คนหนุ่มสาวควรอัดฉีดความกล้าหาญสู่ขบวนการแรงงานและผู้รักประชาธิปไตยทั่วไป

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกคนที่รักประชาธิปไตยคงจะปลื้มและได้ความหวังจากการประท้วงเผด็จการรอบใหม่โดยนักศึกษาและคนหนุ่มสาว ถือได้ว่าเป็นการรื้อฟื้นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกครั้ง

50129529371_4a1c52db15_k
ภาพจากประชาไท

ในแง่สำคัญๆ เราต้องดูภาพกว้างในระดับสากลของการต่อสู้ครั้งนี้ และต้องไม่มองว่าเป็นแค่เรื่องไทยๆ ซึ่งแปลว่าต้องดูบทเรียนจากทั่วโลกและประวัติศาสตร์ไทยพร้อมๆ กัน

ในยุคสองปีที่ผ่านมา ทั่วโลก เราเห็นปรากฏการณ์ของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ “ไม่กลัวใคร” ออกมาประท้วงเรื่องปัญหาโลกร้อน และเรื่องการกดขี่คนผิวดำในขบวนการ Black Lives Matter ซึ่งการประท้วงในช่วงการระบาดของโควิดผูกพันกับวิกฤตความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มาจากโควิด การประท้วงล่าสุดในไทยก็ไม่ต่างออกไป มันผูกพันกับการที่เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์พยายามใช้โควิดในการเพิ่มอำนาจให้ตนเองในการปราบปรามประชาชน นอกจากนี้มันผูกพันกับความแย่ๆ ในสังคมไทยที่เริ่มเห็นชัดมากขึ้น เช่นการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง การใช้อำนาจเพื่อสร้างสองมาตรฐาน โดยเฉพาะในระบบศาล การเชิดชูกษัตริย์เลวที่ใครๆ เกลียดชัง และการปล่อยให้ความยากจนและความเดือดในสังคมเพิ่มขึ้นขณะที่ทหารและนายทุนใหญ่ใช้ชีวิตอย่างสบาย ฯลฯ

นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัยมาร์คซ์กับเองเกิลส์มองว่าในสังคมมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนชั้นล่างแค่ขบวนการเดียว และการเคลื่อนไหวนี้ท้าทายเบื้องบนเสมอ แต่ขบวนการนี้มีหลายแขนหลายขาตามยุคต่างๆ ซึ่งแต่ละแขนขาเชื่อมกับลำตัวหลักเสมอ เช่นขบวนการคนผิวดำ ขบวนการนักศึกษา ขบวนการต้านสงคราม ขบวนการต้านโลกร้อน ขบวนการสิทธิสตรี และขบวนการเกย์และเลสเปี้ยนฯลฯ ล้วนแต่มีมีสายเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น เพราะเกิดจากปัญหาของระบบทุนนิยม มันมีการเรียนรู้จากกัน และขบวนการเหล่านี้ก็มีทั้งขาขึ้นและขาลง มีลักษณะเข้มแข็งขึ้นและอ่อนแอลงตามคลื่นที่เหมือนกันอีกด้วย ดังนั้นการวาดภาพว่าขบวนการเหล่านี้เป็นขบวนการที่แยกส่วนจากกัน จึงเป็นภาพเท็จ

50129748457_498a0855f4_k
ภาพจากประชาไท

ด้วยเหตุนี้เราต้องมองว่าการลุกฮือของนักศึกษาคนหนุ่มสาวในรอบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เชื่อมโยงกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีต เช่นขบวนการ ๑๔ ตุลา ขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ ขบวนการเสื้อแดง และการออกมาประท้วงของแต่ละกลุ่มหลังรัฐประหารของประยุทธ์

Lumpoon2
ภาพจากประชาไท

แต่สิ่งที่สำคัญและอาจว่า “ใหม่” ก็ได้คือความ “ไม่กลัว” ของคนหนุ่มสาว คือขณะนี้กล้ามากกว่าคนที่ผ่านการต่อสู้มาและมีบาดแผลจากอดีต

a3_0

ประเด็นสำคัญคือคนหนุ่มสาวยุคนี้ต้องช่วยกันอัดฉีดความกล้าหาญเข้าสู่ขบวนการแรงงาน ชนชั้นกรรมาชีพ และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่อยู่ในวัยทำงาน และสิ่งนี้ทำได้เพราะคนจำนวนมากไม่พอใจอย่างยิ่งกับเผด็จการรัฐสภาปัจจุบัน แต่เขาอาจแค่ขาดความมั่นใจในการออกมาต่อสู้

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับขบวนการแรงงานและชนชั้นกรรมาชีพ? คำตอบง่ายๆ คือเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจที่มาจากการนัดหยุดงาน

ในเดือนที่ผ่านมาเราเห็นการนัดหยุดงานของคนงานผิวขาวและผิวดำร่วมกันในสหรัฐอเมริกา ภายใต้ข้อเรียกร้อง Black Lives Matter ซึ่งเสริมพลังให้กับกระแสต้านการเหยียดสีผิว ในรอบสิบปีที่ผ่านมาทั่วโลกการล้มเผด็จการหรือท้าทายเผด็จการที่มีพลังมักจะมีขบวนการสหภาพแรงงานเข้าร่วมด้วย

และนี่เป็นสาเหตุที่เราต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่พร้อมจะปลุกระดมการเมืองภาพกว้างในขบวนการกรรมาชีพ ไม่ใช่พูดแต่เรื่องปากท้องอย่างเดียว แต่พรรคแบบนี้ก็ต้องได้รับการอัดฉีดความ “ไม่กลัวใคร” จากคนหนุ่มสาวเช่นกัน

อย่าลืมว่าการล้มเผด็จการทหารในช่วง ๑๔ ตุลา อาศัยทั้งการมีพรรคฝ่ายซ้าย (พคท.) และการที่นักศึกษาสามารถออกมาต่อสู้ร่วมกับประชาชนผู้ทำงานจำนวนมาก

อ่านเพิ่ม

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน – จุดยืนมาร์คซิสต์   https://bit.ly/2UpOGjT

การลุกฮือของมวลชนทั่วโลก 2019 https://bit.ly/2OxpmVr

นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน https://bit.ly/2ZWipnF