอุปกรณ์ทางแพทย์เลย และสาเหตุสำคัญมาจากนโยบายรัดเข็มขัดที่ถูกผลักดันจากไอเอ็มเอฟหรือองค์กรสากลอื่นๆ นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ของจักรวรรดินิยม และความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการลงทุนจากกลุ่มทุนใหญ่ภายใต้เงื่อนไขของตลาดเสรี ทำให้มีการตัดงบสาธารณะสุขอีกด้วย
  3. ปริมาณประชากรที่น้ำหนักตัวสูงหรือมีความอ้วนจนเป็นผลเสียต่อสุขภาพ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตายจากโควิด19 และปัจจัยนี้อาจช่วยอธิบายว่าทำไมอัตราการตายต่อประชากรหนึ่งล้านคนในญี่ปุ่นค่อนข้างต่ำคืออยู่ที่ 6.3 ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นมีสัดส่วนคนชราสูงและมีความเชื่อมโยงกับระบบโลกาภิวัตน์พอๆ กับยุโรปตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกา ปริมาณคนอ้วนในญี่ปุ่นเกือบจะต่ำที่สุดในโลกคืออยู่ที่ 4.3 % เทียบกับ 36 % สำหรับสหรัฐ 28 % สำหรับอังกฤษ 24 % สำหรับสเปน 22 % สำหรับฝรั่งเศส และ 20 % สำหรับอิตาลี่ ในประเทศที่ยากจนกว่าปริมาณคนอ้วนมีน้อยมาก เช่น 2% ในเวียดนาม 4 % สำหรับอินเดีย และ 3.6% สำหรับบังกลาเทศ ส่วนไทยอยู่ที่ 10% (ตัวเลขจากCIAปี2020)

ความอ้วนเป็นปัญหาที่มักพบในหมู่คนจนในประเทศตะวันตก ซึ่งความยากจนเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เพิ่มอัตราการตายในสังคมตะวันตกทุกแห่งทีเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ แต่ความอ้วนมักจะเป็นปัญหาสำหรับคนชั้นกลางในประเทศยากจน

  1. นโยบายโง่ๆ ของรัฐบาลฝ่ายขวา ที่ไม่สนใจในการปกป้องประชาชน และเน้นผลประโยชน์ของกลุ่มทุนที่ต้องการให้คนไปทำงานทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเสี่ยง เป็นอีกปัจจัยสำคัญ และได้นำไปสู่ตัวเลขการตายที่สูงกว่าปกติในสหรัฐ อังกฤษ สวีเดน และบราซิล ในกรณีสวีเดนทั้งๆ ที่พรรคการเมืองหลักในรัฐบาลเป็นพรรคสังคมประชาธิปไตย แต่นโยบายที่ใช้เป็นนโยบายฝ่ายขวาที่ปฏิเสธการปิดประเทศ

ประเทศที่มีนโยบายเพื่อปกป้องประชาชนที่มีประสิทธิภาพ และมีระบบสาธารณะสุขที่ไม่ขาดแคลน จะมีอัตราการตายต่ำกว่าประเทศที่ยกตัวอย่างมาข้างบน ตัวอย่างเช่นเยอรมันและเกาหลีใต้เป็นต้น

ในเม็กซิโกกรรมาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมที่ติดชายแดนสหรัฐต้องนัดหยุดงานประท้วงเพราะถูกกลุ่มทุนสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐ และรัฐบาลเม็กซิโก กดดันให้กลับไปทำงานในสภาพที่ไม่มีความปลอดภัย ในโรงพยาบาลหลายแห่งของยุโรปตะวันตกมีการประท้วงของแพทย์พยาบาลเพราะรัฐบาลไม่แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันตัวจากโควิดอย่างทั่วถึง

การยกเลิกมาตรการกักตัวที่บ้านหรือยกเลิกการปิดเมืองในประเทศต่างๆ ไม่ได้เกิดจากการ “เอาชนะ” โควิดแต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นเพื่อให้กรรมาชีพกลับไปทำงานเพื่อสร้างกำไรให้นายทุนต่างหาก โควิดจะอยู่กับสังคมมนุษย์ในทุกประเทศอีกนาน

 

วิกฤตทางสังคมหรือวิกฤตชีวิตสำหรับคนจนทั่วโลกร้ายแรงกว่าพิษของโควิดโดยตรง

ในระบบทุนนิยมที่ดำรงอยู่ในโลก (รวมถึงจีนและคิวบาด้วย) สภาพโครงสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล่ำทำให้เกิดวิกฤตร้ายแรงสำหรับคนจน ในประเทศตะวันตกคนจนและคนที่มีสีผิวดำๆ จะเป็นคนที่ตายมากที่สุด และกรรมาชีพจำนวนมากจะตกงาน ในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการคนเหล่านี้จะได้รับความช่วยเหลือระดับหนึ่งจากรัฐ แต่ย่อมไม่เพียงพอ ในสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีรัฐสวัสดิการกรรมาชีพที่ตกงานจะถูกปลดออกจากระบบประกันสุขภาพจึงไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้โดยไม่ติดหนี้มหาศาล

ในประเทศต่างๆ ของ เอเชีย อัฟริกา และลาตินอเมริกา คนจนจะประสบกับวิกฤตหนักทางสังคมและเศรษฐกิจอันมาจากนโยบายรัฐบาลในการปิดเมืองและปิดงานในขณะที่ไม่มีรัฐสวัสดิการอะไรเลย ในอินเดียคนงาน 40 ล้านคนจากหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศถูกปลดออกจากงานในเมืองใหญ่และต้องเดินเท้ากลับหมู่บ้านของตนท่ามกลางความอดอยากอย่างถึงที่สุด ส่วนใหญ่ต้องเดินเท้าในระยะทางหลายร้อยกิโล เพราะไม่มีระบบขนส่งมวลชน ถือว่าเป็นอาชญากรรมของรัฐบาลอินเดียต่อประชาชน ในไทยเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์อ้างว่าจะช่วยคนจนที่ตกงาน แต่ระบบของรัฐบาลขาดประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ซึ่งทำให้คนอดอยากเป็นจำนวนมาก

Screen-Shot-2020-04-17-at-7.22.58-AM

ในประเทศเคนยา ในอัฟริกาตะวันออก มีการก่อจลาจลโดยคนจนในสลัมที่รัฐบาลกำลังสั่งให้รื้อ “เพื่อป้องกันสังคมจากโควิด” และในหลายประเทศของอัฟริกาความพยายามที่จะสั่งให้คนจนที่หาเช้ากินค่ำกักตัวอยู่บ้าน โดยไม่มีความช่วยเหลืออะไรเลยจากรัฐ นำไปสู่การฝ่าฝืนคำสั่งรัฐบาล ซึ่งเราเห็นบ้างในไทยด้วย แต่ที่อัฟริกามีการส่งทหารติดอาวุธไปยิงประชาชน ในไทยประยุทธ์ที่มือเปื้อนเลือดจากการฆ่าเสื่อแดงยังไม่กล้าทำแบบนี้

ขณะนี้โลกกำลังเดินเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรง ในสภาพเช่นนี้รัฐบาลและนายทุนต่างๆ จะพยายามให้กรรมาชีพและคนจนแบกรับภาระด้วยการตกงาน ถูกตัดค่าจ้าง และการรัดเข็มขัดลดงบประมาณที่เป็นการบริการประชาชน ในขณะเดียวกันพวกคนรวย นายทุน และพวกเผด็จการจะเสพสุขต่อไป บางคนอาจเพิ่มกำไรจากโควิดด้วยซ้ำ ถ้ากรรมาชีพและคนจนไม่รวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับศึกทางชนชั้นที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เรามีสิทธิ์ที่จะโดนเหยียบหัวฝังดินจนอดตาย

แต่ในหลายส่วนของโลก เช่นที่อัลจีเรีย ซุดาน ฝรั่งเศส หรือฮ่องกง ขบวนการประท้วงที่ต้องหยุดพักเพราะโควิด สามารถฟื้นตัวขึ้นมาอีกได้ และในประเทศอื่นการต่อสู้ใหม่ๆ อาจเกิดขึ้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราต้องเข้าใจตอนนี้คือ การต่อสู้กับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิดที่รัฐบาลแจกให้เรา เป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะที่ไทยหรือที่อื่น

คนไทยอาจเสี่ยงภัยจากความยากจนมากกว่าจากโควิด19?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผมไม่อยากจะรีบสรุปอะไรเร็วเกินไปเรื่องการระบาดของไวรัสโควิดในขณะที่วิกฤตมันยังไม่จบ แต่ถ้าดูตัวเลขจากไทยจะเห็นว่าค่อนข้างจะต่ำถ้าเทียบกัยยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา

total-covid-deaths-per-million

สาเหตุที่ตัวเลขโควิดไทยค่อนข้างจะต่ำในขณะนี้ (และหวังว่าคงไม่พุ่งสูงในอนาคต ซึ่งเป็นไปได้) ไม่ใช่เพราะประสิทธิภาพของรัฐบาลเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์แต่อย่างใด ไม่ใช่เพราะอะไรที่ดีเลิศเกี่ยวกับสังคมไทย และไม่ใช่เพราะไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออะไรอยู่เบื้องสูงเลย เพราะตัวเลขโควิดไทยไม่ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านเท่าไร และตัวเลขของเวียดนามดีกว่าไทยอีก

total-deaths-covid-19

ถ้าเราดูตัวเลขการเสียชีวิตจากโควิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปรเป็นสัดส่วนต่อประชากรหนึ่งล้านคน จะเห็นว่าฟิลิปปินส์สูงสุดคือ 6 รองลงมาก็คืออินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ 3 และไทยอยู่ที่ 0.8 ซึ่งพอๆกับบังคลาเทศในเอเชียใต้ แต่ต่ำสุดคือเวียดนาม ถ้าเทียบกับตัวเลขอังกฤษที่สูงถึง 598 ดูเหมือนอยู่คนละโลกกัน [ดู https://bit.ly/2KWTPdV ]

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคุณภาพในสหรัฐกับอังกฤษได้รายงานว่าการระบาดของโควิดไม่ได้ลดลงเมื่อมีอากาศร้อนเหมือนไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ในออสเตรเลียมีการระบาดมากพอสมควรทั้งๆ ที่อากาศร้อนแห้ง แต่ตัวเลขจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้เราต้องสงสัยว่าอากาศร้อนกับชื้น บวกกับชีวิตที่ใช้นอกบ้าน และการที่แสงแดดแรงและมีรังสี UV มันช่วยลดการระบาดของโควิดหรือไม่? ตัวเลขการระบาดหรือตายในอัฟริกาอาจเหมือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนในอนาคต

สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือมาตรการเด็ดขาดในการปิดเมือง การตรวจโรค และการติดตามดูว่าผู้ป่วยสัมผัสกับใคร อย่างที่เวียดนามทำ มีผลสำคัญในการลดอัตราการตาย ดังนั้นการยกเลิกมาตรการแบบนี้ไม่ใช่คำตอบในการปกป้องพลเมือง

อีกสิ่งหนึ่งที่อาจเป็นประเด็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือสัดส่วนคนชราในประชากร ซึ่งต่ำกว่ายุโรปหรือสหรัฐ แต่ในขณะเดียวกันสัดส่วนคนจนที่มีสุขภาพไม่ดีน่าจะสูงกว่าประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตามในอีกแง่หนึ่งการที่คนในเอเชียอยู่กับเชื้อโรคมากกว่าคนในตะวันตกมีผลทำให้มีภูมิต้านทานหรือวิถีชีวิตที่เน้นการล้างมือหรือไม่?

นอกจากนี้เราต้องระวังตัวเลขจากรัฐบาลต่างๆ ที่อยากจะปกปิดความจริงและไม่ย่อมตรวจเชื้อในหมู่ประชากรทั่วไปด้วย

ไม่ว่าการระบาดของโควิดจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เห็นชัดในกรณีไทยคือ มาตรการในการเยียวยาคนจนหรือกรรมาชีพที่ตกงานที่เดือดร้อนอันเนื่องมาจากการสั่งปิดสถานที่ทำงานต่างๆ ของรัฐบาลประยุทธ์ ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง เพราะไม่เพียงพอและไม่แก้ปัญหา ดูได้จากภาพคนจนที่เสี่ยงติดเชื้อจากการเข้าคิวรับอาหารหรือเงินจากเอกชนและมูลนิธิต่างๆ

Screen-Shot-2020-04-17-at-7.22.58-AM

UPDATE_TEMPLATE-20202-3-1

ในขณะนี้มันดูเหมือนภัยหลักสำหรับคนธรรมดาในไทยคือความยากจนและการตกงาน ซึ่งอาจเป็นภัยร้ายแรงกว่าโควิดเสียอีก

วิกฤตโควิดเหมือนแสงไฟที่ส่องให้เห็นลักษณะสังคมและปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ความเหลื่อมล้ำในไทยมาจากการที่เราไม่มีรัฐสวัสดิการ และสหภาพแรงงานของเราอ่อนแอเกินไปที่จะพัฒนาผลประโยชน์ของคนทำงาน และปัญหานี้ร้ายแรงมากขึ้นเพราะเราขาดประชาธิปไตย

ในสภาพเช่นนี้เราเห็นคนรวยและอภิสิทธิ์ชนเสพสุขในขณะที่คนส่วนใหญ่เดือดร้อน ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน ทหารเผด็จการยังหน้าด้านคิดจะซื้ออาวุธ และบางคนสั่งอาหารทางอากาศมากินที่ยุโรปหรือบินไปบินมาอย่างสบาย

อย่าลืมว่าตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา 14 ปีที่แล้ว ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนชั้นกลางและทหาร ได้ร่วมกันทำลายประชาธิปไตยในประเทศเรา เพราะไม่พอใจกับรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลทักษิณมีข้อเสียหลายอย่างและได้ก่ออาชญากรรมในปาตานีและสงครามยาเสพติด แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลนี้กำลังเดินหน้าเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนธรรมดา ผ่านนโยบายระบบสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายสร้างงาน นโยบายลดหนี้ นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ และนโยบายพัฒนาระบบการศึกษา ซึ่งแนวร่วมระหว่างรัฐบาลทักษิณกับกรรมาชีพและชาวนานี้สร้างความไม่พอใจกับพวกปฏิกิริยาเป็นอย่างมาก นี่คือสาเหตุที่เราจมอยู่ภายใต้เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ในปัจจุบัน

ในอนาคตอันใกล้ ทั่วโลกจะประสบวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงพอๆ กับวิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และไทยจะหลีกเลี่ยงผลไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราไม่รวมตัวกันสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อโค่นเผด็จการ คนไทยธรรมดาจะเดือดร้อนมากขึ้นอีกหลายเท่า